สะท้อนย้อนคิด “ความรักโรแมนติก”

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 2022

สะท้อนย้อนคิด “ความรักโรแมนติก”

รากฐานของความรักโรแมนติก

           คำว่า “รักโรแมนติก” เป็นคำที่ปรากฎขึ้นในสังคมตะวันตกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 (Barclay & Holloway, 2020) แต่ถูกนิยามให้เป็นรูปแบบความรักประเภทหนึ่งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนหน้านั้นสิ่งที่เรียกว่าความโรแมนติกมักจะเป็นเรื่องของอารมณ์ชวนฝันและเป็นจินตนาการ นักปรัชญา Denis de Rougemont (1980) ตั้งข้อสังเกตว่าความรักโรแมนติกเป็นความคิดของชนชั้นสูงในยุคกลางของยุโรป ซึ่งเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของความรักที่หนุ่มสาวมีให้กัน ในขณะที่นักวิชาการเช่น Irving Singer (2009) คิดว่าความรักโรแมนติกเพิ่งปรากฏในสังคมสมัยใหม่และเติบโตขึ้นจากกระแสความคิดและการตื่นตัวทางปัญญาแบบ Romanticism ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งส่งต่อความคิดนี้มาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมคริสเตียนที่เชื่อมั่นในความจงรักภักดีต่อเพระเจ้า (Christian devotion) และนำเรื่องความรักมาผนวกรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Solomon, 1991) ในขณะที่ Reddy (2012) ตั้งข้อสังเกตว่าความรักโรแมนติกเกี่ยวข้องกับความคิดของคริสต์ศาสนา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 คริสตจักรคาทอลิกพยายามปฏิรูปการแต่งงานและพฤติกรรมทางเพศโดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดความต้องการทางเพศ (sexual desire) ออกไปจากชีวิตคริสต์เตียน ทำให้กลุ่มศิลปิน นักเขียน กวี และคู่รักทั้งหลายพยายามสร้างนิยามเกี่ยวกับความรักแบบใหม่ที่มิใช่เรื่อง “ความปรารถนา” ตามที่คริสตจักรดูหมิ่นดูแคลน นำไปสู่การสร้างความรักโรแมนติกที่แทรกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่ต่อต้านคำสอนทางศาสนา สิ่งนี้อาจเสมือนขบวนการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่มนุษย์พูดถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง

           ความรักโรแมนติกเกิดขึ้นเพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์และการสร้างสายใยที่เกาะเกี่ยวกันของคนสองคน โดยที่ความสัมพันธ์นั้น คริสตจักรมองว่าเป็น “ความปรารถนาที่เห็นแก่ตัว” (selfish desire) ทำให้กลุ่มปัญญาชนพยายามสร้างและจัดระเบียบความปรารถนานี้ให้เป็นสิ่งที่สวยงามและบริสุทธิ์ (Reddy, 2012) ดังนั้น ความเข้าใจเรื่องความรักโรแมนติกที่แพร่หลายในสังคมปัจจุบันจึงมีรากฐานมาจากการตอบโต้ของปัญญาชนตะวันตกที่พยายามท้าทายความคิดอนุรักษ์นิยมของคริสตจักร การตอบโต้นี้ได้นำเอาอารมณ์ความปรารถนามาสร้างความหมายใหม่ ซึ่งถือเป็น “ปฏิบัติการทางสังคม” นักประวัติศาสตร์ Lawrence Stone (1977) ครอบครัวที่ผูกพันกันทางอารมณ์รักใคร่เพิ่งปรากฎในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความทันสมัยและการเติบโตทางความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ปัจเจกบุคคลเริ่มสนใจ “สิทธิในการแต่งงาน” บนฐานของความรักที่มิใช่การแต่งงานเพราะครอบครัวจัดเตรียมไว้ให้ (คลุมถุงชน) การแต่งงานที่วางอยู่บนการเลือกของชายหญิงที่ต้องการสร้างครอบครัวและยึดมั่นในความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน ให้คุณค่ากับการเป็นหนึ่งเดียวของจิตใจ (union of souls) ความคิดนี้สอดคล้องกับการเติบโตของการเมืองแบบประชาธิปไตย และเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Giddens, 1992; Illouz, 2013)


การเปลี่ยนผ่านความหมายของ “ความรัก”

           ความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่ถูกนิยามในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องตั้งคำถามต่อบทบาทและสถานะของเพศภาวะ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการสร้างตัวตน ที่ปรากฎอยู่ในนิยามของความรัก (Zeldin, 1998) จากบริบทสังคมตะวันตก นิยามความรักไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 สิ่งที่เป็นความรักเกี่ยงข้องกับความผูกพันทางจิตใจของคนสองคนที่ต้องการสร้างครอบครัว ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความรักหมายถึงความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมและมิตรภาพ ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความรักกลายเป็นการตอบแทนอารมณ์ความรู้สึกของกันและกัน โดยเฉพาะการมีสำนึกเกี่ยวกับบทบาททางเพศและการตอบสนองความสุขทางกามารมณ์ ภายใต้ความทันสมัย สังคมตะวันตกกลายเป็นศูนย์กลางของการนิยาม “ความรัก” ที่แพร่หลายออกไปในสังคมอื่นภายใต้ลัทธิอาณานิคมและวัฒนธรรมประชานิยมที่นำเสนอเรื่องราวความรักในนิยาย บทกวี ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ (Aderinto, 2015; Stoler, 2006)

           การแสดงออกเกี่ยวกับความรักเป็นปฏิบัติทางสังคมและวัฒนธรรม เห็นได้จากข้อความที่เขียนในการ์ดวันวาเลนไทน์ จดหมายรัก บันทึกความรัก รวมทั้งวัตถุสิ่งของที่ถูกใช้เป็นสื่อของความรัก เช่น ดอกไม้ ช็อคโกแล็ต แหวน สร้อย เป็นต้น นอกจากนั้นยังแสดงออกในบทเพลง พิธีรสมรส และงานเลี้ยงของบ่าวสาว บุคลลที่แสดงความรักต่อกันอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องตอกย้ำหรือพิสูจน์ความรัก การแสดงความรักจึงเป็นเรื่องทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เครือญาติ ชุมชน ขนบรรมเนียม ประเพณี กฎหมาย และบรรทัดฐาน การสร้างนิยามของความรักจึงต่อรองกับกฎระเบียบทางสังคม ในสังคมที่มีวัฒนธรรมที่ต่างกันย่อมจะสร้างกรอบความคิดเรื่องความรักที่ต่างกัน เช่น ในสมัยจอร์เจียนของอังกฤษ การเกี้ยวพาราสี เป็นช่วงเวลาสำคัญของชีวิตของชายหญิง เสมือนเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ชายหญิงจะเริ่มสร้างความสัมพันธ์ด้วยการพูดเจรจา การเขียนจดหมายบอกความรู้สึก ส่งดอกไม้ ภาพถ่าย และปอยผมให้กับคนที่รัก การกระทำเหล่านี้สะท้อนความคิดแบบโรแมนติกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการพิมพ์โปสการ์ดวาเลนไทน์ ช่วงเวลานี้ถือเป็นการเข้ามาของธุรกิจที่ต้องการผลิตสินค้าเกี่ยวกับความรัก (Holloway, 2019)


รักโรแมนติกในมุมมองมานุษยวิทยา

           ในวัฒนธรรมตะวันตก ความรักถูกทำให้เป็นอุดมการณ์ทางศีลธรรมที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ โดยที่ความรักจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับการประเมินความดีงามและความซื่อสัตย์ของบุคคล (Unger, 1984) ปัจจุบัน ความรักกลายเป็นความรู้สึกร่วมของคนต่างวัฒนธรรม คำบอกเล่าเกี่ยวกับความรักปรากฎอยู่ในสังคมทุกระดับตั้งแต่สังคมพื้นเมืองไปจนถึงสังคมที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ตั้งแต่ชนชั้นแรงงานไปจนถึงชนชั้นสูง ความรักกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามครอบครองและแสวงหา ทุกคนเชื่อว่าความรักเกิดขึ้นจากความรู้สึก มิใช่สิ่งที่สั่งการหรือบีบบังคับได้ ความรักเป็นการแสดงความปรารถนาที่บุคคลใช้พิสูจน์ตัวตนและความสัมพันธ์กับคนอื่น เป็นการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนระหว่างคนสองคน (Giddens, 1992; Lindholm, 2006) อย่างไรก็ตาม Chernoff (2003) พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาว แอฟริกันในประเทศกาน่าที่ทำงานขายบริการทางเพศกับผู้ชายที่มาซื้อบริการดำเนินไปอย่างล่อแหลม รวมทั้งไม่ได้รับการช่วยเหลือจากครอบครัว ดิ้นรนด้วยตัวเองและอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่ทำงานขายบริการเหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะมีชีวิตยากลำบาก ผู้หญิงเหล่านี้ก็รู้สึกว่าตนเองมีอิสระที่จะทำงานตามที่ตนเองเลือก

           การศึกษาประเด็นความรักโรแมนติกในสังคมศาสตร์ มักจะถูกอธิบายด้วยกรอบจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ซึ่งทำให้เกิดการนิยามความรักเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องได้รับการเยียวยารักษา โดยเชื่อว่าความโรแมนติกคือ ความไร้เหตุผล ความเพ้อฝันและจินตนาการที่ไม่เป็นความจริง (Freud, 1959) นอกจากนั้น นักสังคมวิทยาจะศึกษาความรักโรแมนติกภายใต้ระบบทุนนิยมที่เติบโตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มาจนถึงปัจจุบัน และมักอธิบายว่าความรักคือรูปแบบความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นจากลัทธิปัจเจกนิยมที่แสวงหาความสุขและความสำราญส่วนตัว ถือเป็นภาพสะท้อนสังคมที่บุคคลต่อสู้ดิ้นรนและเติมเต็มความต้องการของตัวเอง (Gadlin, 1977) คำอธิบายนี้มองว่าความรักเป็นกลไกที่บุคคลนำมาเยียวยาตนเองให้รอดพ้นจากความเครียดในการใช้ชีวิตสมัยใหม่และสังคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการแสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยวและความต้องการเป็นเจ้าของ (MacFarlane, 1986)

           การศึกษาทางมานุษยวิทยาอธิบายต่างไปจากจิตวิทยาและสังคมวิทยา โดยสนใจบริบทของอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในสังคมต่าง ๆ รวมทั้งแนวคิดชีววิทยาสังคมที่สนใจการปรับตัวของมนุษย์เพื่อสร้างครอบครัวและการดำรงเผ่าพันธุ์ (De Munck, 1998; Fisher, 1992; Goode, 1959) ประเด็นสำคัญคือ ความรักโรแมนติกถูกสร้างขึ้นในเงื่อนไขทางวัฒนธรรม Lindholm (2006) ตั้งข้อสังเกตว่าการทำความเข้าใจความรักไม่ควรนำไปปะปนกับเรื่องเซ็กส์และกามารมณ์ ในแต่ละวัฒนธรรมล้วนมีวิธีการให้ความหมายกับความรักด้วยโลกทัศน์ที่ต่างกัน จากการเก็บข้อมูลของนักมานุษยวิทยาในวัฒนธรรมต่าง ๆ พบว่าสิ่งที่เป็น “ความรัก” มักพบเห็นในความสัมพันธ์ของชนชั้นปกครองโดยเฉพาะในสังคมที่มีความเป็นเมืองและมีโครงสร้างของชนชั้น รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าระบบเครือญาติและการสืบทอดวงศ์ตระกูลทางฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมีส่วนกำหนดสถานะและบทบาททางสังคมของสามีภรรยา กรณีครอบครัวที่สืบตระกูลข้างพ่อ ผู้ชายจะมีบทบาทสำคัญในการทำงานเศรษฐกิจและการควบคุมทรัพยากร ในขณะที่ครอบครัวที่สืบตระกูลข้างแม่ ผู้หญิงจะมีบทบาทในทางสังคม ผู้นำของวงศ์ตระกูลจะมีอำนาจตัดสินใจว่าสมาชิกลูกหลานในครอบครัวจะแต่งงานกับใครเพื่อทำให้ทรัพย์สินและทรัพยากรยังคงตกทอดในสายตระกูล การแต่งงานที่ผู้ใหญ่จัดเตรียมไว้ให้จึงเกิดขึ้นกับสมาชิกในวงศ์ตระกูล

           ในชนชั้นผู้ปกครอง การแต่งงานจึงเป็นเรื่องของการรักษาเกียรติยศและทรัพย์สมบัติ ชายหญิงที่ครองคู่เป็นสามีภรรยาจึงอยู่ด้วยกันภายใต้การทำหน้าที่ทางสังคมและเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้วงศ์ตระกูลมีความสมบูรณ์มั่นคง ความรักและความเสน่หาทางกามารมณ์จึงมิใช่ตัวกำหนดในการครองเรือน ในทางกลับกัน ชนชั้นสูงที่มีทรัพย์สินจำนวนมากจะคิดว่าถ้าลูกหลานในตระกูลไม่แต่งงานกับคนที่พ่อแม่เลือก แต่แสวงหาคนอื่นเป็นคู่ครองตามความพึงพอใจส่วนตัว การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการทำลายครอบครัวและเป็นคนที่ไม่จงรักภักดีกับวงศ์ตระกูล (Lindholm, 2006) ดังนั้น การเลือกคู่ครองบนฐานของความรู้สึกชอบพอส่วนตัวจึงสวนทางกับการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของวงศ์ตระกูล ความรักที่หญิงชายเลือกเองจึงมิใช่สิ่งที่ชนชั้นปกครองเห็นดีเห็นงาม ตัวอย่างเช่นในสมัยโทกุงาวา ประเทศญี่ปุ่น (ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-19) ความรักและความสัมพันธ์ระหว่างขุนนางกับหญิงโสเภณีถือเป็นสิ่งที่ไม่คู่ควร ชนชั้นสูงของญี่ปุ่นคิดว่าผู้หญิงโสเภณีมีฐานะต่ำและเสื่อมเสียจะทำให้ขุนนางและผู้นำเสื่อมเกียรติยศ จึงมีการขัดขวางมิให้โสเภณีแต่งงานเป็นภรรยากับชนชั้นปกครอง การห้ามความรักของโสเภณีกับขุนนางชั้นสูงจึงทำให้คู่รักฆ่าตัวตาย (Lindholm, 2006)

           เช่นเดียวกับสังคมโรมันในอดีต ชนชั้นปกครองที่มีความรักกับทาสและชนชั้นล่าง สังคมจะไม่ยอมรับเพราะถือว่าขัดแย้งกับโครงสร้างสังคมที่แบ่งแยกผู้ปกครองออกจากทาส สังคมโรมันคิดว่าหญิงโสเภณีคือคนที่ไว้วางใจไม่ได้ จึงไม่สามารถเป็นภรรยาของชนชั้นเจ้านาย ผู้ปกครองคนใดที่หลงใหลและชื่นชอบโสเภณี มักจะต้องพบกับการทรยศหักหลัง (Grimal, 1986) ความเชื่อนี้สัมพันธ์กับการควบคุมเซ็กส์ระหว่างคนที่มีชนชั้นต่างกัน ในหลายวัฒนธรรมจะพบว่าเซ็กส์และความใคร่เป็นเรื่องต้องห้าม และมีการอธิบายความอันตรายและความสกปรกของการมีเซ็กส์ ความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นว่าความรักที่เกี่ยวข้องกับเซ็กส์ระหว่างคนที่มีฐานะไม่เท่ากันมักจะถูกนิยามว่าเป็นสิ่งที่เสื่อมเสีย ในบางวัฒนธรรม เซ็กส์จะเป็นสิ่งต้องห้ามและมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเซ็กส์และกิจกรรมทางเพศแบบไหนที่ไม่ควรปฏิบัติ (Heider, 1970; Mead, 1956) ในวัฒนธรรม วิคตอเรียนของอังกฤษ ผู้หญิงมองว่าเซ็กส์เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและให้คุณค่ากับความบริสุทธิ์ ในขณะที่ผู้ชายมีอำนาจในการควบคุมพฤติกรรมทางเพศ เซ็กส์จึงถูกจำกัดให้เป็นกิจกรรมส่วนตัวของสามีและภรรยา จะไม่มีการแสดงออกและพูดในพื้นที่สาธารณะ ชนชั้นสูงของอังกฤษเชื่อว่าความรักระหว่างสามีภรรยาเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงโสเภณีที่ซื้อขายเซ็กส์เพียงชั่วคราว (Lindholm, 2006)

           จากการศึกษาสังคมที่มีการจัดระเบียบเครือญาติและการแต่งงานเพื่อธำรงรักษาทรัพย์สินและวงศ์ตระกูล พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักมักมิใช่สิ่งที่บุคคลเลือกเอง ถึงแม้ว่าความผูกพันทางใจระหว่างคู่รักจะพบเห็นได้ในหลายวัฒนธรรม แต่ผลที่เกิดขึ้นจากความผูกพันนี้อาจมิใช่การบูชาความรักนิรันดร เงื่อนไขทางสังคมมีผลต่อความสัมพันธ์ที่คนรักจะแสดงออกในรูปแบบที่หลากหลาย ในสังคมสมัยใหม่ที่ให้คุณค่ากับเสรีนิยมและปัจเจกนิยม คนรักสามารถแสดงความผูกพันทางใจและเลือกที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่ตนเองตัดสินใจมากกว่าจะถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคม สังคมที่เครือข่ายเครือญาติไม่ได้วางอยู่บนกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ทำให้สมาชิกมีอิสระในการเลือกใช้ชีวิตของตัวเองอาจส่งเสริมให้บุคคลเลือกคนรักตามความพึงพอใจ ในเงื่อนไขนี้การส่งต่อและแลกเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกจะมีความสำคัญเหนือกว่ากฎกติกาทางสังคม (Lindholm, 2006) อาจกล่าวได้ว่า “ความรักโรแมนติก” วางอยู่บนประสบการณ์ทางอารมณ์ที่บุคคลต้องการแสดงความปรารถนาและความพอใจส่วนตัวที่ไม่สามารถแสดงออกได้ในกฎเกณฑ์ทางสังคม โรแมนติกจึงขยายความปรารถนาให้เป็นคุณค่าของชีวิตแบบใหม่ที่บุคคลตอกย้ำการมีอิสระในตัวตน

           นอกจากนั้น ในสังคมที่ยอมให้สมาชิกทดลองมีเพศสัมพนธ์ก่อนการแต่งงาน หรือเรียนรู้เรื่องเซ็กส์กับผู้ที่มีประสบการณ์ทางเพศ บุคคลอาจพบความรู้สึกทางใจและความผูกพันกับคนที่มีเซ็กส์ด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้อาจยังมีไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าในวัฒนธรรมเหล่านั้น ปฏิบัติต่อเรื่องความรู้ทางเพศในลักษณะใด เซ็กส์กับความรู้สึกในแต่ละวัฒนธรรมมีความหมายที่ต่างกันอย่างไร สองสิ่งนี้แยกขาดจากกันหรือทับซ้อนกันอย่างไร ในสังคมสมัยใหม่ ความรักโรแมนติกอาจมิใช่สิ่งเดียวกับการบริโภควัตถุสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของความรัก แต่อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ถูกใช้เพื่ออธิบายความรู้สึกของคนที่ชอบพอกัน Lindholm (2006) อธิบายว่าความรักโรแมนติกเป็นรูปแบบของความปรารถนาแบบหนึ่งที่มนุษย์มีเพื่อหลีกหนีไปจากข้อจำกัดทางสังคมและนำไปสู่สภาวะที่น่ารื่นรมย์ เป็นประสบการณ์ของการสร้างชีวิตและการอยู่ในโลก เป็นสภาวะพิเศษที่ทำให้มนุษย์สัมผัสถึงการก้าวข้ามข้อจำกัดและกฎระเบียบ ความรู้สึกเหล่านี้ยังต้องพิจารณาจากชีวิตจริงของผู้คนที่กำลังสร้างควาหมายของความรักโรแมนติก


บรรณานุกรม

Aderinto, S. (2015). Modernizing Love: Gender, Romantic Passion and Youth Literary Culture in Colonial Nigeria. Africa, 85(3), 478–500.

Barclay, K. & Holloway, S. (2020). Interrogating Romantic Love. Cultural and Social History, 17(3), 271-277.

Chernoff, J.M. (2003). Hustling is not Stealing: Story of an African Bar Girl. Chicago: Chicago University Press.

De Munck, V. (Ed.). (1998). Romantic Love and Sexual Behavior: Perspectives from the Social Sciences. Westport: Praeger.

Fisher, H. (1992). Anatomy of Love: The Natural History of Monogamy, Adultery and Divorce. New York: Norton.

Freud, S. (1959). Group Psychology and the Analysis of the Ego. New York: Norton.

Gadlin, H. (1977). Private Lives and Public Order: A Critical View of the History of Intimate Relations in the United States. In: G. Levinger and H. Raush (Eds.), Close Relationships: Perspectives on the Meaning of Intimacy. (pp.33-74). Amherst: University of Massachusetts Press.

Giddens, A. (1992). The Transformation of Intimacy: Sexuality, Love & Eroticism in Modern Societies. Standford: Stanford University Press.

Goode, W. (1959). The Theoretical Importance of Love. American Sociological Review, 24, 38-4.

Grimal, P. (1986). Love in Ancient Rome. Norman: University of Oklahoma Press.

Heidar, K. (1970). The Dugum Dani: A Papuan Culture in the Highlands of West New Guinea. Chicago: Aldine.

Holloway, S. (2019). The Game of Love in Georgian England: Courtship, Emotions and Material Culture. Oxford: Oxford University Press.

Illouz, E. (2013). Why Love Hurts: A Sociological Explanation. Cambridge: Polity Press.

Lindholm, C. (2006). Romantic Love and Anthropology. Etnofoor, 19(1), 5-21.

MacFarlane, A. (1986). Marriage and Love in England: 1300 - 1840. Oxford: Basil Blackwell.

Mead, M. (1956). New Lives for Old: Cultural Transformation - Manus, 1928-1953. New York: Morrow.

Reddy, W. (2012). The Making of Romantic Love: Longing and Sexuality in Europe, South Asia, and Japan, 900–1200CE. Chicago: The University of Chicago Press.

Rougemont, D. D. (1980). Love in the Western World, trans. Montgomery Belgion. Princeton, NJ: Princeton University Press.

Singer, I. (2009). The Nature of Love, Vol. 2: Courtly and Romantic. Cambridge, MA, and London: MIT Press.

Solomon, R.C. (1991). ‘The Virtue of (Erotic) Love’ in Robert C. Solomonand and Kathleen M. Higgins (eds.) The Philosophy of (Erotic) Love (pp. 492–518). (Lawrence, KS: University Press of Kansas.

Stoler, A.L. (ed.). (2006). Haunted by Empire: Geographies of Intimacy in North American History. Durham: Duke University Press.

Stone, L. (1977). The Family, Sex and Marriage in England 1500–1800. London: Penguin.

Unger, R. (1984). Passion: An Essay on Personality. New York: Free Press.

Zeldin, T. (1998). An Intimate History of Humanity. London: Vintage.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ความรักโรแมนติก ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share