อ้อยหวานน้ำตาลขม: การขูดรีดทางไกลกับทุนนิยมระยะใกล้

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 1986

อ้อยหวานน้ำตาลขม: การขูดรีดทางไกลกับทุนนิยมระยะใกล้

1. เกริ่นนำ

           หนังสือ Sweetness and Power: The Place of Sugar in Modern History ของ Sidney W. Mintz1 เป็นงานชิ้นสำคัญที่ศึกษา “โลกของอาหาร” หรืออาจพูดได้ว่าเป็นมานุษยวิทยาอาหาร โดยใช้ “น้ำตาล” ที่เป็นของสามัญในโลกปัจจุบัน เพื่อสาวหาอดีตอันไกลโพ้น ที่เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของการเดินทางของผู้คน ทาสจากแอฟริกา เดินทางสู่ไร่อ้อย หรือนิคมเกษตรกรรม (plantation) ขนาดใหญ่ในอเมริกา (แคริบเบียน) เพื่อผลิตน้ำตาลส่งให้อังกฤษ หรือเรียกได้ว่าเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ภายใต้ความสัมพันธ์แบบอาณานิคมที่ช่วยเสริมสร้างการขยายตัวของระบบทุนนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 17-19

           Mintz ชี้ให้เห็นว่าความหมายของน้ำตาลไม่ได้อยู่คงที่แต่น้ำตาลในช่วงเวลาต่าง ๆ มีความหมายที่แปรเปลี่ยน จากของหายากมีคนชั้นสูงเท่านั้นที่เข้าถึง สามารถใช้และครอบครองได้ เป็นยารักษาโรค เครื่องเทศ จนกลายมาเป็นสารให้พลังงานแก่ชนชั้นแรงงงาน ความเปลี่ยนแปรนี้สัมพันธ์กับจำนวนการผลิต การขยายตัวของการขนส่ง และความหมายที่เปลี่ยนไปตามวิถีการผลิต จากของหายากกลายเป็นของธรรมดาสามัญในชีวิต อีกทั้ง เป็นการอธิบายการเจริญเติบโตของโลกอุตสาหกรรมตะวันตก ซึ่งนำมาสู่พลังงานและความมั่งคั่ง สู่รายจ่ายมหาศาลในชีวิตในแง่โรคภัยในปัจจุบัน และความทุกข์ทรมานของทาสในนิคมเกษตรกรรม (plantation)

           การอธิบายความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์โลกผ่านน้ำตาล หรือของใช้ในชีวิตประจำวัน ถือว่าเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมจากสิ่งเล็ก ๆ ที่เรามักจะมองข้าม แต่งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งเล็ก ๆ ในห้วงเวลาต่าง ๆ มีความหมาย และความสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อน

รูปที่ 1 ปกหนังสือ Sweetness and Power: The Place of Sugar in Modern History (1986)


2. ประวัติศาสตร์อันยาวไกล

           Mintz ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ที่ศึกษาจากบันทึกเอกสาร และการทำงานในฐานะนักมานุษยวิทยา ที่สำรวจความเปลี่ยนแปลงแบบยาวไกลเพื่อสืบสาวให้เห็นว่าน้ำตาลในช่วงเวลาต่าง ๆ มีความสำคัญอย่างไร และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปรของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรูปแบบไหน

           น้ำตาลกลายเป็นห่วงโซ่ร้อยรัดการเกิดอาณานิคมสมัยใหม่ การค้าทาส การเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันในการกินน้ำตาลของคนอังกฤษ ที่ส่งผลให้ต้องสร้างนิคมเกษตรกรรมขนาดใหญ่ในโลกอื่น และความหมายของน้ำตาลในการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในสังคมอังกฤษ Mintz ชี้ให้เห็นว่าน้ำตาล มีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและยาวนานซึ่งอยู่บนความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศภายใต้ระบบอาณานิคม

           นอกจากนี้ Mintz ยังพยายามอธิบายว่าการเกิดขึ้นของทุนนิยมอังกฤษมิได้เกิดจากการก่อตัวภายใน หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังเกิดภายใต้การหนุนเสริม และการเอาเปรียบจากระบบเศรษฐกิจ “การค้าทาส” และการกดขี่มนุษย์จากโลกอื่น (ใหม่) ด้วย


3. การขูดรีดทางไกลกับทุนนิยมระยะใกล้

           การศึกษาของ Mintz ทำให้เรามองการพัฒนาของระบบทุนนิยมใหม่ โดยทฤษฎีพื้นฐานในกลุ่มนักคิดสาย Marxism เชื่อว่าระบบทุนนิยมพัฒนาจาการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มีระบบแบ่งงานกันทำ และเปลี่ยนแรงงานให้เป็นกรรมกร นำมาสู่การสะสมทุนในรูปแบบต่าง ๆ โดยแรงงานจะเป็นถูกขูดรีดแรงงานจากนายทุน ทำให้แรงงานเป็นผู้แบกรับแอกของการเอาเปรียบเพื่อให้ระบบทุนนิยมขับเคลื่อน2

           แต่การศึกษาของ Mintz ชี้ให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมโดยเฉพาะอังกฤษเกิดจากการขูดรีดในระยะไกล โดยอังกฤษได้เข้ายึดครอง “โลกใหม่” เป็นพื้นที่สำหรับปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลในระบบโรงงานขนาดใหญ่ ที่ไม่สามารถทำได้ในประเทศแม่ เพราะต้องใช้พื้นที่กว้างขวาง และการยึดครองนี้นำมาสู่ระบบอาณานิคม

           ในโลกใหม่ได้เกิดการผลิตน้ำตาลในรูปแบบไร่ขนาดใหญ่หรือนิคมเกษตรกรรม ที่สัมพันธ์กับการสร้างวินัยอุตสาหกรรม แรงงานทาสจะทำงานในไร่อ้อยโดยไม่มีวันหยุด งานในไร่จะเป็นงานที่หนัก และต้องอาศัยความรวดเร็วของการผลิต ถ้าตัดอ้อยทิ้งไว้นานจะทำให้ความหวานของอ้อยลดลง วินัยอุตสาหกรรมสัมพันธ์กับ (1) การแบ่งงานกันทำในหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การปลูก การตัด การต้ม ฯลฯ ทุกคนจะมีหน้าที่เฉพาะและพัฒนาความชำนาญในการผลิต (2) มีวินัยในการทำงานให้ตรงกับสายพานการผลิต เนื่องด้วยการที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดระบบทุนนิยมแบบใหม่

           แต่การผลิตน้ำตาล และการทำไร่อ้อยขนาดใหญ่ เป็นระบบที่ไม่ได้ใช้แรงงานรับจ้าง หรือเกิดกรรมกร ที่มีมูลค่าของแรงงาน การผลิตน้ำตาลได้ทำให้เกิดระบบทาส ซึ่งทาสไม่มีมูลค่าแรงงาน และยังไม่มีความเป็น “เจ้าชีวิต” ของตนเอง ระบบทาสเป็นระบบที่เข้ามาสร้างเสริมให้ระบบทุนนิยมอีกโลกหนึ่ง (อังกฤษ) ขับเคลื่อนไปได้ การขูดรีดทางไกลได้ทำให้เกิดการค้าทาสจากแอฟริกา ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนที่จะมาเป็นแรงงานทาส โดยมีจุดหมายปลายทางอีกโลกหนึ่ง คือ อเมริกาและแถบหมู่เกาะทะเลแคริบเบียน การเคลื่อนย้ายผู้คนทำให้เกิดสังคมวัฒนธรรมแบบใหม่ เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่เกิดจากอาณานิคมทาส และการค้าทาสได้ทำให้ “คน” กลายเป็นสินค้า

           นอกจากนี้ Mintz ยังได้แสดงให้เห็นว่าการมองความเปลี่ยนแปลงของทุนนิยมต้องมองใน 2 ระดับ คือ (1) การมองสายพานของระบบการผลิต เช่น ในกรณีนี้ดูเรื่องการผลิตอ้อย การใช้แรงงานทาส ที่เป็นตัวเสริมสร้างวินัยอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น (2) เขายังมองว่าการที่ระบบอุตสาหกรรมใด ๆ จะขับเคลื่อนไปได้ต้องเกิดจากความต้องการในการบริโภค (consumption) ด้วย ไม่สามารถขาดกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง

           งานชิ้นนี้ได้ใช้น้ำตาลเป็นสะพาน โดยดูความหมายที่เปลี่ยนแปรไปตามยุคสมัย จากสินค้าราคาแพง กลายมาเป็นสินค้าสามัญ ที่ให้พลังงานราคาถูกเข้าถึงได้อย่างง่ายดายแก่กรรมกร และทำให้กรรมกรสามารถทำงานเพื่อขับเคลื่อนทุนนิยมในอังกฤษ

           ในอดีตการมองในเรื่องการบริโภคมักไม่ได้รับความสำคัญในกลุ่มนักคิดสาย Marxism แต่ในปัจจุบันการบริโภคกลับเป็นประเด็นที่สำคัญในการศึกษาพัฒนาการของระบบทุนนิยม

           ท้ายที่สุดงานชิ้นนี้ได้สร้างข้อถกเถียงพัฒนาการของระบบทุนนิยม ที่ไม่อาจอธิบายแบบเป็นเส้นตรง หรือมีพัฒนาการทางเดียว แต่ทุนนิยมที่เกิดขึ้น เกิดจากการหนุนเสริมของการขูดรีดในระบบทาส และทาสนี้ไม่ได้พัฒนาเป็นกรรมกร หรือแรงงานอิสระ ที่นำมาสู่การปฏิวัติแบบนักคิดสาย Marxist และทุนนิยมที่ก่อตัวขึ้นในแต่ละประเทศ หรือภูมิภาคต่าง ๆ ล้วนมีพัฒนาการที่จำเพาะเจาะจง3 และสัมพันธ์กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในหลายระดับ อาทิเช่น ประเทศเจ้าอาณานิคมกับประเทศอาณานิคม นายทาสกับทาส ผู้ผลิตกับผู้บริโภค ฯลฯ ทำให้ไม่อาจสร้างการอธิบายแบบเหมารวมได้ ที่สำคัญ การอธิบายการเกิดขึ้นของทุนนิยมไม่อาจอธิบายด้วยระบบการผลิตอย่างเดียว แต่ปัจจัยที่ส่งเสริม คือ การบริโภคที่เป็นตัวกระตุ้นให้สายพานการผลิตทำงาน

           กล่าวได้ว่า งานนี้จึงเป็นการสร้างข้อเถียงเรื่องพัฒนาการของทุนนิยมที่เกิดจากหลายปัจจัย ภายใต้บริบทที่เฉพาะเจาะจง ผ่าน “อ้อยและน้ำตาล” สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน เราแทบไม่ให้ความสำคัญมองอย่างผ่านเลย เช่น น้ำตาล แต่แท้จริงแล้วสามารถนำพาเราสู่อดีต และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สลับซับซ้อน รวมถึงการเปลี่ยนความหมายของสิ่งของ ก็ทำให้เราเข้าใจโลกได้มากขึ้น นอกจากนี้การศึกษาสังคมขนานใหญ่ และอดีตอันยาวนาน เพื่อเผยให้เห็นความคลี่คลายของประวัติศาสตร์ รวมถึงการใช้หลักฐานประวัติศาสตร์จำนวนมากในการอธิบาย ยังเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากงานมานุษยวิทยา อาจถือได้ว่างานชิ้นนี้เป็น “มานุษยวิทยาประวัติศาสตร์” ได้เผยให้เห็นความซับซ้อนของพัฒนาการระบบทุนนิยมที่มิได้เติบโตเป็นเส้นตรง


เอกสารอ้างอิง

Marx, Karl. (1964). Pre-capitalist economic formations; translated by Jack Cohen; edited with an introduction by E. J. Hobsbawm. London: Lawrence & Wishart.

Mintz, Sidney W. (1986). Sweetness and power: the place of surgar in modern history. New York: Penguin books.

Wilson, Ara. (2004). The intimate economies of Bangkok: tomboys, tycoons, and Avon ladies in the global city. Berkeley: University of California Press.

มาร์กซ์, คาร์ล.; ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, แปล. (2561). การก่อรูปของเศรษฐกิจก่อนระบบทุนนิยม. กรุงเทพฯ: สมมติ.


1 Mintz, Sidney W. (1986). Sweetness and power: the place of surgar in modern history. New York: Penguin books.

2 ดูเพิ่มใน, Marx, Karl. (1964). Pre-capitalist economic formations; translated by Jack Cohen; edited with an introduction by E. J. Hobsbawm. London: Lawrence & Wishart. และ มาร์กซ์, คาร์ล.; ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, แปล. (2561). การก่อรูปของเศรษฐกิจก่อนระบบทุนนิยม. กรุงเทพฯ: สมมติ.

3 ดูการศึกษาการก่อตัวของทุนนิยมในความสัมพันธ์ได้ในงานของ Wilson, Ara. (2004). The intimate economies of Bangkok: tomboys, tycoons, and Avon ladies in the global city. Berkeley: University of California Press.


ผู้เขียน
ชัยพงษ์ สำเนียง
ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร


 

ป้ายกำกับ อ้อย น้ำตาล การขูดรีด ทุนนิยม ผศ.ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา