หมายเหตุการค้นพบโบราณคดีสโมสร
วันที่ 2 ธันวาคม ร.ศ.126 (พ.ศ.2450) ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ พระราชวังเก่า มณฑลกรุงเก่าหรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน ในขณะที่อยู่ระหว่างการจัดงานบำเพ็ญพระราชกุศลรัชมงคลเนื่องในการ “เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินับเรียงปี... บรรจบ ๔๐ พรรษา เสมอด้วยรัชพรรษาแห่งสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ ๒ ซึ่งได้เสวยราชสมบัติในกรุงศรี อยุทธยา ยืนยาวกว่าพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ ที่ได้เสวยราชสมบัติในกรุงศรีอยุทธยา” (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 24, ร.ศ.126, น. 921)” นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรง “ให้มีการประชุม [เพื่อ] ตั้ง “โบราณคดีสโมสร สำหรับสืบสวนเรียบเรียงเรื่องราว ของกรุงสยาม แต่โบราณกาลมา” ขึ้น (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 24, ร.ศ.126, น. 926)
จากเอกสารกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ณ ในที่ประชุมนั้น ทำให้ทราบว่า พระองค์มีจุดประสงค์ที่ต้องการ “ตรวจตราสอบสวนโบราณคดีในประเทศของเรา” เพื่อยังให้เกิดความถูกต้องและคลี่คลายความคลุมเครือทั้งหลายในอดีต ด้วยการรู้เรื่องราวของชาติและประเทศที่ถูกต้องนี้เป็นสิ่งสำคัญในการ “พึงศึกษาแลพึงสั่งสอนกัน ให้รู้ชัดเจนแม่นยำ” เพื่อนำมาใช้สั่งสอนและ “แนะนำความคิดแลความประพฤติ ซึ่งจะพึงเห็นได้เลือกได้ในการที่ผิดแลชอบชั่วแลดีเป็นเครื่องชักคำให้เกิดความรักชาติ แลรักแผ่นดินของตัว” (จุลจอมเกล้าฯ, 2561, น. 17)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ยังทรงสร้างความเข้าใจกันเสียใหม่ถึงการรับรู้ “เรื่องราวของประเทศสยาม” ที่มาผ่านนั้น หาใช่การรับรู้จาก “พระราชพงศาวดาร” เพราะว่า “ความจงใจมุ่งหมายทิ่จะเรียงพระราชพงศาวดารนั้น เขาหมายจะเรียงเรื่องราวของเจ้าแผ่นดิน ซึ่งสืบสันตติวงศ์ลงมาจนถึงเวลาทิ่เขียนนั้น เรื่องราวกิจการบ้านเมืองอันใดทิ่กล่าวในพงศาวดาร เขาประสงค์จะกล่าวประกอบประวัติเป็นไปของพระเจ้าแผ่นดิน” (จุลจอมเกล้าฯ, 2561, น. 18) ด้วยเหตุนี้ จึงทรงเชิญชวนให้บุคคลทั้งหลายที่อยู่ในที่ประชุมดังกล่าวร่วมกัน
ค้นหาเรื่องราวข้อความของประเทศสยาม ไม่ว่าเมืองใดชาติใดวงศ์ใดสมัยใด รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเปนเรื่องราวของประเทศสยาม จับเดิมตั้งแต่ ๑๐๐๐ ปีลงมา เรื่องราวเหล่านี้คงจะต้องจับตั้งแต่เมืองหลวง ไนยหนึ่งเรียกว่าหาง ห้าง ฤาช้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของชาติไทยแต่ต้นเดิม ลงมาจนถึงเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ สวรรคโลก โศกโขทัย อยุทธยาเก่า อยุทยาใหม่ แลเมืองลโว้ ลพบุรี นครไชยศรี นครศรีธรรมราช ฤาเมืองซึ่งเปนเจ้าครองเมือง เช่น กำแพงพชร ไชยนาท พิศณุโลกย์ เมืองสรรค์ สุพรรณ กาญจนบุรี เพ็ชรบุรี เหล่านี้เปนต้น (จุลจอมเกล้าฯ, 2561, น. 21)
ก่อนจะจบกระแสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงตรัสสำทับอีกคำรบว่าทรง “หวังว่าพวกเราจะช่วยกันสอบหารวบรวมเรื่องราวหลักถาน แลช่วยกันดำริห์วินิจฉัยข้อความ ซึ่งยังไม่ชัดเจนให้แจ่มแจ้งขึ้น... ไม่จำเปนจะต้องยืนยันว่าเปนการถูกต้องดังนั้นฤาไม่ เมื่อมีความเหนอย่างไรเขียนลงไว้ส่งให้แก่เลขานุการของสโมสร เก็บรวบรวมข้อความทั้งปวงไว้ในที่แห่งเดียว... [เพื่อ]ที่จะได้เรื่องราวของประเทศสยามมั่นคงชัดเจนดีขึ้น” ต่อไป (จุลจอมเกล้าฯ, 2561, น. 22) ในการนี้ พระองค์ทรงรับเป็นสภานายกของสโมสร และทรงแต่งตั้งให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร และพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) ดำรงตำแหน่งอุปนายกและเลขานุการสโมสร ตามลำดับ รวมถึงทรงเลือกสรรพระราชวงศ์และข้าราชการเข้าเป็นสมาชิกสโมสร อีกทั้งทรงพระราชทานพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว สำหรับเป็นเครื่องหมายประจำสโมสรอีกด้วย (ดำรงราชานุภาพ, 2459, น. 133)
สำหรับนักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยแล้ว การตั้งโบราณคดีสโมสรโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ใน พ.ศ.2450 ข้างต้นถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญต่อการก่อรูปจารีตประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ในสังคมไทย เช่น วินัย พงศ์ศรีเพียรเสนอว่า เหตุการณ์นี้คือจุดสิ้นสุดของการเขียนประวัติศาสตร์แบบเก่า (พระราชพงศาวดาร เป็นอาทิ) และจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่แห่งการเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย (Winai Pongsripian, 1983, p. 436) ส่วนกัณฐิกา ศรีอุดม (2550) และเปรมา สัตยาวุฒิพงศ์ (2555) เห็นสอดคล้องกันว่า เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงความพยายามแสดงความอารยประเทศแบบตะวันตกของสยามให้ชาวตะวันตกรับรู้ ด้วยการศึกษาเรื่องราวในอดีตของประเทศด้วยวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบตะวันตก
แต่หากพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วจะพบว่า เอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่นักวิชาการประวัติศาสตร์นำมาใช้ในการสนับสนุนการอธิบายความสำคัญของโบราณคดีสโมสรต่อการก่อรูปจารีตประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ในสังคมไทย คือ กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เรื่อง ตั้งโบราณคดีสโมสร พ.ศ.2450 นั้นเป็นเอกสารที่เพิ่งถูกค้นพบ เมื่อ พ.ศ.2479 ภายหลังการตั้งโบราณคดีสโมสรเกือบ 30 ปี กล่าวคือ ภายหลังจากการแก่อนิจกรรมของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการของโบราณคดีสโมสร เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2479 นายพืช เดชคุปต์ผู้เป็นบุตรชายของผู้วายชนม์ได้ค้นพบ “เอกสารการตั้งโบราณคดีสโมสร” ซึ่งบิดาได้ “เก็บรักษาลั่นกุญแจไว้” และได้แจ้งต่อพระยาอนุมานราชธน ซึ่งท่านก็ได้ขอเอกสารมาเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ (ดำรงราชานุภาพ, 2533, น. 33) และหลังจากนั้นไม่นาน เอกสารดังกล่าวก็ได้รับการพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนครั้งแรกลงในหนังสือพิมพ์ ศิลปากร ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 พ.ศ.2480 ภายใต้ชื่อ “สำเนาพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เรื่อง ทรงตั้งโบราณคดีสโมสร พ.ศ.๒๔๕๐” ก่อนที่จะได้รับการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง เช่น ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 12 เล่ม 2 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2511 หรือใน วารสารสมาคมประวัติศาสตร์ฯ ฉบับที่ 30 พุทธศักราช 2551 และล่าสุดในหนังสือ ๑๑๑ ปี โบราณคดีสโมสร โดยสมาคมนักโบราณคดี (2561) ภายใต้ชื่อเดียวกันว่า “สมาคมสืบสวนของบุราณในประเทศสยาม พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
จากข้อมูลดังกล่าวมา การค้นพบกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เรื่อง ตั้งโบราณคดีสโมสร พ.ศ.2450 ใน พ.ศ.2479 ถือเป็นการช่วยเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับจุดประสงค์ในการตั้งโบราณคดีสโมสร แนวทางการดำเนินของสโมสร และการให้ความสำคัญการค้นคว้า “เรื่องราวของประเทศสยาม” ได้เป็นอย่างดี ด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับโบราณคดีก่อนหน้าก่อนค้นพบเอกสารกระแสพระราชดำรัสฯ เช่น ข้อความใน “พระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสร” พ.ศ.2457 หรือข้อความในหนังสือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (2457), คำให้การชาวกรุงเก่า (2457), หรือ ตำนานหอพระสมุด (2459) ล้วนแต่เป็นการอ้างถึงการมีอยู่ของโบราณคดีสโมสรเพียงผิวเผินเท่านั้น
เอกสารอ้างอิง
กัณฐิกา ศรีอุดม. (2550). 100 ปี “โบราณคดีสโมสร”. ศิลปวัฒนธรรม 29(2), น. 44-48.
ข่าวเสด็จพระราชดำเนิรไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลรัชมงคลที่กรุงเก่า. (8 ธันวาคม ร.ศ.126). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24, น. 921-927. คำให้การชาวกรุงเก่า. (2457). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2480). สำเนาพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เรื่อง ทรงตั้งโบราณคดีสโมสร พ.ศ.2450. ศิลปากร 1(1), 103-109.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2511). สมาคมสืบสวนของบุราณในประเทศสยาม. ศิลปากร 12(2), 42-46.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2551). สมาคมสืบสวนของบุราณในประเทศสยาม พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สำรวจลำน้ำเก่า. วารสารสมาคมประวัติศาสตร์ฯ 30, 1-40.
ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2459). ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แลหอสมุดสำหรับพระนคร. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2533). ให้พระยาอนุมาน. กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการจัดพิมพ์เอกสารเนื่องในวาระครบ 100 ปี พระยาอนุมานราชธน.
เปรมา สัตยาวุฒิพงศ์. (2555). โบราณคดีสโมสรกับการศึกษาประวัติศาสตร์. ใน ปกิณกคดีประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 3 (น. 53-69). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
พระราชกฤษฏีกาตั้งวรรณคดีสโมสร. (2 สิงหาคม พ.ศ.2457). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 31, น. 309-314.
พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑. 2457. ม.ป.ท.: โรงพิมพ์ไทย.
ศุภวัฒน์ เกษมศรี, หม่อมราชวงศ์. (2551). บทบาทของโบราณคดีสโมสรในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย. วารสารประวัติศาสตร์ฯ, 30, 41-48.
สมาคมโบราณคดี. (2561). 111 ปี โบราณคดีสโมสร. กรุงเทพฯ: สมาคมนักโบราณคดี.
Winai Pongsripian. (1983). Traditional Thai Historiography and its Nineteenth Century Decline. Doctoral dissertation, Ph.D., University of Bristol, Bristol.
ผู้เขียน
กฤชกร กอกเผือก
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ โบราณคดีสโมสร การค้นพบ กฤชกร กอกเผือก