มันยากที่จะ “รัก” : พินิจ “รัก” และ “การครองคู่” ในบริบททางสังคมและวัฒนธรรม

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 3800

มันยากที่จะ “รัก” : พินิจ “รัก” และ “การครองคู่” ในบริบททางสังคมและวัฒนธรรม

           ความรักเป็นสภาวะอารมณ์แบบหนึ่งที่มนุษย์พยายามนิยามและให้คำอธิบาย ความสำคัญของสภาวะอารมณ์ดังกล่าวถูกนำไปเชื่อมโยงกับการครองคู่และการแต่งงาน นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือความโหยหาแบบต่าง ๆ ยังอาจอธิบายได้ผ่านการนิยามรูปแบบของความรักที่หลากหลาย ในปี ค.ศ. 1886 จิตแพทย์ชาวเยอรมนี ริชาร์ด ฟอน คราฟต์-เอบิง (Richard von Krafft-Ebing) (1886) อธิบายว่า ความรักสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ รักแท้ (true love) รักบริสุทธิ์ (pure love) รักแบบเสน่หา (passionate love) รักแบบเห็นใจ (sentimental love) และรักแบบมิตรภาพ (friendship) หลายทศวรรษถัดมา นักจิตบำบัด อัลเบิร์ต เอลลิส (Albert Ellis) (1954) บอกว่าความรักสามารถนิยามได้หลายประเภท อีกทั้งยังมีหลายระดับของลักษณะอารมณ์ อาทิ ความรักแบบคู่ผัวตัวเมีย (conjugal love) ความรักแบบใคร่หา (sexual love) ความรักแบบครอบครัว (familial love) ความรักต่อตนเอง (self-love) ตลอดจนความรักแบบย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive love) การอธิบายสภาวะอารมณ์ดังกล่าวจึงมีความหมายซับซ้อนแตกต่างกันไป และยากที่จะนิยามได้อย่างตรงไปตรงมา

           ในทางวิชาการ คำอธิบายเกี่ยวกับความรักที่เป็นระบบและมีชื่อเสียงได้แก่ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (triangular theory of love) ของนักจิตวิทยาชื่อโรเบิร์ต เจฟฟรีย์ สเติร์นเบิร์ก (Robert Jeffrey Sternberg) (1986) เขาอธิบายว่าความรักประกอบไปด้วยองค์ประกอบพื้นฐานสามองค์ประกอบ คือ ความใกล้ชิด (intimacy) ความหลงใหล (passion) และข้อผูกพัน (commitment) โดยแต่ละองค์ประกอบสามารถจัดวางในความสัมพันธ์แบบสามเส้าจนเกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันของแต่ละองค์ประกอบจะถูกใช้นิยามเป็นหน้าตาของความรักแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การนิยามความรักดังกล่าวข้างต้นนี้จัดเป็นมโนทัศน์ที่พิจารณาความรักจากความพยายามให้นิยามที่เป็นนามธรรมและความเป็นสากล มิติทางสังคมวัฒนธรรมที่ให้บริบทหรือวางกรอบการพิจารณาความรักภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ในชีวิตมนุษย์ ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาสำรวจหรือมีส่วนร่วมในการอธิบาย บทความนี้เป็นการทบทวนตรวจสอบ “ความรัก” (love) ซึ่งผูกโยงกับ “การครองคู่” (mating) ในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่จะอธิบายให้เห็นบริบท เงื่อนไข หรือแม้แต่ความเปลี่ยนแปลง ที่ความรักมิอาจเป็นเพียงสภาวะอารมณ์ที่สามารถนิยามได้ประปรายไม่รู้จบตามคำคุณศัพท์ที่นำมาขยายความแบบลอย ๆ หรือสร้างเป็นแนวคิดที่แน่นิ่งตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง การพิจารณาความรักโดยเผยให้เห็นความเชื่อมโยงกับแง่มุมต่าง ๆ อาจช่วยเปิดมุมมองและความเข้าใจใหม่ ๆ ต่อสภาวะอารมณ์ดังกล่าว ซึ่งขยับออกไปจากมุมมองที่ปราศจากเงื่อนไขในการใช้ชีวิตของมนุษย์


มานุษยวิทยากับการศึกษาความรัก

           วัตถุประสงค์สำคัญของมานุษยวิทยาคือการท้าทายภาพเหมารวมและแสดงให้เห็นความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรมระหว่างผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ผ่านการเข้าไปคลุกคลีหรือทำความเข้าใจผู้คนที่ถูกศึกษาด้วยอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปแล้ว นอกจากความรักจะเป็นสภาวะอารมณ์ประการหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในสังคมวัฒนธรรมต่าง ๆ ของมนุษย์แล้ว ความรักยังมีลักษณะเป็นแนวคิดที่ยึดโยงกับความชอบ ความปรารถนา ความโหยหา ความผูกพัน สัญชาติญาณ และความพึงพอใจอีกด้วย การมีอยู่ของความรักจึงส่งผลอย่างสำคัญต่อสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คน ในขณะที่จูเลีย คาร์เตอร์ (Julia Carter) (2013) บอกว่าความรักเป็นสิ่งที่ยากต่อการเข้าใจความหมายที่แท้จริง ไมเคิล แกรทซกี้ (Michael Gratzke) (2017) แสดงให้เห็นว่าภาษามีบทบาทสำคัญในการแสดงความรัก และในขณะเดียวกันผู้คนก็สัมผัสได้ถึงความรักผ่านการแสดงออกในบริบทของภาษา นิยาม ถ้อยคำ แนวคิด และการรับรู้ถึงความรักจึงแตกต่างกันไปตามกลุ่มของผู้ใช้ภาษา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้คนจะพูดถึงความรักด้วยถ้อยคำเดียวกัน แต่ถ้อยคำดังกล่าวอาจผันแปรไปตามบริบททางสังคมและวัฒนธรรมเฉพาะตัวได้อีกชั้นหนึ่ง นิยามของความรักจึงสามารถแตกต่างกันไปได้ตามแต่พื้นที่ ช่วงเวลา และบริบทรอบข้าง ภายใต้การประกอบสร้างทางสังคมวัฒนธรรมและความเข้าใจผ่านโลกทัศน์ชุดหนึ่ง ๆ

           การศึกษาความรักในมิติสังคมวัฒนธรรมเริ่มขึ้นเมื่อวิลเลียม กู๊ด (William Goode) (1959) ชี้ว่า ที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยาเพิกเฉยต่อประเด็นเรื่องความรักซึ่งมีนัยสำคัญต่อการอธิบายแบบแผนเครือญาติ (kinship pattern) อย่างน่าตกใจ กู๊ดบอกว่า ในขณะที่นักสังคมวิทยายุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองสนใจสิ่งที่อาจเทียบเคียงได้กับความรักในมิติของการครองคู่ หรือก็คือการจับคู่สืบพันธุ์เพื่อผลิตทายาท (to have sex and produce young) คำว่า “รัก” ไม่เคยปรากฏในดัชนีของหนังสือทางมานุษยวิทยาที่ว่าด้วยสังคมวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ เป็นการเฉพาะ หรือแม้แต่ในหนังสือตำราทางมานุษยวิทยาทั่วไปเองก็ตาม แทนที่จะพิจารณาความรักในฐานะสภาวะอารมณ์ทางจิตวิทยาอย่างที่เคยเป็นมา กู๊ดเห็นว่าความรักควรถูกพิจารณาในมิติของแบบแผนโครงสร้างสังคม (sociostructural pattern) ในแง่นี้ นิยามและความเข้าใจเกี่ยวกับความรักสำหรับเขา จึงแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะเฉพาะของโครงสร้างทางสังคม

           นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ประเด็นเรื่องความรักเป็นที่สนใจและถูกศึกษามากขึ้นในทางสังคมศาสตร์ แนวการศึกษาและมุมมองใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายลักษณะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว แนวทางดังกล่าวอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์สำคัญในระดับโลก ซึ่งเป็นที่มาของกระแสความสนใจทางมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์เป็นวงกว้าง อาทิ กระบวนการโลกาภิวัตน์ ปัจเจกบุคคลนิยม ทุนนิยมและบริโภคนิยม ตลอดจนการอพยพข้ามชาติ งานชิ้นสำคัญของแอนโทนี่ กิ๊ดเด้น (Anthony Gidden) (1992) อธิบายว่าปรากฏการณ์สมัยใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของความใกล้ชิด เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม การเติบโตของชนชั้นกลาง และการเขียนงานวรรณกรรมที่พยายามปลดปล่อยความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชายหญิงในสังคมทุนนิยมของโลกตะวันตก นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของรักโรแมนติก (romantic love) ในนามของความรักที่เป็นอมตะ และเผยแพร่ออกไปยังสังคมวัฒนธรรมนอกโลกตะวันตก ภายใต้วิธีคิดแบบปัจเจกบุคคลนิยม หน้าตาของรักโรแมนติกที่เชื่อว่าความรักเอาชนะได้ทุกสิ่ง เราควรเชื่อและทำตามเสียงเรียกร้องของหัวใจ เพราะการได้รักและการถูกรักเป็นสิ่งพิเศษ ไปพร้อม ๆ กับความคิดที่เราควรมองข้ามข้อเสียและให้ความสนใจกับข้อดีของคนรัก (Karandashev 2021) ได้กลายเป็นอุดมคติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมตะวันตกและแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางผ่านสื่อต่าง ๆ นิยามข้างต้นเกี่ยวกับรักโรแมนติกถูกรับรู้อย่างเป็นสากลและได้สร้างความเข้าใจที่ผู้คนมีต่อความรักโดยภาพรวม

           อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น นักมานุษยวิทยาชีวภาพและนักจิตวิทยาหลายคนได้สำรวจความเป็นไปได้ที่รักโรแมนติกเป็นสภาวะอารมณ์ตามธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ (Buss 1988; Fischer 1987; Tonnov 1984) พวกเขาเสนอว่า มนุษย์ได้วิวัฒนาการความโน้มเอียงของประสบการณ์ต่อรักโรแมนติกที่สามารถถูกรับรู้ได้ในชั่วขณะ ความปรารถนาที่ผู้คนไม่สามารถยับยั้งไว้ได้ในชั่วขณะดังกล่าว มักนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์แบบชั่วแล่น การวิจัยทางชีวเคมีชี้ให้เห็นว่าการตกอยู่ในภวังค์ (giddiness) ความอิ่มอกอิ่มใจ (euphoria) และการมองโลกในแง่ดี (optimism) เกี่ยวกับคนรักและสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นอาการในช่วงแรก ๆ ของการตกหลุมรัก เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของฟีนิลเอทิลเอมีน (phenylethylamine) ซึ่งเป็นสารประกอบเทียบเคียงได้กับแอมเฟตามีน (amphetamine-related compound) ฮอร์โมนดังกล่าวส่งผลให้ผู้คนอารมณ์ดีและรู้สึกเบิกบานใจ คำอธิบายจากมุมมองเหล่านี้ชี้ว่าอาการทางชีวภาพของรักโรแมนติกเกิดขึ้นจากพลังของสารเคมีในสมองของโฮมินิด (hominid) ซึ่งเป็นอิสระจากการประกอบสร้างทางสังคม

           วิลเลียม แจนโคเวียก (William Jankowiak) และเอ็ดเวิร์ด ฟิสเชอร์ (Edward Fischer) (1992) อธิบายว่า ในทางหนึ่ง คำอธิบายรักโรแมนติกที่การก้าวไปสู่สมัยใหม่และการเกิดขึ้นของแนวคิดปัจเจกบุคคลนิยม เป็นความเชื่อมโยงภายโต้โลกทัศน์ที่มองตะวันตกเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric view) จากการวิเคราะห์ตัวอย่างข้อมูลข้ามพื้นที่วัฒนธรรม ทั้งสองเห็นว่ารักโรแมนติกสามารถพบได้ทั่วไปในสังคมมนุษย์ หรือหากไม่เป็นสากลก็ถือว่าใกล้เคียงมาก แต่ในขณะเดียวกัน การผันแปรไปตามแต่พื้นที่ เวลา และบริบทของนิยามความรัก ภายใต้การประกอบสร้างทางสังคมวัฒนธรรมก็ไม่อาจละเลยได้ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางชีววิทยาและโลกทัศนที่สังคมวัฒนธรรมหล่อหลอม มีส่วนอย่างสำคัญต่อการรับรู้และมีปฏิบัติการแบบต่าง ๆ การสำรวจความเข้าใจต่อนิยามความรักภายใต้ลักษณะทางวัฒนธรรมของผู้คนที่หลากหลายจึงเป็นสิ่งจำเป็น


“รัก” ในบงการ

           ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา งานชาติพันธุ์วรรณนาว่าด้วยการศึกษาความรักมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น งานเหล่านี้ฉายให้เห็นความผันแปรทางวัฒนธรรมของอุมคติและปฏิบัติการของความรัก พร้อมกันนั้นยังท้าทายนิยามความรักในอุดมคติของโลกตะวันตกตามไปด้วย หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือการที่ความรักเป็นสิ่งที่ถูกกำกับควบคุมภายในบริบทของแนวคิดหรือสถานการณ์บางแบบ อุดมคติของบางศาสนา อาทิ ศาสนาคริสต์ สอนให้แยกความรักออกจากเรื่องทางเพศ การถือพรหมจรรย์ (chaste) กลายเป็นวิถีปฏิบัติที่ถูกควบคุมโดยความคิดทางศาสนา การเชิดชูบูชาความบริสุทธิ์ผุดผ่องทางเพศมีจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งคือเพื่อควบคุมกามกิจก่อนแต่งงาน (premarital sexuality) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกามกิจของผู้หญิง แนวคิดเรื่องการถือพรหมจรรย์แบบนี้มักเกิดขึ้นในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ซึ่งการปราศจากความสัมพันธ์ทางเพศมาก่อนของผู้หญิงจะตอบสนองต่อผลประโยชน์ของพ่อแม่และผู้อาวุโสในวงศ์ตระกูล เด็กผู้หญิงในครอบครัวจึงตกอยู่ในฐานะที่เป็นทุนความใคร่ (erotic capital) ซึ่งจะถูกใช้งานผ่านการผูกสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติด้วยการแต่งงาน (Levi-Strauss 1969) นอกจากนี้ ในหลายสังคม การถือพรหมจรรย์ก่อนแต่งงานยังทำให้ผู้ถือได้รับการยอมรับในมิติทางศีลธรรมอีกด้วย คติดังกล่าวตอกย้ำการควบคุมบงการ ผ่านการยกย่องผู้ที่สมาทานตนเองให้อยู่ในร่องในรอยของวัฒนธรรมปิตาธิปไตย

           การควบคุมความรักผ่านการแต่งงานโดยผู้ใหญ่ หรือที่เรียกว่าการคลุมถุงชน ถือเป็นเรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์มนุษย์ ในสังคมบรรพกาล การใช้ชีวิตแบบหาของป่าล่าสัตว์มักยินยอมให้สมาชิกมีอิสระในการจับคู่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดและขยายเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติและความพึงพอใจ แต่ลักษณะการจับคู่ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปเมื่อสังคมก้าวเข้าสู่การทำเกษตรกรรม การอยู่ติดที่ ดูแลไร่นา และเลี้ยงปศุสัตว์ เรียกร้องการใช้แรงงานรวมไปถึงการจัดการความสัมพันธ์ ผลประโยชน์ และอำนาจทางการเมืองในระดับต่าง ๆ ความอยู่รอดของครอบครัว เครือญาติ และวงศ์ตระกูล ถูกยกขึ้นเหนือความพึงพอใจส่วนบุคคล (Nelson & Jankowiak 2021) การคลุมถุงชนหนุ่มสาวผ่านการหมั้นหมายหรือการจัดให้แต่งงานกันตั้งแต่ยังเด็กตามความต้องการของผู้ใหญ่ เป็นการป้องกันหรือลดทอนความเป็นไปได้ที่ทุนความใคร่ของครอบครัวจะไปมีความรักผ่านความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนอื่นที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า ไม่ได้เห็นชอบ หรือไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้า (Goode 1959) อลิซ ชเลเกล (Alice Schlegel) และเฮอร์เบิร์ต แบร์รี่ (Herbert Barry) (1991) พบว่าการพยายามควบคุมความรักและความสัมพันธ์ของเด็กโดยผู้ใหญ่ในลักษณะดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งยังเป็นการป้องกันการขายหน้าของผู้ใหญ่จากการปล่อยให้เด็กมีความสัมพันธ์แบบอิสระด้วย

           ระหว่างการคลุมถุงชนกับการเลือกคู่ครองตามใจปรารถนา การดูตัวกลายเป็นการประนีประนอมที่คนหนุ่มสาวมีสิทธิเลือกคู่แต่งงานตามตัวเลือกที่ผู้ใหญ่จัดเตรียมไว้ให้ นอกจากความรักที่เกิดขึ้นจากการดูตัว จะถูกอธิบายว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำหน้าที่ของตนแล้ว ผู้ทำหน้าที่เองก็มีสิทธิเลือกคู่ครองจากตัวเลือกที่มีอยู่ อย่างไรก็ดี การจับคู่ในลักษณะนี้ทำให้การครองคู่ไม่ได้เริ่มจากความรักในตัวเอง แต่เป็นเรื่องของการบ่มเพาะฟูมฟักผ่านการใช้ชีวิตคู่และผูกกันไว้ด้วยการมีทายาท ตัวอย่างการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิงที่เริ่มความสัมพันธ์จากการดูตัวในสังคมจีน ทศวรรษ 1980 เกิดขึ้นในเชิงการปฏิบัติมากกว่าความหลงใหลของทั้งสองฝ่าย พวกเขาเห็นพ้องว่าความรักจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่สามีภรรยาใช้ชีวิตร่วมกันหลังแต่งงาน ไม่ใช่ก่อนการแต่งงาน (Jankowiak 1995) หน้าตาของความรักในแง่นี้กลายเป็นเรื่องของการเอาใจใส่ การดูแล และความผูกพัน

           อัลเฟรด เจล (Alfred Gell) (2011) บอกว่าความรักเกิดขึ้นในกระบวนการที่ทั้งปกปิดและเปิดเผยระหว่างคู่รัก ในอินเดีย การแต่งงานแบบคลุมถุงชน โดยเฉพาะคนในศาสนาและวรรณะเดียวกัน เป็นแนวคิดกระแสหลัก ในทางกฎหมาย แม้พลเมืองจะมีสิทธิแต่งงานได้อย่างอิสระ แต่ในทางปฏิบัติ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐและเอ็นจีโอยังคงสนับสนุนให้พ่อแม่มีสิทธิเลือกคู่ครองให้ วีนา ดาส (Veena Das) (2010) ชี้ให้เห็นว่า ความรักต่างศาสนาระหว่างชายหนุ่มฮินดู คัลดิป (Kuldip) กับซาบา (Saba) สาวมุสลิม ดำเนินไปอย่างยากลำบากท่ามกลางการคัดค้านและไม่สนับสนุนของพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย ในขณะที่แม่ของฝ่ายชายไม่พึงพอใจเป็นอย่างมากที่ลูกชายพาผู้หญิงมุสลิมเข้ามานั่งอยู่กลางบ้าน พ่อของฝ่ายหญิงขู่ฆ่าหนุ่มฮินดูและแจ้งความกับตำรวจว่าลูกสาวของตนเองถูกลักพาตัวไป การหนีตามกัน (elopement) ของทั้งสองถูกอธิบายว่าเป็นการดิ้นรนทางศีลธรรมไปพร้อม ๆ กับติดต่อเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ครอบครัวของทั้งสองฝ่ายเห็นแก่ความรักของทั้งคู่และลูกน้อยที่เกิดระหว่างการหลบหนี เรื่องราวดังกล่าวจบลงตรงที่ฝ่ายชายยอมเปลี่ยนศาสนาไปเป็นมุสลิม กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าความรักไม่ได้ชนะทุกสิ่ง ภายใต้การกำกับควบคุมของความคิดทางศาสนา ความรักปรากฏตัวในฐานะศีลธรรมแบบหนึ่งซึ่งขับเคลื่อนปฏิบัติการของคู่รัก เพื่อแสวงหาที่ทางและคลี่คลายเงื่อนปมภายใต้ศีลธรรมชุดอื่น ๆ ที่โยงใยมากไปกว่าเรื่องของสภาวะอารมณ์ของคนสองคน


“รัก” กับผลประโยชน์

           อุดมคติเกี่ยวกับความรักในปัจจุบันของหลายสังคม คือสภาวะทางอารมณ์ที่ปราศจากผลประโยชน์ (Mody 2008; Stark 2017) อุดมคติแบบนี้สะท้อนให้เห็นองค์ประกอบสำคัญของรักโรแมนติก ที่ความรักมีคุณค่าในตัวเอง ไม่อาจลดทอนไปสู่สัญชาติญาณ เรื่องทางเพศ เนื้อหนังมังสา การเข้าถึงสิทธิและอำนาจบางอย่าง ตลอดจนทรัพย์สินเงินทองและผลประโยชน์อื่น ๆ อาทิ สถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนผลประโยชน์ทางวัตถุ แต่การพิจารณาความรักแบบนี้นำไปสู่การตั้งคำถามว่าปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์และมีผลต่อความรักที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่และอย่างไร งานศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณนาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าความรักแทบไม่แยกขาดจากผลประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ

           ข้อวิตกอย่างหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยในช่วงแรกเริ่มสานสัมพันธ์รัก คือการกลัวถูกหลอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทองหรือเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ในเชิงปฏิบัติบางครั้งอาจเกิดขึ้นจากเรื่องผลประโยชน์อย่างตรงไปตรงมา ผู้ค้าบริการทางเพศและผู้ซื้อบริการอาจได้รับประสบการณ์ความรักแบบการละครในระหว่างร่วมเตียงเคียงหมอน แต่ความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นด้วยการซื้อขายประสบการณ์ผ่านบริการแบบนี้ บางครั้งก็จบลงด้วยความรักที่จริงใจและถึงขั้นแต่งงานในท้ายที่สุด มารี-อีฟ แคเรียร์-มอยซาน (Marie-Eve Carrier-Moisan) (2018) เผยให้เห็นการก่อตัวขึ้นของความรักกับชายชาวต่างชาติ (gringo love) ของผู้หญิงผิวสีที่มีรายได้น้อยในบราซิลตอนเหนือ ในบริบทการแบ่งแยกเชื้อชาติ ฉากรักและบริการทางเพศแก่ชายชาวต่างชาติกลายเป็นประตูโอกาสอันนำมาซึ่งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและชีวิตที่ดีขึ้น ในแง่นี้ งานบริการทางเพศกลายเป็นประตูโอกาสของผลประโยชน์ระยะสั้น ที่อาจทำให้ผู้หญิงชายขอบสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ผ่านการขยับฐานะทางสังคมผ่านความรักและการแต่งงาน เพื่อเข้าถึงผลประโยชน์ระยะยาว

           ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างคู่ตรงข้ามของความรักกับผลประโยชน์ในวิธีคิดแบบตะวันตก ที่มักมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยการแบ่งแยกเป็นสองขั้ว นำไปสู่การแสวงหาคำตอบที่พยายามสลายเส้นแบ่งที่ตายตัวด้วยตัวอย่างจากที่อื่น ๆ พัชรินทร์ ลาภานันท์ อธิบายให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของสามีภรรยาในปรากฏการณ์ “เมียฝรั่ง” ไม่ได้มาจากปัจจัยด้านทรัพย์สินเงินทองหรือความรักอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา หากแต่มีความซับซ้อนเจือปนของปัจจัยที่หลากหลาย อาทิ ความไว้วางใจ (trust) การดูแล (care) และความกตัญญู (Filial obligation) อยู่ด้วย (Lapanun 2019) ลินดา เรบฮัน (Linda Rebhun) (1999) แสดงให้เห็นว่าในตอนเหนือของบราซิล ความคิดเรื่องรักแท้ไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การแต่งงาน ความคิดเรื่องผลประโยชน์รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจต่างหากที่เป็นเหตุผลสำคัญของการแต่งงาน หรือในประเทศจีน แจนโกเวียคกับหลี่ซวน (Li Xuan) (2017) พบว่าผู้หญิงจีนเห็นว่า ความรักกับผลประโยชน์และทรัพย์สินเงินทองไม่ใช่สิ่งที่ขัดแย้งกัน ผู้หญิงจีนวัย 24 ปีอธิบายว่า “ฉันไม่เห็นว่ามันจะมีปัญหาอะไร พวกผู้ชายสามารถมีได้ทั้งคู่ คนที่ไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็คือคนที่ยังไม่พร้อม” ในทำนองเดียวกับที่ผู้หญิงเกาหลีใต้บอกกับฌอง-พอล บัลดักชิโน (Jean-Paul Baldacchino) (2008) ว่า “ฉันไม่รักเขา เพราะเขาจน”


“รัก” (?) พ้นมนุษย์

           มนุษย์ไม่เพียงประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อออกล่า หาอาหาร หรือทำสงครามเท่านั้น แต่ยังได้สร้างเครื่องมือสำหรับสื่อสารความรักระหว่างกันด้วย เสื้อผ้า เครื่องประดับ และดอกไม้ เป็นวัตถุสำคัญ ๆ ที่มนุษย์ใส่ความหมายและกลายเป็นสัญญะเพื่อแสดงถึงความรัก สิ่งประดิษฐ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งได้แก่จดหมายรักซึ่งอาศัยการเขียนและการเล่าเรื่อง เป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึก จดหมายรักช่วยให้คนหนุ่มสาวเกี้ยวพาราสีกันผ่านตัวอักษรภายใต้สภาพสังคมหรือสถานการณ์บางอย่างที่ไม่สะดวก หรือไม่อนุญาตให้มีการแสดงความรัก ตลอดจนเรื่องทางเพศเกิดขึ้นในที่สาธารณะ จดหมายรักจึงเป็นสิ่งที่มอบพื้นที่ในการแสดงความรักผ่านข้อจำกัดแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ แม้การสื่อสารความในใจผ่านจดหมายรักจะดูเรียบง่ายผ่านการใช้ตัวอักษร ผู้คนยังสามารถดัดแปลงวิธีการที่หลากหลายในการสื่ออารมณ์ผ่านจดหมาย อาทิ รอยจูบ การแนบดอกไม้แห้ง และการพรมน้ำหอม (Janning 2018) จดหมายกลายเป็นวัตถุสิ่งของอันดับต้น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้าง สาน และกระชับสัมพันธ์รักผ่านการสื่อสารของมนุษย์

           ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารพัฒนาขึ้น เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือได้เปลี่ยนแปลงโลกและวิถีของความรักอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ความสามารถในการสื่อสารข้ามพื้นที่ในขณะเวลาจริง ช่วยให้คู่รักประคับประคองความรู้สึกใกล้ชิดในความสัมพันธ์ที่ยืดขยาย (Beck & Beck Gersheim 2014) เครื่องมือเหล่านี้ยังช่วยให้คนหนุ่มสาวมีโอกาสได้พบปะคู่รัก นัดพบในชีวิตจริง และบ่มเพาะความสัมพันธ์ใกล้ชิดซึ่งกันและกัน ไปพร้อม ๆ กับหลีกเลี่ยงการตรวจพบโดยครอบครัว เพื่อนฝูงและคนรอบข้าง อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่เข้าถึงและเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดังกล่าว แอพพลิเคชั่นสำหรับหาคู่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความเป็นไปได้และขยับขยายขอบเขตการนัดพบ เอวา อิลลัวซ์ (Eva Illouz) (2012) เห็นว่าแอพพลิเคชั่นหาคู่มีแนวโน้มทำให้ผู้ใช้ที่โสดเหงากลายเป็นคนช่างเลือกและขาดการประมาณตนในการค้นหาอีกฝ่ายที่จะทำให้ตนเองรู้สึกพึงพอใจ ข้อเสนอดังกล่าวนำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อเทคโนโลยีที่ผู้คนคิดว่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนความรักและการครองคู่ได้มากขึ้น แต่กลับส่งผลกระทบในแบบที่ไม่คาดคิด

           นอกเหนือไปจากการเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้คนได้สานสัมพันธ์ใกล้ชิดกันแล้ว เทคโนโลยียังนำมาซึ่งความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ทำให้การนิยามความรักเป็นมากไปกว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ความคิดที่ผู้คนตกหลุมรักหุ่นยนต์อาจฟังดูเหลวไหลสำหรับหลายคน แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไป เราอาจเริ่มที่จะมองเห็นปริมณฑลที่มนุษย์ได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้งจากเทคโนโลยีและจักรกลไปบางส่วนแล้ว ในปี 2017 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) บอกเล่าเรื่องราวของลิลลี่ หญิงสาวชาวฝรั่งเศสที่นิยามอัตลักษณ์ของตนเองว่าเป็นโรโบเซ็กชวล (robosextual) ในตอนที่เธออายุ 19 ปี เธอค้นพบว่าตนเองไม่ได้สนใจที่จะชอบพอกับมนุษย์ โดยเธอให้เหตุผลในการหมั้นกับหุ่นยนต์อินมูเวเตอร์ (InMoovator) ของเธอว่า “ฉันไม่ได้คิดว่าเขาเป็นเครื่องจักรโง่ ๆ แต่เขาก็ไม่ใช่มนุษย์เช่นกัน เอาเป็นว่าฉันรักเขาในแบบที่เขาเป็น” ไม่กี่ปีถัดมา ในปี 2020 สำนักข่าวเดอะไมนิจิ (the Mainiji) บอกเล่าถึงการแต่งงานระหว่างอากิฮิโกะ กอนโด ชายหนุ่มอายุ 36 ปี กับฮัตสึเนะ มิกุ (Hatsune Miku) คาแรคเตอร์โปรแกรมสังเคราะห์เสียงที่ปรากฏตัวแบบโฮโลแกรมผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่าเกตบ็อกซ์ (Gatebox) กอนโดอธิบายว่าเขามีปัญหาสุขภาพจิตจากการถูกกลั่นแกล้ง (bully) โดยเพื่อนร่วมงานสาวสองคนจนทำให้เขาต้องพักงานยาวถึง 2 ปี ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือเอไอ อย่างมิกุกลายเป็นผู้สนับสนุนทางอารมณ์เพียงหนึ่งเดียวของเขา เสียงเพลงที่เธอร้องช่วยเยียวยาและทำให้เขากลับไปทำงานได้อีกครั้ง ความรักก่อตัวขึ้นในหัวใจของชายหนุ่มเมื่อเขาได้รับความช่วยเหลือและมีปฏิสัมพันธ์ทางใจกับเอไอ เมื่อมิกุปรากฏตัวผ่านเทคโนโลยีโฮโลแกรมเกตบ็อกซ์ กอนโดบอกเธอว่า “ฉันรักเธอ แต่งงานกับฉันนะ” ในขณะที่มิกุตอบว่า “ฉันหวังว่าคุณจะทนุถนอมฉันนะคะ”


ส่งท้าย

           หากพิจารณาความรักในบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย รายละเอียดต่าง ๆ ทำให้การนิยามสภาวะอารมณ์อย่างความรักมิอาจทำได้อย่างตรงไปตรงมา การเข้าใจความรักภายใต้นิยามของรักโรแมนติกเป็นเพียงรูปลักษณ์แบบหนึ่งของความรัก เงื่อนไขและการใช้ชีวิตของผู้คนควรเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเพื่อให้เห็นหน้าตาและมิติของความรักที่หลากหลาย การครองคู่ของผู้คนอาจเกิดจากความรักหรือนำไปสู่ความรักหลังจากนั้นก็ได้ การควบคุมชีวิตรักของผู้คนผ่านโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมแบบต่าง ๆ อาทิ ชนชั้นและศาสนา ทำให้การพิจารณาความรักไม่ได้มีแต่เพียงด้านบวกของชีวิต การต่อสู้ดิ้นรน หลบหนี หรือต่อรองในบางลักษณะ เผยให้เห็นหน้าตาและปฏิบัติการของความรักแบบอื่น ๆ ที่มิอาจจินตนาการได้ผ่านมุมมองแบบตะวันตก หรือจำแนกแยกแยะเอาเองได้อย่างเป็นนามธรรม ความรักถูกผูกโยงกับสิ่งตอบแทนแบบต่าง ๆ โดยไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างเบ็ดเสร็จ มีผลประโยชน์บางอย่างเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก ซึ่งไม่อาจกีดกันออกไปจากการพิจารณาได้ โดยเฉพาะประเด็นความเป็นอยู่ที่ดีและชีวิตทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ข้อพิจารณาในกรณีที่วัตถุสิ่งของซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ ชี้ชวนให้กลับมาตั้งคำถามว่าเป็นตัวถ่างความสัมพันธ์ หรือแม้แต่เข้ามาแทนที่มนุษย์เองหรือไม่ ความรักเป็นสิ่งที่จำกัดหรือสงวนไว้สำหรับมนุษย์เท่านั้นหรือไม่ สัมพันธ์รักระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนิยามการครองคู่หรือไม่ แง่มุมและคำถามใหม่ ๆ ต่อความรักเหล่านี้ เผยให้เห็นวิถีที่ความรักดำรงอยู่ในบริบททางสังคมวัฒนธรรม อันยากที่จะไขว่คว้าและนิยามได้โดยปราศจากการพิจารณาประเด็นและความเป็นไปได้อื่น ๆ


รายการอ้างอิง

Baldacchino, J. P. 2008. Eros and Modernity: Convulsions of the Heart in Modern Korea. Asian Studies Review. 32(1): 99-122.

Beck, U. & Beck-Gernsheim, E. 2014. Distant Love. New Jersey: John Wiley & Sons.

Buss, D. M. 1988. Love Acts: The Evolutionary Biology of Love. In The Psychology of Love, Cancian F. (eds.). New Haven: Yale University Press.

Carrier‐Moisan, M. E. 2018. “I Have to Feel Something”: Gringo Love in the Sexual Economy of Tourism in Natal, Brazil. The Journal of Latin American and Caribbean Anthropology. 23(1): 131-151.

Carter, J. 2013. The Curious Absence of Love Stories in Women’s Talk. The Sociological Review. 61(4): 728–744.

CNN. 2017. Mostly Human: I Love You, Bot. https://money.cnn.com/mostly-human/i-love-you-bot/

Das, V. 2010. Engaging the Life of the Other: Love and Everyday Life. In Ordinary ethics: Anthropology, Language, and Action. New York: Fordham University Press.

Ellis, A. 1954. The American Sexual Tragedy. New York: Lyle Stuart, Inc.

Fisher, H. 1987. The Four-Year Itch. Natural History. 10: 12-16.

Gell, A. 2011. On love. Anthropology of this Century, 2.

Giddens, A. 2013. The Transformation of Intimacy: Sexuality, Love and Eroticism in Modern Societies. New Jersey: John Wiley & Sons.

Goode, W. J. 1959. The Theoretical Importance of Love. American Sociological Review. 38-47.

Gratzke, M. 2017. Love Is What People Say It Is: Performativity and Narrativity in Critical Love Studies. Journal of Popular Romance Studies. 6: 1-20.

Illouz, E. 2012. Why Love Hurts: A Sociological Explanation. Cambridge: Polity.

Jankowiak, W. & Li, X. 2017. Emergent Conjugal Love, Mutual Affection and Female Marital Power.Transforming Patriarchy: Chinese Families in the Twenty-first Century. Washington: University of Washington Press.

Jankowiak, W. & Nelson, A. J. 2021. The State of Ethnological Research on Love: A Critical Review. International Handbook of Love: Transcultural and Transdisciplinary Perspectives. Cham: Springer International Publishing.

Jankowiak, W. R. & Allen, E. 1995. The Balance of Duty and Desire in an American Polygamous Community. In Romantic Passion: A Universal Experience? New York: Columbia University Press.

Jankowiak, W. R. & Fischer, E. F. 1992. A Cross-Cultural Perspective on Romantic Love. Ethnology. 31(2): 149-155.

Janning, M. 2018. Love Letters: Saving Romance in the Digital Age. New York: Routledge.

Karandashev, V. 2021. Cultural Diversity of Romantic Love Experience. In International Handbook of Love: Transcultural and Transdisciplinary Perspectives. Cham: Springer International Publishing.

Lapanun, P. 2019. Love, Money, and Obligation: Transnational Marriage. , Singapore: NUS Press.

Levi-Strauss. C. 1969. The Elementary Structure of Kinship. Massachusetts: Beacon Press.

Mody, P. 2008. The Intimate State: Love-Marriage and the Law in Delhi. New York: Routledge.

Rebhun, L. 1999. The Heart Is Unknown Country: Love in the Changing Economy of Northeast Brazil. California: Stanford University Press.

Schlegel, A. & Barry, H. 1991. Adolescence: An Anthropological Inquiry. New York: Free Press.

Stark, L. 2017. Cultural Politics of Love and Provision among Poor Youth in Urban Tanzania. Ethnos, 82(3): 569-591.

Sternberg, R. J. 1986. A triangular theory of love. Psychological Review. 93(2): 119–135.

Tennov, D. 1984. Love and Limerance. New York: Scarborough House.

The Mainiji. 2020. AI love you: Japanese man not alone in 'marriage' to virtual character. https://mainichi.jp/english/articles/20200417/p2a/00m/0na/027000c

von Krafft-Ebing, R. 2013. Psychopathia Sexualis: A Medico-Forensic Study. Oxford: Butterworth-Heinemann.


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ความรัก การครองคู่ บริบท สังคม วัฒนธรรม วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share