รื้อถอน “อาณานิคม” ทางความรู้: สังคมวิทยาความรู้กับกรณีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 5970

รื้อถอน “อาณานิคม” ทางความรู้: สังคมวิทยาความรู้กับกรณีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

           ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักวิชาการท้องถิ่น1 ตั้งคำถามกับสถานภาพของความรู้และกระบวนการผลิตความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการแสวงหาทางเลือกของ(การผลิต)ความรู้ว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พ้นไปจากญาณวิทยาอาณานิคม (colonial epistemologies) หากเจาะลึกเฉพาะบริบทของประเทศไทย ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า “อาเซียนศึกษา” (ASEAN Studies) ที่เป็นกระแสทางภูมิปัญญาหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น ทำให้เราได้รู้จัก สนทนา ต่อยอดโต้เถียงกับวงวิชาการเพื่อนบ้านได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Studies) ที่นับเป็นแขนงหนึ่งของสาขาวิชาอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) กลายเป็นความสนใจและชำนาญเฉพาะกลุ่ม ทำให้เริ่มมีนักวิชาการเสนอกรอบแนวคิดทฤษฎีและวิธีวิทยาทางเลือกเกี่ยวกับการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาหรือที่ผมจะเรียกว่าเป็น “Alternative Southeast Asian Studies” (e.g., Huat 2014, 273–288; Kamput 2019; Show 2020, 1-14; Alatas 2022)

           ย้อนกลับไปสำรวจบทสนทนาของนักวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิชาการคนสำคัญที่มีบทบาทในการวิพากษ์อาณานิคมทางปัญญาคือ นักวิชาการชาวมลายู Syed Hussein Alatas โดยเฉพาะในงานบรรยายประเด็นจักรวรรดินิยมทางวิชาการ (academic imperialism) แก่ the History Society มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) ภายหลังมีการตีพิมพ์เนื้อหาทั้งหมดลงในบทความ Intellectual imperialism: Definition, traits, and problems (2000) โดยตั้งข้อสังเกตว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ที่จักรวรรดินิยมมาแสวงหาผลประโยชน์ (exploitation) ทางการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ครอบคลุมทรัพยากรสำคัญคือ “ความรู้” ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นักวิชาการต่างชาตินำกลับไปสร้างกรอบแนวคิดทฤษฎีหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับ แต่คนพื้นเมืองแทบมิได้รับประโยชน์ใดนอกจากการเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key resources)2

           ขณะเดียวกัน อลาตาสก็ตั้งคำถามต่อนักวิชาการชนพื้นเมืองบางส่วนที่เข้าไปสู่อุตสาหกรรมวิชาการในซีกโลกเหนือผ่านกรอบแนวคิด “ความคิดที่ถูกจองจำ” (captive mind) โดยมองว่า นักวิชาการกลุ่มนี้อาจไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเมืองของกระบวนการผลิตความรู้เกี่ยวกับตนเอง (-self)3  ซึ่งรวมถึงปฏิบัติการทางวิชาการที่ออกแบบโดยกลุ่มนักวิชาการซีกโลกเหนือ พวกเขาจึงหมกมุ่นอยู่กับการผลิตผลงานทางวิชาการด้วยกรอบแนวคิด ทฤษฎี หรือวิธีวิทยาตามญาณวิทยาซีกโลกเหนือ (northern epistemologies) เพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับในโลกวิชาการเหล่านั้น4  แนวปฏิบัตินี้คือสิ่งที่อลาตาสเรียกว่า “ทาสทางปัญญา” (intellectual slavery)กระนั้น ข้อวิพากษ์ของอลาตาสมิใช่เพื่อปิดกั้นองค์ความรู้หรือปฏิบัติการทางวิชาการจากซีกโลกเหนือ แต่เป็นการโน้มน้าวหรือเสนอให้มีการผลิตองค์ความรู้โดยนักวิชาการท้องถิ่นโดยไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาการยอมรับหรือรับรองจากนักวิชาการตะวันตก

           กระแสภูมิปัญญาอีกระลอกที่สำคัญคือ วิธีวิทยาเอเชีย (Asia as Method) ที่นักวิชาการไต้หวัน Chen Kuan-Hsing เขียนผ่าน Asia as Method: Toward Deimperialization (2010)5 ซึ่งไม่ได้มีเพียงข้อเสนอว่าด้วยการรื้อความเป็นจักรวรรดินิยม (Deimperialization) ของความรู้ แต่เป็นการเสนอให้จัดวาง “เอเชีย” (Asia) เป็นหมุดหมายหลักของการทำความเข้าใจสรรพสิ่ง (หรือที่เฉินเรียกว่า “imaginary anchoring points”) โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตความรู้ กล่าวได้ว่าวิธีวิทยาเอเชียของเฉินคือการทบทวนและเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบพื้นฐาน (base-entity) นั่นคือ “เอเชีย” ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงพรมแดนทางกายภาพของประเทศ แต่มีลักษณะข้ามพรมแดน (transborder) สู่ภูมิภาค (regional) และอาจไปถึงระดับข้ามทวีป (intercontinental)6 ในภายหลังเริ่มมีการนำแนวคิดนี้ไปใช้ทบทวนสถานะความรู้และกระบวนการผลิตความรู้ว่าด้วยอาณาบริเวณศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่างเช่น บทนำของ Ying Xin Show เรื่อง Towards “Malaya as method”: Revisiting Nusantara thoughts through Malaya (2020, 1-14) ที่ใช้ “Malaya” เป็นฐานของการทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร

           ข้อเสนอของเฉินมุ่งสร้างกรอบแนวคิดและวิธีวิทยาสำหรับนักวัฒนธรรมศึกษาให้มีบทบาทในการ “ผสานความคิดอย่างมีวิจารณญาณ” (critical syncretism) อันนำไปสู่การอ้างอิงระหว่างกัน (inter-referencing) ภายในเอเชียที่ก่อให้เกิดการทบทวีและปรับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่หรือวัตถุของการระบุตัวตน วิธีวิทยาเอเชียคือการทำความเข้าใจสังคมในเอเชียที่อาจประสบพบเจอกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งสามารถประสานความร่วมมือและการมีส่วนร่วมเพื่อแสวงหาทางออกของปัญหาที่ใกล้เคียงเหล่านั้นได้ Chua Beng Huat (2014) ได้ขยายความเพิ่มเติมจากข้อเสนอของเฉินและ Aihwa Ong (2011) เกี่ยวกับการอ้างอิงระหว่างกันว่ามิใช่เป็นการเปรียบเทียบระหว่างกัน (comparative) แต่เป็นการจัดวางซับเจกต์ที่สัมพันธ์กัน (affinities)7 ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ้างถึง (citation) การพาดพิง (allusion) แรงบันดาลใจ (aspiration) เป็นต้น ขณะเดียวกัน นักวิชาการบางกลุ่มก็มองเห็นปัญหาและข้อจำกัดของกระบวนการทำให้กลายเป็นท้องถิ่น (localisation) นั่นคือ การตัดขาดออกจากบริบทภูมิภาคหรือโลก นักวิชาการบางกลุ่มจึงเสนอแนวทางการศึกษาที่เรียกว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สากล” (Global Southeast Asian Studies) โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่จัดวางปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์โลก (e.g., Eaksittipong 2017a; Belogurova 2019; Aboitiz 2020; Watson 2021; Sidel 2021)8

           อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะอาณาบริเวณศึกษายังมีข้อจำกัดเชิงแนวคิดทฤษฎีและวิธีวิทยาอีกหลากหลายประการ ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของสิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ (2015)9  ที่ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ในระยะเริ่มต้น)มักถูกศึกษาอยู่ภายใต้ขอบเขตพื้นที่ที่จำกัด ทั้งกรอบของรัฐชาติ (nation-state) หรือภูมิภาค (region) ที่ถูกตัดขาดออกจากพื้นที่อื่น ๆ ทำให้เราแทบจะมองไม่เห็นความสัมพันธ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับภูมิภาคอื่น ๆ และด้วยความเป็นศาสตร์ด้านอาณาบริเวณศึกษาที่มีลักษณะเป็นพหุ-/สหวิทยาการข้ามศาสตร์ทำให้ไม่มีนักวิชาการที่ออกแบบกรอบแนวคิดและทฤษฎีหรือวิธีวิทยาเชิงอาณาบริเวณศึกษามากนัก งานศึกษาเชิงอาณาบริเวณศึกษาจึงมักจำกัดอยู่ภายใต้มิติของเศรษฐศาสตร์การเมืองและความมั่นคงเป็นหลัก

           นอกจากนี้ ผมเห็นว่ามุมมองข้างต้นสร้างข้อจำกัดของการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ภายในได้เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ความสัมพันธ์แบบอาณานิคมที่ถูกมองผ่านกรอบรัฐชาติ ทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์แบบอาณานิคมที่ “ชาติ” หนึ่งมีอำนาจทางเศรษฐกิจสังคมเหนือกว่า “ชาติ” หนึ่ง แต่ประเทศหลังอาณานิคม (postcolonial state) หรือประเทศที่อาจไม่เคยตกเป็นดินแดนอาณานิคมโดยตรงแต่ร่วมสังฆกรรมของอาณานิคมเช่นกันนั้น ตัวแสดงที่ถูกหลงลืมไปในสมการคือ ชนชั้นนำ นักเคลื่อนไหวต่อต้านอาณานิคมที่กลายเป็นชนชั้นนำในกระบวนการสร้างชาติหลังปลดแอกอาณานิคม (Chibber 2012) หรือแม้กระทั่งนักวิชาการและปัญญาชนที่เข้าสู่วงจรวิชาการแบบอาณานิคมก็อาจผลิตความรู้ผ่านกรอบอาณานิคมได้เช่นเดียวกัน10 ในทางกลับกัน ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านหรือปลดแอกอาณานิคมก็มักถูกมองเป็นกลุ่มเดียวกัน ทั้งในเชิงกลุ่มประชากรและอุดมการณ์ โดยหลงลืมความขัดแย้งภายในคนพื้นเมืองเอง ความเข้าใจเช่นนี้เป็นผลจากความเข้าใจพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แบบสูตรสำเร็จที่ว่า ความสัมพันธ์แบบอาณานิคมสิ้นสุดลงเมื่อดินแดนอดีตอาณานิคมปลดแอกตนเองแล้วสร้างความเป็นรัฐชาติขึ้นมานั่นเอง11

           หากพิจารณาในเชิงกระบวนการผลิตความรู้ รูปธรรมหนึ่งที่จะทำให้เห็นความสัมพันธ์ที่บิดเบี้ยวคือ ความรู้ท้องถิ่น (local knowledge) กรณีของโลกวิชาการไทยจะทำให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด ความรู้ท้องถิ่นในบริบทสังคมไทยได้ปรับเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจ (core) จากตะวันตกไปสู่ศูนย์กลางของชาติที่สถาปนาความเป็นท้องถิ่นให้กับความรู้ของชนกลุ่มในดินแดนรอบนอก (นัยหนึ่งอาจหมายถึง ต่างจังหวัด) เห็นได้จากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือการเป็นปราชญ์ท้องถิ่น/ชาวบ้าน/ชุมชน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่จะถูกนับว่าเป็นความรู้ที่น่าเชื่อถือได้นั้นจะต้องเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับวิถีการผลิตความรู้หรือเรื่องเล่ากระแสหลักอันหมายถึงความรู้ส่วนกลาง สังคมไทยจึงเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เกี่ยวพันกับรัฐ(ราชา)ชาตินิยม-ชาติไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง12  ขณะเดียวกัน ก็ชวนสังเกตว่าเรามักนิยามปัญญาชนในท้องถิ่นว่าเป็นเพียง “ปราชญ์ท้องถิ่น/ชาวบ้าน/ชุมชน” ไม่สามารถนับว่าเป็น “นักวิชาการ” (scholar) หรือ “ปัญญาชน” (intellectuals) ได้ ผมเองก็เคยรับฟังนักวิชาการหลายคนวิพากษ์ความรู้ที่เขียนขึ้นโดยชาวบ้าน (เช่นในงานวิจัยไทบ้าน หรืองานวิจัยท้องถิ่น) ว่า “ไม่มีความเป็นวิชาการ ขาดความน่าเชื่อถือ และใช้งานไม่ได้”

           นอกจากนี้ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา” “ไทยศึกษา” หรือ “ชุมชนศึกษา” มีแนวทางการศึกษาที่ใกล้เคียงกันคือ การโดดเดี่ยวตัวเองออกจากความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก และแทบจะไม่มีการอ้างอิงระหว่างกันของหน่วยต่าง ๆ ประสบการณ์ของผมในการลงไปเก็บข้อมูลการวิจัยชุมชนแต่ละครั้ง ทำให้ผมมองเห็นความจำเป็นของการผนวกความรู้ของชุมชร่วมกับความรู้ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ดังที่เกริ่นไปในช่วงก่อนหน้าว่าการอ้างอิงระหว่างกันคือการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ชุมชนต่าง ๆ อาจประสบพบเจอในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ความรู้ของชุมชนเหล่านี้ก็มีลักษณะใกล้เคียงกันคือ เป็นความรู้จากการต่อสู้กับการอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองและญาณวิทยา (knowledges born in the struggle) ตามแนวคิดของ Boaventura de Sousa Santos & Maria Paula Meneses (2020: XVII-XLIII)13  ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหน่วยเล็กสุดคือระดับชุมชน อาทิ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐหรือข้ามรัฐ วิกฤตของชุมชนชาติพันธุ์ หรือชุมชนที่ฟื้นตัวจากภัยพิบัติก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่แยกขาดจากปรากฏการณ์ระดับภูมิภาคหรือโลก การอ้างอิงระหว่างกัน(ทั้งในเชิงความรู้และหน่วยทางสังคม)อาจทำให้เห็นโอกาสใหม่ในการรับมือและจัดการกับปรากฏการณ์เหล่านั้นได้

           นอกเหนือจากการส่งเสริมให้เกิดบทสนทนาระหว่างกันของนักวิชาการโลกใต้ (แบบที่กลุ่มรื้อถอนสภาวะอาณานิคมมักเรียกว่า “South-South dialogues”) ผมเห็นว่าสังคมไทยโดยเฉพาะแวดวงวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีความพยายามจะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและการผลิตองค์ความรู้ร่วมกัน (co-production of knowledge) อาจต้องกลับมาทบทวนประเด็นนี้อีกครั้งว่า “เราจะรื้อถอนสภาวะอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา/ไทยศึกษา/ชุมชนศึกษา หรือแม้กระทั่งสังคมศาสตร์ไทยได้อย่างไร” การสร้างเส้นแบ่งระหว่างความรู้วิชาการ-ทางการ-ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำลำดับชั้นของกระบวนการผลิตความรู้ (hierarchies of knowledge production) นำไปสู่คำถามสำคัญคือ เรากำลังผลิตซ้ำวิถีการผลิตความรู้แบบอาณานิคมหรือไม่? เหตุใดเราจึงไม่สามารถวางความรู้ของคนอื่น(ที่เราเพียรไปเก็บข้อมูลอยู่นาน)ว่ามีสถานะเทียบเท่ากับความรู้เชิงวิชาการหรืองานวิจัยของเราได้?

           ขณะเดียวกัน ก็ชวนให้ชุมชนตั้งคำถามกับตนเองและความรู้ที่ถือครองอยู่ว่าจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากนักวิชาการหรือส่วนกลางมากน้อยแค่ไหน? เป็นไปได้ไหมที่เราจะผลิตความรู้ที่เป็นอิสระ (autonomous knowledge) โดยเอาตนเองเป็นหมุดหมายสำคัญของการอ้างอิง นอกจากนี้ผมยังชวนให้กลับมามอง “ส่วนกลาง-ท้องถิ่น” อีกครั้ง, การสร้างความเป็นท้องถิ่นเกิดขึ้นจากการวางหมุดของการอ้างอิงไว้ที่ส่วนกลาง นั่นคือ กรุงเทพฯ, จะเป็นไปได้ไหมหากเราจะถอนตัวเอง (delinking) ออกจากท้องถิ่นของส่วนกลางเพื่อการเป็นซับเจกต์ที่เป็นอิสระ (decolonial subject)14  และเป็นไปได้ไหมที่ชุมชนของเราจะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับความรู้ในระดับภูมิภาค (หมายถึง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และระดับโลก


หมายเหตุ
ภาพปกมาจากงานประชุม Bandung Conference ปี 1955


รายการอ้างอิง

Aboitiz, N. C. (2020). Asian Place, Filipino Nation: A Global Intellectual History of the Philippine Revolution, 1887–1912. New York: Columbia University Press.

Alatas, S. F. (1996). The Theme of 'Relevance' in Third World Human Sciences. Singapore Journal of Tropical Geography, 16(2), 123-140.

Alatas, S. F. (2022). Knowledge hegemonies and autonomous knowledge. Third World Quarterly. https://doi.org/10.1080/01436597.2022.2124155.

Alatas, S. H. (2000). Intellectual imperialism: Definition, traits, and problems. Southeast Asian Journal of Social Science. 28(1). 23-45.

Belogurova, A. (2019). The Nanyang Revolution: The Comintern and Chinese Networks in Southeast Asia, 1890–1957. Cambridge, UK: Cambridge University Press.

Chen, K. H. (2010). Asia as method: Toward Deimperialization. Durham, North Carolina: Duke University Press.

Chibber, V. (2012). Postcolonial Theory and the Specter of Capital. London: Verso.

Eaksittipong, S. (2017a). Textualizing the "Chinese of Thailand": Politics, Knowledge, and the Chinese in Thailand During the Cold War. (PhD Thesis, National University of Singapore).

Eaksittipong, S. (2017b). From Chinese “in” to Chinese “of” Thailand : The Politics of Knowledge Production during the Cold War. Rian Thai: International Journal of Thai Studies. 10(1), 99-116.

Grosfuguel, R. (2007). The Epistemic Decolonial Turn: Beyond Political-economy Paradigms. Cultural Studies, 21(2-3). 211-223.

Huat, C. B. (2014). Inter-Referencing Southeast Asia: Absence, Resonance and Provocation. In M. Huotari, J. Rüland & J.Schlehe (Eds.). Methodology and Research Practice in Southeast Asian Studies. (273-288). London: Palgrave Macmillan.

Jackson, P. A. (2010). The Ambiguities of Semicolonial Power in Thailand. In P. A. Jackson and R. V. Harrison. (Eds.). The Ambiguous Allure of the West: Traces of the Colonial in Thailand. (37-56). Hong Kong: Hong Kong University Press.

Kamput, K. (2019). Fundamental concepts of Southeast Asian studies: The interaction between ideologies of essentialism and cosmopolitanism, defining the intellectual landscape. Kasetsart Journal of Social Sciences, 40(3), 783–793.

Ong, A. (2011). Introduction: Worlding Cities, or the Art of being Global. In A. Roy & A. Ong (Eds.). Worlding Cities: Asian Experiments and the Art of being Global. (1-26). Oxford :Wiley-Blackwell.

Santos, B. S. & Meneses, M. P. (2020). Knowledges Born in the Struggle: Constructing the Epistemologies of the Global South. New York: Routledge.

Santos, B. S. (2014). Epistemologies of the South: Justice Against Epistemicide. New York: Routledge.

Show, Y. S. (2020). Towards “Malaya as method”: Revisiting Nusantara thoughts through Malaya, In Y. S. Show & G. P. Ngoi(Eds.). Revisiting Malaya: Uncovering Historical and Political Thoughts in Nusantara, (1-14). Petaling Jaya: Strategic Information and Research Development Centre.

Sidel, J. T. (2021). Republicanism, Communism, Islam: Cosmopolitan Origins of Revolution in Southeast Asia. Ithaca, New York: Cornell University Press.

Watson, J. K. (2021). Cold War Reckonings: Authoritarianism and the Genres of Decolonization. New York: Fordham University Press.

กวน ซิง เฉิน. (2560). วิธีวิทยาเอเชีย: การก้าวข้ามเงื่อนไขปัจจุบันของการผลิตความรู้ (ผู้แปล, สิริพร สมบูรณ์บูรณะ และ วิริยะ สว่างโชติ). นนทบุรี: Inter-Asia School Bangkok.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2559). มานุษยวิทยาจักรวรรดิ: การประดิษฐ์หมู่บ้านชนบทและกำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น. (รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

โชคชัย วงษ์ตานี และกองบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้. (2557). เมื่อ "ประวัติศาสตร์" เป็น "อันตราย" ปัญหาปาตานีกับรัฐไทยในยุคหลังสมัยใหม่. สงขลา: สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

ธงชัย วินิจจะกูล (2560). คนไทย/คนอื่น: ว่าด้วยคนอื่นของความเป็นไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

พิเชฐ แสงทอง และเฉลิมวรรณ ยกเลื่อน. (2562). “ออกจากขนำ” บทวิพากษ์การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสังคมภาคใต้. รูสะมิแล, 40(3), 71–88.

สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. (2015). วิพากษ์ความรู้อาณาบริเวณศึกษา ในประเทศไทย ว่าด้วย “กรอบ ความคิด และการรับรู้”. Siam Intelligence. www.siamintelligence.com.

สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. (2561). บททดลองนำเสนอว่าด้วยพัฒนาการอุดมศึกษาไทยภายใต้สงครามเย็น: กำเนิดวงวิชาการไทย นักวิชาการชาตินิยม และชาตินิยมทางปัญญาภายใต้เงาอินทรี. อินทนิลทักษิณสาร. 13(2), 59-87.

สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. (2564). เขียนจีนให้เป็นไทย ตัวตน "ไทย-จีน" ที่เพิ่งสร้างกับการเมือง/การทูตวิชาการในสังคมศาสตร์สงครามเย็น. กรุงเทพฯ: มติชน.


1  คำว่า “ท้องถิ่น” ในกรณีนี้หมายถึง กลุ่มประชากรทางภาษาและวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางกายภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น กระนั้น ในบทความนี้ผมจะนำเสนอข้อถกเถียงว่าด้วยความเป็น “ท้องถิ่น” เพิ่มเติมในส่วนถัดไป

2  ในวงวิชาการไทยก็มีการถกเถียงในประเด็นเดียวกัน อาทิ กลุ่มนักวิชาการที่สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์เรียกว่า “ปัญญาชนชาตินิยมทางวิชาการ” ที่ถกเถียงประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐอเมริกาในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ หรือบทบาทของนักวิชาการผิวขาวในวงวิชาการทางด้านมานุษยวิทยา (โดยเฉพาะที่ศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในบริเวณชายขอบของประเทศ) (ดู เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2559) (หมายเหตุเพิ่มเติม: ผมเคยพบเจอบทความในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ที่ถกเถียงในประเด็นเดียวกับงานของเก่งกิจ แต่ไม่ได้บันทึกเก็บไว้, นิฌามิล)

3  ประเด็นดังกล่าวมิได้ปรากฏเพียงในแวดวงวิชาการด้านสังคมวิทยาความรู้หรือวัฒนธรรมศึกษาในเอเชียเท่านั้น Ramón Grosfoguel (2007) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกลุ่มศึกษาผู้ตกเป็นสถานะรองสำนักละตินอเมริกัน (the Latin American Subaltern Studies Group: LASSG) ที่มักผลิตความรู้เกี่ยวกับ “ผู้ตกเป็นสถานะรอง” (the subaltern) มากกว่าจะมุ่งผลิตความรู้ด้วย (with) หรือจาก (from) มุมมองของผู้ตกเป็นสถานะรอง ความรู้เหล่านั้นจึงมักผลิตซ้ำองค์ความรู้ว่าด้วยอาณาบริเวณศึกษาสำนักอเมริกันมากกว่าจะผลิตความรู้โดยคนในเอง นักวิชาการที่มุ่งเสนอแนวทางการศึกษาสังคมวัฒนธรรมด้วยกรอบซีกโลกใต้ศึกษา (Global South Studies) จึงมักเสนอให้มีการวิพากษ์และโต้เถียง (หรือบางกลุ่มอาจไปถึงระดับการรื้อถอนสภาวะอาณานิคม) ของการศึกษาหลังอาณานิคมศึกษา (Postcolonial Studies) และผู้ตกเป็นสถานะรองศึกษา (Subaltern Studies)

4  ผมต่อยอดเพิ่มเติมจากข้อเสนอของอลาตาสว่า มิเพียงแค่การนำกรอบแนวคิดหรือทฤษฎีหรือการปรับใช้วิธีวิทยาการวิจัยที่ออกแบบโดยนักวิชาการซีกโลกเหนืออย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น บางครั้งการที่นักวิชาการท้องถิ่นไม่ได้ทบทวนหรืออ้างอิง (citations) กรอบแนวคิดและทฤษฎีของนักวิชาการที่ถูกทำให้กลายเป็นปรมาจารย์ (masters) ในงานเขียนของตนเอง หรือการสาละวนหาแหล่งตีพิมพ์หรือนำเสนองานวิชาการเฉพาะที่ที่ได้รับความนิยมในโลกวิชาการตะวันตกก็เป็นส่วนหนึ่งของความคิดเช่นนี้ กระนั้น ก็เป็นประเด็นที่สามารถสนทนาต่อไปได้ว่าข้อจำกัดในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนกระบวนการผลิตความรู้ เช่น สำนักพิมพ์ เงินทุนการวิจัยและตีพิมพ์ หรือกฎระเบียบทางวิชาการในประเทศซีกโลกใต้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ผลิตซ้ำวิถีปฏิบัติเช่นนี้

5  สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือการวิพากษ์ข้อเสนอทางแนวคิดและทฤษฎีในสามสำนักคิด ได้แก่ หลังอาณานิคมศึกษา (postcolonial studies) โลกาภิวัตน์ศึกษา (globalisation studies) และเอเชียศึกษาในเอเชีย (Asian Studies in Asia) สำหรับงานภาษาไทย ดู กวน ซิง เฉิน. (2560). วิธีวิทยาเอเชีย: การก้าวข้ามเงื่อนไขปัจจุบันของการผลิตความรู้ (ผู้แปล, สิริพร สมบูรณ์บูรณะ และ วิริยะ สว่างโชติ). นนทบุรี: Inter-Asia School Bangkok.

6  ข้อเสนอของเฉินส่วนหนึ่งคือการกลับไปสนทนากับแนวคิดโลกที่สาม (third world) นำไปสู่การเสนอวิถีทางใหม่ของโลกที่สาม (new third world) และเอเชีย (new asia) ที่แตกต่างไปจากข้อเสนอเชิงแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับโลกที่สามในช่วงศตวรรษที่ 20

7  ในบทความ The Theme of 'Relevance' in Third World Human Sciences ของ Syed Farid Alatas (1996) ลูกชายของ Syed Hussein Alatas ก็มีการถกเถียงในประเด็นที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ ‘Relevance’

8  แนวทางการศึกษาหรือวิธีวิทยาของกลุ่ม GSEAS คือ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ความสัมพันธ์แบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาการปรับตัวตามปรากฏการณ์โลก (globalisation) หรือการนำปรากฏการณ์ในระดับโลกมาพิจารณาในระดับท้องถิ่น (localisation) โดยเส้นแบ่งระหว่างความเป็นสากลกับความเป็นท้องถิ่นแทบจะพร่าเลือน ในปัจจุบันเริ่มปรากฏกลุ่มนักวิชาการที่นำกรอบแนวคิดดังกล่าวมาศึกษาปรากฏการณ์ในระดับภูมิภาคอันเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์โลก เช่น Anthro-/Capitolocene, สภาวะเสรีนิยมใหม่,สงครามเย็นศึกษา, ประวัติศาสตร์การเมืองและภูมิปัญญาของขบวนการชาตินิยมและขบวนการปฏิวิติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,วิกฤตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น

9  งานศึกษาหลายชิ้นของสิทธิเทพก็พยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการผลิตความรู้ภายใต้บริบทอาณานิคมยุคสงครามเย็น ดู สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ (2561/2564): Eaksittipong (2017a/2017b)

10  ในบทความ “เพราะ ‘ตัวข้า’ คือหลักฐาน: ประวัติศาสตร์มอแกลนวิทยา กับการต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวมอแกลน” (2023) ผมได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของนักวิชาการ (โดยเฉพาะนักมานุษยวิทยา) ในการผลิตองค์ความรู้ว่าด้วยชาวมอแกลนนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960s หรือวิทยานิพนธ์ของ Sittithep Eaksittipong เรื่อง “Textualizing the "Chinese of Thailand": Politics, Knowledge, and the Chinese in Thailand During the Cold War” (2017) ศึกษากระบวนการผลิตความรู้ว่าด้วยชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยโดยนักวิชาการอเมริกันและปัญญาชนชาตินิยมไทย งานทั้งสองชิ้นคือตัวอย่างของกระบวนการผลิตความรู้ผ่านแว่นอาณานิคม (colonial gaze); มากไปกว่านั้น ธรรมเนียมปฏิบัติหนึ่งที่พบบ่อยในแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์ไทยคือการยกย่องนักวิชาการตะวันตกหรือปัญญาชนชนชั้นนำ (หรือที่นักวิชาการไทยนิยมเรียกกันว่า “อาจารยบูชา”) จนเส้นแบ่งระหว่างลัทธิบูชาตัวบุคคลและการรำลึกถึงเริ่มพร่าเลือน

11  แนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ “ชุมชนจินตกรรม” (imagined communities) โดย Benedict Anderson โดยงานเขียนที่นำกรอบความสัมพันธ์แบบอาณานิคมมาวิเคราะห์และวิพากษ์แนวคิดนี้ได้ดี ดู Sidel (2021, 1-18)

12  งานเขียนชิ้นสำคัญที่เป็นตัวอย่างให้เห็นข้อวิพากษ์ในทำนองเดียวกันนี้ ดู โชคชัย วงษ์ตานี และกองบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (2557) ธงชัย วินิจจะกูล (2560, 95-147); พิเชฐ แสงทอง และเฉลิมวรรณ ยกเลื่อน (2562); ตัวอย่างอีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยที่พยายาม “เล่า” ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่ปกป้องรักษาสยามจากการรุกรานของชนต่างถิ่น ซึ่งเป็นการผนวกเรื่องเล่าของตนเองสู่เรื่องเล่าว่าด้วยชาติและราชาชาตินิยมไทย; ในประเด็นนี้ Peter A. Jackson (2010: 37-56) ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับที่ทางของไทยศึกษากับทฤษฎีเชิงวิพากษ์ (โดยเฉพาะแนวคิดหลังอาณานิคมศึกษา [Postcolonialism] หลังโครงสร้างนิยม [Poststructuralism]) โดยเฉพาะเมื่อนำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบอาณานิคมของสยาม/ไทย สำหรับผมแล้ว ประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้นคือจุดมุ่งหมายหลักที่ “เรา” ต้องรื้อถอนสภาวะอาณานิคมออกให้ได้

13  นอกจากนี้ยังรวมถึงรวมถึงความรู้ที่ถูกทำให้เงียบงัน (silenced knowledge) และถูกสร้างจากความไม่มีอยู่ (non-existent knowledge) อันหมายถึง ความรู้ที่สร้างขึ้นจากวิธีวิทยาที่ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือสร้างขึ้นจากวัตถุที่ถูกพิจารณาว่าไร้ศักยภาพในการสร้างความรู้ที่ถูกต้องหรือขาดเงื่อนไขความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

14  อย่างไรก็ตาม การเป็นซับเจกต์ที่เป็นอิสระ (decolonial subject) ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการปฏิเสธความสัมพันธ์ของชุมชนกับส่วนกลางโดยสิ้นเชิง Vivek Chibber (2012) เคยตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์แนวคิดสกุลหลังอาณานิคมว่ามีแนวโน้มปฏิเสธตะวันตกโดยสิ้นเชิง แต่ในทรรศนะของนักคิดสายรื้อถอนสภาวะอาณานิคมนั้น การรื้อถอนสภาวะอาณานิคมนั้นเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างจินตนาการและต่อสู้เพื่อเป็นอิสระ (being free) ที่ปราศจากการครอบงำทางอำนาจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง


ผู้เขียน
นิฌามิล หะยีซะ
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ การศึกษาหลังอาณานิคม พื้นที่ความรู้ สังคมวิทยาเมืองและมานุษยวิทยาเมือง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา นิฌามิล หะยีซะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share