อะไร ๆ ก็ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’
ช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (soft power) เป็นหนึ่งคำศัพท์ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางทั้งโดยภาครัฐ เอกชน หรือภาคประชาชน ราวกับว่านี่เป็นวาระใหม่ของนโยบายทางวัฒนธรรมไทย วลียอดนิยม (buzzword) นี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ โดยเฉพาะความ(ไม่)เข้าใจของสังคมไทยต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทั้งในระดับบทสนทนาในชีวิตประจำวัน การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน นโยบายพรรคการเมือง และวาระทางนโยบายของภาครัฐ บทความนี้มีเป้าหมายสำคัญในการเปิดพื้นที่ในการสร้างบทสนทนาว่าด้วยสิ่งที่เราพูดกันติดปากว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เริ่มต้นจากการสำรวจแนวคิดและทฤษฎี และนำมาสนทนาร่วมกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม
จักรวาล ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ แบบคลาสสิก
“โฆษณาชวนเชื่อที่ดีคือการไม่โฆษณาชวนเชื่อ”1
วิวาทะดังกล่าวสะท้อนจุดเริ่มต้นของการถกเถียงในแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ นั่นคือ บริบทสงครามเย็นที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างโลกทุนนิยมและสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ ผู้ริเริ่มแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) คือ Joseph Nye ร่วมกับ Robert Keohane2 ที่ใช้มุมมองทางรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศศึกษาพลวัตของระบอบการเมืองการปกครอง รวมถึงอำนาจของตัวแสดงกลุ่มต่าง ๆ บนเวทีโลก ทั้งรัฐชาติ องค์การระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติ เอ็นจีโอระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยศึกษาผ่านการเมืองการปกครองที่เชื่อมโยงกับนโยบายสาธารณะ ความสัมพันธ์ทางการทูตและกิจการระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวทางการเมือง (Nye & Keohane, 1977)
สาระสำคัญของข้อเสนอเหล่านั้นคือ การศึกษาความสัมพันธ์ทางอำนาจ (power relations) ภายใต้บริบทปลายสงครามเย็น Nye พยายามชี้ให้เห็นการใช้อำนาจรูปแบบอื่นที่นอกเหนือจากการออกคำสั่งหรือโฆษณาชวนเชื่อเพื่อบีบบังคับให้อีกฝ่ายปฏิบัติตาม หรือที่เรียกว่า ‘ฮาร์ดพาวเวอร์’ (hard power) นั่นหมายถึง การใช้อำนาจที่ปราศจากกำลังทหาร (non-military power) ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรม รสนิยมและความชอบ มุมมองแนวคิด หรือทัศนคติของอีกฝ่ายได้ หรือที่เรียกว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Nye, 1990a, 1990b)
ซอฟต์พาวเวอร์ในทัศนะของ Nye คือ การใช้ทรัพยากรสำคัญ ได้แก่วัฒนธรรม (culture) คุณค่าทางการเมือง (political values) และนโยบาย (policy) ตัวแสดงหนึ่งอาจมีบทบาทบนเวทีโลกโดยใช้ซอฟต์พาวเวอร์โน้มนำให้ตัวแสดงอื่น ๆ ชื่นชมค่านิยมของตน เลียนแบบวัฒนธรรมของตน และปรารถนาที่จะยกระดับความเจริญรุ่งเรืองตามตน โดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจทางการทหารและโฆษณาชวนเชื่อมาบีบบังคับ แต่โน้มนำให้เกิดความร่วมมือ (co-opt) การเลียนแบบ หรือปฏิบัติตามโดยสมัครใจ (Nye, 1990b/2004/2011: 84) กระนั้น การแปลคำศัพท์นี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลต่อการรับรู้และความเข้าใจโดยทั่วไป ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของชำนาญ จันทร์เรือง (2564) ที่ว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ยากที่จะบัญญัติคำศัพท์ภาษาไทย การเลือกใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษอาจสื่อความได้ชัดเจนกว่า3
ก้าว(ไม่)พ้น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ แบบไทย ๆ
มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า การทำความเข้าใจซอฟต์พาวเวอร์ในสังคมไทยมักจำกัดอยู่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ หรือพูดในภาพรวมคือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) โดยเข้าใจ(ไปเอง)ว่าซอฟต์พาวเวอร์คือการส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านกระบวนการทำวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้า (commodification of culture) (พีระ เจริญวัฒนนุกูล, 2561/2565; พิชชากานต์ ช่วงชัย, 2565; พนธกร วรภมร และนณริฏ พิศลยบุตร, 2565) และหลงลืมว่าแท้จริงนั่นคือการใช้อำนาจรูปแบบหนึ่ง (Nye, 2011: 82)
เราจึงควรกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่า ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่เรื่องของวัฒนธรรมเพียงลำพัง แต่เป็นเรื่องการใช้อำนาจผ่านวัฒนธรรมและอำนาจของวัฒนธรรมด้วยตัวของมันเอง ดังนั้น สินค้าทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม หรือการสร้างตราสินค้าทางวัฒนธรรม (cultural branding) นับเป็น ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ที่ใช้ ‘วัฒนธรรม’ หรือ ‘ความสร้างสรรค์’ เป็นทุน ไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง4 แต่ตรรกทางวัฒนธรรม (cultural logic) วิธีการหรืออำนาจในการนำวัฒนธรรมบางอย่างมานำเสนอผ่านสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม สิ่งนี้ต่างหากอาจเรียกว่าเป็น…ซอฟต์พาวเวอร์
ความเข้าใจ(ผิด)ที่ว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ หมายถึง ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ นี่เองที่ทำให้เกิดความเข้าใจซอฟต์พาวเวอร์แบบโรแมนติก หลงคิดว่าซอฟต์พาวเวอร์คือการใช้วัฒนธรรมในการสร้างความภูมิใจให้กับตนเอง สร้างมิตรภาพและทำให้นานาประเทศได้มองเห็นความดีงามหรือศักยภาพทางวัฒนธรรมบนเวทีโลก หรือมองในมุมของผู้ปฏิบัติวัฒนธรรม (cultural practitioners) ก็อาจติดกับดักเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือสูตรสำเร็จของซอฟต์พาวเวอร์ หากในความเป็นจริงนั้น ซอฟต์พาวเวอร์คือการใช้อำนาจรูปแบบหนึ่งและในบางครั้งอาจแฝงด้วยการบีบบังคับ (coercive) หรือการบงการ (manipulative) ได้เช่นกัน5 (e.g., Mattern, 2005; Rothman, 2011; Henne, 2022) หมายความว่า เราไม่ควรพิจารณาซอฟต์พาวเวอร์ในฐานะขั้วตรงข้ามของฮาร์ดพาวเวอร์ แต่ควรพิจารณาว่าซอฟต์พาวเวอร์อาจเกิดขึ้นพร้อมกับฮาร์ดพาวเวอร์ แต่ในระดับความเข้มข้นหรือวิธีที่แตกต่างหรือสมดุลกัน
นอกจากนี้ Nye ขยายความเพิ่มเติมว่า ซอฟต์พาวเวอร์ในเชิงยุทธศาสตร์หรือนโยบายไม่ได้ดำเนินการโดยตรงจากรัฐ เนื่องจากทรัพยากรที่ใช้อยู่นอกการควบคุมของรัฐ โดยรัฐจะมีหน้าที่ในการสร้าง ‘สภาพแวดล้อม’ ที่เอื้อต่อการเกิดความสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และความคิด ผ่านการกำหนดนโยบาย รัฐจึงมิใช่ตัวแสดงหลักสนับสนุนวัฒนธรรม แต่เป็นผู้ออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์และใช้วัฒนธรรม นั่นหมายความว่า ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ความสร้างสรรค์ในการแปรเปลี่ยนวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้า บริการ หรือตราสินค้าเท่านั้น แต่อาจรวมถึงนโยบาย ‘สนับสนุน’ จากรัฐ เช่น บรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ (creative ecology) การสนับสนุนเชิงกฎหมาย การเงิน การตลาด หรือการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
ดังนั้น องค์ประกอบสำคัญอีกประการของซอฟต์พาวเวอร์คือ การดำเนินนโยบายบนฐานอำนาจทางศีลธรรม (moral authority)6 และมีความชอบธรรม (legitimacy) (Nye, 2011: 84; พีระ เจริญวัฒนนุกูล, 2565) ซอฟต์พาวเวอร์อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกยอมรับหรือคล้อยตามได้ หากตัวแสดงนั้นขาดความชอบธรรมทั้งในระดับท้องถิ่นและสากล (glocal illegitimate) หากนโยบายหรือการกระทำเหล่านั้นสร้างความขุ่นเคือง (offend) หรือสร้างความแปลกประหลาด (alienate) ผู้อื่น สิ่งนั้นอาจเรียกว่า ‘soft disempowerment’ (Brannagan & Giulianotti, 2018) ภาพลักษณ์และชื่อเสียงมีส่วนสำคัญไม่มากก็น้อยต่อการยอมรับและคล้อยตามซอฟต์พาวเวอร์ของตัวแสดงนั้น ๆ
ภาพ ภาพยนตร์ไทยที่ไม่ผ่านการเซนเซอร์ด้วยประเด็นศาสนาและความเชื่อ
ที่มา: ขอบสหนัง (นามแฝง) (8 มีนาคม 2566)
ดังเช่นในกรณีของประเทศไทย ปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งซอฟต์พาวเวอร์ไทยคือการขาดการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ศิลปะหรือนวัตกรรม7 แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ต้องมาจากการส่งเสริมและสนับสนุนโดยภาครัฐ ผ่านการส่งเสริมระบบนิเวศแห่งการสร้างสรรค์ที่มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพในการเสนอความคิดของตน ผมเห็นเพิ่มเติมว่า ‘การขาดแคลนเสรีภาพในการแสดงออก’ ยังฉุดรั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยไม่ให้เติบโตได้ด้วยเช่นกัน8 สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมของไทยจึงเปรียบเสมือน ‘สินค้าผ่าน QC’ ในสายตารัฐ มากกว่าจะเป็นผลิตผลของความสร้างสรรค์โดยสมบูรณ์ หรือแม้กระทั่งคุณค่าบางอย่างที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะก็ต้องเป็นสิ่งที่รัฐมองว่า ‘ดีงาม’ และ ‘ไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมอันดี’ กลับกลายเป็นว่า ‘รัฐ’ คือตัวการสำคัญที่คอยกำหนดและบงการว่า อะไร ‘สร้างสรรค์’ และ ‘ขายได้’9
วรรคส่งท้าย: 'ซอฟต์พาวเวอร์’ ยังต้องไปต่อ
นอกจากการกลับมาทบทวนความแตกต่างระหว่าง ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ และ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ แล้ว โจทย์ต่อไปที่สังคมไทยควรสนทนาและหาคำตอบร่วมกันคือ เราจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างไร?ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่แค่เรื่องการนำ ‘วัฒนธรรม’ มาทำเป็นสินค้าและบริการ หรือการนำไปเสนอบนเวทีโลกแบบดาษดื่น นั่นหมายความว่า การมีอยู่ของทรัพยากรทางวัฒนธรรมไม่เพียงพอที่จะด่วน ‘เคลม’ ได้ว่าไทยจะประสบความสำเร็จด้านซอฟต์พาวเวอร์ แต่อาจต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายส่วนพร้อมกัน ทั้งนโยบายและกฎหมาย (ทั้งตัวบทและการบังคับใช้) สภาพแวดล้อม ภาคส่วนต่าง ๆ ในห่วงโซ่คุณค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือระดับย่อยที่สุดคือ การส่งเสริมพัฒนาทักษะและศักยภาพ ‘ทุนมนุษย์’ เป็นต้น และท้ายที่สุด เราควรย้อนกลับมาพินิจ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในฐานะยุทธศาสตร์ (strategy) พิจารณาตั้งแต่ตัวแสดง วิธีการ เป้าหมาย สำคัญที่สุดคือการกลับมาทบทวนว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ โดยใคร? … และทำไปเพื่อใคร?
เอกสารอ้างอิง
Brannagan, P. M. & Giulianotti, R. (2018). The Soft Power–Soft Disempowerment Nexus: the Case of Qatar. International Affairs, 94(5): 1139–1157.
Hall, T. (2010). Unclear Attraction: A Critical Examination of Soft Power as an Analytical Category. Chinese Journal of International Politics, 3(2): 189-211.
Henne, P. S. (2022). What We Talk About When We Talk About Soft Power. International Studies Perspectives, 23(1): 94–111.
Keohane, R. & Nye, J. S., Jr. (1977). Power and Interdependence: World Politics in Transition. Boston, Massachusetts: Little, Brown, and Company.
Mattern, J. B. (2005). Why `Soft Power' Isn't So Soft: Representational Force and the Sociolinguistic Construction of Attraction in World Politics. Millennium: Journal of International Studies, 3(3): 583-612.
Nye, J. S., Jr. (1990a). Bound To Lead: The Changing Nature Of American Power. New York: Basic Books.
Nye, J. S., Jr. (1990b). Soft Power. Foreign Policy, 80: 153-171.
Nye, J. S., Jr. (2004). Soft Power: The Means To Success In World Politics. New York: Public Affairs.
Nye, J. S., Jr. (2011). The Future of Power. New York: Public Affairs.
Nye, J. S., Jr. (2012, May 8). China's Soft Power Deficit: To Catch Up, Its Politics Must Unleash the Many Talents of Its Civil Society. The Wallstreet Journal. https://wsj.com/articles/SB10001424052702304451104577389923098678842.
Rothman, S. B. (2011). Revising the Soft Power Concept: What Are the Means and Mechanisms of Soft Power? Journal of Political Power, 4(1): 49-64.
ชำนาญ จันทร์เรือง. (28 ตุลาคม 2564). ชำนาญ จันทร์เรือง: ซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) คือ อะไร?. ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2021/10/95654.
พนธกร วรภมร และนณริฏ พิศลยบุตร. (19 เมษายน 2565). Soft power ไทย เหตุใดจึงยังไม่เวิร์ค. TDRI. https://tdri.or.th/2022/04/soft-power-thai/
พิชชากานต์ ช่วงชัย. (14 มีนาคม 2565). Soft Power, วัฒนธรรม กับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย. คิด Creative Thailand. https://creativethailand.org/view/article-read?article_id=33445.
พีระ เจริญวัฒนนุกูล. (2561). พินิจแนวคิด Soft Power อย่างจริงจัง: ปัญหาและความเข้าใจผิดในการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้ในงานวิชาการไทย. รัฐศาสตร์นิเทศ, 4(1-2): 237-277.
พีระ เจริญวัฒนนุกูล. (2565). "ยุทธศาสตร์ Soft Power" ของไทย และความหนักใจในการสร้าง Moral Authority ด้านการต่างประเทศ. วิเทศปริทัศน์, https://isc.mfa.go.th/en/content/ยุทธศาสตร์-soft-power-ของไทย?cate=5f204a5928600c531517cb75.
1 Joseph S. Nye Jr. (2012, May 8). China's Soft Power Deficit: To Catch Up, Its Politics Must Unleash the Many Talents of Its Civil Society. The Wallstreet Journal. https://www.wsj.com/articles/SB10001424052702304451104577389923098678842.
2 See Robert Keohane & Joseph Nye Jr. (1977). Power and Interdependence: World Politics in Transition. Boston, Massachusetts: Little, Brown, and Company.
3 เช่น อำนาจอ่อน พลังอำนาจแบบอ่อน อำนาจแบบอ่อน อำนาจนุ่ม อำนาจละมุน พลังอำนาจแบบฉลาด อำนาจโน้มนำ อำนาจโน้มน้าว อำนาจน้าวนำ อำนาจทางวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มจะสร้างข้อจำกัดของการรับรู้และเข้าใจเพียงบางมิติเท่านั้น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในแง่หนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคำศัพท์นี้ควรมีการถกเถียงอย่างเป็นวงการทั้งในวงวิชาการและการออกแบบนโยบาย
4 หรือที่ พีระ เจริญวัฒนนุกูล (พฤษภาคม 2565) เรียกว่า ‘วิธีดำเนินการ’ (soft power resources) ในยุทธศาสตร์ soft power
5 ในงานศึกษาด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีถกเถียงเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องอำนาจของตัวแสดงในระดับข้ามชาติ (transnational) หรือหลากชาติ (multinational) เช่น ‘smart power’ ที่ผสานระหว่างฮาร์ดพาวเวอร์และซอฟต์พาวเวอร์ (ส่วนมากเพื่อประโยชน์ทางการทหาร, ‘sharp power’ ผ่านการใช้การทูตเชิงบงการ (manipulative diplomatic policies) ในการสร้างอิทธิพลเหนือประเทศเป้าหมาย อาทิ การจัดตั้งสถาบันและสนับสนุนกิจกรรมภาษาและวัฒนธรรมในต่างแดน เช่น British council, Goethe-Institut, Alliance Française, YSEALI, สถาบันขงจื่อ หรือการมอบทุนการศึกษา เป็นต้น และ ‘soft disempowerment’ ดังที่กล่าวถึงในบทความ
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การจัดตั้งสถาบันภาษาและวัฒนธรรมในต่างแดน เช่น สถาบันขงจื่อ (Confucius Institute) ในมหาวิทยาลัยของไทย
6 คำศัพท์นี้เป็นอีกคำที่ผมมีปัญหา เพราะ ‘อำนาจทางศีลธรรม’ มีแนวโน้มจะสะท้อนผ่านคุณค่าเชิงศาสนาและความเชื่อ ความดีความชั่ว มากกว่าอำนาจการเมืองในทางโลก (secularism)
7 กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการดำรงอยู่ภายใต้วาทกรรม ‘วัฒนธรรมอันดีงาม’ ทำให้ตัวแสดงต่าง ๆ ในสังคม มุ่งพิทักษ์คุณค่าของวัฒนธรรมที่พวกเขามองว่าเป็นสิ่งดีงาม ราวกับ ‘ตำรวจวัฒนธรรม’ หรือ ‘ตำรวจศีลธรรม’ ซึ่งอาจกระทำผ่านปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน หรือผ่านการหมายและนโยบาย เช่น การตรวจสอบผลผลิตทางวัฒนธรรมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี(ในสายตาของรัฐ) เป็นต้น เช่น การตรวจสอบภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาขัดกับศีลธรรมอันดีในสายตารัฐ การปลดศิลปินแห่งชาติ การตรวจสอบผลงานสร้างสรรค์ของศิลปิน เป็นต้น
8 พีระ เจริญวัฒนนุกูล (พฤษภาคม 2565) สำรวจความคิดเห็นต่อแนวคิดทฤษฎีซอฟต์พาวเวอร์ของผู้กำหนดนโยบายไทย พบข้อคิดเห็นสำคัญที่ชวนพิจารณา ได้แก่ “อันนี้คือการตีความ Soft Power ในทางวิชาการ แต่ในทางปฏิบัติทาไม่ได้และไม่ใช่สิ่งที่ประเทศขนาดเท่าไทยพึงกระทำ” “แนวคิด Soft Power อาจต้องถูกหนุนด้วยอำนาจทางการทหารถึงจะประสิทธิ์สัมฤทธิ์ผล” “แม้ว่าจะเห็นด้วยกับผู้เขียน แต่ตราบเท่าที่ยังหาคำอื่นที่เหมาะไม่ได้ก็จะขอเรียกสิ่งเหล่านี้ (วัฒนธรรม ฯลฯ) ว่า Soft Power ไปเสียก่อน” “สิ่งที่ไทยต้องการคือการขายวัฒนธรรมเพื่อนำเม็ดเงินเท่าประเทศ ไม่ได้หวังผลทางการเมืองอื่นใด” “Soft Power ที่ดีต้องประกอบด้วยเรื่องเล่าหรือ Narrative ด้วย” “การสร้าง Soft Power นั้น การใช้กำลังทหาร Lead by Examples ก็สามารถหวังผลที่ดีได้ด้วย” เป็นต้น ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาโจมตีหรือเห็นแย้งกับความคิดเหล่านี้ เพราะมีหลายประเด็นที่ชวนคิดสืบเนื่อง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่าง hard power - soft power, ปัญหาของการนิยามคำศัพท์, เจตนารมณ์ทางการเมืองกับซอฟต์พาวเวอร์ เป็นต้น
9 สิ่งที่ ‘ขายได้’ อาจต้องพิจารณาครอบคลุมถึงนโยบายหรือกฎหมายทางเศรษฐกิจของรัฐ เช่น ‘กฎหมายควบคุมสุรา’ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นข้อจำกัดในการเติบโตของผู้ผลิตรายย่อยในอุตสาหกรรมสุรา
ผู้เขียน
นิฌามิล หะยีซะ
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ป้ายกำกับ ซอฟต์พาวเวอร์ soft power นิฌามิล หะยีซะ