The Companion Species Manifesto : Dogs, People, and Significant otherness เขียนโดย Donna Haraway

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 7744

The Companion Species Manifesto : Dogs, People, and Significant otherness เขียนโดย Donna Haraway

หน้าปกหนังสือ The Companion Species Manifesto : Dogs, People, and Significant otherness

เขียนโดย Donna Haraway

 

           ในอดีต นักคิดหลายสำนักพยายามสร้างเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่นๆ ทั้งสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต โดยกำหนดให้สิ่งอื่นเป็นด้านตรงข้ามกับมนุษย์ ซึ่งสถาปนาแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Anthropocentrism) อันเป็นแนวคิดที่มนุษย์ใช้บรรทัดฐานของตนเองตัดสินคุณค่าหรือให้ความหมายกับสิ่งอื่น ต่อมาการกำหนดสิ่งอื่นให้อยู่ฝั่งตรงข้ามกับมนุษย์ถูกตั้งข้อสังเกต และคำถามมากมาย นักคิดเริ่มสนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งรอบๆมนุษย์ ทั้งวัตถุศึกษา สิ่งแวดล้อมศึกษา และสัตว์ศึกษา จนนำไปสู่การเสนอว่ามนุษย์ไม่สามารถแยกออกจากสรรพสิ่งที่แวดล้อมที่อยู่รอบมนุษย์ได้อย่างสิ้นเชิง นักวิชาการต่างเสนอแนวทางการศึกษาสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง (วัตถุศึกษา สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สัตว์ศึกษา) ไว้หลากหลาย

           ดอนนา ฮาราเวย์ (Donna Haraway) เป็นนักคิดชาวอเมริกันสายเฟมินิสต์ และลัทธิหลังสมัยใหม่ เธอเขียนหนังสือที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และงานที่เกี่ยวข้องกับ Human Computer Interaction (HCI) เรื่อง Cyborg Manifesto : Science, Technology, and Socialist-Feminism in the Late 20th Century เพื่อชวนมองสังคมตะวันตกช่วงศตวรรษที่ 20 ว่าเป็นยุคแห่งความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิทธิของเพศหญิง โดยเฉพาะสังคมที่มนุษย์เปิดรับเทคโนโลยีและความเจริญก้าวหน้าเข้ามาในชีวิต ยอมเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดูทันสมัย พยายามทำทุกอย่างให้เหมือนๆ คนอื่น โดยเฉพาะวิถีชีวิตคนเมือง ที่มีชีวิตแบบเดิมๆ ซ้ำๆ (ต้องรีบเข้าสำนักงานตอนเช้า พักรับประทานอาหารกลางวันด้วยอาหารจานด่วน กลับถึงบ้านตอนเย็นหรือมืด) ฮาราเวย์มองว่าสังคมเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากสังคมไซบอร์กหรือหุ่นยนตร์ที่ถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้แล้วว่าควรปฏิบัติตัวเช่นไร ควรมีความรู้สึกเช่นไร และควรมีอัตลักษณ์อย่างไรจึงจะสามารถดำรงตนอยู่สังคมได้ ขณะเดียวกันในยุคนี้ เพศหญิงสามารถทำงานนอกบ้านได้ทัดเทียมกับเพศชายไม่จำเป็นต้องอยู่เหย้าเฝ้าเรือนดูแลบ้านเรือนเช่นสมัยเดิมอีกต่อไป

           หนังสือเล่มนี้ถูกมองว่าเป็นการนำเสนอแนวคิด หลังมนุษย์ (Posthuman) ที่เชื่อว่าพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยให้มนุษย์เป็นอมตะ โดยอาศัยการผนวกรวมมนุษย์เข้ากับเทคโนโลยี เป็นเหตุให้ถูกตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์และการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งไม่ใช่เจตน์จำนงในการนำเสนอหนังสือเล่มนี้ของ ฮาราเวย์ ที่ต้องการให้เกิดการวิจารณ์แก่นความเป็นมนุษย์ นักคิดหลายสำนักรวมทั้งฮาราเวย์เห็นว่า มนุษย์ไม่ต่างอะไรจากสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง เพราะสรรพสัตว์และสรรพสิ่งต่างเป็นแหล่งรวมของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต มนุษย์อาศัยอยู่ในโลกร่วมกับสรรพสัตว์และสรรพสิ่งอย่างสลับซับซ้อน และแยกกันไม่ออก ในเมื่อมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาสรรพสิ่ง การสนใจศึกษาสายสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง จึงไม่ใช่การก้าวข้ามมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่พ้นไปจากมนุษย์หรือหลังมนุษย์ แต่เป็นการศึกษาสรรพสัตว์และสรรพสิ่งในฐานะสายพันธุ์ เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสัตว์และสรรพสิ่งกับมนุษย์ในระนาบเดียวกัน

           ฮาราเวย์ สนใจศึกษามิตรสหายต่างสายพันธุ์ (Companion Species) และสร้างผลงานที่ได้รับการกล่าวถึงในวงกว้างหลายเล่ม เริ่มจากสัตว์ศึกษาที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับมนุษย์มากที่สุด คือ (1990) Primate Visions : Gender, Race, and Nature in the world of Modern Science (สนใจหนังสือเล่มนี้ สามารถติดตามอ่าน review ได้ในหนังสือ “วานรศึกษา : Primate Studies” ที่เคยแนะนำไปแล้ว) และ(2003) The Companion Species Manifesto : Dogs, People, and Significant otherness ล่าสุดคือ (2007) When Species Meet ทั้ง 3 เล่มต่างนำเสนอและให้ความสำคัญกับสรรพสัตว์แวดล้อมมนุษย์ในฐานะผู้ร่วมกระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ภาพจาก https://medshadow.org

 

           หนังสือ The Companion Species Manifesto : Dogs, People, and Significant otherness ดอนนา ฮาราเวย์ นำกรอบทฤษฎีเฟมินิสต์ และแนวคิดวัฒนธรรมชาติ (Naturecultures) มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัขกล่าวคือแนวคิดวัฒนธรรมชาติ (Naturecultures) เป็นการสลายขั้วตรงข้ามระหว่างธรรมชาติ (Nature) อันหมายถึง ชีววิทยา สัตว์ สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ กับวัฒนธรรม (Culture) อันหมายถึง มนุษย์ สังคม และการเมือง ออกไป มองธรรมชาติและวัฒนธรรมในมุมมองใหม่ว่า พืช สัตว์ และวัตถุสิ่งของที่เคยถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เพื่อสะท้อนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษย์กับสรรพสัตว์และสรพพสิ่ง

           ฮาราเวย์ นำเรื่อของสุนัขมานำเสนอและโยงกับแนวคิดวัฒนธรรมชาติเพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ของคน (วัฒนธรรม) กับ สุนัข (ธรรมชาติ) เกี่ยวพันโยงใยกันเป็นหนึ่งเดียว ทั้งวิวัฒนาการร่วมกัน และอาศัยอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสุนัขไม่ได้มีจุดกำเนิดขึ้นจากการที่มนุษย์ออกไล่ล่า หรือนำสุนัขมาต้อนแกะในฟาร์ม หรือ ฝึกสุนัขเป็นเครื่องมือ ซึ่งเป็นตัวอย่างของความคิดและการกระทำที่แสดงถึง อำนาจหรือความเป็นชายของมนุษย์ แต่เกิดจากหมาป่ากลุ่มหนึ่งฉวยโอกาสรุกเข้ามากินเศษซากอาหารแถวที่อยู่อาศัยของมนุษย์ จุดนั้นเองเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ความสัมพันธ์’ ทำให้หมาป่าแยกออกเป็นสองสายพันธุ์ สายพันธุ์หนึ่งก็เป็นหมาป่าต่อไป อีกสายพันธุ์กลายมาเป็น ‘หมาบ้าน’ ที่ผูกพันธ์อยู่กับมนุษย์อย่างทุกวันนี้ ส่วนความสัมพันธ์ส่วนอื่น ๆ พัฒนาขึ้นมาภายหลัง

           การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับสุนัขในอดีต ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสุนัข ปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสุนัข ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตของมนุษย์ให้ต่างไปจากเดิมเช่นกัน มีการตั้งข้อสังเกตว่ามนุษย์อาจเรียนรู้การกำหนดอาณาเขตและการล่าสัตว์เป็นกลุ่มใหญ่จากการใช้ชีวิตร่วมกับสุนัขก็เป็นได้ สุนัขกับคนจึงพึ่งพาอาศัยกันและกันเพื่ออยู่รอดผ่านกาลเวลา และร่วมกันสร้างวัฒนธรรมในบางแง่มุมขึ้นมาด้วยกัน ทั้งสองสายพันธุ์ต่างพึงพาอาศัยกันและกัน ได้ประโยชน์จากกัน เปลี่ยนแปลงกัน และสร้างกันและกันขึ้นมา

           การฝึกสุนัขให้มีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ได้ตามที่มนุษย์ต้องการ ขณะที่สุนัขตอบสนองต่อการกระทำของมนุษย์ผ่านการจดจำคำสั่งและสัญญาณที่ทำให้มันได้รับรางวัลตอบแทน กระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกันนี้เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวตนที่เกิดขึ้นทั้งมนุษย์และสุนัข ในขณะที่สุนัขพยายามตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นเร้าและสัญญาณต่างๆ สุนัขกำลังเรียนรู้ที่จะกระทำการในแบบที่มันจะได้รับการตอบสนองที่ดีจากมนุษย์ เช่นเดียวกัน มนุษย์ก็เรียนรู้ที่จะเข้าใจการกระทำของสุนัขเช่นกัน

           ฮาราเวย์พยายามที่จะสลายความไม่เท่าเทียมกันในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสุนัข โดยชี้ให้เห็นถึงอันตรายของการมองสุนัขเป็น ‘สัตว์เลี้ยง’ หรือ ‘ลูก’ ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์เห็นแต่ประโยชน์ของตัวเอง กล่าวคือ เมื่อมนุษย์มอบความรักและมองสุนัขเหมือนลูก หรือสมาชิกในครอบครับ มนุษย์ก็หวังให้สุนัขเป็นที่พึ่งทางใจ แต่วันไหนที่สุนัขไม่สามารถที่จะเป็นดังหวังของมนุษย์ได้ มนุษย์ก็ไม่ลังเลที่จะทอดทิ้งสุนัขเหล่านั้นอย่างไม่ใยดี แต่ทั้งนี้ ฮาราเวย์ไม่ได้ต้องการให้มนุษย์เลิกรักสุนัข แต่ต้องการให้มนุษย์จัดความสัมพันธ์กับสุนัขบน “ความเคารพและความเชื่อใจ” แทน มนุษย์ควรเพิ่มความเห็นอกเห็นใจต่อความรู้สึกของสุนัขให้มากขึ้น ดังนั้นการจะหาสุนัขมาเลี้ยงสักตัว มนุษย์ควรตระหนักและถามตัวเองว่ากำลังใช้สุนัขเพื่อตอบสนองความต้องการตัวเองและละเลยเขาในฐานะสายพันธุ์ที่มีคุณค่าเท่ากับเราอยู่หรือไม่ ความสวยงามของเขาต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง เรากำลังสนับสนุนความทรมานของสุนัขอยู่หรือไม่

           ฮาราเวย์นำเสนอเรื่องสุนัขครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีเฟมินิสต์ เพราะอิงอยู่กับประเด็นคู่ตรงข้าม (ชาย-หญิง / มนุษย์-สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์) โดยปฏิเสธความเป็นสากลนิรันดร์ของแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง และมีจุดมุ่งหมายคือ การลดความรุนแรงที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ ชนชั้น การกดขี่ระหว่างเพศ หรือระหว่างสปีชีส์ และคำนึงถึง ‘ความสำคัญของสิ่งที่เป็นอื่น’

           การที่มนุษย์เห็นสุนัขเป็นเพื่อน เห็นสรรพสัตว์และสรรพสิ่งต่างสปีชีส์ เป็นสหายต่างสายพันธุ์ เลิกมองว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง สลายแนวคิดแบบคู่ตรงข้าม จะช่วยให้มนุษย์เข้าใจและเคารพสปีชีส์เดียวกันที่อาจแตกต่างจากเราได้เช่นกัน

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องมานุษยพ้นมนุษย์พร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library

รายการอ้างอิง

Haraway, Donna Jeanne. The companion species manifesto : dogs, people, and significant otherness. Chicago : Prickly Paradigm Press, c2003

Apolitical. (2565). ว่าด้วย Companion Species ของ Donna Haraway. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธุ์ 2565. https://blogazine.pub/blogs/apolitical/post/5502

Preeyanun Thamrongthankij. (2565). Companion Species สหายต่างสายพันธุ์ : สุนัข คน และความเป็นอื่นอันสำคัญ.สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธุ์ 2565. https://www.facebook.com/showyourspectrum/photos/a.276495186375492/770928930265446/?type=3

นิ้วกลม. (2565). วัฒนธรรม เป็นเรื่องของมนุษย์เท่านั้นหรือ/มิตรสหายเล่มหนึ่ง. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธุ์2565.https://www.matichonweekly.com/column/article_431184


ผู้เขียน

อนันต์ สมมูล

บรรณารักษ์ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สุนัข Donna Haraway Posthuman Anthropology อนันต์ สมมูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา