สำรวจและทบทวนองค์ความรู้ว่าด้วยสถานภาพของคนไร้บ้าน

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 2150

สำรวจและทบทวนองค์ความรู้ว่าด้วยสถานภาพของคนไร้บ้าน

           กว่าทศวรรษที่ผ่านมาจำนวนคนไร้บ้าน (Homeless) ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากแต่จำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มสูงขึ้นนี้เองส่งผลให้เกิดการกระจัดกระจายและขยายตัวไปในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในเขตเมือง การดำเนินชีวิตดังกล่าวมีความหมายรวมไปถึงการกิน เดิน นั่ง หรือใช้เป็นสถานที่นอนในพื้นที่สาธารณะ กลุ่มคนไร้บ้านจัดเป็นสภาวะกลุ่มเปราะบางกลุ่มหนึ่งที่ต้องการความช่วยเหลือหรือสนับสนุนทั้งในมิติด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และอยู่อาศัย ซึ่งหากพิจารณาแล้วความต้องการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปดังที่ Maslow (1970: 2,35-37) ได้ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยดังกล่าวจัดเป็นความต้องการพื้นฐานทางกายภาพ หรือกล่าวอีกนัยคือ ปัจจัยพื้นฐานที่จะส่งผลให้ดำรงชีวิตอยู่ได้

ที่มา: มูลนิธิอิสรชน

           จากสถิติการสำรวจประชากรที่มีสถานภาพไร้บ้านในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา (2556-2562) ได้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนไร้บ้านได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกปี ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เป็นสภาพสังคมในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งก็ได้แสดงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากแต่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับการคาดการณ์ผ่านสถิติของประชากรในกลุ่มคนไร้บ้าน จะพบว่ามีแนวโน้มขยายตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ดังแผนภาพทางสถิติต่อไปนี้

การคาดการณ์จำนวนกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ที่มา: อ้างถึงใน (แนวหน้า, 2562: ออนไลน์)

           จากการสำรวจเชิงสถิติสะท้อนให้เห็นว่าประชากรในกลุ่มคนไร้บ้านมีอัตราเพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาและเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทั้งยังคงปรากฏแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ในแง่หนึ่งสถิติในข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นว่าสภาพปัญหาดังกล่าวซึ่งจะส่งผลพัฒนาต่อไปสู่ปัญหาอื่นนั้น กำลังมีอัตราเร่งในการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การระบุตัวอย่างของการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ายังมีทิศทางไม่ชัดเจน

           กล่าวคือสภาพปัญหาคนไร้บ้านที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วยังคงไม่ปรากฏความชัดเจนต่อแนวทางการแก้ไขหรือรับมือต่อปัญหาดังกล่าว

ที่มา: (บุญเลิศ วิเศษปรีชา และคณะ, 2563)

           จากสถิติเชิงเปรียบเทียบจำนวนกลุ่มคนไร้บ้านในข้างต้นจะเห็นได้ว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้นมีจำนวนกลุ่มคนไร้บ้านที่มีจำนวนมาก หากเปรียบเทียบกับในพื้นที่อื่นประกอบกับกรุงเทพมหานครมีสถานภาพเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการสำรวจของสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชน (2563: ออนไลน์) ที่ได้ดำเนินการสำรวจจำนวนกลุ่มคนไร้บ้าน โดยใช้วิธีเก็บข้อมูลในเขตเทศบาลขนาดเล็กและขนาดกลางในแต่ละจังหวัด รวมทั้งหมด 124 อำเภอ 77 จังหวัด ซึ่งการเก็บข้อมูลดังกล่าวพบว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะอาศัยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่พบกลุ่มคนไร้มากมากที่สุด (ประมาณร้อยละ 38) รองลงมา คือ นครราชสีมา (ร้อยละ 5) เชียงใหม่ (ร้อยละ 4) สงขลา (ร้อยละ 4) ชลบุรี (ร้อยละ 3) และขอนแก่น (ร้อยละ 3) อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลในข้างต้นพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครนั้นเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนกลุ่มคนไร้บ้านมากที่สุด


การจัดสวัสดิการพื้นฐานของคนไร้บ้าน

           สวัสดิการพื้นฐานนับเป็นทั้งแนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยส่งเสริมความต้องการของพลเมืองในการดำรงอยู่ของสังคม โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มคนเปราะบางที่มีความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่ ภายใต้บริบทสังคมสมัยใหม่ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผนวกกับการปรับเปลี่ยนบทบาททางการบริหารของภาครัฐ จึงทำให้รัฐมิได้ผูกขาดการสนับสนุนในสวัสดิการพื้นฐานให้กับพลเมืองในสังคมอีกต่อไป หากแต่ได้ปรากฏตัวแสดงจากภาคส่วนอื่นนอกรัฐที่ได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับสังคมและมีความสามารถที่จะสนับสนุนสวัสดิการด้านใดด้านหนึ่งให้กับพลเมืองในสังคมหรือในเฉพาะกลุ่มเปาะบาง จากที่กล่าวมาในข้างต้นจึงจำเป็นที่จะต้องกลับมาทบทวนรวมทั้งพิจารณาในสองประเด็น กล่าวคือ ความต้องการพื้นฐานที่จะถูกแปรเปลี่ยนมาสู่ในรูปของสวัสดิการ และความสามารถในการสนับสนุนสวัสดิการตามความต้องการในด้านต่าง ๆ ของเหล่าตัวแสดงที่เข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมไปถึงองค์กรพัฒนาสังคม ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

           เมื่อกล่าวถึงสวัสดิการพื้นฐานนั้นต้องกลับไปพิจารณาถึงความต้องการหรือปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ซึ่ง Maslow (1970: 2,35-37) ได้ชี้ให้เห็นว่าความต้องการพื้นฐานทางกายภาพนั้นจำเป็นต้องประกอบไปด้วยสิ่งใดบ้าง เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และอยู่อาศัย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและจะช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ต่อไป

           จากที่กล่าวในข้างต้นจะเห็นได้ว่าแนวคิดความต้องการพื้นฐานที่ถูกจัดว่ามีความสำคัญยิ่ง มีอิทธิพลอย่างมากต่อการนำมากำหนดเป็นแนวปฏิบัติและสวัสดิการพื้นฐานทางสังคม ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าเมื่อมีความพยายามเข้าไปสนับสนุนสวัสดิการให้กับกลุ่มคนไร้บ้านซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางหนึ่งทางสังคม โดยเลือกที่จะสนับสนุนหนึ่งในสี่ปัจจัยดังกล่าวในข้างต้น ซึ่งจะมีความครอบคลุมและเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต ทว่าภายใต้บริบทสังคมใหม่ส่งผลให้หน่วยงานรัฐหนึ่งๆ ไม่สามารถที่จะสนับสนุนหรือจัดสวัสดิการตามแนวคิดสวัสดิการพื้นฐานได้ครบทุกปัจจัย จึงปรากฏบทบาทของตัวแสดงอื่นนอกภาครัฐที่มีความสามารถและทรัพยากรเพียงพอที่จะสนับสนุนสวัสดิการพื้นฐานในด้านใดด้านหนึ่ง


กลไกและตัวแสดงในการจัดการปัญหาคนไร้บ้าน

การทำความเข้าใจถึงบทบาทและกลไกการขับเคลื่อนงานของแต่ละตัวแสดงที่มาจากหลากหลายภาคส่วนนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ในแบบร่วมมือของหลากหลายหน่วยงาน โดยในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครนั้นได้ปรากฏบทบาทของตัวแสดงที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น กรมคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือบทบาทของฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานคร และบทบาทขององค์กรพัฒนาสังคมโดยมูลนิธิต่าง ๆ ที่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ดังจะได้อธิบายต่อไป

           สำหรับฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบันได้มองเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มคนไร้บ้านและมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทำให้กรุงเทพมหานครได้เข้ามามีบทบาทการช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านโดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน เป็นผู้เสนอแนวทางและให้ดำเนินการตามภารกิจ 5 ด้าน ที่ต้องดำเนินการเพื่อจัดการปัญหาคนไร้บ้าน ประการแรก กทม. ต้องดูแลสิทธิคนไร้บ้านเท่าเทียมกับพลเมืองทุกคน และต้องส่งเสริมทัศนคติคนในสังคมให้มองคนไร้บ้านในเชิงบวก ประการที่ 2 กทม. มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลด้านที่อยู่อาศัย สาธารณสุข การจัดหาอาชีพ ฯลฯ ดังนั้น กทม. จะปฏิเสธหน้าที่ในการดูแลคนไร้บ้านไม่ได้ ประการที่ 3 กทม. ต้องแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านครบวงจรและแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยพิจารณาสาเหตุที่ทำให้ประชาชนบางกลุ่มตัดสินใจออกจากบ้าน ประการที่ 4 กทม. ต้องทำศูนย์คนไร้บ้านให้มีคุณภาพ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และรับฟังความต้องการที่แท้จริงของคนไร้บ้าน และประการสุดท้าย กทม. ต้องแก้ปัญหาอย่างฉับไว ไม่ปล่อยปละละเลยปัญหาจนบานปลายและยากเกินกว่าจะแก้ไขการ อีกทั้งยังมีนโยบายความมั่นคงของคนไร้บ้าน เช่น นโยบายเปิดบ้านอุ่นใจ ที่ปลอดภัยของคนไร้บ้าน โดยการให้คนไร้บ้านได้เข้ารับการบริการภายในศูนย์ฯ และพักอาศัยชั่วคราวเป็นหลักแหล่ง และการดำเนินการจะมีลักษณะการบริการที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นในรูปแบบการให้บริการเป็นรายการตามความสมัครใจ เช่น บริการห้องน้ำและห้องอาบน้ำ บริการตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษา การสนับสนุนมื้ออาหาร การพักค้างคืนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ตลอดจนการส่งต่อ ส่งกลับภูมิลำเนา หรือการช่วยหางานสร้างรายได้ การเข้ามามีบทบาทของกรุงเทพมหานครก็เพื่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านและจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านเชิงโครงสร้างในมิติต่าง ๆ และการรับรองกลุ่มคนไร้บ้านที่มีปัญหาเพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพ อนามัย การศึกษา และอื่นๆ ด้านสุขภาพอนามัย และด้านการศึกษา

           กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เข้ามามีบทบาทโดยการสนับสนุนด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่นการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง จำนวน 11 แห่ง ทั่วประเทศ โดยรับอุปการะคนไร้ที่พึ่ง 3 ประเภท คือ คนไร้บ้านที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง คนไร้ที่พึ่งที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และคนขอทาน โดยการจัดทำการฝึกอาชีพในสถานสงเคราะห์ เป็นการฝึกที่เสริมสร้างทักษะการทำงานให้ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ และการดำเนินการกับคนเร่ร่อนโดยจัดส่งนักสังคมสงเคราะห์ออกเยี่ยมเยียน สอบข้อเท็จจริงบุคคลเร่ร่อนจรจัด ตามแหล่งสาธารณะต่าง ๆ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม ซึ่งในแผนขับเคลื่อนการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2561-2565 (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, ม.ป.ป.) ได้ชี้ให้เห็นกระบวนงานและกลไกในการขับเคลื่อนต่อภารกิจดังกล่าวซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของหน่วยงานดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

           สำหรับตัวแสดงในรูปแบบองค์กรพัฒนาสังคมในกระบวนการจัดการปัญหาคนไร้บ้านนั้น สามารถที่จะยกตัวอย่างได้ เช่น มูลนิธิอิสรชน ซึ่งมีรูปแบบการทำงานในรูปของอาสาสมัครโดยมีเป้าหมายหลักคือการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยการทำงานกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ (คนไร้บ้าน ผู้ป่วยข้างถนน) ลักษณะการทำงานคือการเน้นลงพื้นที่เป็นหลักและผลักดันเชิงนโยบาย รวมไปถึงปฏิบัติการตรวจเชิงรุก เช่น การแจกอาหาร การแจกของใช้ที่จำเป็น การแจกเครื่องนุ่มห่ม และมีเจตนารมณ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้านซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางกลุ่มหนึ่งทางสังคม


องค์ความรู้ว่าด้วยคนไร้บ้าน

           งานศึกษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานครของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา (2560) ซึ่งได้ใช้วิธีการศึกษาในรูปแบบสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) ได้เข้าไปทำความเข้าใจการดำเนินชีวิตรวมไปถึงพยายามวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้คน ๆ หนึ่งต้องกลายสถานภาพมาเป็นคนไร้บ้าน ในงานศึกษาดังกล่าวนี้เองได้ชี้ชวนและนำเสนอโลกทัศน์ทางความคิดที่ว่าด้วยกลุ่มคนไร้บ้านก็เป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งไม่ได้มีความแตกต่างไปจากคนกลุ่มอื่นในสังคมแต่อย่างใด กล่าวคือ มีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกันไปเหมือนกับสังคมโดยทั่วไปทุกประการ หากแต่กลุ่มคนไร้บ้านมักจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมมากนัก หรือแม้แต่การเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ตามที่ปฏิบัติต่อพวกเขาในอีกรูปแบบที่แตกต่างไปจากคนโดยทั่วไป

           ฤทธิรงค์ จุฑาพฤติกร และคณะ (2558) ได้ทำการสำรวจความหมายของคำว่า “บ้าน” จากกลุ่มคนไร้บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะเสนอแนวทางในการจัดสรรที่อยู่อาศัยบนฐานความเหมาะสมกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้าน โดยงานศึกษาฉบับนี้ใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพโดยการสังเกต การสัมภาษณ์และการวาดภาพประกอบ การสัมภาษณ์ ซึ่งได้แบ่งคนไร้บ้านออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) คนไร้บ้านอิสระ เป็นกลุ่มคนที่ เร่ร่อนขาดที่พักพิงเนื่องจากกลุ่มนี้มีความเห็นคล้ายกันว่าพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่อิสระและปลอดภัยทาง ความรู้สึก 2) คนไร้บ้านที่กําลังจะมีบ้าน กลุ่มนี้จะมีความสะดวกสบายมากกว่าคนไร้บ้านอิสระเนื่องจากมีศูนย์ พักพิงให้อยู่อาศัยแต่ศูนย์พักพิงก็เป็นเพียงแค่ระยะผ่านของการตั้งหลักและเตรียมตัวที่จะออกไปสังคมจริง ๆ จึงสะท้อนให้เห็นถึงความหมายคําว่าบ้านคือ ชุมชนการวมกลุ่ม และความมุ่งหวัง

           แต่เดิมคนไร้บ้านถูกทำความเข้าใจและเรียกกันว่า คนเร่ร่อน คนจรจัด และคนด้อยโอกาส แต่หากทำความเข้าใจใหม่กลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่สังคมหรือภาครัฐละเลยในการแก้ปัญหา เพราะบ่อยครั้งสังคมก็มองว่าคนกลุ่มนี้ไร้ประโยชน์และจัดสรรให้พวกเขาไปอยู่อาศัยในสถานที่ห่างไกลความเจริญ จึงทำให้การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องยากซึ่งสาเหตุของการมาเป็นคนไรบ้านที่งานศึกษาดังกล่าวได้นำเสนอ คือ 1) ไม่มีอาชีพหรือการว่างงาน การเข้ามาในเมืองใหญ่ของแต่ละคนนั้นก็หวังจะได้อาชีพที่ดี สร้างรายได้แต่เมื่อ เกิดการแข่งขันสูงและการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการหางานจึงทำให้เป็นเรื่องที่ยาก 2) ปัญหาครอบครัว เกิดจากความรู้สึกกดดัน ไม่เป็นอิสระ ถูกทำร้ายและปัญหาสุขภาพจึงทำให้คิดว่าการออกมาใช้ชีวิตข้างนอกจะ สามารถช่วยให้หลีกหนีจากปัญหาเหล่านี้ได้

           งานศึกษาเรื่อง “การจัดสวัสดิการของรัฐให้กับคนไร้บ้าน: ศึกษาเปรียบเทียบพื้นที่เสาชิงช้ากับสถานีหัวลำโพง” ซึ่งได้ทำการศึกษาการจัดสวัสดิการให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน โดยในงานศึกษาชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดสวัสดิการของรัฐให้กับคนไร้บ้านและเพื่อศึกษาปัญหา และแนวทางการแก้ไขการจัดสวัสดิการของรัฐให้กับคนไร้บ้านรวมทั้งเพื่อเสนอแนะแนวทางการจัด สวัสดิการของรัฐให้กับคนไร้บ้าน โดยทำการศึกษาเชิงเปรียบเทียบพื้นที่เสาชิงช้าและพื้นที่สถานีหัวลำโพงโดยพบว่าสิ่งที่คนไร้บ้านต้องการคือสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย อาชีพ และการรักษาพยาบาล

           การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาโดยการลงไปสังเกตการณ์กับคนไร้บ้านและการสัมภาษณ์ โดยพบว่า ด้านที่อยู่อาศัยไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมเนื่องจากมีรายได้ต่ำ ทำให้ต้องหลับนอนในที่สาธารณะ ด้านสิทธิการรักษาพยาบาลเข้าไม่ถึงสิทธิในระบบประกันสุขภาพอันเกิดจากการขาดหลักฐานทางทะเบียน ด้านอาชีพอาชีพที่ไม่มั่นคงรายได้ต่ำหรือถูกได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม

           การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคนไร้บ้านที่เกิดขึ้นอย่างสำคัญอีกระลอกคือ ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งนำมาสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตบนพื้นที่สาธารณะไปตามบริบทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในงานศึกษาของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา (2565) ซึ่งได้ใช้การสังเกตการณ์ผ่านการแฝงตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มคนไร้บ้าน และใช้วิธีการสอบถามและแบบสอบถามตามความสมัครใจ เพื่อต้องการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งพบว่ากลุ่มคนไร้บ้านประเมินความเสี่ยงต่อไวรัสโควิด-19 ในระดับต่ำ โดยพวกเขามีความเชื่อว่าไวรัสโควิด-19 นั้นเป็นโรคไกลตัวสำหรับพวกเขา เนื่องจากคิดว่าพวกเขาแข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันต่อโรคสูง อีกทั้งพวกเขายังเชื่อว่าพวกเขาโดนสร้างระยะห่างทางสังคม (Social distancing) โดยไม่ตั้งใจจากการถูกกีดกันด้านปัจจัยพื้นฐานทางสังคม ทั้งนี้การไม่เว้นระยะห่างทางสังคมในการรับอาหาร จากคนที่มาบริจาคนั้น ไม่ใช่การไม่รักตัวเองโดยเอาตัวไปเสี่ยงแต่เป็นการที่รักตัวเองโดยไม่ให้ตัวเองอดตาย เพราะการไม่มีอาหารประทังชีวิตเป็นปัญหามากกว่ากลัวติดเชื้อไวรัสโควิด-19

           ประเด็นต่อมาที่งานศึกษานี้ชี้ให้เห็นคือ ความต้องการพื้นฐานของคนไร้บ้าน ซึ่งคนไร้บ้านไม่ได้ต้องการบ้าน เพราะมองว่าบ้านไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่มีบ้านก็หาที่สาธารณะนอนได้ ไม่มีข้าวก็ขอข้าวตามวัดหรือรอคนนํามาบริจาคให้ได้ เพียงแต่ต้องการเงินเพื่อประทังชีวิตและนําไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อ แต่หลายฝ่ายมักมองว่าพวกเขาต้องการบ้าน หากมีแต่ที่พักอาศัยให้แต่ขาดการจ้างงานและความอิสระคนไร้บ้านก็ไม่ต้องการ สิ่งที่คนไร้บ้านเรียกร้องไปกลับไม่ถูกตอบสนองจากรัฐบาล โดยรัฐบาลยื่นมือมาช่วยในสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ ทำให้ไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงทำให้เกิดเป็นช่องว่างระหว่างแนวทางการช่วยเหลือที่รัฐเตรียมให้กับความต้องการ ส่งผลให้ไม่เกิดความร่วมมือระหว่างกัน การแก้ไข้ปัญหาคนไร้บ้านเป็นสภาพปัญหาที่มีความหลากหลายในด้านความต้องการและเป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก


สรุป

           กลไกและตัวแสดงที่เข้ามาเกี่ยวข้องรวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับโลกของบรรดาคนไร้บ้านนั้นได้ทำให้เห็นว่ามีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิอาสาสมัครต่าง ๆ ตลอดจนปัจเจกบุคคลทั่วไป ซึ่งการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้นนี้เองก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยรับรู้ถึงการมีอยู่ของคนไร้บ้านที่ดำรงอยู่คู่กับสังคม ทว่า บทบาทของแต่ละภาคส่วนที่เข้ามาข้องเกี่ยวก็แตกต่างกันออกไปตามสถานภาพและข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร ทั้งนี้หากกล่าวถึงมิติขององค์ความรู้ว่าด้วยคนไร้บ้านในบรรณพิภพนั้นจะพบได้ว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจในทางมานุษยวิทยา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไร้บ้านในพื้นที่เมืองและพื้นที่ต่างจังหวัดก็มีความแตกต่างกัน และช่องว่างของความไม่เข้าใจและความไม่ลงรอยกันของโลกวิชาการและโลกของการปฏิบัติ กล่าวคือ ในขณะที่องค์ความรู้พยายามทำหน้าที่และเข้าไปทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนไร้บ้านซึ่งจัดเป็นคนกลุ่มเปราะบางของสังคม ในทางกลับกันกระแสความไม่เข้าใจสถานภาพของคนไร้บ้านก็ได้ก่อตัวขึ้นในสังคมเรื่อยมา จะเห็นได้จากอคติต่อคนไร้บ้านตลอดจนการกีดกันกลุ่มคนไร้บ้านออกไปจากสวัสดิการ เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง

Maslow, A. H. (1970). Motivation and Personality. New York : Harper and Row.

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ม.ป.ป.). แผนขับเคลื่อนการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2561-2565. กรุงเทพฯ: กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

บุญเลิศ วิเศษปรีชา. (2560). โลกของคนไร้บ้าน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน. ______. (2565). การรับรู้ความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไร้บ้านในสถานการณ์โควิด-19 และความ ความต้องการพื้นฐาน. ใน มานุษยวิทยา, 5(3), 209-251.

ฤทธิรงค์ จุฑาพฤติกร และคณะ. (2558). ความหมายของคำว่า “บ้าน” ของคนไร้บ้าน. ใน Veridian E-Journal, Silpakorn University, 8(1), 1450-1460.

สำนักพัฒนานวัตกรรม (2563). เผยผลสำรวจพบคนไร้บ้านทั่วประเทศ 2,719 ราย เสนอรัฐสนับสนุนสร้างบ้านกลางให้คนตกงาน-ผู้ป่วยมีที่อยู่อาศัย. สืบค้นจาก, https://web.codi.or.th/20200124-10190/


ผู้เขียน
ณัฐวีร์ พุ่มระชัฏร์
จักราวุฒิ ประสิทธิชัย
ภริมา เพ็งสว่าง


 

ป้ายกำกับ สำรวจ ทบทวนองค์ความรู้ คนไร้บ้าน ณัฐวีร์ พุ่มระชัฏร์ จักราวุฒิ ประสิทธิชัย ภริมา เพ็งสว่าง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share