ซุปเปอร์ฮีโร่, Comic Book และมานุษยวิทยา Superheroes, Comic Book and Anthropology

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 9860

ซุปเปอร์ฮีโร่, Comic Book และมานุษยวิทยา Superheroes, Comic Book and Anthropology

           การ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่คือสื่อบรรเทิงในวัฒนธรรมป็อปที่ได้รับความนิยมในสังคมตะวันตกและค่อยๆ แผ่ขยายไปในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ผู้คนชื่นชอบการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่มีตั้งแต่เด็ก วัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่ ครอบคลุมคนทุกชนชั้นและเชื้อชาติ ความนิยมนี้พิจารณาได้จากผลกำไรและรายได้หลายพันล้านดอลล่าร์ของบริษัทที่ผลิตการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ในสหรัฐอเมริกา (Comic Chronicles, 2010) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการนำไปสร้างภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด

 

Ironman, Spiderman และ Batman ภาพจาก https://www.sanook.com/game/1033185/, https://th.crazypng.com/754.html และ https://www.sanook.com/game/1075315/

 

คุณลักษณะของซุปเปอร์ฮีโร่

           ในการศึกษาของ Coogan (2009) อธิบายว่าคุณลักษณะสำคัญของซุปเปอร์ฮีโร่ประกอบด้วย 3 ประการ คือ (1) ต้องมีภารกิจ (2) ต้องมีพลังวิเศษ และ (3) ต้องมีอัตลักษณ์ชัดเจน ทั้งสามคุณลักษณะนี้จะต้องวางอยู่บนหลักการที่ว่าการทำงานเพื่อประโยชน์สังคมและเสียสละ การต่อสู้กับคนชั่วต้องเคารพในสังคม ไม่เห็นแก่ตัว ต้องไม่มุ่งหมายให้เกิดประโยชน์หรือวาระซ่อนเร้นของตนเอง เมื่อซุปเปอร์ฮีโร่ทำภารกิจสำเร็จ นั่นคือการทำลายล้างเหล่าคนชั่วและวายร้ายที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ซุปเปอร์ฮีโร่ก็จะได้รับการกล่าวขาน เชิดชูและยกย่องในฐานะวีรบุรุษที่แท้จริง ในขณะที่พลังวิเศษของซุปเปอร์ฮีโร่บ่งชี้ถึงความสามารถที่มากล้นที่ทำให้กำจัดคนชั่วได้ในพริบตา รวมทั้งหมายถึงการเป็นมากกว่ามนุษย์ธรรมดาที่ไม่สามารถสร้างพลังวิเศษได้ ส่วนที่สำคัญอีกประการหนึ่งนั่นคือ การมีอัตลักษณ์เฉพาะของตัวเอง เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบและเสื้อผ้า ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และความแตกต่าง รวมทั้งต้องมีชื่อเรียกที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ ตัวอย่างเช่น Ironman ที่สวมชุดเกราะเหล็กสีแดง มีชื่อเรียกที่บ่งบอกถึงการเป็นมนุษย์โลหะที่แข็งแกร่ง Spiderman ที่สวมชุดรัดรูปสีแดงมีลวดลายใยแมงมุมพร้อมชื่อที่บ่งบอกถึงการมีความสามารถพิเศษแบบแมงมุม นั่นคือการฉีดใยแมงมุมที่เหนียวและแข็งแรง Batman ที่สวมชุดหนังสีดำสวมหน้ากากที่มีหูคล้ายค้างคาวและผ้าคลุมที่คล้ายปีกของค้างคาว เป็นต้น เครื่องแต่งกายของเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่จึงเป็นสัญลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกพลังวิเศษและความสามารถที่ไม่เหมือนกัน

           Coogan (2009) กล่าวว่าการ์ตูนแนวซุปเปอร์ฮีโร่ต้องทำให้เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่มีภารกิจที่ช่วยมนุษย์ มีพลังอำนาจเหนือกว่ามนุษย์และมีอัตลักษณ์ทางกายภาพที่โดดเด่นชัดเจน อย่างไรก็ตาม ซุปเปอร์ฮีโร่ยังมีความหลากหลายในบริบท สถานะ คุณลักษณะ พลังวิเศษ ความสัมพันธ์ทางสังคมและการทำภารกิจ ในแง่นี้การทำความเข้าใจความหมายของ ซุปเปอร์ฮีโร่จึงจำเป็นต้องเข้าใจความเป็นมาและเงื่อนไขของการเกิดขึ้นของซุปเปอร์ฮีโร่ ตัวอย่างเช่น ตัวละครใน Sin City ที่ไม่มีพลังวิเศษ แต่ใช้ความรุนแรงในการกำจัดคนชั่วให้หมดไป อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของการใช้กำลังเพื่อตัดสินปัญหาและทำลายล้างคนชั่วไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะการ์ตูนแนวซุปเปอร์ฮีโร่เท่านั้น แต่ยังพบได้ในนิยาย เรื่องแต่ง และภาพยนตร์แนวแอคชั่นอาชญากรรม ที่ตัวละครหลักเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ต้องการล้างแค้นและสังหารศัตรูที่ทำลายชีวิต ญาติพี่น้องและครอบครัวของเขา เช่น ตัวละครในภาพยนตร์ Death Wish, The Transporter, Léon: The Professional, John Wick เป็นต้น

 

ตัวละครใน Sin City ที่ไม่มีพลังวิเศษ แต่ใช้ความรุนแรงในการกำจัดคนชั่วให้หมดไป

ภาพจากhttps://th.wikipedia.org

 

ซุปเปอร์ฮีโร่กับความยุติธรรมทางสังคม

           การศึกษาของ Weston (2012) อธิบายให้เห็นว่าวีรกรรมของเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ในหนังสือการ์ตูนพยายามสะท้อนการแก้ปัญหาสังคมและการลงโทษคนที่ทำผิด ไม่ว่าจะเป็นอาชญากร นักค้ายาเสพติด มาเฟีย แก๊งอันธพาล ข้าราชการคอร์รัปชั่น ผู้ก่อการร้าย นักการเมืองฉ้อฉล ตำรวจที่คดโกง นายทุนที่เอาเปรียบ และคนที่เอาเปรียบผู้อื่น เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ที่ถูกสร้างขึ้นในจินตนาการจะใช้พลังและอาวุธพิเศษปราบปรามคนชั่วเหล่านั้นซึ่งเสมือนเป็นการใช้กำลังแก้ปัญหาและเป็นระบบศาลเตี้ยแบบหนึ่ง (vigilantism) ที่ดูเหมือนสะใจและได้รับความชื่นชมจากผู้อ่านการ์ตูน แต่วิธีการของเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่กลับไม่ปรากฎขึ้นจริงในชีวิตทางสังคมของมนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัวและการเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ Weston (2012) ตั้งคำถามว่าทำไมผู้อ่านการ์ตูนหรือดูหนังของ ซุปเปอร์ฮีโร่จึงไม่นำเอาวิธีการเหล่านั้นมาใช้บ้าง เพื่อกำจัดคนชั่วในสังคมเหมือนที่เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ทำ และสร้างสรรค์สังคมที่มีความยุติธรรมเหมือนในหนังและการ์ตูน เหตุผลที่เข้าใจง่ายที่สุดคือ เพราะว่ามนุษย์ไม่มีพลังวิเศษและไม่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเหมือนกับซุปเปอร์ฮีโร่

           Weston (2012) เปรียบเทียบให้เห็นว่าเรื่องราวการปราบคนชั่วโดยเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ในหนังสือการ์ตูน คล้ายกับเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศกัวเตมาลาในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งประชาชนได้ออกมาเดินขบวนขับไล่รัฐบาลที่โกงกินและคอร์รัปชั่น ความล้มเหลวในการบริหารประเทศ ปล่อยให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างอดอยาก นำไปสู่เหตุการณ์จลาจล ความปั่นป่วนและความไม่สงบทางสังคมเป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษ การประท้วงของประชาชนเพื่อทวงคืนสิทธิและความยุติธรรมเป็นพล็อตเรื่องที่ปรากฎอยู่ในการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ อาจกล่าวได้ว่าการใช้กำลังต่อสู้ของประชาชนในสังคมที่เป็นจริงมีลักษณะคล้ายกับการต่อสู้ของซุปเปอร์ฮีโร่ที่ต้องการสังหารและทำลายคนชั่ว ซึ่งไม่มีการใช้สถาบันศาลและกระบวนการทางกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการตัดสิน การประท้วงของประชาชนที่ยากไร้กับการใช้พลังวิเศษของซุปเปอร์ฮีโร่จึงเทียบได้กับการใช้กำลังตัดสินเพื่อทวงคืนความถูกต้อง

           Abrahams (1998) ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้กำลังแก้ไขปัญหาหรือระบบศาลเตี้ย มีคุณลักษณะสำคัญสามส่วนคือ (1) การมีอยู่ของอำนาจรัฐ (2) การมีพลเมืองที่คิดดี และ (3) การมีผู้ทำผิดหรืออาชญากร ทั้งสามส่วนนี้ดำรงอยู่ในระบบศาลเตี้ยที่ถูกนำไปเป็นโครงเรื่องในการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ ประเด็นสำคัญก็คือเมื่อพลเมืองดีตระหนักว่าระบบกฎหมายและนโยบายของรัฐไม่อาจทำให้สังคมเกิดความยุติธรรมได้ พวกเขาก็จะออกมาต่อสู้และกำจัดคนที่ทำผิดเพื่อทวงคืนความยุติธรรมมาให้ประชาชน การลงโทษคนทำผิดจะแสดงออกมาด้วยการใช้ความรุนแรง เช่น ทำร้ายร่างกาย ฆ่า และสังหาร เป็นต้น การกระทำดังกล่าวดูเหมือนเป็นความโหดเหี้ยมและรุนแรง แต่เป็นการกำจัดคนชั่วให้หมดไปในพริบตาเพื่อทำให้สังคมสงบร่มเย็นและมีความยุติธรรมเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในโลกของความเป็นจริง หากประชาชนกระทำการดังกล่าว เช่น จับนักการเมืองเลวมาสังหาร ประชาชนผู้นั้นจะทำผิดกฎหมายและกลายเป็นอาชญากร ในบางกรณี กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงอาจได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลเผด็จการที่ใช้กำลังปราบปรามประชาชน จนทำให้รัฐประสบชัยชนะและสืบทอดการคอร์รัปชั่นต่อไป สิ่งนี้ต่างไปจากจินตนาการที่เกิดขึ้นกับการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ที่ได้รับความนิยม

           ในการศึกษาของ Pratten & Sen (2008) อธิบายว่าการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาและทวงถามความยุติธรรมจากรัฐ จะพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เช่น ในชุมชนแออัดในเขตเมืองหลายแห่ง จะมีแก๊งของวัยรุ่นใช้กำลังต่อสู้กันเพื่อแก้แค้นให้กับเพื่อนที่ถูกฆ่าหรือถูกทำร้าย รวมถึงในสังคมที่เต็มไปด้วยการอค์รัปชั่นเช่นในลาตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา ชนชั้นล่างและผู้ด้อยโอกาสจะรวมตัวกันออกมาประท้วง ใช้กำลังต่อสู้กับรัฐบาลที่ฉ้อโกงและเอาเปรียบประชาชน Abrahams (1998) กล่าวว่าลัทธิศาลเตี้ย (vigilantism) ที่พบในการประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคม ล้วนมีมูลเหตุมาจากการที่ประชาชนไม่พอใจการทำหน้าที่ของรัฐและความล้มเหลวในกระบวนการทางกฎหมาย เมื่อรัฐผูกขาดอำนาจและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ประชาชนจะหมดความอดกลั้นและกล้าที่จะออกมาต่อสู้กับรัฐที่ขาดความชอบธรรม ประชาชนผู้กล้าเหล่านี้จึงมีบทบาทที่ไม่ต่างจากซุปเปอร์ฮีโร่

           ในอีกแง่หนึ่ง เรื่องราวของซุปเปอร์ฮีโร่อาจบ่งบอกให้เห็นถึงการทำหน้าที่แทนกฎหมายและกลไกของรัฐ หากตำรวจและผู้รักษากฎหมายไม่สามารถจับอาชญากรมาลงโทษได้หรือละเลยที่จะไม่ทำหน้าที่เพื่อความยุติธรรมทางสังคม เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนโดยการใช้พลังวิเศษปราบปรามคนชั่ว ในแง่นี้ ซุปเปอร์ฮีโร่จึงกลายเป็นกลไกเสริมที่ทำให้ระบบกฎหมายและความยุติธรรมทางสังคมมีความแข็งแกร่งและทำงานได้จริง ส่วนการใช้กำลังเพื่อกำจัดคนชั่วเป็นด้านตรงข้ามกับระบบกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถลงโทษและเอาผิดอาชญากรและผู้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน กลุ่มคนที่ออกมาใช้กำลังต่อสู้และขัดขวางรัฐบาลจะใช้วิธีการลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ดังเช่นการใช้พลังวิเศษของเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ การกระทำเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของซุปเปอร์ฮีโร่คือการลงโทษคนทำผิดอย่างเฉียบขาด ถึงแม้ว่าการลงโทษนั้นจะเต็มไปด้วยความรุนแรงและการใช้กำลังก็ตาม จะเห็นได้ว่าเรื่องราวของซุปเปอร์ฮีโร่จะเต็มไปด้วยการใช้กำลังต่อสู้กับคนร้าย ปีศาจ อำนาจมืด หรือศัตรูของประชาชน

           การ์ตูนและภาพยนตร์แนวซุปเปอร์ฮีโร่ คือจินตนาการที่สะท้อนปัญหาความไม่ยุติธรรมทางสังคมที่พบเห็นในชีวิตจริง ในแง่นี้ Vollum & Adkinson (2003) วิเคราะห์ว่าการส่งเสริมให้เยาวชนได้อ่านการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ เสมือนเป็นการทำให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาสังคมที่ปราศจากความยุติธรรม และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมองซุปเปอร์ฮีโร่เป็นวีรบุรุษตัวอย่างที่สังคมต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อวันหนึ่งสังคมจะปราศจากคนที่คิดร้ายและทุกคนพบกับความเท่าเทียมและยุติธรรม ขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่ได้สำรวจความซับซ้อนของประเด็นทางศีลธรรมผ่านการใช้สถานการณ์สมมติ และมองเห็นเงื่อนไขที่ทำให้มีการใช้ความรุนแรงอย่างมีเหตุผลหรือไร้เหตุผล

 

ซุปเปอร์ฮีโร่ในมุมมองทางมานุษยวิทยา

           Weston (2012) อธิบายว่าเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างคนทำดีกับคนทำผิดที่ปรากฏในการ์ตูนและหนังซุปเปอร์ฮีโร่ สะท้อนปรากฎการณ์เกี่ยวกับความคาดหวังเพื่อให้สังคมพบกับความยุติธรรม ผู้อ่านและผู้ชมจะเรียนรู้ถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้สังคมเต็มไปด้วยการละเมิดกฎหมาย การผูกขาดอำนาจ การหลงในอำนาจและทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม ทิ้งให้คนส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ด้วยความทุกข์และความขาดตกบกพร่อง การตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนเปรียบเทียบกับความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน และเริ่มสงสัยพร้อมตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลจึงละเลยและปล่อยให้คนด้อยโอกาสถูกทอดทิ้ง รวมทั้งไม่มั่นใจกับระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไร้ประสิทธิภาพ ผู้บังคับใช้กฎหมายตกอยู่ใต้อำนาจของนักการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตในประเด็นนี้อาจถูกตั้งคำถามต่อไปว่าคนอ่านและผู้ชมหนังซุปเปอร์ฮีโร่อาจไม่สนใจเรื่องความยุติธรรมทางสังคมที่ถูกบอกเล่าก็เป็นได้

           การเปรียบเทียบความจริงทางสังคมกับจินตนาการในการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ ให้เป็นคู่ตรงข้ามกันอาจเป็นวิธีการที่หยาบเกินไป ดังนั้น การทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องแต่ง กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม อาจพิจารณาได้จากปฏิบัติการของประชาชนที่แสดงออกเพื่อแสวงหาความถูกต้องทางสังคม ตัวอย่างเช่น ในวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศกัวเตมาลา ชาวบ้านมักจะเผชิญหน้ากับความรุนแรงทางร่างกาย มีการใช้กำลังต่อสู้เพื่อแสวงหาความยุติธรรมตั้งแต่อยู่ภายใต้การปกครองของชาวตะวันตกในยุคอาณานิคม ซึ่งในช่วงเวลานั้นคนท้องถิ่นที่ออกมาต่อต้านและต่อสู้กับคนผิวขาวจะถูกจับและถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม (Burrell & Weston, 2008; Godoy, 2006) เหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการสร้างจินตนการเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างซุปเปอร์ฮีโร่และคนทำผิด อย่างไรก็ตาม Weston (2012) ตั้งข้อสังเกตว่าในกลุ่มประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งประชาชนนิยมอ่านและดูหนังแนวซุปเปอร์ฮีโร่ แต่สภาพสังคมของประเทศเหล่านี้ไม่ค่อยปรากฎการต่อสู้ของประชาชนที่เรียกร้องความยุติธรรม ผู้บริโภคซุปเปอร์ฮีโร่ในกลุ่มประเทศร่ำรวยจึงเสพสื่อประเภทนี้ในฐานะเป็นการใช้เวลาว่างแสวงหาความสุขและหลีกหนีความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน (Nama, 2009) ซึ่งแตกต่างไปจากประเทศในเอเชียและลาตินอเมริกาซึ่งประชาชนที่ถูกกดขี่ข่มเหงได้ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม แต่รัฐบาลของพวกเขาก็ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน

 

Pancho Villa ที่ต่อสู้เพื่อทวงคืนดินแดนของชาวเม็กซิโก ซึ่งถูกยึดครองโดยชาวอเมริกัน ภาพจาก

https://www.chicagotribune.com/opinion/commentary/ct-perspec-flash-pancho-villa-mexico-border-troops-0506-20180430-story.html

 

           ในสังคมที่ประชาชนขาดโอกาสและถูกปิดกั้นจากรัฐ มักจะมีผู้กล้าหาญออกมาเป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวบ้าน ซึ่งผู้กล้าหาญเหล่านั้นเปรียบเสมือนวีรบุรุษของคนยากไร้ ตามแนวคิดของ Hobsbawm (1969) ชี้ว่าผู้กล้าหาญของชาวบ้านเปรียบเสมือนผู้ร้ายที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม (social bandits) กลุ่มคนจนและผู้ยากไร้จะยกย่องและเทิดทูนคนประเภทนี้ ซึ่งเปรียบเป็นดั่งวีรบุรุษที่เข้ามากอบกู้ความยุติธรรมให้กับพวกเขา ตัวอย่างเช่น เรื่องราวของ Pancho Villaที่ต่อสู้เพื่อทวงคืนดินแดนของชาวเม็กซิโกซึ่งถูกยึดครองโดยชาวอเมริกัน เรื่องราวประเภทนี้อาจสร้างจินตนาการและถูกต่อเติมเสริมแต่งให้กลายเป็นเรื่องในความฝัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมการ์ตูนและภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่มีการนำเสนอเรื่องราวที่ฉีกขนบเดิมๆ โดยการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเป็นวีรุบุรุษ อุดมการณ์ณ์ความยุติธรรม การใช้ความรุนแรง และระบอบอำนาจครอบงำทางสังคม คำถามเหล่านี้นำไปสู่การรื้อระบบความคิด วาทกรรม และอิทธิพลของสื่อที่ชี้นำสังคมให้เสพความบันเทิงภายใต้บรรทัดฐานแบบตะวันตก ประเด็นเรื่อง “ความยุติธรรม” ที่เป็นแก่นเรื่องของซุปเปอร์ฮีโร่กำลังถูกทำให้กลายเป็นสินค้าที่ผู้สร้างการ์ตูนและภาพยนตร์ได้ประโยชน์ทางธุรกิจมหาศาล ในขณะที่โลกของความจริง ผู้อ่านและผู้ชมซุปเปอร์ฮีโร่มิได้เชื่อมั่นและคล้อยตามความยุติธรรมที่ถูกสร้างขึ้น

           ในสังคมสมัยใหม่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 อุตสาหกรรมการผลิตการ์ตูนและหนังแนวซุปเปอร์ฮีโร่เกี่ยวโยงกับการแสวงหาสุนทรียะของปัจเจกบุคคล ในประเด็นนี้ Braun (2013) อธิบายว่าธุรกิจบันเทิงที่ขยายตัวในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เน้นความสุขสำราญส่วนบุคคล มีความต้องการเสพเรื่องราวของซุปเปอร์ฮีโร่ที่มีฉากตื่นตาตื่นใจด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสุนทรียะของการปลดปล่อย ซึ่งเรียกว่า “ความเข้มข้นทางสุนทรียะแนวซุปเปอร์ฮีโร่” (superhero aesthetic intensity) กล่าวคือคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ก้าวหน้าช่วยต่อเติมจินตนาการเกี่ยวกับความสามารถของซุปเปอร์ฮีโร่ได้กว้างไกลและดูสมจริง ภาพที่ปรากฏในหนังซุปเปอร์ฮีโร่จึงเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์และความรู้สึกที่สื่อยุคเก่าไม่สามารถนำเสนอได้

           ซุปเปอร์ฮีโร่อาจมิใช่ตัวแทนของวีรบุรุษและอาจมีเงาของการเป็นผู้ร้าย คุณงามความดีในซุปเปอร์ฮีโร่จึงมีลักษณะคลุมเครือ การ์ตูนและภาพยนตร์แนวต่อต้านซุปเปอร์ฮีโร่ในระยะหลังทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับระบบศีลธรรมและการยกย่องคนดี Belk (1989) ตั้งข้อสังเกตว่าวีรบุรุษและผู้ร้ายคือหมวดหมู่ของคนที่ตัวเราเป็นผู้สร้างขึ้นมา ซึ่งอาศัยความเชื่อทางวัฒนธรรมมาสร้างภาพตัวแทนของคนดีและคนเลว ทั้งนี้เพื่อหวังผลว่าคนดีคือคนที่สังคมต้องยกย่องสรรเสริญและคนเลวคือผู้ที่สังคมต้องลงโทษและประณาม ข้อสังเกตนี้ทำให้เห็นว่าเรื่องราวของซุปเปอร์ฮีโร่มิใช่สิ่งที่มนุษย์ต้องเลียนแบบ แต่ควรเป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์ฉุกคิดและตั้งคำถามว่าคนดีและคนเลวคืออะไร และสังคมที่เป็นอยู่สร้างคนดีและคนเลวได้อย่างไร อาจกล่าวได้ว่า ในมุมมองทางมานุษยวิทยา การ์ตูนและหนังแนวซุปเปอร์ฮีโร่คือภาพของสังคมที่ผลิตซ้ำวาทกรรมเกี่ยวกับความดีและความเลวซึ่งส่งต่อมายาคติเกี่ยวกับคู่ตรงข้าม สิ่งที่เราควรพิจารณาเมื่ออ่านและดูหนังซุปเปอร์ฮีโร่ อาจจะเป็นการไตร่ตรองและทบทวนว่ามายาคติที่ปรากฏเหล่านั้นทำให้มนุษย์รังเกียจพฤติกรรมของมนุษย์แบบไหน และเชิดชูมนุษย์แบบไหน Weston (2012) กล่าวว่าซุปเปอร์ฮีโร่คือบทเรียนที่ทำให้เรารู้จักเฝ้าระวังว่าการตอบโต้เพื่อแสวงหาความยุติธรรมทางสังคมมีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลายและซับซ้อนอย่างไร เพื่อเตือนสติว่าเราจะไม่ด่วนตัดสินว่าคนกลุ่มไหนหรือการกระทำประเภทไหนที่ไร้ศีลธรรม

 

เอกสารอ้างอิง

Abrahams, R. (1998). Vigilant Citizens: Vigilantism and the State. Cambridge: Polity.

Belk, R. (1989). Effects of identification with comic book heroes and villains on materialism among former comic book readers, In Srull, T.K. (Ed.) Advances in Consumer Research Volume 16, (pp.414-419). Provo: Association for Consumer Research.

Braun, D. (2013). The Aesthetic Intensity of Superheroes: A n autoethnographic interpretation of contemporary superhero popularity. Thesis, Department of Sociology and Anthropology Carleton University.

Burrell, J., & Weston, G. (2008). Lynching and Post-War Complexities in Guatemala. In D. Pratten and A. Sen, (Eds). Global Vigilantes. (pp.371-392). London & New York: C. Hurst & Co/Columbia University Press.

Comic Chronicles. (January 2010). Comic Book Sales Figures. The Comic Chronicles: A Resource For Comic Research. Available online: http://www.comichron.com/monthlycomicssales/2010/2010-01.html

Coogan, P. (2009). The Definition of the Superhero. In Heer, J and Worcester, K, (Eds). A Comics Studies Reader. (pp.77-93). MS: University Press of Mississippi.

Godoy, AS. (2006). Popular Injustice: Violence, Community and Law in Latin America. Stanford: Stanford University Press.

Hobsbawm, E. (1969). Bandits. London: Weidenfeld.

Nama, A. (2009). Brave black worlds: black superheroes as science fiction ciphers. African Identities, 7 (2), 133-144.

Pratten, D & Sen, A. (Eds.). Global Vigilantes. London & New York: C. Hurst & Co/Columbia University Press.

Vollum, S, & Adkinson, C. (2003). The Portrayal of Crime and Justice in the Comic Book Superhero Mythos. Journal of Criminal Justice and Popular Culture, 10(2), 96-108.

Weston, G. (2012). Superheroes and comic-book vigilantes versus real-life vigilantes: An anthropological answer to the Kick-Ass paradox. Journal of Graphic Novels and Comics, 4(2), 223–34.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ซุปเปอร์ฮีโร่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Superheroes Comic Book and Anthropology นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา