ความเป็นชายละมุนละไม (Soft Masculinity)

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 11010

ความเป็นชายละมุนละไม (Soft Masculinity)

เพลงป๊อปเกาหลีกับความเป็นชายนุ่มนวล

           รูปแบบความเป็นชายที่นุ่มนวลอ่อนหวานละมุนละไม เกิดขึ้นพร้อมกับกระแสเพลงป๊อปญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 ซึ่งมีการผลิตความเป็นชายสวย หรือ bishonen (beautiful boys) ในนิยาย Yaoi หรือ Boys Love และกระแสป๊อปเกาหลีในทศวรรษ 2000 (Law, 2021; Louie, 2012) ทำให้เกิดปรากฎการณ์ “หนุ่มดอกไม้” (flower boy phenomenon) ในภาษาเกาหลีเรียกว่า kkonminam แพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และกลายเป็น อัตลักษณ์ใหม่ของผู้ชายในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ปรากฎการณ์นี้มีการเปรียบเทียบผู้ชายที่อ่อนหวานเหมือนดอกไม้ ซึ่งเดิมใช้เปรียบกับผู้หญิง แต่ในกระแสเพลงป๊อปเกาหลี นักร้องชายในวงบอยแบนด์จะแสดงความนุ่มนวลผ่านการแต่งกายและเครื่องสำอางไม่ต่างจากผู้หญิง ทำให้ความเป็นชายแบบเก่าที่แข็งกร้าวเปลี่ยนสภาพเป็นความนุ่มนวล การแสดงออกดังกล่าวสะท้อนว่าสังคมเกาหลีกำลังทำให้ผู้ชายที่หยาบกระด้างและชอบใช้ความรุนแรงกลายเป็นผู้ชายที่สุภาพอ่อนหวาน (Jung, 2011) ทั้งนี้บริษัทด้านเพลงและภาพยนตร์ในเกาหลีพยายามจะปรับภาพลักษณ์นักร้องและนักแสดงชายให้มีความนุ่มนวลละมุนละไมเพื่อสร้างความสนใจให้กับลูกค้าและคนรุ่นใหม่ เช่น วงบอยแบนด์ EXO, Super Junior และ SHINee กระแสนี้ได้บรรจบกับการเติบโตของวัยรุ่นและการมีกำลังซื้อของผู้หญิง ทำให้วัฒนธรรมป๊อปที่นำเสนอความเป็นชายที่อ่อนละมุนได้รับความนิยม (Louie, 2012)

           ธุรกิจบันเทิงของเกาหลีได้ทำให้การแสดงเพศภาวะต่างไปจากบรรทัดฐาน ผู้ชายรุ่นใหม่เห็นการแสดงความอ่อนหวานของนักร้องและนักแสดงชายที่ไม่ยึดติดกับบุคลิกแข็งแกร่งบึกบึน Law (2021) อธิบายว่าความเป็นชายที่ละมุนละไมในธุรกิจบันเทิงของเกาหลีมิใช่เป็นแค่การเรียกความนิยมหรือการทำให้ผู้ชายเป็นสินค้า แต่ยังทำให้คนรุ่นใหม่กล้าทะลายกรอบเรื่องเพศในสังคม และทำให้ความเป็นชายเข้ามาทับซ้อนอยู่กับความเป็นหญิงมากขึ้น ปรากฎการณ์นี้เห็นได้จากวัยรุ่นชายจำนวนมากพยายามปรับเปลี่ยนการแต่งกายและดูแลเรือนร่างของตนให้อ่อนหวานนุ่มนวล เช่น มีการใช้เครื่องสำอางบนใบหน้า และผลิตภัณฑ์เสริมความงามหลากหลายชนิด มีการทำสีผม ใส่เสื้อผ้าที่มีลวยลายสีสันงดงาม และการใส่เครื่องประดับ การแสดงออกในลักษณะนี้ทำให้ผู้ชายที่มีลักษณะท่าทางเป็นหญิงเกิดความมั่นใจที่จะแสดงอัตลักษณ์ของตนในสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ซึ่งเคยวางอยู่บนช่วงชั้นทางอำนาจที่เหนือกว่าของชาย ทำให้ผู้หญิงเปรียบเสมือนเป็นวัตถุที่สนองตอบทางอารมณ์ของผู้ชาย เปลี่ยนไปสู่ความสัมพันธ์แบบเพื่อนที่มีฐานะเท่ากันที่ต่างฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกต่อกัน (Louie, 2012)

           Anderson (2014) ตั้งข้อสังเกตว่านักร้องบอยแบนด์เกาหลีกำลังนำเสนอความเป็นชายที่มีหลายแบบ ไม่จำเป็นต้องสืบทอดและธำรงเอกลักษณ์ชายแบบจารีตนิยม ความเป็นชายที่ถูกแสดงในวงบอยแบนด์จึงหยิบยืมคุณลักษณะของชายจากหลายแหล่งมาประกอบสร้างให้เป็นแบบแผนใหม่ ซึ่งเรียกว่า “ความเป็นชายลูกผสม” (hybrid masculinity) (Jung, 2006) ที่นำเอาความแข็งแรงเท่ตามสไตล์เมโทรเซ็กช่วลตะวันตกมาผสมรวมกับความนุ่มนวลแบบผู้หญิงเอเชีย Song (2016) เรียกปรากฎการณ์นี้ว่าการบรรจบกันทางวัฒนธรรม (cultural convergence) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และค่อย ๆ ขยายมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Lim, 2015)


สังคมที่ไม่ยอมรับผู้ชายที่แสดงออกเหมือนหญิง

           จีนเป็นประเทศที่ถกเถียงเรื่องบทบาทและอัตลักษณ์ผู้ชายในสังคมซึ่งมีอุดมคติว่าผู้ชายคือผู้นำครอบครัวและผู้สืบทายาทของวงศ์ตระกูล (Yating Yu & Hongsheng Sui, 2022) รัฐแบบปิตาธิปไตยของจีนได้สร้างวาทกรรมและการใช้อำนาจชี้นำเพื่อปกครองและควบคุมเพศสภาพของประชากรให้อยู่ในบรรทัดฐานรักต่างเพศ ทำให้ผู้ชายต้องแสดงบทบาทที่ตรงข้ามกับหญิง ผู้ชายในอุดมคติของจีนจึงต้องไม่อ่อนแอ มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว อดทน และเข้มแข็ง เช่นเดียวกับสังคมตะวันตกที่ยึดในคำสอนทางคริสต์ศาสนาซึ่งเชื่อในการสร้างความเป็นชายและหญิงตามบัญญัติของพระเจ้า ทำให้การแสดงความเป็นชายต้องมีความเข้มแข็ง มีอำนาจและความเป็นผู้นำ (Messner, 1997) อุดมคติความเป็นชายตามคำสอนของคริสต์ศาสนายังเป็นรากฐานให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของผู้ชายที่เคร่งครัดศาสนาและการต่อต้านสิทธิสตรี ในสหรัฐอเมริการู้จักในนามขบวนการผู้รักษาสัญญาของพระเจ้า หรือ Promise Keepers ซึ่งเป็นส่วนขยายของกระแส muscular Christianity (Kimmel, 1996) ซึ่งพยายามฟื้นฟูให้ศาสนจักรยึดมั่นในการจัดระเบียบและควบคุมความเป็นชายในฐานะเป็นผู้นำทางสังคม (male leadership) (Donovan, 1998) ขบวนการนี้มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านคัดค้านการทำให้ผู้ชายอ่อนแอ โดยเฉพาะไม่สนับสนุนการแสดงพฤติกรรมชายรักชาย และไม่ยอมรับการให้ผู้หญิงมีอำนาจเท่าเทียมกับชาย (Williams, 2000)

           ความเป็นชายแบบชี้นำ (hegemonic masculinity) จะให้คุณค่ากับอำนาจที่เหนือกว่าของเพศชายและเพศอื่น ๆ จะกลายเป็นชายขอบและไม่ได้รับการยอมรับ (Connell, 1995) ในครอบครัวจารีตนิยมแบบชาวคริสต์ ผู้ชายจะยึดถือบทบาทการเป็นหัวหน้าและผู้หาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งถือเป็นความมีเกียรติของผู้ชายที่สามารถดูแลครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้ผู้ชายต้องแสดงความเข้มแข็งตลอดเวลา (Donovan, 1998) ในกรณีของศาสนาอิสลาม ความเป็นชายแบบชี้นำยังมีความเข้มข้น ตัวอย่างเช่น ประเทศมาเลเซียที่ยึดอยู่ในบรรทัดฐานปิตาธิปไตย ผู้ชายจะมีบทบาทและอำนาจสูงสุดในครอบครัว (Khoo, 2005) ทั้งนี้ มาเลเซียมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์ รองลงไปคือชาวจีน นอกจากนั้นยังมีชนพื้นเมืองอีกจำนวนมาก แต่ศาสนาอิสลามมีอิทธิพลทั้งเชิงชีวิตทางสังคมและการเมือง ผู้ชายชาวมุสลิมจึงมีบทบาทในรัฐบาลและองค์กรของรัฐ ทำให้สังคมขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมมาเลย์มุสลิมและบรรทัดฐานความเป็นชายแบบรักต่างเพศ (Muslim-Malay) (Goh, 2013)

           การแพร่กระจายของวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีในมาเลเซีย ทำให้ผู้ชายรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนและคนที่มิใช่มุสลิมนำคุณลักษณะผู้ชายอ่อนหวานมาปฏิบัติจากการนิยมชมชอบนักร้องบอยแบนด์ ซึ่งถือเป็นการท้าทายบรรทัดฐานแบบชายรักต่างเพศ (Jung, 2011) ภายใต้รัฐอิสลามของมาเลเซีย กลุ่มคนที่ไม่มีอัตลักษณ์มาเลย์และไม่ใช่มุสลิมจะไม่สามารถปฏิบัติตามบรรทัดฐานของรัฐกำหนดให้ได้ ดังนั้น ทางเลือกในการแสดงความเป็นชายที่ต่างไปจากบรรทัดฐานจึงปรากฎขึ้นผ่านกระแสนิยมป๊อปเกาหลี ผู้ชายที่มิใช่มุสลิมพยายามแสดงความเป็นชายที่ต่างออกไปและนำความอ่อนหวานนุ่มนวลแบบบอยแบนด์เกาหลีมาปฏิบัติ ซึ่งมักจะถูกโจมตีว่าขัดแย้งและทำลายบรรทัดฐานและคุณค่าความเป็นชาติแบบอิสลาม (Goh, 2012) เห็นได้จากอคติที่มีต่อผู้ชายที่แสดงพฤติกรรมเหมือนหญิงซึ่งชาวมาเลย์เรียกว่า “Lelaki lembut” (หมายถึงผู้ชายนุ่มนิ่ม) ผู้ชายที่แสดงความเป็นหญิงจึงรู้สึกมั่นใจเมื่อได้เห็นการแสดงออกของศิลปินบอยแบนด์เกาหลี และพยายามอ้างอิงอัตลักษณ์ทางเพศของตนกับศิลปินเหล่านั้น

           ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รัฐบาลที่มีลักษณะเป็นปิตาธิปไตยแบบบรรทัดฐานรักต่างเพศ ต่างเป็นห่วงว่ากระแส ป๊อปเกาหลีจะเข้าบ่อนทำลายอัตลักษณ์ของชาติและบทบาทของผู้ชายในสังคม (Tambunan, 2015) เช่น ผู้บริหารประเทศในมาเลเซียมองว่าความเป็นชายแบบเกาหลีที่เน้นรูปร่างผอมและผิวขาว ไม่ควรจะเป็นแบบแผนที่ผู้หญิงมาเลเซียชื่นชอบ และควรหันกลับมาสนใจความเป็นชายแบบมาเลย์ที่มีผิวเข้ม (Ainslie, 2017) ถึงแม้รัฐจะไม่ปลาบปลื้มความเป็นชายแบบเกาหลี แต่ประชาชนมีวิธีที่จะแสวงหาความเป็นชายที่ต่างไปจากบรรทัดฐาน เช่น ผู้ชายในมาเลเซียมักจะเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเต้นเลียนแบบนักร้องเกาหลี ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ให้อิสระในการแสดงออก ในทางตรงกันข้าม กลุ่มคนที่ยึดมั่นในความเป็นมาเลย์มองว่าผู้ชายที่ชอบฟังเพลงเกาหลีและเต้นเลีบยนแบบนักร้องเกาหลีคือเกย์


เกย์, ทอมบอย กับความเป็นชายนุ่มนวล

           ในสังคมไทย อัตลักษณ์ “ทอมบอย” หรือสาวหล่อ ปรากฎผ่านสื่อเช่นนิยสาร @Tom Act นำเสนอภาพลักษณ์และคุณลักษณะของผู้หญิงที่ชอบเพศเดียวกันแต่แสดงออกแบบข้ามเพศ มีการนำคำพูด ภาษา ท่าทางแบบผู้ชายมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่น ตัดผมสั้น สวมกางเกง และพูดคำว่าครับ กลุ่มทอมหรือสาวหล่อจะมีคนรักเป็นผู้หญิงที่ได้ฉายาว่า “ดี้” (Sinnott, 2004) ความสัมพันธ์แบบ “ทอมดี้” จึงเสมือนเป็นภาพสะท้อนที่ฝ่ายทอมจะแสดงบทบาทเป็นผู้ชาย ส่วนดี้จะแสดงบทบาทเป็นผู้หญิง ในการแสดงความเป็นชายของทอมมีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ สัมพันธ์กับบริบทสังคมในแต่ละยุคสมัย ในช่วงที่วัฒนธรรมป๊อปเกาหลีขยายตัวและมีอิทธิพลในเอเชีย ทอมในประเทศไทยได้นำรูปแบบความเป็นชายที่อ่อนละมุนมาปรับใช้กับตัวเอง ซึ่ง Kang-Nguyen (2019) กล่าวว่าทอมและเกย์สาวจะแสดงความเป็นชายโดยให้ความสำคัญกับการแต่งตัวและตามแฟชั่นเกาหลี แต่ได้มีการปรับแต่งและสร้างสรรค์เพิ่มเติม มิใช่เป็นการลอกเลียนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

           ความเป็นชายที่ละมุนละไมยังทำให้เกิดอัตลักษณ์ชายที่มีเสน่ห์ ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างทอมกับทอม หรือทอมกับเกย์ เป็นการแสดงความเสน่หาต่อความเป็นชายที่ปรากฎอยู่ในเรือนร่างและแฟชั่น สิ่งสำคัญที่ทำให้ความเป็นชายที่อ่อนละมุนได้รับความนิยมในหมู่ทอมและเกย์คือ ความน่ารักแบบเด็กผู้ชายวัยรุ่น ผิวขาว เป็นชนชั้นกลางและมีการศึกษา Kang-Nguyen (2019) เรียกสิ่งนี้ว่า White Asianness ที่ปรากฎอยู่ในชาวจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีซึ่งแยกตัวออกจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีสีผิวเข้มโดยเฉพาะอินเดียและมาเลย์ จะเห็นว่าความเป็นชายแบบเอเชียผิวขาวที่อยู่ในวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีได้รับความนิยมในธุรกิจบันเทิงไทย เช่น นักแสดงซีรีส์วายจะมีความน่ารัก ผิวขาวละมุนละไม ในปฏิบัติการทางสังคมของทอมและเกย์สาวในปัจจุบัน ความเป็นชายที่อ่อนละมุนทำให้ทั้งสองกลุ่มมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน บางครั้งอาจจะแยกได้ยากว่าใครคือทอม ใครคือเกย์สาว ความคล้ายคลึงดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าเพศสภาพแบบชายที่ละมุนละไมสร้างความคลุมเครือและทำลายเส้นแบ่งที่แข็งตัวระหว่างความเป็นชายและความเป็นหญิง


สังคมตะวันตกกับผู้ชายละมุนละไม

           ทัศนะของตะวันตกเมื่อเห็นการแสดงออกทางเพศของนักร้องชายเกาหลีมักจะวางอยู่บนการตัดสินแบบขาวดำ เช่น มองว่ามีความเป็นหญิงมากไป และมีความเป็นชายที่เข้มแข็ง (Jung, 2021) แต่ในการแสดงเพศสภาพของนักร้องเกาหลีมิได้แยกความเป็นชายและหญิงออกจากกันแบบคู่ตรงข้าม (Anderson, 2014) ชาวตะวันตกมักใช้บรรทัดฐานนักร้องบอยแบนด์ของตนมาเปรียบเทียบกับนักร้องบอยแบนด์เกาหลี ทำให้เกิดการตัดสินอย่างผิวเผินว่านักร้องชายเกาหลีไม่มีความเป็นชายเท่ากับนักร้องชายตะวันตก และบางครั้งตีตราว่านักร้องชายเกาหลีเป็นเกย์ Jung (2021) อธิบายว่าความเป็นชายที่ปรากฎอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีนำคุณลักษณะที่หลากหลายมาผสมผสานจนทำให้เห็นเฉดความเป็นชายหลายแบบทั้งความออ่นหวาน ความน่ารัก ความละมุนละไม และความแข็งแกร่ง คุณลักษณะเหล่านี้มีการเคลื่อนไหวและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นอกจากนั้น การแสดงความเป็นชายที่อ่อนละมุนยังทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชายที่มีมิตรภาพ ความใกล้ชิดผูกพัน และความเสน่หาทางเพศ ซึ่งต่างไปจากความเป็นชายแบบจารีตในบรรทัดฐานปิตาธิปไตยที่จัดวางกฎเกณฑ์ทางเพศที่เคร่งครัดตายตัว

           ความเป็นชายอ่อนละมุนที่ปรากฎอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี สะท้อนให้เห็นความอ่อนโยนน่ารักของเพศชาย ในภาษาเกาหลีเรียกว่า aegyo ความน่ารักของเพศชายค่อนข้างเป็นเรื่องแปลกในประสบการณ์ของตะวันตก (Dale, 2016) นักร้องชายในสังคมตะวันตกจะไม่แสดงความนุ่มนวล ไม่กล้าแต่งหน้าและทำสีผม รวมถึงสวมเสื้อผ้าที่มีลักษณะเหมือนหญิง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายในสังคมผู้ชายแบบตะวันตก ในขณะที่ความเป็นชายของนักร้องเกาหลีค่อนข้างมีการแสดงออกที่หลากหลาย ซึ่งบรรดาแฟนคลับที่เป็นผู้หญิงสามารถเห็นความเป็นชายที่ต่างไปจากบรรทัดฐาน ผู้หญิงจึงมีจินตนาการและรู้สึกใกล้ชิดกับนักร้องชายเกาหลี พวกเธอสามารถเข้าถึงนักร้องเกาหลีและรับรู้ความรู้สึกของผู้ชายที่อ่อนไหวและน่ารัก Jung (2021) กล่าวว่ากระแสนิยมเพลงป๊อปเกาหลียังสะท้อนให้เห็นอำนาจของระบบทุนนิยมที่แฟนคลับผู้หญิงยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อสินค้า เข้าร่วมกิจกรรม และมอบของที่ระลึกให้นักร้องชายที่อ่อนหวานตามที่พวกเธอปรารถนา ในแง่นี้ พลังของความเป็นชายที่อ่อนละมุนกับการแสดงตัวตนของผู้หญิงในวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีเป็นภาพสะท้อนการเคลื่อนไหวของสิทธิสตรีในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ที่น่าสนใจ (Kim, 2013)


เอกสารอ้างอิง

Ainslie, M.J. (2017). Korean soft masculinity vs. Malay hegemony: Malaysian masculinity and Hallyu fandom. Korea Observer, 48(3), 609-638.

Anderson, C. S. (2014). That’s My Man! Overlapping Masculinities in Korean Popular Music. in Yasue Kuwahara (ed.) The Korean Wave: Korean Popular Culture in Global Context. (pp.117-131) .USA: Palgrave Macmillan.

Connell, R.W. (1995). Masculinities. Berkeley: University of California Press.

Dale, J. (2016). Cute Studies: An emerging field. East Asian Journal of Popular Culture, 2(1), 5-13.

Donovan, B. (1998). Political consequences of private authority: Promise Keepers and the transformation of hegemonic masculinity. Theory and Society, 27, 817-43.

Goh, J. N. (2012). The Homosexual Threat: Appraising Masculinities and Men’s Sexualities in Malaysia. in Hopkins J, Lee, J.C.H. (eds.) Thinking Through Malaysia: Culture and Identity in the 21st Century. (pp.167–186). Petaling Jaya, Malaysia: Strategic Information and Research Development Centre.

Goh, J. MN. (2013). Malaysian Masculine Exposé: Queering the Politics of Non- Heteronormative Malay-Muslim Men. in Vikki Fraser (ed.) Queer Sexualities: Diversifying Queer, Queering Diversity. (pp.31-40). Oxford: Inter-Disciplinary Press.

Jin, Y. (2016). New Korean wave: transnational cultural power in the age of social media. Urbana: University of Illinois Press.

Jung, S. (2006). Bae Yong-Joon, Hybrid Masculinity & the Counter-coeval Desire of Japanese Female Fans. Participations, 3(2).

Jung, S. (2011). Bae Yong-Joon, Soft Masculinity, and Japanese Fans: Our Past Is in Your Present Body. In Korean Masculinities and Transcultural Consumption: Yonsama, Rain, Oldboy, K-Pop Idols. (pp. 35-7). Hong Kong: Hong Kong University Press.

Jung, S. (2021). Soft masculinity in K-pop and fans in the United States. In D. Kyun & D. Kim(eds.). Diffusion of Korean Popular Culture in Western Countries. (pp. 47-62). Seoul: Seoul National University Press.

Kang-Nguyen, D.B. (2019). The Softening of Butches: The Adoption of Korean “Soft” Masculinity among Thai Toms. In S. Heijin Lee, M. Mehta & R. Ji-Song Ku. (eds.), Pop Empires: Transnational and Diasporic Flows of India and Korea. (pp.19-36). Hawaii: University of Hawaii Press.

Khoo, G. C. (2005). Reclaiming Adat: Contemporary Malaysian Film and Literature. USA: UBC Press.

Kim, Y. (2013). The Korean Wave: Korean Media Go Global. London: Routledge.

Kimmel, M. S. (1996). Manhood in America: A cultural history. New York: Free Press.

Law, K. (2021). A New Form of Masculinity and the Rise of “Soft Masculinity” in Contemporary Social Networking Sites. Paper presented at the 2021 2nd International Conference on Economics, Education and Social Research.

Louie, K. H., (2012). Popular Culture and Masculinity Ideals in East Asia, with Special Reference to China. The Journal of Asian Studies, 71(4), 609-638.

Messner, M.A. (1997). Politics of masculinities: Men in movements. Thousand Oaks, CA: Sage.

Sinnott, M. (2004). Toms and Dees: Transgender Identity and Female Same-Sex Relationships in Thailand. Honolulu: University of Hawai’i Press.

Song, G. (2016). Changing Masculinities in East Asian Pop Culture. East Asian Forum Quarterly, 8(2).

Tambunan, S. M. G. (2015). Imaginary ‘Asia’: Indonesian Audience’s Reflexivity on K-dramas. In Mary J. Ainslie and Joanne B. Y. Lim (ed.). The Korean Wave in Southeast Asia: Consumption and Cultural Production. (pp.75-94). Kuala Lumpur: SIRD.

Williams, R. H. (2000). Promise Keepers: A comment on religion and social movements. Sociology of Religion, 61, 1-10.

Yating Yu & Hongsheng Sui. (2022). The anxiety over soft masculinity: a critical discourse analysis of the “prevention of feminisation of male teenagers” debate in the Chinese-language news Media. Feminist Media Studies, DOI:10.1080/14680777.2022.2046124


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ความเป็นชาย ละมุนละไม soft power Masculinity ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา