มานุษยวิทยานิติเวชกับร่างของศพ

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 2840

มานุษยวิทยานิติเวชกับร่างของศพ

“ศีรษะ กระดูก ร่างกายของศพ ก็เปรียบเสมือนแคปซูลกาลเวลา”

           ศีรษะ กระดูก แขนขา และชิ้นส่วนร่างกายของศพที่ถูกฆาตกรรม คือหลักฐานในการสืบสวนหาผู้ก่อเหตุและอัตลักษณ์ของผู้ตาย ในการศึกษาหลักฐานในคดีฆาตกรรม มีผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาเข้ามาทำงานทั้งนักกฎหมาย นักชันสูตรพลิกศพ ทนายความ นักจิตวิทยา แพทย์ นักนิติเวชศาสตร์ รวมถึงนักมานุษยวิทยากายภาพ (Physical Anthropology) บรรพมานุษยวิทยา (Paleoanthropology) กายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) และพยาธิวิทยาโบราณ (Paleopathology)1 ซึ่งเข้ามาตรวจสอบและค้นหาร่องรอยการตายและสภาพศพที่ถูกฆาตกรรม


มานุษยวิทยานิติเวช (Forensic Anthropology)

           มานุษยวิทยานิติเวชคือสาขาย่อยทางวิทยาศาสตร์กายภาพของมานุษยวิทยา ที่ถูกผนวกรวมเข้ากับศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ นิติวิทยาศาสตร์ นิติโบราณคดี กายวิภาคศาสตร์ ฯลฯ โดยอาศัยเทคนิคและการวิเคราะห์กายวิภาคหรือโครงกระดูกเชิงโบราณคดีเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรม นักมานุษยวิทยาสายนิติวิทยาศาสตร์จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากกายวิภาคหรือโครงกระดูกของร่างผู้เสียชีวิต อีกทั้งบริบทของการเก็บกู้ร่างของผู้เสียชีวิต เพื่อระบุว่าใครคือผู้เสียชีวิต เสียชีวิตอย่างไร และเสียชีวิตนานแค่ไหน นักมานุษยวิทยาสายนิติวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เนื้อเยื่อแข็ง เช่น กระดูก และยังมีความรู้เกี่ยวกับการขุดค้นซากศพ และการบันทึกหลักฐานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

           การใช้ความรู้ของมานุษยวิทยานิติเวชในกระบวนการยุติธรรม ริเริ่มจาก Earnest Albert Hooton ที่พยายามใช้มานุษยวิทยากายภาพในการตอบข้อเท็จจริงทางอาญา โดยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 Hooton อธิบายว่า มานุษยวิทยากายภาพที่ถูกมองว่าเป็น “วิทยาศาสตร์เทียม” (Pseudoscience) นั้นสามารถทำงานร่วมกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ Hooton เชื่อว่า การศึกษาโครงหน้า ลักษณะทางพันธุกรรมต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงพฤติกรรมของบุคคลในลักษณะทางกายภาพที่เฉพาะเจาะจง การใช้มานุษยวิทยากายภาพในงานยุติธรรมเพื่ออธิบายพฤติกรรมอาชญากรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นจากกระบวนการสุพันธุศาสตร์ (Eugenics) การศึกษาข้อมูลเหล่านี้ช่วยกำหนดความเข้าใจของนักมานุษยวิทยาเกี่ยวกับโครงกระดูกของมนุษย์ และจำแนกถึงความแตกต่างของโครงกระดูกหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้

           นักมานุษยวิทยายุคแรกที่โดดเด่น และสนใจมานุษยวิทยากายภาพในเชิงอาชญากรรม คือ Thomas Wingate Todd ซึ่งทำงานวิเคราะห์หัวกะโหลกชุดแรกในปี ค.ศ.1912 จนกระทั่งเขาได้ชันสูตรกะโหลกศีรษะ 3,300 กะโหลก และโครงกระดูกมนุษย์ราว 600 โครงตลอดเวลาที่ช่วยทำงานเพื่อไขปริศนาฆาตกรรม ผลงานสำคัญของเขาได้ถูกพัฒนาต่อยอดเป็นสาขาวิชามานุษยวิทยานิติเวช หรือ Forensic Anthropology ซึ่งทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์กะโหลก กระดูก และอายุของคนตาย จนในช่วงก่อนปี ค.ศ.1940 สาขามานุษยวิทยานิติเวชได้รับการยอมรับว่าเป็นสาขาย่อยที่ถูกต้องตามกฎหมาย การเติบโตของมานุษยวิทยานิติเวชเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1940 โดย Krogman นักมานุษยวิทยาที่ใช้ความรู้ทางกายภาพและสรีระวิทยาในการคลี่คลายคดีฆาตกรรม และการนำเสนอต่อ FBI เพื่อให้ตระหนักถึงความสามารถของ นักมานุษยวิทยาที่สามารถเป็นหนึ่งในกลไกสืบสวนสอบสวน ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา FBI ของกองทัพสหรัฐฯ ได้ว่าจ้างนักมานุษยวิทยานิติเวช เพื่อช่วยวิเคราะห์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตจากสงครามเกาหลี นับแต่นั้นการศึกษาด้านมานุษยวิทยานิติเวชเกิดขึ้นอย่างจริงจัง


วิธีวิทยาโครงกระดูกและซากศพของมนุษย์

           เครื่องมือชิ้นสำคัญของนักมานุษยวิทยานิติเวชใช้ในการระบุตำหนิจากโครงกระดูกหรือซากศพ คือ ความรู้ทางกายภาพและลักษณะที่แตกต่างกันของร่างกายของมนุษย์ที่เกิดจากเพศ ช่วงวัย และเชื้อชาติ ในระหว่างการสอบสวนของกระบวนการยุติธรรม นักมานุษยวิทยามักได้รับมอบหมายให้ช่วยในการกำหนดเพศ ความสูง อายุ และบรรพบุรุษของบุคคล ซึ่งนักมานุษยวิทยาจะต้องตระหนักว่าโครงกระดูกของมนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกันอย่างไร นักมานุษยวิทยานิติเวชสามารถประมาณการอายุจากโครงกระดูกมนุษย์ จากลักษณะโครงสร้างของฟัน กระดูกหน้าแข้ง และไหปลาร้า ที่เจริญเติบโตต่างกัน เพื่อคำนวณอายุคนตาย รวมทั้ง การดูช่องในกระดูก (Bone Osteons) ด้วยกล้องจุลทรรศน์ และการมองหาลักษณะที่บ่งชี้ถึงโรคข้ออักเสบบนกระดูก โดยโรคข้ออักเสบจะทำให้กระดูกโค้งงออย่างเห็นได้ชัด ควบคู่ไปกับขนาดและจำนวนของโพรงกระดูกสามารถช่วยให้นักมานุษยวิทยาระบุช่วงอายุที่เป็นไปได้สำหรับแต่ละบุคคล

           การประมาณความสูงของโครงกระดูกขึ้นอยู่กับการตรวจสอบโครงกระดูกหลายแบบจากภูมิภาคและภูมิหลังที่แตกต่างกัน ความสูงกำหนดเป็นหน่วยเซนติเมตร และโดยทั่วไปจะคำนวณโดยการวัดกระดูก ทั้งกระดูกหน้าแข้งและน่อง การกำหนดความสูงขึ้นอยู่กับข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับบุคคล มีการกำหนดเพศ บรรพบุรุษ และอายุ จากนั้นจะระบุส่วนสูง เมื่อทราบตัวแปรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสูงแล้วจะสามารถประมาณการที่แม่นยำยิ่งขึ้น ดังนั้น การประมาณความสูงของโครงกระดูกจึงเป็นกระบวนการวิเคราะห์ส่วนสุดท้ายที่นักมานุษยวิทยาจะใช้ในการพิจารณาประกอบคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้น การกำหนดเพศและเผ่าพันธุ์ใช้การวิเคราะห์ภาวะทวิสัณฐาน (Dimorphisms) โดยตรวจสอบกระดูกเชิงกราน อีกทั้งการวัดระยะทางระหว่างจุดสังเกตบนกะโหลกศีรษะ (จุดสัญญะ) เช่นเดียวกับขนาดและรูปร่างของกระดูกเฉพาะ โดยทั่วไปแล้วกระดูกขากรรไกรจะใช้เพื่อช่วยให้นักมานุษยวิทยาระบุเผ่าพันธุ์ของบุคคลได้ นอกจากกระดูกขากรรไกรแล้ว โหนกแก้ม และช่องจมูก ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการระบุเผ่าพันธุ์ ปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องที่นักวิชาการถกเถียงกันว่าแท้จริงแล้วโครงกระดูกหรือจุดสังเกตต่าง ๆ เหล่านี้สามารถระบุเผ่าพันธุ์ได้มากน้อยเพียงใด

           นอกจากนี้ การร่วมขุดค้นศพด้วยเทคนิควิธีทางโบราณคดีเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักนิติโบราณคดีกับนักมานุษยวิทยานิติเวช และนำศพหรือโครงกระดูกขึ้นมาเพื่อศึกษาต่อไป การพิสูจน์จำแนกกำหนดอัตลักษณ์บุคคลนิรนามมักใช้กับศพที่มีจำนวนมากในหลุมเดียวกัน (Mass Grave) หรือโศกนาฏกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะใช้ศาสตร์ด้านนิติชีววิทยา (Forensic Biology) มาศึกษาหา DNA เป็นหลัก การพิสูจน์ระยะเวลาหลังการตาย โดยดูว่าเสียชีวิตมาแล้วนานเท่าใดจากสภาพของกระบวนการเสื่อมสลายของศพ การศึกษาทางนิติกีฏวิทยา (Forensic Entomology) เป็นการศึกษาแมลงที่พบร่วมกับศพ การศึกษาทางนิติพฤกษศาสตร์ (Forensic Botany) ศึกษาวัชพืชหรือต้นหญ้าต่าง ๆ ในพื้นที่ที่มีการขุดหลุมฝังศพ การศึกษาทางเคมี โดยศึกษาจากสภาวะการเน่าสลายของกรดอะมิโนหรือเนื้อกระดูก และการพิสูจน์พยาธิสภาพของกระดูก เพื่อหาสาเหตุและประเภทของการเสียชีวิต กระบวนการเหล่านี้ ล้วนเป็นกระบวนการสหวิทยาที่นักมานุษยวิทยานิติเวชใช้เป็นวิธีวิทยาในการศึกษาโครงกระดูกและซากศพร่วมกับความรู้วิทยาศาสตร์ในกระบวนการยุติธรรม (สฤษดิ์ สืบพงษ์ศิริ, 2560)


จากโครงกระดูกและซากศพสู่พื้นที่การเรียนรู้

           “จากซากศพสู่พื้นที่แห่งการเรียนรู้” การเกิดขึ้นของ “ฟาร์มศพ” ของ Forensic Anthropology Center at Texas State (FACTS) ฟาร์มศพแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย Texas State University ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีต่าง ๆ และเป็นศูนย์ศึกษาถึงการเน่าเปื่อยของศพภายใต้สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ฟาร์มศพนี้จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของนักเรียนที่เรียนเกี่ยวกับมานุษยวิทยานิติเวช หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง

ภาพ: ฟาร์มศพ (Forensic Anthropology Center at Texas State (FACTS))
อ้างอิงจาก: telltalebones.wordpress.com

           The National Museum of Natural History มี Collection ทางมานุษยวิทยาชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีโครงกระดูก และซากศพมนุษย์มากกว่า 30,000 ชุด ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชากรจากทั่วโลกที่ใช้ในการศึกษาในปัจจุบัน โครงกระดูกจำนวนมากซึ่งมีข้อมูลต่าง อาทิ อายุ เพศ อัตลักษณ์ เผ่าพันธุ์ รวมถึงข้อมูลสาเหตุการตาย ถือเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง นักมานุษยวิทยานิติเวชยังคงใช้โครงกระดูกเหล่านี้เป็นมาตรฐานสำหรับการกำหนดเพศ อายุ และบรรพบุรุษของซากศพที่ไม่รู้จักหรือศพนิรนาม

ภาพ: การศึกษาโครงกระดูกของ The National Museum of Natural History
อ้างอิงจาก: ฐานข้อมูล Smithsonian National Museum of Natural History


สร้างใหม่ให้อดีต

           นักมานุษยวิทยานิติเวชเป็นที่ยอมรับในด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยทำงานช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการสืบสวน การประเมินสภาพศพ พยาธิวิทยาก่อนเสียชีวิต (Ante-Mortem) หรือความผิดปกติต่าง ๆ ทั้งยังช่วยในการวิเคราะห์ศพร่วมกับแพทย์นิติเวชภายหลังเสียชีวิต (Post-Mortem) และช่วยระบุตัวบุคคลจากกระดูกเมื่อลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ ที่อาจใช้ในการระบุร่างกายไม่มีอยู่อีกต่อไป ความก้าวหน้าทางมานุษยวิทยานิติเวชไม่เพียงช่วยไขคดีเท่านั้น แต่ยังช่วยศึกษาซากศพของมนุษย์ในอดีต นำไปสู่การค้นพบที่เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสังคมในอดีต ผลลัพธ์ของวิธีวิทยาเหล่านี้คือการสร้างตัวตนของผู้เสียชีวิตให้สังคมเข้าใจ และนำผู้กระทำความผิดมารับโทษทางอาญา


บรรณานุกรม

นิติมานุษยวิทยาและวิวัฒนาการในการศึกษาซากศพมนุษย์. (2566). สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2566,
จาก https://www.yoair.com/th/blog/forensic-anthropology-and-its-evolution-into-the-study-of-human-remains/

สฤษดิ์ สืบพงษ์ศิริ. (2560, มกราคม - มิถุนายน). บทบาทของงานนิติโบราณคดีและนิติมานุษยวิทยา
ในการสืบสวนอาชญากรรม. อาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ. 3(1): 20-36.

นิติมานุษยวิทยา. (2566). สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2566, จาก https://hmong.in.th/wiki/Forensic_anthropologist

American Board of Forensic Anthropology. (2023). WHAT IS A FORENSIC ANTHROPOLOGIST. Retrieved 8 July, 2023, from https://www.theabfa.org/

Angi M. Christensen; Nicholas V. Passalacqua & Eric J. Bartelink. (2019). Forensic
Anthropology: Current Methods and Practice (Second Edition). Retrieved 8 July,
2023, from https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/B9780128157343000014

Dennis C. Dirkmaat. (2012). A Companion to Forensic Anthropology. Malden, MA :Wiley-
Blackwell.

Forensic Anthropology Center. (2023). What is Forensic Anthropology. Retrieved 9 July, 2023, from https://fac.utk.edu/what-is-forensic-anthropology-2/

Laurel Elizabeth Freas. (2011). Patterns of Craniometric Variation in Modern Thai Population: Applications in Forensic Anthropology and Implications for Population History. Retrieved 6 July, 2023, from https://www.ufdc.ufl.edu/UFE0043620/00001/pdf

Natalie R. Langley. (2012). Forensic Anthropology: An Introduction. Florida: CRC Press

National Museum of Natural History. (2023). Forensic Anthropology. Retrieved 9 July, 2023, from https://naturalhistory.si.edu/education/teaching-resources/social-studies/forensic-anthropology

Purva Wagisha Upadhyay & Amarnath Mishra. (2021). Forensic Anthropology.Retrieved 8 July, 2023, from https://www.intechopen.com/chapters/73372

Tim D. White; Michael T. Black & Pieter A. Folkens. (2012). Human Osteology. Amsterdam: Elsevier/Academic Press.


1  นฤพล หวังธงชัยเจริญ (2550). อ้างถึงใน บทบาทของงานนิติโบราณคดีและนิติมานุษยวิทยาในการสืบสวนอาชญากรรม สฤษดิ์ สืบพงษ์ศิริ (2560)


ผู้เขียน
ภานรินทร์ แสงศรี น้ำเพชร
นักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มานุษยวิทยานิติเวช ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล โบราณคดีและประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยาการยภาพ ภานรินทร์ แสงศรี น้ำเพชร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share