เรื่องเล่ากับหลักฐาน

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 730

เรื่องเล่ากับหลักฐาน

           เรื่องเล่ากับหลักฐานลายลักษณ์ ประหนึ่งว่าเป็นคนละเรื่อง อยู่คนละโลก แต่แท้จริงเป็นแบบนั้นหรือ หลักฐานที่มักถูกมองในรูปลายลักษณ์ก็รวบรวมเขียนจากเรื่องเล่า2 ทั้งตำนาน พงศาวดาร บันทึกความทรงจำ ฯลฯ ก็ล้วนมาจากความทรงจำ ไม่นับว่าลายลักษณ์พวกนี้ก็ถูกเลือกเขียนด้วยความคิด ความเชื่อ โลกทัศน์ ชีวทัศน์บางอย่างเช่นกัน และนักเรียนประวัติศาสตร์ก็มักจะให้ความสำคัญกับหลักฐานจำพวกนี้

           นอกจากนี้ พวกหลักฐานลายลักษณ์จำนวนมาก เช่น ตำนาน ก็ไม่ได้บอกเพียงข้อเท็จจริง บางเรื่องในตำนานก็ไม่อาจนับเวลาได้ เช่น ตำนานเมืองของล้านนา ที่กำหนดเวลาไม่ได้ แม้แต่การเขียนก็ย้อนไปในเวลาอสงไข แต่นั่นก็ไม่สำคัญ เพราะเราจัดวางเรื่องเหล่านั้นในฐานะประวัติศาสตร์ของวิธีคิด3

           อีกทั้งในสังคมไทย หลักฐานลายลักษณ์อักษรส่วนใหญ่ มักเขียนโดยชนชั้นปกครอง เรื่องคนเล็กคนน้อยสามัญชนคนธรรมดา ไม่ได้ถูกล่าวถึงมากนัก ไม่ได้กลายเป็นองค์ประธานของการศึกษาประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของเราจึงวนเวียนวายแต่เรื่องของชนชั้นปกครอง นั้นก็เป็นข้อจำกัดของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยด้วยเช่นกัน ภายใต้สังคมที่จำกัดด้วยหลักฐานตัวเขียน กับกักขังความทรงจำด้วยตัวเขียน ก็ออกจะประหลาด ๆ อยู่โดยนัย

           ขณะที่เรื่องเล่ามักจะมีข้อจำกัดในแง่ความต่อเนื่อง ความไม่คงเส้นคงวา ย้อนเวลาได้ไม่นาน ไม่มีมิติเวลา และบริบท มักถูกมองว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ ปะปนด้วยอคติ/ความคิดของผู้เล่า ทำให้เรื่องเล่าไม่ค่อยสำคัญมากนักในแวดวงประวัติศาสตร์4

           อาจกล่าวได้ว่า เรื่องเล่ามักไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมากนัก (แต่สำหรับนักเรียนมานุษยวิทยา เรื่องเล่าเป็นเหมือนอาหารหลักในการศึกษา) ซึ่งแน่นอนละส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เราแยกประวัติศาสตร์กับความทรงจำออกจากกัน (แต่บางทีก็ปน ๆ กัน แต่สองเรื่องนี้ถกเถียงกันยาวเป็นอีกเรื่อง) ทำให้เรื่องเล่าในฐานะความทรงจำของคนหลุดลอยไป เพราะเรื่องเล่าไม่ได้ต้องการบอก "ข้อเท็จจริง" ทางประวัติศาสตร์เท่านั้น เรื่องเล่ามีหน้าที่อื่น ๆ ด้วย5

           เรื่องเล่าที่ "ถูกเล่า" สะท้อนโลกทัศน์ชีวทัศน์ของกลุ่ม/คนเล่าด้วย เขาไม่ได้แค่บอกว่า "ความจริง จริง ๆ คืออะไร" เรื่องเล่าจำนวนมากต้องการจัดวางตัวตนของเรา/เขากับเงื่อนไขอื่น ๆ ร้อยพันที่ไม่ถูกจดจำจากหลักฐานลายลักษณ์

           เรื่องเล่าจำนวนมากมีฐานะจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนในที่หนึ่ง ๆ เช่น เรื่องเล่าเรื่อง "เจ๊ก/ศาลเจ้าเจ๊ก" ของคนยวนสีคิ้ว เพื่อปลดเปลื้องสถานะเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า และถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ๊ก เจ๊กในเรื่องเล่านี้จึงมีสถานะ "ตัวร้าย" ในความทรงจำของยวน หรือแม้แต่เรื่องเล่าต่อพระมหาธรรมราชาในประวัติศาสตร์ไทย ก็มีหลายแง่มุม ซึ่งต่างถูกบันทึกจากความทรงจำของคนหลาย ๆ กลุ่ม6 เรื่องเล่าจึงอยู่ในฐานะการเมืองของความทรงจำด้วย7

           ท้ายที่สุด เรื่องเล่า หลักฐานลายลักษณ์ ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ ไม่ได้แยกขาดหลุดลอยจากกันเสียทีเดียว แต่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ต่างส่องสะท้อนซึ่งกันและกัน อยู่ที่ว่าเราจะวางความสัมพันธ์ไว้ตรงไหน อะไรคือ "ความจริง" ที่เราทำซึ่งต้องเถียงกันอีกว่าอะไร คือ ความจริง

           ในขณะเดียวกัน ถ้าประวัติศาตร์หมายเพียงข้อมูลที่มักเอ่ยอ้างกันอย่างพร่ำเพื่อ เพียงเพราะข้อมูลบอกอดีตได้หรือสะท้อนความจริงได้ หรือเป็น "...สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในอดีต" ("It wants to show only what really happen" รังเก Leopold von Ranke 1795-1886) ถ้ามันเป็นเช่นนั้นเราก็ไม่ต้องมี "นักเรียนประวัติศาสตร์" เพราะข้อมูลมันบอกตัวเองได้อยู่แล้ว หรือที่ Carr (1961) กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์เป็นบทสนทนาอันไม่สิ้นสุดระหว่างอดีตกับปัจจุบัน” ("...a continuous process of interaction between the present and the past.)8 ถ้ายึดมั่นเพียงเท่านั้นเราคงไม่มีนักคิดอย่าง R. G. Collingwood, E. H. Car, Karl Marx, Michel Foucault ฯลฯ และความคิดแบบ Postmodernism ที่ตั้งคำถาม สร้างอดีต และถอดรื้อเรื่องต่าง ๆ อย่างทรงพลัง

           แต่กระนั้น ประวัติศาสตร์มันจึงไม่ใช่แค่เรื่องข้อมูล แต่เป็น "วิธีคิด" ในการสืบสาวอดีตด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งเป็นทั้งเครื่องมือแห่งการ "กักขัง" "ปลดปล่อย" "กับดัก" การถกเถียงทางประวัติศาสตร์/สังคมจะจริงหรือเท็จเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยตัวของประวัติศาสตร์เองก็ไม่ใช่ "ข้อเท็จจริง" ทั้งหมดแต่ประการใด แต่ฉาบด้วยอคติ ความเชื่อ โลกทัศน์ ชีวทัศน์ของคนเขียนมากมายในการเล่าเรื่องอดีต9

           การถกเถียงทั้งเรื่องพระแก้วมรกต พระสยามเทวาธิราช ฝาบาตร ฯลฯ จึงมีความหมายที่จะขยายเพดานความรู้ และอีกแง่ก็เป็นการทำลายมายาภาพของประวัติศาสตร์ที่เราเชื่อว่า “จริง ๆ” ส่วนหนึ่งทำหน้าที่กักขังเราในโลกปัจจุบัน ที่สำคัญ นักวิชาชีพทั้งหลายก็อย่าหลงว่าจะชี้ "ความจริง" เป็นประกาศประกาศ "อดีต" แท้จริงเรากำลังก่อร่างสร้างอดีตจากหลักฐาน เรื่องเล่า และข้อมูลที่เรามี ซึ่งก็อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีหลักฐานและข้อมูลใหม่ ๆ มาโต้แย้ง หรือแม้แต่มีมุมมองใหม่ ๆ ในการมองเรื่องนั้น ๆ


เอกสารอ้างอิง

ชัยพงษ์ สำเนียง. 2566. “ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างผ่านเรื่องเล่าของคนยวนพลัดถิ่น”. วารสารมานุษยวิทยา 6: 1 (มกราคม – มิถุนายน): 65-104.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2523. ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพงศาวดารอยุธยา. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาคม พัฒิยะ. 2525. หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ.

ธงชัย วินิจจะกูล. 2562. ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย : ว่าด้วยประวัคิศาสตร์นอกขนบและวิธีวิทยา ทางเลือก. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน.

อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2527. “ตำนานและลักษณะความคิดทางประวัติศาสตร์ในล้านนาระหว่างพุทธศตวรรษ ที่ 20 และ 21,” ใน พัฒนาการชีวิตและวัฒนธรรมล้านนา. กรุงเทพฯ : มิตรนราการพิมพ์

อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2543. ความคิดทางประวัติศาสตร์และศาสตร์ของวิธีคิด : รวมบทความทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

Clifford, James. and George E. Marcus, (edited). 1986. Writing culture: the poetics and politics of ethnography. Berkeley: University of California Press.

Carr, E. H. 1961. What Is History?. London: University of Cambridge & Penguin Book

Rabinow, Paul. 2007. Reflections on fieldwork in Morocco. Berkeley: University of California Press.


1  ผู้เขียนเขียนเพื่อเป็นบทแนะนำรายวิชา 834213 การวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ (Historical Criticism) วิชาในระดับปริญญาตรี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

2  อ. Katherine Bowie ก็ได้พูดในงานสัมมนาของคณะสังคมศาสตร์  https://www.facebook.com/socialscinu/videos/1268260300596916 เข้าถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2567

3  อานันท์ กาญจนพันธุ์. 2527. “ตำนานและลักษณะความคิดทางประวัติศาสตร์ในล้านนาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20 และ 21,” ใน พัฒนาการชีวิตและวัฒนธรรมล้านนา. กรุงเทพฯ : มิตรนราการพิมพ์ และอานันท์ กาญจนพันธุ์. 2543. ความคิดทางประวัติศาสตร์และศาสตร์ของวิธีคิด: รวมบทความทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

4  นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2523. ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพงศาวดารอยุธยา. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. และนิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาคม พัฒิยะ. 2525. หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ.

5  ดู, Clifford, James. and George E. Marcus, (edited). 1986. Writing culture: the poetics and politics of ethnography. Berkeley : University of California Press.

6  อ่านงานของ ธงชัย วินิจจะกูล. 2562. ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย : ว่าด้วยประวัคิศาสตร์นอกขนบและวิธีวิทยาทางเลือก.นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน.

7  ชัยพงษ์ สำเนียง. 2566. “ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างผ่านเรื่องเล่าของคนยวนพลัดถิ่น”. วารสารมานุษยวิทยา 6: 1 (มกราคม – มิถุนายน): 65-104.

8  ดู, Carr, E. H. 1961. What Is History?. London: University of Cambridge & Penguin Books.

9  เรื่องเดียวกัน


ผู้เขียน
ชัยพงษ์ สำเนียง
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร


 

ป้ายกำกับ เรื่องเล่า หลักฐาน ชัยพงษ์ สำเนียง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา