อย่ามาเล่นกับ “ไฟ” ของคนเริ่มทำงานใหม่

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 8454

อย่ามาเล่นกับ “ไฟ” ของคนเริ่มทำงานใหม่

           กระทู้หนึ่งบนเว็บไซต์พันทิปที่ว่า “เด็กจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงาน แต่รู้สึก Burnout ผิดไหมครับ”1 ชวนให้พิจารณาถึงอาการหมดไฟ (Burnout) มิใช่ในฐานะความรู้สึกของปัจเจกบุคคลโดยลำพัง แต่เป็นปรากฏการณ์และอาการป่วยไข้ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในสังคม โดยกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะหมดไฟมากที่สุดคือคนเริ่มทำงาน (First jobber) โดยเฉพาะมนุษย์วัยทำงานที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในบทความนี้ผู้เขียนจะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนเริ่มทำงานใหม่กับอาการหมดไฟผ่านมุมมองด้านมานุษยวิทยาแรงงาน (Anthropology of Labor) โดยสะท้อนประสบการณ์ของตนเองและคนใกล้ตัว


เส้นทางของ “คนเริ่มทำงาน”

           คนเริ่มทำงานใหม่หรือที่เรียกติดปากว่า “First jobber” หมายถึง กลุ่มวัยรุ่นที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและเพิ่งเริ่มต้นทำงาน โดยทั่วไปมักหมายถึงผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ผ่านการพัฒนาทักษะเฉพาะทางและก้าวเข้าสู่การเป็นแรงงานและการได้รับค่าจ้าง (Sthapitanonda, 2017) ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่าควรอ่านคำนี้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจสับสนกับ “เด็กจบใหม่” (New graduate/Fresh graduate)2  ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เพิ่งเรียนจบแต่ยังไม่ได้เข้าสู่โลกของการทำงาน นั่นหมายความว่า ปัจจัยเงื่อนไขหรือบริบทที่คนสองกลุ่มนี้กำลังเผชิญอยู่มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป คนเริ่มทำงานใหม่จึงหมายถึง คนที่อยู่ในสถานะของแรงงานหรือลูกจ้างในช่วงเริ่มต้นหลังสำเร็จการศึกษา

           ในปัจจุบันลักษณะของคนเริ่มทำงานใหม่แบ่งได้ตามลักษณะของการจ้างงาน ได้แก่ แรงงานประจำ (Full-time) แรงงานชั่วคราว (Part-time) แรงงานฟรีเตอร์ (Freeter)3 แรงงานสัญญาจ้าง แรงงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ เป็นต้น โดยลักษณะการทำงาน ผลผลิตของงาน และเงื่อนไขในการทำงานของแรงงานแต่ละรูปแบบก็แตกต่างกันไป ทั้งนี้ผู้เขียนสนใจแรงงานในสำนักงานหรือแรงงานคอปกขาว (White-collar worker) ที่อยู่ในสถานะเป็นแรงงานที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ด้านหนึ่งแรงงานกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความกดดันในหลากหลายเรื่อง ทั้งจากแรงกดดันจากภายในองค์กรและสังคมภายนอก อีกทั้งยังเป็นกลุ่มแรงงานที่มีแนวโน้มจะเผชิญกับสภาวะหมดไฟ (Burnout syndrome) ได้มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง การศึกษาชีวิตของแรงงานเริ่มทำงานใหม่ในบทความนี้เพื่อวิพากษ์มายาคติในสังคมปัจจุบันว่า “เด็กรุ่นใหม่ไม่สู้งาน” ขณะเดียวกันก็ชวนสำรวจโลกทัศน์และประสบการณ์ของคนเริ่มทำงานใหม่ที่แทบไม่มีใครสนใจ


เจนเนอรัล เบ๊: ผู้แบกรับงานเฮงซวยประจำองค์กร

           เจนเนอรัล เบ๊ (General bae) หมายถึง แรงงานที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งเฉพาะ แต่ทำงานด้านสนับสนุนและช่วยเหลือทั่วไปในทุกตำแหน่งและทุกแผนกของบริษัท เพราะผู้ว่าจ้างประเมินว่าทักษะหรือศักยภาพของแรงงานคนนั้นไม่ตอบโจทย์กับผลผลิตหรือตัวชี้วัดขององค์กร หรืออีกเหตุผลคือการกำหนดลักษณะงาน (Job description) เพื่อรองรับการทำงานเช่นนี้ ในปัจจุบันเริ่มปรากฏให้เห็นถึงความย้อนแย้งและไม่สัมพันธ์กันระหว่างตำแหน่งงาน (Job position) และลักษณะงาน โดยเฉพาะในตำแหน่งที่เปิดรับผู้ถือวุฒิปริญญาตรี และยินดีที่จะรับเด็กเพิ่งเรียนจบ เพราะตำแหน่งเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีทักษะความรู้เฉพาะและผู้จ้างงานไม่จำเป็นต้องจัดการฝึกอบรมให้กับแรงงานที่เริ่มทำงานใหม่

           ลักษณะงานของเจนเนอรัลเบ๊มีลักษณะใกล้เคียงกับที่ David Graeber เรียกว่า “งานเฮงซวย” (Bullshit job) ซึ่งเป็นงานที่ไร้จุดมุ่งหมาย (Pointlessness) ไม่มีความจำเป็น แม้กระทั่งแรงงานก็ไม่สามารถสร้างความชอบธรรมต่องานเหล่านั้นได้ แต่จำเป็นต้องทำเพราะเป็นเงื่อนไขของการจ้างงาน พูดง่าย ๆ คือ เป็นงานที่ไร้สาระและไร้คุณค่าในอาชีพของตนเอง แม้ว่าจะไม่มีคนทำงานตำแหน่งนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อองค์กร เช่น งานเอกสารทั่วไป พนักงานฝ่ายต้อนรับ เป็นต้น ขณะเดียวกันเกรเบอร์อธิบายความแตกต่างของ Bullshit job จากงาน Shit job ที่เป็นงานใช้แรงกายในการทำงาน แม้คนทำงานไม่มีความสุขกับการทำงาน แต่ก็พอรับรู้ประโยชน์ของงานและความสำคัญของแรงงาน (Graeber, 2018)

           ด้านหนึ่งเจอเนอรัลเบ๊หรืองานเฮงซวยปรากฏในลักษณะของตำแหน่งงานที่ผู้เขียนจะเรียกว่าเป็นตำแหน่งงานสายสนับสนุน เช่น ทักษะการใช้โปรแกรมออฟฟิสทั่วไป ทักษะการทำเอกสาร ทักษะการสื่อสารในที่สาธารณะ เป็นต้น งานของเจอเนอรัลเบ๊จึงมีลักษณะเป็นงานผ่อนแรงคนที่ทำงานในตำแหน่งอื่นมากกว่าจะเป็นงานที่ใช้ทักษะเฉพาะ ขณะเดียวงานเฮงซวยอาจแฝงมาในลักษณะของงานเพิ่มเติม (Add-on work) ที่มอบหมายให้ลูกจ้างบางกลุ่มรับผิดชอบ โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ในตำแหน่งล่างของโครงสร้างองค์กรทั้งหมด และโดยทั่วไปก็เป็นงานที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะส่งผลต่อการประเมินศักยภาพลูกจ้าง

           จะเห็นได้ว่า งานเฮงซวยเป็นหนึ่งสิ่งที่สะท้อนการเมืองในสถานที่ทำงาน นางสาวดอกไม้ (นามสมมติ)4 เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

“บางครั้งเรามีภาระงานที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ก็จะถูกสั่งให้ทำงานอะไรสักอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ เราก็เกรงใจไม่กล้าปฏิเสธ กลัวจะถูกด่าว่าเป็นคนเกี่ยงงาน พอไม่ปฏิเสธก็กลายเป็นงานเราโอเวอร์โหลด (ล้น) ไป”

           ขณะเดียวกันนายต้นไม้ (นามสมมติ) ให้ความเห็นในลักษณะเดียวกันแต่เพิ่มเติมว่า

“งานพวกนี้จะมาพร้อมกับคำพูดประมาณว่าอยากให้เราเรียนรู้งาน ทั้งที่เป็นงานที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย”

           แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่คนเริ่มทำงานใหม่ (และถูกประเมินว่าไร้ทักษะและความชำนาญเฉพาะ) ถูกคาดหวังให้อยู่ในระบบของการเรียนรู้งานตลอดเวลา แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านงานเฮงซวยที่ไม่ช่วยพัฒนาทักษะอะไรเลย


วัฒนธรรม(ใน)องค์กร: อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน(?)

           ผู้เขียนมองว่าสุขภาพจิตกับการทำงาน โดยเฉพาะในฐานะคนเริ่มทำงานใหม่ในสำนักงานขึ้นอยู่กับทั้งวัฒนธรรมองค์กร (Organizational culture) และวัฒนธรรมภายในองค์กร (Culture in organization) โดยคำแรกหมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือภายในองค์กร ธรรมเนียมองค์กร หรือเป้าหมายองค์กรที่ทุกคนมองเห็นเป็นภาพเดียวกัน และใช้เป็นแนวทางสำหรับการกำหนดวิธีการทำงาน (Ouchi & Wilkins, 1985) ขณะที่คำหลังหมายถึง แบบแผนการใช้ชีวิต รวมถึงปฏิสัมพันธ์และการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งภายในองค์กร โดยผู้เขียนจะเน้นไปที่พหุปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกภายในองค์กรเป็นหลัก

           วัฒนธรรมองค์กรมีหลากหลายรูปแบบ แต่วัฒนธรรมหนึ่งที่ผู้เขียนค้นพบจากการสนทนากับมิตรสหายคนเริ่มทำงานใหม่หลายคนคือ วัฒนธรรมที่คาดหวังต่อประสิทธิภาพในการทำงานของคนในองค์กร (Productivity culture) หรือที่เรียกว่า “วัฒนธรรมโปรดักทีฟ” ด้านหนึ่งเป็นความคาดหวังต่อกระบวนการทำงาน โดยผลักภาระให้พนักงานแสดงศักยภาพหรือพัฒนาตัวเองให้เก่งมากขึ้น ทำงานได้รวดเร็วขึ้น และจำนวนมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในยุคหลังการผลิตแบบฟอร์ดที่บีบบังคับให้เราต้องมีความยืดหยุ่นพัฒนาทักษะ (Re-skill) อยู่ตลอดเวลา (Fisher, 2009) และอีกด้านหนึ่งคือความคาดหวังต่อผลงาน ตัวเลขหรือการประเมินผล (KPI) กลายเป็นเครื่องมือในการคัดเลือกว่าใครโปรดักทีฟหรือไม่

           มองผิวเผินอาจดูเหมือนว่าวัฒนธรรมโปรดักทีฟนี้จะทำงานผ่านค่านิยมหรือวัฒนธรรมองค์กรเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงประสิทธิภาพ (Productivity) ก็ทำงานในระดับความคิดเช่นกัน Byung-chul Han เสนอในหนังสือ The Burnout Society (2015) ว่าเรากำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมแห่งวินัย (Disciplinary society) ที่ควบคุมด้วยอำนาจของการห้าม (may not) หรือ ควร (Should) ไปสู่สังคมแห่งความสำเร็จ (Achievement society) ที่ทุกอย่างกลายเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างไม่สิ้นสุด (Ultimate can) หากใครไม่สามารถทำได้ (Can’t do) ก็จะกลายเป็นคนล้มเหลวหรือคนขี้แพ้ (Looser) นั่นเอง แน่นอนว่าวัฒนธรรมโปรดักทีฟไม่ได้ทำงานเป็นเอกเทศ แต่เกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีวัฒนธรรมโปรดักทีฟอยู่

           วัฒนธรรมโปรดักทีฟจึงเปรียบเสมือนคำลวงให้เราหลงเชื่อว่าเราเป็นอิสระ สามารถทำอะไรได้โดยปราศจากการควบคุม หากแต่ความเป็นจริงเราตกอยู่ในสภาวะความเป็นทาสของความสำเร็จ ที่กระตุ้นให้เรารู้สึกโหยหาความสำเร็จหรือความโปรดักทีฟตลอดเวลา สังคมปัจจุบันมนุษย์จึงกลายเป็นทั้งนายและทาสของตัวเองเพื่อผลิตคือความสำเร็จและภาพลักษณ์ในแง่ดี โดยที่ไม่เหลือพื้นที่ว่างสำหรับความผิดพลาดล้มเหลว หรือไม่มีพื้นที่สำหรับพวกคนอ่อนแอและขี้แพ้ และภาระรับผิดชอบในการรับมือกับสรรพสิ่งไม่ว่าจะดีหรือเลวถูกโยนไปสู่ปัจเจก (ibid.; Fisher, 2009, loc.cit./2018) ความคิดเช่นนี้นำไปสู่วัฒนธรรมการทำงานหนัก (Work hard culture) ที่ถูกให้ความหมายว่าเป็นการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น การหยุดพักหรือการทำงานอย่างล่าช้ากลายเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาและจะถูกมองว่าเป็นคนอู้งาน (Slack off) ไม่สู้งาน

           ขณะเดียวกันวัฒนธรรมภายในองค์กรก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตแรงงานเช่นเดียวกัน นายต้นไม้และนางสาวดอกไม้สะท้อนความเห็นหนึ่งที่ใกล้เคียงกันคือ ปัญหาที่มักพบเจอบ่อยครั้งคือเรื่องช่องว่างระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง ช่องว่างในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงช่องว่างทางวัย (Gen gap) เท่านั้น แต่เป็นช่องว่างหรือความแตกต่างทางอำนาจของหัวหน้าและลูกจ้าง นางสาวดอกไม้สะท้อนกับผู้เขียนว่า

“พอเห็นเราเป็นเด็กอายุน้อย หัวหน้าไม่ค่อยจะเคารพเราสักเท่าไหร่ บางทีนัดประชุมเวลานี้ แต่พอถึงเวลาก็ขอเลื่อนกะทันหัน ไม่ได้คิดเลยว่าเราก็เตรียมตัวและมีเวลาของตัวเองเหมือนกัน”

           อีกด้านหนึ่งคือความแตกต่างทางทัศนคติ นายทะเล (นามสมมติ) สะท้อนว่า

“อย่างเรื่องความคิดอะไรบางอย่างก็มีส่วน ออฟฟิสไหนที่ดีหน่อยก็คุยกันได้ แต่บางที่ที่อาการหนักก็คือพาลมาลงกับเราทุกเรื่อง เหมือนเราเป็นสนามอารมณ์”

           ปัญหาอีกอย่างที่คนเริ่มทำงานใหม่มักจะพบเจอคือ การถูกตีตราจากองค์กรหรือเพื่อนร่วมงานว่าเป็นคนที่ไร้ทักษะและความชำนาญเฉพาะ โดยเฉพาะในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับคุณวุฒิ ผลลัพธ์คือกลุ่มคนเริ่มทำงานใหม่เหล่านี้จะเผชิญกับการดูถูกหรือกระแนะกระแหนคนเพิ่งเริ่มทำงาน หรือในบางครั้งอาจนำไปสู่การด่าทอด้วยน้ำเสียงและอารมณ์ที่รุนแรง มิตรสหายของผู้เขียนสะท้อนให้ฟังว่า

“เราก็งงเหมือนกัน เขาไม่ยอมให้เรารับผิดชอบงานใหญ่เพราะเราเป็นเด็กใหม่ อีกมุมหนึ่งถ้าเราทำอะไรผิดก็จะโทษเราทันทีว่าเราเป็นเด็กใหม่ มันน่ารำคาญมากเลย”

           สิ่งที่ควรคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แฝงอยู่กับปฏิบัติการเหล่านั้น คุณวุฒิ ประสบการณ์ และความสามารถกลายเป็นตัวชี้วัดความอาวุโส และถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมอำนาจของคนบางกลุ่ม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรูปแบบนี้เองที่นำไปสู่วัฒนธรรมอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ และการเมืองเรื่องการแบ่งฝ่ายภายในองค์กรอย่างไม่เป็นทางการผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัว


“ไฟ” ที่ค่อย ๆ ดับของคนเริ่มทำงานใหม่

           ปัญหาเรื่องเจนเนอรัลเบ๊ งานเฮงซวย วัฒนธรรมโปรดักทีฟ หรือวัฒนธรรมอำนาจนิยมและการแบ่งฝ่ายภายในองค์กรเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของปัญหาที่คนเริ่มทำงานใหม่ แต่สิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะชี้ให้เห็นคือ ปัญหาเหล่านี้สัมพันธ์กับสุขภาพจิตของคนทำงาน Mark Fisher (2009) อธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ผ่านแนวคิดโลกสัจนิยมแบบทุน (Capitalist realism) ที่ทุนได้ครอบงำความรู้สึกและความปรารถนาทางจิตใจ บีบบังคับให้เราต้องทะเยอทะยาน เพ้อฝัน นำไปสู่การเสนอให้คิดบวก ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค บอกให้เราลงทุนพัฒนาและปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนที่ดีขึ้น (Better self) อย่างไม่หยุดหย่อน

           คนเริ่มทำงานใหม่เหล่านี้ต้องเผชิญกับการบีบบังคับให้รับผิดชอบงานเฮงซวยและกลายเป็นเจนเนอรัลเบ๊มากกว่าคนในตำแหน่งอื่น เพราะอคติหรือมายาคติว่าพวกเขาคือคนที่ไม่มีทักษะหรือความสามารถเพียงพอ ขณะเดียวกันก็เป็นงานที่ผู้ว่าจ้างไม่ต้องเสียเวลาและทุนสำหรับการฝึกอบรมคนเริ่มทำงานใหม่ David Graeber (2019) ตั้งข้อสังเกตได้อย่างน่าสนใจว่า งานเฮงซวยซึ่งเป็นงานที่ได้จุดมุ่งหมายและดูไร้คุณค่า กลายเป็นความรุนแรงทางจิตวิญญาณที่ทำลายสารัตถะว่าด้วยความหมายของการเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันผลตอบแทนที่ได้รับก็ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพและชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ท้ายที่สุดงานเฮงซวยเหล่านี้จะทำให้คนเริ่มทำงานใหม่เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง (Hopelessness) และความเกลียดชังตัวเอง (Self-loathing) เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าคุณค่าของตนเองและงานของตนเองคืออะไร ขณะเดียวกันคนเริ่มทำงานใหม่ที่ต้องรับผิดชอบงานเฮงซวยเพิ่มเติมจากภาระงานหลักก็จะทำให้ภาระงานล้นเกิน (Over-load work) สร้างความเหนื่อยล้าทั้งทางกายและใจ จนท้ายที่สุดอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้า (Depression)

           ขณะเดียวกันคนเริ่มทำงานใหม่เหล่านี้ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่บีบบังคับให้พวกเขาต้องพัฒนาตัวเองและกลายเป็นคนที่โปรดักทีฟตลอดเวลา มิใช่เพียงพวกเขาอยู่ในสังคมของการแสวงหาความสำเร็จเท่านั้น แต่อีกด้านคือพวกเขาต้องเผชิญจากสังคมที่ตีตราว่าพวกเขาคือคนไร้ความสามารถ การพัฒนาตัวเอง การขยันสร้างผลงาน และการทำตัวเองให้กลายเป็นคน โปรดักทีฟจึงกลายเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ตนเองที่ด้านหนึ่งก็เป็นผลดีสำหรับตัวปัจเจกเอง แต่อีกด้านก็เป็นตัวกัดกินแรงกายแรงใจของปัจเจก สิ่งเหล่านี้คอยปัดเป่าให้ไฟในตัวของคนเริ่มทำงานใหม่เหล่านี้ค่อย ๆ ดับลงช้า ๆ

           Byung-chul Han (2015/2017) ตั้งข้อสังเกตว่า ในสังคมที่เต็มไปด้วยทาสของความสำเร็จ ทุกคนล้วนเป็นนายและทาสของตัวเอง การทำงานไม่ได้เป็นปัจจัยหลักประการเดียวที่สร้างความเหนื่อยล้าให้กับร่างกายและจิตวิญญาณ (tired soul) แต่ยังรวมถึงความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นภายในจิตใจจากความกดดันที่จะต้องเป็นคนโปรดักทีฟและดีขึ้นอยู่ตลอดเวลาแม้ในเวลาหลังเลิกงาน สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า (Depression) นอกจากนี้ฮานสะท้อนให้เห็นว่าโรคพยาธิรูปแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือการหมดไฟในการทำงานเกิดขึ้นเพราะคนในสังคมมีภูมิคุ้มกันแง่บวก (positivity) มากเกินไป ความสำเร็จกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีตัวตน (someone) และในทางกลับกันความผิดพลาดหรือความล้มเหลวก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขากลายเป็นพวกขี้แพ้หรือไร้ตัวตนได้เช่นเดียวกัน

           นอกจากนี้ วัฒนธรรมอำนาจนิยมในที่ทำงานและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนำไปสู่การนำสายสัมพันธ์หรือผลประโยชน์ต่างตอบแทนส่วนตัวมาสร้างความเป็นพวกพ้อง รวมถึงสร้างความเป็นพวกเรา (us) และพวกเขา (them) ที่แยกขาดจากกัน แม้จะทำงานอยู่ในสถานที่ทำงานหรือแม้กระทั่งฝ่ายเดียวกัน ปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่พนักงานใหม่จะเริ่มต้นทำงาน ปัญหาเหล่านี้ถูกผลักให้เป็นภาระในการตัดสินใจของเด็กจบใหม่ว่า ในสภาพแวดล้อมอันเต็มไปด้วยอำนาจนิยมและระบบพวกพ้องเหล่านี้ เขาจะเลือกคบค้าสมาคมหรือสร้างสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนกลุ่มไหนเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในองค์กรแห่งนั้น


บทสรุป

           สิ่งที่คนเพิ่งเริ่มทำงานใหม่หลายคนต้องเผชิญในยุคปัจจุบันคือ งานเฮงซวย วัฒนธรรมโปรดักทีฟ และวัฒนธรรมภายในองค์กรที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิตของแรงงานคนนั้น หลักฐานเหล่านี้เครื่องมือหนึ่งที่สามารถโต้แย้งกับมายาคติที่ว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่สู้งาน เพราะเบื้องลึกแล้วเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องเผชิญกับงานที่ไม่ได้พัฒนาทักษะและความชำนาญ อีกทั้งต้องเผชิญแรงกดดันจากภายนอกที่ฝังรากลึกอยู่ภายในจิตใจว่าพวกเขาต้องเป็นคนที่โปรดักทีฟ เก่ง และประสบความสำเร็จตลอดเวลา รวมถึงต้องเผชิญกับสงครามจิตวิทยาและการเมืองในสถานที่ทำงานที่พวกเขาไม่เคยรับรู้มาก่อน สนามของการทำงานจึงไม่ได้มีเพียงแรงงานกับงานเพียงลำพัง แต่ยังอะไรอีกหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานได้เช่นกัน

           สรรพปัญหาที่รุมเร้าคนเริ่มทำงานใหม่เหล่านี้ชวนให้ผู้เขียนนึกถึงประโยคที่ว่า “เลือกทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักหรือชอบ” ซึ่งมีแนวโน้มจะสร้างจินตภาพสวยหรู (Romanticize) ที่ว่า แม้งานเหล่านั้นจะเฮงซวย บีบบังคับให้เราต้องกดดันตัวเองตลอดเวลา หรือเป็นงานที่เราต้องอยู่ท่ามกลางสงครามจิตวิทยาและอำนาจนิยมในที่ทำงานก็ตาม แต่เราก็เลือกที่จะทำมันต่อ เพราะมันเป็นงานที่เรารัก ประโยคนี้คือรูปธรรมที่ชัดเจนของโลกสัจนิยมแบบทุนตามที่ฟิชเชอร์เสนอ เพราะมันพยายามปิดบังปัญหาของงานและการทำงานด้วยคำว่า “รัก” หรือ “ชอบ” ของปัจเจกบุคคล ซึ่งแท้จริงแล้วเราไม่ได้จำเป็นต้องรักการทำงาน ไม่จำเป็นต้องรักงาน และไม่จำเป็นต้องมีงานที่รัก เพราะ Work won’t love you back[5]

 

เอกสารอ้างอิง

Fisher M., Ambrose, D. & Reynolds, S. (2018). K-Punk: The Collected and Unpublished Writings of Mark Fisher (2004-2016). London: Repeater Books.

Fisher, M. (2009). Capitalist Realism: Is There No Alternative? Winchester, UK: Zero Books.

Graeber, D. (2018). Bullshit Jobs: A Theory. New York: Simon & Schuster.

______ (2019). Bullshit Jobs: The Rise of Pointless Work, and What We Can Do About It. London: Penguin Books.

Han, B. C. (2015). The Burnout Society. Stanford, California: Stanford Briefs.

______ (2017). Psychopolitics: Neoliberalism and New Technologies of Power. London: Verso.

Honda, Y. (2005). 'Freeters' : young atypical workers in Japan. Japan labor review, 2(3): 5-25.

Inui, A. (2009). NEETs, freeters and flexibility: reflecting precarious situations in the new labour market. In Furlong, A. (Editor). Handbook of Youth and Young Adulthood: New Perspectives and Agendas. (pp.176-181). London: Routledge.

Jaffe, S. (2021). Work Won't Love You Back: How Devotion to Our Jobs Keeps Us Exploited, Exhausted, and Alone. New York: Bold Type Books.

Ouchi, W. G. & Wilkins, A. L. (1985). Organizational Culture. Annual Review of Sociology, 11: 457-483.

Sthapitanonda, P. (2017). Communicating Financial Literacy: The Challenging Routes in Engaging Thai First Jobbers in the new Financial Landscape. https://www.adb.org/sites/default/files/project-documents/48152/48152-001-tacr-en.pdf.

คณะวิจัย TDRI. (2564, 14 พฤษภาคม). ประสิทธิภาพของโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ (Co-payment) จากรัฐบาล. https://tdri.or.th/2021/05/covid-123/.

พิมพ์ชนก โฮว, เกวลิน ศรีวิชยางกูร และภัทรียา นวลใย. (2565). Youth unemployment: ส่องตลาดแรงงานเด็กจบใหม่ยุค COVID-19. https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/RegionalEconomy/
DocLib14/RL_Youth_Unemployment_COVID19.pdf
.

สมาชิกหมายเลข 5384424. (2565, 21 กันยายน). เด็กจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงาน แต่รู้สึก Burnout ผิดไหมครับ.พันทิปดอทคอม. https://pantip.com/topic/41643400.


1  สมาชิกหมายเลข 5384424, (2565, 21 กันยายน), เด็กจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงาน แต่รู้สึก Burnout ผิดไหมครับ, พันทิปดอทคอม, https://pantip.com/topic/41643400.

2  งานศึกษาทางเศรษฐศาสตร์แรงงานหรือสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ “เด็กจบใหม่” เป็นหลัก ทั้งในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากสถาบันการศึกษาสู่การทำงาน หรือปัญหาการว่างงานในเด็กจบใหม่ (Youth unemployment) เป็นต้น ขณะที่งานศึกษาคนเริ่มทำงานใหม่ยังปรากฏอยู่อย่างจำกัด ตัวอย่างงานศึกษา เช่น งานศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยของ พิมพ์ชนก โฮว, เกวลิน ศรีวิชยางกูร และภัทรียา นวลใย, (2565), Youth unemployment: ส่องตลาดแรงงานเด็กจบใหม่ยุค COVID-19, https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/RegionalEconomy/DocLib14/
RL_Youth_Unemployment_COVID19.pdf
.; คณะวิจัย TDRI, (2564, 14 พฤษภาคม), ประสิทธิภาพของโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ (Co-payment) จากรัฐบาล, https://tdri.or.th/2021/05/covid-123/.

3  Freeter มาจากการรวมกันของ Freelance และ Albeiter หมายถึง กลุ่มคนที่ไม่ทำงานประจำ แต่เลือกทำงานในลักษณะชั่วคราวและรับค่าแรงเป็นรายชั่วโมง ลักษณะงานจะเป็นงานที่ไม่ใช้ทักษะมาก (Honda, 2005; Inui, 2009)

4  ผู้เขียนจะปกปิดชื่อบุคคล ตำแหน่ง และสถานที่ทำงาน เพื่อเป็นความลับของผู้ให้ข้อมูล

5  อ้างอิงจากชื่อหนังสือ Work Won't Love You Back: How Devotion to Our Jobs Keeps Us Exploited, Exhausted, and Alone ของ Sarah Jaffe (2021)


ผู้เขียน

นิฌามิล หะยีซะ

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ คนเริ่มทำงาน First jobber ภาวะหมดไฟ นิฌามิล หะยีซะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา