ลมหายใจรวยรินของความรัก: การเปลี่ยนความสัมพันธ์ให้กลายเป็นธุรกรรมไร้ความเสี่ยงในโลกดิจิทัล

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 806

ลมหายใจรวยรินของความรัก: การเปลี่ยนความสัมพันธ์ให้กลายเป็นธุรกรรมไร้ความเสี่ยงในโลกดิจิทัล

บทนำ

           บยอง ชอล ฮัน (Byung-Chul Han) นักปรัชญาเยอรมันเชื้อสายเกาหลี และอแลง บาดิยู (Alain Badiou) นักปรัชญาฝรั่งเศส เสนอตรงกันว่า ในสังคมทุนนิยมร่วมสมัย ความรักกำลังถูกคุกคามจากทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลและลัทธิเสรีนิยมใหม่ โดยเฉพาะในหนังสือ In Praise of Love (2012) และ The Agony of Eros (2017)

           นักปรัชญาทั้งคู่เห็นพ้องกันว่า ในยุคดิจิทัล ความรักและความสัมพันธ์ของมนุษย์กลายเป็นสินค้าบริโภคที่มนุษย์เลือกสรรไม่ต่างจากสินค้าชนิดอื่นบนชั้นวาง และวัฒนธรรมความรักเช่นนี้ก็สะท้อนถึงพลังของทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งแผ่ขยายกลไกตลาดให้แทรกซึมทุกซอกอณูของชีวิตมนุษย์ ไม่เพียงแต่ร่างกายของแรงงานเท่านั้น ทุนนิยมยังเข้ายึดกุมและแสวงหากำไรจากอารมณ์ ความสัมพันธ์ ความรู้สึกนึกคิด และจิตใจด้วย

           ขณะที่เสรีนิยมใหม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของผู้บริโภค แต่สิ่งที่เราบริโภคได้ก็มักเป็นสินค้าที่มีความเหมือน ยืนยันและตอกย้ำอัตลักษณ์ของปัจเจก มากกว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับ ‘ความเป็นอื่น’ หรือคนอื่น (Other) ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่รู้จัก คาดเดาไม่ได้ แตกต่างอย่างสุดขั้ว และไม่มีวันเข้าใจได้ทั้งหมด ฮันและบาดิยูเห็นว่า ความรักซึ่งเคยเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ มีความเสี่ยง รบกวนจิตใจ และทำให้ชีวิตปกติประจำวันของมนุษย์เสียกระบวน ก็ถูกลดทอนลง กลายเป็นเพียงธุรกรรมอย่างหนึ่งในตลาดที่ผู้บริโภคมองหาสินค้าที่ไร้ความเสี่ยง

           อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางลมหายใจรวยรินของความรักที่ใกล้ตาย นักปรัชญาทั้งสองบอกว่า เรายังมีหวังในการรื้อฟื้นความรักขึ้นมาใหม่ เนื่องจากความรักทำให้คู่รักปฏิเสธที่จะยอมรับบรรทัดฐานของโลกร่วมสมัย มันจึงมีศักยภาพในการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากกรงขังของความเป็นปัจเจกที่เน้นการบริโภคเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วเชื่อมต่อกับสิ่งอื่น ความเป็นอื่น หรือคนอื่นที่แตกต่างจากตัวเองอย่างสิ้นเชิง ความรักที่ต่อต้านระเบียบเดิมอย่างถึงรากจึงอาจเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในความหมายนี้


ความรักมอดดับพร้อมกับไฟในจิตใจของมนุษย์

           บยอง ชอล ฮัน อธิบายว่า แพลตฟอร์มต่าง ๆ ในโลกดิจิทัลเรียกร้องให้มนุษย์เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา และมีผลิตภาพอย่างต่อเนื่อง (productivity) สำหรับฮัน อำนาจในโลกดิจิทัลทำงานเชิงบวก คือสนับสนุน กระตุ้น บันดาลใจ ให้มนุษย์ริเริ่มทำสิ่งใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ ยืนยันอัตลักษณ์ ตัวตน รสนิยม ความชอบของตนผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเปรียบเสมือนโครงการ (project) ที่ต้องทำและนำเสนออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุนนิยมแสวงหากำไรจากอัตลักษณ์และข้อมูลเหล่านี้ได้ (Han, 2015)

           แต่จิตใจของมนุษย์ที่ถูกอำนาจเชิงบวกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลาย่อมไม่อาจทนรับไหว ถึงที่สุดก็เกิดการพังทลายลงจนเป็นปัญหาสุขภาพจิต เช่น อาการหมดไฟ ความซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น โรคหลายบุคลิก ฮันเรียกว่า สังคมแห่งการหมดไฟ (The Burnout Society) ซึ่งมนุษย์ไม่ได้ถูกขูดรีดจากภายนอก (allo-exploitation) หรือชนชั้นอื่นอีกแล้ว แต่กลายเป็นผู้ที่ขูดรีดตัวเองอย่างเต็มใจ (auto-exploitation) ในโลกทุนนิยมดิจิทัล ไม่มีเจ้านายหรือทาส จะมีก็แต่เจ้านายที่ตกเป็นทาส หรือพูดให้ถูกกว่านั้นคือ ทาสที่คิดว่าตนเป็นเจ้านายตัวเอง (Han, 2017, p. 9)

           โลกดิจิทัลยังบีบให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์อย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว1 บ่อยครั้งที่ผู้คนตัดสินกันจากภายนอก โดยเฉพาะรูปโปรไฟล์และหน้าฟีด ซึ่งฮันเห็นว่า ไม่ใช่อะไรนอกจากสินค้าที่ผ่านการคัดสรรและปรับแต่งมาแล้วเพื่อเรียกร้องความสนใจ (attention) หรือเพิ่มยอดไลก์จาก ‘เพื่อน’ หรือผู้ติดตาม แต่ฮันก็เตือนว่า คนอื่นเหล่านี้ถูกพรากความเป็นอื่นซึ่งเป็นด้านลบออกหมดแล้ว และกลายเป็นเพียงกระจกสะท้อนแต่ภาพเหมือน หรือห้องที่สะท้อนแต่เสียงของตัวเอง (echo chamber) (Han, 2017)

           การหายไปของคนอื่นท่ามกลางภูมิทัศน์แบบดิจิทัลยิ่งทำให้ตัวตน (ego) ของปัจเจกดำดิ่งสู่นรกแห่งความเหมือน (Inferno of the same) โซเชียลมีเดียฟูมฟักวัฒนธรรมหลงตัวเอง (narcissistic society) นี้ การเชื่อมต่อกันของมนุษย์กลายเป็นเรื่องผิวเผิน ชั่วคราว ประเดี๋ยวประด๋าว (Han, 2017) เมื่อปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์เป็นเพียงธุรกรรมที่กลวงเปล่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์ดิจิทัลจึงเป็นเพียงเกมแห่งการโปรโมตตัวตนของปัจเจก และความรักก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง ความรักที่ปราศจากความเสี่ยงและปราศจากความเป็นอื่นเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์ไร้ความเสี่ยงชนิดอื่น อาทิ กาแฟไร้คาเฟอีน นมไร้ไขมัน เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลมไร้น้ำตาล2 (สรวิศ ชัยนาม, 2562)


Swipe, Buy, Repeat: รักและการบริโภคในยุคดิจิทัล

           อแลง บาดิยู เสนอว่า ภัยคุกคามหลักของความรักคือหลักการปลอดภัยไว้ก่อน (safety-first) และลัทธิสุขนิยม (hedonism) ที่มองว่าความรักไม่ได้สลักสำคัญอะไร และสามารถทดแทนได้ด้วยความเพลิดเพลินใจจากกิจกรรมบริโภคชนิดอื่น โดยเฉพาะเซ็กส์ บาดิยูเห็นว่า ภัยคุกคามทั้งสองนี้ด้อยค่าความรัก และเปลี่ยนความรักเป็นสินค้าหรือบริการที่สะดวกต่อการบริโภค โดยปราศจากความเสี่ยงทุกประเภท (Badiou, 2012)

           ขณะเดียวกัน ฮันเรียกการเปลี่ยนทุกสิ่งให้กลายเป็นสินค้าที่บริโภคง่ายอย่างบ้าคลั่งนี้ว่า เผด็จการของความเป็นบวก (the dictate of positivity) ทุนนิยมดิจิทัลไม่เพียงสนับสนุนเสรีภาพในการบริโภค แต่ยังกระตุ้นให้ผู้บริโภค (ต้อง) เพลิดเพลินและมีความสุข (enjoyment) กับการบริโภคนั้นด้วย ในฐานะสินค้า ความรักจึงต้องสร้างความรู้สึกดี (pleasant feeling) และปราศจากความรู้สึกเชิงลบอย่างความเจ็บปวด ความทรมาน การทำร้าย กระทั่งการตกหลุมรักยังดูรุนแรงเกินไป3 (Han, 2017, p. 14)

           บาดิยูยกตัวอย่างความรักเช่นนี้ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันหาคู่ อาทิ Meetic, Tinder, Grindr, Bumble ซึ่งโฆษณาเรื่อง “มีรักแบบไม่ต้องตกหลุมรัก” “รักสมบูรณ์แบบที่ปราศจากความทุกข์ทรมาน” หรือกระทั่งมีการโค้ชด้านความรัก สำหรับบาดิยู แอปพลิเคชันหาคู่ก็ไม่ต่างจากการคลุมถุงชนในยุคก่อน เพราะคู่รักไม่ใช่ฝ่ายริเริ่มหรือตกหลุมรักกัน เพียงแต่แอปพลิเคชันสมัยใหม่ได้เปลี่ยนผู้จัดหาจากพ่อแม่ ครอบครัว หรือผู้หลักผู้ใหญ่ มาเป็นอัลกอริทึมจัดหาคู่ (matchmaking algorithm) ซึ่งเสนอตัวเลือกให้มนุษย์ผ่านรสนิยม การศึกษา การงาน ชนชั้น หรือดวงชะตาราศีของวันเดือนปีเกิด (Badiou, 2012, p. 6-8)

           แอปฯ หาคู่จึงเปรียบเสมือนตลาดที่จัดหาความรัก คนรักหรือคู่ขา ซึ่งผ่านการจัดหีบห่อ แปะยี่ห้อ จัดแสดง และวางขายพร้อมรูปถ่ายและประวัติบนแพลตฟอร์มที่ควบคุมด้วยอัลกอริทึม ไม่ต่างจากสินค้าชนิดอื่น ตัวอย่างเช่นTinder ซึ่งผู้ใช้งานแต่ละรายมีพื้นที่ในการแสดงไลฟ์สไตล์ รสนิยม ความชอบ งานอดิเรก และความสนใจ รวมถึงยังเชื่อมต่อกับแอปฯ ไลฟ์สไตล์อื่น ๆ เช่น Instagram หรือ Spotify เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าไป ‘ส่อง’ อัตลักษณ์ส่วนตัวได้ละเอียดขึ้น อัลกอริทึมของ Tinder จะเสนอโปรไฟล์ของแคนดิเดตด้านความรักขึ้นมา ผู้ใช้งานอาจ ‘ปัดขวา’ เมื่อเจอคนที่ตรงสเปก หรือ ‘ปัดซ้าย’ ในกรณีไม่ถูกใจและอยากเลื่อนผ่านไปเจอคนที่ถูกใจมากกว่า ผู้ใช้งานจะคุยกันได้ก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายปัดขวาเหมือนกันจนเกิดเป็นการจับคู่ (match) ทั้งนี้ ผู้ใช้งาน Tinder แบบฟรีจะถูกจำกัดจำนวนการ‘ปัด’ ในแต่ละวัน และมองไม่เห็นว่ามีใครกดถูกใจตนหรือไม่ แต่หากเสียค่าบริการรายเดือน ก็จะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ปัดได้แบบไม่จำกัด ย้อนกลับไปกดถูกใจคนก่อนหน้าในกรณีที่มือลั่นแล้วปัดทิ้ง และมองเห็นว่ามีใครปัดขวาตนบ้าง ทำให้เกิดความรู้สึกของการเป็นผู้เลือก

           หากเราเชื่อนักปรัชญาทั้งสอง แอปพลิเคชันหาคู่ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้งานตกหลุมรัก หากแต่เสนอสินค้าให้ผู้บริโภคเลือกสรร (select) และสินค้านั้นก็คือความรักหรือความสัมพันธ์ที่ปราศจากความเสี่ยง มองในมุมบยอง ชอล ฮัน นี่คือการบ่อนทำลายความรักอย่างสุดซึ้ง เพราะแอปฯ หาคู่ไม่เปิดโอกาสให้มนุษย์เผชิญหน้าอย่างกะทันหันกับบางสิ่งที่รบกวนจิตใจ สร้างความว้าวุ่น และคาดเดาไม่ได้

           ในโลกเสรีนิยมใหม่ที่ให้ค่ากับความสะดวก ความโปร่งใส และการควบคุมความเสี่ยง มนุษย์มองหาความสัมพันธ์ราคาถูกที่ปราศจากความเสี่ยงราวกับว่าในยุคของการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจ ความรักก็ต้องเผชิญการรัดเข็มขัดด้วย กล่าวได้ว่า ทุนนิยมได้เข้ามาแทรกแซงไม่เพียงแต่ในด้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาด เช่น การเมือง การศึกษา การรักษาพยาบาล แต่ยังแทรกแซงในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้คน หรือกล่าวอีกนัยคือความสัมพันธ์และความรักของมนุษย์ถูกจัดระเบียบเสียใหม่ตามหลักการตลาด (สรวิศ ชัยนาม, 2562) เมื่อแง่มุมด้านการผจญภัยของความรักซึ่งมักวุ่นวายและว้าวุ่น ถูกปรับแต่ง คิดคำนวณความเสี่ยงและความเข้ากันได้(compatibility) ผ่านกระบวนการของอัลกอริทึมเสียแล้ว ความรักที่กลายเป็นกระจกสะท้อนและยืนยันแต่อัตตาของปัจเจก (self-affirmation) เช่นนี้จึงไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงตัวตน ก่อกวนชีวิตประจำวัน หรือทำให้ระเบียบทางสังคมหยุดชะงัก เหมือนในเพลง พลังรัก ของ หิน เหล็ก ไฟ อีกต่อไป


ฉากแสดงเดี่ยว: รักไม่ผูกมัด การช่วยตัวเอง และหนังโป๊

           ภายใต้ตรรกะของเสรีนิยมใหม่ ความรักถูกทำให้เชื่องและพรากพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง (domestication of love) เมื่อรักใครไม่เป็น เผชิญหน้ากับความเป็นอื่นที่แตกต่างกับตัวเองอย่างสุดขั้วไม่ได้ มนุษย์ที่ทำได้แค่บริโภคสิ่งที่คุ้นเคยและใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือ จึงติดอยู่ในวังวนแห่งการยืนยันอัตตา ฮันยกตัวอย่างความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด (casual hookup) การนัดยิ้ม (quickie) หรือการมีเซ็กส์เพื่อคลายเครียด ซึ่งเป็นกิจกรรมปกป้อง ego จากการถูกสัมผัสหรือการคุกคามจากความเป็นอื่น (Han, 2017, p. 18)

           หากกล่าวในภาษาของบาดิยู รักกลวง ๆ ที่ไม่เรียกร้องให้ปัจเจกตั้งคำถามต่อตัวเอง และปฏิบัติกับคนอื่นราวกับเป็นวัตถุทางเพศเช่นนี้เรียกว่า ฉากแสดงเดี่ยวหรือฉากของหนึ่ง (One scene) ในแง่นี้ ความสัมพันธ์ชั่วข้ามคืน (one night stand) หรือเพื่อนที่มีอะไรกันได้ (friend with benefits) เปลี่ยนเซ็กส์ให้เป็นกิจกรรมสนองความปรารถนาของปัจเจกไม่ต่างจากกิจกรรมบริโภคแบบอื่น บาดิยูเห็นว่า ไม่ว่าจะวิเศษหรือหฤหรรษ์เพียงใด แต่เซ็กส์ที่ปราศจากความรักนั้นกลวงเปล่า (emptiness) เพราะอย่างนั้นมันถึงตกอยู่ใต้กฎของการกระทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง (Badiou, 2012) เฉกเช่นสินค้าในโลกทุนนิยมที่โฆษณาว่าจะเติมเต็มความปรารถนาได้ แต่ไม่เคยเต็มเสียที เมื่อเรือนร่างกลายเป็นสินค้า และคนอื่นปราศจากความเป็นอื่น แต่เป็นเพียงวัตถุที่กระตุ้นเร้าทางเพศ ฮันเตือนว่า เราไม่อาจรักใครได้จริง ทำได้เพียงบริโภค (Han, 2017, p. 12)

           ในอีกด้านหนึ่ง ฮันเห็นว่า หนังโป๊หรือบริการของ sex creator เป็นการดูหมิ่น (profanation) ความรัก ไม่ใช่เพราะว่าสื่อทำนองนี้นำเสนอเรื่องเพศอย่างล้นเกิน และมอมเมาเยาวชนอย่างที่ฝ่ายอนุรักษนิยมมักกล่าวอ้าง หากแต่หนังโป๊ไม่มีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นเลยต่างหาก จะมีก็แต่การช่วยตัวเอง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับตัวเอง ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนให้นักแสดงเป็นวัตถุจัดแสดงไม่ต่างจากสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ (musealization) ซึ่งถูกรื้อถอนออกจากชีวิตทางสังคมที่ซับซ้อน และเป็นเพียงชีวิตที่เปลือยเปล่าของมนุษย์ดิจิทัลที่เหลือแต่มูลค่าจัดแสดง (exhibition value) แต่ไม่เหลือมูลค่าใช้งาน (use value) ฮันเห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงวิธีการที่ไม่นำไปสู่เป้าหมายอะไร (means without ends) และสะท้อนว่าทุนนิยมกำลังเปลี่ยนสังคมมนุษย์ให้กลายเป็นเพียงหนังโป๊ (pornographication of society) ที่มีหลายพล็อต เนื่องจากทุกมิติในชีวิตของมนุษย์ถูกเปลี่ยนเป็นสินค้า นำมาจัดแสดง และขายได้ (Han, 2017)


ไม่มีใครแทนใครได้ และไม่มีใครรักแทนได้: ความรักในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง

           นี่หมายความว่า เราแทนที่คนรักด้วยคนอื่นเหมือนการแทนที่สินค้าและบริการได้งั้นหรือ?

           บาดิยูและฮันเห็นว่า แม้ทุนนิยมพยายามทำลาย ‘ความเป็นอื่น’ เพื่อเปลี่ยนทุกสิ่งให้บริโภคได้ และสินค้าแต่ละชนิดก็มักถูกตีราคาและเปรียบเทียบกับสินค้าชนิดอื่นเสมอ แต่ความรักซึ่งมาพร้อมความเป็นอื่นที่จัดประเภทไม่ได้ (atopos)4 กลับมีศักยภาพในการขัดขวางการแลกเปลี่ยนและปฏิเสธการบริโภค สำหรับบาดิยู ความรักคือเหตุการณ์ (event) ที่กระชากเราออกจากคอมฟอร์ตโซน และโยนเราสู่ความสัมพันธ์กับคนอื่นที่เราไม่รู้จักและคาดเดาไม่ได้5 (Badiou, 2012)

           ในมุมของความรัก คนอื่นเป็นสิ่งสัมบูรณ์ที่เราไม่มีวันเข้าใจ (grasping) ครอบครอง (possessing) หรือรู้(knowing) ได้ทะลุปรุโปร่งทั้งหมด และนั่นก็เป็นแรงผลักดันให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนตนเองให้เข้ากับความเป็นอื่นนั้นอยู่เสมอ ความรักประเภทนี้ต้องอาศัยเวลาฟูมฟัก และต่างจากรักแบบคาดหวังผลลัพธ์ทันที บาดิยูอธิบายว่า ความรักคือภารกิจที่พามนุษย์ไปค้นหาความจริง ซึ่งหมายถึงการสร้างความจริง หรือก็คือโลกใบใหม่และมุมมองต่อชีวิตแบบใหม่ขึ้น ผ่านการมีประสบการณ์ร่วมกับคนอื่น ความรักไม่ได้ทำให้มนุษย์ล่องลอยหรือกดให้อยู่ใต้อาณัติใคร หากคือโครงการตอกย้ำการดำรงอยู่ร่วมกัน (existential project) ในโลกที่ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่วิ่งตามแรงกระตุ้นของตลาดและการบริโภค เพราะเหตุนี้ บาดิยูจึงเสนอว่า ความรักต้องได้รับการก่อร่างสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง (Badiou, 2012)

           เนื่องจากบาดิยูเห็นว่า ความรักฆ่าความหลงตัวเองของปัจเจกในสังคมบริโภคได้ ความรักจึงมีศักยภาพหักล้างสมมติฐานของตรรกะแบบทุนที่ว่า มนุษย์มุ่งตอบสนองต่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น สำหรับบาดิยูและฮัน แม้ความรักทำให้คุณสูญเสียตัวตน แต่คุณก็จะฟื้นคืนชีพขึ้นใหม่อีกครั้งพร้อมมุมมองต่อโลกแบบใหม่ ความรักจึงเป็นยาถอนพิษของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ในแง่นี้ (Badiou, 2012, p. 17; Han, 2017)

           ในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง ความรักที่เกิดจากการเผชิญหน้าของซับเจคต์สองตัวตน (หรือมากกว่า) เตือนเราว่า ไม่ใช่ทุกสิ่งในโลกที่สามารถซื้อขาย ตีราคา หากำไร หรือปรับแต่งให้เหมาะสมกับการบริโภค (optimize) ได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรทำ ความรักจึงควรได้รับการพิจารณาเสียใหม่ ไม่ใช่ในฐานะสินค้าหรือประสบการณ์ส่วนตัว แต่เป็นปฏิบัติการทางการเมืองที่บังคับให้เราร่วมกันสร้างโลกใบใหม่

           สำหรับบาดิยู การสร้างฉากของ (เรา) สอง (Two scene) ต้องอาศัยความซื่อสัตย์ (fidelity) แม้เราอาจตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ แต่ความรักไม่อาจถูกลดทอนเหลือฉากแรกที่หอมหวานเท่านั้น ความรักต้องการระยะเวลาในการฟูมฟักเพื่อเบ่งบาน รักแท้จึงเป็นการผจญภัยที่แน่วแน่ (tenacious adventure) ความตื่นเต้นน่าค้นหาอาจทำให้เราตกหลุมรัก แต่ความแน่วแน่ทำให้รักนั้นยืนยาว เนื่องจากรักแท้คือรักที่ยืนหยัดและฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้น ความรักหาได้สมบูรณ์แบบหลังคู่รักครองคู่กัน สร้างครอบครัวหรือมีลูกกันอย่างในตอนจบของนิทานหรือในหนัง แต่สิ่งสำคัญคือระยะเวลาที่ความรักนั้นคงอยู่ (endure) แน่นอนว่าความรักไม่ได้เป็นอมตะ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่ารักจะจบลงเมื่อไร ดังนั้น การสร้างสรรค์ความรักขึ้นใหม่อยู่เสมอจึงสำคัญ (Badiou, 2012, p. 32)

           เพื่อต่อต้านความรักที่เห็นแก่ตัวของปัจเจก รวมถึงความรักคับแคบที่รักได้แต่ชาติ ศาสนา หรือสถาบันการเมืองใดสถาบันหนึ่ง เราต้องรื้อฟื้นความรักที่เป็นสากล (universality) และตัดข้ามพรมแดนรัฐ-ชาติ ศาสนา ชนชั้น หรือเพศสภาพ (Badiou, 2012, p. 16) ข้อเรียกร้องเบื้องต้นของรักแท้คือ ความกล้าที่จะยอมรับการปฏิเสธตนเอง (self-negation) หากความรักหมายถึงความปรารถนาร่วมกันในการสร้างสรรค์วิถีชีวิตแบบใหม่ ความรักก็เป็นแหล่งพลังงานให้การปฏิวัติและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งบาดิยูและฮันต่างก็เรียกร้องให้เรามีวิธีรักแบบใหม่ รวมถึงร่วมกันสร้างสังคมแบบใหม่ที่ผู้คนสามารถมีความรักที่ไม่ขึ้นอยู่กับตรรกะของรัฐหรือทุน (Badiou, 2012, p. 44)


เอกสารอ้างอิง

Badiou, A. (2012). In Praise of Love. New York: New Press.

Han, B. C. (2015). The Burnout Society. Stanford, California: Stanford Briefs.

Han, B. C. (2017). The Agony of Eros. Cambridge: MIT Press.

สรวิศ ชัยนาม (2562) ทำไมต้องตกหลุมรัก: Alain Badiou ความรัก และ The Lobster. กรุงเทพฯ: Illumination Editions.


1  ตัวอย่างของความสัมพันธ์แบบเร่งด่วน แต่ปราศจากสถานะชัดเจนก็เช่นเพลง อยู่ดี ๆ ก็ … ของ Wonderframe

2  อย่างไรก็ตาม บาดิยูเสนอว่า ความเสี่ยงไม่ได้หายไป เพียงแต่ถูกยักย้ายถ่ายเทไปยังคนอื่น เช่น นวัตกรรมระเบิดอัจฉริยะ (smart bomb) กับสงครามที่ปราศจากการตาย (zero death war) ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ซึ่งรับประกันความปลอดภัยเฉพาะชีวิตของคนในชาติ แต่ ‘ความตาย’ ของคนชาติอื่นไม่นับ ในทำนองเดียวกัน รักไร้ความเสี่ยงก็โอนย้ายความเสี่ยงไปยังคนอื่น ผู้ที่มองหารักไร้ความเสี่ยงจะตัดสินใจเลิกและทิ้งคนที่ ‘ยังไม่ใช่’ แล้วไปหาคนใหม่ และปล่อยให้อดีตคนรักจัดการกับความทุกข์ทรมาน ซึ่งถือเป็นปัญหาส่วนตัวของเขา (Badiou, 2012)

3  ทุกวันนี้ความรักอาจมีแต่ด้านบวกมากเกินไป จนนักร้องดังอย่าง Ed Sheeran ต้องเตือนผู้ฟังผ่าน Photograph เพลงดังของเขาว่า “Loving can hurt.”

4  ความรักคือเหตุการณ์ที่เราเผชิญหน้ากับบางสิ่งที่ไม่อาจถูกจัดเข้าที่เข้าทางในระเบียบของสรรพสิ่ง (the order of things) ความรักจึงเต็มไปด้วยการกีดกัน ความยุ่งเหยิง และความแตกต่าง เพราะอย่างนี้ เรื่องราวความรักที่คลาสสิกจึงมักมีตัวเอกเป็นคู่รักที่ไม่เหมาะสมกัน คือมาจากคนละตระกูล ต่างชนชั้น มีระยะห่างทางสังคม หรือกระทั่งสังกัดคนละชาติ (ดูเพิ่ม Badiou, 2012)

5  เนื่องจากความรักดึงเราออกจากตัวเอง ไปปะทะกับความเป็นอื่นอย่างสิ้นเชิง (wholly Other) ความรักจึงเป็นยาต้านซึมเศร้าที่ได้ผลชะงัด (ดูเพิ่มเรื่องความซึมเศร้าในโลกดิจิทัล Byung-Chul Han 2015)


ผู้เขียน
ปิยนันท์ จินา
นักวิจัย  ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ความรัก ความสัมพันธ์ ธุรกรรม ความเสี่ยง โลกดิจิทัล ปิยนันท์ จินา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา