ภาพทัศน์ทุนนิยม (Capitalocene)

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 5030

ภาพทัศน์ทุนนิยม (Capitalocene)

รากเหง้าระบบทุนนิยม

           คำว่า Capitalocene คือปรากฎการณ์ที่อธิบายเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ทุนนิยมเติบโตและขยายตัวซึ่งแสดงออกให้เห็นในการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ถูกใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยอาจพิจารณาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 การใช้พลังงงานจากถ่านหินและเครื่องจักรไอน้ำคือจุดเริ่มต้นของยุคทุนนิยมสมัยใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความพัวพันระหว่างเงินตรา ทรัพยากรธรรมชาติ และอำนาจ (Moore, 2016, 2017; Pomeranz, 2000) สถานการณ์นี้คือรากฐานของความปั่นป่วนและวิกฤตการณ์ของระบบนิเวศ สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ดำเนินไปด้วยความย้อนแย้งและความตึงเครียด ในขณะที่แนวคิด Anthropocene คือการทำความเข้าใจความสัมพันธ์และสถานการณ์ที่มนุษย์เข้าไปกระทำต่อธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่ง Moore(2017) เรียก Anthropocene ว่าเป็นวิธีคิดในเชิงประวัติศาสตร์ (mode of historical thinking) อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปในช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม การที่มนุษย์เริ่มการเพาะปลูกพืชเป็นอาหาร การเดินทางของโคลัมบัสมายังทวีปอเมริกาในปี ค.ศ. 1450 อาจทำให้เข้าใจใหม่ว่ามนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมขนาดใหญ่ได้อย่างไร

           Capitalocene จึงมีนัยยะของการมองเห็นวิกฤตและสภาพปัญหาที่ปรากฎขึ้นในระบบนิเวศและธรรมชาติ เป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยระบบเศรษฐกิจทุนนิยม (McNeill & Engelke, 2016) การเปลี่ยนแปลงนี้แสดงออกในด้านลบต่อระบบนิเวศ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลไกอำนาจของทุนนิยมข้ามชาติทำงานต่างไปจากยุคเริ่มแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงสาเหตุของยุคสมัยที่มนุษย์เข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนำเอาทรัยพากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ที่ตอบสนองระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการบริโภคของมวลชน ภายใต้การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องใช้ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งมีการใช้พลังงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การคมนาคม และการสื่อสารยุคดิจิทัล การใช้ชีวิตภายใต้ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมจึงเป็นต้นตอของการทำลายระบบนิเวศของโลก (Moore, 2016) ดังนั้น การกลับมาทบทวนบทบาทและอำนาจของระบบทุนนิยมจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการที่ซับซ้อน ในอดีต Karl Marx เคยวิจารณ์ระบบทุนนิยมในแง่ของการเอารัดเอาเปรียบแรงงานและการแสวงหาประโยชน์เชิงวัตถุของชนชั้นนายทุนและชนชั้นนำที่มีอำนาจในการควบคุมทรัพยากร ระบบทุนนิยมจึงดำเนินไปบนการแสวงหาประโยชน์ของคนกลุ่มเล็ก ๆ

           ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ระบบทุนนิยมปรับตัวและเปลี่ยนรูปแบบและเทคนิคในการแสวงหาผลประโยชน์ต่างไปจากยุคสมัยของ Marx เป็นอย่างมาก ทุกประเทศในโลกล้วนพึ่งพาอาศัยและใช้ระบบทุนนิยมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก Thomas Hylland Eriksen (2020) กล่าวว่าความเลวร้ายของระบบทุนนิยมมิได้อยู่ที่การสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่อยู่ที่กลไกของการทำลายทรัพยากรและการใช้พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Klein, 2015) นักเศรษฐศาสตร์มักมองเห็นโลกในฐานะเป็นพื้นที่ของการค้าขายที่นำเอาทรัพยากรมาใช้เพื่อผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ยิ่งต้นทุนการผลิตต่ำ และราคาสินค้าสูงก็จะทำให้ได้ผลกำไรมากขึ้น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นี้เห็นสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงวัตถุดิบเพื่อนำมาสร้างเป็นสินค้า ในยุคอาณานิคมเป็นต้นมา ชาวตะวันตกแสวงหาพื้นที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และแรงงานราคาถูกเพื่อนำมาเป็นกลไกในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (Blackburn, 1998) การใช้ทรัพยากรอย่างมโหฬารและแรงงานมนุษย์จำนวนมากถือเป็นการก่อตัวของพลังของทุนนิยม และยังนำไปสู่การแข่งขันและแย่งชิงแหล่งทรัพยากรและแรงงาน การแข่งขันของนายทุนในแต่ละประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไร ยังทำให้เกิดการสร้างท่าเรือน้ำลึก ท่าอากาศยาน นิคมอุตสากรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ เส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศเพื่อเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจำนวนมาก

           นอกจากนั้น ระบบทุนนิยมเติบโตบนฐานคิดที่ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความพิเศษเหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่น หรือ human exceptionalism ความพิเศษที่เหนือกว่านี้คือวิธีคิดที่แยกมนุษย์ออกไปจากเครือข่ายความสัมพันธ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Haraway, 2008; Steffen et al., 2011) มนุษย์และธรรมชาติจึงถูกแยกให้เป็นคู่ตรงข้าม ในระบบทุนนิยม มนุษย์จึงเหนือกว่าสิ่งอื่นในโลก ซึ่งมีนัยยะของการเป็นเจ้านายและผู้ครอบครอง นายทุนและชนชั้นกฎุมพีจึงมองการมีชีวิตของตัวเองด้วยการครอบครองทรัพย์สินและทรัพยากรซึ่งเรียกว่า “สมบัติส่วนตัว” การแบ่งแยกดังกล่าวเป็นการตอกย้ำว่ามนุษย์คือผู้กระทำ ส่วนธรรมชาติคือผู้ถูกกระทำ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ส่งผลให้เกิดแนวคิดประวัติศาสตร์ธรรมชาติแยกขาดจากประวัติศาสตร์สังคม พร้อมกับการให้คุณค่ากับสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าความคิดและความสัมพันธ์ทางจิตใจ (Watts, 2005) พืช สัตว์ และสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติถูกทำให้เป็นวัตถุที่สนองตอบการผลิตทางอุตสาหกรรม โดยมองไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร Moore (2015) กล่าวว่ามนุษย์และธรรมชาติเป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อม (environment-making) หมายถึงมนุษย์ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับธรรมชาติทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลง การมองความสัมพันธ์ดังกล่าวจะทำให้เข้าใจการเชื่อมประสานกันระหว่างนิเวศกับสังคม ดังนั้น ระบบทุนนิยมจึงเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มิใช่การแยกมนุษย์ให้อยู่ตามลำพัง


ความโหดร้ายของทุนนิยมโลก

           การเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกในปัจจุบัน ทำให้เกิดสินค้าและขยะจากการบริโภคของมวลชนมากมายมหาศาล สิ่งเหลือใช้ที่มาจากวัตถุทางอุตสหกรรม เช่น พลาสติกและอลูมิเนียมรวมถึงน้ำเสีย ฝุ่นควัน สารเคมี ที่เกิดจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ควันและมลพิษที่เกิดจากการใช้รถยนต์ในเมืองอุตสาหกรรมและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ รวมถึงการหายไปของป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากร สารตกค้างจากการทำเกษตรกรรมแบบพืชเชิงเดี่ยว สิ่งเหล่านี้คือผลที่เกิดจากการเติบโตของทุนนิยมโลก ไลฟ์สไตล์ของการบริโภคของมนุษย์ที่พึ่งพาการใช้สินค้าที่ถูกกระตุ้นจากโฆษณาและการตลาดที่เร่งเร้า ทำให้มนุษย์เปลี่ยนเครื่องมือ อุปกรณ์และวัตถุสิ่งของที่สนองตอบรสนิยมที่ไม่หยุดนิ่ง ทิศทางของการใช้ทรัพยากรเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น จึงเต็มไปด้วยร่องรอยของความเสื่อมโทรมและการสูญเสียสมดุลของระบบนิเวศซึ่งมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัย ดังที่ McBrien (2016) กล่าวว่าระบบทุนนิยมคือกลไกของความตายและทำลายสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นนี้วางอยู่บนตรรกะของการแข่งขันเพื่อเปลี่ยนวัตถุสิ่งของให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทรัพยกรและธรรมชาติกลายเป็นวัตถุที่ถูกประเมินเป็นราคาซื้อขาย Eriksen (2020) อธิบายว่าการเติบโตและความรุง่เรืองทางเศรษฐกิจในปัจจุบันคือภาพสะท้อนอนาคตของมนุษย์ที่พบกับความสื่อมและสูญหายของทรัพยากร

           การทำเกษตกรรมเชิงพาณิชย์ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนพื้นที่ขนาดใหญ่ การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืช แมลง และเร่งการเติบโต สิ่งเหล่านี้ทำให้ภูมิประเทศของโลกเปลี่ยนแปลง จะพบว่าการเพาะปลูกเพื่อการค้าจะมีรูปแบบที่เหมือน ๆ กัน การเปิดพื้นที่เพื่อทำการเกษตรเชิงการค้าเท่ากับเป็นการมองธรรมชาติในฐานะสิ่งที่ถูกตัดแบ่งเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ยิ่งต้นทุนในการเพาะปลูกต่ำเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้ขายผลผลิตได้มากขึ้น นั่นหมายถึงธรรมชาติมีราคาต่ำกว่าราคาผลผลิตในระบบเกษตรกรรม ในระบบอุตสาหกรรม แรงงานมนุษย์ถูกมองเป็นกลไกและเครืองจักรที่จะทำให้ได้ผลผลิตและมูลค่าทางเงินตรา ศักยภาพและสมรรถนะของแรงงานจึงเป็นเป้าหมายของระบบการผลิต ยิ่งแรงงานทำงานได้ยาวนานและทำผลผลิตได้มากก็ยิ่งทำให้มีสินค้าเพิ่มมากขึ้น แต่ค่าจ้างแรงงานมิได้มีอัตราเพิ่มเหมือนราคาสินค้า (van Zanden, 1999) จะเห็นได้ว่าในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเต็มไปด้วยความตึงเครียด


บทเรียนจากทุนนิยม

           จักรวรรดินิยมของยุโรปและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการมองโลกในฐานะทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ ดังนั้นใครที่ครองโลกนี้ได้ก็เท่ากับสามารถครอบครองทรัพย์สินมหาศาล (Ingold, 1993) การขับเคลื่อนโลกด้วยระบบทุนนิยมตะวันตกยังทำให้เห็นกระบวนการเอารัดเอาเปรียบ การแสวงหาประโยชน์ การใช้อำนาจครอบงำและบงการ และการคำนวณทุกอย่างเป็นเงิน (Pickles, 2004) สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนพื้นที่ระบบนิเวศและภูมิประเทศของโลกให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการสะสมทุนและการบ่งชี้ถึงความมั่งคั่ง ธรรมชาติและทรัพยากรบนโลกจะเป็นวัตถุดิบราคาถูกที่มีไว้สำหรับการผลิตทางอุตสาหกรรม Malm (2016) กล่าวว่าตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา การปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการใช้น้ำมันในกระบวนการผลิตและการขนส่งอย่างมหาศาล ทำให้ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ล้างผลาญน้ำมันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หรือเรียกว่าเป็น fossil capital ในแง่นี้ ระบบทุนนิยมจึงเป็นระบบนิเวศของอำนาจที่เกี่ยวข้องกับทุนและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่ง Moore( 2003) เรียกว่า World-ecology ระบบนิเวศนี้คือความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างสังคมและธรรมชาติที่ทำให้เกิดการสร้างความรู้และวัฒนธรรมที่มนุษย์และธรรมชาติพัวพันกัน

           Eriksen (2020) กล่าวว่าตรรกะของระบบทุนนิยมซึ่งก่อตัวและเติบโตจากระบบคิดแบบสมัยใหม่ที่ยึดมั่นกับการค้นหาความจริงเชิงวัตถุและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยความรู้วิทยาศาสตร์เพื่อตอบสนองความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องตรวจสอบและค้นหาวิธีคิดใหม่ต่อการอยู่ในโลกร่วมกับสิ่งอื่น เป้าหมายเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจต้องรื้อแก้ไข Toscano (2008) กล่าวว่าในระบบทุนนิยมได้สถาปนาความจริงที่ว่ามนุษย์และปัจจัยการผลิตแยกออกจากกัน ทำให้นายทุนในฐานะเจ้าของการผลิตตัดขาดจากแรงงานที่ถูกทำให้เป็นเพียงปัจจัยการผลิตเท่านั้น นอกจากนั้น Moore(2017) อธิบายว่าระบบทุนนิยมทำให้พรมแดนของมนุษย์แยกออกจากพรมแดนธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่ภววิทยาแบบทวิลักษณ์ (dualist ontology) โดยมองธรรมชาติเป็นเพียงทรัพยากรที่ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ประเด็นสำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมมิใช่เป็นการทำให้มนุษย์มีอำนาจควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่จัดวางมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกับสิ่งอื่น ดังที่ Moore (2015) คิดว่ามนุษย์กับสิ่งต่าง ๆ ล้วนดำรงอยู่ในโครงข่ายของชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน (nterdependencies)


บรรณานุกรม

Blackburn, R. (1998). The making of New World slavery. London: Verso.

Eriksen, T.H. (2020). Capitalocene. In Marianne Krogh, (ed.), Connectedness: an incomplete encyclopedia of Anthropocene: Views, thoughts, considerations, insights, images, notes & remarks. København, Denmark:‎ Strandberg Publishing.

Haraway, D. (2008). When species meet. Minnesota: University of Minnesota Press.

Ingold, T. (1993). Globes and spheres. In K. Milton, (ed.), Environmentalism, (pp.31–42). New York: Routledge.

Malm, A. (2016). Fossil capital. London: Verso.

McBrien, J. (2016). Accumulating extinction. In J.W. Moore, (ed.), Anthropocene or Capitalocene? (pp.116–37). Oakland: PM Press.

McNeill, J.R. & Engelke, P. (2016). The Great Acceleration. Cambridge: Harvard University Press.

Moore, J.W. (2003). Capitalism as World-Ecology, Organization & Environment, 16(4), 431-458.

Moore, J.W. (2015). Capitalism in the Web of life. London: Verso.

Moore, J. W. (ed.). (2016). Anthropocene or Capitalocene? Nature, History, and the Crisis of Capitalism. Binghamton, NY: PM Press.

Moore, J.W. (2017) The Capitalocene, Part I: on the nature and origins of our ecological crisis. The Journal of Peasant Studies. http://dx.doi.org/10.1080/03066150.2016.1235036

Pickles, J. (2004). A history of spaces. New York: Routledge.

Pomeranz, K. (2000). The great divergence. Princeton: Princeton University Press.

Klein, N. (2015). This Changes Everything: Capitalism vs. The Climate. New York: Simon & Schuster.

Steffen, W., J. Grinevald, P. Crutzen, and J. McNeill. (2011). The Anthropocene: Conceptual and historical perspectives. Philosophical Transactions of the Royal Society, A 369: 842–67.

Toscano, G. (2008). The open secret of real abstraction. Rethinking Marxism, 20(2), 273–87.

Watts, M.J. (2005). Nature: culture. In P. Cloke, and R. Johnston, (eds.), Spaces of geographical thought, (pp.142–74). London: Sage.

van Zanden, J.L. (1999). Wages and the standard of living in Europe, 1500–1800. European Review of Economic History, 3(2), 175–97.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ภาพทัศน์ทุนนิยม Capitalocene ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share