ในชุมชนพุเม้ยง์, ยุคเกษตรนิคมเริ่มต้นจากป่าสงวนแห่งชาติ

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 2296

ในชุมชนพุเม้ยง์, ยุคเกษตรนิคมเริ่มต้นจากป่าสงวนแห่งชาติ

“....ตั้งแต่ที่มีปัญหากับป่าไม้และหันมาทำไร่เชิงเดี่ยว พืชผักพืชไร่พันธุ์เดิมที่เคยปลูกในไร่หมุนเวียนก็เริ่มหาย บางชนิดปลูกไปก็ไม่โต บางชนิดก็แพ้ปุ๋ยแพ้ยาที่โดนลมพัดมาจากไร่เชิงเดี่ยวจนตายไปเลยก็มี เมื่อก่อนคนในชุมชนยังช่วยกันทำไร่ เข้าไร่ทีนึงก็ไปกันเยอะมาก มีการทำพิธีกรรม เมื่อก่อนพอคนเยอะก็มีการละเล่นกัน พอปัจจุบันนี้แต่ละคนแยกกันไปทำของตัวเอง ไปทำไร่เสร็จก็กลับ ไม่มีการละเล่นหรือพิธีกรรม เดี๋ยวนี้ทำไร่เลยไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อนแล้ว….”

- สมาชิกชุมชนพุเม้ยง์

           พ.ศ. 2527-2528 ชุมชนกะเหรี่ยงโพล่งพุเม้ยง์ จ.อุทัยธานี ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย การประกาศเขตป่าสงวนทำให้ชุมชนพุเม้ยง์ไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในการดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตตามปรกติของชุมชนได้ การล่าสัตว์ เก็บของป่า โดยเฉพาะการถางหญ้าเตรียมที่ดิน และการเผาไร่ในพื้นที่ไร่ซาก1 สำหรับเตรียมเพาะปลูกตามระบบการผลิตไร่หมุนเวียนของชุมชน ปัญหาด้านที่ดินจากการประกาศเขตป่าสงวนถูกมองคนละแบบจากคนสองกลุ่มในพื้นที่เดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐมองว่าพื้นที่ไร่ซากมีความอุดมสมบูรณ์ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ในขณะที่ชุมชนกลับมองว่าไร่ซากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมตามปรกติของชุมชน แต่ถูกปล่อยให้มีการฟื้นฟูเป็นเวลานานหลายปีจึงทำให้พื้นที่ไร่ซากมีสภาพคล้ายกับป่าทั่วไป เมื่อเป็นเช่นนี้ การทำไร่หมุนเวียนมีแต่จะทำให้สูญเสียที่ดินมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการถูกช่วงชิงพื้นที่ไร่ซากให้กลายเป็นป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้น เมื่อเกษตรกรรมแบบเดิมไม่สามารถใช้ยังชีพได้ ชุมชนพุเม้ยง์จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำเกษตรกรรมในช่วง พ.ศ. 2528 – 2530 จากเดิมที่เคยทำไร่หมุนเวียน ไปสู่การทำไร่เชิงเดี่ยวเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นหลักแทน


มองมนุษยสมัยแบบไม่เหมารวม

           มนุษยสมัย, ยุคของมนุษย์ หรือแอนโทรโพซีน (Anthropocene) เป็นแนวคิดทางธรณีวิทยาที่ใช้เรียกยุคสมัยซึ่งการกระทำของมนุษย์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมโลก แนวคิดดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากนักเคมีและนักธรณีวิทยา พอล ครุตเชน (Paul Crutzen) และนักนิเวศวิทยา ยูจีน สตอร์เมอร์ (Eugene Stoermer) ที่ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศในหลากหลายรูปแบบเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ที่สร้างผลกระทบแก่โลก การมองว่ามนุษย์เป็นผู้กระทำการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมอาจถูกทำให้เข้าใจผิดด้วยความหมายที่ว่า “มนุษย์” คือ มนุษยชาติทุกคน ที่มีลักษณะเหมารวมมนุษย์ทุกคนทุกกลุ่ม แต่ในความเป็นจริงมนุษย์แต่ละกลุ่มสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างไม่เท่าเทียมกัน (ชนกพร ชูติกมลธรรม ใน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 2564, 272) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยของมนุษย์ไม่สามารถถูกมองในลักษณะภาพรวมว่ามนุษย์ได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียมกัน การทำความเข้าใจมนุษยสมัยจึงต้องดูปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่และช่วงเวลา หรือการศึกษามนุษยสมัยในลักษณะหย่อมย่านของมนุษยสมัย2 (patchy anthropocene) ที่ลักษณะของปรากฎการณ์มนุษยสมัยมีความแตกต่างกันแต่ละพื้นที่ และมีผู้ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่เท่ากัน (Tsing 2019) เจสัน มัวร์ (Jason Moore) (2016) เสนอแนวคิดเรื่อง “ยุคสมัยแห่งทุน” (capitalocene) เพื่อแสดงให้เห็นว่ามนุษยสมัยเกี่ยวข้องกันกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างแนบแน่น การทำความเข้าใจตามกรอบคิดมนุษยสมัยแบบเหมารวม เป็นการมองแบบละเลยความไม่เท่าเทียมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กลุ่มต่าง ๆ ด้วยกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่ได้เท่ากันทั่วโลก จนสามารถนำมาทำความเข้าใจแบบหน่วยเดียวกันได้ (Malm & Hornborg 2014)


ประวัติศาสตร์เกษตรนิคมในพุเม้ยง์

           ในการอธิบายการขยายตัวของเกษตรเชิงเดี่ยว แนวคิดเรื่อง "ยุคสมัยแห่งทุน” ชี้ชวนให้พิจารณาปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นผู้กระทำการสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความเป็นผู้กระทำการอันไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์แต่ละกลุ่ม การเกิดขึ้นและขยายตัวของ “ยุคแห่งการเพาะปลูกแบบนิคม” (plantationocene) ที่อุตสาหกรรมเกษตรซึ่งมีการเพาะปลูกขนาดใหญ่ (plantation) กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะในแถบซีกโลกใต้ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในระดับโลกจึงไม่ได้เกิดขึ้นหรือส่งผลกระทบต่อทุกสังคมแบบเท่าเทียมกัน (ณภัค เสรีรักษ์ ใน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 2564, 197 ) ยุคแห่งการเพาะปลูกแบบนิคมจึงถือได้ว่าเป็นหน่วยย่อยของยุคสมัยแห่งทุน ในเชิงรูปแบบและพื้นที่จำเพาะเจาะจง โดยเฉพาะแง่ที่การทำเกษตรนิคมมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการสะสมทุน

           สำหรับในประเทศไทย การขยายตัวของเกษตรนิคม (plantation) ในรูปแบบของการทำไร่เชิงเดี่ยว เกิดขึ้นในยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สินค้าเกษตรโลกกำลังเฟื่องฟูจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตรงกับการเกิดขึ้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ที่ส่งเสริมให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การตัดถนนภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย มีส่วนสำคัญในการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม เกิดการบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจและความสะดวกสบายในการขนส่งพืชผลเกษตร ในช่วงเวลานี้ประเทศไทยมีการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ป่าเดิมเป็นจำนวนกว่าร้อยล้านไร่ (ชนกพร ชูติกมลธรรม ใน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 2564, 257-259) ในขณะเดียวกัน การลดลงของความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว นำมาสู่การจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐไทยตามแนวคิดการจัดการป่าที่ได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกาจนเกิดเป็นป่าอนุรักษ์ การจัดการป่าแบบดังกล่าวมีมุมมองเรื่องธรรมชาติบริสุทธิ์ นำไปสู่ความคิดเรื่องป่าปลอดคน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่า การสร้างพื้นที่อนุรักษ์ด้วยการทำแผนที่จึงเปลี่ยนชาวบ้านให้กลายเป็นผู้บุกรุกผิดกฎหมาย ชาวบ้านชาวเขากลายเป็นภัยคุกคามป่าซึ่งเป็นผลจากปฏิบัติการแยกคนออกจากป่า (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อ้างถึงใน ชนกพร ชูติกมลธรรม 2564, 264-265) ความย้อนแย้งของนโยบายในพื้นที่ป่า ก่อนที่จะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ แสดงให้เห็นผ่านการดำเนินงานของรัฐที่ติดตามเกษตรกรซึ่งเข้าไปจับจองที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์ในการเก็บภาษี แต่กลับปฏิเสธการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายให้แก่ชาวบ้าน ส่งผลให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรในพื้นที่ทั้งจากรัฐและกลุ่มทุนธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่


เกษตรนิคมในฐานะเครื่องมือเพื่อปกป้องสิทธิที่ดิน

           ในกรณีของชุมชนพุเม้ยง์ ภายหลังจากพื้นที่ชุมชนถูกประกาศทับซ้อนกับเขตป่าสงวนของรัฐ การทำไร่เชิงเดี่ยวกลายมาเป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพแบบใหม่ของชุมชน ชุมชนพุเม้ยง์รับวัฒนธรรมการทำเกษตรนิคมที่เน้นปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวในพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรม ที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า ไร่เชิงเดี่ยว3 (monocropplantation) โดยรับมาจากบริเวณรอบนอกชุมชนซึ่งทำไร่เชิงเดี่ยวมาก่อนแล้ว ทว่าเนื่องจากความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างชุมชนกับโลกภายนอก การเริ่มต้นทำไร่เชิงเดี่ยวจึงใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา (contract farming) กับนายทุนโรงงานแปรรูปผลผลิตหรือผู้ที่รับซื้อผลผลิต โดยนำพันธุ์พืชที่จะปลูก เครื่องมือทางการเกษตร ปุ๋ย และยาต่าง ๆ มาใช้ทำการเกษตรก่อน เมื่อถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยวจึงค่อยขายให้กับคนกลุ่มเดิมเพื่อชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ติดไว้ โดยผลผลิตที่ได้จะถูกหักเป็นค่าใช้จ่ายที่เคยหยิบยืมมาล่วงหน้า

           พืชที่ปลูกในไร่เชิงเดี่ยวของชุมชนพุเม้ยง์ เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมปลูกโดยทั่วไปในจังหวัดอุทัยธานี เนื่องด้วยมีตลาดรับซื้อผลผลิตพืชเชิงเดี่ยวต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับเวลา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังในช่วง พ.ศ. 2528–2530 ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2548-2549 ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันถูกนำเข้ามาปลูกร่วมกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง แต่ปลูกเพียงส่วนน้อยเพราะไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนถึงช่วง พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา ชุมชนนิยมปลูกสัปปะรดเพื่อส่งขายให้กับโรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงชุมชน กล่าวได้ว่า ชาวพุเม้ยง์ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวกับบริเวณรอบนอกเพื่อความสะดวกและง่ายในการจำหน่ายและการรับซื้อพันธุ์กล้าสำหรับมาปลูกในรอบต่อ ๆ ไป

           นอกจากนี้ การทำไร่เชิงเดี่ยวไม่ได้ถูกนำมาใช้แค่เพื่อแก้ไขการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในชุมชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น การทำไร่เชิงเดี่ยวของชุมชนพุเม้ยง์ยังเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเรื่องที่ดินกับหน่วยงานรัฐด้วย เมื่อการทำไร่หมุนเวียนที่มีการปล่อยทิ้งพื้นที่ให้กลายสภาพเป็นไร่ซากเพื่อฟื้นฟูให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ กลายเป็นภัยต่อการสูญเสียที่ดินของชุมชน ส่งผลให้ชุมชนหันมาทำไร่เชิงเดี่ยว เนื่องจากการปลูกพืชเพียงชนิดเดียวและทำการปรับสภาพพื้นที่ให้ราบ-เรียบ-เตียน-โล่ง ความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีอยู่ในพื้นที่ก็ลดลง ทำให้ไม่สามารถถูกตีความว่าเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ได้ตามการตีความของรัฐในด้านป่าอนุรักษ์ที่นิยมผืนป่าซึ่งยังอุดมสมบูรณ์เป็นหลัก ไร่เชิงเดี่ยวจึงไม่ถูกนับว่าเป็นป่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพราะมีสถานะเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ประกอบกับแนวคิดเรื่องการใช้พื้นที่ป่าให้เกิดประโยชน์ ป่าเสื่อมโทรมยังสามารถทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการปลูกพืชเศรษฐกิจได้ ทำให้ชุมชนยังคงสามารถทำไร่เชิงเดี่ยวในพื้นที่ถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ต่อไปได้

           ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจในพื้นที่ทับซ้อน การตีความไร่ซากเป็นพื้นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ การขยายตัวของการปลูกพืชเศรษฐกิจรอบนอกชุมชน ตลอดจนการห้ามชุมชนเข้าทำไร่หมุนเวียน ผลักดันให้ชุมชนพุเม้ยง์หยิบเอาPlantation มาใช้ต่อสู้ต่อรองสิทธิที่ดินกับรัฐ เพื่อความอยู่รอดและอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมของตนเองได้ จากการสอบถามสมาชิกชุมชน การเลือกเอาไร่เชิงเดี่ยว มาใช้ ณ ช่วงเวลานั้น เป็นผลมาจากการปลูกพืชเศรษฐกิจตามบริเวณรอบนอกชุมชน โดยเป็นทางออกเดียวที่จะแก้ไขปัญหาด้านที่ดิน โอกาสที่ชุมชนจะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกชุมชน และทางออกสำหรับทำเกษตรเมื่อถูกสั่งห้ามทำไร่หมุนเวียนอย่างไม่มีทางเลือกอื่น แม้จะรับรู้ว่าการทำไร่เชิงเดี่ยวจะนำมาซึ่งปัญหาใหม่ ๆ ในชุมชนก็ตาม


ผลกระทบจากการทำ Plantation

           ระยะเวลา 30 กว่าปีที่ชุมชนพุเม้ยง์เปลี่ยนจากการทำไร่หมุนเวียนมาเป็นไร่เชิงเดี่ยว ไร่เชิงเดี่ยวได้เข้ามาเกี่ยวข้องและเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ที่ผสมปนเปกันระหว่างระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชน เศรษฐกิจภายในและภายนอก เทคโนโลยีและแบบแผนปฏิบัติทางการเกษตร ความเชื่อ-พิธีกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน โลกทัศน์ องค์ความรู้ และวัฒนธรรมของชุมชน ที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนทั้งในระดับชุมชน ไปจนถึงแรงผลักดันจากภายนอกที่เข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนผ่านการทำไร่เชิงเดี่ยว (Cramb & McCarthy 2016, 1)

           การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชจากเดิมที่เคยทำไร่หมุนเวียนที่จะมีการสับเปลี่ยนพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรมอยู่เป็นประจำทุกปี พื้นที่ที่เคยถูกใช้ทำไร่ก็จะถูกปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้เกิดการพักฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เป็นระยะเวลาหลายปีก่อนจะกลับมาทำไร่ใหม่อีกครั้ง การทำไร่เชิงเดี่ยวเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานของพื้นที่ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมมีลักษณะราบ-เรียบ-เตียน-โล่ง ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง เพราะเน้นปลูกพืชหลักเพียงชนิดเดียว พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นพื้นที่เชิงเขา (hillslope) ที่องค์ประกอบการทำเกษตรกรรมแตกต่างจากการทำไร่พื้นราบ การทำเกษตรในไร่หมุนเวียนของชุมชนพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภัยแล้ง ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร การทำไร่เชิงเดี่ยวยังทำให้เกิดปัญหาการพังทลายของดินเนื่องจากขาดพืชคลุมดิน การปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำที่มีที่มาจากการทำเกษตรกรรม และการกัดเซาะของหน้าดิน การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุในดินจากการทำเกษตรติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน (Olivier Ribolzi et al. 2017, 1-2) ไร่ผักของชุมชนที่ปลูกเพื่อยังชีพเป็นหลักได้รับผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า พืชสายพันธุ์ท้องถิ่นหลายชนิดสูญพันธุ์ไปจากชุมชนเนื่องจากไม่ทนต่อโรค ยา และสารเคมีที่มาจากไร่เชิงเดี่ยว รวมถึงวัชพืชต่างถิ่นที่ติดมาพร้อมกับพันธุ์พืชเศรษฐกิจจากภายนอกซึ่งแพร่กระจายเข้าไปในไร่ผักของชุมชน

           ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชนและทรัพยากรเปลี่ยนจากสิทธิหน้าหมู่ หรือสมบัติร่วมของชุมชน ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ชุมชนพุเม้ยง์เชื่อว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของทรัพยากรอย่างแท้จริง แม้แต่ในช่วงที่ยังทำไร่หมุนเวียน แม้แต่ละครัวเรือนจะมีไร่ของตัวเอง แต่ไม่มีใครมีกรรมสิทธิ์ในไร่อย่างสมบูรณ์ สิทธิความเป็นเจ้าของคงอยู่แค่ชั่วคราวในพื้นที่ไร่ และผลผลิตเท่านั้น ทรัพยากรที่อยู่นอกเหนือจากพืชผลทางการเกษตร เช่น สัตว์ที่อาศัยอยู่ในไร่ พืชที่ขึ้นตามธรรมชาติหรืออยู่มาก่อนถางไร่ ถือว่าเป็นของส่วนรวมที่สมาชิกคนอื่นสามารถใช้ประโยชน์ได้ (มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ 2558, 6) แต่การทำไร่เชิงเดี่ยว ใช้แนวคิดกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของแบบปัจเจก ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องการเก็บภาษีตามจำนวนที่ดินใช้ประโยชน์ แต่เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ์อย่างเป็นทางการ ชุมชนพุเม้ยง์แบ่งที่ดินโดยใช้วิธีการตกลงและรับรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกชุมชน แนวคิดเรื่องสิทธิหน้าหมู่จึงหายไปจากการทำเกษตรกรรมของชุมชน คงเหลืออยู่แค่บางส่วนที่เป็นเครือญาติหรือมีความสนิทสนมใกล้ชิดกัน เมื่อสมาชิกชุมชนแต่ละคนมีพื้นที่เกษตรกรรมของตัวเอง แต่ละครัวเรือนต้องปลูกพืชในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อส่งขายให้ทันฤดูกาลเก็บเกี่ยว ระบบถือแรงที่เคยใช้แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานจึงเปลี่ยนไปใช้วิธีการจ้างสมาชิกชุมชนคนอื่น ๆ แทน รวมถึงนำเครื่องมือการเกษตรจากภายนอกเข้ามาใช้เพื่อช่วยทุ่นแรงด้วย

           การใช้เครื่องมือการเกษตรเพื่อทุ่นแรง การว่าจ้างแรงงานในไร่ ตลอดจนปุ๋ยและสารเคมีที่เพิ่มมากขึ้นจากการเสื่อมโทรมของความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เกษตรกรรม กลายเป็นต้นทุนทางการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภัยแล้ง ที่ชุมชนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและการขาดทุนจากการทำไร่เชิงเดี่ยว ทำให้หลายครัวเรือนในชุมชนพุเม้ยง์ประสบปัญหาหนี้สินจากภาคการเกษตรมาจนถึงปัจจุบัน ไร่เชิงเดี่ยวนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนที่เคยสัมพันธ์กับการทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียน และสร้างปัญหาให้กับชุมชนในด้านต่าง ๆ ผลักชุมชนเข้าสู่วัฎจักรหนี้จากไร่เชิงเดี่ยวที่ไม่สามารถเลิกทำหรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นได้เนื่องจากปัญหาหนี้สิน การไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน และความขัดแย้งกับรัฐ ที่ทำให้ต้นทุนในการเปลี่ยนอาชีพของชุมชนมีอยู่อย่างจำกัด และบีบให้ชุมชนทำไร่เชิงเดี่ยวต่อไปจนกว่าจะใช้หนี้สินจนหมดได้


สรุป

           ความขัดแย้งด้านที่ดินจากการประกาศเขตป่าสงวนของรัฐทับซ้อนที่ดินของชุมชนพุเม้ยง์เมื่อ พ.ศ. 2528 ผลักดันให้ชุมชนหันไปทำไร่เชิงเดี่ยวแทนไร่หมุนเวียน นับจากนั้นเป็นต้นมาชุมชนพุเม้ยง์ได้เข้าสู่ยุคเกษตรนิคมที่ชุมชนได้มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกมากขึ้นผ่านการทำเกษตรนิคมหรือไร่เชิงเดี่ยว ส่งผลให้พื้นที่ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อาทิ การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เกษตรกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพและพันธุกรรมท้องถิ่น องค์ความรู้เรื่องระบบนิเวศของชุมชน และวัฒนธรรมที่เคยเชื่อมโยงกับการทำไร่หมุนเวียน รวมถึงปัญหาหนี้สิน ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากชุมชนเข้าสู่ยุคเกษตรนิคม หรือ Plantationoceneกล่าวโดยสรุปแล้ว การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติของรัฐไทยจึงเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่ศักราชแห่งเกษตรนิคมในชุมชนพุเม้ยง์สืบมาจนถึงปัจจุบัน


อ้างอิง

Cramb, R., & McCarthy, J. F. (Eds.). (2016). The oil palm complex: Smallholders, agribusiness and the state in Indonesia and Malaysia. Nus Press.

Ribolzi, O., Evrard, O., Huon, S., De Rouw, A., Silvera, N., Latsachack, K. O., ... & Valentin, C. (2017). From shifting cultivation to teak plantation: effect on overland flow and sediment yield in a montane tropical catchment. Scientific Reports, 7(1), 3987.

Tsing, A. L., Mathews, A. S., & Bubandt, N. (2019). Patchy Anthropocene: landscape structure, multispecies history, and the retooling of anthropology: an introduction to supplement 20. Current Anthropology, 60(S20), S186-S197.

Tsing, Anna L., Jennifer Deger, Alder Keleman Saxena, and Feifei Zhou. (2021). Feral Atlas: The More-Than-Human Anthropocene, Redwood City: Stanford University Press, https://feralatlas.supdigital.org/modes/grid.

มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ. (2558). ไร่หมุนเวียน: ประเด็นท้าทายและความหมายมรดกโลกทางวัฒนธรรม. เชียงใหม่: บลูมมิ่ง ครีเอชั่น.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2564). Anthropocene : บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (บก.). กรุงเทพฯ: ศูนย์ฯ.


1  พื้นที่ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดการฟื้นตัวตามธรรมชาติ ตามระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน โดยจะหมุนเปลี่ยนจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพื่อให้พื้นที่ที่เคยถูกใช้ทำการเกษตรได้ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ใหม่ เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งในรอบการหมุน (5-10ปี) ตามแต่สภาพความอุดมสมบูรณ์ ก็จะกลับมาทำการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง

2  ณภัค เสรีรักษ์ แปลคำว่า “patchy” เป็น “หย่อมย่าน” เพื่อเน้นนัยสำคัญของการวิเคราะห์ความเฉพาะเจาะจงเชิงพื้นที่และเวลาของมนุษยสมัย เนื่องจากภูมิทัศน์ต่าง ๆ มีรูปแบบและโครงสร้างที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ภูมิทัศน์ของตนเอง ซึ่งแต่ละหย่อมย่านมีความแตกต่างกันออกไป และควรจะพิจารณาแยกกันตามความเฉพาะเจาะจงนั้น ๆ

3  ในบทความนี้จะใช้สลับไปมาระหว่างเกษตรนิคมกับไร่เชิงเดี่ยว ที่มีลักษณะการปลูกพืชแบบเป็นแถว (row) และตาราง (grid) เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลจัดการและการเก็บเกี่ยว (Tsing, et al., 2021)


ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรง และ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ชุมชนพุเม้ยง์ เกษตรนิคม ป่าสงวนแห่งชาติ ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา