จากเครือข่ายการแลกเปลี่ยนระหว่างมนุษย์ สู่เครือข่ายของสรรพสิ่ง (From Human Relations to the Entangled Material-Semiotic Relation)
เมื่อกล่าวถึงข้อถกเถียงว่าด้วยภววิทยาในสายสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ให้ความสนใจกับการศึกษาแนวคิดว่าด้วย “เครือข่าย-ผู้กระทำการ” Actor-Network Theory: ANT แล้วนั้น คำถามหนึ่งที่มักปรากฏเมื่อแรกเริ่มทำความรู้จักกับแนวคิดดังกล่าวคือ แนวคิดนี้แตกต่างจากแนวทางการศึกษาเครือข่ายทางสังคม (Social Network Analysis: SNA) ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงผู้สนใจด้านสังคมวิทยามายาวนานตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 อย่างไร บทความนี้คือข้อสำรวจเบื้องต้นที่พยายามไขข้อข้องใจดังกล่าวผ่านการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างแนวคิดทั้ง 2 สำนักด้วยการปริทัศน์วรรณกรรม
แนวคิดเครือข่าย-ผู้กระทำการนั้นจัดเป็นหนึ่งในกลุ่ม “ทฤษฎีเครือข่าย” (Network Theory) ที่มุ่งศึกษาเส้นทางและกระบวนการต่าง ๆ ของการปฏิสัมพันธ์ ที่เกิดขึ้นภายในระบบหนึ่ง ๆ ซึ่งคำว่าเครือข่ายนี้มีนัยยะหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละแนวคิด เช่น ในทางสำนักศึกษาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีคำว่าเครือข่ายมักมีความหมายที่สื่อนัยยะเชิงรูปธรรมอย่างเครือข่ายสายไฟฟ้า เครือข่ายระบบท่อส่งน้ำ หรือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในขณะที่เมื่อคำว่าเครือข่ายถูกนำมาประยุกต์ใช้ในฐานะกรอบแนวคิดของงานวิจัยสายสังคมศาสตร์กลับมีนัยยะสื่อถึงรูปแบบชุดความสัมพันธ์เชิงนามธรรมอย่างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนทรัพยากร หรือการปฏิสัมพันธ์ ต่อรองกันระหว่างมนุษย์ (Vicsek and Hanna, 2016)
แนวคิดเครือข่าย-ผู้กระทำการ (Actor-Network Theory: ANT) นั้นนัยยะของคำว่า “เครือข่าย” จำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าแตกต่างจากเครือข่ายทางสังคม (Social Network) ที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม และต่างจากเครือข่ายในความหมายของสำนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีที่มีนัยยะเครือข่ายเชิงรูปธรรมที่ใช้กันทั่วไป เพราะ ANT ได้ถือกำเนิดและพัฒนาขึ้นจากสำนักคิดฝั่งผู้ศึกษาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเชิงสังคม (Social Technology Studies: STS ) ที่ให้ความสนใจกับเครือข่ายในความหมายของเส้นทาง และกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยี วัตถุ กับบริบททางสังคม เป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ วัตถุ หรือองค์ประกอบการวิเคราะห์อื่น ๆ ในระบบอันมิใช่มนุษย์ ดังนั้นคำว่าเครือข่ายในบริบทการอธิบายของ ANT จึงไม่ได้หมายความถึงระบบโครงข่ายเชิงรูปธรรมอย่างสายไฟ ระบบราง โครงสร้างพื้นฐาน หรือสิ่งมีรูปร่างชัดเจนเพียงอย่างเดียว หากแต่หมายรวมถึงระบบการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคม ผู้คน และวัตถุที่ยึดโยงกันอย่างแน่นหนาในทางนามธรรมผ่านระนาบปฏิบัติการทางสังคมด้วย ถือเป็นนิยามของเครือข่ายที่มีขอบเขตของตัวแสดงที่กว้างกว่าที่ใช้กันในกลุ่มสำนักทฤษฎีเครือข่ายทั่วไปที่เกิดขึ้นในยุคก่อนหน้า (Law, 1992; Latour, 2005)
แนวทางการศึกษาปรากฏการณ์ด้วยการวิเคราะห์ระบบเครือข่ายที่เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ชุดแรกนั้นยังไม่ใช่แนวคิดเครือข่าย-ผู้กระทำการ หากแต่เป็นทฤษฎีเครือข่ายทางสังคม (Social Network Analysis: SNA) ที่แพร่หลายตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 โดยเป็นรูปแบบการวิเคราะห์เครือข่ายที่พัฒนาขึ้นจากการผสมผสานวิธีการคำนวนทางคณิตศาสตร์แบบทฤษฎีกราฟ (Graph Theory) เข้ากับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในเครือข่าย (Node) การมีฐานวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์นี้เองที่ทำให้รูปแบบการสังเคราะห์ข้อมูลของ SNA มีลักษณะที่เป็นระบบและชี้วัดได้ด้วยระเบียบวิธีทางสถิติหรือวิธีเชิงปริมาณ (Liu, 2017) ซึ่งแม้ทฤษฎีเครือข่ายทางสังคม และเครือข่าย-ผู้กระทำการจะมีความแตกต่างต่างกันในเรื่องรูปแบบการวิเคราะห์ และรายละเอียดของนิยามความหมาย และชุดถ้อยคำอธิบายที่ใช้เกี่ยวกับตัวสดงในเครือข่าย แต่งานวิจัยจำนวนหนึ่งได้ชี้นำว่าทั้ง 2 ทฤษฎีสามารถนำมาปรับใช้ร่วมกันเพื่อสร้างคำอธิบายเครือข่ายที่ชัดเจนขึ้นได้ โดย SNA จะทำหน้าที่เสนอคำอธิบายเชิงปริมาณที่ชัดเจนและเป็นระเบียบเชิงรูปธรรมให้กับเครือข่ายได้ ในขณะที่ ANT จะสร้างชุดคำอธิบายเชิงคุณภาพที่พลังทางการอธิบายเปิดกว้าง ความเป็นไปได้ที่ซ่อนอยู่ในระบบเครือข่ายระหว่างมนุษย์และองค์ประกอบอื่น ๆ ในสังคม (Vicsek and Kónya, 2016) (Ferrary, 2019) ซึ่งผู้วิจัยจำนวนหนึ่งได้นำแนวทางนี้มาพัฒนาออกแบบการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method) ที่กำหนดให้ ANT เป็นกรอบวิเคราะห์ในขั้นตอนการวิจัยเชิงคุณภาพก่อนจะปรับใช้รูปแบบการวิเคราะห์ค่าความสัมพันธ์ภายในเครือข่ายด้วยเครือข่ายทางสังคม (SNA) ในขั้นตอนของการวิจัยเชิงปริมาณ
จากการทบทวนประเด็นที่มาและพัฒนาการของทฤษฎีในกลุ่มก้อนแนวคิดด้านเครือข่ายทางสังคม (Social Network Theory) พบว่ามีรากฐานเดิมจากทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (Rational Choice Theory) อันมีสมมติฐานหลักว่าพฤติกรรมความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นวางอยู่บนหลักการพิจารณาเรื่องการต่างตอบแทนระหว่าง ผลประโยชน์ ความคุ้มค่า การลงโทษ และการขาดทุน โดยในขั้นต้นทฤษฎีแลกเปลี่ยนนี้มุ่งอธิบายพฤติกรรมการตัดสินใจระดับบุคคลเป็นหลัก จึงถูกวิพากษ์ว่ามีกรอบการวิเคราะห์ที่เน้นหน่วยการศึกษาระดับจุลภาค มีความซับซ้อนของการพิจารณาองค์ประกอบเพียงหลักอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) และความพึงพอใจภายในกระบวนการให้คุณค่าของปัจเจก ขาดมิติภาพรวม หรือภาพกว้างในระดับสังคม และการพิจารณามิติอื่นอย่างบทบาทหน้าที่ ค่านิยม และปทัสถานทางสังคมที่บุคคลอันเป็นหน่วยวิเคราะห์นั้นผูกพันอยู่ แนวคิดดังกล่าวจึงถูกนำไปปรับปรุงพัฒนาเป็นแนวคิดใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นอย่างแนวคิดเครือข่าย (Hamilton, 2011)
แนวคิดที่พัฒนาต่อยอดจากทฤษฎีการแลกเปลี่ยนมาเป็นทฤษฎีเครือข่าย อาทิ แนวคิดของ Emerson (1981) ที่ได้นำเสนอกรอบการพิจารณาแบบความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น มีการวิเคราะห์ปัจจัยเพิ่มเติมจากความพึงพอใจในการแลกเปลี่ยนระดับบุคคลไปสู่การพิจารณากลไกความสัมพันธ์แบบกลุ่มก้อนทางสังคมที่มีเงื่อนไขอย่างอำนาจและการพึ่งพา ในเครือข่าย (Power and Dependence) พฤติกรรมนิยม (Behaviorism) และความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relations) เพิ่มเติมจากทฤษฎีการแลกเปลี่ยนแบบดั้งเดิม โดยเชื่อว่าการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม คือ โครงสร้างของเครือข่ายการแลกเปลี่ยนที่ซับซ้อน มีการพึ่งพาอาศัยกัน โดยกลไกการพึ่งพาที่ไม่สมดุลนี้เองจะนำไปสู่ภาวะเชิงอำนาจระหว่างผู้ที่ต้องพึ่งพากับผู้ถูกพึ่งพาและจะกลายเป็นปัจจัยกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในเครือข่ายได้ ทั้งนี้แนวทางของ Emerson กลายเป็นรากฐานสำคัญของทฤษฎีเครือข่ายทางสังคมในยุคต่อมา
แนวคิดเครือข่ายทางสังคมถูกนำมาใช้เป็นกรอบการศึกษาทางสังคมศาสตร์แพร่หลายมากขึ้น โดยนัยยะความหมายของเครือข่ายทางสังคมว่าคืออะไรนั้นมีผู้ให้นิยามไว้หลากหลาย อาทิ Boissenevain (1974) นิยามว่าเครือข่ายทางสังคมหมายถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนอันมีกระบวนการติดต่อสื่อสารและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกันและกันเป็นแกนกลาง ในขณะที่ เสรี พงศ์พิศ (2546) ได้เพิ่มรายละเอียดนิยามว่าคือ กลุ่มองค์กร หรือกลุ่มบุคคลที่ติดต่อสื่อสาร ดำเนินกิจกรรมร่วมกันด้วยความสมัครใจ โดยการดำเนินกิจกรรมร่วมกันภายใต้เครือข่ายนี้ต้องไม่ทำให้องค์กรหรือกลุ่มบุคคลสูญเสียอุดมการณ์หรือความเป็นอิสระเดิมของตนเอง ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ (2551) ให้นิยามเครือข่ายทางสังคมว่า หมายถึงรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมของปัจเจก กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ที่มีปฏิสัมพันธ์กันในรูปแบบต่างๆ ภายใต้การมีเป้าหมายร่วมกัน โดยการบรรลุ “เป้าหมายร่วมกัน” นี้ถูกระบุถึงอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้นในเอกสารเชิงปฏิบัติการซึ่งใช้อ้างอิงในองค์การพัฒนาระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลกว่า หมายถึงการใช้สัมพันธภาพทางสังคมที่เชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล ซึ่งจะก่อให้เกิดการเข้าถึง การระดมการสนับสนุนทางสังคม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารภายในกลุ่มเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี สุขภาพที่แข็งแรง (WHO, 1984)
และจุดเสริมเติมเต็มกันและกันอันสามารถสรุปได้ว่าเครือข่ายทางสังคม (Social Network) หมายถึง ชุดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ ที่เป็นได้ทั้งปัจเจกบุคคล หรือองค์กร ที่มาปฏิสัมพันธ์กันภายใต้โครงสร้างเชิงอำนาจ และบทบาทหน้าที่ทางสังคม ตลอดไปจนถึงกระบวนการแลกเปลี่ยนบางประการ โดยมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันของเครือข่ายอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจของสมาชิกในการที่จะร่วมดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมภายใต้รูปแบบของเครือข่ายนั้น ทั้งนี้การเป็นสมาชิกของเครือข่ายมีเงื่อนไขสำคัญคือ ความเป็นอิสระของสมาชิกที่จะอยู่ภายใต้เครือข่ายด้วยระดับความผูกมัดที่ตนพึงพอใจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารภายในเครือข่าย เมื่อฐานคิดของทฤษฎีเครือข่ายทางสังคมคือ สังคมประกอบขึ้นด้วยเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ ซึ่งรูปแบบการปฏิสัมพันธ์นี้จะถูกควบคุมโดยโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ บทบาทหน้าที่ ตลอดไปจนถึงหลักการแลกเปลี่ยนที่แต่ละปัจเจกบุคคลพิจารณา โดยในเครือข่ายจะประกอบไปด้วยตัวแสดง (Actors) และ ชุดความสัมพันธ์ (Relations) ดังนั้นการจะทำความเข้าใจเครือข่ายทางสังคมใด หรือจะอธิบายเหตุผลของพฤติกรรมในเครือข่ายใดจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ผ่านรูปแบบความสัมพันธ์ (Pattern of Social Relationship) เป็นแกนกลางกล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็คือ หากจะเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจผ่านระบบปฏิสัมพันธ์ภายในเครือข่ายนั้น ๆ นั่นเอง แนวคิดเครือข่ายได้รับการยอมรับและถูกนำมาใช้ประกอบการศึกษาวิจัยด้านสังคมศาสตร์อย่างแพร่หลาย โดยในงานส่วนมากที่พบนั้นเป็นการใช้แนวคิดดังกล่าวเพื่ออธิบายว่า เครือข่ายทางสังคมนั้น ๆ ดำรงอยู่และส่งผลต่อพฤติกรรมของสมาชิกภายในเครือข่ายอย่างไร ผ่านการแกะรอยรูปแบบความสัมพันธ์ภายในเครือข่าย (Network Tracing) Boissevain (1974)
อย่างไรก็ดีแนวคิดว่าด้วยเครือข่ายนี้ยังมีข้อวิพากษ์ในแง่ของการเน้นพิจารณาคู่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เท่านั้น เป็นกรอบคิดที่ยกอำนาจในการกระทำการในเครือข่ายความสัมพันธ์ และกระบวนการสร้างความหมายให้กับตัวแสดงที่เป็นมนุษย์โดยละเลยมิติของปัจจัยหรือองค์ประกอบแวดล้อมอย่าง ความเชื่อ นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวกระทำการไป ในขณะที่แนวคิดเครือข่าย–ผู้กระทำการ (–Network Theory) เป็นแนวคิดเครือข่ายยุคหลังที่พัฒนาขึ้นมาจากฐานคิดเรื่องเครือข่ายโดยคำถามตั้งต้นของนักคิดกลุ่มนี้คือ เพราะเหตุใดประสิทธิภาพของการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในสังคมจึงแตกต่างกัน เพราะเหตุใดการค้นพบเทคโนโลยีบางเรื่องสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนได้ในขณะที่บางเรื่องกลับล้มเหลวและถูกปฏิเสธจากสังคมนั้น ๆ ข้อสรุปของการศึกษานี้พบว่า เทคโนโลยี นวัตกรรมใดใดนั้นจะสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อถูกผนวกเข้ากับเครือข่ายเดิมของสังคมก่อน จึงจะสามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างราบรื่น เช่น การค้นพบวัคซีนหากผู้ค้นพบไม่ได้รับความรู้จากองค์ความรู้เดิมที่มีผู้ศึกษาทดลองไว้ก็ไม่อาจพัฒนาวิจัยได้ ผ่านการวิจัย การทำงานกับเพื่อนร่วมงาน การสนับสนุนของสถาบันในสังคมวัคซีนจึงได้ถูกค้นพบ หลังการค้นพบองค์ความรู้เรื่องวัคซีนก็ไม่อาจใช้ได้หากนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแปลสารเรื่องคุณประโยชน์ของวัคซีนในการป้องกันโรคให้กับสมาชิกในสังคมเข้าใจและยอมรับได้ วัคซีนย่อมไม่เกิดการใช้อย่างแพร่หลายและไม่อาจสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมได้ เป็นต้น แต่เมื่อวัคซีนเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายโรคร้ายหลายโรคถูกยับยั้งป้องกัน เกิดการสร้างความหมายใหม่ภายในเครือข่ายที่ได้ผนวกเอาวัคซีนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย กล่าวคือ โรคร้ายแรงที่เคยเป็นภัยคุกคามนั้น ๆ ก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นโรคที่คุกคามร้ายแรงต่อมนุษย์อีกต่อไป ซึ่งหากพิจารณาในแง่นี้การดำรงอยู่ของวัคซีนได้สร้างความหมายใหม่ให้กับโรคนั้น ๆ และเปลี่ยนวิถีปฏิบัติในการใช้ชีวิตต่อไปของผู้คน (Latour, 1996)
จากงานนี้จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นวัตกรรม จะต้องเผชิญกับกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้น ถ้าจะประสบความสำเร็จ ผู้กระทำการทางเทคโนโลยี หรือผู้นำนวัตกรรม (Change Maker) ทั้งหลายจะต้องสร้าง เครือข่ายความเชื่อมโยงเป็นระบบความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องทั้งกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (Non-Human) และมนุษย์คนอื่น (Human) กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เทคโนโลยีใหม่ หรือวัตถุที่สร้างขึ้นนั้นต้องปฏิสัมพันธ์ ถูกถักทอเชิงความหมายในระนาบชีวิตประจำวันเข้ากับเครือข่าย-ผู้กระทำการดั้งเดิมในระบบสังคมได้อย่างเหมาะสมก่อน จึงจะกลายเป็นจุดของผู้กระทำการ (Node) ใหม่ในระบบเครือข่ายนั้นได้อย่างเต็มที่ ความหมายของวัตถุ นวัตกรรมใดใดจึงไม่อาจอธิบายได้โดยปราศจากบริบทของความสัมพันธ์ทางสังคม (McMullin, 2019 ) ในมิตินี้อาจสรุปได้ว่า ANT ไม่แยกเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วัตถุออกจากบริบทของสังคม และสังคมก็ถูกประกอบสร้างไปด้วยเครือข่ายของความรู้ เทคโนโลยี ดังนั้นการจะอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมให้ถ่องแท้จึงควรเลี่ยงการตัดตอนพิจารณาแยกส่วนเพียงแค่มิติทางสังคม (Social Determinism) หรือ วิเคราะห์เพียงแค่วัตถุ นวัตกรรมโดยลำพัง (Technological Determinism)
การนำเอาแนวคิด ANT มาใช้ในฐานะกรอบทฤษฎีวิจัยส่งผลต่อกระบวนการศึกษาทางสังคมศาสตร์ใน 2 ประการหลักคือ เป็นการละลายเส้นแบ่งระหว่างการศึกษาวิทยาศาสตร์ หรือศาสตร์ธรรมชาติกับศาสตร์ด้านมานุษยวิทยา สังคมวิทยา ด้วยการพิจารณาศาสตร์ทั้ง 2 ร่วมกันไม่แยกขาดจากกัน ประการที่สองคือ แนวคิดนี้เปิดพื้นที่ในการวิเคราะห์ให้กับผู้กระทำการที่ไม่ใช่มนุษย์ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าทุกสิ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายที่ลื่นไหล มีการแลกเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในกระบวนการปฏิสัมพันธ์ (Simandan, 2017) โดยภายใต้เครือข่ายนั้น ๆ ตัวแสดงไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือไม่ใช่มนุษย์ อาทิ อุดมการณ์ นวัตกรรม หรือในกรณีการพัฒนาพื้นทิ่ชีวิตของมนุษย์เช่น สะพาน ถนน โครงข่ายระบบโทรคมนาคม ระบบการขนส่งคมนาคมเหล่านี้ต่างก็มีแรงกระทำต่อตัวแสดงอื่น ๆ ในระบบความสัมพันธ์ที่มีการแลกเปลี่ยน และประกอบสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ มนุษย์ในระบบความสัมพันธ์นี้มิได้รับหน้าที่เป็นผู้กระทำ หรือผู้กำหนดความหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำหน้าที่เป็นผู้รับอิทธิพลจากผู้กระทำการที่ไม่ใช่มนุษย์ในเครือข่ายที่ตนอาศัยอยู่แล้วประมวลผล แปลความออกมาเป็นการกระทำรูปแบบต่าง ๆ เช่น ในสังคมประเทศหนึ่งกฏหมายจราจรระบุไว้ว่าไฟจราจรสีแดงหมายถึงการสั่งให้ยานพาหนะบนท้องถนนต้องหยุดทันที ผู้คนในสังคมนั้น ๆ ย่อมเรียนรู้ความหมายและแนวปฏิบัติดังกล่าว จนเป็นเหตุให้บางครั้งแม้เปลี่ยนพื้นที่อาศัยใหม่แต่ความเคยชินอาจทำให้คนผู้นั้นหยุดเมื่อพบไฟแดง ในแง่นี้ไฟแดงกลายเป็นตัวกรทำที่กำหนดพฤติกรรมมนุษย์ได้ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงวัตถุปลูกสร้างที่รอคอยให้มนุษย์เป็นผู้กระทำเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ Latour จึงได้บัญญัติศัพท์ใหม่ ขึ้นมาแทนคำว่า Actor ที่โดยทั่วไปมีนัยยะสื่อถึงเพียงผู้กระทำการที่เป็นมนุษย์ คือคำว่า Actant (Latour, 2005) ถือเป็นแนวคิดที่นำเสนอภววิทยาแบบใหม่ให้กับวงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นภววิทยาแบบที่ไม่ได้ให้ความพิเศษกับมนุษย์เหนือสิ่งอื่นในสังคม ปฏิเสธการจัดลำดับขั้นของการวิเคราะห์ศึกษาแบบดั้งเดิมที่เชื่อว่ามนุษย์คือที่มาของการเปลี่ยนแปลงและกำหนดพฤติกรรมทางสังคมที่ทรงพลังอยู่ชั้นบนสุดของปีระมิดในกระบวนการศึกษา ในแง่นี้ถือได้ว่า ANT นำเสนอการศึกษาแนวราบ (Flat Ontology) ที่เปิดความเป็นไปได้ของทุกตัวแสดงในระบบเครือข่าย
ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำการตามแนวทางของ Bruno Latour ที่ทำให้แนวคิดนี้มีความแตกต่างออกไปจากกลุ่มทฤษฎีดั้งเดิม (Classical Theories) ที่มุ่งพัฒนากรอบการวิเคราะห์ที่มีหลักเกณฑ์ รายละเอียดแบบตายตัว (Fix or Solid Frame) ที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ผ่านการศึกษาเส้นทางของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำการทั้งหลายในสังคมระดับปฏิบัติการ (Practical Process) ไม่ยึดกรอบตายตัวของนิยาม หรือทฤษฎีว่าเครือข่ายต้องมีรูปร่าง บทบาท หรือองค์ประกอบแบบใดที่เฉพาะเจาะจง หากแต่เป็นกรอบที่ลื่นไหล (Moving Frame) ที่มองปรากฏการณ์จริงในพื้นที่ก่อนจะมองหาชุดคำอธิบายผ่านระบบปฏิสัมพันธ์ในประเด็นนั้น ๆ ดังปรากฏในงานของ Robert D. Putnam ที่ได้เรียกกรอบแนวคิดนี้ว่าเป็นกรอบที่ให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ กระบวนการเชิงปฏิบัติ (Practical Enlightenment) (Fenwick, 2018) ก่อนจะนำมาถอดรหัส หรือแปลความ กระบวนการสร้างความหมายที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการปฏิสัมพันธ์ ให้ความสนใจกับการวิเคราะห์คู่ความสัมพันธ์ที่ดำเนินการภายในปรากฏการณ์จนได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นสังคมวิทยาของการคบค้าสมาคม (Sociology of Association) อันเป็นการพิจารณาสังคมตามความหมายดั้งเดิมของรากศัพท์ภาษาละตินที่คำว่า Socio หมายถึง ร่องรอยแห่งการเชื่อมโยง หรือหลักฐานแห่งการสมาคม (Latour, 2005)
จากการปริทัศน์วรรณกรรมครั้งนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า เนื่องจากสมมติฐานหลักของแนวคิด ANT ได้ขยายขอบเขตการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมไปเป็นแนวคิดที่นำพาผู้ศึกษาก้าวข้ามข้อจำกัดของกรอบการมองปรากฏการณ์แบบแยกพิจารณาระหว่างโครงสร้างและตัวแสดง (Structure and Agency) อันเป็นแนวทางดั้งเดิมของกรอบแนวคิดทางสังคมศาสตร์จำนวนหนึ่งที่มุ่งศึกษา วัตถุ โครงสร้าง หรือปรากฏการณ์แบบแยกส่วน ที่เน้นการสร้างคำอธิบายด้วยการจัดหมวดหมู่ คล้ายการตัดชิ้นส่วนของปรากฏการณ์ไปศึกษาแยกเดี่ยวขาดออกจากบริบททางสังคมอื่น ๆ ซึ่งหากพิจารณาตามหลักที่กล่าวมาแล้วนี้จะขัดกับหลักการรากฐานของสำนักพัฒนศาสตร์ที่ยึดมั่นในทฤษฎีระบบ (System Theory) อันเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ล้วนมีความเชื่อมโยงต่อกัน มีความสัมพันธ์กันอยู่อย่างเป็นชุดระบบ ในแง่นี้ ANT จึงถือว่าเป็นแนวคิดที่มีความสอดคล้องกับจริตการศึกษาทางการพัฒนา (Development Sciences) เนื่องจากแนวคิดเครือข่าย-ผู้กระทำการมิได้มุ่งสร้างคำอธิบายวัตถุใดภายใต้บริบทของตัววัตถุนั้นโดยลำพัง (Puritan) แต่วางสมมติฐานการศึกษาไว้ที่ความยึดโยงกันของทุกสิ่งในเครือข่ายความสัมพันธ์ โดยเชื่อว่าวัตถุ หรือผู้กระทำการนั้นสามารถเป็นแรงผลักดัน หรือส่งผลให้เกิดการกระทำในแต่ละจุดของเครือข่ายความสัมพันธ์ (Node)ได้ ทั้งนี้แต่ละตัวกระทำการไม่ว่าจะเป็นบุคคล สถาบัน สิ่งของ ต่างก็ถูกพิจารณาในฐานะที่มีความสำคัญและมีศักยภาพในการเป็นผู้กระทำการต่อระบบอย่างเท่าเทียมกันทั้งสิ้น ANT เป็นแผนที่ความสัมพันธ์ที่กระบวนการสร้างความหมาย และการปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นในแต่ละจุดของเครือข่าย ซึ่งจุดนั้นสามารถเป็นได้ทั้งมนุษย์ แนวคิด หรือ สิ่งของ (Material- Semiotic Relations) และไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ (Macro Level) อย่างนโยบายรัฐ ราคาน้ำมันในตลาดโลก หรือระดับจุลภาค (Micro Level) อย่างสิ่งของส่วนตัวเช่น รถยนต์ หรืออาหารที่บริโภคในครัวเรือนก็ไม่ได้ถูกแบ่งแยกพิจารณาแบบต่างระนาบ (Hierarchy) ไม่มีความสัมพันธ์แบบบนลงล่าง (Top-Down) หรือล่างขึ้นบน (Bottom-Up) แบบทิศทางตายตัวมีเพียงความเข้มข้นของปฏิสัมพันธ์ที่สร้างความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญในการพิจารณารูปแบบปรากฏการณ์ผ่านวิธีการเช่นนี้ (Olsen , 1996) ท่ามกลางความเป็นไปได้ของสารพัด “ผู้ระทำการ-Actants” นี่เองที่ทำให้ ANT เป็นทั้งแนวคิดที่จะเปิดหูเปิดตานักวิจัยสู่ปริมณฑลใหม่ ๆ ของปรากฏการณ์ทางสังคม และในทางกลับกันก็เป็นสนามที่น่าสนใจของผู้หลงไหลในการถอดรหัส ภววิทยาว่าด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งและมนุษย์
บรรณานุกรม
ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์. (2551). สถานภาพองค์ความรู้ของแนวคิดเครือข่ายทางสังคม. ค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2562, จาก http://www.kroobannok.com/blog/4252
Barad, K. (2014). Diffracting diffraction: Cutting together-apart. Parallax, 20(3), 168-187.
Barad, K. (2007). Meeting the Universe Half-way. Durham, NC: Duke University Press.
Boissevain, J. & Mitchell, J.C. (1973). Network analysis: Studies in human interaction. Netherlands: Mouton.
Bruno, L. (1992). Where are the Missing Masses? Sociology of a Few Mundane Artefacts In Shaping Technology-Building Society. In W.E Bijker & J. Law (Eds.). Shaping technology/building society: Studies in sociotechnical change. (pp. 225-259). Cambridge Mass: MIT Press. (1986). The Power of Associations. In J. Law (Eds.). Power, Action and Belief.A New Sociology of Knowledge. (pp. 261-277). [n.p.].
Bruno, L. (1998). Keynote Speech on Recalling ANT. Lancaster: Lancaster University Press. On Actor- Network Theory: A few Clarifications. Retrieve 8 October, 2020. from https://www.jstor.org/stable/40878163
Casper, B.J. (2020). New Ontologies? Reflections on Some Recent 'Turns' in STS, Anthropology and Philosophy. Retrieve 8 October, 2020. from https://www.academia.edu/25710614/New_Ontologies_Reflections_on_Some_Recent_Turns_in_STS_Anthropology_and_Philosophy.
Fenwick, T., Edwards, R. & Sawchuk, P. (2011). Emerging approaches to educational research: Tracing the socio-material. London: Routledge.
Harman, G. (2014). Entanglement and Relation: A Response to Bruno Latour and Ian Hodder. [n.p.]: The Johns Hopkins University Press
Harvey, P., Jensen, C.B. & Morita, A. (2016). Infrastructures and social complexity: A companion. London: Taylor & Francis.
John, L. (2009). Actor network theory and material semiotics. Retrieve 13 June, 2016, from http://www.heterogeneities.net/publications/Law2007ANTandMaterialSemiotics.pdf
St. Pierre, E.A., Jackson, A.Y. & Mazzei, L.A. (2016). New empiricisms and new materialisms: Conditions for new inquiry. Cultural Studies-Critical Methodologies, 16(2), 99-110.
Vicsek, L. & Hanna, K. (2016). Networks in the social sciences: Comparing actor-network theory and social network analysis. Journal of sociology and social policy, 7(2), 77-102.
ผู้เขียน
ดร.พรรณยุพา ธรรมวัตร
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ
ป้ายกำกับ เครือข่าย การแลกเปลี่ยน มนุษย์ สรรพสิ่ง ดร.พรรณยุพา ธรรมวัตร