‘Solastalgia’: บาดแผลทางจิตใจจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 1504

‘Solastalgia’: บาดแผลทางจิตใจจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม

           ณ ปัจจุบัน มนุษยชาติทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเชิงลบอย่างต่อเนื่องและเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกปี ประสบการณ์การเผชิญหน้ากับปัญหาและผลกระทบที่ได้รับแตกต่างกันในแต่ละสังคมและพื้นที่ การต้องพบเจอกับการรายงานสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากในแต่ละวันทำให้ Glenn Albrecht นักปรัชญาสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ออสเตรเลีย เริ่มตั้งข้อสังเกตปัญหาจำนวนมากจากผลกระทบของเหมืองถ่านหินในออสเตรเลียที่ถูกรายงานเข้ามาและขอความช่วยเหลือจากเขาโดยตรงผ่านคนในพื้นที่ ความเครียดที่ถูกบอกเล่าและระบายผ่านบทสนทนาระหว่างผู้ได้รับผลกระทบกับ Albrecht ทำให้เขาพัฒนาแนวคิดที่เรียกว่า ‘Solastalgia’ ขึ้นมา


Solastalgia: ‘ความเจ็บปวดจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม’

“ความรู้สึกหวาดหวั่นว่าบ้านหรือที่อยู่อาศัยของเราจะถูกทำลายลงไป ความวิตกว่าที่ดินที่เราอาศัยจะตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเกินกว่าจะดำรงชีวิตอยู่ได้ และความกลัวว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในอนาคตอาจทำให้วันใดวันหนึ่ง เราจะไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านของเราได้อีกต่อไป” (Sy, 2021)

           “Solastalgia” มีที่มาจาก ‘Solace’ (ปลอบประโลม) และ ‘desolation’ (ความโดดเดี่ยว) รวมกับ ‘algia’ (ความเจ็บปวด) ซึ่งอาจหมายถึง ความรู้สึกสิ้นหวัง วิตกกังวล อันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม (Sy, 2021) การเปลี่ยนแปลงในที่นี้เกี่ยวข้องกับสำนึกและผัสสะของสถานที่ ซึ่งสถานที่หรือองค์ประกอบในสถานที่นั้นที่เคยเป็นความสุขสบาย (comfort) ให้กับคน ๆ นั้น solastalgia จึงไม่ใช่การย้อนกลับไปหาอดีตอันรุ่งโรจน์หรือหวนกลับไปคิดถึงสิ่งที่เรียกว่าบ้าน หากแต่เป็น “ประสบการณ์ที่มีชีวิต” (lived experience) ของคน ๆ หนึ่งที่กำลังเผชิญกับการสูญเสียพื้นที่ที่เคยเป็นความสบายใจ (ที่คนในปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า comfort zone) ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน แม้คำว่า solastalgia ใกล้เคียงกับ nostalgia (ความรู้สึกโหยหาอดีต) แต่แตกต่างกันในมิติของเวลาและสถานที่ โดย nostalgia ในมิติสถานที่จะเน้นการเคลื่อนย้ายตำแหน่งแห่งหน ส่วนมิติเวลาจะเน้นถึงการย้อนกลับไปหาอดีตเป็นหลัก ส่วน solastalgia จะตั้งอยู่บนพื้นที่เดิม และเน้นถึงสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต (Albrecht, 2005, p. 48)

           solastalgia ในฐานะความเจ็บป่วยทางจิตใจจึงอาจหมายถึงความเจ็บปวดหรือความหม่นหมองที่ได้รับจากประสบการณ์ที่กระตุ้นให้คน ๆ นั้นตระหนักว่า ตนเอง สถานที่ สิ่งของ ผู้คนหรือสิ่งมีชีวิตอื่นที่เกี่ยวโยงผูกพันกำลังถูกจู่โจม (under immediate assault) โดยคำว่าจู่โจมอาจแสดงออกผ่านสำนึกต่อสถานที่ ตัวตน(อัตลักษณ์) ในพื้นที่เฉพาะหนึ่ง ที่นำไปสู่ความทุกข์และความเจ็บป่วยทางจิตจากการที่สิ่งเหล่านั้นกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป (Albrecht, 2005, p. 48) ถ้าจะให้สรุปสั้น ๆ ในมุมของภาวะความเจ็บป่วยทางจิต solastalgia โดยทั่วไปคืออาการคิดถึงบ้านรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยคน ๆ นั้นยังคงอยู่ในบ้านหรือพื้นที่ของตนเอง โดยมีสาเหตุจากพื้นที่เหล่านั้นกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม


Solastalgia กับภาวะความเจ็บป่วยทางจิต

           ในด้านสุขภาพและการแพทย์ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในเชิงลบส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมในทางกายภาพ เช่น มลพิษจากการทำเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ สารเคมีรั่วไหลหรือสิ่งปฏิกูลจากแหล่งอุตสาหกรรมหรือเมืองใหญ่ ฯลฯ และยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชน ปัญหาทางกายภาพยังเชื่อมโยงถึงปัญหาทางจิตใจด้วย การเกิดขึ้นของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนำมาสู่การให้คำนิยามเพิ่มเติมอีก 2 คำ ในปี 2006 ได้แก่ ‘Somaterratic’ หรือผลเสียทางกายภาพจากการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่เหมาะสม และ ‘Psychoterratic’ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลเสียหรือความเจ็บป่วยทางจิตใจที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กับสภาพแวดล้อมแย่ลง

           สำหรับในส่วน psychoterratic ข้อจำกัดของการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว อาจอยู่ที่กระบวนการเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหรือฉับพลัน ทำให้ไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหารุนแรง และไม่ค่อยมีผู้สนใจศึกษาหรือให้ความสำคัญ เมื่อเทียบกับความเครียดที่เกิดจากความรุนแรงแบบเฉียบพลันอื่น ๆ แล้ว เช่น ภาวะสงคราม การก่อการร้าย หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรง ที่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ได้รับการติดตามดูแล ให้ความสนใจจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ในขณะที่ปัญหาภัยแล้ง เหมืองแร่ หรือผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรม มักถูกมองข้ามความสนใจหรือแม้แต่ไม่นับว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิต (Albrecht et al., 2006, S95-S96) ตัวอย่างเช่น หากวันหนึ่งข้างบ้านของเราถูกเวนคืนและใช้ประโยชน์เป็นบ่อขยะรองรับการขยายตัวของเมือง การรับรู้ข่าวการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อาจทำให้เราเริ่มฉุกคิดถึงผลที่จะตามมาในอนาคต เช่น กลิ่นขยะที่อาจรบกวนการอยู่อาศัย รถขนขยะที่วิ่งผ่านหน้าบ้านทุกวัน มลพิษด้านอื่น ๆ ที่จะตามมา สภาพพื้นที่ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้บ้านของเราไม่น่าอยู่อีกต่อไป เนื่องจากบ้านของเราเคยเป็นสถานที่เงียบสงบ สามารถนอนหลับได้อย่างสบายใจโดยไม่มีสิ่งรบกวน เป็นบ้านที่น่าอยู่ก่อนที่บ่อขยะจะเข้ามาเปลี่ยนบ้านของเรา การคิดถึงอนาคตที่ไม่เป็นไปตามที่วางแผนชีวิตหรือคาดหวังไว้ก็นำมาสู่ความเครียด วิตกกังวลว่าไม่รู้เมื่อไรบ้านเราจะได้รับผลกระทบ และเริ่มไม่แน่ใจว่าบ้านยังอยู่อาศัยได้อยู่อีกต่อไปหรือไม่ และจะมีปัญหา หรือมีอะไรตามมาอีกหลังจากที่มีบ่อขยะ

           ดังนั้นแล้ว solastalgia จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเปลี่ยนแปลงจะต้องจำกัดอยู่ที่การเปลี่ยนแปลง ‘ธรรมชาติ’ เท่านั้น หากแต่ยังสามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย เมื่ออิงจากการศึกษาสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทั้ง nostalgia และ solastalgia แสดงผ่านงานศึกษากลุ่มชาติพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการที่คนกลุ่มนี้เป็นผู้มีประสบการณ์และใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ตัวอย่างเช่นในบริบทของประเทศออสเตรเลียพบว่า กลุ่มคนพื้นเมืองมีประสบการณ์เกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางกายภาพและทางจิตใจสูงกว่าชาวออสเตรเลียกลุ่มอื่น ๆ อย่างมาก งานศึกษายังเชื่อมโยงไปถึงปัญหาสังคมด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการว่างงาน โรคพิษสุราเรื้อรัง ปัญหายาเสพติด การใช้ความรุนแรงไปจนถึงอาชญากรรม และวิกฤตอัตลักษณ์ (identity crisis) (Albrecht, 2005, 50)

           ในอีกด้านหนึ่ง ความพยายามเยียวยาความเจ็บปวดจากการเปลี่ยนแปลงแสดงออกมาได้ทั้งในเชิงลบตามที่กล่าวไปก่อนหน้าแล้ว ในเชิงบวก ความพยายามในการแก้ไขปัญหาอาจทำให้ปัจเจกบุคคลหรือชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการการปกป้องทรัพยากร (Albrecht, 2005, 58) กิจกรรมการฟื้นฟูพื้นที่ที่คนเหล่านั้นเล็งเห็นความสำคัญหรือมีสำนึกของความเป็น ‘บ้าน’ ที่คนเหล่านั้นต้องดูแลเอาใจใส่อย่างดี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ดึงเอามวลชนซึ่งประกอบไปด้วยคนในพื้นที่ที่ได้สัมผัสประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงด้วยกัน (collective) และได้รับผลกระทบโดยตรง และผู้ที่ทำงานหรือเป็นกระบอกเสียงของชุมชนรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาแก้ไขหรือรับผิดชอบ อาทิ การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านเหมืองแร่ เขื่อน นิคมอุตสาหกรรม หรือแม้แต่โครงการพัฒนาจากรัฐและเอกชน ที่ชุมชนเล็งเห็น ประเมิน หรือมีประสบการณ์แล้วว่าสิ่งเหล่านั้นมีแต่จะทำให้ ‘บ้าน’ ของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางลบหรือเป็น ‘บ้านที่ไม่น่าอยู่อาศัย’

           การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมอาจทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวและสร้างความร่วมมือในหมู่ผู้ได้รับผลกระทบ ทว่าในความเป็นจริง การเคลื่อนไหวมุ่งเน้นไปที่ปัญหาทางกายภาพเป็นหลัก ส่วนปัญหาทางนามธรรมยังคงถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับการเยียวยา แม้จะมีการพูดถึงปัญหาทางจิตใจของชุมชนที่สะท้อนหรือเล่าผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ตามวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ถูกใช้ในฐานะเครื่องมือเพื่อการต่อสู้ต่อรอง หากในกรณีที่การขับเคลื่อนล้มเหลว เรื่องเล่าเหล่านี้ก็จะถูกบอกเล่าในลักษณะของบาดแผลจากการต่อสู้เรียกร้อง ความพ่ายแพ้ของชุมชน ความทรงจำและความเจ็บปวดของผู้คน ที่ถูกนำมาใช้เพื่อเน้นย้ำผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและความล้มเหลวในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น

           ส่วนหน่วยงานรัฐ สื่อ หรือผู้ประเมินสภาพปัญหาให้ความสำคัญกับปัญหาทางกายภาพอย่างมลภาวะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม มากกว่าสนใจความเจ็บป่วยทางจิตใจของผู้คน เรื่องเล่าบาดแผลและความเจ็บปวดของชุมชนจึงถูกนำมาใช้เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อขยายความสภาพปัญหาทางกายภาพ มากกว่าการเป็นเป้าหมายของการเยียวยาและรักษาความเจ็บป่วยทางจิตใจของผู้คนที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลง ที่ถูกมองว่าอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่กว่า


Solastalgia กับภววิทยาของ ‘พื้นที่’ และ ‘บ้าน’

           แนวคิด solastalgia ถูกวิพากษ์โดย Hedda Haugen Askland และ Matthew Bunn (2018) มองว่า การใช้วิธีคิดและประเมินในรูปแบบของการวินิจฉัยทางการแพทย์เป็นไปเพื่อหาข้อสรุปว่าป่วยจริงหรือไม่ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้นเพื่อยืนยันภาวะความเจ็บป่วยทางจิต โดยแอบแฝงนัยยะทางการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เสียงของผู้ได้รับผลกระทบมีน้ำหนักมากขึ้น ที่ผ่านมางานศึกษาที่นำแนวคิด solastalgia ตามแนวทางของ Albrecht ไปใช้ถือว่ามีคุณูปการสำคัญในการแสดงให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของภาวะความเจ็บป่วยทางจิต แต่งานศึกษาที่วิพากษ์แนวคิดดังกล่าวกลับมีอยู่เพียงหยิบมือ ทั้งสองตั้งคำถามถึงแนวคิด Solastalgia ของ Albrecht ว่ายังจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการสรุปว่าผู้คนเหล่านั้นมีอาการป่วยหรือไม่ป่วยจริง และสิ่งที่เรียกว่า solastalgia เป็นเพียงแค่ความเจ็บป่วยทางจิตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวหรือไม่

           ทั้งนี้ในมุมมองทางด้านมานุษยวิทยา ภาวะเครียดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่กระทบกับผู้คนโดยตรง หรือเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพเพียงอย่างเดียว กรณีศึกษาของ Askland และ Bunn พบว่า นอกเหนือจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่นำมาสู่ความทุกข์เชิงพื้นที่แล้ว ผู้คนยังมีความรู้สึกผิดหวัง ที่ถูกหลอกหลวงโดยนายทุนที่สัญญาจะแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่ความรู้สึกถูกทรยศหักหลังจากหน่วยงานรัฐที่สนับสนุนนายทุนแทนที่จะปกป้องประชาชน หรือในกรณีที่ผู้คนมิได้รู้สึก หรือการที่ค่านิยมและจารีตทางสังคมทำให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เลือกที่จะเมินเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้บ้าน ทุกคนจงใจไม่เอ่ยถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในบ้านของตนเองและเลือกที่จะอยู่ร่วมกับปัญหาสิ่งแวดล้อม (Lou, 2022) หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในชุมชน เพื่อรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยวจากปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง (Overtourism) การพัฒนาที่เน้นประโยชน์แก่คนนอกและทำลายอัตลักษณ์วัฒนธรรมชุมชนทำให้ผู้อยู่อาศัยเดิมรู้สึกถูกมองข้ามความสำคัญ (Lalicic, 2020) ตลอดจนแนวคิด Solastalgia ไม่ได้ครอบคลุมถึงปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดความทุกข์สะสม ที่ Tschakert และ Tutu (2010) ค้นพบจากการศึกษาผู้คนในหมู่เกาะแปซิฟิค (Pacific research) ที่ความเครียดของผู้คนเกี่ยวพันกับสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคม (Socio-econimic position) ปัญหาความห่างไกล (remoteness) สภาวะอาณานิคม (colonisation) และความกดดันทางเศรษฐกิจการเมืองในพื้นที่ดังกล่าว (Tupou et al., 2023, 5)

           ด้วยข้อจำกัดของแนวคิด Solastalgia ตามที่กล่าวมา Askland และ Bunn จึงเสนอให้หันมาวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า “สถานที่” ให้มากขึ้น ในทางมานุษยวิทยา สถานที่เป็นสิ่งที่ถูกให้ความหมายโดยผู้คน ระบบความหมายเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้ในการทำความเข้าใจวัฒนธรรม การศึกษา ‘สถานที่’ จึงเป็นการศึกษาพื้นที่ที่ถูกให้ความหมายโดยวัฒนธรรม ทั้งพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่เสมือน ถูกให้ความหมายจากปัจเจกบุคคลและการให้ความหมายร่วมกันของกลุ่มคน ดังนั้นพื้นที่ทางกายภาพแม้จะมีความสำคัญแต่ก็เป็น ‘สถานที่’ ที่ถูกให้ความหมายโดยวัฒนธรรม มิใช่การเป็น ‘พื้นที่’ ด้วยตนเอง ปัญหาและข้อจำกัดของแนวคิด solastalgia จึงเป็นปัญหาเชิงภววิทยาของสถานที่ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมผ่านตัวแปรและผู้กระทำต่าง ๆ ทำให้แบบแผนของชีวิตที่จินตนาการเอาไว้กับความเป็นจริงนั้นไม่สอดคล้องกันจนนำมาสู่สภาวะวิตกกังวล โดยเฉพาะในกรณีที่สำนึกเรื่องพื้นที่นั้นถูกให้ความหมายของความเป็น ‘บ้าน’

           ตัวอย่างเช่น บ้านในความหมายและจินตนาการของผู้เขียน(ย้ำว่าตัวอย่าง) คือสถานที่ที่สามารถนอนหลับได้อย่างสบายใจ ไม่มีสิ่งรบกวนเวลาที่ต้องการพักผ่อน หน้าบ้านไม่มีรถติด มีร้านสะดวกซื้อหรือร้านชำใกล้บ้าน สามารถปรับแต่งหรือย้ายของในบ้านได้ตามสะดวก ไม่แออัด ไม่ต้องแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์กับคนอื่นเพราะชอบอยู่คนเดียว แต่แล้ววันดีคืนดี บ้านของเรามีคนมาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น มีเสียงเอะอะโวยวายทุกวัน ข้างบ้านขายที่ดินและทำเป็นตลาดสด มีคนพลุกพล่านและจอดรถขวางหน้าบ้านเราทุกเช้าเย็น เมื่อมีคนอยู่มากขึ้นก็มีกฎระเบียบตามมา ความเป็นส่วนตัวหายไป ความเป็นส่วนรวมมากขึ้น จนผู้เขียนมองว่านี่ไม่ใช่บ้านที่น่าอยู่อีกต่อไป และอนาคตคงจะต้องย้ายออกไปหาที่อยู่ใหม่ที่จะตอบโจทย์ความเป็นบ้านของผู้เขียน

           ‘บ้าน’ ในมิติของภววิทยาเกิดจากปฏิสัมพันธ์และการแสดงออกผ่านประสบการณ์การรับรู้ระหว่างตนเองกับสิ่งอื่นทั้งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ มีสำนึกในเรื่องของความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ที่เรื่องราวของอดีตและอนาคตดำเนินไปอย่างสอดคล้องกันในห้วงเวลาปัจจุบัน โดยที่ปัจเจกบุคคลดังกล่าวมีสิทธิในการเป็นผู้เล่าออกมา ดังนั้นปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสำนึกของความเป็นบ้าน เช่น ความรู้สึกแปลกแยกและความไม่มั่นคง อาจเกิดขึ้นได้จากการที่บ้านเป็นบ่อเกิดของความสัมพันธ์ทางสังคม ที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์และอุดมการณ์บางอย่างตามแต่ปัจเจกบุคคลที่เป็นผู้กำหนดและให้ความหมาย สำนึกของบ้านยังเป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกคุ้นเคยและสามารถคาดการณ์ได้ ภววิทยาของบ้านและพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แม้พื้นที่ในเชิงกายภาพยังคงอยู่ สำนึกของพื้นที่ก็เสียได้หากความสัมพันธ์ที่เคยปลอบประโลมและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างปัจเจกกับองค์ประกอบต่าง ๆ ที่สร้างความหมายของการเป็น ‘พื้นที่’ ถูกทำลาย

           Solastalgia จึงไม่ใช่แค่เรื่องของภาวะความเจ็บป่วยทางจิต หากแต่ยังมีมิติทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมด้วย การมองผ่านมุมมองด้านมานุษยวิทยาทำให้เห็นถึงการถูกทำให้ไร้อำนาจและสูญเสียสิทธิความเป็นเจ้าของ ในลักษณะที่ตนเคยสามารถควบคุม บริหารจัดการ วางแผนและจินตนาการให้เป็นไปดังที่ต้องการได้ มุมมองด้านภววิทยาทำให้เห็นถึงภาวการณ์ดำรงอยู่ของพื้นที่สิ่งต่าง ๆ สามารถเข้ามากำหนดและสร้างความหมายและมีพลังในการกำหนดและเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในสังคม ‘พื้นที่’ ในทางภววิทยาจึงถูกประกอบขึ้นโดยหลากหลายผู้กระทำ และความหมายของพื้นที่เองก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัวเสมอไป (กนกวรรณ มะโนรมย์, 2565) ในแง่นี้solastalgia จึงอาจมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในเชิงภววิทยา ที่ระบบสัญลักษณ์และการให้ความหมายในเชิง ‘พื้นที่’ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยมีตัวแปรเรื่องอำนาจ ความเป็นอิสระในการตีความและให้ความหมายสถานที่ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้ามาร่วมด้วย มากกว่าการเป็นเพียงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม

           การใช้แนวคิด Solastalgia วิเคราะห์ปัญหาในทางมานุษยวิทยาจึงแตกต่างจากรูปแบบการวินิจฉัยในทางการแพทย์ที่ควรพิจารณาเข้าไปให้ลึกกว่านั้น โดยให้ความสำคัญที่สำนึกเรื่องสถานที่ของปัจเจกบุคคล เพื่อทำความเข้าใจว่าตัวตนของผู้คนเหล่านั้นถูกผลิตสร้างขึ้นมาได้อย่างไรจากการอยู่ในสถานที่/พื้นที่ ที่ซึ่งการให้ความหมายหรือภววิทยาของพื้นที่โดยผู้คนเหล่านั้นจะช่วยให้ผู้ศึกษาได้ทำความเข้าใจปัญหาของความไม่มั่นคงทางจิตใจ การสูญเสียตัวตน (identity loss) หรือการถูกผลัดถิ่น (displacement) แม้จะยังคงอยู่ในพื้นที่ทางกายภาพเดิม


อ้างอิง

Albrecht, G. (2005). 'Solastalgia'. A new concept in health and identity. PAN: philosophy activism nature, (3), 41-55.

Albrecht, G., Sartore, G. M., Connor, L., Higginbotham, N., Freeman, S., Kelly, B., ... & Pollard, G. (2007). Solastalgia: the distress caused by environmental change. Australasian psychiatry, 15(1_suppl), S95-S98.

Askland, H. H., & Bunn, M. (2018). Lived experiences of environmental change: Solastalgia, power and place. Emotion, Space and Society, 27, 16-22.

Lalicic, L. (2020). Solastalgia: An application in the overtourism context. Annals of Tourism Research, 82, 102766.

Lou, L. I. T. (2022). The art of unnoticing: Risk perception and contrived ignorance in China. American Ethnologist, 49(4), 580-594.

Sy Chonato. (2021, 9 กันยายน). โลกร้อนแล้วไปไหน? ‘Solastalgia’ ความทุกข์ทนกระวนกระวายใจจากวิกฤตภูมิอากาศ. a day. [ออนไลน์]. จาก https://adaymagazine.com/solastalgia/.

Tschakert, P., & Tutu, R. (2010). Solastalgia: environmentally induced distress and migration among Africa’s poor due to climate change. Environment, forced migration and social vulnerability, 57-69.

Tupou, T., Tiatia-Siau, J., Newport, C., Langridge, F., & Tiatia, S. (2023). Is the Concept of Solastalgia Meaningful to Pacific Communities Experiencing Mental Health Distress Due to Climate Change? An Initial Exploration. International Journal of Environmental Research and Public Health, 20(22), 7041.

กนกวรรณ มะโนรมย์. (2565). ภววิทยาแม่น้ำโขง: เขื่อน น้ำของ และผู้คน. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์


ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ Solastalgia บาดแผล จิตใจ การเปลี่ยนแปลง สิ่งแวดล้อม ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share