ทำบุญปล่อยปลา และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
การปล่อยปลาเป็นแนวปฏิบัติอย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยที่นับถือพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน การปล่อยปลาพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันและในช่วงเทศกาล ในอดีตที่ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติยังมีไม่มากนัก หากแต่ในปัจจุบันที่ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสำคัญและเป็นประเด็นที่สังคมออนไลน์ให้ความสนใจ โดยเฉพาะเมื่อมีการเผยแพร่บนสื่อออนไลน์ทั้ง Facebook, Instagram, Tiktok และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ทั้งจากผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมและผู้จัดกิจกรรม ที่ในปัจจุบันนำมาซึ่งเสียงตอบรับเชิงลบเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยปลา
บทความนี้จึงนำเสนอความเชื่อเกี่ยวกับการปล่อยปลาของสังคมไทยพุทธไปพร้อมกันกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการปล่อยปลา โดยคำนึงถึงวิธีคิดแบบพุทธศาสนาเกี่ยวกับมุมมองเกี่ยวกับ “การมีชีวิต” ของปลา และแนวคิดเรื่อง “การทำบุญ” หรือการสร้างบุญเพื่อตอบสนองประโยชน์ทางจิตใจของผู้กระทำเป็นหลัก
ความเชื่อเรื่องการปล่อยปลา
ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าการปล่อยปลานั้นเริ่มต้นขึ้นที่ไหนและในช่วงเวลาใด แต่เป็นที่แน่ชัดว่าในสังคมที่นับถือพุทธศาสนามักจะมีความเชื่อเรื่องการปล่อยสัตว์ (Animal release) ที่เป็นการปล่อยสิ่งมีชีวิตที่ถูกจับและกำลังจะถูกฆ่าเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ในปัจจุบันการปล่อยสัตว์ยังพบได้ทั่วไปในหลายแห่งที่ผู้คนในสังคมยังคงมีการนับถือพุทธศาสนา เช่น ทิเบต เนปาล มองโกเลีย จีน เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น และศรีลังกา เป็นต้น1 จะเห็นได้ว่าความเชื่อดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่ที่ลัทธิหรือนิกายใดในพุทธศาสนาโดยเฉพาะ
สำหรับในประเทศไทยหรือในกลุ่มที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทหรือหินยาน การปล่อยสัตว์ (Animal release) ทั้งการปล่อยปลาและการไถ่ชีวิตโคกระบือ เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อทางพุทธศาสนาในเรื่องของการสร้างบุญ (Merit) ที่เชื่อมโยงกับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องบาปที่เกิดจากการพรากชีวิตสัตว์ สำหรับในประเทศไทยการปล่อยปลาส่วนใหญ่มักผูกโยงกับพุทธศาสนาผ่านเรื่องเล่าของสามเณรติสสะ2 ตำนานเรื่องสามเณรติสสะมีความคล้ายคลึงกับตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่นับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน สำหรับชาวมอญจะมีประเพณีปล่อยปลาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใช้ชื่อว่าประเพณีแห่ปลาควบคู่ไปกับประเพณีแห่นกหรือการปล่อยนกด้วย
แม้ว่าคนทั่วไปจะไม่ทราบที่มาหรือประวัติของการปล่อยปลาในทางความเชื่อหรือเรื่องราวของสามเณรติสสะ แต่สิ่งที่รับรู้โดยทั่วไปในสังคมไทยคือการปล่อยปลาเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วจะได้รับผลบุญและช่วยต่ออายุขัยให้มากขึ้นหรือที่เรียกกันว่า สืบชะตา ซึ่งเป็นแนวคิดในการยืดอายุขัยของผู้ปล่อยหรือผู้ที่เราคาดหวังจะให้มีชีวิตอยู่ต่อนานขึ้น การปล่อยปลามักนิยมใช้กับปลาที่กำลังจะถูกนำไปทำอาหาร โดยผู้ที่ต้องการทำบุญจะซื้อปลาเป็นจากตลาดหรือที่เรียกกันว่า ปลาหน้าเขียง ซึ่งเป็นปลาที่กำลังนอนรอความตาย เพื่อนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติหรือปล่อยให้มีชีวิตรอดต่อไป โดยที่ผู้ปล่อยเชื่อว่าเมื่อปลานั้นมีชีวิตอยู่ต่อ ผลบุญจากการช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นจะย้อนกลับมายังตัวผู้ทำบุญให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากความเชื่อพื้นฐานเรื่องการสืบชะตาจากการปล่อยปลาแล้ว ยังอาจมีเรื่องคติความเชื่อที่ยึดติดกับเฉพาะสายพันธุ์ ความเชื่อเรื่องการปล่อยสัตว์จึงอาจแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือในระดับใหญ่สุด กิจกรรมการปล่อยหรือไถ่ชีวิตสัตว์ต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องบาปจากการฆ่าสัตว์ของศาสนาพุทธ ในขั้นนี้อาจมีกลไกทางกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม นิเวศและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ชนิดของสัตว์ที่ได้รับความนิยมในการทำบุญ คนนิยมปล่อยปลาดุกเพราะมีราคาถูก เป็นต้น
ในระดับต่อมาคือ ความเชื่อระดับสายพันธุ์ การปล่อยสัตว์แต่ละสายพันธุ์มีความเชื่อแตกต่างกันและผลที่ได้รับจากการปล่อยก็จะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ที่ปล่อย3 เช่น การปล่อยปลาไหลเพื่อความราบรื่นในชีวิต การปล่อยกบเพื่ออุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร การปล่อยเต่าเพื่อมีอายุยืนยาว การปล่อยนกเพื่อความรุ่งเรืองก้าวหน้า เป็นต้น และสุดท้ายคือจำนวนที่ปล่อย เช่น นิยมปล่อยปลาจำนวน 9 ตัวเพราะเชื่อว่าเลข 9 เป็นเลขมงคล หรือปล่อยปลาจำนวนตามอายุของผู้ปล่อย เป็นต้น
เมื่อการปล่อยปลาได้รับความนิยมมากขึ้นจนมีผู้ต้องการหรือผู้นำปลามาปล่อยจำนวนมาก วัดและสถานปฏิบัติธรรมต่าง ๆ รวมถึงคนบางกลุ่มได้เล็งเห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ จึงนำความเชื่อนี้มาใช้ในการจัดประเพณีหรือกิจกรรมประกอบงานบุญต่าง ๆ ทางศาสนา และธุรกิจขายปลาปล่อยตามสถานที่ปล่อยปลาต่าง ๆ เช่น บริเวณท่าน้ำของวัด หน้าวัด รวมถึงในตลาดสดด้วย
ธุรกิจปลาปล่อยกับการทำบุญปล่อยปลา
ธุรกิจปลาปล่อยถือกำเนิดขึ้นจากกลไกทางเศรษฐกิจอุปสงค์-อุปทาน โดยเฉพาะในสังคมเมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพมหานครและตัวเมืองจังหวัดต่าง ๆ ที่แหล่งที่มาของปลาจะมาจากปลาในตลาดที่ถูกจับเพื่อนำมาทำอาหาร พ่อค้าแม่ค้าที่ขายปลานิยมขายปลาเป็นเพื่อให้ลูกค้าเห็นว่าปลายังมีชีวิตเป็นเครื่องรับประกันความสดของปลาในร้านของตัวเอง ผู้ที่ต้องการทำบุญปล่อยปลาก็จะเดินทางมาซื้อปลาในตลาดเพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น คู คลอง หนอง บึงต่าง ๆ โดยสถานที่ที่ได้รับความนิยมในการปล่อยคือวัดที่มีสระน้ำหรือตั้งอยู่ติดกับแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเฉพาะคลองและแม่น้ำ ความยากลำบากในการเดินทางไปตลาดและไปยังแหล่งปล่อยปลา รวมถึงปัญหาการขนส่งปลาเป็น นำไปสู่การเกิดธุรกิจค้าปลาปล่อยขึ้น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าจะนำปลาเป็นมาขายบริเวณท่าน้ำของวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพุทธศาสนิกชนที่ต้องการปล่อยปลาทำบุญ โดยมักจะโฆษณาว่าปลาต่าง ๆ ที่ตนนำมาเป็นปลาที่ไถ่ชีวิตซื้อมาจากตลาด แนวคิดเรื่องการทำบุญปล่อยปลายังมีอิทธิพลถึงบรรดาผู้ขายในตลาดที่โฆษณาหรือแนะนำผู้ซื้อ เช่น “ถ้าไม่ซื้อไปทำกินก็ซื้อไปปล่อยก็ได้” “ปลาชนิดนี้คนซื้อนิยมซื้อไปปล่อย” เป็นต้น
เท่าที่ผู้เขียนสังเกต ปลาที่นำมาขายบริเวณหน้าวัดจะมีราคาสูงกว่าปลาที่ขายในตลาดใกล้เคียงหรือไกลออกไป แม้จะมีขนาดตัวหรือสภาพใกล้เคียงกันก็ตาม ซึ่งอาจมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ค่าเช่าที่สำหรับตั้งแผงปลา ค่าขนส่งปลาเป็น หรือค่าบุญที่พ่อค้าแม่ค้ากำหนดราคาขึ้นมาเองเพราะมั่นใจว่าจะมีผู้ศรัทธามองข้ามและซื้อไปปล่อยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะราคาปลาในช่วงเทศกาลสัมพันธ์กับความเชื่อทางพุทธศาสนาว่าการทำบุญในช่วงเวลาสำคัญทางพุทธศาสนาจะทำให้การกระทำใด ๆ ในช่วงนั้นได้รับผลบุญมากขึ้น (Amplify the merit)4
การปล่อยปลานำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมหลากหลายประการ ประการแรก ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยปลาเกิดขึ้นจากการนำปลามาจากต่างถิ่นที่ส่งผลให้ปลาตัวดังกล่าวกลายเป็นสัตว์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีส์ (Non-native species / Alien species) อันเป็นปัญหาสำคัญของการปล่อยปลาในปัจจุบัน หากอิงตามความเชื่อเดิมหรือในอดีตที่เป็นยุคสังคมเกษตรกรรมชนบท การปล่อยปลาหรือการช่วยเหลือปลาเป็นการทำในระดับท้องถิ่น ระบบการผลิตและแหล่งอาหารยังคงเป็นแบบยังชีพและมีต้นทุนทางธรรมชาติภายในท้องถิ่น พื้นที่ราบลุ่มที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรมมักจะเกิดน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน มีน้ำขังตามบ่อหรือบึงธรรมชาติจนถึงช่วงหน้าแล้งที่น้ำในบ่อและบึงต่าง ๆ แห้งขอดทั้งจากการขาดแคลนน้ำฝนในช่วงฤดูร้อน การช่วยเหลือปลาหรือการปล่อยปลาในอดีตจึงเป็นการช่วยเคลื่อนย้ายปลาจากแหล่งน้ำเก่าไปสู่แหล่งน้ำใหม่เพื่อให้ปลามีชีวิตรอดต่อไป โดยที่กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในระบบนิเวศเดิมและสายพันธุ์สัตว์ที่ถูกช่วยเหลือก็เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่น (Native species) ในขณะที่ปัจจุบันปัจจัยด้านเทคโนโลยีการขนส่ง ความเป็นเมือง ระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม ที่สังคมต่าง ๆ เชื่อมโยงถึงกันง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ปลาที่ถูกซื้อจากตลาดและนำไปปล่อยมาจากระบบตลาดที่ผู้ซื้อไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่าแหล่งที่มาของปลานั้นมาจากไหน ด้วยเทคโนโลยีการขนส่งระยะไกลที่พัฒนามากขึ้นทำให้การขนย้ายปลาที่ยังมีชีวิตด้วยระยะทางครึ่งซีกโลกก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ปลาที่เราซื้อจากตลาดจึงไม่อาจรับประกันได้ว่าปลาตัวดังกล่าวถูกจับมาจากระบบนิเวศเดียวกันกับที่เรากำลังจะนำไปปล่อย
ปลาเป็นที่ขายในตลาดอาจเป็นได้ทั้งปลาที่จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้เคียงกับสถานที่ขายอย่างตลาดหรือสถานที่ปล่อยอย่างวัด หรือบางทีก็เป็นปลาที่เลี้ยงในกระชังหรือในบ่อในปริมาณมาก ๆ การคำนึงถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของการปล่อยปลาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะอธิบายหรือทำความเข้าใจมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระบบการผลิตและเทคโนโลยีการขนส่งในฐานะที่เป็นต้นเหตุของสัตว์ต่างถิ่นในแหล่งน้ำต่าง ๆ ในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น การปล่อยปลาช่อน ปลาช่อนที่ไปซื้อมาจากตลาดอาจจับได้จากในบริเวณใกล้เคียง หรืออาจรับซื้อจากชาวประมงข้ามจังหวัดแล้วขนส่งมาทางรถขนปลาโดยเฉพาะเพื่อนำมาขาย ปลาช่อนเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปลาที่นิยมซื้อขายกันในขณะที่ตัวปลายังมีชีวิต และเป็นปลาที่หาได้ง่ายเป็นหนึ่งในปลาที่มักพบทั่วไปในท้องตลาด ปริมาณและความหลากหลายของปลาที่นำมาปล่อยสัมพันธ์กับความยากง่ายในการเข้าถึงปลาตัวดังกล่าวในแบบที่ยังมีชีวิตในแหล่งต่าง ๆ ปลาชนิดใดที่หาได้ง่ายก็จะเป็นชนิดที่นิยมนำมาปล่อยด้วยเช่นเดียวกัน ดังเช่นกรณีของหอยเชอรี่ (Pomacea canaliculate) และเต่าญี่ปุ่น (Trachemys scripta) ที่มีต้นกำเนิดอยู่ต่างประเทศแต่ถูกนำเข้ามาในไทยผ่านทางอุตสาหกรรมการค้าและตลาดสัตว์น้ำสวยงาม ความนิยมในการเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์ดังกล่าวส่งผลให้สัตว์ต่างถิ่นสายพันธุ์ดังกล่าวพบเห็นได้ทั่วไปในตลาดปลาสวยงามและต้นทุนการเพาะเลี้ยงที่ต่ำทำให้ราคาขายถูกไปด้วย พ่อค้าแม่ค้าในธุรกิจปลาปล่อยนิยมซื้อสัตว์น้ำราคาถูกหรือสายพันธุ์ที่กำลังนิยมในสังคมมาขายต่อในฐานะสัตว์ปล่อยจนทำให้สัตว์สายพันธุ์ดังกล่าวกลายไปเป็นสัตว์ต่างถิ่นรุกรานที่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป
ประการที่สอง ปัญหาสุขภาพและโรคระบาด ปัญหาการนำปลาจากต่างถิ่นและนำเข้าสู่ระบบนิเวศหรือสภาพแวดล้อมนำไปสู่ปัญหาการระบาดของโรคระบาดในสัตว์สายพันธุ์ดังกล่าวที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ท้องถิ่นที่อยู่มาก่อนหน้านั้น การเคลื่อนย้ายสายพันธุ์ต่าง ๆ ข้ามระบบนิเวศนำพาโรคระบาดที่อยู่ในสัตว์พาหะติดไปกับการขนส่งด้วย เมื่อสายพันธุ์ดังกล่าวถูกปล่อยไปในสิ่งแวดล้อมใหม่นั่นหมายถึงโรคระบาดนั้นก็จะแพร่กระจายในที่ใหม่ด้วย สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโรคระบาดก็จะสูญพันธุ์และถูกแทนที่ด้วยปลานำเข้าต่างถิ่นนี้แทน
ประการที่สามเป็นปัญหาทั้งระบบนิเวศที่สามารถลงลึกได้ถึงระดับพันธุกรรม หากยกตัวอย่างปลาเลี้ยงหนึ่งกระชัง ที่ปลาตัวดังกล่าวเป็นปลาที่เกิดในคอกเดียวกัน และปลาในกระชังนั้นถูกผู้ใจบุญซื้อเหมายกกระชังเพื่อนำไปปล่อยด้วยเหตุผลต่าง ๆ นั่นหมายความว่า แหล่งน้ำนั้นกำลังจะมีปลาเลี้ยงทั้งคอกเข้าไปอยู่อาศัยร่วมในแหล่งน้ำและผสมพันธุ์กันเองหรือผสมกับปลาท้องถิ่นแล้วเกิดลูกเกิดหลานตามมาจำนวนมาก ปัญหาอย่างง่ายที่จะเกิดขึ้นที่เรารับรู้ได้เลยก็คือ ปัญหาเลือดชิด (Inbreeding) ที่ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในรุ่นหลัง ๆ ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ ในขณะที่สายพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมก็ถูกลดจำนวนลงไปด้วยปัญหาสุขภาพที่กล่าวไปข้างต้นก่อนแล้ว
ประการที่สี่คือปัญหาประชากรล้นขนาด (Overpopulation) เป็นปัญหาที่ระบุถึงการที่มีสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งมีจำนวนประชากรมากจนเกินขนาดที่ระบบนิเวศนั้นจะรับไหว ปัญหาประชากรล้นขนาดส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างถิ่นชนิดอื่น ๆ และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระดับที่เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในแหล่งนั้น ๆ ไปเลย หากเราว่ากันด้วยทฤษฎีกลไกห่วงโซ่อาหาร (Food chain) ที่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งจะมีความสัมพันธ์ในแบบที่เป็นผู้ผลิต ผู้บริโภคต่อ ๆ กันไปจนถึงผู้ย่อยสลาย หากเรามีผู้บริโภคมากจนเกินไปก็จะส่งผลให้ผู้ผลิตมีไม่เพียงพอ นั่นหมายถึงปริมาณอาหารไม่เพียงพอจนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ๆ เมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นกินสิ่งมีชีวิตอื่นจนหมด ซึ่งแน่นอนว่ากระทบสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย หรือในกรณีของสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีผู้ล่า(ยกเว้นมนุษย์ที่เป็นผู้ล่า) เช่น ปลาชะโดขนาดตัวเต็มวัย ที่แทบจะไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติ ปลาชะโดมักถูกระบุว่าเป็นสัตว์รุกรานตามเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพราะกินปลาชนิดอื่นจนหมดเพราะไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติ เมื่อไม่มีผู้ล่าปลาชะโดก็สามารถขยายพันธุ์ได้จนเกิดภาวะปลาชะโดเพิ่มปริมาณจนเต็มระบบนิเวศและไม่เหลือปลาสายพันธุ์อื่นเลย
ปลาราหู: การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยความเชื่อ
หากจะให้ยกตัวอย่างของปัญหาจากการปล่อยปลาให้เห็นภาพชัดเจน กรณีที่โด่งดังที่สุดจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นกรณีศึกษาอมตะตลอดกาลคือ Hypostomus plecostomus หรือที่นิยมเรียกในไทยว่าปลาซัคเกอร์หรือปลาเทศบาล ปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาในไทยในอุตสาหกรรมปลาสวยงาม ในช่วงปี 2520 ด้วยราคาที่ไม่แพงและมักขายกันในขนาดตัวที่เล็ก ผู้เขียนเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับปลาชนิดนี้ทั้งที่พบด้วยตัวเองในอดีตและจากคำบอกเล่า ปลาชนิดนี้มักถูกโฆษณาในบรรดาคนเลี้ยงปลาตู้และปลาบ่อซีเมนต์เพื่อช่วยกำจัดตะไคร่น้ำที่มาเกาะตามขอบตู้และบ่อ ด้วยเหตุนี้คนจึงนิยมซื้อปลาชนิดนี้เพื่อนำไปใช้เป็นปลาเทศบาลในการกำจัดตะไคร่น้ำและเศษอาหารที่เลี้ยงร่วมกับปลาสวยงามหลัก ปัญหาคือปลาชนิดนี้ไม่ใช่ปลาขนาดเล็ก แต่เป็นปลาที่เติบโตได้ถึง 50-60 เซนติเมตร และตอนจบของปลาซัคเกอร์เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นที่ผู้เลี้ยงไม่สามารถเลี้ยงต่อไปได้หรือไม่ต้องการจะเลี้ยง มักจะจบลงที่การปล่อยสู่ธรรมชาติด้วยความหวังว่ามันจะมีชีวิตรอดต่อไปได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง เช่นเดียวกับในกรณีของเต่าญี่ปุ่น สุนัขและแมวจรจัด
ปลาซัคเกอร์ยังมีความสัมพันธ์กับการปล่อยปลาในทางศาสนาด้วย ปลาชนิดนี้เมื่อไปอยู่หน้าวัดจะถูกเปลี่ยนชื่อรีแบรนด์เป็นชื่อสุดขลังว่า ปลาราหู ที่ผู้ขายไปหาซื้อมาจากแผงในตลาดปลาสวยงามด้วยเหตุผลว่ามีราคาถูกพร้อมกับติดป้ายบรรยายสรรพคุณว่า การปล่อยปลาชนิดนี้ช่วยในการสะเดาะเคราะห์ ปัญหาของการมีปลาต่างถิ่นแทรกซึมอยู่ในแผงปลาปล่อยหน้าวัดพร้อมกับปัญหาเรื่องความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของคนเมืองและคนไทย ที่ไม่รู้ว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาต่างถิ่นและไม่รู้ว่าปลาชนิดนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของไทยล่วงมาจนถึงปัจจุบันที่ผู้เขียนกำลังเขียนอยู่ด้วยเช่นกัน
การปล่อยปลาเพียงตัวเดียวอาจไม่ได้กระทบกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว (ในมุมของสายพันธุ์ที่ยังคงอยู่ต่อ ไม่ใช่ชีวิตของสัตว์ตัวนั้น) แต่เมื่อพิจารณาจากความนิยมในการปล่อยปลาชนิดหนึ่งในจำนวนมากพร้อม ๆ กันก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้กับปลาตัวนั้นในการเอาชีวิตรอด นอกจากเกณฑ์การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่แล้ว อัตราการขยายพันธุ์สูงจากการปล่อยในปริมาณมากก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้ปลาซัคเกอร์ประสบความสำเร็จในการรุกรานแหล่งน้ำประเทศไทย
ความย้อนแย้งเรื่องผลบุญและชีวิตของปลา
แนวคิดเรื่องการปล่อยปลาของคนไทยส่วนมากมีความเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง(Self-centric) อยู่สูง ผู้ที่ปล่อยปลาหลายคนมักไม่ได้คำนึงถึงชีวิตของปลาหรือสัตว์ปล่อย(ที่ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ) ว่าสัตว์ตัวดังกล่าวจะมีชีวิตรอดต่อไปในระบบนิเวศแหล่งนั้นหรือไม่ แนวคิดเรื่องบุญที่ได้รับจากการปล่อยปลาจึงอยู่ที่กิจกรรมหรือแนวปฏิบัติของคนเพียงเท่านั้น ตัวอย่างเช่น
“จะเป็นจะตายก็เรื่องของมันสิ ฉันปล่อยแล้วฉันได้บุญ ฉันสบายใจ”
ผลบุญจึงหาใช่การที่ปลาตัวดังกล่าวจะมีชีวิตรอดต่อไปแต่เป็นการ ได้ช่วยเหลือ ปลาตัวดังกล่าวให้รอดพ้นจากความตายในความเข้าใจของผู้ปล่อยอย่างเช่นการตายบนเขียงจากการกระทำของคนโดยตรง แต่การอยู่หรือตายในแหล่งน้ำที่ถูกปล่อยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาจนับได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แนวคิดเรื่องบุญจากการปล่อยปลาจึงจบลงแค่ที่ผู้ปล่อยรู้สึกได้รับบุญจากการโยนปลาลงไปในแหล่งน้ำแล้วแค่นั้นเอง
ความย้อนแย้งในมุมมองของผู้เขียนคือปัญหาความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมของสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะนำไปปล่อย ในหลายกรณีที่เกิดขึ้นคือสัตว์ไม่สามารถเอาชีวิตรอดในแหล่งน้ำที่ถูกปล่อยได้และตายในที่สุด ด้วยเหตุที่ว่าไม่ใช่สัตว์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำทุกชนิดจะดำรงอยู่ได้ในทุกระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่มีน้ำ ตัวอย่างเช่น กรณีการปล่อยเต่าในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไม่มีตลิ่งและน้ำไหลเชี่ยว เต่าไม่สามารถทนความแรงของกระแสน้ำได้รวมถึงไม่มีตลิ่งให้เกาะก็จะจมน้ำตายในที่สุด การเปลี่ยนวิธีการตายของสัตว์ปล่อยจากการถูกนำมาประกอบอาหารไปสู่การจมน้ำตายหรือการตายจากการที่ไม่สามารถอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมใหม่และการช่วยชีวิตสัตว์เพียงหนึ่งสายพันธุ์ไปทำให้สัตว์พื้นถิ่นหลายสายพันธุ์ลดจำนวนลงเป็นหลักการและเหตุผลที่สมเหตุสมผลในการทำบุญปล่อยปลาอยู่หรือไม่
ในยุคที่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจ กระแสการปล่อยปลาโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมได้ขยายตัวมากขึ้น หนึ่งในกระบวนการนั้นคือการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เรื่องสายพันธุ์สัตว์ปล่อยกับระบบนิเวศที่เหมาะสม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมและประมง ผู้ที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าบางรายให้ข้อมูลเรื่องระบบนิเวศที่เหมาะสมของปลาเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของสัตว์ปล่อยมากขึ้น รวมไปถึงการหันมาใช้ปลาขนาดใหญ่หรือเลือกซื้อปลาตัวเต็มวัยแทนปลาวัยเด็กที่มีขนาดเล็กเพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อว่าปล่อยไปแล้วรอดอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามการประชาสัมพันธ์ระบบนิเวศที่มีความเหมาะสมรวมถึงความรู้ในการปล่อยปลาอาจเป็นดาบสองคมที่นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งในเรื่องของประชากรสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งเกินขนาด การผสมข้ามสายพันธุ์จากเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์เพื่ออุตสาหกรรมอาหารที่ใช้สายพันธุ์ต่างถิ่นผสมสายพันธุ์พื้นถิ่น เช่น ปลาดุก กบที่พบเห็นทั่วไปในท้องตลาด ก็อาจไม่เหมาะสมกับระบบนิเวศเพราะสัตว์ที่เพาะพันธุ์ขึ้นมาจะมีความสามารถในการปรับตัวและเอาชีวิตรอดมากกว่าสัตว์พื้นถิ่นในธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า ปัญหาสัตว์ต่างถิ่นรุกรานที่กำลังสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยจะเกิดขึ้นจากการปล่อยปลาทางพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น กิจกรรมปล่อยปลาไม่ได้จำกัดอยู่แค่เหตุผลด้านความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น ในด้านการอนุรักษ์ก็มีการปล่อยปลาที่ถูกเพาะเลี้ยงขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการเพิ่มจำนวนประชากรตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่ปลากลุ่มนี้จะเป็นปลาหายากใกล้สูญพันธุ์และมักไม่พบในตลาดหรือมีให้เห็นทั่วไปเหมือนกับสายพันธุ์ปลาที่ปล่อยในทางศาสนา หรือการปล่อยปลาด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การที่หน่วยงานรัฐและเอกชนสนับสนุนให้มีการเพาะพันธุ์ปลาเศรษฐกิจและนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อช่วยเหลือชาวประมงหรือผู้ที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในการดำรงชีวิต เช่น โครงการปล่อยปลานิล ปลาดุกที่เป็นปลาเศรษฐกิจเพื่อทดแทนปัญหาปลาในแม่น้ำมูลที่ลดลงจากการสร้างเขื่อนราษีไศล เป็นต้น การปล่อยปลาเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยไม่ได้คำนึงถึงปัญหาสัตว์ต่างถิ่นจึงสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมในชุมชนท้องถิ่นนอกเมืองไม่ต่างกับการปล่อยปลาตามความเชื่อทางศาสนาเสียด้วยซ้ำ หากแต่ในบทความนี้ผู้เขียนพยายามแสดงให้เห็นถึงปัญหาจากการปล่อยปลาทางศาสนาซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวคนและเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายมากกว่า
ความเชื่อเรื่องบาปบุญยังเป็นปัญหาต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย การแก้ไขปัญหาสัตว์ต่างถิ่นรุกรานหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำการจับและกำจัดสัตว์ต่างถิ่นจำนวนมาก ซึ่งขัดกับความเชื่อทางพุทธศาสนาที่มองว่าการฆ่าสัตว์เป็นการทำบาปและหลีกเลี่ยงที่จะทำ การหลีกเลี่ยงการฆ่าและกำจัดเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยปัจจุบัน เช่น ปัญหาหมาแมวจรจัดเพราะคนนำมาปล่อยไม่สามารถทำใจกำจัดได้ สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ที่มีขนาดตัวใหญ่ขึ้นจนผู้เลี้ยงไม่สามารถเลี้ยงต่อไปได้ เช่น เต่าญี่ปุ่น ก็จะถูกนำมาปล่อยไม่ต่างจากการซื้อปลาปล่อยเพื่อเอาบุญ เพียงเพราะผู้เลี้ยงมีความเชื่อเรื่องบาปบุญรวมไปถึงความรู้สึกผูกพันกับสัตว์ดังกล่าวเป็นการส่วนตัวจนทำใจฆ่าไม่ลง อีกทั้งการกำจัดสัตว์ต่างถิ่นที่รุกรานไปแล้วเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุด้วย
ในมุมมองของผู้เขียน การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมควรหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ทางสิ่งแวดล้อม การสร้างความรู้ทางนิเวศ (Ecological knowledge) เกี่ยวกับสัตว์ต่างถิ่นรุกรานจะช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการปล่อยปลาและทำให้การปล่อยปลาอันเป็นสาเหตุของการรุกรานของสัตว์ต่างถิ่นลดลง5 เพราะผู้ที่ปล่อยส่วนมากไม่เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากสัตว์ต่างถิ่นรุกราน ในระดับนโยบายทางการศึกษา ในฐานะที่ประเทศไทย ผู้คนและหน่วยงานต่าง ๆ มีความเชื่อและแนวปฏิบัติในทางพุทธศาสนาอยู่มาก การเผยแพร่ความรู้และการให้การศึกษาเกี่ยวกับประเด็นสัตว์ต่างถิ่นจึงควรเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในการเรียนการศึกษาในปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงมีปัญหาสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานอยู่มาก เช่น หอยเชอรี่ ปลาซัคเกอร์ ปลาหมอคางดำ(Sarotherodon melanotheron) ปลาสเตอร์เจียน6 หอยทากแอฟริกา(Achatina fulica) หนอนตัวแบบนิวกีนี(Platydemus manokwari) เป็นต้น
เพราะแม้แต่กรณีล่าสุดอย่างกรณีงานกิจกรรมข้าวรักษ์โลกที่จังหวัดสิงห์บุรี ที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปร่วมงานและมีกิจกรรมปล่อยปลานิล ในฐานะส่วนหนึ่งของ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” หรือ “โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยหวังว่าการปล่อยปลานิลจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการดำรงชีวิตและมีคุณภาพชีวิตดีมากขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม7 แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในระดับประเทศมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาสัตว์ต่างถิ่นรุกรานแทบจะไม่ได้รับความสำคัญหรือถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าเม็ดเงินทางเศรษฐกิจและแหล่งอาหารในระยะเวลาสั้น ๆ ที่เกิดจากสัตว์ต่างถิ่นที่ถูกปล่อยหรือแพร่ระบาดในธรรมชาติมากกว่าการลดลงของสัตว์พื้นถิ่นและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศที่สัตว์ต่างถิ่นกำลังแพร่ระบาด การขาดแคลนการบูรณาการความรู้ระหว่างหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรงอาจเป็นสาเหตุที่การรณรงค์หรือป้องกันการปล่อยปลาต่างถิ่นยังคงไม่ประสบความสำเร็จ โดยที่ส่วนหนึ่งของผู้ที่ยังปฏิบัติอยู่ก็เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐเอง
รูปภาพที่ 1 ภาพจาก : https://www.facebook.com/Khonanurak/photos/a.532930823489327/5800878673361156/
การเปิดประเด็นด้านสัตว์ต่างถิ่นรุกรานศึกษา (Invasive species study) และมีหลักสูตรการเรียนการสอนและเผยแพร่ความรู้อย่างชัดเจนในฐานะความรู้พื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมจึงอาจจะช่วยให้ผู้คนเข้าใจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นสายพันธุ์ต่าง ๆ และช่วยให้การทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น มีความระมัดระวังถึงผลกระทบที่ตามมาและหลีกเลี่ยงการใช้สายพันธุ์ต่างถิ่นมากขึ้นด้วย การเผยแพร่ความรู้ให้รับรู้กันโดยทั่วไปจึงดูจะง่ายกว่าการหวังพึ่งภาครัฐให้มีการบูรณาการและมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ อย่างแท้จริงเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนั่นเอง
บรรณานุกรม
Everard, M., Pinder, A. C., Raghavan, R., & Kataria, G. (2019). Are well‐intended Buddhist practices an under‐appreciated threat to global aquatic biodiversity?. Aquatic Conservation: Marine and Freshwater Ecosystems, 29(1), 136-141.
Liu, X., McGarrity, M. E., Bai, C., Ke, Z., & Li, Y. (2013). Ecological knowledge reduces religious release of invasive species. Ecosphere, 4(2), 1-12.
Magellan, K. (2019). Prayer animal release: An understudied pathway for introduction of invasive aquatic species. Aquatic Ecosystem Health & Management, 22(4), 452-461.
Shiu, H., & Stokes, L. (2008). Buddhist animal release practices: historic, environmental, public health and economic concerns. Contemporary Buddhism, 9(2), 181-196.
Thanet Ratanakul. (2560, 5 ธันวาคม). ‘หนอนตัวแบนนิวกินี’ Alien Species หน้าใหม่ และเหตุผลว่าทำไมคุณไม่ต้องตื่นตูม. The Matter. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://thematter.co/science-tech/get-to-know-new-guinea-flatworm/40786
'แก้เคราะห์-เสริมดวงชะตา' แบบไหนถึงได้บุญ. (2563, 6 กรกฎาคม). สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://d.dailynews.co.th/article/783274/#:~:text=-%20ปล่อยปลาบู่%20หมายถึง,หมายถึง%20ทำอะไรราบรื่น.
ติสสะสามเณร สามเณรผู้รู้วันละสังขาร. (2558, 24 เมษายน). สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.dmc.tv/pages//ติสสสามเณร.html.
ประวัติ ‘ปลาดูดกระจก’ ที่เข้าเป็นสายพันธุ์รุกรานที่น่ากลัวในไทย. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://fishingthai.com/story-sucker-catfis/.
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน. (2565, 7 มกราคม). นายกรัฐมนตรี เปิดกิจกรรม ข้าวรักษ์โลก BCG Model (นาปรัง) จังหวัดสิงห์บุรี. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.gcc.go.th/?p=96983
1 Everard, M., Pinder, A. C., Raghavan, R., & Kataria, G. (2019). Are well‐intended Buddhist practices an under‐appreciated threat to global aquatic biodiversity?. Aquatic Conservation: Marine and Freshwater Ecosystems, 29(1), p.139.
2 ติสสะสามเณร สามเณรผู้รู้วันละสังขาร. (2558, 24 เมษายน). สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.dmc.tv/pages//ติสสสามเณร.html.
3 ดูตัวอย่างความเชื่อเรื่องการสะเดาะเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่ https://d.dailynews.co.th/article/783274/#:~:text=-%20ปล่อยปลาบู่%20หมายถึง,หมายถึง%20ทำอะไรราบรื่น.
4 Everard, M., Pinder, A. C., Raghavan, R., & Kataria, G. (2019). Are well‐intended Buddhist practices an under‐appreciated threat to global aquatic biodiversity?. Aquatic Conservation: Marine and Freshwater Ecosystems, 29(1), p.137.
5 Liu, X., McGarrity, M. E., Bai, C., Ke, Z., & Li, Y. (2013). Ecological knowledge reduces religious release of invasive species. Ecosphere, 4(2), 1-12.
6 https://www.youtube.com/watch?v=0xcAfHAP068
7 ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน. (2565, 7 มกราคม). นายกรัฐมนตรี เปิดกิจกรรม ข้าวรักษ์โลก BCG Model (นาปรัง)จังหวัดสิงห์บุรี. https://www.gcc.go.th/?p=96983
ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรง
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ทำบุญ ปล่อยปลา ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์