ฮาเร็มกับจินตนาการแบบบูรพคดีศึกษา
แนวคิดเกี่ยวกับฮาเร็มเป็นที่สนใจของนักวิชาการและสาธารณชนมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในประเด็นความสัมพันธ์กับพลวัตของความปรารถนาทางเพศ ฮาเร็มซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับคำว่า حَرِيمٌ (ḥarīm) ซึ่งแปลว่า "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “เขตหวงห้าม" โดยสื่อถึงพื้นที่สงวนสำหรับผู้หญิงภายในบ้านของวัฒนธรรมอิสลาม โดยเฉพาะเขตที่พักอาศัยส่วนตัวที่ผู้หญิงซึ่งอยู่ภายใต้การปกป้องและควบคุมของชายผู้มีอำนาจและอิทธิพล ในจินตนาการของชาวตะวันตก ฮาเร็มกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเย้ายวนและความปรารถนาทางเพศ อย่างไรก็ตาม การตีความนี้มักสะท้อนถึงมุมมองแบบอาณานิคมหรือวิธีคิดแบบบูรพคดีศึกษา (Orientalism) มากกว่าความเข้าใจในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นจริง
ฮาเร็มในฐานะสนามของอำนาจ
ฮาเร็มไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ของกิจกรรมทางเพศ แต่ยังเป็นศูนย์กลางของอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง โดยเฉพาะในจักรวรรดิออตโตมัน ผู้หญิงในฮาเร็มสามารถมีอิทธิพลทางการเมืองได้โดยเฉพาะเมื่อเธอเป็นแม่ของสุลต่าน หรือ วาลิเดสุลต่าน (valide sultan) เลสลีย์ พี. เพียร์ซ (Leslie P. Peirce) (1993) ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาททางการเมืองของผู้หญิงในฮาเร็ม ซึ่งขัดแย้งกับการมองว่าผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุแห่งความปรารถนาของผู้ชาย ฮาเร็มจึงเปรียบเสมือนภาพย่อยของโครงสร้างอำนาจทางสังคมและการเมืองที่เป็นบริบทอันกว้างกว่า โดยที่ความสัมพันธ์ทางเพศที่เกิดขึ้นในฮาเร็มนับเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางอำนาจอันซับซ้อนเท่านั้น
เพียร์ซ (1993) อธิบายให้เห็นว่าฮาเร็มในจักรวรรดิออตโตมันไม่ใช่เพียงสถานที่หวงห้ามสำหรับนางสนมและสุลต่านเท่านั้น หากแต่เป็นส่วนในของอำนาจรัฐที่สำคัญซึ่งมีลักษณะเป็นสถาบันที่สร้างหญิงผู้ทรงอำนาจทางการเมืองผ่านสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติและระบบอุปถัมภ์ (patronage) มิติทางเพศเป็นเพียงมิติหนึ่งในโครงสร้างอันสลับซับซ้อนของการเมืองและสังคมเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจักรวรรดิออตโตมันที่ให้ความเคารพราชสำนักเป็นศูนย์กลางและยอมรับว่าบทบาทของผู้หญิงล้วนเกี่ยวพันกับการสร้างสมดุลทางการเมืองภายใน ในแง่นี้ ฮาเร็มจึงไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของโลกที่สตรีไร้อำนาจอย่างที่จินตนาการตะวันตกมุ่งอธิบาย หากแต่เป็นสถาบันที่สตรีกลุ่มหนึ่งสามารถขยับสถานะขึ้นสู่จุดที่มีสิทธิ์มีเสียงและมีส่วนในการกำหนดนโยบายของจักรวรรดิ กล่าวได้ว่าสตรีในฮาเร็มต่างมีบทบาทต่อทิศทางประวัติศาสตร์ และยังท้าทายกรอบความคิดเดิมที่มองว่าสังคมออตโตมันหรือโลกอิสลามคือพื้นที่ปิดตายสำหรับผู้หญิง ในทางกลับกัน ผู้หญิงเองก็มีส่วนในการใช้พื้นที่ฮาเร็มเพื่อก่อร่างสร้างอำนาจ เครือข่าย และขยับขยายบทบาทไปสู่การตัดสินใจในราชสำนักได้อย่างน่าสนใจ
บูรพคดีศึกษากับการรับรู้ฮาเร็มในสายตาตะวันตก
ที่ผ่านมา จินตนาการของชาวตะวันตกเกี่ยวกับฮาเร็มถูกกำหนดโดยการตีความแบบบูรพคดีศึกษา ซึ่งเน้นความเย้ายวนและความลึกลับของพื้นที่ต้องห้ามนี้ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) (1978) ชี้ให้เห็นว่าการตีความในลักษณะนี้เป็นการเสริมสร้างอำนาจให้กับโลกตะวันตกผ่านการมองว่าสังคมตะวันออกล้าหลัง แปลกตา และมีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดแผกไปจากวิถีของพวกตน ภาพวาดและวรรณกรรมของชาวตะวันตกมักแสดงภาพของฮาเร็มว่าเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้หญิงที่รอคอยจะตอบสนองความต้องการทางเพศของชายเพียงคนเดียว กล่าวได้ว่าความเข้าใจดังกล่าวมีส่วนในการส่งเสริมจินตนาการแบบปิตาธิปไตยและอาณานิคม ภาพวาด The Turkish Bath (1862) ของฌ็อง-โอกุสต์-โดมินิก แองกร์ (Jean-Auguste-Dominique Ingres) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการมองฮาเร็มแบบบูรพคดีศึกษา ภาพวาดเป็นการแสดงให้เห็นผู้หญิงเปลือยในท่วงท่าและอิริยาบทสบาย ๆ ณ สระว่ายน้ำในฮาเร็ม แต่แฝงความเย้ายวนทางกามารมย์อย่างมีสุนทรียะ ภาพในลักษณะดังกล่าวมีส่วนส่งเสริมให้ฮาเร็มถูกมองเป็นเพียงสถานที่แห่งการเสพสุขทางเพศ ภาพความเข้าใจเช่นนี้ไม่เพียงแต่สร้างความรับรู้ที่ผิดเกี่ยวกับฮาเร็ม แต่ยังส่งผลกระทบต่อการตีความในเวลาต่อมาด้วย
The Turkish Bath (1862)
ที่มา https://shorturl.at/mUDpr
มาริลิน บูธ (Marilyn Booth) (2010) อธิบายให้เห็นว่า การสร้างภาพในลักษณะที่ว่าสังคมตะวันออกเป็นสังคมที่ล้าหลัง (backwardness) ผ่านการนำเสนอภาพของฮาเร็มซึ่งมองผู้หญิงเป็นเพียงนางบำเรอที่ขาดเสรีภาพ ถูกใช้เป็นข้ออ้างทางอารยธรรม (civilizing mission) ของจักรวรรดินิยมตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19–20 เพื่อแสดงความเหนือกว่าทางด้านวัฒนธรรม โดยจะเห็นได้จากแง่มุมที่ผู้นำอาณานิคม หรือแม้แต่แกนนำชาติตะวันตกยุคหลัง อ้างถึงสตรีในสังคมมุสลิมเพื่อเชิดชูความก้าวหน้าของตน ในปัจจุบัน ขณะที่ฮาเร็มในเชิงรูปธรรมอาจจางหายไป หรือถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ แต่การเหมารวมแบบบูรพคดีศึกษาก็ยังคงดำรงอยู่ในรูปลักษณ์อื่น ๆ เช่น การเอ่ยถึงประเด็นผ้าคลุมฮิญาบ การถูกเนื้อต้องตัวหรือการปกปิดร่างกาย รวมไปถึงการถูกกักขังในโลกแคบ ๆ กล่าวได้ว่าภาพความเข้าใจเหล่านี้ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากรากทางประวัติศาสตร์ที่ซ้อนทับกับอิทธิพลการสร้างภาพแบบอริยนิยมในอดีต การวิพากษ์ฮาเร็มในเชิงวิชาการจึงต้องไม่เพียงแค่รื้อภาพที่เคยถูกวาดไว้ แต่ยังต้องถอดรื้อภาษาการเมือง (political language) ที่ยังคงทำงานอยู่เบื้องหลังมาจนถึงปัจจุบันด้วย
ความปรารถนาทางเพศและพลวัตทางอำนาจในฮาเร็ม
การพิจารณาพลวัตของความปรารถนาทางเพศในฮาเร็ม จำเป็นต้องมีความตระหนักว่าความสัมพันธ์ทางเพศมีการเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับอำนาจ ดังที่มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) (1978) บอกว่าความสัมพันธ์ทางเพศโดยนัยหนึ่งเป็นพื้นที่ของการต่อรองอำนาจ การเข้าถึงความสัมพันธ์ทางเพศของสุลต่านหรือผู้นำไม่ได้เป็นเพียงการแสดงความปรารถนาส่วนบุคคล แต่ยังเป็นการสะท้อนถึงอำนาจทางการเมืองด้วย ผู้หญิงในฮาเร็ม โดยเฉพาะนางสนมสามารถก้าวขึ้นสู่อำนาจและมีอิทธิพลจากความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ปกครอง ความปรารถนาทางเพศในฮาเร็มจึงเป็นทั้งเครื่องมือของการเสริมสร้างอำนาจและการกดขี่ ขึ้นอยู่กับสถานะในลำดับชั้นของบุคคลนั้น ๆ ขณะเดียวกัน แม้ความปรารถนาทางเพศในฮาเร็มจะถูกกำหนดโดยการครอบงำของผู้ชาย แต่ผู้หญิงเองก็มีบทบาทและใช้กลไกในเงื่อนไขเหล่านี้ได้ มาเดลีน ซี. ซิลฟี (Madeline C. Zilfi) (2010) ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถใช้ความปรารถนาทางเพศของตนเพื่อเจรจาต่อรองสภาพการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น หรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ รวมถึงสร้างอนาคตให้กับบุตรหลานของตนเอง ความปรารถนาทางเพศในฮาเร็มจึงไม่ใช่พลวัตทางเดียว แต่เป็นเรื่องของความทับซ้อนระหว่างเพศ อำนาจ และสถานะทางสังคม
มองหาฮาเร็มแบบอื่น: ฮาเร็มชาย (?)
แม้ว่าความเข้าใจเรื่องฮาเร็มโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นจากจินตนาการแบบบูรพคดีศึกษาโดยเฉพาะการเกี่ยวพันกับการที่ผู้ชายคนหนึ่งมีผู้หญิงหลายคนอยู่ในอาณัติ แต่ในบางสังคมกลับปรากฏรูปแบบที่กลับทิศซึ่งผู้หญิงกลายเป็นฝ่ายที่มีคู่สมรสเป็นผู้ชายหลายคน หรือที่เรียกว่า พหุบุรุษสมรส (polyandry) ตัวอย่างเช่น ในบางพื้นที่ของทิเบต เนปาล และบางส่วนของอินเดีย การที่พี่น้องผู้ชายใช้ภรรยาร่วมกัน (fraternal polyandry) ถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์จัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจและป้องกันการกระจายมรดกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากกว่าจะเน้นเรื่องความใคร่เป็นหลัก (Levine, 1988) เมลวิน ซี. โกลด์สไตน์ (Melvyn C. Goldstein, 1987) อธิบายว่าความหึงหวงและความสัมพันธ์ทางเพศในครอบครัวพหุบุรุษสมรสจะถูกกำหนดด้วยกฎเกณฑ์ภายในชัดเจน ทำให้แต่ละคนผลัดเปลี่ยนตารางเวลาของตนได้อย่างเป็นระบบ การคงไว้ซึ่งรูปแบบครอบครัวลักษณะนี้จึงเป็นไปเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่ในมุมมองอำนาจ การมีสามีหลายคนมิได้บ่งชี้แค่การได้เปรียบในเชิงจำนวนฝ่ายชายเท่านั้น แต่ยังสะท้อนว่าผู้หญิงในระบบนี้สามารถเจรจาต่อรองและสร้างอิทธิพลเหนือทรัพยากรทางครอบครัวได้มากกว่า
แม้ความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวนี้จะไม่ใช่ฮาเร็มในแบบที่กล่าวถึงในวัฒนธรรม ออตโตมัน แต่ฮาเร็มในความหมายของการมีคู่สมรสหลายคนในมิติของผู้หญิงเป็นฝ่ายที่มีอิทธิพลเหนือกว่าบรรดาชายที่เป็นสามีกลับชี้ให้เห็นว่าแนวคิดการอยู่ร่วมกันด้วยเงื่อนไขทางเพศและกลไกอำนาจที่สามารถปรับเปลี่ยนได้หลากหลายตามแต่บริบท แต่ละสังคมจึงมีการสร้างข้อตกลงทางเพศที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้เอง รูปแบบความสัมพันธ์เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงลักษณะทางวัฒนธรรมและระบบอำนาจเฉพาะของสังคมนั้น ๆ พหุบุรุษสมรสจึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ที่ตอกย้ำว่าปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่าฮาเร็ม ไม่ได้ผูกขาดอยู่กับรูปแบบการที่ชายหนึ่งคนมีภรรยาหลายคนเสมอไป หากแต่เป็นชุดของความสัมพันธ์ทางเพศและอำนาจที่อาจถูกพลิกกลับไปมาได้ตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละพื้นที่เอง
สรุป
โดยสรุปแล้ว แนวคิดเกี่ยวกับฮาเร็ม ที่ได้รับการปั้นแต่งจากจินตนาการของบูรพคดีศึกษาให้เป็นเพียงภาพลักษณ์ของความเย้ายวนและพื้นที่หวงห้ามทางเพศ มีความซับซ้อนมากกว่าที่ถูกนำเสนอและเข้าใจกันโดยทั่วไป จริงอยู่ที่ฮาเร็มมีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเพศ แต่ฮาเร็มก็ยังเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางการเมือง สังคม และครอบครัว การตีความหรือเน้นย้ำให้มองว่าฮาเร็มเป็นสถานที่แห่งความปรารถนาทางเพศที่ไม่สามารถควบคุมได้ในสายตาชาวตะวันตก สะท้อนถึงจินตนาการที่ตื้นเขินมากกว่าความเป็นจริงทางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ การพิจารณาฮาเร็มทั้งแบบดั้งเดิมและแบบกลับทิศ ท้าทายให้เราไม่ยึดติดกับคำจำกัดความเดิม ๆ ที่หลุดไปจากการคำนึงถึงบริบท แต่ควรมองไปยังความซับซ้อนของฮาเร็มในฐานะเวทีที่ผสมผสานระหว่างอำนาจ ความสัมพันธ์ และการเมือง ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความซับซ้อนของมิติทางเพศในบริบททางวัฒนธรรมและการเชื่อมโยงกับอำนาจทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน
เอกสารอ้างอิง
Booth, M. 2010. Harem Histories: Envisioning Places and Living Spaces. North Carolina: Duke University Press.
Foucault, Michel. 1978. The History of Sexuality, Volume 1: An Introduction. Translated by Robert Hurley. New York: Pantheon Books.
Goldstein, Melvyn C. 1987. When Brothers Share a Wife: Polyandry in Tibet. Natural History.
Levine, Nancy E. 1988. The Dynamics of Polyandry: Kinship, Domesticity, and Population on the Tibetan Border. Chicago: University of Chicago Press.
Peirce, Leslie P. 1993. The Imperial Harem: Women and Sovereignty in the Ottoman Empire. New York: Oxford University Press.
Said, Edward W. 1978. Orientalism. New York: Pantheon Books.
Zilfi, Madeline C. 2010. Women and Slavery in the Ottoman Empire: The Design of Difference. Cambridge: Cambridge University Press.
ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย. ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ฮาเร็ม จินตนาการ บูรพคดีศึกษา วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์