พินิจวิกฤตทุนนิยมผ่านซอมบี้ศึกษา (Zombie study)
แม้ซอมบี้ไม่ใช่ผี ปีศาจ หรืออสุรกายที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศไทย แต่ทว่าเรื่องราวของซอมบี้ที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดีได้ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปในสังคม ทั้งในรูปแบบหนังสือ ซีรีส์ ไปจนถึงสื่อภาพยนตร์ ฯลฯ ทั้งนี้ ในวงการซอมบี้ศึกษา (Zombie study) พบว่าฝูงซอมบี้ได้ทะลุออกจากจอแก้วมาสู่ตัวหนังสือในงานวิชาการ สัญลักษณ์ของซอมบี้ไม่ว่าจะเป็นความเน่าเฟะ ความเป็นอื่น ความไร้ระเบียบ การตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราดและรุนแรงของซอมบี้ จึงมิใช่แค่เพียงความสยองขวัญในภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนประเด็นทางสังคมได้อย่างแหลมคม (จักรกริช สังขมณี, 2565; Sarah Juliet Lauro, 2017)
ในที่นี้ การกลายเป็นซอมบี้ (zombification) จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสจากซอมบี้ตัวอื่น (individual) หากแต่เป็นผลมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง (structures) ทั้งโครงสร้างทางสังคมและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่ากัน
งานวิชาการในสายซอมบี้ศึกษาชี้ให้เห็นมิติทางการเมืองในเรื่องราวของซอมบี้ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์การค้าทาส ความหวาดกลัวต่อโรคระบาด ผลจากสงคราม การขูดรีดในระบบทุนนิยม ชีวิตที่เปลือยเปล่าของผู้ลี้ภัย ผู้ตกเป็นเหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และเพศสภาพ ไปจนถึงผลจากความรุนแรงที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ (จักรกริช สังขมณี, 2565; ชนกพร ชูติกมลธรรม, 2565, หน้า 4, 86-89)
ดังนั้น ซอมบี้ศึกษาได้ฉายภาพความเชื่อมโยงระหว่างซอมบี้กับปรากฏการณ์จริงในสังคมผ่านกรอบแนวคิดและทฤษฎีซึ่งเผยให้เห็นว่าอำนาจทำงานอย่างไร (how power works) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์การกดขี่ขูดรีดในสังคม (Sarah Juliet Lauro, 2017; Sarah Juliet Lauro and Karen Embry, 2008, p.87)
บทความชิ้นจึงมุ่งนำเสนอให้เห็นถึงนัยสำคัญของซอมบี้ในฐานะอุปมานิทัศน์ (metaphors) ของวิกฤตที่เกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งทุน (the age of capital) ส่วนแรกของบทความมุ่งฉายภาพให้เห็นถึงวิกฤตการณ์โดยสังเขปในยุคสมัยแห่งทุน ส่วนที่สองมุ่งชี้ให้เห็นนัยสำคัญของภาพยนตร์ซอมบี้ “ความเน่าเฟะของซอมบี้ฤๅความเน่าเฟะของทุนนิยม?”
วิกฤตการณ์ในนยุคสมัยแห่งทุน (Crises in Capitalocene)
ผลจากการปฏิวัติและการพลิกผัน 3 ประการ ส่งผลให้ทุนนิยมกลายเป็นระบบนิเวศโลก (world ecology) ประกอบด้วย 1) การปฏิวัติเกษตรกรรมที่เจ้าที่ดินล้อมรั้วและเปลี่ยนที่ดินทั้งหมดให้กลายมาเป็นปัจจัยการผลิต 2) การปฏิวัติทางปรัชญา โดยเฉพาะปรัชญาทวิภาวะนิยมแบบ Cartesianism ของ เรอเน เดการ์ตส์ (Rene Descartes) ที่สถาปนาทวิภาวะซึ่งแยกระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ออกจากกัน ส่งผลให้รากฐานในการทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ของยุโรปวางอยู่บนวิธีคิดที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง เป็นองค์ประธาน ส่วนสิ่งอื่น ๆ เป็นเพียงวัตถุกรรมเท่านั้น และ 3) การแผ่ขยายของจักรวรรดิยุโรปไปส่วนต่าง ๆ ของโลก (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2564, หน้า 119)
ในแง่นี้ เจสัน ดับเบิลยู มัวร์ อธิบายว่าปัจจุบันเรามิได้อยู่ในยุคมนุษยสมัย (Anthropocene) ซึ่งมองว่าวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่เกิดขึ้นมาจากน้ำมือของมนุษย์ (man) กล่าวอีกแบบคือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ปะทะธรรมชาติ (humans versus nature) (Moore, 2015; 2016) การมองยุคสมัยเช่นนี้ตั้งอยู่บนฐานการแยกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะเน้นอธิบายไปที่การกระทำของมนุษย์ต่อธรรมชาติเป็นหลัก แม้ในความเป็นจริง มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติและโลกธรรมชาติก็ดำรงอยู่และทำงานผ่านการใช้ชีวิตของมนุษย์ หรือที่มัวร์ เรียกว่าสภาวะที่สิ่งหนึ่งอยู่ในอีกสิ่งหนึ่งแบบเชิงซ้อน (double internality) (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2564, หน้า 118)
แนวคิดมนุษยสมัยจึงมองข้ามสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตระบบนิเวศ คือ บทบาทของทุนนิยมที่เข้ามาจัดการและขูดรีดมูลค่าฟรีจากโลกธรรมชาติ กล่าวคือ ทุนนิยมมีบทบาทครอบงำความเป็นไปในสังคมในหลายมิติ ทุนนิยมกลายเป็นระบบนิเวศทางสังคมอันใหม่ที่ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วโลก ทุนนิยมเข้ามาจัดการ ยึดครอง และจัดสรรให้ส่วนต่าง ๆ ของโลก โดยรวมทั้งแรงงานของมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ให้กลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของการสร้างมูลค่าและการสะสมความมั่งคั่ง (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2564)
ด้วยเหตุดังนี้ มัวร์จึงเสนอว่าเราอยู่ในยุคสมัยแห่งทุน (Capitalocene) วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เราเผชิญอยู่มิได้เกิดขึ้นจากมนุษย์ปะทะกับธรรมชาติ หากแต่มีต้นตอมาจากทุนนิยม (Moore, 2015; 2016) ยุคสมัยแห่งทุนหมายถึงยุคที่ทุนนิยมที่มิใช่แค่ระบบเศรษฐกิจและสังคม แต่ทุนนิยมในปัจจุบันคือ “นิเวศโลก” (world ecology) ซึ่งเป็นวิถีที่กำหนดโครงข่ายชีวิต (web of life) กำหนดธรรมชาติ (nature) (Moore, 2016, p. 6) ทุนนิยมได้กระทำต่อธรรมชาติอย่างรุนแรง ควบคุมจัดการการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติตั้งแต่การควบคุมกำลังแรงงานของมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไปจนถึงการผลักภาระไปให้กับธรรมชาติ (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2564, หน้า 123,131)
ภายใต้สภาวการณ์ที่ทุนนิยมมีอำนาจครอบงำสังคมในหลายมิติ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาหลายด้าน เช่น วิกฤตระบบนิเวศ ปัญหาความไม่เท่าเทียม การจ้างงานเปราะบาง ชนชั้นเสี่ยง (precariat) ฯลฯ
ดังที่ Saito (2014) กล่าวว่า แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำพาวิถีชีวิตที่สะดวกสบายและหรูหรามาสู่มนุษย์ ทว่าในความเป็นจริงการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับสร้างวิกฤตโดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นถือเป็นการทำลายปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อให้มนุษย์มีชีวิตที่เบ่งบาน
ภายใต้วิกฤตการณ์ในยุคสมัยแห่งทุน มหาเศรษฐีในประเทศพัฒนามีความสามารถในการรักษาชีวิตความเป็นอันหรูหราของตนเอง สวนทางกลับประชาชนคนธรรมดาที่ดำรงชีวิตวันต่อวัน และต้องสูญเสียวิถีชีวิตไปโดยสิ้นเชิง แถมยังถูกบังคับให้ต้องดิ้นรนอย่างสิ้นหวังเพื่อเอาชีวิตรอด ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 (Saito, 2014)
ด้วยเหตุดังนี้ จึงเกิดการเรียกร้องให้มีการหันกลับมาทบทวนสาเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อมโลก และความแตกต่างทางชนชั้นที่นับวันช่องว่างยิ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง โดย Saito (2014) ชี้ว่าวิกฤตการณ์ในยุคปัจจุบัน เช่น ระบบนิเวศ เกิดขึ้นจากการทำงานของระบบทุนนิยม ดังนั้น การทำความเข้าใจทุนนิยมจึงเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อช่วยให้สังคมเห็นปัญหาและมีทางเลือกเพื่อแสวงหาโลกใบใหม่ที่เป็นธรรมกว่าเดิม
ภาพยนตร์ซอมบี้: ความเน่าเฟะของซอมบี้ฤๅความเน่าเฟะของทุนนิยม?
เราสามารถศึกษาอำนาจและผลกระทบของทุนนิยมได้หลากหลายมิติ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันที่การเข้าถึงสื่อออนไลน์ของผู้คนมีความกว้างขวางมากขึ้น ดังนั้น การวิเคราะห์ระบบทุนนิยมผ่านวัฒนธรรมสมัยนิยม (popular culture) ซึ่งก็คือภาพยนตร์ซอมบี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก
เนื่องจากภาพยนตร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวดิสโทเปียและแนวสยองขวัญ) ได้นำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันได้อย่างชัดเจนและให้กรอบคิดที่ช่วยให้ตีความและมีปฏิสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกทุนนิยม ยกตัวอย่างเช่น การฉายภาพให้เห็นว่าทุนนิยมทำลายชีวิต ร่างกาย และจิตใจของเราอย่างไร ในแง่นี้ ทุนนิยมจึงเปรียบได้กับปรสิตในเชิงนามธรรม แวมไพร์ที่ดูดเลือดไม่มีวันอิ่ม ทุนนิยมคือผู้สร้างซอมบี้ ในแง่นี้ ภาพยนตร์จึงฉายความจริงเกี่ยวกับทุนนิยมได้อย่างแจ่มชัดเป็นพิเศษ (สรวิศ ชัยนาม, 2562, หน้า 11,13)
กระนั้นก็ดี ภาพยนตร์ซอมบี้มีหลากหลายแนว ซึ่งไม่ได้มีแต่ภาพยนตร์แนววิพากษ์ที่ตีแผ่ให้เห็นถึงผลกระทบของระบบทุนนิยมเท่านั้น หากแต่ยังมีภาพยนตร์ซอมบี้ที่มุ่งนำเสนอให้เห็นถึงอุมการณ์ของการรักษาระบบทุนนิยมและรัฐให้อยู่อย่างมั่นคงสถาพรอีกด้วย ความแตกต่างของภาพยนตร์ซอมบี้ทั้งสองแนวมีดังนี้
ภาพยนตร์ซอมบี้กระแสหลัก (mainstream zombie films)
ในยุคปัจจุบัน รัฐกระฎุมพีสมัยใหม่ (a modern bourgeois state) ได้ผลิตสร้างศัตรูสากล (universal adversary) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มนักรบ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการควบคุมพลเมือง สร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงของรัฐและกลไกการรักษาความมั่นคง รวมไปถึงการปกป้องระเบียบแบบแผนของทุนนิยมซึ่งมีอำนาจควบคุมสังคมอยู่ในขณะนี้ เหตุดังนี้ สิ่งที่เรียกว่าศัตรูสากลจึงมิได้เป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติ หากแต่เป็นภัยคุกคามต่อรัฐและทุนนิยม (Phuaphansawat, 2565)
ในแง่นี้ เรื่องราวของซอมบี้ในจอแก้วจึงเปรียบได้กับศัตรูสากล ซึ่งเป็นเพียงตัวประกอบในหนังที่ไม่ได้มีความสำคัญเท่า ๆ กับบทบาทของเหล่าอัศวินขี่ม้าขาว (hero)
กล่าวคือ ภาพยนตร์ซอมบี้กระแสหลักชี้ว่า ภายใต้สถานการณ์การจลาจลของฝูงซอมบี้ที่บ้าคลั่ง กัดกินเนื้อคนเป็น และทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า รัฐจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งหน่วยรบพิเศษมาแก้ไขปัญหา รวมไปถึงมีความจำเป็นของกระบวนการสร้างความปลอดภัยและการเข้มงวดตรวจตราในสังคม เป้าประสงค์หลักของการรับมือกับฝูงซอมบี้ที่บ้าคลั่งเช่นนี้ก็เพื่อฟื้นฟูระบบและระเบียบอำนาจเดิมให้กลับมาทำงานอีกครั้ง (restoring the existing order) (Phuaphansawat, 2565)
ทั้งนี้ ภาพยนตร์ซอมบี้หลายเรื่องได้สะท้อนการรักษาอำนาจรัฐและทุนได้เป็นอย่างดี ผ่านการนำเสนอวิถีการรับมือกับการลุกฮือของฝูงซอมบี้ว่าต้องมีพระเอกขี่ม้าขาวที่แข็งแกร่งและมีความสามารถ รวมถึงเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ยกตัวอย่างเช่นบทบาทของ Robert Neville ที่รับบทโดย Will Smith ในหนัง I am Legend หรือแม้แต่ Garry Lane ที่รับบทโดย Brad Pitt ในหนัง World War Z รวมถึง Rick Grimes ที่รับบทโดย Andrew Lincoln ในหนัง The walking Dead เป็นต้น (Phuaphansawat, 2565)
กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ลักษณะของภาพของซอมบี้เหล่านี้คือการไม่วิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างอำนาจที่ครอบงำอยู่ แม้โครงสร้างเหล่านี้จะเป็นต้นตอปัญหาซอมบี้ รวมไปถึงมิได้ให้ความสำคัญกับโครงการการเมืองว่าด้วยการปลดปล่อยและการปฏิวัติ (revolutionary and emancipatory political project) ดังนั้น จึงไม่ต่างจากภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่หลาย ๆ เรื่องที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูระเบียบอำนาจแบบเดิมให้กลับมาทำงานเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในสังคม
ภาพยนตร์ซอมบี้เชิงวิพากษ์
เรื่องราวในภาพยนตร์ซอมบี้เชิงวิพากษ์มุ่งไปให้พ้นการแก้ปัญหาซอมบี้ที่ยึดแนวคิดรัฐเป็นศูนย์กลาง (state centric) แต่มุ่งตีแผ่ให้เห็นว่าเรื่องราวของซอมบี้และผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบัน ในที่นี้ ซอมบี้คือพลังสำหรับการปฏิวัติและพวกเขาคือพลังในการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของสังคม ซอมบี้จึงหมายถึงประชาชน (people) มหาชน (multitude) และชนชั้นแรงงานที่เดือดดาล(disgruntled workers) ซึ่งลุกฮือต่อสู้เพื่อโค่นล้มรัฐ และระบบทุนนิยม (Phuaphansawat, 2565)
หากมองซอมบี้ผ่านแว่นการเมืองเรื่องชนชั้นจะพบว่า ซอมบี้คืออุปมาอุปไมยของชนชั้นแรงงานที่ไร้เหตุผลและตายแล้วแต่มียังชีวิต (mindless and living dead workers) ชนชั้นแรงงานที่กลายเป็นซอมบี้คือภาพสะท้อนของความรุนแรงเชิงระบบที่ปรากฏให้เห็นอย่างดาษดื่น ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมภายใต้ฉากหน้าของทุนนิยมโลก ดังที่ Mcnally ให้ทัศนะไว้ว่า การกลายเป็นซอมบี้เปรียบได้กับการกลายเป็นสมาชิกของคนส่วนใหญ่ที่ถูกกดขี่ขูดรีด ผู้ซี่งผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต ตั้งแต่การเหยียดหยามทางเชื้อชาติ การทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ การตกงาน ความไม่มั่นคง ถูกกดขี่ค่าแรง ไปจนถึงการไม่สามารถกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนเองได้ (Phuaphansawat, 2565)
ร่างกายที่น่าเกลียดน่ากลัวของฝูงซอมบี้สะท้อนวัฒนธรรมการไม่ได้ถูกยอมรับจากสังคมและเป็นตัวประหลาด (the oppositional culture of the outcasts and freaks) พวกเขาเป็นชนชั้นที่ถูกทำให้ไร้ค่าไร้ศักดิ์ศรี (Phuaphansawat, 2565)
ด้วยเหตุดังนี้ การปรากฏขึ้นของฝูงซอมบี้ ทำให้สภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ภายใต้วิถีทุนนิยม เช่น ระเบียบแบบแผนเชิงสัญลักษณ์ซึ่งดูเป็นทางการ ใสสะอาด และดูสงบสุข (existing structure) เกิดการหยุดชะงักและติดขัด (disruption) ด้วยเหตุนี้เอง ซอมบี้คือภาพสะท้อนสำคัญของการปฏิวัติที่เกิดขึ้นจากเบื้องล่าง (revolution from below) เรื่องราวในภาพยนตร์ซอมบี้ปฏิวัติเริ่มต้นจากคนจนคนไร้อำนาจพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะเลิกเป็นซอมบี้ (de-zombie) และทวงความเป็นมนุษย์ของคนเองให้กลับคืนมาอีกครั้ง (reclaiming their humanity) (Phuaphansawat, 2565)
The People under the Stair คือภาพสะท้อนเรื่องราวข้างต้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งฉายภาพให้เห็นถึงการลุกฮือของประชาชนจากเบื้องล่าง (rebellion from below) ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับกระบวนการทำให้เป็นซอมบี้ของระบบทุนนิยม (capitalist zombification) (Phuaphansawat, 2565)
ควรกล่าวด้วยว่า ระบบทุนนิยมในยุคปัจจุบันไม่ได้กดขี่ขูดรีดแรงงานและมุ่งเน้นการบริโภคนิยมเท่านั้น หากแต่ทุนนิยมยังได้ลดทอนประชากรจำนวนมหาศาลให้อยู่ในสภาวะอยู่บนความเสี่ยง (precariously living) มีความเป็นอยู่อย่างไร้ความหมาย (disposable beings) การกลายเป็นซอมบี้ในระบบทุนนิยมตั้งอยู่บนฐานของเชื้อชาติ สัญชาติ และเพศภาพ ดังนั้น จึงเป็นภาพสะท้อนว่าแรงงานผิดกฎหมาย ชนพื้นเมือง แรงงานผู้หญิง และคนที่ได้รับค่าแรงน้อยคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอันดับแรก ๆ จากระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน (Phuaphansawat, 2565)
ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์ซอมบี้ 4 เรื่อง ได้แก่ Backpacker, Seoul Station, Cargo และ Little Monsters หนังเหล่านี้ฉายภาพให้เห็นโฉมหน้าและเสียงของผู้คนที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากไร้ในระบบเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ในยุคคปัจจุบัน พวกเขาคือชนชั้นเสี่ยงที่ไปไหนไม่ได้ ((im)mobile precariat) ไม่ว่าจะเป็นเหล่าผู้อพยพวัยรุ่น แรงงานรับใช้ในบ้าน แรงงานโรงงาน และแรงงานสร้างสรรค์ ภาพยนตร์ซอมบี้เหล่านี้ได้ฉายภาพชั้นชั้นเสี่ยง (precariat) เช่น แรงงานอพยพเปราะบางที่ติดอยู่ในรถบรรทุกในประเทศไทย ผู้ให้บริการทางเพศ (Sex workers) ที่พยายามหนีออกจากวงจรอุบาทว์ของความยากจนในเกาหลี และเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตระบบนิเวศ (ดูเพิ่มเติมใน Phuaphansawat, 2565)
การรับมือกับวิกฤตการณ์ในยุคสมัยแห่งทุนที่สะท้อนผ่านภาพยนตร์ซอมบี้จึงไม่ใช่การชื่นชมแนวคิดที่เชิดชูเหล่าฮีโร่ขี่ม้าขาว และมิได้ให้ความสำคัญบทบาทของรัฐและกองกำลังติดอาวุธในเครื่องแบบ เพราะการแก้ปัญหาโดยยึดแนวคิดเชิดชูฮีโร่เพียงคนเดียวนั้นไม่เพียงพอ ดังนั้น ภาพยนตร์ซอมบี้แนวนี้จึงเสนอทางออกที่ข้ามพ้นไปจากฐานคิดของทุนนิยม ในที่นี้คือการปฏิวัติโดยซอมบี้ (Phuaphansawat, 2565)
กล่าวโดยสรุปภาพยนตร์ซอมบี้ในศตวรรษที่ 21 ชี้ให้เห็นว่าวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำ วิกฤตสิ่งแวดล้อม แรงงานเปราะบาง และชนชั้นเสี่ยง หาได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากแต่เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมที่เป็นอยู่ เรื่องราวซอมบี้ยังสะท้อนการประเมินอย่างวิพากษ์ต่อหลักคิดความก้าวหน้าของทุนนิยม พร้อมทั้งชวนให้เรากลับมาขบคิดถึงการเมืองของการปลดปล่อย (emancipatory politics) ในฐานะแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ (Phuaphansawat, 2565)
เอกสารอ้างอิง
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2564). ยุคสมัยแห่งทุน: ข้อถกเถียงว่าด้วยมนุษยสมัยในโลกวิชาการมาร์กซิสต์. ใน
Anthropocene: บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยา
สิริธร (องค์การมหาชน)
จักรกริช สังขมณี. (2565). All of Us Are Dead: ซอมบี้ บูลลี่ และ อุปลักษณ์ของความรุนแรงในโรงเรียน.
สืบค้น 30 ตุลาคม 2567 สืบค้นจาก https://www.the101.world/all-of-us-are-dead/
ชนกพร ชูติกมลธรรม. (2565). ประวัติศาสตร์ซอมบี้ :จากศพคืนชีพด้วยมนตร์ดำ สู่สัญลักษณ์แห่งการวิจารณ์ทุน
นิยม. กรุงเทพฯ: ศยาม.
สรวิศ ชัยนาม. (2563). เมื่อโลกซึมเศร้า :Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ (สุชานาฎ จารุไพบูลย์
, แปล). กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์.
Lauro, S. J., & Embry, K. (2008). A zombie manifesto: The nonhuman condition in the era of
advanced capitalism. boundary 2, 35(1), 85-108.
Lauro, S. J. (2017). Introduction: Wander and wonder in zombieland. Zombie Theory: A
Reader, vii-xxii.
Moore, J. W. (2015). Capitalism in the Web of Life: Ecology and the Accumulation of Capital.
Verso.
Moore, J. W. (Ed.). (2016). Anthropocene or capitalocene?: Nature, history, and the crisis of
capitalism. Pm Press.
Phuaphansawat, K. (2023). Zombie Apocalypse and the Crisis of Global Capitalism: Class,
Precarious Work, and Environment. Journal of Contemporary Asia, 1-21.
Saito, K. (2024). Slow down: The degrowth manifesto. Astra Publishing House.
ผู้เขียน
อาทิตย์ ภูบุญคง
นักวิจัย. ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ พินิจ วิกฤติทุนนิยม ซอมบี้ศึกษา Zombie study อาทิตย์ ภูบุญคง