เราศึกษาทฤษฎี (มานุษยวิทยา) ไปทำไม: จากแว่นกระบวนทัศน์สู่กระจกสีหลังกระบวนทัศน์ Why We Should Learn (Anthropological) Theory?: From Paradigmatic Eye-Glasses to Post-Paradigmatic Stained Glass

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 2648

เราศึกษาทฤษฎี (มานุษยวิทยา) ไปทำไม: จากแว่นกระบวนทัศน์สู่กระจกสีหลังกระบวนทัศน์ Why We Should Learn (Anthropological) Theory?: From Paradigmatic Eye-Glasses to Post-Paradigmatic Stained Glass

           ในการศึกษามานุษยวิทยาปัจจุบัน การศึกษาทฤษฎีกลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย นอกเหนือไปจากความยากที่จะเข้าใจตัวบทที่เป็นนามธรรมแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะอิทธิพลของการนำเสนอและการจัดรูปแบบหลักสูตรที่ดึงดูดความสนใจในประเด็นเฉพาะเรื่องด้วย (Candea 2018) มานุษยวิทยาว่าด้วย (anthropology of) หัวข้อและประเด็นต่าง ๆ เป็นการพาไปสำรวจมุมมอง วิธีคิด และการศึกษาที่ผ่านมาในเรื่องนั้น ๆ ผ่านมุมมองทางมานุษยวิทยา ในแง่หนึ่ง ลักษณะการนำเสนอและการจัดรูปแบบการศึกษาที่น่าดึงดูดแบบนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเรียนรู้มานุษยวิทยาในประเด็นที่ตนเองสนใจ แต่ผลที่ตามมาอย่างหนึ่งคือการทำให้ทฤษฎีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพัฒนาการทางวิชาการของมานุษยวิทยาถูกทอนออกจากบริบทของพัฒนาการและข้อถกเถียง ตลอดจนคงไว้เพียงเนื้อหาบางส่วนของทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาและประเด็นนั้น ๆ ในปี 1980 เอริค วอล์ฟ (Eric Wolf) (as cited in Ortner 1984) วิจารณ์ว่าขอบข่ายการศึกษาของมานุษยวิทยาถูกทำให้แยกออกจากกัน ความสนใจย่อย ๆ ที่นำไปสู่ประเด็นเฉพาะทางซึ่งค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ความรู้ขาดความเชื่อมโยงกับประเด็นอื่น ๆ ในภาพรวม คำศัพท์และการพูดคุยสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหมู่นักมานุษยวิทยาด้วยกันเองทำได้ยากขึ้น ผู้เขียนพบว่า “เราศึกษาทฤษฎีไปทำไม” เป็นประโยคที่ถูกถามบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่กำลังจะไปทำงานภาคสนามพร้อมกับหัวข้อและประเด็นที่ตนเองสนใจ แต่ทิ้งทฤษฎีที่พวกเขามองว่าจืดชืดและไร้ชีวิต ไว้ข้างหลัง

           โดยทั่วไปแล้ว ทฤษฎี ถูกนิยามว่าเป็นสมมติฐานที่ได้รับการตรวจสอบและทดลองจนสามารถอธิบายข้อเท็จจริงได้อย่างสมเหตุสมผล ในทางสังคมศาสตร์ มีการแบ่งทฤษฎีออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ หนึ่ง ทฤษฎีหลัก (grand theory) ซึ่งมีลักษณะเป็นคำอธิบายอย่างกว้างบนสมมติฐานที่เป็นนามธรรมสูง สอง ทฤษฎีระดับกลาง (mid-range theory) ซึ่งเป็นคำอธิบายสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ในระดับที่รอคอยการพิสูจน์ตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำ และ สาม ทฤษฎีระดับฐานราก (grounded theory) ซึ่งหมายถึงสมมติฐานที่เพิ่งจะเริ่มมีการพัฒนาโดยใกล้ชิดกับปรากฏการณ์รูปธรรมอันเป็นที่มาของสมติฐาน (สุภางค์ จันทวานิช 2555) อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่านิยามและการจำแนกทฤษฎีออกเป็นระดับต่าง ๆ ข้างต้นนี้ วางอยู่บนฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับข้อสรุปซึ่งมาจากการค้นคว้าทดลองเพื่อตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำของสมมติฐาน อันจะนำไปสู่การอธิบายและทำนายโลกทางสังคมได้อย่างเป็นสากลได้ในท้ายที่สุด

           ในแง่ที่มานุษยวิทยาเป็นสังคมศาสตร์สาขาหนึ่ง พัฒนาการของทฤษฎีในระยะแรก ๆ ได้รับอิทธิพลจากบรรยากาศความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่กำลังเฟื่องฟูในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของทฤษฎีวิวัฒนาการ (evolutionism) ของสิ่งมีชีวิต ความคิดเรื่องวิวัฒนาการในแวดวงวิทยาศาสตร์นำไปสู่การเกิดขึ้นของทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคม (social evolutionism) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งอธิบายความแตกต่างหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมแบบเส้นพัฒนาการเดียว (unilineal) พร้อมกับจัดแบ่งสังคมวัฒนธรรมของผู้คนออกเป็นลำดับชั้น อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางทฤษฎีของมานุษยวิทยาในระยะหลัง ๆ มีมิติของความเป็นมนุษย์ศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ความคิดเรื่องการตีความทางวัฒนธรรม (cultural interpretivism) ที่ให้ความสำคัญกับความหมายที่ถูก ซุกซ่อนอยู่ในบริบทเฉพาะทางวัฒนธรรม และความคิดแบบหลังสมัยใหม่ (postmodernism) ที่หันมาตั้งคำถามกับความคิดเชิงตรรกะเหตุผลที่ตายตัวแบบวิทยาศาสตร์ ชี้ให้เห็นข้อจำกัดและวิพากษ์ข้ออ่อนที่ถูกละเลย (Erickson & Murphy 2001) นิยามของทฤษฎีในอีกระดับหนึ่งสำหรับมานุษยวิทยา จึงมีตั้งแต่ข้อเสนอที่เป็นเหตุผลโดยสัมพันธ์กับข้อมูลข้อเท็จจริงของปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม ไปจนถึงภาพร่างสำหรับการตีความ วิเคราะห์ และอธิบายโลกทางสังคมวัฒนธรรม (ยุกติ มุกดาวิจิตร 2564)

           โดยนิยามที่ลึกลงไปในอีกระดับนี้ ทฤษฎีไม่เพียงเป็นสมมติฐานสำหรับการสร้างคำอธิบายต่อเรื่องราว เหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ เท่านั้น ยุกติ มุกดาวิจิตร (2564) ยังเห็นว่าทฤษฎีเป็นกรอบการศึกษาซึ่งไม่สามารถแยกออกจากวิธีวิทยาได้ เพราะการใช้ทฤษฎีแบบหนึ่งมักพ่วงมาด้วยวิธีวิทยาที่สอดคล้องกัน เขาชี้ให้เห็นความสำคัญว่าทฤษฎีเป็นแกนหลักในการต่อยอดความรู้ทางมานุษยวิทยา กล่าวคือการสร้างความรู้ทางมานุษยวิทยาไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มพูนข้อมูลหรือข้อเท็จจริง แต่ต้องยกระดับไปสู่การสร้างข้อถกเถียงที่เป็นนามธรรมด้วยเป็นประการแรก ประการต่อมา ทฤษฎีเป็นคู่มือที่ให้แนวทางในการสร้างความรู้ผ่านการทำงานวิจัยภาคสนาม การรู้จักและเข้าใจทฤษฎีหนึ่ง ๆ จะทำให้รู้ถึงเงื่อนไข ข้อจำกัด ข้อได้เปรียบ ตลอดจนที่มาที่ไปของข้อถกเถียงที่ก่อรูปทฤษฎีนั้นขึ้นมา และอีกประการหนึ่งคือ ทฤษฎีเป็นสิ่งสร้างบทสนทนาที่ข้ามประเด็น พื้นที่ เวลา สาขาวิชา หรือแม้แต่ศาสตร์ความรู้ กล่าวคือทำให้เกิดการเปรียบเทียบจากสิ่งหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง ติดพื้นที่ ติดเวลา ติดสาขาวิชา ไปสู่สิ่งที่ข้ามความเฉพาะเจาะจงได้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับยุกติที่ความสำคัญของทฤษฎีไม่เพียงเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจและอธิบาย แต่ยังรวมถึงการเป็นเครื่องมือในการสร้าง ข้อถกเถียง ให้แนวทางในการทำวิจัย ตลอดจนก้าวข้ามขีดจำกัดของความเฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งในพัฒนาการของทฤษฎีมานุษยวิทยา ที่จะช่วยตอบคำถามว่า “เราศึกษาทฤษฎีไปทำไม”

           เดิมทีแล้ว แนวทฤษฎีดั้งเดิมทางมานุษยวิทยามีลักษณะเป็นทฤษฎี “นิยม” (-ism) ซึ่งหมายถึงกระบวนทัศน์ (paradigm) ในการมองและอธิบายสิ่งต่าง ๆ การมองและอธิบายสิ่งต่าง ๆ คล้าย ๆ กัน หรือใกล้เคียงกันจนกลายเป็นสามัญสำนึกร่วมในกระบวนทัศน์ โดยที่ทฤษฎีนิยมหนึ่ง ๆ จะประกอบไปด้วยผู้นำทางความคิด คำถามสำคัญ บริบทของยุคสมัย ผลงานเด่น ข้อมูลและข้อถกเถียง ตลอดไปจนถึงข้อวิพากษ์และคนที่ไม่เห็นด้วย ตัวอย่างของทฤษฎีนิยมแรก ๆ ในพัฒนาการของมานุษยวิทยาคือทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคม (social evolutionism) อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสามัญสำนึกร่วมในกระบวนทัศน์หนึ่งก็ย่อมมีสามัญสำนึกร่วมในกระบวนทัศน์แบบอื่นที่ไม่เห็นด้วยตามมา ทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคม (social evolutionism) ถูกท้าทายสามัญสำนึกด้วยทฤษฎีการแพร่กระจาย (diffusionism) ทฤษฎีหน้าที่นิยม (functionalism) และตามด้วยทฤษฎีโครงสร้างนิยม (structuralism) ในเวลาถัดมา อย่างไรก็ดี เอส. เอฟ. นาเดล (S. F. Nadel) (2004) บอกว่าการรับรู้ถึงกระบวนทัศน์ที่แตกต่างในมานุษยวิทยาน่าจะเริ่มขึ้นเมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 20

           ที่ผ่านมามีการเปรียบเทียบง่าย ๆ ว่าการเรียนทฤษฎีนิยมหนึ่งทฤษฎีเท่ากับมีแว่นตาหนึ่งสี ในยุคที่กระบวนทัศน์แบบนี้กำลังทรงพลัง นักมานุษยวิทยามักสมาทานแว่นตาเพียงสีใดสีหนึ่ง การวิพากษ์ทฤษฎีหน้าที่นิยมของบรอนิสลอฟ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) โดยผู้นำความคิดของทฤษฎีโครงสร้างนิยม คือ อัลเฟรด แรดคลิฟฟ์-บราวน์ (Alfred Radcliffe-Brown) (1940) ทำให้เห็นว่าการท้าทายระหว่างกระบวนทัศน์ทางทฤษฎีมานุษยวิทยามีระบวนการที่ต่างไปจากวิทยาศาสตร์ แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ทางวิทยาศาสตร์ของโธมัส คูน (Thomas Kuhn) (1970) อธิบายว่านักวิทยาศาสตร์ไม่เพียงทำงานโดยใช้เครื่องมือและวิธีการร่วมกันเท่านั้น แต่ยังทำงานภายในกระบวนทัศน์เดียวกันด้วย กายาทางทฤษฎีของวิทยาศาสตร์ที่ประกอบไปด้วยสมมติฐาน เทคนิควิธีการ และการแสวงหาความจริง ถูกจัดเรียงกันจนเกิดเป็นภาพความเข้าใจที่สามารถคิดได้ เมื่อเวลาผ่านไปจนมีผลงานหรือการทดลองใหม่ ๆ เกิดขึ้นจนทำให้ภาพความเข้าใจเดิมปริแตก กระบวนทัศน์ใหม่จะถือกำเนิดขึ้นจากภาพความเข้าใจใหม่นั้น ความแตกต่างที่ทฤษฎีสังคมศาสตร์ รวมถึงมานุษยวิทยา หรือกระบวนทัศน์ต่าง ๆ ในมานุษยวิทยา วิพากษ์กันและดำรงอยู่ไปพร้อมกัน เป็นข้อสังเกตที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างในธรรมชาติของทฤษฎีของศาสตร์ทั้งสอง

           บรูซ เอ็ม. นอฟต์ (Bruce M. Knauft) (1996) ตั้งข้อสังเกตว่า การวิพากษ์กันและดำรงอยู่ไปพร้อมกันของมานุษยวิทยาเป็นภาวะความหลากหลายของประบวนทัศน์ (multi-paradigm) ตลอดประวัติศาสตร์มานุษยวิทยา ทฤษฎีต่าง ๆ เกิดขึ้น โต้แย้ง และดำรงอยู่ในลักษณะดังกล่าวเป็นการตั้งท่าต่อต้านการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (antiparadigm shift) แม้แต่ละทฤษฎีจะมียุครุ่งเรืองและเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา แต่สาระสำคัญของแต่ละทฤษฎียังดำรงอยู่ในการสร้างคำอธิบายจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน การประสานกันของทฤษฎีนิยมที่แตกต่างกันแม้จะมีอยู่บ้างในกลุ่มที่พอจะประนีประนอมกันได้ อาทิ การประสานความคิดเข้าด้วยกันของทฤษฎีหน้าที่นิยม (functionalism) และทฤษฎีโครงสร้างนิยม (structuralism) จนเกิดเป็นทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่นิยม (structural-functionalism) (Ortner 1984; Knauft 1996) แต่ผลที่ตามมาส่งให้ข้อโต้แย้งในบรรดาทฤษฎีนิยมต่าง ๆ ถ่างตัวกว้างมากขึ้น กล่าวคือเกิดเป็นกลุ่มทฤษฎี 3 กลุ่ม ได้แก่ หนึ่ง กลุ่มทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ทางสังคม (social structural-functionalism) สองกลุ่มทฤษฎีการตีความวัฒนธรรมและสัญลักษณ์ (cultural and symbolic interpretivism) และสาม กลุ่มทฤษฎีนิเวศวัฒนธรรมและวัตถุนิยม (cultural ecology and materialism) (Ortner 1984; Knauft 1996; ยุกติ มุกดาวิจิตร 2564) ความแตกต่างของแก่นแกนความคิดเหล่านี้ทำให้เส้นแบ่งของแนวทางเชิงทฤษฎีถูกขับเน้นมากยิ่งขึ้นจนไม่อาจยอมความกันได้อีก

           ในทางที่สมัครสมานกลมเกลียว ทฤษฎีมานุษยวิทยาเปรียบได้กับแนวปะการังซึ่งปะการังมีชีวิตตั้งอยู่บนความสำเร็จของผู้อยู่มาก่อนในแนวของตัวเอง แต่ในอีกทางหนึ่ง ทฤษฎีมานุษยวิทยาก็อาจเทียบได้กับถนนสี่แยกที่มีการจราจรยุ่งเหยิง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและการปะทะพุ่งชนได้ในทุก ๆ วัน (Eriksen 2004) อย่างไรก็ตาม ขณะที่โลกปัจจุบันสลับซับซ้อนขึ้น ทฤษฎีนิยมมีลักษณะเป็นทัศนทางความคิดที่แข็งตัวต่อปรากฏการณ์ การมองปรากฏการณ์ต่าง ๆ ด้วยทฤษฎีแบบนี้เริ่มเป็นการ “ครอบปรากฏการณ์” มากกว่า “อธิบายให้เห็นรายละเอียด” มากขึ้นเรื่อย ๆ เชอร์รี่ บี. ออร์ทเนอร์ (Sherry B. Ortner) (1984) บอกว่าปรากฏการณ์ทวนกระแส (revision) ทางวิชาการในช่วงทศวรรษ 1960 แสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวทางทฤษฎีในการแสวงหาความคิดแบบใหม่ ๆ ที่มีความยืดหยุ่นและลดทอนวิธีคิดแบบ “โครงครอบ” ลง โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวปรากฏขึ้นในหลายสาขาวิชา อย่างในภาษาศาสตร์ อัลตัน เบกเคอร์ (Alton Becker) เน้นย้ำประเด็นการสร้างตัวบท (text building) แทนที่จะเป็นการผลิตซ้ำ (reification) ในทางประวัติศาสตร์ อี. พี. ทอมป์สัน (E. P. Thompson) วิพากษ์แนวคิดแบบมาร์กซ์ดั้งเดิม (Orthodox Marxism) ซึ่งมองว่าประวัติศาสตร์เป็นพัฒนาการที่มีจุดสิ้นสุดโดยปราศจากอัตตาหนึ่ง ๆ ขณะที่ในสังคมวิทยา แอนโทนี่ กิ๊ดเด้น (Anthony Gidden) บอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและการกระทำการเป็นปัญหาศูนย์กลางของทฤษฎีสมัยใหม่

           นอฟต์ (2006) บอกว่าลักษณะของทฤษฎีร่วมสมัยในปัจจุบันเข้าสู่สภาวะหลังกระบวนทัศน์ (post-paradigmatic state) ที่ทฤษฎีหลักระดับกระบวนทัศน์ไม่ใช่ทางออกในการสร้างคำอธิบายหรือใช้ในการทำงานวิจัยอย่างเบ็ดเสร็จอีกต่อไป หากแต่เป็นการปรับใช้แนวคิดระดับกลางหรือแนวคิดระดับย่อย ๆ ให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์รูปธรรมในการสร้างคำอธิบายระดับฐานราก เขายังบอกว่าการเกิดขึ้นของทฤษฎีปฏิบัติการ (practice theory) ที่ปรับและผสมแนวคิดเรื่องโครงสร้าง (structure) สภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรม (milieu) และความสามารถในการกระทำการ (agency) จากทฤษฎีหลักที่ให้กระบวนทัศน์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของวิถีทฤษฎีในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จนกระทั่งศตวรรษที่ 21 แนวทางของทฤษฎีและการใช้งานในยุคใหม่มีความหลากหลายมากขึ้น นักมานุษยวิทยาทำงานคล้ายช่างสารพัดนึก (bricoleurs) ที่รวบรวมชิ้นส่วนทางทฤษฎีที่ให้มุมมองแตกต่างกัน เข้ามาอยู่ในความสัมพันธ์เฉพาะต่อประเด็นที่ทำการศึกษา กล่าวได้ว่าการทำงานดังกล่าวนี้เป็นความพยายามแสวงหาจุดกึ่งกลาง (the middle) ในลักษณะต่าง ๆ เพื่อลดทอนความแข็งกระด้างทางความคิดและสอดรับกับปรากฏการณ์ภาคสนามในเชิงปฏิบัติมากยิ่งขึ้น แนวทางในการประสานกันไม่ใช่การหลอมรวมแบบเห็นด้วยกันอย่างที่ผ่านมา แต่เป็นการเติมเต็มจุดเด่นจุดด้อยและปรับให้ยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงและสลับซับซ้อนของโลกปัจจุบัน จุดยืนทางทฤษฎีที่เกิดขึ้นนี้มีลักษณะเป็นการแยกตัวออกจากทฤษฎีนิยม ตรวจสอบช่องว่างช่องโหว่ และนำไปสู่การเกิดขึ้นของแนวความคิดแบบใหม่ ๆ ในทางสร้างสรรค์

           การประกาศทฤษฎีที่ต่างยอมความกันไม่ได้ในอดีตผ่านมาไม่เพียงถูกแทนที่ด้วยการดัดแปลงเพียงอย่างเดียว แต่ทัศนะหรือมุมมองของผู้ดัดแปลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความประนีประนอมอีกด้วย จุดกึ่งกลางที่วิถีทฤษฎีร่วมสมัยบรรจบกันมีตั้งแต่ระหว่างปฏิฐานนิยมและหลังปฏิฐานิยม ประวัติศาสตร์และวงศาวิทยา โลกและท้องถิ่น ตลอดจนความคิดและการปฏิบัติ เช่นเดียวกับที่ทฤษฎีนิยมในอดีตถูกสถาปนาให้เป็นภาพความเข้าใจเพียงหนึ่งเดียวในตัวเอง ทว่าภายหลังกลับถูกทำให้มีลักษณะสัมพัทธ์ หลากหลาย และท้ายที่สุดกลายเป็นคำคุณศัพท์ แนวคิดอย่างโครงสร้าง (Structure) เพียงหนึ่งเดียว ถูกทำให้เป็นโครงสร้างแบบต่าง ๆ (structures) อาทิ โครงสร้างทางสังคม โครงสร้างทางวัฒนธรรม โครงสร้างทางความคิด และโครงสร้างทางการเมือง จนท้ายที่สุดกลายเป็นบางสิ่งบางอย่างเชิงโครงสร้าง (structural) อาทิ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงเชิงโครงสร้าง นิเวศวิทยาเชิงโครงสร้าง ความคิดนามธรรมที่ถูกพิจารณาในฐานะแก่นแกนอย่างโครงสร้างถูกบรรเทาสถานะและทำให้กระจัดกระจายเพื่อให้การประนีประนอมผ่านการประกอบเข้ากับแนวคิดที่เจือจางจากแก่นแกนอื่น ๆ เป็นไปได้มากขึ้น สภาวะหลังกระบวนทัศน์ที่นอฟต์ (2006) ตั้งข้อสังเกตจึงเป็นการสลายมุมมองเชิงกระบวนทัศน์ เพื่อก่อให้เกิดการผสมผสานแนวคิดในเชิงสร้างสรรค์และปรับใช้ในแนวทางใหม่ ๆ อย่างไรก็ดี การผสมผสานดังกล่าวนี้ต้องสอดคล้องกับปรากฏการณ์รูปธรรมที่พบในสนามด้วย

           การตอบคำถามที่ว่า “เราศึกษาทฤษฎีไปทำไม” ไม่เพียงแต่ตอบด้วยคำสอนต่อ ๆ กันว่า การศึกษาทฤษฎีมาก ๆ เพื่อให้มีแว่นตาที่หลากหลาย การรู้ทฤษฎีมากจะเท่ากับมีแว่นหลายสีสำหรับมองโลกด้วยสีเฉดต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมเข้าไปยังสนามที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าสนามหนึ่ง ๆ จะเหมาะสมกับการใช้งานทฤษฎีไหนหรือมองด้วยสีอะไร เพียงเท่านั้น ผู้เขียนเห็นว่าการเข้าใจที่มาที่ไปขององค์ประกอบและข้อถกเถียงของทฤษฎีต่าง ๆ มีประโยชน์ในการแยกชิ้นส่วนของแว่นหลากหลายสีให้ได้รูปแล้วนำมาจัดเรียงใหม่เป็นกระจกสีที่สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนขึ้นในโลกปัจจุบัน อีกคำตอบหนึ่งของความจำเป็นในการศึกษาทฤษฎีจึงเป็นการสร้างความเป็นไปได้ในการปรับใช้และผสมผสานแนวคิดอย่างรู้ที่มาที่ไปให้เหมาะสมกับการทำงานภาคสนามของมานุษยวิทยา ในแง่นี้ การใช้งานทฤษฎีในโลกร่วมสมัยจึงเป็นการทำให้ทฤษฎีต่าง ๆ มีชีวิตที่สร้างสรรค์ผ่านการสร้างกระจกสีของช่างสารพัดนึกแต่ละคน มิใช่เพียงนำแว่นสี ๆ มาใช้สวมใส่สำหรับทำความเข้าใจ ตั้งข้อสังเกตไปตามอัตวิสัยส่วนบุคคล และอธิบายไปตาม (กระบวน) ทัศนะที่เลือกหยิบมาพิจารณา


รายการอ้างอิง

ยุกติ มุกดาวิจิตร. 2564. บทนำ: วิวาทะมานุษยวิทยา ใน วิวาทะมานุษยวิทยา: วิถีทฤษฎีและวิธีวิทยา. กรุงเทพฯ: ศยาม.

สุภางค์ จันทวานิช. 2555. ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Candea, M. 2018. Introduction: Echoes of a Conversation, In Schools and Styles of Anthropological Theory. New York: Routledge.

Erickson, P. A. & Murphy, L. D. 2001. A History of Anthropological Theory. Toronto: Broadview Press.

Eriksen, T. H. 2004. What is Anthropology? London: Pluto Press.

Knauft, B. M. 1996. Genealogies for the Present in Cultural Anthropology. New York: Routledge.

Knauft, B. M. 2006. Anthropology in the Middle. Anthropological Theory. 6(4): 407-430.

Kuhn. T. 1970. The Structure of Scientific Revolutions. Chicago: University of Chicago Press.

Nadel, S. F. 2004. The Foundations of Social Anthropology. London: Routledge.

Ortner, S. B. 1984. Theory in Anthropology since the Sixties. Comparative Studies in Society and History. 26(1): 126-166.

Radcliffe-Brown, A. 1940. On Social Structure. The Journal of the Royal Anthropological Institute of Great Britain and Ireland. 70(1): 1-12.


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ทฤษฎี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กระบวนทัศน์ กระจกสี หลังกระบวนทัศน์ Theory Paradigmatic Eye-Glasses Post-Paradigmatic Stained Glasses วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share