เมื่อรักจึงบอด เมื่อบอดจึงแบก: ปิดตาข้างหนึ่งให้กับคนที่รัก (และพรรคที่ชอบ)
“แสตมป์กับคู่กรณีแสตมป์อยู่โลกเดียวกันไหม ทำไมเหมือนมันพูดกันคนละทางเลย เหมือนมีฝ่ายหนึ่งที่ไม่ยอมรับความจริง?”
สเตตัสดังกล่าวคือหนึ่งในหลากหลายความคิดเห็นต่อกรณีที่แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข นักร้องชายชื่อดัง นอกใจภรรยาไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับแฟนคลับหญิงที่ก็มีคนรักอยู่แล้ว จึงเกิดกระแสดรามาบนโลกโซเชียล และมีการนัดเคลียร์ใจผ่านรายการดัง เส้นเรื่องคล้ายจะออกไปทาง ‘ราโชมอน’ เมื่อนักร้องชายยอมรับว่าตนนอกใจภรรยาจริงเพื่อปกป้องชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของภรรยา แต่คู่กรณีฝ่ายชายกลับบอกว่าไม่จริง แฟนสาวของเขาไม่ได้คบชู้ แต่แสตมป์ต่างหากที่เป็นฝ่ายตามตื๊อและรุกเข้าหา แม้จะยอมรับว่าที่ผ่านมาก็เคยสงสัยจนถึงขั้นทะเลาะกับแฟนสาวเรื่องแสตมป์เกิน 50 รอบแล้ว แต่ก็ยังมั่นใจและเชื่อว่าแฟนไม่ได้เป็นชู้กับแสตมป์ เพราะแฟนยืนกรานมาโดยตลอดว่าบริสุทธิ์ใจ เขาเชื่อว่าแฟนพูดความจริง กระแสโซเชียลจึงแตกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่สงสารผู้ชายคนนี้ เพราะโดนฝ่ายหญิงหลอก กับฝ่ายที่สมน้ำหน้าว่าตามผู้หญิงไม่ทัน
ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นนี้เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นแนวคิดสำคัญของจิตวิเคราะห์สาย Jacques Lacan คือ ignorance ที่มนุษย์มักปฏิเสธข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ตนยึดถือหรือเชื่อมั่น ขณะเดียวกันก็ยินดีโอบรับข้อมูลที่แม้จะน่ากังขา ไม่มีมูล แต่ก็ตรงกับใจของตน บทความนี้จะเน้นสำรวจ ignorance ผ่านคำอธิบายของ Renata Salecl นักปรัชญาชาวสโลวีเนีย เป็นหลัก โดยเฉพาะในหนังสือเรื่อง A Passion for Ignorance (2020)ซึ่งหยิบยืมวลียอดนิยมที่พบได้ทั่วไปมาตั้งเป็นชื่อบทหนึ่งว่า “ความรักทำให้คนตาบอด” (Love is Blind) เนื่องจากเห็นว่าทัศนะของ Salecl จะช่วยให้เราทำความเข้าใจว่า ความไม่รู้ (ignorance) หรือการเพิกเฉยต่อสิ่งที่รู้อยู่เต็มอก (ignoring) คือสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้มนุษย์จัดการกับความจริงที่ไม่อาจยอมรับได้ในมิติต่าง ๆ ของชีวิต โดยเฉพาะความรัก นอกจากนี้ การเพิกเฉยยังอธิบายวิธีที่สังคมจัดการกับข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือความจริงที่อาจกร่อนเซาะโครงสร้างอำนาจทางการเมือง และทางเศรษฐกิจที่ครองอำนาจนำขณะนั้น
เพราะฉันนั้นลงใจให้เธอ: เอ็นจอยเมนต์กับการไม่รู้หรือการเพิกเฉยที่จะรู้
แค่ยอมปิดตาข้างหนึ่ง ไม่ต้องเข้าใจเรื่องราว แม้ความเป็นจริงที่เจอ เธอและเขามีอะไรในความสัมพันธ์ โง่งมต่อไปข้างเดียว เหมือนได้ต่อเวลาช้ำแค่ข้ามวัน จะแกล้งเป็นคนที่รู้ไม่ทัน ถ้ามันทำให้ฉันไม่เสียเธอ
ปิดตาข้างหนึ่ง – ทรงไทย
Jacques Lacan ซึ่งผ่านการวิเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวชมาหลายกรณี ตั้งข้อสังเกตว่า แม้คนไข้ทุกรายจะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องการรักษาอาการป่วย และอยากค้นหาสาเหตุเบื้องหลังหรือปมปัญหาเพื่อปลดเปลื้องแผลใจ แต่เอาเข้าจริงผู้ป่วยหลายรายกลับพยายามทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการแก้ปัญหา และบ่ายเบี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับต้นตอของความทุกข์ (Salecl, 2020: 3)
ตัวอย่างเช่น อันนา หญิงสาวผู้ถูกครอบครัวที่ให้กำเนิดทอดทิ้งตั้งแต่วัยเด็ก จนกลายเป็นปมทำให้เธอรู้สึกว่าตนถูกละเลยอยู่เสมอ เธอต้องการความรักและความสนใจจากคนรอบตัว และมีอาการป่วยไข้ทางจิตตามมาอีกหลายอย่าง จึงเสาะแสวงหาหมอที่รักษาและบำบัดความทุกข์ให้เธอ แต่เมื่อใดก็ตามที่การบำบัดรักษาดูจะเป็นไปได้สวย เธอมักบ่ายเบี่ยง เลี่ยงนัดไม่เข้ารับการบำบัด และเปลี่ยนหมออยู่เสมอ โดยอ้างว่าหมอคนนั้นไม่มีความสามารถในการรักษาเธอได้ เมื่อเปลี่ยนหมอบ่อยเข้า ถึงที่สุดเธอก็เลิกเข้ารับการบำบัดจิต Lacan เห็นว่านี่เป็นตัวอย่างของคนที่บ่ายเบี่ยงจะเผชิญหน้ากับสาเหตุที่แท้จริงของโรค อันนาซึ่งมีปมจากการถูกทิ้งต้องการเลี่ยงความผูกพันทางอารมณ์และการสูญเสีย เพื่อไม่ให้ถูกทิ้ง เธอจึงชิงเป็นฝ่ายทิ้งก่อนเสมอในทุกความสัมพันธ์ ไม่เว้นแม้แต่กับนักบำบัดจิต แม้จะอ้างว่าต้องการความรู้เพื่อรักษาหรือเปลี่ยนชีวิต อันนากลับทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงและปฏิเสธมัน Salecl ขยายความว่าการเพิกเฉยเช่นนี้วางอยู่บนเอ็นจอยเมนต์ที่เกิดจากความเจ็บปวดทรมาน (painful enjoyment) (Salecl, 2020: 106-107)
อย่างไรก็ตาม การเพิกเฉยหรือไม่ยอมรับรู้ความจริงไม่ได้เป็นเรื่องของการขาดความรู้ แต่เป็นเรื่องของการเลือกที่จะไม่รู้ ไม่ฟัง หรือไม่เชื่อในข้อเท็จจริงที่ได้รับอย่างกระตือรือร้น อย่างน้อยก็ในระดับจิตไร้สำนึก (unconscious) ในหลายกรณีผู้ป่วยรู้อยู่เต็มอกว่าสาเหตุของความทุกข์คืออะไร แต่ก็เลือกที่จะ (prefer) ไม่รู้ Salecl เห็นว่าเพราะอย่างนี้ Lacan จึงเรียกความต้องการที่ย้อนแย้งนี้ว่า แพสชันในการเพิกเฉยหรือปฏิเสธความจริง (passion for ignorance) เพราะซับเจคต์มีความรู้สึกหรือความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าและเข้มข้นที่จะโอบรับหรือบอกปัดข้อเท็จจริงบางอย่าง แพสชันนี้อธิบายได้ว่า เหตุใดผู้คนจึงไม่เพียงปักใจเชื่อ ‘ความจริง’ บางอย่างโดยไม่ตั้งคำถาม แต่ยังปฏิเสธข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใหม่ ๆ ว่าไม่ใช่ ‘ความจริง’ (Salecl, 2020: 3-4)1
อาจกล่าวได้ว่า หาก Michel Foucault สนใจเรื่องความรู้กับอำนาจ Salecl ก็สนใจเรื่องความไม่รู้กับอำนาจ โดยเฉพาะในยุคสมัยดิจิทัลที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนอย่างรวดเร็วไปทั่วทุกสารทิศ แต่ความรู้ชนิดใหม่ ๆ ก็มาพร้อมความกังวลใหม่ ๆ ด้วย เมื่อเรารู้อะไรบางอย่าง เราก็จะรู้ว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ และสิ่งที่เรายังไม่รู้นี้ก็มักสร้างความกังวลใจแก่เรา ท่ามกลางกระแสไหลบ่าของข้อมูลข่าวสาร การเลือกที่จะไม่รู้ (not acknowledging หรือ ignoring) กับการไม่รู้ (not knowing หรือ ignorance) ต่างก็เป็นประโยชน์ และช่วยให้มนุษย์ใช้ชีวิตต่อไปได้โดยไม่วิตกกังวลนัก Salecl ยกตัวอย่างการเพิกเฉยต่อความจริงที่เป็นประโยชน์ เช่น การเพิกเฉยต่อความจริงของผู้ป่วยโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง ทำให้เขาหรือเธอใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่สติแตกนัก การหลงลืมความจริงบางเสี้ยวส่วนของผู้ที่สูญเสียคนรักหรือญาติมิตรจากสงครามหรือการสังหารหมู่ การไม่รับรู้ข้อบกพร่องทางพันธุกรรมที่ตนรับสืบทอดมา และการเพิกเฉยต่อความจริงในความรักและความสัมพันธ์ (Salecl, 2020)
ตัวอย่างเช่นเด็กหญิงมายา (Maya) ที่สูญเสียแม่ไปตั้งแต่เด็ก ในวันเกิดเธอมักถามพ่อว่าแม่ที่ล่วงลับได้ทิ้งจดหมายอะไรไว้ให้เธอหรือไม่ แม้ไม่เคยมีจดหมายดังกล่าวอยู่จริง แต่พ่อลูกก็ได้ตกลงกันอย่างลับ ๆ ว่า ในวันเกิดของมายาทุกปี พ่อจะเอาจดหมายที่ตนเขียนในชื่อแม่มาเปิดอ่านให้เธอฟัง แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าแม่ไม่ได้เขียน แต่จดหมายก็เปิดพื้นที่ให้เด็กหญิงได้จินตนาการถึงความรักของแม่ แม้เธอจะจำความรักของแม่ได้ แต่ก็ยังต้องการหลักฐานเชิงสัญลักษณ์ (symbolic proof) อยู่ดี ในระดับจิตไร้สำนึก จดหมายจังเปรียบเสมือนเครื่องเตือนว่า มายาเป็นวัตถุแห่งความรักของแม่ (Salecl, 2020: 103)
ในทัศนะจิตวิเคราะห์ นอกจากต้องการเป็นที่รักแล้ว เมื่อเราตกหลุมรัก ใครบางคนก็จะกลายเป็นวัตถุแห่งความปรารถนาหรือเป็น ‘สิ่งนั้น’ (object petit a) ของเรา แต่ความสลับซับซ้อนเกิดขึ้นเมื่อซับเจคต์ที่มีความรักจะมองคนรักอย่างสมบูรณ์แบบ และไม่มีข้อบกพร่องราวกับหลุดออกมาจากโลกอุดมคติ ทั้งที่ในชีวิตจริง ๆ ไม่เคยมีใครที่จะสมบูรณ์แบบได้ขนาดนั้น ดังที่ Lacan อธิบายว่า ความรักคือการมอบ (หรือสัญญาว่าจะมอบ) สิ่งที่เราไม่มีให้กับคนที่ก็ไม่ได้ต้องการสิ่งนั้น และคือการมองหาหรือการเรียกร้องในสิ่งที่เขาหรือเธอเองก็ไม่มีเช่นกัน (Salecl, 2020: 97) ซับเจคต์จึงสร้างแฟนตาซี (fantasy) ขึ้นมาเพื่อปกปิดความขาดพร่อง(lack) ของคนรัก เพื่อให้สิ่งอันเป็นที่รักยังคงเป็นสิ่งไร้ตำหนิตามอุดมคติอยู่เสมอ ตรงนี้เองที่ Salecl เห็นว่า การเพิกเฉยต่อสิ่งที่รู้ (อยู่เต็มอก) ทำให้คนรักยังน่าปรารถนา และต่อเวลาให้กับความรักในหลายครั้ง คนเราจึงมักปิดตาข้างหนึ่งเพื่อหล่อเลี้ยงแพสชันที่มีต่อคนรัก บ่อยครั้งที่การมองเห็นคนรักชัดแจ้งจนเกินไป หรือการล่วงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเขาหรือเธอ จะทำลายแฟนตาซีลง และเมื่อแฟนตาซีพังทลาย ซับเจคต์ก็อาจผิดหวังจนเลิกรัก หรือถึงขั้นเกลียดชังสิ่งที่เคยรักเลยก็ได้2การเพิกเฉยจึงจัดอยู่ในความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างความรักและความชังในทัศนะของจิตวิเคราะห์สาย Lacan(Salecl, 2020: 100)
ความรักไม่เพียงสร้างภาพแฟนตาซีของคนรัก แต่ยังต้องการการรับรู้ผ่านสัญลักษณ์ (symbolic recognition) ด้วยดังที่กรณีของเด็กหญิงมายาแสดงให้เห็น หรืออย่างที่สะท้อนผ่านเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน อาทิ การมอบของขวัญหรือการให้ดอกไม้คนรัก การล็อกกุญแจรูปหัวใจบนสะพาน การลงรูปคู่ในวันครบรอบ การแลกแหวนแต่งงาน หรือถึงที่สุดก็คือการจดทะเบียนสมรส3 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาว่าวัตถุแห่งความรักหรือคนรักก็เป็นคนอื่น (the other) ซึ่งเป็นสิ่งที่ซับเจคต์ไม่อาจเข้าใจได้ (ungraspable) อย่างสมบูรณ์แบบ แม้ว่าจะใช้นิยาม สัญลักษณ์หรือภาพใดเพื่อคว้าจับ ก็มักประสบความล้มเหลวเสมอ เราไม่มีทางเข้าใจคนรักได้ทุกการกระทำทุกความคิด (อันที่จริงก็ตั้งแต่เราตกหลุมรักแล้ว ไม่มีเหตุผลที่สมเหตุสมผล (rational reason) ใด ๆ จะชี้ชัดได้ว่าเพราะอะไรเราจึงรักใครคนนั้น) ความรักจึงเป็นอารมณ์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยความไม่รู้ และไม่อาจดำรงอยู่ได้หากปราศจากกลยุทธ์ในการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เราไม่อยากรู้หรือข้อมูลที่ล้นเกินจนเกินไป4 (Salecl, 2020: 98) Ilana Gershon (2011) นักมานุษยวิทยาดิจิทัล เสนอข้อค้นพบว่า เพื่อให้ความสัมพันธ์นั้นดำเนินต่อไปได้โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าคนรักจะนอกใจนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่เธอสัมภาษณ์ เลิกขอรหัสเฟซบุ๊กของแฟน เลิกตามส่องแฟน หรือเลิกใช้โซเชียลมีเดียไปเลย
ในหลายกรณี การเพิกเฉยจึงมีบทบาทสำคัญต่อความรัก เมื่อต้องเลือกระหว่างความรู้กับความเชื่อ ซับเจคต์มักวางความรู้ลงก่อนแล้วเลือกเชื่อในคำลวงหรือเพิกเฉยต่อความจริงที่เห็นทนโท่ ข้อเท็จจริงไม่ได้สลักสำคัญอะไรสำหรับคนที่รักจนปักใจไปแล้ว เพราะซับเจคต์ที่ตกหลุมรักมักมองไม่เห็นอย่างอื่นนอกจากวัตถุแห่งความปรารถนา (Salecl, 2020: 99)
Salecl ยกตัวอย่างคู่รักที่ฝ่ายชายเป็นนักบิน ซึ่งมักต้องออกเดินทางไปต่างประเทศเป็นประจำ วันหนึ่งภรรยาค้นพบจดหมายรักทางอีเมลระหว่างสามีกับพนักงานสายการบินสาวโดยบังเอิญ แต่เมื่อเธอแกล้งถามเขา สามีปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง เมื่อภรรยาเอาหลักฐานมาแสดง สามีก็แต่งเรื่องว่าเพื่อนน่าจะแอบเอารหัสของเขาไปสวมรอยส่งอีเมลจีบพนักงานสาวเพื่อแกล้งเขาแน่ ๆ แต่เขาเองไม่มีส่วนรู้เห็นกับเรื่องนี้ แม้ตอนแรกภรรยาจะยังกังขา แต่ต่อมาเธอก็เชื่อสามีและเอาความโกรธไปลงที่เพื่อนร่วมงานขี้แกล้งของเขา โทษฐานพยายามจะทำลายชีวิตแต่งงานของเธอ Salecl เห็นว่านี่ไม่ใช่เพราะเธอไม่รู้ความจริง แต่เลือกที่จะเชื่อเรื่องที่เขากุขึ้นอย่างมีแพสชัน เพราะมันช่วยให้เธอใช้ชีวิตร่วมกับสามีในฐานะคู่รักต่อไปได้โดยชีวิตไม่พังทลาย (Salecl, 2020: 101) แต่บางครั้งคนเราก็ใช้วิธียอมรับ ‘ความจริง’ บางเสี้ยวส่วนเพื่อรักษาสถานะคู่รัก หรือปิดบังพฤติกรรมของตนเอง Salecl ยกกรณีตัวอย่างที่คล้ายกันคือภรรยาพบข้อความที่สามีส่งไปหาผู้หญิงคนอื่นแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ เมื่อคาดคั้นเขาก็ยอมรับ และสัญญาว่าจะไม่ทำอีก เรื่องกลับกลายเป็นว่าหญิงอื่นรายนั้นเป็นเรื่องปั้นแต่งขึ้นเพื่อกลบเกลื่อนความจริงว่า คนที่เขามีความสัมพันธ์ด้วยแท้จริงแล้วคือ ชาย คนอื่น (Salecl, 2020: 102)
กรณีตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การเพิกเฉยมีบทบาทสำคัญต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์ และแฟนตาซี ซึ่งมีบทบาทต่อการรับรู้ความเป็นจริงของมนุษย์ ก็แทบไม่สั่นคลอนเลยแม้มนุษย์คนนั้นจะค้นพบความจริงหรือข้อเท็จจริงใหม่ ๆ ที่ต่างจากที่เคยเชื่อ ในหลายกรณี การยอมรับความจริงไม่เพียงสะบั้นความสัมพันธ์ แต่ยังอาจทำให้ซับเจคต์พังทลาย การเพิกเฉยจึงน่าพึงปรารถนากว่าการยอมรับความเป็นจริงที่แสนเจ็บปวด ทว่าเอ็นจอยเมนต์ที่เกิดจากการเพิกเฉยนี้ก็ทำให้ซับเจคต์ติดอยู่ในความสัมพันธ์แบบเดิมที่อาจเป็นพิษ เหมือนการเลี้ยงไข้ และไม่แตะต้องที่ตัวปัญหาเลย
แบกและติ่ง: การเมืองเรื่องความไม่รู้และการเพิกเฉย
Salecl ชี้ให้เห็นว่า การเพิกเฉยต่อความจริงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในระดับปัจเจกหรือในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน แต่ยังเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมด้วย โดยเฉพาะการเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริง แล้วเลือกเชื่อในสิ่งที่ตนเชื่อมั่นและยึดถือ ดังที่เราได้เห็นในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งแม้ผู้คนในสังคมเดียวกันจะรับข้อมูลข่าวสารชุดเดียวกัน แต่ความเชื่อและความคิดเห็นของมนุษย์แต่ละกลุ่มกลับแตกต่างกันมากราวกับว่าไม่ได้อยู่บนดาวเคราะห์ดวงเดียวกัน สำหรับ Salecl แม้โควิด-19 จะเผยให้เห็นความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างมากเพียงไร เช่น การบริการสาธารณสุขที่ไม่ทั่วถึง การเปลี่ยนการรักษา ยา หรือวัคซีนให้เป็นสินค้าตามกลไกตลาด โดยไม่คำนึงถึงสิทธิรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน แต่หลายสังคมกลับไม่เต็มใจที่จะยอมรับรู้ความเป็นจริงเหล่านี้ ผู้คนจำนวนมากไม่ตั้งคำถามต่อการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลและรัฐมนตรีสาธารณสุข แต่เลือกที่จะปักใจเชื่อคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ไร้หลักฐาน หรือไม่ก็หันไปเชื่อทฤษฎีสมคบคิด หรือเชื่อโชคลางและผีสางเทวดาแทนหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งพลิกกลับไปกลับมารายวันในขณะนั้น ทั้งยังเต็มไปด้วยข่าวลวง (fake news) (Salecl, 2020: 149-154)
อันที่จริงไม่ใช่เรื่องแปลก Salecl (2020) อธิบายว่า นักมานุษยวิทยาตั้งแต่ Claude Lévi-Strauss เสนอมานานแล้วว่า แม้จะอยู่ในสังคมเดียวกัน แต่มนุษย์ก็มีการรับรู้ที่ต่างกันได้ (difference in perception) คนแต่ละกลุ่มในหมู่บ้านรับและรู้ความจริงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งแห่งที่ของเขา ความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ตลอดจนความเป็นศูนย์กลางหรือชายขอบ ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่ทุกวันนี้เราจะอาศัยอยู่ในโลกที่ผู้คนมีความแตกต่างหลายหลายทางความคิดเห็น ความเชื่อ และอุดมการณ์ทางการเมือง แม้จะอยู่อาศัยในเมืองเดียวกันก็ตาม เช่น ในสหรัฐอเมริกา ที่ผู้สนับสนุนพรรค Repulican ก็มองสถานการณ์และปัญหาของประเทศต่างจากผู้สนับสนุนพรรคDemocrat
Salecl (2020) เห็นว่า แม้โควิดจะเปิดโอกาสให้เราคิดใหม่อย่างถึงราก (radical rethinking) ว่า โครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบันมีส่วนสร้างความไม่เป็นธรรม และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโลกมากเพียงใด แต่พวกผู้นำโลกก็ยินดีจะปฏิเสธเพื่อที่ทุกอย่างจะได้ดำเนินต่อไปตามปกติ เศรษฐกิจและระบบทุนนิยมจะยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างน้อยก็สักระยะหนึ่ง ที่สำคัญ การปฏิเสธของเหล่าผู้นำยังรวมถึงการไม่ยอมรับความสำคัญของแรงงานหรือคนระดับล่าง ๆ จำนวนมากที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนผ่านมาตรการแก้ปัญหาที่ทิ้งแรงงานหลายภาคส่วนไว้เบื้องหลัง Salecl เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็น การเพิกเฉยเชิงยุทธศาสตร์ (strategic ignorance)
Salecl เห็นว่า โซเชียลมีเดียทำให้เราเห็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างซับเจคต์ชัดขึ้น โดยเฉพาะคำถามว่า เราเป็นวัตถุแห่งความปรารถนาแบบใดสำหรับคนอื่น ซับเจคต์มนุษย์แสวงหาบางสิ่งบางอย่าง เช่น การยอมรับ ความรัก ความนับถือ การเห็นพ้อง จากสังคมและจากคนอื่น ๆ ที่บางทีก็ไม่ได้รู้จักกัน เพื่อเติมเต็มความปรารถนาทั้งในระดับจิตรู้สำนึกและจิตไร้สำนึก (Salecl, 2020: 110) ในแง่นี้ ซับเจคต์ที่ต้องการยอมรับและยึดโยงตัวเองกับวัตถุแห่งความปรารถนา ก็เลี่ยงการเพิกเฉยเชิงยุทธศาสตร์ไปไม่พ้น เราจึงเห็นกลุ่มผ้าสนับสนุนศิลปิน พรรคการเมือง หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ทำให้สิ่งอันเป็นที่รักด่างพร้อย แล้วเลือกเชื่อหรือ ‘แบก’ สิ่งนั้นอย่างมีแพสชัน
ข้อมูลใหม่ ๆ จึงไม่ได้ช่วยลดการปฏิเสธ (denial) หลักฐานเชิงประจักษ์ เราจะไม่เข้าใจคนที่แบกเลย หากไม่พิจารณาจากมุมจิตวิเคราะห์ โดยเฉพาะเรื่องเอ็นจอยเมนต์ที่เกิดจากการเพิกเฉยความจริง หากเราเชื่อ Salecl แทบไม่มีซับเจคต์หน้าไหนจะหนีเอ็นจอยเมนต์นี้ได้ แม้กระทั่ง (หรือโดยเฉพาะ) ในระดับผู้นำประเทศ ย้อนกลับไปช่วงโควิด-19 อีกครั้ง Salecl ย้ำว่า ผู้นำหลายประเทศต่างก็ใช้กลยุทธ์ของการบอกปัด (disavowal) กล่าวคือ ในช่วงแรก ๆ พวกเขามักปฏิเสธการระบาดของโรค แต่ต่อมาเมื่อเริ่มมีคนล้มตายก็จะยอมรับว่ามีการระบาดของโรคโควิดจริง แต่ไม่ใช่โรคร้ายแรงหรือเป็นเพียง ‘ไข้หวัดกระจอก’ เมื่อสถิติคนตายพุ่งสูงขึ้น พวกเขาก็จะให้ความเชื่อมั่นว่าได้เตรียมมาตรการรับมืออย่างเต็มที่แล้ว แต่หากสถานการณ์เกินควบคุม พวกเขาก็มีวิธีโทษสิ่งอื่น ๆ หรือคนอื่น ๆ อยู่เสมอ (Salecl, 2020)
มุกตลกของ Freud เรื่องกาต้มน้ำที่ถูกยืม สะท้อนให้เห็นตรรกะของการบอกปัดได้ดี คือ 1) ฉันไม่เคยยืมกาต้มน้ำจากเธอ 2) ฉันคืนกาต้มน้ำให้เธอแล้ว ในสภาพปกติสมบูรณ์ ไม่แตกหักเสียหาย 3) กาต้มน้ำมันพังอยู่แล้วตั้งแต่ตอนที่ฉันยืมมาจากเธอ (Žižek, 2008: 110) แต่ประเด็นสำคัญที่ถูกละเลยในข้ออ้างทำนองนี้ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ฉันคืนกาต้มน้ำที่พังแล้วให้เธอ
ลองพิจารณาเรื่องต่อไปนี้ ช่วงการเลือกตั้งปี 2566 แพทองธาร ชินวัตร ให้ความมั่นใจกับผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่าจะไม่จับมือกับคนทำรัฐประหาร แต่หลังรู้ผลเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยซึ่งได้รับคะแนนเป็นอันดับสองก็ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่เคยอยู่ฝ่ายตรงข้าม เพราะ ‘ความจำเป็น’ ในการรวมเสียงทั้ง สส. และ สว. ให้เพียงพอภายใต้กติกาการจัดตั้งรัฐบาลที่ผิดแปลกขณะนั้น วิวาทะระหว่างฝ่ายที่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยตระบัดสัตย์กับฝ่ายที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจึงคุกรุ่นนับแต่นั้น แม้ในช่วงแรก กลุ่มผู้นำพรรคฯ จะไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการกลับลำนี้ออกมาโดยตรง แต่ก็เกิดกลุ่ม ‘นางแบก’ ที่เข้าใจในข้อจำกัดของพรรคฯ และความจำเป็นในการจับมือกับกลุ่มอำนาจเก่า เพื่อเข้าไปมีอำนาจก่อนแล้วค่อยแก้กฎหมายเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น ที่สำคัญก็เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของคนไทยก่อน (The Isaan Record, 2024) จนเมื่อไม่นานมานี้ แพทองธารในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า
“ใช่ ที่บอกว่าให้ดูหน้าของดิฉันไว้จะไม่จับมือกับคนทำรัฐประหาร แต่นี่เป็นเรื่อง 2 ปีที่แล้ว และเผอิญคะแนนไม่ถึง ก็เลยต้องจับกันอยู่แล้ว และจับกันมาสักพักแล้ว ทำไมคำถามนี้ดีเลย์จัง” (มติชนออนไลน์, 2568)
ไม่ใช่ว่านี่คือโครงเรื่องเดียวกันกับกาต้มน้ำหรอกหรือ?
ส่งท้าย
จิตวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า การไม่รับรู้หรือการเพิกเฉยต่อความจริงนั้นช่างเย้ายวน เพราะช่วยให้ซับเจคต์สืบต่อความสัมพันธ์หรือทานทนกับความเป็นจริงอันแสนเจ็บปวดได้ กล่าวอีกนัย การยอมปิดตาข้างหนึ่งนั้นมอบเอ็นจอยเมนต์ให้ซับเจคต์ ไม่ว่าจะเป็นความรักหรือการเมือง อย่างไรก็ดี Salecl ก็เตือนเราว่า แม้จะมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ของมนุษย์ แต่การโอบรับความไม่รู้หรือยอมปิดตาทั้ง ๆ ที่รู้ ก็ไม่ได้ทำให้ต้นตอของปัญหาคลี่คลายไป ทั้งยังรักษาโครงการทางการเมืองที่กดขี่และความสัมพันธ์ที่เป็นพิษให้สืบต่อไป
ถึงที่สุดแล้ว จิตวิเคราะห์ก็ชวนเราตั้งคำถามสำคัญว่า เมื่อเผชิญหน้ากับความเป็นจริงอันขื่นขม เราจะเมินหน้าหนีหรือกล้าจะเผชิญหน้ากับมันตรง ๆ และยังชวนถกเถียงว่า แล้วในชีวิตประจำวัน ในความสัมพันธ์ ในความรัก หรือในทางการเมือง มีเรื่องอะไรบ้างที่เราเลือกที่จะไม่รู้?
เอกสารอ้างอิง
มติชนออนไลน์. (2568). นายกฯ ยัน ไม่ปรับครม. รับทุกความเห็นไปคิดก่อนตกผลึก ลั่น อย่ายึดติด ชอบทำงานเป็นทีมไม่ต้องสู้กัน. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2568, https://www.matichon.co.th/politics/news_5148281.
The Isaan Record. (2024). นางแบกศึกษา คุยกับ ต้าร์ คบเพลิง – พงศธร กันทวงค์ สำรวจแนวคิดนางแบกในการเมืองไทย. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2568, https://theisaanrecord.co/2024/08/30/mrs-back-study/.
Gershon, I. (2011). Un-Friend My Heart: Facebook, Promiscuity, and Heartbreak in a Neoliberal Age. Anthropological Quaterly, 84 (4), 865-894.
Salecl, R. (2020). A Passion for Ignorance: What We Choose Not to Know and Why. Princeton: Princeton University Press.
Žižek, S. (2007). How to Read Lacan. New York: W.W. Norton & Company.
Žižek, S. (2008). Violence: Six Sideways Reflections. New York: Picador.
1 ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า Lacan อหังการขนาดที่มองว่า นักจิตวิเคราะห์ล่วงรู้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่ผู้ป่วยไม่รู้ แต่เขาเสนอว่า นักจิตวิเคราะห์ไม่ควรใช้มุมมองของผู้รู้ที่มีคำตอบของทุกสิ่ง แต่ต้องพยายามพิจารณาจากมุมของคนไม่รู้ (nonknowledge) แล้วปล่อยให้ผู้เข้ารับการวิเคราะห์ (analysand) ค้นหาสาเหตุของอาการตนเอง หรืออย่างน้อยก็พยายามค้นหาร่วมกัน (โปรดดู Žižek, 2007; Salecl, 2020)
2 ทั้งนี้ ความเกลียดชังก็เรียกร้องให้เราปิดตาข้างหนึ่งเช่นกัน บางครั้งทำให้เรามองไม่เห็นความเหมือนกันระหว่างเรากับวัตถุแห่งความเกลียดชัง (ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง) และบางครั้งก็ช่วยให้เราลืมว่าเราเคยรักคนคนนั้นมากเพียงใด เพราะเราไม่ได้เลิกรักทันทีทันใด หากเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยระยะเวลา จนกระทั่งสิ่งที่เคยทำให้เรารักในตัวเขาก็กลายเป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญ จนในที่สุดเราก็อดรนทนกับมันไม่ได้อีกต่อไป (Salecl, 2020)
3 ปัจจุบัน โซเชียลมีเดียคือพื้นที่จัดแสดงภาพของความรักเหล่านี้อย่างเข้มข้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่แสดงถึงความชังซึ่งเป็นหลักฐานเชิงสัญลักษณ์เช่นกัน ตัวอย่างเช่นการใช้ภาพหรือมีมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanize) หรือทำให้ใครบางคนกลายเป็นปีศาจ (demonize) ไม่ว่านั้นจะเป็นคน (เคย) รัก นักการเมืองหรือคนมีชื่อเสียง (Salecl, 2020)
4 ความเพิกเฉยยังมีอิทธิพลต่อความรักในแง่มุมอื่น ๆ เช่น บางคนอาจรู้สึกแย่เมื่อคนรักเพิกเฉย แต่บางคนกลับยิ่งสุขใจแม้คนที่ตนรักไม่สนใจหรือไม่รับรู้ว่าเขามีตัวตน ตัวอย่างเช่นในเพลง แค่ได้รักเธอ ของ 7Days Crazy นั่นหมายความว่าซับเจคต์ก็ไม่ได้ต้องการจะยินเสียงตอบรับจากวัตถุแห่งความปรารถนาเสมอไป
ผู้เขียน
ปิยนันท์ จินา
นักวิจัย. ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ จิตวิเคราะห์ ignorance ความรัก นางแบก ปิยนันท์ จินา