ปาไซ-สยามยุทธ์: "พ่อขุนแดนใต้" รบ "แขกสุมาตรา"
“ปาไซ” (Pasai) คือเมืองท่าสำคัญของชาวเกาะสุมาตราตอนเหนือ ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่สัมพันธ์กับปากแม่น้ำปาไซ (kuala Pasai) หรือ ตามภาษาอาเจะฮ์ว่า “กรวงปาเซ” (Krueng Pase) ซึ่งอยู่บนชายฝั่งตอนบนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ในทางประวัติศาสตร์นั้น ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 13–ต้นศตวรรษที่ 15 เมืองนี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมากในบริเวณน่านสมุทรฝั่งใต้ของปากทางเข้าช่องแคบมะละกา ตามตำนานนั้นกล่าวว่า แรกเริ่มตั้งเมืองนั้น เมืองแรกชื่อว่าเมืองสมุทรา (Samudera; ตามสำเนียงมลายูว่า ซะมุเดอรา) ต่อมาจึงสร้างอีกเมืองชื่อ “ปาไซ” (Pasai) โดยไม่ระบุว่าอยู่บริเวณใด แต่ควรเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กัน ต่อมา ชื่อสมุทรานี้ได้กลายมาเป็นชื่อเรียกเกาะสุมาตรา (Sumatra) ในปัจจุบัน ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ทั้งสองเป็นเมืองรุ่นแรกของ “ราชา” ที่หันมานับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น ในทางวิชาการจึงมักเรียกชื่อรัฐนี้เป็นชื่อคู่กันว่า “รัฐสุลต่านสมุทรา-ปาไซ” (Samudera-Pasai Sultanate) (ภาพที่ 1) ที่ผ่านมา มีร์ซาและคณะ (Mirsa et al. 2021) ได้วิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ต่างๆ ในเขตเมืองไว้อย่างน่าสนใจ (ภาพที่ 2)
ภาพที่ 1 แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองสมุทรา-ปาไซในเอเชียอาคเนย์ ใกล้แม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำปาไซ
ภาพที่ 2 ตำแหน่งสถานที่ต่างๆ ในเขตเมืองสมุทรา-ปาไซ ตามการศึกษาของมีร์ซาและคณะ (Mirsa et al. 2021); ปรับปรุงจากภาพลายเส้น "ภาพที่ 18 รูปแบบการใช้พื้นที่ของรัฐสุลต่านสมุทรา-ปาไซ" (Mirsa et al. 2021: 101); (1) ลานเมือง (square), (2) มัสยิด (masjid), (3) ตลาด (market), (4) วังหลวง (palace), (5) เรือนขุนนาง (House of officials), (6) ชุมชนช่างฝีมือ (Society of craftmen), (7) ชุมชนเพาะปลูก (Farming community), (8) บ้านเรือน (Settlement); จัดทำภาพโดย ตรงใจ (ผู้เขียน).
เอกสารสำคัญที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำนานกำเนิดราชวงศ์แห่งสมุทรา-ปาไซคือ “ตำนานเหล่าราชันย์แห่งปาไซ” หรือที่เรียกกันตามภาษามลายูว่า “ฮิกายัต ราจา-ราจา ปาไซ” (Hikayat Raja-Raja Pasai) ซึ่งเล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นกำเนิดราชวงศ์ก่อนสมัยอิสลาม อันเกิดจากการเสกสมรสกันระหว่างเจ้าชายช้างสาร (หรือ เมอระฮ์กาจะฮ์) กับเจ้าหญิงไม้ไผ่ (หรือ ปุตรีเบอตง) และให้กำเนิดราชบุตรนามว่า “เมอระฮ์ซีลู”
เมื่อเมอระฮ์ซีลูสั่งสมบารมีจนมีไพร่พลมากขึ้นแล้ว จึงสร้างเมืองสมุทราขึ้น ต่อมา ทรงเข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม และได้เปลี่ยนพระนามของพระองค์เป็น “สุลต่านมาลิกุซซาเละฮ์”1 (Malikus-Saleh) เป็นปฐมสุลต่านแห่งราชวงศ์เมืองสมุทรา
ไม่นานนัก พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งเมืองเปอร์ลัก (Perlak) และมีพระโอรสทรงพระนาม “สุลต่านมาลิกุตตาฮีร์” (Malikut-Tahir) ซึ่งเมื่อเจริญพระชันษาเติบใหญ่แล้ว พระราชบิดาจึงทรงสร้างเมืองปาไซให้ทรงปกครอง
เมื่อเวลาผ่านไป มาลิกุตตาฮีร์มีพระโอรส 2 พระองค์คือ “สุลต่านมาลิกุลมะฮ์มูด” (Malikul-Mahmud) กับ “สุลต่านมาลิกุลมันซูร์” (Malikul-Mansur) แต่ก็ไม่นานนัก มาลิกุตตาฮีร์ทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ มาลิกุซซาเละฮ์ผู้เป็นพระราชบิดา จึงทรงต้องเลี้ยงดูพระราชนัดดาทั้งสองด้วยพระองค์เอง โดยทรงมอบหมายให้ขุนนางผู้ใหญ่ 2 คน ต่างคอยดูแลสั่งสอน และทรงพระราชทานเมืองปาไซให้มาลิกุลมะฮ์มูด (ผู้พี่) ปกครอง ส่วนพระองค์อยู่ปกครองเมืองสมุทราและเลี้ยงดูมาลิกุลมันซูร์ (ผู้น้อง) ต่อมา เมื่อสุลต่านมาลิกุซซาเละฮ์สิ้นพระชนม์ บัลลังก์เมืองสมุทราจึงตกเป็นของมาลิกุลมันซูร์ แต่กระนั้น อำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองอยู่กับสุลต่านมาลิกุลมะฮ์มูดแห่งเมืองปาไซ
ตำนานเล่าว่า ในรัชกาลของสุลต่านมาลิกุลมะฮ์มูดนี้ เมืองสมุทรา-ปาไซ รุ่งเรืองและร่ำรวยมาก จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว กระทั่ง “ราชาแห่งสยาม” ทรงทราบ จึงหมายจะเอามาเป็นประเทศราช ทำให้เกิดศึก “ปาไซ-สยามยุทธ์” ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้
เรื่องราวต่อมาเป็นเรื่อง “พี่น้องผิดใจกันเพราะอิสตรี” ทำให้มาลิกุลมะฮ์มูด ทรงเนรเทศพระอนุชาคือ มาลิกุลมันซูร์ให้ไปอยู่เมืองตาเมียงที่ห่างไกล และเป็นเหตุให้พระอนุชาสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา กระทั่งสิ้นรัชกาล พระโอรสของมาลิกุลมะฮ์มูดจึงทรงขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนาม “สุลต่านอะฮ์มัด เปอรูมูดัล-เปอรูมาล” (Ahmad Perumudal Perumal) ผู้ถูกตำนานนี้เปรียบพฤติกรรมของพระองค์ว่าดุจดั่ง “แรดกินลูก” เหตุเพราะเป็นสุลต่านที่อิจฉาลูก กระทั่งวางแผนฆ่าบุตรตนเองถึง 2 คน ซึ่งหนึ่งในนั้น เป็นเหตุให้เกิดศึกปาไซ-มัชปาหิต อันนำมาซึ่งความปราชัยของปาไซต่อกองทัพมัชปาหิต และสิ้นสุดการเล่าเรื่องราวของเหล่าราชันย์แห่งปาไซในเอกสารนี้ไว้เพียงเท่านี้
สำหรับเหตุการณ์ปาไซ-สยามยุทธ์นั้น มีเรื่องย่อดังนี้
เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ชื่อเสียงของสุลต่านมาลิกุลมะฮ์มูดได้เลื่องลือไปถึงราชาสยาม แลด้วยต้องการให้ปาไซยอมรับอำนาจ ราชาสยามจึงรับสั่งให้แม่ทัพนามว่า “ตาลักเซอจัง” นำกองเรือใหญ่น้อยราวร้อยลำ ไปเรียกบรรณาการจากเมืองปาไซ เมื่อกองทัพเรือสยามมาถึงเมืองปาไซก็ส่งคนเข้าเรียกบรรณาการด้วยเงื่อนไขว่า หากปาไซไม่มอบบรรณาการ ทัพสยามจะทำสงครามด้วย เมื่อทราบดั่งนี้ สุลต่านมาลิกุลมะฮ์มูดก็ทรงพิโรธยิ่ง แลรับสั่งให้รวมพลเข้าทำสงครามกับกองทัพสยาม เมื่อทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างเข้าพุ่งรบกันนานถึงสองเดือน กระทั่งทหารของทั้งสองฝ่ายล้มตายแลบาดเจ็บเป็นอันมาก แต่ก็ยังไม่มีฝ่ายใดแพ้ชนะแก่กัน ทำให้สุลต่านมาลิกุลมะฮ์มูดทรงพิโรธ จึงทรงนำทัพออกสู้ศึกด้วยพระองค์เอง แลสุดท้ายกองทัพของพระองค์ก็สามารถสังหารตาลักเซอจังแม่ทัพสยามได้สำเร็จ เมื่อสิ้นแม่ทัพแล้ว เหล่าไพร่พลสยามก็แตกพ่ายหนี พวกที่หนีอยู่บนบกถูกสังหารสิ้น ส่วนพวกที่หนีลงเรือได้ทันก็แล่นใบกลับสู่เมืองสยาม นับแต่นั้นมา เมืองปาไซก็มั่งคั่งและมากมีด้วยผู้คน (สรุปความจาก สุนิติ จุฑามาศ และ ตรงใจ หุตางกูร (บก.) 2567)
ปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเกี่ยวกับปาไซ-สยามยุทธ์ คือคำถามที่ว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่? และหากเกิดขึ้นจริง จะเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาใดของประวัติศาสตร์ เพราะสาเหตุแห่งปัญหานี้คือ เนื้อหาของ “ตำนานเหล่าราชันย์แห่งปาไซ” เป็น “เรื่องเล่าไร้กาลเวลา” (timeless story) กล่าวคือ ในเนื้อหานี้ ไม่มีส่วนใดเลยที่บ่งชี้เกี่ยวกับวันเดือนปีของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่การเปรียบเทียบเรื่องราวของราชวงศ์สมุทรา-ปาไซกับเรื่องราวที่อ้างถึงปาไซในเอกสารอื่นอีก 2 เรื่องคือ (1) ประวัติศาสตร์มลายู (Sejarah Melayu) (Brown 1952) และ (2) ตำนานสมุทรา (Keradjaan Sjamtalira) (Cowan 1973) ก็พบว่า มีเนื้อหาไม่ตรงกัน ซึ่งแม้จะมีลำดับกษัตริย์ที่ดูเหมือนจะสอดคล้องกัน แต่เหตุการณ์ปาไซ-สยามยุทธ์ของ “สุลต่านมาลิกุลมะฮ์มูด” กลับไม่ปรากฏในเอกสารทั้งสองนี้ (ดูThomas 1978) เหตุนี้ทำให้ ฟิลลิป โทมัส (Phillip L. Thomas) เสนอความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ในบทความของเขาชื่อ “ความเกี่ยวข้องของไทยกับปาไซ” (Thai Involvement in Pasai) โดยเขาเริ่มต้นด้วยการเปรียบเทียบตรวจสอบลำดับราชวงศ์สมุทรา-ปาไซ ระหว่างเอกสาร 3 ชิ้นข้างต้น คือ “ตำนานเหล่าราชันย์แห่งปาไซ” “ประวัติศาสตร์มลายู” กับ “ตำนานสุมาตรา” ไว้อย่างยืดยาว เพียงเพื่อสรุปสั้น ๆ ไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของบทความว่า เหตุการณ์ปาไซ-สยามยุทธ์นั้น อาจไม่เคยเกิดขึ้น หรือถ้าเคยเกิดขึ้นก็ไม่สามารถระบุเวลาได้ (Thomas 1978: 101)
อย่างไรก็ตาม ผมกลับมีความเห็นแย้งกับโทมัส ด้วยสมุติฐานที่ว่า อนุภาค (motif) ของเรื่องเดียวกัน (the same story) ที่ไม่พบในเอกสารอื่นที่เล่าเรื่องเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า เหตุการณ์นั้นไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งจริงอยู่ว่า คำตอบที่ต้องการของปัญหานี้เป็นไปได้ทั้งสองทางคือ เป็น เรื่องจริง หรือ เรื่องเท็จ แม้กระทั่งเป็นเรื่อง จริงผสมเท็จ ด้วยก็ได้ ดังนั้น เราจึงต้องใช้ข้อมูลอื่นมาใช้ช่วยยืนยันความเป็นไปได้ของข้อเท็จจริง ทั้งในเชิงเหตุการณ์และภูมิศาสตร์
ในกรณีของปาไซ-สยามยุทธ์ตามทัศนะของผมนั้น ผมเห็นว่า เหตุการณ์นี้ “อาจ” เกิดขึ้นจริง และเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวปาไซ จึงเล่าขานเรื่องนี้ไว้เป็นตำนานเมือง แต่กระนั้น รายละเอียดต่าง ๆ อาจถูกเพิ่มเติมตัดทอนได้ จนเรื่องราวแปรเปลี่ยนจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไปเป็นตำนานไร้กาลเวลา ดังนั้น ในการนำเสนอบทความนี้ ผมจึงขอทำข้อตกลงก่อนว่า การตีความต่อไปนี้ อยู่บนสมมุติฐาน (hypothesis) ว่า “เหตุการณ์ปาไซ-สยามยุทธ์” เกิดขึ้นจริง ซึ่งผมจะพยายามหาคำอธิบายที่สนับสนุนของสมมุติฐานนี้
เมื่อเราเริ่มต้นด้วยสมมุติฐานว่า เหตุการณ์ปาไซ-สยามยุทธ์เกิดขึ้นจริง ก็จะมาสู่คำถามต่อไปว่า ถ้าเกิดขึ้นจริงแล้ว (1) ยุทธภูมินี้เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาใดในสายธารประวัติศาสตร์? และจะนำไปสู่คำถามต่อไปว่า (2) สยาม ณ ช่วงเวลานั้น เป็นสยามกลุ่มใด? โดยมีสมมุติฐานว่า โลกทัศน์ของชาวมลายู เรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาไทว่า “สยาม” ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงสุโขทัยหรืออยุธยาตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในงานวิชาการปัจจุบัน แต่อาจเป็นกลุ่มคนไทที่นครศรีธรรมราชได้หรือไม่?
หลักฐานจากจารึก
เพื่อตอบปัญหาที่ 1 เราจึงต้องหาหลักฐานอื่นที่เป็น “หมุดหมายของเวลา” (chronological marks) ในกรณีนี้คือคำจารึกบนหินปักหลุมศพ (tombstone) ซึ่งมีเพียง 2 หลัก ที่บอกศักราชไว้คือ (1) หินปักหลุมศพของสุลต่านมาลิกุซซาเละฮ์ ซึ่งเป็นรัชกาลที่ 1 ระบุฮิจเราะฮ์ศักราช 696 ตรงกับ ค.ศ. 1297 (พ.ศ. 1840) (ภาพที่ 3) (Zakaria Ali 1994: 218) และ (2) หินปักหลุมศพของสุลต่านนิรนาม ซึ่งระบุฮิจเราะฮ์ศักราช 726 ตรงกับ ค.ศ. 1326 (พ.ศ. 1869) (ภาพที่ 4) (Zakaria Ali 1994: 221) ทั้งนี้ ปีสวรรคตของสุลต่านมาลิกุซซาเละฮ์นั้น ไม่มีปัญหา เพราะระบุไว้ชัดเจนว่าตรงกับ ค.ศ. 1297 (พ.ศ. 1840) และปีสวรรคตของสุลต่านนิรนามนี้เป็นปัญหาว่า สุลต่านผู้นี้คือใคร?
ภาพที่ 3 หินปักหลุมศพของสุลต่านมาลิกุซ-ซาเละฮ์
ที่มา: Lambourn (2008: 259, cited from Moquette 1913)
ภาพที่ 4 หินปักหลุมศพของสุลต่านนิรนาม
ที่มา: Musafir Zaman (2019-05-30)
เพื่อความชัดเจนของเนื้อหา ผมจึงขอนำคำแปลของคุณสุนิติ จุฑามาศ นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของ ศมส. มานำเสนอดังนี้
“นี่คือหลุมศพอันสุขสบายของมรณสักขี ผู้ได้รับความเมตตา[จากพระเจ้า คือ]สุลต่าน[ผู้เป็น]บุตรของสุลต่านมะลิก อัซ-ซอฮิร2 [ผู้เป็น]ดวงตะวันแห่งโลกและศาสนา[แลผู้นั้นคือ]มุฮัมมัดบุตรของมะลิก อัศ-ศอลิห์3 เสียชีวิตในคืนวันอาทิตย์ที่ 12 ในเดือนซุลฮิจญะฮ์ ศักราชที่ยี่สิบหกและเจ็ดร้อย (= ฮ.ศ. 726) ของการอพยพของท่านนะบี[มุฮัมมัด]”
(แปลโดย: สุนิติ จุฑามาศ (2567: สนทนาส่วนตัว), ข้อความในวงเล็บเหลี่ยม […] เป็นการเสริมความโดยผู้แปล)
ข้อมูลนี้ทำให้เราทราบว่า “สุลต่านผู้สิ้นพระชนม์” ทรงเป็น “ลูก” ของมาลิกุซซาฮีร์ (มะลิก อัซ-ซอฮิร) และมะลิกุซซาฮีร์ผู้นี้ ทรงพระนาม “มุฮัมมัด” และเป็น “ลูก” ของมาลิกุซซาเละฮ์ ( มะลิกอัศ-ศอลิห์) ดังนั้น สุลต่านผู้สิ้นพระชนม์จึงทรงเป็น “หลาน” ของมาลิกุซซาเละฮ์ และทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1326 / พ.ศ. 1896 ตามปฏิทินสากล4
เมื่อนำข้อมูลของจารึกทั้งสองหลักมาประมวลร่วมกัน เราจึงลำดับวงศ์และเวลาได้ดังนี้
1. สุลต่านมาลิกุซซาเละฮ์ ค.ศ. 12?? – 1297 (พ.ศ. 1840)
2. สุลต่านมาลิกุซซาฮีร์ ?
3. สุลต่านนิรนาม ค.ศ. ? – 1326 (พ.ศ. 1869)
และนี่คือข้อมูลอันจำกัดเท่าที่มี ณ ปัจจุบัน และถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงจากจารึก
ดังนั้น ความท้าทายคือ เราจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากจารึกนี้ กับข้อมูลจากตำนานได้สอดคล้อยกันหรือไม่อย่างไร หากเราพิจารณายึดตามเรื่องราวของฮิกายัตแล้วจะพบเงื่อนไขดังนี้
เงื่อนไขที่ 1 คือ สุลต่านมาลิกุซซาเละฮ์มีพระโอรส ซึ่งข้อมูลจากสองแหล่งตรงกัน อย่างไรก็ตาม พระนามของพระโอรสนั้น ต่างกันเล็กน้อยคือ จารึกให้ชื่อ “มาลิกุซซาฮีร์” แต่ตำนานให้ชื่อ “มาลิกุตตาฮีร์” (อีกนัยการสะกดคือ มาลิกุฏฏาฮีร์ เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนรูปอักษร)
ทั้งนี้ คุณสุนิติ จุฑามาศ ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า อักษรอาหรับบางตัวมีการลงแต้มจุด ดังนั้น หากผู้เขียนอักษรลืมแต้มจุด หรือแต้มจุดนั้นลบเลือนหายไป เมื่ออ่านแล้วก็จะได้เสียงอ่านที่ต่างออกไป เช่นในกรณีนี้ “พระราชสมัญานาม” ทั้งสองเป็นไปตามข้อสังเกตดังกล่าว คือ
พระนามในจารึก: “มะลิก อัซ-ซอฮิร” (ملك الظاهر) ใช้อักษร “ظ” (ðˤ เทียบ ซ)
แต่
พระนามในตำนาน: “มะลิก อัฏ-ฏอฮิร” (ملك الطاهر) ใช้อักษร “ط” (tˤ เทียบ ฏ)
จุดนี้เราอาจตั้งสมุมติฐานเพื่อไปต่อได้ว่า ทั้งสองชื่อนี้ เป็นคนคนเดียวกัน และเมื่อมีพระนามเป็นสมัญานามดังนี้ ก็ชี้ชัดว่าทรงเป็นสุลต่านอีกด้วย สอดคล้องกับตำนานที่ว่า พระราชโอรสของสุลต่านมาลิกุซซาเละฮ์ผู้นี้ ได้ครองเมืองปาไซ และข้อมูลจากจารึกยังทำให้เราทราบด้วยว่า สุลต่านผู้นี้ทรงพระนามจริงคือ “มุฮัมมัด” ดังนั้น จึงอาจเอ่ยพระนามเต็มตามข้อมูลในจารึกได้ว่า “สุลต่านมุฮัมมัด มะลิก อัซ-ซอฮิร” หรือ ที่ตรงกับตำนานคือ “มาลิกุตตาฮีร์”
เงื่อนไขที่ 2 คือ ตำนานเล่าว่า สุลต่านผู้ครองเมืองปาไซนี้ ทรงสิ้นพระชนม์ก่อนพระราชบิดาคือ มาลิกกุซซาเละฮ์ จึงนำมาสู่สมมุติฐานว่า “มาลิกุตตาฮีร์” สิ้นพระชนม์ก่อน ค.ศ. 1297 (พ.ศ. 1840)
เงื่อนไขที่ 3 คือ ตำนานเล่าว่า สุลต่านมาลิกุตตาฮีร์ มีพระโอรสสองพระองค์คือ (1) มาลิกุลมะฮ์มูด และ (2) มาลิกุลมันซูร์ สอดคล้องกับจารึกที่ว่า สุลต่านมาลิกุซซาฮีร์ (หรือ มาลิกกุตตาฮีร์) เป็นพระราชบิดาของสุลต่านผู้สิ้นพระชนม์ อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ได้นำมาสู่ปัญหาที่ว่า สุลต่านนิรนามผู้สิ้นพระชนม์นี้ ควรเป็นผู้ใดระหว่าง มาลิกุลมะฮ์มูด กับ มาลิกุลมันซูร์?
เงื่อนไขที่ 4 เมื่อสุลต่านมาลิกุซซาเละฮ์สิ้นพระชนม์แล้ว ราชสมบัติจึงตกไปสู่พระราชนัดดา นั่นคือ สุลต่านมาลิกุลมะฮ์มูด (ผู้พี่) ได้ครองเมืองปาไซ และสุลต่านมาลิกุลมันซูร์ (ผู้น้อง) ได้ครองเมืองสมุทรา สอดคล้องกับจารึกที่ระบุว่าผู้สิ้นพระชนม์เป็น “สุลต่าน” แต่ไม่ระบุว่าคือผู้ใด แต่ก็ทำให้ทราบได้ว่า สุลต่านทั้งสองในตำนานนี้ ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระอัยกาใน ค.ศ. 1297 (พ.ศ. 1840) และหากพิจารณาว่า หนึ่งในสองพระองค์นี้คือ “สุลต่านนิรนาม” ไม่คนใดก็คนหนึ่งต้องสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1326 (พ.ศ. 1869) ซึ่งนำไปสู่การตีความว่า สุลต่านนิรนามผู้นี้ควรครองเมืองอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1297 – 1326 (พ.ศ. 1840 – 1869) รวมเวลา 30 ปี
เงื่อนไขที่ 5 จารึกระบุว่า สุลต่านนิรนามผู้สิ้นชีพนี้ สิ้นพระชนม์แบบ “มรณสักขี” อันมีความหมายโดยกว้างคือ ไม่ได้ตายตามอายุขัยแห่งตน ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึง ผู้สละชีพตนเองเพื่อการรบปกป้องศาสนาอิสลามมิให้ถูกทำลายล้าง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้บริสุทธิ์ไม่มีเหตุควรตาย แต่ต้องตายอย่างน่าเวทนาด้วยอุบัติเหตุหรือโรคระบาด การที่จารึกระบุเช่นนี้จึงเป็นประเด็นน่าสนใจเพราะตามตำนานนั้น สุลต่านมาลิกุลมันซูร์ ผิดใจกับพระเชษฐา จนต้องถูกเนรเทศไปอยู่อีกเมือง ต่อมาเมื่อพระเชษฐาทรงให้อภัย และอัญเชิญให้พระองค์เสด็จกลับ แต่ทว่าในขากลับนั้น มาลิกุลมันซูร์กลับต้องสิ้นพระชนม์ระหว่างการเดินทาง ขณะที่พระองค์กำลังเคารพสุสานของเสนาบดีที่ทรงเคารพรักยิ่ง นั่นก็เพราะวิญญาณเสนาบดีผู้นั้น ชวนให้พระองค์มาอยู่ด้วยกัน แม้เราจะไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงของการสิ้นพระชนม์เป็นเช่นใด แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ข้อเท็จจริงนั้น มีเพียง “การสิ้นพระชนม์ก่อนอายุขัยอันควร” ของมาลิกุลมันซูร์ ที่เป็นแบบมรณสักขี แต่ตำนานนั้นได้แต่งเติมให้มีเหตุแห่งมรณะนั้นต่างออกไป ที่สำคัญก็อาจตีความได้อีกมุมว่า หรืออันที่จริงแล้ว พระเชษฐาอาจทรงไม่ให้อภัยก็ได้ แต่เพราะพระอนุชาสิ้นพระชนม์แบบมรณสักขี พระองค์จึงทำสุสานให้ แต่ยังคงไว้ด้วยความขัดเคืองพระทัย จึงไม่ระบุพระนามไว้ให้บนหินปักหลุมศพ??? ประเด็นนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาปลายเปิดให้ได้ตีความกัน
จากเงื่อนไขเหล่านี้ อาจจัดทำลำดับวงศ์ของรัฐสมุทรา-ปาไซตามข้อมูลจากจารึกและตำนาน ซึ่งขอย้ำว่า เป็นการตีความตามข้อสมมุติฐานว่า “สุลต่านนิรนาม” คือ “มาลิกุลมันซูร์” ดังนี้
1. สุลต่านมาลิกุซซาเละฮ์ ค.ศ. 12?? – 1297 (พ.ศ. 1840)
2. สุลต่านมุฮัมมัด มาลิกุซซาฮีร์ ก่อน ค.ศ. 1297 (ก่อน พ.ศ. 1840)
3. สุลต่านมาลิกุลมะฮ์มูด ค.ศ. 1297 - หลัง 1326 (พ.ศ. 1840 -หลัง 1869)
4. สุลต่านมาลิกุลมันซูร์ ค.ศ. 1297 - 1326 (พ.ศ. 1840 – 1869)
ยุทธภูมินี้เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาใดในสายธารประวัติศาสตร์?
ถ้าตีความตามข้อมูลนี้ จะได้เงื่อนไขว่า เมื่อตำนานระบุว่าปาไซ-สยามยุทธ์เกิดขึ้นในรัชกาลสุลต่านมาลิกุลมะฮ์มูด ดังนั้น ปาไซ-สยามยุทธ์ควรเกิดขึ้นหลัง ค.ศ. 1297 (หลัง พ.ศ. 1840)
อนึ่ง ผมขอเสนอแนวคิดอีกประการว่า
“เมื่อรัฐใดผลัดแผ่นดิน รัฐเพื่อนบ้านที่แข็งแกร่งก็ย่อมมาลองเชิงราชาใหม่”
ดังนั้น หากตั้งสมมุติฐานว่า เมื่อมาลิกุลมะฮ์มูดขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1297 ข่าวนี้ย่อมไปถึงรัฐของชาวสยาม ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านโพ้นทะเลที่แข็งแกร่ง ชาวสยามจึงส่งทัพเรือมาเรียกบรรณาการจากปาไซ เพราะหากยึดครองได้ ก็ได้ประโยชน์ หากยึดครองไม่ได้ ก็เพียงแค่มาหยั่งกำลัง และช่วงเวลาการลองกำลังนี้ ก็มักเกิดขึ้นช่วงต้นรัชกาล เหตุนี้ผมจึงขอสันนิษฐานว่า ปาไซ-สยามยุทธ์ควรเกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาลของสุลต่านมาลิกุลมะฮ์มูด ซึ่งไม่ควรเกิน 5 ปี เราก็จะได้ “ข้อสมมุติฐาน” (hypothesis) ณ ตอนนี้ไว้ก่อนว่า ปาไซ-สยามยุทธ์ ควรเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1297 – 1301 (พ.ศ. 1840 - 1844) ที่ได้จากการอิงตามข้อมูลลำดับวงศ์ของ “ฮิกายัต ราจา-ราจา ปาไซ”
สยามกลุ่มไหนมาตีปาไซ?
เมื่อเราได้ช่วงเวลาที่เป็นไปได้ของการศึกแล้ว ประเด็นต่อไปคือการพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ของ “สยาม” ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกนี้บ้างหรือไม่? ในที่นี้ผมขออภิปรายว่า ชาวสยามในการรับรู้ของชาวมาเลย์นั้น “หมายรวมกลุ่มคนที่พูดภาษาไท” ดังนั้น “สยาม” ในที่นี้จึงอาจเป็นรัฐใดรัฐหนึ่งของกลุ่มคนไทที่มีอำนาจทางการเมืองโดดเด่นในช่วงต้นศตวรรษที่ 14 (หรือ กลางพุทธศตวรรษที่ 19) และต้องมีอาณาเขตปกครองเมืองท่าที่ออกทะเลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกสู่ทะเลอันดามัน เพื่อมุ่งตรงข้ามทะเลไปยังเมืองสมุทรา-ปาไซได้ตามข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์
ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เนื่องจากช่วงเวลา ค.ศ. 1297 – 1301 (พ.ศ. 1840 – 1844) นี้ เป็นช่วงการผลัดแผ่นดินของอาณาจักรสุโขทัย จากการสวรรคตของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชในราว ค.ศ. 1298-1299 (พ.ศ. 1841-1842) ตามร่องรอยที่ปรากฏเรื่อง “ขอม้าได้ผ้า” ของกษัตริย์เซียนย์ (สยาม ในโลกทัศน์จีน) ใน “หยวนสื่อร์” หรือ “ประวัติวงศ์หยวน” ดังนั้น ผมจึงขอตั้งข้อสมมุติฐานว่า แต่เดิมโลกทัศน์จีนรับรู้ว่าเขตแดนประเทศเซียนย์นั้น กว้างไกลถึงคาบสมุทรมลายูที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นไปตามคำจารึกของพ่อขุนรามแหงมหาราช และบริบททางประวัติศาสตร์อื่นที่แสดงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง “นครศรีธรรมราช” กับอาณาจักรสุโขทัย
จากข้อมูลในจารึกปู่ขุนจิดขุนจอดที่มีพระนามราชาองค์หนึ่งคือ “ปู่ไสส......คราม” คั่นอยู่ระหว่าง “ปู่พรญารามราช” กับ “ปู่พรญาเลอไท” เป็นเงื่อนงำที่ทำให้ผมตีความว่า “ปู่ไสส......คราม” ซึ่งอาจตรงกับ “ปู่ไสส[รีณรงค์สง]คราม” หรือ ไสศรีณรงค์สงคราม ผู้นี้ เป็นราชาแห่งนครศรีธรรมราช เพราะใน “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช” ปรากฏเรื่องราวว่า
“เมื่อศักราช 1196 ขวบนั้น ยังมีพญาองค์หนึ่งชื่อพญาศรีไสยณรงค์แต่ตะวันตกมาเสวยเมืองนครศรีธรรมราช . . .” (กรมศิลปากร 2505: 51)
ปี 1196 นี้ ควรเป็นมหาศักราช ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 1274 / พ.ศ. 1817 ซึ่งเก่าเกินไปเล็กน้อยหากจะเทียบกับช่วงรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่นาม “ศรีไสยณรงค์” ซึ่งอาจเป็นคำ “บวชบาลี” มาจาก “ศรีไสร่วง” หรือ พระร่วงผู้มีนามว่า “ไส” (คือบุตรชายคนที่ 4) ก็ทำให้ผมนึกเชื่อมโยงกับพระนาม “ปู่ไสส......คราม” หรือถ้ามิได้บวชบาลี ก็มีเงื่อนงำอีกว่านาม “รณรงค์-สงคราม” นี้มีปรากฏเป็นราชทินนามของขุนนางอยุธยาอีกด้วย คือ “ออกญารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิรียภาหะเมืองกำแพงเพช เมืองโท”
จากลำดับพระนามในจารึก แม้ว่า จะมีคำเรียกนำเพียง “ปู่” มิใช่ “ปู่พรญา” ก็ตาม แต่ ปู่ไสศรีณรงค์สงคราม ต้องมีอาวุโสมากกว่าพรญาเลอไทเป็นแน่ เพราะมีลำดับพระนามมาก่อน แม้จะมิใช่ผู้ครองกรุงสุโขทัย แต่ด้วยความสำคัญในราชวงศ์เช่นนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่ “ปู่ไสศรีณรงค์สงคราม” เป็นเชื้อพระวงศ์ที่ปกครองประเทศราชที่มีอาณาเขตใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบเข้าเป็นแว่นแคว้นของอาณาจักรสุโขทัยในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และประเทศราชดังกล่าวนั้น ผมก็คิดถึง “นครศรีธรรมราช” ทั้งนี้จะอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ผมเห็นความสัมพันธ์ลางๆ ระหว่าง “ศรีไส(ร)ณรงค์สงคราม” กับความเป็นเจ้าประเทศราชแห่งนครศรีธรรมราช!
ประเด็นต่อมาคือ ศรีไสณรงค์สงคราม ควรมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติแบบใดกับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพรญาลือไท? เรื่องนี้ตีความได้ 2 ทางคือ
(1) ไสศรีณรงค์สงครามผู้นี้ ทรงเป็น “พระอนุชาต่างมารดา” ของพ่อขุนรามคำแหง โดยนัยคือ เป็นอนุชาที่มารดานั้นเป็นเจ้าหญิงเมืองนครศรีธรรมราช หรือ
(2) ไสศรีณครงค์สงครามผู้นี้ ทรงเป็น “พระเชษฐาต่างมารดา” ของพรญาลือไท โดยนัยคือ ไสศรีณครงค์สงคราม เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนรามคำแหงกับเจ้าหญิงเมืองนครศรีธรรมราช
เรามิอาจทราบได้เลยว่าความสัมพันธ์จะเป็นไปในทางใด แต่ที่แน่ชัดคือ ไสศรีณรงค์สงคราม เป็นเชื้อพระวงค์ ที่ไม่ได้ครองกรุงสุโขทัย แต่มีบารมีและอาวุโสมากกว่าพรญาเลอไท ซึ่งทำให้ผมตั้งข้อสมมุติฐานว่า ท่านผู้นี้ควรเป็นผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราช หัวเมืองสำคัญในคาบสมุทรมลายูของอาณาจักรสุโขทัย และเป็นศูนย์กลางการขยายอิทธิพลทางการเมืองลงไปสู่ปลายแหลมและข้ามไปยังสุมาตรา
เหตุนี้เอง ทำให้ผมมองย้อนกลับไปที่เหตุการณ์การสวรรคตของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชในช่วงราว 1298-1299 (พ.ศ. 1841-1842) และตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เหตุการณ์นี้คือเงื่อนไขสำคัญของ “อาณาจักรแตกแยก” นั่นคือ หลัง ค.ศ. 1299 (พ.ศ. 1842) เป็นต้นมา หรือในรัชกาลพรญาเลอไทนั้น สุโขทัยไม่ใหญ่ดังเดิม กล่าวคือ อาณาจักรสุโขทัยแตกออกเป็นแว่นแคว้นไม่ขึ้นแก่กัน ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่าได้แตกแยกเป็น 3 แคว้นใหญ่ คือ “สุโขทัย” “สุพรรณภูมิ” และ “นครศรีธรรมราช” โดยเงื่อนงำใน “ความแตกแยกลดขนาด” นี้ ก็มีปรากฏอยู่ใน “หยวนสื่อร์” ตอน “ขอม้าได้ผ้า” ที่ราชาแห่งเซียนย์ทูลขอม้าตามแบบอย่างที่พระราชบิดาพระองค์เคยได้ (เป็นข้อมูลทางอ้อมที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อก่อนเซียนย์ (สยาม; ตามโลกทัศน์จีนคือ เผ่าคนไทพูดภาษาไท) นั้น มีดินแดนกว้างขว้าง จึงสมควรได้ม้า) แต่คราวนี้องค์จักรพรรดิแห่งราชสำนักหยวนเห็นว่า เซียนย์เป็นประเทศเล็กๆ ถ้าพระราชทานม้าให้ประเทศเล็กเช่นนี้ ก็เกรงว่าประเทศใกล้เคียงเซียนย์จะนินทาราชสำนักได้ (เป็นข้อมูลทางอ้อมว่า เซียนย์มีขนาดลดลง) จึงพระราชทานผ้าให้แทน ด้วยข้อมูลนี้ ผมจึงตีความว่า ความแตกแยกในหมู่ประเทศของชาวเซียนย์นั้น มีอยู่จริง!
ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้ผมตั้งข้อสมมุติฐานว่า “ปาไซ-สยามยุทธ์” ควรเกิดขึ้นหลัง ค.ศ. 1299 (หลัง พ.ศ. 1842)โดยอิงตามปีสวรรคตของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทั้งนี้เหตุการณ์สวรรคตดังกล่าวได้ทำให้ พรญาไสศรีณรงค์สงคราม ซึ่งปกครองนครศรีธรรมราชอยู่นั้น แยกตัวออกจากการปกครองของพรญาเลอไทแห่งกรุงสุโขทัย การแยกตัวนี้ทำให้อาณาจักรสุโขทัยศูนย์เสียพื้นที่ประเทศราชในคาบสมุทรมลายู อีกทั้งการแยกตัวได้ง่ายเช่นนี้ ก็อาจแสดงให้เห็นว่า พรญาไสศรีณรงค์สงคราม ทรงเป็นผู้มีบารมีเหนือพรญาเลอไท ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอตีความโดยอยู่บนสมมุติฐานนี้ว่า “สยาม” หรือชาวเผ่าไทที่ยกทัพไปรบกับปาไซนั้นคือ “สยาม-นครศรีธรรมราช” ภายใต้การนำของพรญาไสศรีณรงค์สงคราม ที่ต้องการขยาย “พระราชอำนาจใหม่” ลงไปทางปลายแหลมมลายู และด้วยพระราชอำนาจที่ได้มาใหม่นี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า พรญาไสศรีณรงค์สงครามทรงสถาปนาพระนามของพระองค์ใหม่เป็น “พรญาศรีธรรมาโศกราช” ที่มีบทบาททางการเมืองการปกครองของอาณาจักรนครศรีธรรมราช ในช่วงต้นศตวรรษที่ 14 หรือ กลางพุทธศตวรรษที่ 19 โดยปรากฏเงื่อนงำของการสถาปนาอำนาจและเริ่มขยายออกไป ตามที่ปรากฏเป็นข้อมูลเรื่องเมืองสิบสองนักษัตร
ภาพที่ 5 แผนที่แสดงตำแหน่ง “กลุ่มสยาม” ที่อยู่ในบริบทความเป็นไปได้ในปาไซ-สยามยุทธ์
หากเกิดศึกในช่วง ค.ศ. 1299-1310 (พ.ศ. 1842-1853)
ที่มา: Power Point ประกอบการเสวนาของ ตรงใจ สุนิติ และณัฐพล (2566-08-31)
สรุปประเด็น
ด้วยสมมุติฐานที่ว่า ปาไซ-สยามยุทธ์เกิดขึ้นจริงในรัชสมัยของสุลต่านมาลิกุลมะฮ์มูด แห่งรัฐสุลต่านสมุทรา-ปาไซ เราทราบปีขึ้นครองราชย์โดยอ้อมจากหินปักหลุมศพของสุลต่านมาลิกุซซาเละฮ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1297 (พ.ศ. 1840) ดังนั้น ปาไซ-สยามยุทธ์ ต้องเกิดขึ้นหลังปีดังกล่าว ประเด็นถัดมา ผมตีความว่า เหตุการณ์สวรรคตของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชในช่วง ค.ศ. 1298-1299 (พ.ศ. 1841-1842) เป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกขึ้นในอาณาจักรสุโขทัย และทำให้สุโขทัยสูญเสียประเทศราชที่ปกครองคาบสมุทรคือ “นครศรีธรรมราช” ที่ตั้งต้นเป็นอิสระ ด้วยผู้ปกครองมีพื้นฐานทางการเมืองและบารมีในราชวงศ์มากกว่าพรญาเลอไท ผู้เป็นราชาพระองค์ใหม่ของกรุงสุโขทัย ดังนั้น ข้อพิจารณาถัดมาคือ ปาไซ-สยามยุทธ์ ควรเกิดขึ้นหลัง ค.ศ. 1299 (หลัง พ.ศ. 1842)
ผู้แยกตัวนี้ เป็นเชื้อพระวงศ์ที่ปรากฏพระนามในจารึกปู่ขุนจิดขุนจอดว่า “ปู่ไสส......คราม” ซึ่งผมสันนิษฐานว่าอาจตรงกับ “ไสศรีณรงค์สงคราม” ซึ่งต่อมาเมื่อทรงได้รับอำนาจปกครองใหม่แล้ว ได้สถาปนาอาณาจักรนครศรีธรรมราช และฉลองพระนาม “พรญาศรีธรรมาโศกราช” อีกทั้งขยายพระราชอำนาจใหม่ไปทั่วทั้งคาบสมุทรมลายูดังปรากฏเมืองประเทศราชที่เรียกว่า “เมืองสิบสองนักษัตร” ผมขอประมาณว่า เหตุการณ์การขยายอำนาจใหม่ อันทำให้เกิด “ปาไซ-สยามยุทธ์” นี้ควรเกิดขึ้นในช่วง 1 ทศวรรษแรกคือราว ค.ศ. 1299-1310 (พ.ศ. 1842-1853) เป็นอย่างน้อย และควรเป็น “ไสศรีณรงค์สงคราม” หรือ “พรญาศรีธรรมาโศกราช” ผู้นี้เอง ที่ขยายพระราชอำนาจมาลองกำลังกับรัฐสุลต่านสมุทรา-ปาไซ โดยโลกทัศน์มลายูยังคงมองว่า “อำนาจใหม่” นี้ เป็นชาวสยาม เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาไทสืบเนื่องกันมาแต่เดิม เมื่อครั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งก็เป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาไทเช่นเดียวกัน
การตีความนี้ จึงตั้งอยู่บนด้วยสมมุติฐานที่ว่า “สยาม” ในความรับรู้ตามโลกทัศน์ของชาวมาเลย์นั้น คือกลุ่มคนที่พูดภาษาไท ดังนั้น รัฐสยามที่มาตีปาไซนี้ จึงเป็นรัฐใดรัฐหนึ่งของกลุ่มคนไทก็ได้ แต่กระนั้น ผมได้เสนอว่า สยามดังกล่าวควรเป็น “สยาม-นครศรีธรรมราช” ภายใต้การปกครองของพรญาศรีธรรมาโศกราช และเมืองท่าปล่อยเรือนั้น เป็นไปได้ 3 เมืองคือ ภูเก็ต (ตะกั่วถลาง) ตรัง หรือ ไทรบุรี (เกดะฮ์)
ผมขอทิ้งท้ายว่า ที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานแบบหนึ่งเท่านั้น โดยผ่านการวิเคราะห์ที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานหลายข้อ ดังนั้น การสรุปผลจึงมีพื้นฐานข้อตกลงอันเป็นไปตามข้อสมมุติฐาน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพียงแต่เป็นข้อสันนิษฐานที่มีความเป็นไปได้ตามบริบททางประวัติศาสตร์เท่านั้น
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร, 2505. รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช. พระนคร: กรมศิลปากร, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทราเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิริทราวาส 27 กุมภาพันธ์ 2505.
ตรงใจ หุตางกูร, สุนิติ จุฑามาศ, ณัฐพล จันทร์งาม, 2566-08-31. เสวนาวิชาการ: เปิดตำนานราชวงศ์ปาไซ: พินิจเอกสารโบราณสมุทรรัฐมุสลิมแรกแห่งเอเชียอาคเนย์. เวลา 13.30-15.00 ณ ห้อง 601 ชั้น 6 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). [ https://channel.sac.or.th/th/vdo/detail/QXQzZDhFWklaV1V6bHBLZTExdVozZz09 ]
สุนิติ จุฑามาศ, 2567. สนทนาส่วนตัว: “คำแปลหินปักหลุมศพของสุลต่านนิรนามแห่งเมืองสมุทรา-ปาไซ สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1326”. เมื่อเดือนเมษายน 2567.
สุนิติ จุฑามาศ และ ตรงใจ หุตางกูร (บรรณาธิการ), 2567. ตำนานเหล่าราชันย์แห่งปาไซ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). [อยู่ในระหว่างการจัดพิมพ์]
Brown C.C., 1952. “The Malay Annals.” Malaysian Branch of the Royal Asiatic Society 25 (2/3): 5-276.
Cowan H.K.J., 1973. “La légende de Samudra.” Archipel 5: 253-286.
Lambourn E., 2008. “Tombstones, Texts, and Typologies: Seeing Sources for the Early History of Islam in Southeast Asia.” Journal of the Economic and Social History of the Orient 51: 252-286.
[https://www.researchgate.net/publication/233699953_Tombstones_Texts_and_Typologies_Seeing_Sources_for_the_Early_History_of_Islam_in_Southeast_Asia]
Mirsa R., Muhammad M., Saputra E., Farhana I., 2021. "Space Pattern of Samudera Pasai Sultanate." International Journal of Engineering, Science & Information Technology (IJESTY) 1 (2): 94-103.
Moquette J.P., 1913. De eerste vorsten van Samoedra-Pase (Nord-Sumatra). Rapporten van den Oudheidkundigen Dienst in Nederlandsch-Indië: 1-12.
Sealang, 2011. Historical Dictionaries: Malay. Retrieved: 2024-01-24.
[ http://sealang.net/malay/dictionary.htm ]
Thomas P.L., 1978. “Thai Involvement in Pasai.” JSS 66 (1): 89-101.
Yule H., 1916. Cathay and the Way Thither, Vol. IV. London: The Hakluyt Society.
Zakaria Ali, 1994. Islamic Art in Southeast Asia: 830 A.D. – 1570 A.D. Kuala Lumpur: Dewan Bhahasa dan Puskata, Ministry of Education Malaysia.
1 ชื่อสุลต่านในบทความนี้ สะกดตามการอ่านของภาษามลายูอินโดนีเซีย หากสะกดตามการอ่านของภาษาอาหรับจะได้ดังนี้
มลายู: มาลิกุซซาเละฮ์ = อาหรับ: มะลิก อัศ-ศอลิห์ (Malik aṣ-Ṣāliḥ) หรือ มะลิกุศ-ศอลิห์
มลายู: มาลิกุตตอฮีร์ = อาหรับ: มะลิก อัฏ-ฏอฮิร (Malik aṭ-Ṭāhir) หรือ มะลิกุฏ-ฏอฮิร
มลายู: มาลิกุลมะฮ์มูด = อาหรับ: มะลิก อัล-มะห์มูด (Malik al-Maḥmūd) หรือ มะลิกุล-มะห์มูด
มลายู: มาลิกุลมันซูร์ = อาหรับ: มะลิก อัล-มันซูร (Malik al-Mansūr) หรือ มะลิกุล-มันซูร
มลายู: อะฮ์มัด เปอรูมูดัล เปอรูมาล = อาหรับ: อะห์มัด ฟัรมุดัล-ฟัรมัล (Aḥmad Farmudal Farmal)
2 สำเนียงมลายู: มาลิกุซซาฮีร์; แปลว่า “กษัตริย์ผู้ทรงประจักษ์”.
3 สำเนียงมลายู: มาลิกุซซาเละฮ์; แปลว่า “กษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรม” หรือ “ธรรมราชา”.
4 ปฏิทินเกรกอเรียน (The Gregorian calendar); วันเดือนปีนี้ ได้มาจากการคำนวณย้อนกลับไปก่อนวันที่เริ่มใช้ครั้งแรกใน ค.ศ. 1582 ทำให้ได้ปฏิทินเกรกอเรียนแบบสืบย้อน (proleptic Gregorian Calendar).
ผู้เขียน
ดร.ตรงใจ หุตางกูร
นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ฝ่ายคลังข้อมูลวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ปาไซ สยามยุทธ์ สยาม แขก สุมาตรา ดร.ตรงใจ หุตางกูร