มานุษยวิทยาสถาปัตยกรรม architectural anthropology

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 4092

มานุษยวิทยาสถาปัตยกรรม architectural anthropology

           สนามศึกษาของนักมานุษยวิทยามีหลากหลาย ในบางครั้ง นักมานุษยวิทยาก็เข้าไปศึกษาพื้นที่เดียวกันกับนักผังเมือง สถาปนิก หรือนักภูมิศาสตร์ แต่พวกเขาเหล่านั้นอาจเข้าไปศึกษาสิ่งที่แตกต่างกันด้วยแว่นตาที่แตกต่างกัน หากลองนึกภาพว่าอาชีพเหล่านี้ศึกษาพื้นที่หมู่บ้านจัดสรร นักมานุษยวิทยาหรือนักชาติพันธ์วรรณนาอาจสนใจผู้อยู่อาศัยผ่านวิถีชีวิตประจำวันในบ้าน หรือการปฏิสัมพันธ์ของคนที่เข้ามาใช้พื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน ในขณะที่สถาปนิกหรือนักวิจัยด้านสถาปัตยกรรมอาจสนใจลักษณะการออกแบบบ้านและวัสดุใช้งาน ไปจนถึงผลกระทบของการออกแบบในด้านสิ่งแวดล้อมหรือความคงทนของบ้าน หากพวกเขามองพื้นที่ส่วนกลางในหมู่บ้าน ก็อาจคิดไปถึงวิธีการออกแบบเพื่อให้ศาลาหรือสวนกลายเป็นพื้นที่ที่ใช้งานร่วมกัน (shared space) และส่งเสริมกิจกรรมร่วมกันระหว่างลูกบ้าน

           หากคิดตามเรื่องข้างต้นแบบคร่าว ๆ ผู้เขียนมี 3 ข้อคิดเห็น ข้อแรกคือความแตกต่างของสองอาชีพ นักมานุษยวิทยาสนใจ “คน” ในขณะที่สถาปนิกสนใจ “สิ่งก่อสร้าง” ฝั่งหนึ่งสนใจสิ่งที่มีชีวิต ส่วนอีกฝั่งสนใจสิ่งก่อสร้างที่ไม่มีชีวิต ข้อคิดเห็นนี้อาจไม่ถูกต้องทั้งหมดและจะถูกอธิบายในภายหลัง สอง มานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่มองความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้คน และอาจรวมไปถึงสัตว์และสิ่งของที่ไม่มีชีวิต แต่นักมานุษยวิทยามองเห็นความสัมพันธ์เหล่านั้นในแนวระนาบจากมุมสายตามนุษย์ ขณะที่สถาปนิกมองหมู่บ้านจัดสรรเดียวกัน ผ่านกระดาษแปลน ผ่านโปรแกรม 3 มิติที่ทำให้พวกเขามองเห็นรูปทรง มองเห็นสิ่งก่อสร้างทั้งแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งนักมานุษยวิทยาอาจไม่ค่อยได้แหงนหน้าของพวกเขาขึ้นไปมองตึกรามบ้านช่องเสียเท่าไร

           มากไปกว่านั้น วิธีการและเป้าหมายของการวิจัยของทั้งสองศาสตร์ก็ดูแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เครื่องมือทางชาติพันธุ์วรรณนาถูกใช้เพื่อทำความเข้าใจผู้คน โดยต้องการสะท้อนมุมมองของคนที่อยู่ที่นั่นให้ได้มากที่สุด ในขณะที่เครื่องมือการทำงานของสถาปนิกอาจเน้นการทำงานกับเครื่องมือในเชิงทัศนา (visual) และให้ความสำคัญกับโครงสร้างในระดับกายภาพ (physical scale) ซึ่งมองเห็นได้ เช่น การวางแปลนของย่านทั้งในระดับอัตราส่วนขนาดเล็ก ไปจนถึงภาพมุมกว้าง เพื่อนำไปสู่การออกแบบแก่ผู้ใช้งานในอนาคต (Øien & Rasmussen, 2021) นักมานุษยวิทยาเองก็อาจทำงานบนกระดาษได้ผ่านการวาดแผนผังเครือญาติ หรือการทำแผนที่เดินดิน (สิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญศรี, 2565) แต่เครื่องมือเหล่านั้นก็เป็นเครื่องมือที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์เสียมาก สามข้อคิดนี้ดูเหมือนจะทำให้มานุษยวิทยากับสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันผ่านแว่นตาของการมองโลก แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะชวนคิดว่าหากสองศาสตร์นี้จะทำงานร่วมกันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

           มานุษยวิทยากับสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกันมายาวนาน ในแง่ของการคิดเรื่องการอาศัยและคิดถึงผู้อยู่อาศัย (Stender et al., 2021) หากย้อนไปในสมัยแรกเริ่มของมานุษยวิทยา อาคารที่อยู่อาศัยและเมืองเป็นหนึ่งในสนามทางการศึกษามาโดยตลอด ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในงานศึกษาของนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาชื่อดังก็พูดถึงสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับชีวิตทางสังคม แต่งานศึกษาของนักมานุษยวิทยากลับสนใจไปที่สถาปัตยกรรมที่ปราศจากสถาปนิก เช่น งานศึกษาเรื่องบ้านและชีวิตในบ้านของชาวอเมริกัน-อะบอริจินของ Lewis Henry Morgan (1881) หรืองานศึกษาของ Marcel Mauss (2006) ที่มองสถาปัตยกรรมในฐานะเทคโนโลยีสำคัญที่สนับสนุนชีวิตทางสังคม ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่นักมานุษยวิทยายุคแรกเริ่มสนใจมักเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (vernacular architecture) สถาปัตยกรรมเหล่านี้เกิดจากปฏิบัติการของผู้ใช้งานหรือผู้อาศัยด้วยเทคนิคและวัสดุท้องถิ่น เช่น กระท่อม หรือบ้านในหมู่บ้านของชนพื้นเมือง (Stender et al., 2021) สถาปัตยกรรมเหล่านี้อาจถูกออกแบบมาเพื่อสอดรับกับสภาพภูมิประเทศหรือภูมิอากาศ และในขณะเดียวกันก็แสดงถึง อัตลักษณ์ความเป็นกลุ่มทางวัฒนธรรมแฝงไว้อีกด้วย แนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมโดยนักมานุษยวิทยายุคแรกเริ่มอาจกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาสถาปัตยกรรมด้วยมุมมองทางมานุษยวิทยา (anthropology of architecture) แม้เป็นการศึกษาสถาปัตยกรรม แต่งานในกลุ่มนี้ยังเป็นการทำงานด้วยแนวคิดและวิธีวิทยาแบบมานุษยวิทยาเสียมากกว่า

           ในทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นสามารถช่วยให้ผู้ที่ศึกษาเข้าใจจินตนาการทางสถาปัตยกรรม (architectural imagination) ของคนในสังคมและวัฒนธรรมนั้นได้ หากยกตัวอย่างงานศึกษาโดยสถาปนิก เช่น บ้านของชาวอะบอริจินในออสเตรเลียอาจสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพวกเขากับพื้นที่และธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน รูปแบบทางสถาปัตยกรรมก็ถูกออกแบบมาอย่างสวนทางกับวิธีคิดเรื่องความเป็นส่วนตัว-สาธารณะ เพราะบ้านมีลักษณะเปิดเผยและเปิดรับธรรมชาติ (Dovey, 2013) หรือกรณีที่มีอยู่ในประเทศไทย ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ (2563) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงอาคาร สิ่งปลูกสร้างและสิ่งของที่แฝงเอกลักษณ์แบบ “ไทย ๆ” จุดเด่นหนึ่งของเอกลักษณ์ดังกล่าวได้แก่ ความเชื่อทางศาสนาที่ปรากฏออกมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมในวัด กรณีตัวอย่าง ได้แก่ การสร้างอาคารรูปทรงพญานาคให้คนสามารถเข้าไปได้ ซึ่งเปรียบเสมือนการที่เทพจำแลงกายไปเป็นอุโมงค์ บันได หรือพิพิธภัณฑ์

           อีกทั้ง ฝั่งสถาปนิกเองก็มีการนำเอาวิธีการวิจัยแบบชาติพันธุ์วรรณนามาใช้เพื่อการออกแบบอีกด้วย หรือที่เรียกว่า “ethnography for architect” ทั้งนี้ ชาติพันธุ์วรรณนาแบบนี้แตกต่างกับแบบที่นักมานุษยวิทยาใช้กันทั่วไป เนื่องจากคำอธิบายแบบชาติพันธุ์วรรณนามักไม่สามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบได้โดยตรง นักวิจัยจึงต้องแปลข้อมูลเชิงชาติพันธุ์วรรณนาให้กลายเป็นการออกแบบทางกายภาพ เช่น ภาพวาดแบบแปลนของชั้น (floor plan) การใช้ภาพถ่ายหรือการวาดรูปเข้ามาช่วย เป็นต้น (Cranz, 2016) ในงานศึกษาแวดวงสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทย วศิน วิเศษศักดิ์ดี (2562) ได้ศึกษาวัฒนธรรมธรรมย่อยของคนคุ้ยขยะและรับซื้อของเก่าผ่านรูปแบบทางสถาปัตยกรรม งานศึกษานี้ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและสังเกตการณ์ในสนามแบบนักสังคมศาสตร์ในที่อยู่อาศัยของคนคุ้ยขยะผสานเข้ากับวิธีการทำงานแบบสถาปนิกผ่านการวาดแผนผังบ้านและทำภาพตัดแปะ (collage)

           แม้งานศึกษาทั้งสองศาสตร์ต่างทำงานคร่อมข้ามกันอยู่เรื่อยมา แต่ถูกดำเนินการไปเพื่อวัตถุประสงค์ของสาขาวิชานั้น ๆ อย่างไรก็ตาม มานุษยวิทยาเองมีความพยายามที่จะใช้วิธีวิทยาและกรอบคิดแบบสถาปัตยกรรมศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน เมื่องานศึกษาทางสังคมศาสตร์เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านทางภววิทยา (ontological turn) มานุษยวิทยาเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในฐานะผู้กระทำการเช่นเดียวกันกับมนุษย์ สถาปัตยกรรมไม่ใช่เพียงสิ่งแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการอยู่อาศัยที่มีทั้งมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (Stender et al., 2021)

           ดังนั้น มานุษยวิทยาสถาปัตยกรรม (architectural anthropology) คืองานศึกษาทางมานุษยวิทยาที่นำมุมมองและวิธีการทำงานของสถาปนิกมาใช้ วิธีการที่นักมานุษยวิทยาอาจนำมาใช้ได้ เช่น การวาดแบบแปลน ใช้รูปภาพ โมเดล ไดอะแกรม หรือการสื่อสารเชิงทัศนา ข้อมูลลักษณะนี้จะถูกผนวกรวมกับเรื่องเล่าและเสียงของผู้ให้ข้อมูล ซึ่งในกรณีนี้อาจมาจากทั้งคนและวัตถุที่อยู่ในสนาม (Stender et al., 2021) อย่างไรก็ตาม มานุษยวิทยาสถาปัตยกรรมไม่ใช่สนามทางการศึกษาของนักมานุษยวิทยาเพียงหนึ่งเดียว แต่เกิดขึ้นจาก 2 พัฒนาการด้านการศึกษาร่วมสมัย ได้แก่ หนึ่ง กระแสสะท้อนย้อนตัวตนในหมู่วิชาชีพและนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมที่ตั้งคำถามเชิงญาณวิทยากับศาสตร์ของพวกเขา และสองคือการตระหนักรู้ถึงสถาปัตยกรรมในฐานะผลผลิตของปฏิบัติการทางสังคม สถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นความรู้เชิงประจักษ์ และไม่ได้เป็นความรู้ที่ยึดติด (situated knowledge) หรือแยกออกมาจากสิ่งใด แต่มันผูกอยู่กับอำนาจ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ และมิติทางสังคมต่าง ๆ (Yaneva, 2021, 2022)

           เพื่อให้เห็นตัวอย่างของการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนถัดไป ผู้เขียนจะอธิบายหนึ่งในตัวอย่างสนามของนักมานุษยวิทยาสถาปัตยกรรม เพื่อให้เห็นการนำเอาประเด็นและทฤษฎีทางมานุษยวิทยาไปใช้ศึกษาที่อยู่อาศัยและผู้อยู่อาศัย


“บ้าน” ในฐานะสนามของนักมานุษยวิทยาสถาปัตยกรรม

           งานศึกษาด้านมานุษยวิทยาสถาปัตยกรรมกลุ่มหนึ่งเกิดจากนักสังคมศาสตร์กลุ่มการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Sciences and Technology Studies: STS) ดังนั้น งานศึกษาส่วนหนึ่งจึงเลือกใช้วิธีวิทยาแบบ STS อย่างทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำ (Actor-Network Theory) ที่ถูกพัฒนาโดย บรูโน ลาตูร์ จอห์น ลอว์ และ มิเชล กัลลอง (ดูเพิ่มเติม; จักรกริช สังขมณี, 2559) ดังนั้น มานุษยวิทยาสถาปัตยกรรมจึงนำแนวคิดนี้ไปใช้เพื่อทำความเข้าใจผู้กระทำการในที่อยู่อาศัยทั้งมนุษย์ วัตถุ และสิ่งอื่น ๆ

           ทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำถูกนำมาใช้เพื่อทำความเข้าใจราในที่อยู่อาศัยที่รัฐสนับสนุน (public housing) 11 แห่งในประเทศเดนมาร์ก งานวิจัยนี้ทำขึ้นโดยสถาปนิกที่ทำงานวิชาการและนักมานุษยวิทยาที่ทำงานในบริษัทสถาปนิก ได้แก่ Øien และ Rasmussen (2021) ทั้งสองชี้ให้เห็นถึงปัญหาการทำงานในวิชาชีพสถาปนิกที่ขาดความสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างอาคารและผู้อยู่อาศัย งานวิจัยของพวกเขาจึงมุ่งสนใจที่อยู่อาศัยระดับจุลภาคมากกว่าการมองโครงสร้างกายภาพของที่อยู่อาศัยในภาพกว้าง สิ่งที่พวกเขาศึกษาคือปัญหาราในอาคารซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทางกายของผู้อยู่อาศัย ราเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มนุษย์มองไม่เห็นและไม่ได้ตระหนักถึงมัน แต่มันมีตัวตนอยู่ (omnipresent) (Mol, 2002) ผู้อาศัยรับรู้เมื่อหายใจไม่สะดวกเหมือนปกติ หรือได้กลิ่นที่ไม่คุ้นเคย จนต้องพยายามเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ ปัญหาการกระจายตัวของราสัมพันธ์กับกระบวนการก่อสร้างที่มีปัญหา และโครงสร้างของอาคารส่งผลเอื้อต่อการเจริญเติบโตของรา จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์ของที่อยู่อาศัยที่เจอปัญหาราทำให้เห็นถึงเครือข่าย-ผู้กระทำ ที่ประกอบไปด้วย รา ที่อยู่อาศัย เทคโนโลยีการก่อสร้าง จนมาถึงร่างกายของมนุษย์

           งานศึกษาของ Øien และ Rasmussen (2021) ได้ประสานวิธีการทำงานของสองศาสตร์ ฝั่งมานุษยวิทยาใช้ชาติพันธุ์วรรณนาผัสสะ (sensory ethnography) (Pink, 2015) เพื่อทำความเข้าใจปฏิบัติการในชีวิตประจำวันที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศภายในบ้าน ส่วนสถาปนิกมุ่งความสนใจไปดูสิ่งแวดล้อมเชิงทัศนา (visual environment) เช่น แสงอาทิตย์ การทำงานร่วมกันของนักวิจัยจากสองศาสตร์จึงช่วยให้เห็นถึงปัญหาของการอยู่อาศัยในระดับจุลภาคที่โยงใยกันจนเป็นเครือข่าย หากใช้เพียงวิธีวิทยาของศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งคงไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจ

           การศึกษาบ้านในฐานะสถาปัตยกรรมอาจไม่จำเป็นต้องเป็นการศึกษาบ้านทั้งหลัง วิธีการมองบ้านแบบสถาปนิกเพื่อทำงานทางชาติพันธุ์วรรณนาอาจเริ่มจากการมองสิ่งที่อยู่ในบ้าน เพื่อทำความเข้าใจ “วัตถุทางสถาปัตยกรรม” (Latour & Yaneva, 2017) ตัวอย่างเช่น ระเบียงเป็นพื้นที่ที่มากับข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องความเป็นพื้นที่ส่วนตัว-สาธารณะ ด้านหนึ่งระเบียงคือส่วนต่อขยายของพื้นที่ในบ้าน (extended indoor) หรือเป็นพื้นที่กึ่งนอกบ้าน (semi outdoor) Stender และ Jepsen (2021) ใช้กรณีศึกษาของเขาเพื่ออธิบายระเบียงในเมืองโคเปนเฮเก้นในฐานะสถาปัตยกรรมทางสังคม พวกเขามองวัตถุสภาวะของระเบียงที่ทำงานกับเขตแดนระหว่างพื้นที่สาธารณะของเมืองกับพื้นที่ส่วนตัวในบ้าน ในอาคารแห่งหนึ่งในโคเปนเฮเก้น พวกเขาสัมภาษณ์ผู้อาศัยในอาคารและวาดแปลนเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์เชิงพื้นที่เพื่อตอบคำถามว่าระเบียงเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นส่วนตัวกับสาธารณะอย่างไร

           ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกยกมาคือเรื่องราวของชายที่มีเชื้อสายชนกลุ่มน้อยคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอาคารเดิมมานานกว่า 20 ปี เขาและเพื่อนบ้านทุกคนต่างรู้จักกัน แต่เมื่อวันหนึ่งที่มีนักศึกษาหญิงวัยมหาวิทยาลัยย้ายเข้ามาอยู่ฝั่งตรงข้ามกับระเบียงของเขา หญิงสาวคนดังกล่าวอายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกของเขา การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้บรรยากาศที่คุ้นเคยที่ระเบียงของเขาเปลี่ยนไป ในวันหนึ่ง เขาเปิดประตูออกไปที่ระเบียงและรีบกลับเข้ามาอยู่ในห้องของเขาทันทีเมื่อเพื่อนบ้านสาวที่อยู่อีกฝั่งของเขาออกมาที่ระเบียงในชุดบิกินี ระเบียงกลายเป็นพื้นที่สร้างการเผชิญหน้าของเพื่อนบ้าน แต่เมื่อเขาไม่ต้องการเผชิญหน้ากับเพื่อนบ้านใหม่ ดังนั้น เขาจึงหลีกเลี่ยงความรู้สึกอึดอัดดังกล่าว เขาพยายามปกปิดระเบียงของเขาด้วยเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น ดอกไม้ ร่มกันแดด เพื่อช่วยลดการมองเห็นได้จากเพื่อนบ้านของเขาและทำให้เขาสามารถล้มตัวลงนอนอาบแสงอาทิตย์อย่างเป็นส่วนตัว (Stender & Jepsen, 2021)

           กรณีตัวอย่างของระเบียงสามารถทำให้เกิดการย้อนกลับมาตั้งคำถามกับเรื่องพื้นที่ในบ้าน (domestic space) ที่เคยถูกเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว (Jaffe & De Koning, 2022) แต่ด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรมของระเบียงที่ยื่นออกไปนอกบ้าน แต่เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน จึงทำให้ระเบียงไม่ได้เป็นพื้นที่แบบเดียว แต่สามารถแปรเปลี่ยนไปได้ พื้นที่ระเบียงที่เสมือนจะเป็นพื้นที่ในบ้าน แต่สามารถถูกเพื่อนบ้านเล็ดลอดผ่านเข้ามาสู่ความเป็นส่วนตัวได้ ในขณะเดียวกัน ผู้อาศัยก็พยายามควบคุมเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของพื้นที่ระเบียง และพยายามไม่ทะลุผ่านเข้าไปยังพื้นที่ส่วนตัวของเพื่อนบ้านเช่นกัน

           ตัวอย่างกรณีงานศึกษาเรื่องบ้านทั้ง 2 กรณี สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันขององค์ความรู้ทั้งสองศาสตร์ มานุษยวิทยาขาดมุมมองและความรู้เชิงเทคนิคต่อการมองอาคารและสิ่งก่อสร้าง ในขณะที่สถาปัตยกรรมศาสตร์ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพจนไม่ได้มองความสัมพันธ์ของผู้ใช้งานในระดับชีวิตประจำวัน การทำงานแบบมานุษยวิทยาสถาปัตยกรรมสะท้อนให้เห็นว่าโลกทางวิชาการของทั้งสองศาสตร์ไม่ได้แยกขาดกันและสามารถทำงานร่วมกันได้


บรรณานุกรม

Cranz, G. (2016). Ethnography for designers. Routledge.

Dovey, K. (2000). Myth and Media: constructing Aboriginal architecture. Journal of Architectural Education, 54(1), 2-6.

Jaffe, R., & De Koning, A. (2022). Introducing urban anthropology. Taylor & Francis.

Latour, B., & Yaneva, A. (2017). «Give me a gun and I will make all buildings move»: an aNt’s view of architecture. Ardeth. A magazine on the power of the project(1), 103-111.

Mauss, M. (2006). Techniques, technology and civilization. Berghahn Books.

Mol, A. (2002). The body multiple: Ontology in medical practice. Duke University Press.

Morgan, L. H. (1881). Houses and house-life of the American aborigines (Vol. 4). US Government Printing Office.

Pink, S. (2015). Doing sensory ethnography. Sage.

Stender, M., Bech-Danielsen, C., & Hagen, A. L. (2021). Introduction to architectural anthropology. In Architectural Anthropology: Exploring Lived Space (pp. 1-12). Routledge.

Stender, M., & Jepsen, M. B. (2021). An outdoor living room: Balconies and blurring boundaries. In M. Stender, C. Bech-Danielson, & A. L. Hagen (Eds.), Architectural Anthropology (pp. 48-61). Routledge.

Turid Borgestrand Oien, & Rasmussen, M. K. (2021). Mould, microbes, and microscales of architecture. In M. Stender, C. Bech-Danielson, & A. L. Hagen (Eds.), Architectural anthropology: exploring lived space Routledge.

Yaneva, A. (2021). The method of architectural anthropology. Architectural Anthropology: Exploring Lived Space, 13.

Yaneva, A. (2022). Latour for architects. Taylor & Francis.

จักรกริช สังขมณี. 2559. “ความไม่ (เคย) เป็นสมัยใหม่ของศาสตร์ – อศาสตร์: อวัตถุวิสัย อมนุษย์นิยม และเครือข่าย-ผู้กระทำของบรูโน ลาตูร์” ใน ศาสตร์ อศาสตร์ เข้ามาข้างนอก ออกไปข้างใน, จันทนี เจริญศรี (บก.). กรุงเทพฯ: Paragraph Publishing.

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์. (2563). อาคิเต็กเจอ. Salmonbooks.

สิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี. (30 กันยายน 2565). วิกิชุมชน: แพลตฟอร์มเพื่อการบริหารและจัดการข้อมูลชุมชน. เข้าถึงได้จาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน): https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/378

วศิน วิเศษศักดิ์ดี. (2562) ความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมย่อยกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมือง: กรณีศึกษา อัตลักษณ์ที่อยู่อาศัยกลุ่มวัฒนธรรมย่อยคนคุ้ยขยะและรับซื้อของเก่า. เจ-ดี: วารสารวิชาการ การออกแบบสภาพแวดล้อม, 6(2),37-67.


ผู้เขียน
ปิยเทพ ตันมหาสมุทร
นักศึกษาปริญญาโท สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สถาปัตยกรรม architectural Posthuman Anthropology ปิยเทพ ตันมหาสมุทร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share