ผู้ทำงานเร่ร่อนยุคดิจิทัล (Digital Nomad)
Digital Nomad เป็นใคร
คำว่า Digital Nomad หรือผู้ทำงานเร่ร่อนยุคดิจิทัล หมายถึง ผู้ที่เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสมัยใหม่แบบออนไลน์เพื่อทำงานและติดต่อสื่อสารกับคนอื่น ๆ ผ่านแล็ปท็อป โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศหรือสถานที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง กลุ่มคนประเภทนี้จึงมีอิสระและสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปได้เรื่อย ๆ พวกเขาทำงานจากที่ไหนก็ได้ถ้าที่แห่งนั้นมีสัญญาณอินเตอร์เน็ต และมีรายได้จากการทำงานที่ต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้จะต่างไปจากชาวต่างชาติที่บริษัทส่งมาทำงานในประเทศอื่นซึ่งยังคงทำงานติดที่ ไม่สามารถมีเวลาว่างเพียงพอสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว Hannonen (2021) กล่าวว่าช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา มนุษย์พยายามแสวหาทางเลือกและสร้างชีวิตในแบบอิสระที่ต่างไปจากเดิม โดยเฉพะการออกเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากบ้านเกิดเพื่อค้นหาสิ่งที่น่าตื่นเต้นและให้ประสบการณ์ประทับใจ กระแสการออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ เป็นที่นิยมของชาวตะวันตกที่มีรายได้เพียงพอต่อการจับจ่ายเพื่อการเดินทาง รูปแบบการเดินทางมีหลากหลายทั้งการท่องเที่ยวไปพักตากอากาศที่เป็นบ้านหลังที่สอง (second-home tourism) (Hannonen, 2018) การย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาล (seasonal and lifestyle migration) การท่องเที่ยวแบบแบกเป้ผจญภัย หรือการเปลี่ยนสถานที่เพื่อผักผ่อนเป็นเวลานาน (residential tourism) (Paris, 2011; 2012)
การเคลื่อนที่ของคนยังสัมพันธ์กับโลกาภิวัตน์ ความก้าวหน้าและรวดเร็วของการคมนาคม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ การยืดหยุ่นของการทำงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลก (O’Reilly & Benson, 2009) เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้เกิดปรากฎการณ์ของการเคลื่อนที่ข้ามพรมแดนขยายตัวไปทั่วโลก (global nomadism) (D’Andrea, 2007) ซึ่งเป็นภาพการเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตและสังคม เมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารออนไลน์ อินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์ดิจิทัลช่วยทำให้มนุษย์ติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว มนุษย์จึงไม่จำเป็นต้องอยู่อาศัยแบบติดที่ และสามารถเลือกชีวิตที่เป็นอิสระซึ่งมีการเดินทางท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง (mobile lifestyles) (Urry, 2007) อย่างไรก็ตาม คนที่ชอบเดินทางเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ แตกต่างไปจากการอพยพแรงงานและการท่องเที่ยว (Cohen et. al., 2015) เนื่องจากกลุ่มคนเดินทางไปเรื่อยพร้อมกับทำงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล คนเหล่านี้ไม่มีที่ทำงานถาวรและไม่มีบ้านที่ชัดเจน พวกเขาเปลี่ยนที่พักไปตามความพอใจ ซึ่งท้าทายนิยามของการทำงานและการอยู่อาศัยแบบเดิม
การศึกษา Digital Nomad
ในปี ค.ศ. 1997 หนังสือเรื่อง Digital Nomad ของ Makimoto & Manners เป็นจุดเริ่มต้นของการอธิบายชีวิตของคนที่เดินทางย้ายที่พักไปเรื่อย ๆ โดยที่คนเหล่านั้นอาศัยคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คและแล็ปท็อปเพื่อทำงานและสื่อสารกับคนอื่น ซึ่งทำให้มีอิสระในการใช้ชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ติดที่ อย่างไรก็ตาม คนที่จะมีชีวิตแบบนี้จะต้องมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การศึกษาที่อธิบายชีวิตของคนที่เป็น Digital Nomad จะสนใจการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของการทำงาน และลักษณะการเดินทางเคลื่อนย้ายที่หลากหลาย (Thompson, 2019) กระบวนทัศน์ที่ใช้ศึกษา Digital Nomad แบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ หนึ่ง ศึกษาด้วยกรอบคิดเรื่อง work life perspective คำอธิบายแนวนี้จะชี้ให้เห็นว่าชีวิตการทำงานของคนยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้เวลาว่างและเวลาทำงานมิได้แยกขาดจากกันแบบคู่ตรงข้าม ในการศึกษาของ Müller (2016) พบว่าคนรุ่นใหม่นิยมทำงานอิสระไม่สังกัดองค์กรใด (self-employed worker) คนเหล่านี้ต้องการทำงานด้วยตัวเองโดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ รูปแบบการทำงานจึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ย้ายที่ทำงานไปตามร้านกาแฟ ร้านอาหาร และร้านที่บริการพื้นที่ทำงานร่วมของคนหลายคน (co-working space) (Orel, 2019; Thompson, 2018) อย่างไรก็ตาม Digital Nomad ยังต่างไปจากคนที่มีอาชีพอิสระ (freelancer) ซึ่งไม่มีการเดินทางย้ายที่ไปเรื่อย ๆ แต่ยังคงรับจ้างทำงานอยู่ที่บ้าน รวมถึงคนที่เป็นลูกจ้างอิสระที่ทำงานตามโอกาสที่มีคนจ้าง โดยที่พวกเขายังอาศัยอยู่ในบ้านของตนเอง (Manyika et al., 2016)
แนวทางที่สอง ศึกษาด้วยกรอบคิดเรื่อง lifestyle โดยอธิบายรูปแบบการใช้ชีวิตของคนที่ต้องการเป็นอิสระและไม่ผูกมัดกับกฎเกณฑ์แบบเก่า รวมทั้งการชี้ให้เห็นว่าชีวิตที่เคลื่อนที่ตลอดเวลาสะท้อนสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การศึกษา Wang et. al. (2018) ชี้ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัลใช้เวลาทำงานร่วมกับการเดินทางท่องเที่ยว หรือเรียกว่า “เที่ยวไปทำงานไป” พวกเขาสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ทำให้เกิดการผลิตผลงานต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะการส่งงานแบบดิจิทัล คนกลุ่มนี้คิดว่าการเดินทางคือที่สำคัญ พวกเขาสามารถเลือกสถานที่ได้ตามความพอใจและอาศัยอยู่ที่นั่นในระยเวลาที่เลือกได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดกฎเกณฑ์ที่ตายตัว การแสวงหาประสบการณ์ท่องเที่ยวข้ามประเทศจึงเป็นคุณลักษณะสำคัญของ Digital Nomad (Thompson, 2018)
รายงานของ The State of Independence in America ระบุว่าในปี ค.ศ. 2019 มีกลุ่มคนในสหรัฐอเมริกาที่นิยามตัวเองเป็น Digital Nomad ประมาณ 7 ล้าน 3 แสนคน และยังคาดการณ์ว่าคนจำนวน 16 ล้านคน ต้องการที่จะมีชีวิตแบบ Digital Nomad อย่างไรก็ตาม ความหมายของการเป็นคนเดินทางเร่ร่อนและเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อย ๆ ไม่มีนิยามที่ตายตัว (Jacobs & Gussekloo, 2016) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และวิธีคิดของคนแต่ละคน ในเชิงวิชาการ นักวิชาการจึงให้ความหมายของ Digital Nomad แบบกว้าง ๆ ซึ่งอาจหมายถึงคนรุ่นใหม่ที่ชอบการเดินทางท่องเที่ยว คนที่ทำงานด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ รวมถึงคนที่มีอาชีพอิสระ ความหมายเหล่านี้คือการเชื่อมกันระหว่างการเดินทาง การใช้เวลาว่างและการทำงาน (Orel, 2019; Richars, 2015) ในการศึกษาของ Toussaint (2009) แบ่งประเภทของ Digital Nomad เป็น 3 ลักษณะ คือ (1) นักท่องเที่ยวที่เดินทางต่อเนื่องและใช้จ่ายอย่างประหยัด (2) คนทำงานอิสระที่ชอบเดินทางและใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำงาน และ (3) นักธุรกิจที่ชอบเดินทางเพื่อพบปะกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ซึ่งเลือกใช้ชีวิตแบบสะดวกสบายในโรงแรมที่ทันสมัยและมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
Richards (2015) อธิบายว่ากลุ่มคนที่เดินทางเคลื่อนที่ไปในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นได้ทั้งนักเดินทางแบบประหยัด นักท่องเที่ยวที่นิยมใช้อุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ และนักท่องเที่ยวที่ชอบความสะดวกสบาย ตัวอย่างเช่น คนที่มีช่องทางสื่อสารใน Youtube จะบันทึกวีดิโอและถ่ายภาพในขณะที่ตนเองเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และตัดต่อให้เป็นเรื่องราว นำไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ บางครั้งคนกลุ่มนี้ถูกนิยามว่าเป็น Flashpackers หรือ นักเดินทางที่สร้างเรื่องราวประทับใจโดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ แต่พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำงานในขณะพักผ่อนและเดินทาง ต่างจากคนที่เป็น Digital Nomad ที่ต้องทำงานไปพร้อมกับการเดินทาง ปัจจุบัน คนจำนวนมากเดินทางเคลื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้ควาหมายของ Digital Nomad ทับซ้อนกับการเป็นนักเดินทางและผู้ที่ชอบการท่องเที่ยวซึ่งในแต่ละปีพวกเขาใช้เวลาเดินทางนานเกือบ 60 วัน (Richards, 2015) แต่ประเด็นที่ทำให้ Digital Nomad ไม่เหมือนกับนักเดินทางก็คือจะต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่องานในทักษะและความเชี่ยวชาญที่ตนเองมี โดยที่พวกเขามิได้เดินทางเพื่อแสวงหาความสำราญ แต่ยังต้องสร้างผลงานที่มีคุณภาพเพื่อที่จะมีรายได้ตอบแทนที่เพียงพอ
ในบางกรณี ผู้ที่เป็น Digital Nomad อาจเป็นกลุ่มคนที่ทำงานโดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่เพื่อติดต่อกับคนอื่น ซึ่งถูกนิยามเป็น Telecommuting (Golden & Gajendran, 2019) ซึ่งคนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ พวกเขาสามารถติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานผ่านอินเตอร์เน็ตจากที่ใดก็ได้ ในแง่นี้ Telecommuting จึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแบบ Digital Nomad ในการศึกษาของ Thompson (2018ม 2019) ชี้ให้เห็นว่าคนที่ทำงานที่บ้านโดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ คือคนที่พยายามรักษาสมดุลระหว่างชีวิตงานกับชีวิตครอบครัว ในขณะที่ กลุ่มคน Digital Nomad ซึ่งเดินทางเร่ร่อนไปตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นผู้ที่พยายามรักษาสมดุลระหว่างการใช้เวลาว่างกับการทำงาน ทำให้เกิดรูปแบบวิถีชีวิตที่เรียกว่า location-independent lifestyle หรือชีวิตที่เป็นอิสระทางพื้นที่ (Hannonen, 2021) ในขณะที่ Kong et al. (2019) อธิบายว่าการมีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการทำงานแบบติดที่ คนเหล่านี้สามารถติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน นายจ้าง หรือลูกค้าของพวกเขาในเวลาไหนก็ได้ ทำให้พวกเขามีอิสระที่จะเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในขณะที่กลุ่มอาชีพอิสระ (Freelancer) อาจไม่มีชีวิตแบบนี้ การศึกษาของ Mouratidis (2018) พบว่ากลุ่มคนทำงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่ต้องเดินทางไปติดต่อกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน คนเหล่านี้อาจมิใช่ Digital Nomad เพราะพวกเขาไม่สามารถเลือกสถานที่ได้ตามต้องการ แต่ต้องเดินทางไปตามแหล่งที่มีลูกค้าและคนที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
ชีวิตอิสระและอยู่นอกกรอบ จริงหรือ
Cohen (2010) กล่าวว่าผู้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ คือผู้ที่แสวงหาสิ่งที่ต่างไปจากบ้านเกิดและความซ้ำซากจำเจที่พบในชีวิตประจำวัน ทำให้นักเดินทางพบเห็นและมีประสบการณ์ในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย คนกลุ่มนี้มักจะเป็นคนที่อาศัยอยู่ในโลกตะวันตกที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี รวมถึงคนจากประเทศเอเชียที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ กลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีสามารถเลือกเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ ทำให้พวกเขาคือนักเดินทางยุคใหม่ (neo-nomads) สถานที่ที่พวกเขานิยมเดินทางไปพักผ่อนและทำงานมักจะเป็นที่ที่มีวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงามแปลกตาและมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอในการทำงานและติดต่อสื่อสาร (Kannisto, 2014) ในการศึกษาของ Naz (2017) พบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีฐานะดีที่ชอบการเดินทางเป็นชนชั้นกลางที่รักอิสระและไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ บางครั้งเรียกว่า global nomads หรือผู้เร่ร่อนข้ามโลก คนกลุ่มนี้มีงานประจำที่มีรายได้ดี และจะสะสมเงินไว้มากพอเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงให้ความสำคัญกับครอบครัว ทั้งนี้ พวกเขาอาจไม่ได้ทำงานในขณะท่องเที่ยว ทำให้ต่างไปจากลุ่มที่เป็น digital nomad (Kannisto, 2014)
การศึกษาของ Nash et al (2018) พบว่าปัจจุบัน กลุ่ม digital nomad เลือกเดินทางไปในเมืองใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลและมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม พร้อมกับสถานบันเทิงยามค่ำคืน โดยเฉพาะเมืองที่มีพื้นที่ co-working spaces และสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่แรงพอต่อการสื่อสาร กลุ่มคนเหล่านี้นิยมใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ (minimalist lifestyles) ไม่รีบร้อนในการทำสิ่งต่าง ๆ เนื่องจากพวกเขาเดินทางบ่อย ทำให้ไม่จำเป็นต้องสะสมวัตถุสิ่งของจำนวนมาก ยกเว้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต โดยเฉพาะแล็ปท็อปและอุปกรณ์สื่อสารแบบดิจิทัล อุปกรณ์เหล่านี้เปรียบเป็นตัวตนและชีวิตที่ทำให้ digital nomad ใช้ชีวิตอย่างอิสระและไม่ผูกติดกับเงื่อนไขของเวลาและสถานที่ (Jacobs & Gussekloo, 2016)
D’Andrea (2016) กล่าวว่าการมีชีวิตอิสระคือการหลีกหนีไปจากกฎระเบียบและ บรรทัดฐานของสังคม ทำให้กลุ่มคน digital nomad ดูเหมือนเป็นคนที่ท้าทายสังคมและสามารถสร้างแบบแผนชีวิตที่ต่างไปจากคนส่วนใหญ่ พวกเขาไม่ยึดติดกับจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมแบบชาตินิยม ไม่แสวงหารากเหง้าและแก่นแท้ทางอัตลักษณ์ แต่เลือกที่จะใช้ชีวิตตามความรู้สึกและความปรารถนา พวกเขามีสังคมที่ผู้คนใช้ชีวิตในแบบเดียวกัน ไม่ว่าเขาจะเดินทางไปที่ไหน ถ้าพบเจอคนที่มีชีวิตและความคิดเหมือนกัน (like-minded people) พวกเขาก็จะมีเพื่อนคุย เป็นการสร้างความสัมพันธ์บนฐานของวิถีชีวิต (lifestyle-based bonding) ความเป็นชาติและเชื้อชาติจึงมิใช่สิ่งสำคัญของคนกลุ่มนี้ (Makimoto & Manners, 1997) ปัจจุบันสถานที่ที่กลุ่มคน digital nomad มักจะเดินทางมาพักผ่อนและทำงาน เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ บาหลี และฮานอย สถานที่เหล่านี้ล้วนมีสิ่งอำนวยความสะดวก ราคาที่พักไม่แพง อาหารอร่อยและมีกิจกรรมให้ทำหลากหลาย สังคมและชุมชนของ digital nomad จึงไม่มีพรมแดนที่ตายตัว อย่างไรก็ตาม Kannisto (2014) อธิบายว่ากลุ่ม digital nomad มิได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนท้องถิ่นและผู้คนที่อยู่ในสถานที่เหล่านั้น แต่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับคนที่เดินทางมาจากที่อื่นที่มีไลฟ์สไตล์เดียวกัน
กระบวนทัศน์ที่ใช้ศึกษา digital nomad มีความแตกต่างกันทั้งการอธิบายด้วยแนวคิดเรื่องเวลาว่าง การท่องเที่ยว การทำงานที่เป็นอิสระ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และแบบแผนของการใช้ชีวิต (Müller, 2016; Orel, 2019; Putra & Agirachman, 2016; Wang et al., 2018) แนวคิดเหล่านี้จะให้ความสนใจกับความแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้คนReichenberger (2018) อธิบายว่าผู้ที่เป็นนักเดินทางเร่ร่อนยุคดิจิทัลกำลังทำให้ความสนุกสนานของชีวิตเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานที่สร้างรายได้และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ Premji (2017) ตั้งข้อสังเกตว่าในยุคที่เศรษฐกิจผันผวนและการลดการจ้างงานประจำ ส่งผลให้คนจำนวนมากเสี่ยงต่อการตกงาน ทำให้เกิดวิธีการทำงานแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกจ้างประจำขององค์กร แต่รับงานไปทำเป็นชิ้นตามเงื่อนไขและเวลาที่กำหนด ทำให้เกิดกลุ่มคน digital nomad นอกจากนั้น ยังมีการอธิบายว่าการทำงานของ digital nomad มิได้เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานที่ตายตัว (Thompson, 2018)
Wang et al. (2018) อธิบายให้เห็นว่าวัฒนธรรมของกลุ่มคน digital nomad ถูกสร้างขึ้นด้วยสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยี คนเหล่านี้จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต อุปกรณ์สื่อสารแบบดิจิทัล ทำให้เกิดงานและสังคมที่ดำเนินไปบนโลกออนไลน์เป็นสำคัญ การขยายตัวของกลุ่ม digital nomad ยังทำให้องค์กรธุรกิจและหน่วยงานรัฐเห็นความสำคัญและมองคนกลุ่มนี้เป็นผู้บริโภคที่มีศักยภาพ ซึ่งนำไปสู่การลงทุนสร้างที่พัก สถานที่ทำงานแบบ co-working space รวมถึงธุรกิจบันเทิง ร้านอาหาร ฟิตเนส และร้านกาแฟที่ใช้รองรับการเข้ามาทำงานของกลุ่ม digital nomad หน่วยงานรัฐยังส่งเสริมให้มีการทำวีซ่าสำหรับนักเดินทางแบบ digital nomad เพื่อดึงดูดให้นักเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยและใช้จ่ายเงินในประเทศ Cohen et al (2015) อธิบายว่าชีวิตของ digital nomad คือการเคลื่อนที่ (lifestyle mobility) โดยพวกเขาจะแสวงหาสถานที่ใหม่ ๆ เพื่อเดินทางต่อไป ซึ่งสถานที่ใหม่ที่พวกเขาไปถึงจะเปรียบเสมือนบ้านหลังใหม่ พวกเขาจะพำนักอาศัยอยู่ชั่วคราวและย้ายไปอยู่ที่ใหม่ พวกเขาจึงมีบ้านหลังใหม่อย่างต่อเนื่อง อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดเรื่องบ้านของ digital nomad ไม่เหมือนกับคนที่ต้องการอยู่บ้านที่ถาวรตั้งแต่เกิดจนตาย วิธีคิดเรื่อง “กลับบ้านเดิม” จึงมิใช่สิ่งสำคัญของ digital nomad
นอกจากนั้น Cohen et al (2015) ยังอธิบายว่าภายใต้ระบอบของการเคลื่อนที่ (mobility regimes) กลุ่มคนที่เป็น digital nomad ต้องพึ่งพาอาศัยการอนุญาตให้เข้าประเทศ การทำวีซ่าเพื่อพักอาศัยในประเทศต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องใหญ่ ในแง่นี้ การไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศก็อาจหมายถึงการสิ้นสุดและหยุดชะงักการเคลื่อนที่ของ digital nomad ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับระบอบอำนาจที่นักเดินทางไม่สามารถควบคุมได้ เพราะพวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ที่พวกเขาเลือกไปอยู่อาศัย เมื่อพิจารณาจากบริบททางการเมืองจะทำให้เห็นว่ากลุ่ม digital nomad อาจเป็นทั้งผู้บริโภคที่สร้างรายได้ให้กับรัฐ ขณะเดียวกันก็อาจเป็นภัยที่ทำให้รัฐพบกับความเสี่ยง เช่น การที่ digital nomad ทำผิดกฎหมายและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในประเทศนั้น ดังนั้น ความเข้าใจเรื่องชีวิตอิสระของ digital nomad อาจต้องทบทวนใหม่ภายใต้ระบอบอำนาจที่รัฐยังคงควบคุมการใช้ชีวิตของพลเมือง (Hannonen, 2016) รวมถึงการศึกษาชีวิตประจำวันของ digital nomad ที่อาจเผชิญกับความยุ่งยากในการอยู่ในสังคมที่แตกต่างหลากหลายและมิใช่สิ่งที่สวยงามเหมือนอุดมคติของการท่องเที่ยว (Cohen et al., 2015)
Nash et al (2018) กล่าวว่าสภาวะของการเร่ร่อน (Nomadicity) คือสภาพที่ปรากฎของกลุ่มคนที่ทำงานย้ายที่ไปเรื่อย ๆ สภาวะดังกล่าวคือภาพสะท้อนของสังคมยุคหลังอุตสาหกรรมที่มีการปรับเปลี่ยนวิธีกระจายทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ซึ่งต้นทุนของการทำงานมิได้มาจากนายจ้าง แต่เกิดขึ้นจากการลงทุนของลูกจ้างที่ต้องแสวงหาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำงานแลผลิตงานได้ตามความต้องการของตลาด ในแง่นี้ สภาวะของการเร่ร่อนของ digital nomad จึงเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความอันตราย (precariousness of employment) เมื่อพวกเขาไม่สามารถลงทุนเพื่อสร้างปัจจัยการผลิตได้ด้วยตนเอง พวกเขาก็จะไม่มีงานและไม่มีรายได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจชีวิตของ digital nomad จึงมิอาจมองเพียงความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่และเสรีภาพในการใช้ชีวิตตามที่ปรารถนา หากแต่ควรมองเห็นระบอบอำนาจที่ยังคงเคลื่อนตัวไปกับ digital nomad ที่ซ่อนเร้นอยู่ในกฎระเบียบของรัฐและความไม่ลงรอยระหว่างวัฒนธรรม
เอกสารอ้างอิง
Cohen, S. (2010)’ Re-conceptualising lifestyle travellers: contemporary ‘drifters’. In: Hannam, K. and Diekmann A (eds) Beyond backpacker tourism: mobilities and experiences. (pp 64–84) Channel View Publications.
Cohen, S.A., Duncan, T. & Thulemark, M. (2015). Lifestyle mobilities: the crossroads of travel, leisure and migration. Mobilities, 10(1), 155–172.
D’Andrea, A. (2007). Global nomads: techno and new age as transnational countercultures in Ibiza and Goa. London: Routledge.
D’Andrea, A. (2016). Neo-nomadism: a theory of post-identitarian mobility in the global age. Mobilities, 1(1), 95–119.
Golden, T.D, & Gajendran, R.S. (2019). Unpacking the role of a telecommuter’s job in their performance: examining job complexity, problem solving, interdependence, and social support. The Journal of Business and Psychology, 34, 55–69.
Hannonen, O. (2016). Peace and quiet beyond the border: the trans-border mobility of Russian second home owners in Finland. Doctoral Dissertation. Juvenes Print, Tampere.
Hannonen, O. (2018). Second home owners as tourism trend-setters: a case of residential tourists in Gran Canaria. J Spat Organ Dyn. 6(2), 345–359.
Hannonen, O. (2021). In search of a digital nomad: defining the phenomenon. Information Technology & Tourism, 22(2). DOI:10.1007/s40558-020-00177-z
Jacobs, E., & Gussekloo, A. (2016) Digital nomads: how to live, work and play around the world. Self-published. http://www.digitalnomadbook.Com
Kannisto, P. (2014). Global Nomads: Challenges of Mobility in the Sedentary World. Tilburg: Tilburg University Press.
Korpela, M. (2020). Searching for a countercultural life abroad: neo-nomadism, lifestyle mobility or bohemian lifestyle migration? Journal of Ethnic and Migration Studies, 46(15), 3352-3369.
Kong, D., Schlagwein, D., & Cecez-Kecmanovic. (2019) Issues in digital nomad-corporate work: an institutional theory perspective. In: Proceedings of the 27th European conference on information systems (ECIS), Stockholm and Uppsala, June 8–14, 2019.
Makimoto, T. & Manners, D. (1997). Digital nomad. Chichester: Wiley.
Manyika, J., et. Al. (2016) Independent work: choice, necessity and the gig economy. McKinsey Global Institute Report. http://www.mckinsey.com/mgi/our-research/labormarkets
Mouratidis, G. (2018). Digital Nomadism: Travel, Remote Work and Alternative Lifestyles. Lund: Lund University Press.
Müller, A. (2016). The digital nomad: buzzword or research category? Transnational Social Review, 6(3), 344–348.
Nash. C, Hossein-Jarrahi, M., Sutherland, W., & Phillips, G. (2018). Digital Nomads beyond the buzzword: defining digital nomadic work and use of digital technologies. In: Chowdhury
G, McLeod, J., Gillet, V., Willet, P. (eds) Transforming digital worlds. (pp 207–217) Berlin: Springer.
Naz, A. (2017). Interactive living space for neo-nomads: an anticipatory approach. Doctoral Dissertation. The University of Texas at Dallas.
O’Reilly, K. & Benson, M. (2009). Lifestyle migration: escaping to the good life? In: Benson, M. & O’Reilly, K. (eds.) Lifestyle migrations: expectations, aspirations and experiences. (pp 1–13). Surrey: Ashgate.
Orel, M. (2019). Coworking environments and digital nomadism: balancing work and leisure whilst on the move. World Leisure Journal, 61(3), 215–227.
Paris, C. (2011). Affluence, mobility and second home ownership. Abingdon: Routledge.
Paris, C. (2012). Flashpackers: an emerging sub-culture? Ann Tour Res, 39(2), 1094–1115.
Premji, S. (2017). Precarious employment and difficult daily commutes. Industrial Relations, 72(1), 77–96.
Putra, G.B & Agirachman, F.A. (2016). Urban coworking space: creative tourism in digital nomads perspective. Conference Paper: Arte-Polis 6 International Conference 4–6.8.2016, Bandung.
Reichenberger, I. (2018). Digital nomads—a quest for holistic freedom in work and leisure. Annals of Leisure Research, 21(3), 364–380.
Richards, G. (2015). The new global nomads: youth travel in a globalizing world. Tourism Recreation Research, 40(3), 340–352.
Thompson, B.Y. (2018). Digital nomads: employment in the online gig economy. Glocalism. Journal of Culture, Politics and Innovation, 1–26
Thompson, B.Y. (2019). The digital nomad lifestyle: (remote) work/leisure balance, privilege, and constructed community. International Journal of the Sociology of Leisure, 2, 27–42.
Toussaint, J.F. (2009). Home(L)essentials: the thin line between local and global identities. http://resolver.tudelft.nl/ uuid:6c123ae1-97e6-4bd6-9b4e-d15673be1672
Urry, J. (2007). Mobilities. London: SAGE.
Wang, B, et.al. (2018). Digital work and high-tech wanderers: three theoretical framings and a research agenda for digital nomadism. Australian conference on information systems. http://www.acis2018.org/wp-content/uploads/2018/11/ACIS2018_paper_127.pdf
ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ งานเร่ร่อน ยุคดิจิทัล Digital Nomad ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ