สองจีนสมัยหมิง: หนึ่งกิน “ทุเรียนขาว” หนึ่งกิน “จำปาดะ”
เป็นที่ยอมรับกันว่า ข้อมูลในเอกสารโบราณของจีนคือแหล่งข้อมูลทั้งทางด้านประวัติศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เทคโนโลยี และธรรมชาติวิทยา และยังมีข้อมูลอีกมากมายที่รอให้ผู้รู้ภาษาจีนแปลเป็นภาษาไทยไว้ได้ศึกษากัน อย่างไรก็ตาม มีการแปลข้อมูลเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษกันบ้างแล้ว ดังขณะที่ผมกำลังค้นข้อมูลเกี่ยวกับรัฐสุลต่านสมุทรา-ปาไซ ที่ถูกอ้างถึงในเอกสารโบราณของจีนอยู่นั้น ผมได้พบคำแปลภาษาอังกฤษของบทประมวลความรู้ทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ในหมู่เกาะและชายฝั่งทะเลของเอเชียอาคเนย์ ซึ่งจัดทำโดย วิลเลียม วูดวิลล์ ร็อกฮิลล์ (William Woodville Rockhill) เป็นบทความขนาดยาว 4 ตอนชื่อ “บันทึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์และการค้าของจีนกับหมู่เกาะตะวันออกและชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 14” น่าสนใจว่า เนื้อหาของตอนที่ 2 (Rockhill 1915) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ผลไม้แปลก” ซึ่งเป็นผลไม้เด่นของรัฐสุลต่านสมุทรา-ปาไซ ปรากฏอยู่ในเอกสารจีน 3 เรื่องของหนึ่งจีนหยวน คือ “วาง ต้ายวน” และสองจีนหมิง คือ “เฝ้ย สิ้นย์” และ “หม่า ฮวน” โดยสองจีนหมิงนี้ คือผู้เคยร่วมล่องเรือท่องประจิมสมุทรกับมหาขันทีเจิ้งร์ เหอ ดังนั้น วันนี้ผมจึงขอนำเสนอเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากเอกสารจีนสมัยราชวงศ์หยวน 1 เรื่อง และเอกสารจีนสมัยราชวงศ์หมิง 2 เรื่อง ที่ว่าด้วยผลไม้แปลกที่อาจเป็น ขนุน? จำปาดะ? หรือ ทุเรียน?
1. คำบอกเล่าของ “วาง ต้ายวน” สมัยราชวงศ์หยวน
เอกสารเรื่องแรกที่อ้างถึงผลไม้แปลกนั้นชื่อว่า “ต่าวอี๋ จื้อร์หล้วย” (島夷誌略 / Dǎoyí Zhìlüè) หรืออาจแปลเป็นชื่อไทยได้ว่า “สังเขปหมายเหตุพวกอี๋เกาะ” โดยคำว่า “อี๋” (夷 / yí) นั้น หมายถึง อนารยชนตามโลกทัศน์ของจีนที่อาศัยอยู่ทางตะวันออก ซึ่งในที่นี้หมายรวมทะเลตะวันออกของจีนตอนใต้ ต่อลงมายังทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย “ต่าวอี๋ จื้อร์หล้วย” เรียบเรียงขึ้นโดย วาง ต้ายวน (汪大淵 / Wāng Dàyuān) และเผยแพร่ใน ค.ศ. 1349 (พ.ศ. 1892) ผมขอนำเนื้อหาแปลเป็นภาษาอังกฤษของร็อกฮิลล์ และบทแปลภาษาไทยของผม ที่แปลจากบทภาษาอังกฤษดังกล่าว เกี่ยวกับผลไม้แปลกที่เขาพบเจอในรัฐสุลต่านสมุทรา-ปาไซ ดังนี้
They cultivate the ch’ieh tree (茄樹) which grows over ten feet high. After three or four years it does no produce many ch’ieh (茄). They pick off the fruit by means of ladders. (These fruit) are like water-melons, large ones weigh over ten catties.(Rockhill 1915: 151-152)
บทแปลภาษาไทยจากบทแปลภาษาอังกฤษ:
พวกเขาปลูก “ต้นเฉย์” (茄樹; qiéshù) ซึ่งสูงกว่า 10 ฟุต. หลังจาก[โตได้] 3 หรือ 4 ปี มันก็จะออกผลเฉย์ (茄; qié) ไม่มากนัก. พวกเขาเก็บเกี่ยวผลด้วยการปีนบันได. (ผลไม้นี้)เหมือนแตงโม, ลูกใหญ่ๆ นั้น หนักมากกว่า 10 ชั่ง.
(แปลโดยผู้เขียน: ตรงใจ หุตางกูร 2567)
อธิบาย: อักษรจีน 茄 อ่านตามสำเนียงจีนกลางว่า “เฉย์” (qié อ่าน ชิ-เหย้ ต่อกันอย่างรวดเร็ว) และสำเนียงกวางตุ้งว่า “เข่” (ke4) แปลว่า (มะ)เขือ ซึ่งมีความเป็นได้สูงว่า “เข่” กับ “เขือ” มีรากคำร่วมกัน โดยอยู่ในกลุ่มศัพท์คำร่วมไท-จีน แต่กระนั้น คำพรรณนาเกี่ยวกับต้นเฉย์นี้ บ่งชี้ว่า ไม่ใช่ต้นมะเขืออย่างแน่นอน ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า อักษรจีนตัวนี้ มีหน้าที่ “แทนเสียง” เท่านั้น ซึ่งในภาษาจีนมีการใช้อักษร 茄 สำหรับถ่ายเสียง *กา ได้เช่นกัน โดยสำเนียงจีนกลางออกเสียงเป็น “เจีย” (jiā) และสำเนียงกวางตุ้งออกเสียงเป็น “ก๊า” (gaa1) (ดู wiktionary.org 2023-10-11: 茄) ดังนั้น คำแปลอีกแบบคือ “พวกเขาปลูก “ต้นเจีย” ซึ่งสูงกว่า 10 ฟุต . . .”
จากลักษณะการรายงานข้อมูลในบทแปลดังกล่าวดูเหมือนว่า วาง ต้ายวน เพียงได้ยินได้ฟังมาแล้วจึงบันทึก หรืออาจพบเห็นผลตามตลาดแล้วถามถึงเท่านั้น จึงไม่ได้ดมกลิ่นซึ่งถือเป็นจุดเด่นของผลไม้นี้ หรือแม้แต่ลองชิมผลไม้แปลกนี้ ก็ไม่เคย นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวก็กำกวมว่า หมายถึงผลไม้ชนิดใด ที่ต้นนั้นสูงกว่า 10 ฟุต เมื่อออกผลจึงต้องใช้บันไดปีนเก็บ อย่างไรก็ตาม หากจะต้องเดา ผมขอเดาว่า อาจเป็น “ขนุน” หรือ “จำปาดะ”1 มากกว่าจะเป็น “ทุเรียน” เพราะถ้าเป็นทุเรียนก็ควรบรรยายเกี่ยวกับหนาม ซึ่งเป็นลักษณะเด่น อนึ่ง ความชัดเจนจะเพิ่มขึ้นว่าผลไม้แปลกนี้คือผลอะไร จากคำบอกเล่าถัดไปในเอกสารสมัยราชวงศ์หมิง
2. คำบอกเล่าของ “เฝ้ย สิ้นย์” สมัยราชวงศ์หมิง
เฝ้ย สิ้นย์ (費信 / Fèi Xìn) เป็นหนึ่งในผู้ร่วมคณะ “ล่องประจิมสมุทรของเจิ้งร์ เหอ” (鄭和下西洋 / Zhèng Hé xià xīyáng) จำนวน 4 ใน 7 ครั้ง คือ ค.ศ. 1409 (พ.ศ. 1952), ค.ศ. 1412 (พ.ศ. 1955), ค.ศ. 1415 (พ.ศ. 1958) และ ค.ศ. 1430 (1973) เมื่อสิ้นสุดการเดินทาง เขาเรียบเรียงสิ่งที่ได้พบเห็นจากการเดินทางนี้ ขึ้นเป็นหนังสือชื่อว่า “ซิงย์ฉาร์ เสิ้งร์หล่าน” (星槎勝覽 / Xīngchá Shènglǎn) ซึ่งอาจแปลเป็นชื่อไทยได้ว่า “เลิศปริทัศน์แพดวงดาว” เผยแพร่ใน ค.ศ. 1436 (พ.ศ. 1979) (Rockhill 1915: 61) เนื้อหาที่ เฝ้ย สิ้นย์ อ้างถึงผลไม้แปลกที่สุมาตรานั้น ชัดเจนว่าหมายถึง “จำปาดะ” ตามเนื้อความดังนี้
The best (of their melon-shaped fruits) has a skin like a lichee and is of the size of a melon. Before (the fruit) is opened it is very bad-smelling like rotten garlic, but when opened there is a kind of pocket with (a pulp in it) like butter, sweet and palatable. (Rockhill 1915: 155)
บทแปลภาษาไทยจากบทแปลภาษาอังกฤษมีดังนี้
[ผลไม้ทรงแตงของพวกเขา]ที่ดีที่สุดนั้น มีผิวเปลือกเหมือนลิ้นจี่ แลมีขนาดเท่าผลแตง[โม]. เมื่อยังไม่ผ่า กลิ่นเหม็นเหมือนกระเทียมเน่ามาก, แต่เมื่อผ่าเปิดแล้ว [ภายใน]มีเบ้า ซึ่งมี[เนื้อนุ่ม]เหมือนเนย[อยู่ในนั้น], รสหวานถูกปาก. (แปลโดยผู้เขียน: ตรงใจ หุตางกูร 2567; ข้อความในวงเล็บเหลี่ยม […] เสริมความโดยผู้แปล)
ภาพที่ 1 จำปาดะ (อินโดนีเซีย: เจิมเปอดัก; Cempedak); ที่มา: Kwiecień (2013-05-26).
อธิบาย: ข้อมูลนี้เป็นหลักฐานว่า เฝ้ย สิ้นย์ เคยลิ้มรสจำปาดะด้วยตนเอง อีกทั้งเขายังยกย่องให้จำปาดะเป็นสุดยอดผลไม้ของรัฐสมุทรา-ปาไซ ซึ่งก็น่าแปลกใจว่า ทำไมเขาไม่พบทุเรียน? อาจเป็นไปได้ว่า ช่วงเวลาที่เฝ้ย สิ้นย์ ไปนั้น อาจจะยังไม่ถึงหน้าทุเรียน หรือมิฉะนั้นก็คงเลยหน้าทุเรียนไปแล้ว ข้อยืนยันว่าสิ่งที่เฝ้ย สิ้นย์ ได้กินนั้นคือจำปาดะ ได้แก่ (1) ผิวเปลือกเหมือนลิ้นจี่2 นั่นคือ จำปาดะมีเปลือกขรุขระเล็กน้อยและบาง สอดคล้องกับลักษณะพื้นผิวของเปลือกลิ้นจี่ ซึ่งต่างจากขนุนที่แม้จะมีเปลือกขรุขระแต่ก็หนากว่าเปลือกจำปาดะอย่างชัดเจน ในขณะที่เปลือกทุเรียนนั้นมีหนามแหลม (2) ผลที่ยังไม่ผ่าส่งกลิ่นแรง นั่นคือ ผลจำปาดะที่ยังไม่ผ่าย่อมส่งกลิ่นแรงมาก บางคนที่ชอบกินทุเรียน ก็ยังไม่ชอบกลิ่นแบบนี้ของจำปาดะ ในขณะที่ขนุนกับทุเรียนไม่ส่งกลิ่นแรงเท่า และ (3) เนื้อนุ่มนิ่มอยู่ในเบ้า นั่นคือ เนื้อจำปาดะมีลักษณะเป็นช่อที่ฝังตัวอยู่ในผล ทำให้เมื่อผ่าออกจึงเหมือนอยู่ในเบ้า ที่สำคัญเนื้อจำปาดะนั้นนุ่มนิ่มรสหวาน ซึ่งต่างจากเนื้อขนุนที่แข็งกรอบกว่าและหวานน้อยกว่า ในขณะที่ทุเรียนเนื้อมีลักษณะเป็นก้อน ซึ่งเรียกว่า “พู” แม้บางพันธุ์อาจมีเนื้อนุ่มนิ่มเหมือนเนยก็ตาม ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า “เฝ้ย สิ้นย์ เคยกินจำปาดะ !”
3. คำบอกเล่าของ “หม่า ฮวน” สมัยราชวงศ์หมิง
หม่า ฮวน (馬歡 / Mǎ Huān) หนึ่งในผู้ร่วมคณะ “ล่องประจิมสมุทรของ เจิ้งร์ เหอ” (鄭和下西洋 / Zhèng Hé xià xīyáng) จำนวน 3 ใน 7 ครั้ง คือ ค.ศ. 1413 (พ.ศ. 1956), ค.ศ. 1421 (พ.ศ. 1964) และ ค.ศ. 1431 (พ.ศ. 1974) หม่า ฮวน ได้ประมวลข้อมูลจากการเดินทางเป็นหนังสือชื่อ “หยิงหยา เสิ้งร์หล่าน” (瀛涯勝覽 / Yíngyá Shènglǎn) ซึ่งอาจแปลเป็นชื่อไทยได้ว่า “เลิศปริทัศน์ฝั่งสมุทร” ร็อกฮิลล์ กำหนดอายุข้อมูลให้อยู่ในช่วง ค.ศ. 1425-1432(?) (Rockhill 1915: 61) เนื้อหาเกี่ยวกับผลไม้แปลกนี้ อยู่ในตอนว่าด้วยรัฐสมุทรา3 โดยหม่า ฮวน เรียกชื่อผลไม้นี้ว่า “ทุเรียน” ตามเนื้อความดังนี้
They have bananas, sugar-cane, mangoustines, and jack-fruit. There is (a fruit) with foul-smelling leaves (臭葉), it is called tu-erh-yen (睹爾焉, Malay durian). It is like the Chinese ki-t`ou-ling (鷄頭菱 lit. “chicken-head water-chestnut”), eight to nine inches long and with pricks (over it). If opened when ripe it is in five or six sections and smells like rotten meat. The pulp (酥) which is white is in fifteen flakes (片) and very sweet. The seeds can be roasted. (Rockhill 1915: 155)
บทแปลภาษาไทยจากบทแปลภาษาอังกฤษ:
พวกเขามี[ผลไม้]คือ กล้วย อ้อย มังคุด แลขนุน. มี[ผลไม้ชนิดหนึ่ง] ใบเหม็น (chòu-yè), ชื่อว่า ตู๋-เอ่อร์-เยียน (dǔ-ěr-yān, มาเลย์: ดูเรียน). [ก็]เหมือนกับผลจีโถวหลิง (Jī-tóu-líng ตามศัพท์: “กระจับหัวไก่”) ของจีน [ที่มีส่วนหนามแหลม], [แต่]ผลยาวขนาดแปดเก้านิ้วนี้, [เปลือก]มีหนามแหลม[ทั่วทั้งลูก]. หากเมื่อผลสุก แกะ[เปลือกนี้]ออก ภายในมีห้าหกส่วน (= ห้าหกพู) กลิ่นเหมือนเนื้อเน่า. เนื้อขาวนุ่มนิ่ม (sū) มีสิบห้าชิ้น (piàn) แลรสหวานมาก. เม็ดคั่ว[กิน]ได้. (แปลโดยผู้เขียน: ตรงใจ หุตางกูร 2567; ข้อความในวงเล็บเหลี่ยม […] เสริมความโดยผู้แปล)
อธิบาย: หม่า ฮวน อธิบายลักษณะของผลไม้นี้ และถ่ายถอดชื่อตามภาษาถิ่นเมืองสมุทราไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น ผลไม้นี้คือทุเรียนอย่างไม่ต้องสงสัย ผมจึงสรุปว่า “หม่า ฮวน เคยกินทุเรียน !” เขาจึงรู้ทั้งกลิ่นก่อนลองกิน และรู้รสเมื่อได้ลิ้ม อีกทั้งยังได้กินเม็ดทุเรียนคั่วที่เขาว่ารสชาติเหมือนเกาลัดอีกด้วย เหตุที่ผมทราบว่าหม่า ฮวน เคยกินเม็ดทุเรียนคั่ว ทั้งที่บทแปลนี้ไม่ได้บอกไว้นั้นเพราะผมได้ตรวจสอบกับต้นฉบับภาษาจีนแล้วพบว่า ร็อกฮิลล์แปลข้ามไป 1 ประโยค ! ซึ่งเป็นประโยคที่บอกรสชาติของเม็ดทุเรียนคั่ว ! ประโยคนั่นคือ 其味如栗 (qí wèi rú lì) (Ctext 2024a:《瀛涯胜览》) แปลว่า “รสชาติของมันเหมือนเกาลัด”
ในคำบรรยายนี้ มีประเด็นน่าสนใจคือ ทุเรียนที่หม่า ฮวน กิน มีเนื้อสีขาว ดังประโยคว่า 大酥白肉 (dàsū báiròu = เนื้อขาวนุ่มยิ่ง) ซึ่งเมื่อแรกอ่านนั้น ผมก็สงสัยว่า ทุเรียนนอกจากมีสีเหลือง สีส้ม สีแดง แล้วยังมีทุเรียนเนื้อสีขาวด้วยหรือ? และคำตอบก็คือ มีครับ ทุเรียนสีขาวนั้น ภาษามลายูเรียกว่า ดูเรียนปูติฮ์ (durian putih) หรือ “ทุเรียนปูติฮ์” แปลว่า “ทุเรียนขาว” ซึ่งเป็นคำเรียกทุเรียนเนื้อขาวของเกาะบอร์เนียวตามภาษามลายูถิ่นบรูไน (Wikitionary 2019: durian putih) อันที่จริงแล้ว เนื้อทุเรียนพันธุ์นี้ไม่ได้มีสีขาวสะอาด แต่เป็นสีขาวอมเหลืองจางๆ ตามแต่ลูก ที่มักเรียกว่า สีขาวนวล (ผู้สนใจชมสีทุเรียนปูติฮ์เมื่อแรกผ่า สามารถดูคลิปได้จากยูทูป: EDBOY13 (2022), channelmasadi (2022), NDESO EXPLORE (2022), HartoGunari (2022)) อนึ่ง ลิม กูน เอียก ได้ศึกษาเกี่ยวกับ “ดูเรียนปูติฮ์” ของรัฐซาบาฮ์ และให้ข้อมูลว่า
“ทุเรียนถิ่นซาบาฮ์; หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ทุเรียนปูติฮ์” (= ทุเรียนขาว) นั้น ก็มีผลเป็นรูปทรงไข่ด้วยเช่นกัน[เมื่อเทียบกับทุเรียนปลูกพันธุ์ D-24]. น้ำหนักก็พอกัน คือราว 1 ถึง 2 กิโลกรัม[ต่อลูก] เพียงแต่ทุเรียนปูติฮ์มีเนื้อสีขาว. ต้นของทุเรียนปูติฮ์ไม่ได้ปลูกกันในไร่สวน แต่พบแพร่กระจายอยู่ในป่าของซาบาฮ์. บรรดาชาวบ้านรัฐซาบาฮ์มักนำทุเรียนปูติฮ์ออกมาขายที่ตลาดอยู่เสมอ. ดังนั้น เราจึงพบทุเรียนปูติฮ์ได้เฉพาะในตลาดของซาบาฮ์และซาราวัก. เนื่องจากยังไม่เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับทุเรียนปูติฮ์ ดังนั้น ข้อมูลทางโภชนาการและคุณสมบัติทางเคมีกายภาพของทุเรียนพันธุ์นี้ในปัจจุบัน จึงยังไม่เป็นที่เปิดเผย.” (แปลโดยผู้เขียน: ตรงใจ หุตางกูร 2567, จาก Lim Koon Eaik 2010: 8-9)
ข้อมูลนี้น่าใจ เพราะดูเหมือนว่า ทุเรียนขาวเป็นพันธุ์พื้นเมืองของเกาะบอร์เนียว ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ ทุเรียนที่หม่า ฮวน กินนี้ (1) อาจเป็นสินค้านำเข้าจากบอร์เนียวมายังเมืองสมุทรา หรือ (2) เป็นต้นทุเรียนขาวที่ชาวเมืองสมุทราเพาะปลูกเอง แล้วเก็บมาขายในเมือง อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจทราบข้อเท็จจริงทั้งสองนี้ได้เลย แต่เรารู้ข้อเท็จจริงเพียงว่า หม่า ฮวน เคยกินทุเรียนปูติฮ์ !
ที่มา: EDBOY13 (2022)
ที่มา: channelmasadi (2022)
ภาพที่ 2 ทุเรียนปูติฮ์ หรือ ทุเรียนขาวของอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยเองก็มีทุเรียนพันธุ์ที่ขึ้นชื่อว่ามีเนื้อนวลขาวนั่นคือ “กำปั่นขาว” (กำปั่นเดิม กำปั่นเจ๊ก ก็เรียก) ซึ่งตามข้อมูลว่าเป็นทุเรียนพันธุ์หนึ่งที่พัฒนาขึ้นในพื้นที่นนทบุรี มีเนื้อสีนวลขาวถึงขาวอมเหลืองนวล (ศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี 2567; ชมสีทุเรียนขาวเมื่อแรกผ่าได้ที่คลิปยูทูป: ลุงหมูป้าตุ้ยพันธุ์ไม้ สำนักงานใหญ่ (2021), WutJC บูรพา (2022))
อนึ่ง คำว่าทุเรียนตามอักษรจีนที่หม่า ฮวน บันทึกไว้คือ 睹爾焉 (ต้นฉบับอื่นใช้ 賭爾焉 แต่ออกเสียงเหมือนกัน)ตรงกับสำเนียงจีนกลาง ตู๋-เอ่อร์-เยียน (dǔ-ěr-yān) และกวางตุ้ง โต๋ว-หยีอ์-ยิ้น (dou2 ji5 jin1) สังเกตได้ว่า สำเนียงกวางตุ้งไม่ใกล้เคียงกับ ดู-เรียน ของมลายู แต่เสียง “เอ่อร์” ของสำเนียงจีนกลางดูจะเกี่ยวข้องกับสำเนียงมลายูนี้มากกว่า โดยเฉพาะเสียงสะกด “-รฺ” ที่ต้องม้วนห่อลิ้น ซึ่งอาจเทียบได้เป็นการเลียนเสียง “ร-” กระดกลิ้นของมลายู
ผมสันนิษฐานว่า เมื่อแรกหม่า ฮวน ได้ยินสำเนียงเสียงมลายูว่า “ดู-เรียน” นั้น เขาน่าจะสะดุดเสียง “ร” กระดกลิ้นของภาษามลายูคือ [ r ] จึงไม่คิดเทียบเสียง “ร” เป็น “ล” [ l ] แต่ไปเทียบกับเสียง “-ร” ม้วนห่อลิ้นของภาษาจีนกลางคือ [ ɻ ] ดังนั้น เขาจึงต้องใช้อักษรจีน 3 ตัวแทนที่จะเป็น 2 ตัว ในการแทรกเสียง “-ร” ม้วนห่อลิ้นให้เป็นเสียงกึ่งอักษรนำของอักษรตัวที่สาม ในทำนอง *Du-er-Ryan -> *Dü-Rian [*ty-ɻian] อันเป็นไปตามหลักสัทศาสตร์ที่เรียกว่า “เสียงกลมกลืนไปข้างหน้า” (progressive assimilation)[4] นอกจากนี้ วิธีการสร้างศัพท์คำนี้ของหม่า ฮวน ย่อมเป็นหลักฐานทางอ้อมว่า คำนี้เกิดจากการเทียบคำมลายูให้เป็นอักษรจีนตามสำเนียงจีนกลางโดยตรง ไม่ใช่การเทียบกับสำเนียงจีนถิ่นใต้ตามที่เคยปฏิบัติกันมา
อย่างไรก็ตาม ภาษาจีนปัจจุบันไม่ได้เรียกทุเรียนว่า ตู๋-เอ่อร์-เยียน แต่เรียกอิงตามจีนกลางว่า “หลิว-เหลียน” (榴莲 / liúlián) เหตุที่ทราบเพราะประการแรก มีการเปลี่ยนเสียง ด- ของมลายูคือ [ d ] เป็น ล- ของจีนกลางคือ [ l ] เพราะภาษาจีนกลางไม่มีเสียง ด- และเมื่อภาษาจีนกลางออกเสียง ด- จึงกลายเป็นเสียง ล- โดยปริยาย ดังนั้น *du จึงเปลี่ยนเป็น *liu ประการที่สอง มีการใช้เสียงสระ “เอีย” อย่างชัดเจน และมีการปรับเสียง “ร-” กระดกลิ้นของมลายูคือ [ r ] ไปเป็น “ล-” ของจีนกลางคือ [ l ] ในทำนองเดียวกับภาษาไทยที่มักออกเสียง “ร” เป็น “ล” เพื่อความสะดวกปาก และประการที่สาม เมื่อเทียบกับสำเนียงจีนใต้แล้ว สำเนียงจีนใต้ออกเสียงห่างไกลการเลียนแบบเสียงคำมลายูว่า “ดู-เรียน” มากกว่าสำเนียงจีนกลางอย่างชัดเจน กล่าวคือ กวางตุ้งอ่านว่า “เหล่า-หลิ่น” (lau4 lin4) หรือ แต้จิ๋วอ่านว่า “ลิ้ว-เน้ย” เป็นต้น
4. อภิปราย: มังคุด ขนุน จำปาดะ ทุเรียน
นอกจากหม่า ฮวน ได้กล่าวถึงทุเรียนแล้ว เขายังได้กล่าวถึง “มังคุด” และ “ขนุน” อีกด้วย แต่ร็อกฮิลล์ ไม่ได้ให้ตัวอักษรจีนไว้ ผมจึงไม่ทราบว่าช่วงเวลานั้น จีนสมัยต้นราชวงศ์หมิงออกเสียงว่าอย่างไร เหตุนี้ ผมได้ไปสืบค้นข้อมูลต่อแล้วพบว่า หม่า ฮวน ใช้อักษรจีน 莽吉柿 สำหรับเรียก “มังคุด” และใช้อักษรจีน 波羅蜜 สำหรับเรียก “ขนุน” (ดู เนื้อหาของหนังสือได้ที่ฉบับตัวย่อ Ctext 2024a:《瀛涯胜览》และฉบับตัวเต็ม Ctext 2024b:《瀛涯勝覽》)
อักษรจีน 莽吉柿 ที่ใช้เรียกมังคุดนี้ ตามจีนกลางคือ “หม่างจี๋ย์สื้อร์” (mǎng jí shì) และกวางตุ้งคือ “หมองอ์กั๊ดฉี” (mong5 gat1 ci2) และด้วยสำเนียงกวางตุ้งนี้เอง ทำให้ทราบว่าอักษรจีนดังกล่าวถ่ายถอดเสียงมาจากคำมลายูที่ใช้เรียกมังคุด นั่นคือ มังกีส (manggis) เป็นไปได้ที่ผู้ถ่ายถอดเป็นเสียงจีนคงต้องการเทียบเสียงให้ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งผมสันนิษฐานว่าเสียงนั้นอาจเป็น *mang-gas-si แต่เมื่ออ่านตามสำเนียงถิ่นก็ย่อมเพี้ยนไป เช่น กวางตุ้งเป็น *mong-gat-shi หรือจีนกลางเป็น *mang-ji-shi เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ศัพท์นี้ไม่ได้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เพราะภาษาจีนปัจจุบันเรียกมังคุดว่า “ซานร์จู๋ร์” (山竹 / shānzhú) ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “ไผ่เขา”
อักษรจีน 波羅蜜 ที่ใช้เรียกขนุนนี้ ตามจีนกลางคือ “ปัวหลัวหมี้” (bōluómì) และตามกวางตุ้งคือ “ป๊อหล่อมัดอ์” (bo1 lo4 mat6) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคำมลายูที่ใช้เรียกขนุนว่า “นังกา” (nangka) อนึ่ง “ปัวหลัวหมี้” มี 2 ความหมายคือ (1) ผลไม้คือ ขนุน และ (2) คำจีนที่ถ่ายถอดเสียงมาจากคำสันสกฤตว่า “ปารมิตา” อันที่จริงแล้วคำนี้มีอักษรจีน 2 ชุด คือ 波羅蜜 สำหรับ “ปารมิตา” และ 菠蘿蜜 สำหรับ “ขนุน” ความแตกต่างคือ อักษรจีนที่หมายถึงขนุนนั้น ได้ถูกเติมสัญลักษณ์ “หญ้า” (艹) ไว้ที่ส่วนบนของอักษรสองตัวแรก โดยสัญลักษณ์ “หญ้า” ทำหน้าที่บ่งชี้ว่า รูปอักษรนี้เป็นชื่อพืชและหมายถึง “ขนุน”
สำหรับที่มาของการเรียกขนุนด้วย “ปัวหลัวหมี้” มีข้อสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการเรียกสับสนระหว่างคำสันสกฤตที่จีนรับมาตั้งแต่โบราณคือ “ปารมิตา” (पारमिता / pāramitā) กับ “ปนส” (पनस / panasa) ซึ่งคำหลังนี้หมายถึง “ขนุน” (ดู Wiktionary 2023: 波羅蜜 & Wiktionary 2023: 波那娑) ร่องรอยเหล่านี้ทำให้ทราบว่า จีนรู้จักขนุนผ่านอินเดียมาก่อนแล้ว และเป็นการยืนยันด้วยว่า ผลไม้แปลกของวาง ต้ายวน และเฝ้ย สิ้นย์ ที่ทั้งสองได้มาพบเจอบนเกาะสุมาตรานั้น คือ “จำปาดะ” อย่างมิต้องสงสัย เพราะชาวจีนรู้จักขนุนมาก่อนหน้านี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า เฝ้ย สิ้นย์ ได้กินจำปาดะ แต่ไม่รู้จักทุเรียน ในทางกลับกัน หม่า ฮวน ได้กินทุเรียน แต่ไม่รู้จักจำปาดะ จึงเป็นไปได้สูงว่า ทั้งสองเดินทางไปมาสุมาตราในช่วงเวลาที่ไม่ตรงกับฤดูกาลของผลไม้ชนิดนั้น สุดท้ายในฐานะที่ผมชอบกินทุเรียน ก็อดสงสาร เฝ้ย สิ้นย์ ไม่ได้ที่ไม่มีวาสนาเท่า หม่า ฮวน ผู้ได้กิน “ทุเรียนขาว” แห่งรัฐสุลต่านสมุทรา-ปาไซ แต่อย่ากระนั้นเลย ผมเองก็ยังไม่มีวาสนาเท่า หม่า ฮวน ด้วยเช่นกัน เพราะเคยได้กินแค่หมอนทอง และก็ยังไม่เคยได้ลองกิน “ทุเรียนขาว” กับเขาเสียที ! และถ้าจะให้ดี ก็ต้องไปกินที่เกาะสุมาตรา !
เอกสารอ้างอิง
เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ, 2541. พจนานุกรมจีน-ไทย ฉบับนักเรียน (จีนกลาง กวางตุ้ง แต้จิ๋ว). กรุงเทพฯ: บริษัท รวมสาส์น (1977) จำกัด.
ลุงหมูป้าตุ้ยพันธุ์ไม้ สำนักงานใหญ่, 2021-02-13. Youtube: รีวิว...ลูกทุเรียนพันธุ์กำปั่นเดิม(กำปั่นขาว)| ลุงหมูป้าตุ้ยพันธุ์ไม้. Retrieved: 2024-01-11. [ https://www.youtube.com/watch?v=Fa1IthtaH7Y ]
ศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี, 2567. พันธุ์กำปั่นเดิมขาว. Retrieved: 2024-01-11. [ https://www.duriannon.com/14549067/พันธุ์กำปั่นเดิมขาว ]
ศรีจรุง บุญเจือ, 2543. นิรุกติศาสตร์. ชลบุรี: ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
channelmasadi, 2022-11-13. Youtube: belah durian isi putih kering lembut!! rasa dominan manis!! Retrieved: 2024-01-11. [ https://www.youtube.com/shorts/Nm-7BJ7xk_A ]
Ctext, 2024a.《瀛涯胜览》. Retrieved: 2024-01-10. [https://ctext.org/wiki.plif=gb&chapter=566144&remap=gb]
Ctext, 2024b.《瀛涯勝覽》. Retrieved: 2024-01-10. [ https://ctext.org/wiki.pl?if=gb&chapter=566144 ]
EDBOY13, 2022-07-24. Youtube: Durian Putih Masih Jadi Primadona. Retrieved: 2024-01-11. [ https://www.youtube.com/shorts/eHveDpuqbmY ]
HartoGunari, 2022-09-22. Youtube: Durian lokal warna putih. Retrieved: 2024-01-11. [ https://www.youtube.com/shorts/iy-dmskAQ_s ]
Kwiecień A., 2013-05-26. Polski: Chempedak (chlebowiec chempedak Artocarpus integer). Retrieved: 2024-01-24. [ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Owoce_Chempedak.jpg ]
Lim Koon Eaik, 2010. Physicochemical Properties of Two Different Cultivars of Local Durian of Sabah (Durio zibethinus), D-24 and Durian Putih. Dissertation. School of Food Science and Nutrition, Universiti Malaysia Sabah.
NDESO EXPLORE, 2022-03-05. Youtube: Jangan Pandang Sebelah Mata Pada Durian Lokal Daging Putih!! Retrieved: 2024-01-11. [ https://www.youtube.com/watch?v=FjItWbksg50 ]
Rockhill W.W., 1915. “Notes on the Relations and Trade of China with the Eastern Archipelago and the Coast of the Indian Ocean during the Fourteenth Century. Part II.” T’oung Pao (Second Series) 16 (1): 61-159.
WutJC บูรพา, 2022-05-18. อีก 1 สายพันธุ์ทุเรียนเนื้อสีแปลกกำปั่นขาวรีวิวจากร้านพี่แดงบูรพาพันธุ์ไม้. Retrieved: 2024-01-11. [ https://www.youtube.com/watch?v=22XrJHPBWL8 ]
Wiktionary, 2019-09-12. durian putih. Retrieved: 2024-01-11. [ https://en.wiktionary.org/wiki/durian_putih ]
Wiktionary, 2023-06-25. 波羅蜜. Retrieved: 2024-01-10. [ https://en.wiktionary.org/wiki/波羅蜜#Etymology ]
Wiktionary, 2023-06-25. 波那娑. Retrieved: 2024-01-10. [ https://en.wiktionary.org/wiki/波那娑 ]
Wiktionary, 2023-10-11. 茄. Retrieved: 2024-01-10. [ https://en.wiktionary.org/wiki/茄 ]
1 ภาษาจีนปัจจุบันเรียกขนุนว่า “ปัวหลัวหมี้” (波罗蜜 / bōluómì); เรียกจำปาดะว่า “เสี่ยวย์-ปัวหลัวหมี้” (小波罗蜜 / xiǎo-bōluómì = ขนุนน้อย) หรือเรียกทับศัพท์เป็น “เจียนย์ปู้หล้า” (尖不辣 / jiānbùlà).
2 荔枝; จีนกลาง: หลี้จือ (lìzhī); กวางตุ้ง: ไหลจี๊ (lai6 zi1); แต้จิ๋ว: หลีกี.
3 蘇門答剌; จีนกลาง: ซูเหมินต๋าหล้า (Sūméndálà); กวางตุ้ง: โซ้วหมุ่นตาบลาด (sou1 mun4 daap3 laat6); แต้จิ๋ว: โซวมึ้งตับลา.
4 ตัวอย่างในภาษาไทยเป็นภาษาพูด เช่น สิบเอ็ด เป็น “สิบเบ็ด” หรือ อย่างนี้ เป็น “อย่างงี้” (ศรีจรุง 2543: 111).
ผู้เขียน
ดร.ตรงใจ หุตางกูร
นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ จีน ราชวงศ์หมิง ทุเรียนขาว จำปาดะ ดร.ตรงใจ หุตางกูร