ปฏิบัติการของความสวย (Practices of Beautification)
มุมมองจากสตรีนิยม
ความงามเป็นเรื่องสากลที่กำลังมีบทบาทต่อการให้คุณค่าของการมีชีวิต (Liebelt, 2022) ในเชิงเศรษฐกิจ ธุรกิจและอุตสาหกรรมความงามมีมูลค่ามหาศาล เห็นได้จากการเติบโตของผลิตภัณฑ์ความงามหลายชนิดทั้งครีมบำรุงผิวพรรณ ครีมลบริ้วรอยบนใบหน้า เครื่องสำอาง ยาบำรุง เทคโนโลยีที่ชะลอความแก่ชรา และคลินิกเสริมความงาม ในปี พ.ศ. 2566 คาดว่าธุรกิจความงามทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 2.16 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.14 ล้านล้านบาท (Marketeer Team, 2022) ธุรกิจเหล่านี้คือหลักฐานที่บ่งบอกว่าความสวยและความงามแห่งเรือนร่างต้องมีค่าใช้จ่าย ความสวยมิได้มาโดยธรรมชาติหรือได้มาอย่างฟรี ๆ สิ่งนี้ได้รับการถกเถียงในหมู่นักวิชาการสายสตรีนิยม โดยเริ่มต้นจากการตรวจสอบกระบวนการทำให้ร่างกายของเพศหญิงกลายเป็นวัตถุ (objectification of the female body) ใต้บรรทัดฐานของผู้ชาย ความสวยของผู้หญิงจึงมิได้ติดตัวมาตามธรรมชาติแต่ถูกสร้างขึ้นและให้คุณค่าตามมาตรฐานแบบผู้ชายในสังคมบริโภค นอกจากนั้นความสวยยังเป็นการให้คุณค่าจากการตัดสินของคนอื่น (Young, 1980) นักสตรีนิยมยังคิดว่าผู้หญิงที่ถูกสอนให้ยึดความสวยเป็นเป้าหมายจะกลายเป็นผู้ที่ถูกตรวจสอบจากสังคมว่าเรือนร่างของพวกเธอจะงดงามหรือน่าเกลียด ความสวยจึงกลายเป็นเครื่องตรวจวัดการยอมรับทางสังคม ทำให้ผู้หญิงต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อที่จะไม่ทำให้ใครดูหมิ่นว่าไม่สวย (Bartky 1988)
Wolf (1990) เคยอธิบายว่าความสวยเป็นคติความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้ผู้หญิงประเมินตนเองว่ามีค่ามากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ มายาคติเรื่องความสวยความงามแห่งเรือนร่าง เป็นการกดทับทำให้ผู้หญิงติดอยู่ในกับดักของการแสวงหาดิ้นรนเพื่อไปให้ถึงความสมบูรณ์แบบทางร่างกาย ซึ่งการดิ้นรนนี้ต้องแลกกับความทุข์และความเจ็บปวดระหว่างทางที่ต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ความงามและแฟชั่นมาปรุงแต่งเรือนร่าง ในความคิดของ Wolf (1990) มองว่า “ความสวย” ในสังคมปัจจุบันคือบรรทัดฐานที่ผู้หญิงไขว่คว้า เพราะความสวยทำให้ประสบการณ์สำเร็จในทางเศรษฐกิจ มีเกียรติ และสังคมยกย่อง ช่วงทศวรรษ 2000 Davis (2003) อธิบายว่านักสตรีนิยมอย่าง Wolf มองธุรกิจความสวยเป็นการกดขี่ผู้หญิงและทำให้ผู้หญิงกลายเป็นเหยื่อของผู้ชาย ทั้ง ๆ ที่ความสวยเป็นเรื่องของการแสดงตัวตน (self-expression) เป็นวิธีการที่ผู้หญิงสามารถดูแลร่างกายของตัวเองได้ (self-care) สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่าผู้หญิงพยายามใช้ความสวยเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ทางเพศ หากมองความสวยในฐานะเป็นสุนทรียะของการมีชีวิตก็อาจเข้าใจได้ว่าความสวยอาจเป็นกลไกที่ผู้หญิงใช้เพื่อท้าทายอำนาจของผู้ชาย (Coleman & Figueroa, 2010)
มุมมองทางมานุษยวิทยา
การศึกษาทางมานุษยวิทยา มีคำอธิบายที่ต่างไปจากนักสตรีนิยมที่กล่าวมาข้างต้น โดยพยายามศึกษาความงามของผู้หญิงภายใต้บริบทและเงื่อนไขที่หลากหลายที่ทำให้ผู้หญิงสร้างความงามของร่างกายเพื่อสถานะและอัตลักษณ์บางอย่าง เช่นการศึกษาของ Hansen (2004) สนใจปฏิบัติการทางร่างกายเมื่อเสื้อผ้าถูกใช้เพื่อบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ ตัวตน และความเป็นวัตถุ การแต่งกายในฐานะปฏิบัติการทางสังคมและการซื้อเสื้อผ้าคือกระบวนการสร้างความหมายให้กับตัวตน การแต่งกายให้สวยงามเป็นกระบวนการที่ไม่หยุดนิ่ง และวางอยู่บนปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับเสื้อผ้าซึ่งต่างเป็นผู้กระทำการตอบโต้กัน ในแง่นี้ ร่างกายกับแฟชั่นจึงมิใช่เป็นเพียงวัตถุที่ถูกจัดการโดยมนุษย์ แต่มันมีอิทธิพลทำให้มนุษย์จัดระเบียบตัวตนและสร้างความหมายให้กับสิ่งที่ปรากฎอยู่บนร่างกาย ในการศึกษาของ Black (2004) อธิบายว่าร้านเสริมสวยของผู้หญิงมิใช่เป็นแค่ธุรกิจที่ทำให้ผู้หญิงสวย แต่ยังเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ช่วยปรับเปลี่ยนร่างกาย เยียวยาและฟื้นฟูจิตใจของผู้หญิง ในความเข้าใจแบบสตรีนิยมมักมองร้านเสริมสวยเป็นเพียงมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อชักจูงผู้หญิงให้หมกมุ่นอยู่กับร่างกายตัวเอง แต่คำอธิบายของ Black ชี้ว่าผู้หญิงที่มาใช้บริการในร้านเสริมสวยจะมีโอกาสเสวนาและพูดคุยกับเพื่อนผู้หญิงทั้งที่เป็นเจ้าของร้าน ช่างทำผม พนักงาน และลูกค้า ปฏิสัมพันธ์ของผู้หญิงในร้านเสริมสวยจึงเป็นการจรรโลงอัตลักษณ์ทางเพศปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับร่างกาย สุขภาพ และการมีชีวิตที่เป็นสุข
Taussig (2012) อธิบายให้เห็นว่าความสวยในสังคมสมัยใหม่ มนุษย์พยายามขวนขวายวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปร่างหน้าตาของตนเอง เห็นได้จากการทำศัลยกรรมความงาม เสริมจมูก ทำตาสองชั้น ตัดกรามและโหนกแก้ม การดึงหน้า การเสริมหน้าอก การเสริมสะโพก การร้อยไหม และการดูดไขมัน ในการศึกษาความสวยในประเทศโคลัมเบีย Taussig พบว่าการศัลยกรรมเพื่อแก้ไขร่างกายคือการทำให้บุคคลกลายเป็นสิ่งสวยงามและยังเป็นการตัดทิ้งร่างกายตามธรรมชาติที่ไม่สวยงาม การสร้างใหม่และการตัดทิ้งในการทำศัลยกรรมสมัยใหม่จึงเป็นเรื่องของการตอกย้ำอัตลักษณ์ของบุคคล อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งของศัลยกรรมความงามคือการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเข้ามาของคนที่มิใช่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางศัลยกรรม ส่งผลให้เกิดการหลอกลวง ผู้ทำศัลยกรรมจะได้รับผลเสียทางสุขภาพและร่างกายผิดรูปร่าง บางรายถึงกับเสียชีวิต ในแง่นี้ การสร้างความสวยอาจได้รับความเจ็บปวดทรมาน ถ้าเกิดข้อผิดพลาดในการทำศัลยกรรม บุคคลย่อมพบกับความสูญเสียและไม่มีความมั่นใจในรูปร่างหน้าตาที่ไม่เป็นไปตามคาดหวัง
Taussig วิเคราะห์ว่าการทำศัลยกรรมความงามมิใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องเชิงการเมืองและสังคม กล่าวคือผู้ที่เลือกทำศัลยกรรมต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ เจ้าหน้าที่ในคลินิก ญาติพี่น้อง เพื่อนและคนใกล้ชิด ในความสัมพันธ์นี้ ผู้ทำศัลยกรรมจะปฏิบัติตัวกับคนอื่นในเงื่อนไขที่ต่างกันและมีอำนาจไม่เท่ากัน เช่น แพทย์ศัลยกรรมความงามจะมีอำนาจในการสั่งและควบคุมบุคคลที่มาทำศัลยกรรม ในเชิงการเมือง Taussig มองว่าธุรกิจและศัลยกรรมความงามคือกลไกของระบบทุนนิยมและบริโภคนิยม ซึ่งแพทย์คือผู้ที่จัดระเบียบและแก้ไขร่างกายของพลเมืองให้เป็นไปตามบรรทัดฐานความงาม ความสวยจากศัลยกรรมจึงเป็นวิธีการสร้างตัวตน วิธีการมีชีวิต และความปรารถนาแบบใหม่ภายใต้ความรู้ทางการแพทย์ ซึ่งเหมือนเป็นลัทธิอาณานิคมที่เข้าไปควบคุมร่างกายของมนุษย์ในทุกสังคมด้วยมาตรฐานความสวยแบบตะวันตก การทำศัลยกรรมความงามเพื่อให้ร่างกายของคนพื้นเมืองเปลี่ยนเป็นเรือนร่างตามกฎเกณฑ์แบบตะวันตกจึงเป็นกลไกที่เบียดขับเรือนร่างพื้นเมืองซึ่งถูกประเมินว่าไม่งาม
อย่างไรก็ตาม Holliday & Elfving-Hwang (2012) กล่าวว่าธุรกิจความงามและศัลยกรรมเพื่อแก้ไขรูปร่างหน้าตาให้สวยในประเทศเกาหลีใต้ อาจมิได้ใช้มาตรฐานความงามแบบตะวันตกอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากวิธีคิดเรื่องความสวยในวัฒนธรรมเกาหลีต่างไปจากตะวันตก โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องโหวงเฮ้ง ที่อธิบายเกี่ยวกับรูปปร่างหน้าตาที่ส่งเสริมความสำเร็จและการมีชีวิตที่ดี โหงวเฮ้งในวัฒนธรรมเกาหลีเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น การฝันถึงเทพเจ้าที่บอกให้ทราบว่ารูปร่างหน้าตาที่ประสบความสำเร็จและเป็นมงคลต้องมีลักษณะอย่างไร (Kim, 2005) ในปัจจุบัน การทำศัลยกรรมแก้โหงวเฮ้ง หรือเรียกว่า gwansang susul จึงเป็นการแก้ไขรูปร่างหน้าที่ให้เป็นมงคลและเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ทำสิ่งต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การทำศัลยกรรมในเกาหลี แพทย์และนักดูโหงวเฮ้งจึงทำงานด้วยกันและให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการผ่าตัดทำศัลยกรรมใบหน้าใหม่ให้เป็นมงคลซึ่งมิใช่การทำตามบรรทัดฐานความงามแบบตะวันตก เช่น การลบรอยไฝและตำหนิใต้ดวงตาเพื่อไม่ให้ดูเหมือนคนที่ร้องไห้ซึ่งถือเป็นสิ่งอัปมงคล
ศัลยกรรมความงามในเกาหลี มีทั้งความเชื่อเรื่องโหงวเฮ้งและความคิดเรื่องความสวยที่สอดคล้องกับความงามสากล เช่น ผู้หญิงพยายามทำให้ตนเองมีรูปร่างผอมเพรียวและมีใบหน้าเรียวเล็ก ซึ่งต่างไปจากความเชื่อเดิมที่มองว่าใบหน้ากลมเหมือนดวงจันทร์ของผู้หญิงจะทำให้พบกับความอุดมสมบูรณ์ในชีวิต Holliday & Sanchez Taylor (2006) กล่าวว่าปัจจุบันการ ศัลยกรรมความงามในเกาหลีใต้ มีการไกล่เกลี่ยความหมายเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาที่เป็นมงคล ทำให้การปรับแต่งแก้ไขใบหน้าสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ เช่น ผู้หญิงพยายามมีอิสระและไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ของผู้ชาย การมีใบหน้ากลมเหมือนดวงจันทร์จึงไม่เป็นที่นิยมผู้หญิงอีกต่อไป นอกจากนั้น การทำศัลยกรรมใบหน้าที่สอดคล้องกับโหงวเฮ้ง คนเกาหลีปัจจุบันจะอธิบายในเงื่อนไขของการมีงานและอาชีพที่ดี และการได้รับการยอมรับทางสังคม การทำใบหน้าให้สวยตามโหงวเฮ้ง เช่น มีตาสองชั้น และมีสันจมูก จึงทำให้คนเกาหลีมั่นใจที่จะไปสมัครงาน (Jung & Lee, 2006)
ความสวยในเงื่อนไขทางชนชั้น
Craig (2006) อธิบายว่าการสร้างความสวยของผู้หญิงแต่ละคนยิ่มต่างกันขึ้นอยู่กับชนชั้น ฐานะทางเศรษฐกิจ ชาติพันธุ์ ช่วงอายุ และความเชื่อทางวัฒนธรรม รวมทั้งความสวยยังเกี่ยวข้องกับการดิ้นรนทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้หญิงบางกลุ่ม เช่น ชนชั้นแรงงาน กลุ่มคนจน กลุ่ม ชาติพันธุ์ และคนข้ามเพศ ความสวยจึงมีมิติที่หลากหลายนอกเหนือไปจากการสร้างความสมบูรณ์แบบตามมาตรฐาน (Tate, 2009) การศึกษาของ Ochoa (2014) ชี้ให้เห็นว่าในประเทศ เวเนซูเอล่า กลุ่มคนข้ามเพศหรือสาวประเภทสอง จัดประกวดนางงามขึ้นเพื่อแสวงหาวิธีการสร้างตัวตนในความเป็นหญิง เทคโนโลยีทางการแพทย์ การผ่าตัดแปลงเพศและศัลยกรรมความงามช่วยสร้างร่างกายใหม่ที่ทำให้พวกเธอสัมผัสกับความสวยแบบผู้หญิง (Plemons, 2017) ในสังคมมุสลิม เช่น ตุรกี ความสวยแบบตะวันตกเป็นปฏิบัติการของผู้หญิงชนชั้นกลางที่มีการศึกษา ซึ่งพวกเธอพยายามแสดงความเป็นหญิงที่ต่างไปจากจารีตนิยม เช่น การไม่สวมผ้าคลุมหน้า การแต่งหน้าเข้ม การสวมกระโปรงสั้น การกระทำเหล่านี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่นอกกฎศีลธรรม ผู้ชายมุสลิมจึงมองผู้หญิงที่แต่งตัวแบบตะวันตกเป็นผู้ที่มีตัณหาราคะ (Dahl, et al., 2018)
การศึกษาของ Kang (2010) อธิบายว่าเจ้าของร้านทำเล็บที่เป็นผู้หญิงเกาหลีในเมืองนิวยอร์ค ผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นชนชั้นแรงงานที่อพยพเข้าไปอยู่อาศัยและทำงานในสหรัฐอเมริกา ร้านทำเล็บจะเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงแรงงานที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงความสวยงามได้ เช่นเดียวกับร้านเสริมสวยของชาวเอเชียในประเทศอังกฤษและเยอรมันที่เป็นช่องทางให้แรงงานหญิงอพยพที่มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าไปเสริมสวย (Clarke, 2018; Lidola, 2015) การศึกษาของ Liebelt (2022) ชี้ให้เห็นว่าในประเทศตุรกี อาชีพเสริมสวยและการทำงานด้านความงามเป็นโอกาสสำหรับผู้หญิงชนชั้นแรงงาน ทั้งผู้หญิงที่หย่ากับสามี ผู้หญิงที่สามีเสียชีวิต ผู้หญิงที่ต้องเลี้ยงตัวเองตามลำพัง การแสดงความสามารถในการเสริมสวยช่วยทำให้ผู้หญิงเหล่านี้มีรายได้และมีสังคม ในหลายประเทศ กลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาน้อยและขาดโอกาสทางสังคม ใช้อาชีพเสริมสวยเป็นเครื่องมือที่จะทำให้พวกเธอมีรายได้และมีความมั่นคงในชีวิต Kang(2010) กล่าวว่าในประเทศตะวันตกกำลังจ้างผู้หญิงแรงงานต่างชาติที่มีฐานะยากจนมาทำงานบริการ เช่น แม่บ้าน พี่เลี้ยงเด็ก คนดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงงานบริการในบาร์ ผับ และการขายบริการทางเพศ
Jones (2010) กล่าวว่าอุตสาหกรรมความงามในปัจจุบัน ผู้ประกอบการในแต่ละประเทศปรับวิธีการและรูปแบบความสวยไปตามความนิยมของคนที่แตกต่างหลากหลาย ทำให้ความสวยแบบตะวันตกมิได้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ตัวอย่างการศึกษาของ Waters (2016) อธิบายว่าผู้หญิงในมองโกเลียพยายามเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาให้สวยเซ็กซี่มีเสน่ห์ทางเพศเพื่อหวังจะได้งานและประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการยึดในความเชื่อของชาวมองโกเลียที่ให้คุณค่ากับการมีชื่อเสียงและได้โชคลาภ การมีรูปร่างหน้าตาสวยจึงเป็นทุนสำหรับผู้หญิงที่มีโอกาสไต่เต้าทางสังคม การศึกษาของ Edmonds (2007) พบว่าผู้หญิงชนชั้นล่างในบราซิลนิยมการทำศัลยกรรมความงาม เนื่องจากการมีรูปร่างหน้าตาสวยงามคือทุนนที่จะทำให้ผู้หญิงมีโอกาสทางเศรษฐกิจและมีสถานะทางสังคมดีขึ้น เรือนร่างที่ผ่านการทำศัลยกรรมจะเปรียบเป็นต้นทุนและเครื่องมือสำหรับประกอบอาชีพ ทั้งนี้นิยามความสวยของพวกเธอจะให้คุณค่ากับผิวสีน้ำตาล และตอกย้ำอัตลักษณ์ความเป็นคนบราซิลที่แท้จริง ผู้ที่เป็นลูกผสมระหว่างคนผิวขาวกับคนท้องถิ่นจะได้รับความสนใจและเป็นตัวแทนของความสวย ซึ่งต่างไปจากผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่มีลักษณะเหมือนคนผิวขาวตะวันตก ความสวยของผู้หญิงผิวสีถูกสร้างให้เป็นอัตลักษณ์เฉพาะซึ่งถูกนำเสนอในสื่อหลายปะเภททั้งละคร ภาพยนตร์ การแสดงและการเต้นรำ จะเห็นว่าความสวยในแต่ละสังคมมีความเชื่อมโยงกับความเชื่อท้องถิ่น ทำให้การแสดงออกในความสวยมิได้ลอกเลียนแบบตะวันตกแบบเบ็ดเสร็จ (Jafar & Casanova, 2013)
Liebelt (2022) กล่าวว่าในสังคมสมัยใหม่ ผู้หญิงมองดูตนเองต่างไปจากเดิม บทบาทหน้าที่เป็นภรรยาและแม่ที่ต้องรับผิดชอบงานในบ้านจะถูกประเมินใหม่ ภายในธุรกิจความงามที่มีผลต่อการแสดงตัวตนของผู้หญิง การทุ่มเทเพื่อดูแลร่างกายให้สมบูรณ์สวยงามเป็นความใส่ใจที่ทำให้ผู้หญิงจะไม่ปล่อยตัวเองให้ดูโทรมและน่าเกลียด ดังนั้น ผู้หญิงจำเป็นต้องซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อบำรุงผิวพรรณและทำให้ตนเองดูออ่อนเยาว์ เช่น การไม่มีริ้วรอยบนใบหน้า ผิวเต่งตึง เนียนเรียบ และขาวอมชมพู การทำสิ่งเหล่านี้คือการตอกย้ำเรื่องความใส่ใจในตัวตน ความสวยจึงสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงตามวัยของมนุษย์ รวมถึงเป็นกระจกสะท้อนสถานะทางสังคม ชนชั้น ชาติพันธุ์ และเพศสภาพของบุคคล การศึกษาของ Lauser (2004) ชี้ว่าความสวยเป็นการปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้การต่อสู้และท้าทายอำนาจและการควบคุมที่ดำรงอยู่ในสถาบันทางสังคม เช่น ครอบครัว หน่วยงานของรัฐ ศาสนา องค์กรธุรกิจ เป็นต้น ในแง่นี้ร่างกายของเพศหญิงจึงเป็นพื้นที่สำหรับการจัดระเบียบและแก้ไข เป็นการเมืองบนเนื้อตัวร่างกายที่พบได้ตั้งแต่เรือนร่างของนางงาม แม่บ้าน ช่างเสริมสวย ดารา นักร้อง ไปจนถึงหญิงขายบริการทางเพศ
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
Marketeer Team. (2022). ผู้หญิงอย่าหยุดสวย ดัน ‘ตลาดเสริมความงาม’ ไทยโต 16.6% รับอานิสงส์เปิดประเทศ อ้างจาก https://marketeeronline.co/archives/292227
ภาษาอังกฤษ
Bartky, S. L. (1988). Foucault, Femininity, and the Modernization of Patriarchal Power. In I.Diamond and L. Quinby, (eds.), Feminism and Foucault, (pp.61- 86). Boston: Northeastern University Press.
Black, P. (2004). The Beauty Industry: Gender, Culture, Pleasure. London: Routledge.
Clarke, H. (2018). Moral Ambivalence and Veiling amongst British Pakistani Women in Sheffield. Contemporary Levant, 3(1), 10- 19.
Coleman, R., & Figueroa, M.M. (2010). Past and Future Perfect? Beauty, Affect and Hope. Journal for Cultural Research, 14(4), 357- 373.
Craig, M. L. (2006). Race, Beauty, and the Tangled Knot of Guilty Pleasure. Feminist Theory,7(2), 159- 77.
Dahl, U., Kennedy-macfoy, M. Sundén, J., Gálvez-Muñoz, L., Martínez-Jiménez, L., Gopinath, G., Hemmings, C., & Tate, S.A. (2018). Femininity Revisited—A Round Table. European Journal of Women's Studies, 25(3), 384- 393.
Davis, K. (2003). Dubious Equalities and Embodied Differences: Cultural Studies on Cosmetic Surgery. Lanham, MD: Rowman & Littlefield.
Edmonds, A. (2007). The Poor Have the Right to Be Beautiful: Cosmetic Surgery in Neoliberal Brazil. Journal of the Royal Anthropological Institute, 13(2), 363- 381.
Hansen, K. T. (2004). The World in Dress: Anthropological Perspectives on Clothing, Fashion, and Culture. Annual Review of Anthropology, 33, 369- 392.
Holliday, R. & Taylor, J.S. (2006). Aesthetic Surgery as False Beauty. Feminist Theory, 7(2): 179–95.
Holliday, R. & Elfving-Hwang, J. (2012). Gender, Globalization and Aesthetic Surgery in South Korea. Body & Society, 18(2), 58– 81.
Jafar, A. & Casanova, E M. D. (eds.). (2013). Global Beauty, Local Bodies. Basingstoke, UK: Palgrave Macmillan.
Jones, G. (2010). Beauty Imagined: A History of the Global Beauty Industry. Oxford, UK: Oxford University Press.
Jung, J. & Lee, S.H. (2006) ‘Cross-cultural Comparisons of Appearance Self-schema, Body Image, Self-esteem, and Dieting Behavior Between Korean and US Women. Family and Consumer Sciences Research Journal, 34, 350–65.
Kang, M. (2010). The Managed Hand: Race, Gender, and the Body in Beauty Service Work. Berkeley: University of California Press.
Kim, A.E. (2005). Nonofficial Religion in South Korea: Prevalence of Fortunetelling and Other Forms of Divination. Review of Religious Research ,46(3), 284–302.
Lauser, A. (2004). What is anthropology looking for on the runway - Local beauty contests as rites of modernization. Anthropos: International Review of Anthropology and Linguistics, 99(2), 469-480
Liebelt, C. (2022). Beauty: What Makes Us Dream, What Haunts Us. Feminist Anthropology, 3(2), 206-213.
Lidola, M. (2015). Of Grooming Bodies and Caring Souls: New–Old Forms of Care Work in Brazilian Waxing Studios in Berlin.” In Erdmute Alber and Heike Drotbohm, (eds.), Care on the Move. Anthropological Perspectives on Work, Kinship, and the Life Course, (pp.69- 90). Basingstoke, UK: Palgrave Macmillan
Ochoa, M. (2014). Queen for a Day: Transformistas, Beauty Queens, and the Performance of Femininity in Venezuela. Durham, NC: Duke University Press.
Plemons, E. (2017). The Look of a Woman: Facial Feminization Surgery and the Aims of Trans-Medicine. Durham, NC: Duke University Press.
Tate, S. A. (2009). Black Beauty: Aesthetics, Stylization, Politics. Farnham, UK: Ashgate.
Taussig, M. (2012). Beauty and the Beast. Chicago: University of Chicago Press.
Young, I. M. (1980). Throwing Like a Girl: A Phenomenology of Feminine Body Comportment, Motility and Spatiality. Human Studies, 3(2), 137– 156.
Waters, H. A. (2016). Erotic Capital as Societal Elevator: Pursuing Feminine Attractiveness in the Contemporary Mongolian Global(ising) Economy. Sociologus, 66(1), 25– 52.
Wolf, N. (1990). The Beauty Myth: How Images of Beauty Are Used Against Women. Chatto & Windus.
ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ความสวย ปฏิบัติการ Practices Beautification ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ