หลวงวิจิตรวาทการ ชีวิตของชาติ และเศรษฐกิจชาตินิยมไทย ในทศวรรษ 2480
หลวงวิจิตรวาทการ (พ.ศ.2441-2505) ได้รับการพิจารณาเป็นปัญญาชนชาตินิยมคนสำคัญ ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 ผู้ให้นิยามความหมายของ “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” เพื่อตอบสนองรัฐบาลในขณะนั้น ๆ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงทศวรรษ 2480 หลวงวิจิตรวาทการเน้นถึงความคิด “เชื้อชาติไทย” ในแง่ของการมีสายเลือดเดียวกันที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต (สายชล สัตยานุรักษ์, 2557, 11, 19-24) อนึ่ง เครื่องมือสำคัญที่หลวงวิจิตรวาทการใช้ในการสร้างความรู้สึกชาตินิยมแก่ประชาชนก็คือการใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์มาปรับใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะงานเขียนทางประวัติศาสตร์ (กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร, 2519) หรือบทละครอิงประวัติศาสตร์ (ประอรรัตน์ บูรณมาตร์, 2528)
เหตุผลสำคัญที่สะท้อนถึงการนำความรู้ทางประวัติศาสตร์มาสร้างความรู้สึกชาตินิยมไทยของหลวงวิจิตรวาทการนั้นเห็นได้อย่างชัดเจน ในหนังสือ สยามกับสุวรรณภูมิ ภาคที่ ๑ อดีต ซึ่งพิมพ์ใน พ.ศ.2476 หรือหนึ่งปีภายหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 คือ หลวงวิจิตรวาทการเห็นว่าการกระตุ้นให้เกิด “ความรู้สึกนึกถึงชาติ (Nationalist Sentiment) ให้รุนแรงขึ้น” ในหมู่ผองชนคนไทยนั้น “จะต้องศึกษาความเป็นไปของชาติและประเทศของเราในอดีต พิจารณาดูความเป็นไปในปัจจุบัน และช่วยกันคิดถึงอนาคต” โดยเน้นย้ำว่า การศึกษาความเป็นมาของชาตินี้ “ไม่ใช่เพียงแต่ให้รู้เรื่องแล้วก็แล้วไป” ทั้งนี้ ยัง “จะต้องพิเคราะห์ถึงความเป็นไปให้เห็นกระจ่างชัดว่า เรามีประวัติสำคัญอยู่ในข้อไร ความเป็นไปในอดีตกระทำให้เกิดผลในปัจจุบันอย่างไร และความเป็นไปในปัจจุบันจะบันดาลผลอย่างไรในภายหน้า” (วิจิตรวาทการ, 2476, น. 8) กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลวงวิจิตรวาทการเชื่อว่า การศึกษาอดีตทำให้เข้าใจปัจจุบัน เมื่อเข้าใจปัจจุบัน จึงจะสามารถเข้าใจอนาคตได้
อันหนังสือ สยามและสุวรรณภูมิ นี้ หลวงวิจิตรวาทการตั้งความปรารถนาในการเขียนหนังสือ ไว้ทั้งหมด 3 เล่มด้วยกัน ได้แก่ เล่มที่ 1 ภาคอดีต กล่าวถึงความเป็นมาของชนชาติไทยตั้งแต่ช่วง 2000 ปีก่อนพุทธศักราชจนถึง พ.ศ.2325 รวมยังเวลามากกว่า 4,000 ปี โดยต้องการแสดงให้เห็นว่า “ชาติไทยได้ทำการต่อสู้กับชีวิตของชาติมาอย่างไร เราเดิรทางถูกหรือผิดอย่างไร การกระทำของเราในอดีตให้ผลแก่เราในปัจจุบันอย่างไร” ส่วนเล่มที่ 2 ภาคปัจจุบัน จะมีช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.2325-2475 รวมทั้งสิ้น 150 ปี โดยกล่าวถึงเรื่องราว “ปัญหาระหว่างประเทศทิ่เกี่ยวกับสยามโดยพิสดาร ตลอดถึงปัญหาทิ่ทำให้เราต้องเสียดินแดนและเรื่องอื่น ๆ ทิ่บังเกิดขึ้นตั้งแต่กาลนั้นมา” และเล่มที่ 3 ภาคอนาคต จะกล่าวถึงสถานะของสยามและประเทศต่าง ๆ ในดินแดนสุวรรณภูมิ “ในทางการเมือง เศรษฐกิจและความเกี่ยวพันกันในระหว่างหมู่ชน (โซเซียล) เพื่อพิจารณาหาทางทิ่ควรทำ และระลึกผลทิ่พึงมีในอนาคต” (วิจิตรวาทการ, 2476, น. 10-11) กระนั้น หลวงวิจิตรวาทการก็หาได้เขียนหนังสือทั้งสามภาคสำเร็จไม่ มีเพียงแค่เล่มที่ 1 ภาคอดีตเท่านั้นที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ออกสู่สายตาสาธารณชน
แม้ว่าหลวงวิจิตรวาทการจะสามารถเขียนหนังสือ สยามและสุวรรณภูมิ ออกมาได้เพียงเฉพาะภาคอดีต แต่ก็ทำให้เห็นถึงความคิดที่ว่าชาติไทย คือ ชาติที่ “ชราภาพ” แล้ว ชาติไทยในเวลานี้ (พ.ศ.2476) จึงจำเป็นจะต้องฟื้นฟูตนเองโดยเร็ว กล่าวให้ละเอียดยิ่งขึ้นคือ นับตั้งแต่ถูกชนชาติจีนรุกราน ชนชาติไทยก็มีแต่จะ “ศูนย์ชาติขาดเชื้อ” ถูกคนจีนกลืนชาติ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับด้วยกำลังและการแย่งที่ดินทำกินของประชาชนอันเป็นทางตรงหรือการสร้างสัมพันธไมตรีอันเป็นทางอ้อมด้วยการแต่งงานระหว่างกษัตริย์ทั้งสองชนชาติ จนกระทั่งกษัตริย์ผู้ครองแคว้นของชนชาติไทย “เป็นเลือดไทยผะสมจีน และนับวันแต่เลือดจีนจะแรงขึ้นทุกที” (วิจิตรวาทการ, 2476, น. 59) ทั้งนี้ เมื่อชนชาติไทยถูกรุกรานเบียดเบียนจากชนชาติจีนมากเข้า จึงอพยพลงใต้เข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ และจึงค่อยก่อตั้ง “อาณาจักร” ใหม่ได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 จนกระทั่งต่อมาก็ตั้งอาณาจักรได้อีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรโยนก อาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยา แต่ด้วยชนชาติไทยมี “ความสามารถอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีชาติใดในโลกนี้สู้ได้ คือความสามารถทิ่จะหันเหไปตามกาละเทศะ... [ซึ่ง]มีผลดีไม่เท่าร้าย ผลดีมีเพียงทำให้เราอยู่ไหนอยู่ได้ แต่ผลร้ายอยู่ทิ่ว่าทำให้ชาติไทยเสื่อมโทรมลงไปทุกวัน” (2476, น. 83) เมื่อรวมเข้ากับ “ความนิยมในของต่างชาติ” ของชนชาติไทยด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้ชนชาติไทยยิ่งเสื่อมถอยจากความเจริญลงไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับวิธีการปกครองแบบขอมมาใช้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา (2476, น. 152-153)
ด้วยการเห็นถึงความเป็นมาของชาติไทยที่เสื่อมถอยลงนี้ หลวงวิจิตรวาทการจึงต้องการปลุก “ความรู้สึกนึกถึงชาติ (Nationalist Sentiment) ให้รุนแรงขึ้น” เพราะไม่ต้องการ “เห็นประตูตายเปิดอยู่ใกล้ ๆ” ชนชาติไทยซึ่งกำลัง “ย่างเข้าสู่วัยชราภาพแล้ว” และชนชาติไทยกำลัง “เดิรเข้าสู่มรณกรรม” (วิจิตรวาทการ, 2476, น. 5) ความเสื่อมถอยของชนชาติไทยนี้ หลวงวิจิตรวาทการได้อธิบายไว้ว่าเป็นเพราะชนชาติไทยไม่มี “ความรู้สึกนึกถึงชาติ” หรือหากมีก็ไม่มากพอที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการต่อสู้เพื่อให้ความเป็นชาติไทยดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งได้
ตัวอย่างการนำความรู้ทางประวัติศาสตร์มาสร้างความรู้สึกชาตินิยมไทย คือ การแสดงปาฐกถาเรื่อง วัฒนธรรมสุโขทัย ใน พ.ศ.2482 หลวงวิจิตรวาทการได้แสดงให้เห็นว่าความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทยในสมัยสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นการมี “ถนนพระร่วง” ซึ่งเป็นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างเมือง ความยาวกว่า 250 กิโลเมตร หรือการสร้างถาวรวัตถุ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ เช่น เจดีย์ใหม่วัดมหาธาตุ และมณฑปวัดศรีชุม หรือการประดิษฐ์ตัวอักษร “ลายลือไท” นั้นมาจาก “นิสสัย” 4 ประการ ได้แก่ “นิสสัยก่อสร้าง” “นิสสัยรักความประณีต” “นิสสัยงอกงาม” และ “นิสสัยต่อสู้” ของผู้คนในสมัยสุโขทัย ยิ่งไปกว่านั้น หลวงวิจิตรวาทการยังเน้นถึง “นิสสัย” อีกประการหนึ่ง คือ การมี “นิสสัยในทางการค้า” ของชาติไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยการยกเอาข้อความในศิลาจารึกมาเป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่ว่าจะเป็น “เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจกใคร่ค้าม้าค้า” หรือ “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง” หรือ “เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน” ทั้งนี้ หลวงวิจิตรวาทการยังแสดงความเห็นว่า
บรรพบุรุษของเราเป็นพ่อค้ามาแล้ว ที่เราค้าขายไม่เป็นในเวลานี้ ไม่ใช่ว่าชาติไทยจะไม่มีนิสสัยในทางการค้า เรามีมาแล้วแต่โบราณเป็นอันมาก แต่เรามาหยุดทำกันเสียเอง และหยุดมานานจนเราลืมหมด ฉะนั้นถ้าหากว่าเราได้ทำการค้ากันเรื่อยมาแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงจนบัดนี้ การค้าจะยังตกอยู่ในมือเรา รวมความว่าถ้าเราดำเนินเจริญรอยบรรพบุรุษของเราในสมัยพ่อขุนรามคำแหงตลอดมา ประเทศไทยจะเข้มแข็งแรงกล้าและเจริญยิ่งทุกๆ ทาง เราจะไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลกทั้งในทางคมนาคม การเกษตร และการพาณิชย์ (วิจิตรวาทการ, 2484, 64)
กล่าวได้ว่า เมื่อพิจารณาความปรารถนาของหลวงวิจิตรวาทการให้ประชาชนไทย “ดำเนินเจริญรอย[ตาม]บรรพบุรุษของเรา” ข้างต้นกับบริบทประวัติศาสตร์ไทยในช่วงทศวรรษ 2480 อันเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยแนวทางเศรษฐกิจชาตินิยม อันมีลักษณะสำคัญคือ การเน้นการพัฒนาการเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม และการพาณิชกรรม หรือเรียกรวมกันอย่างย่อว่า “กอุพากรรม” ซึ่งรัฐเป็นผู้มีบทบาทในการลงทุนทางเศรษฐกิจ การลดบทบาทการลงทุนของชาวต่างชาติ และการสนับสนุนการประกอบกิจการของคนในชาติ (ณัฐพล ใจจริง, 2561, น. 17, 233-234) จึงเห็นได้ว่า หลวงวิจิตรวาทการนำความรู้ทางประวัติศาสตร์ของสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะการเน้นเรื่องความเจริญรุ่งเรืองในเรื่องการค้าขาย มาแสดงให้ประชาชนไทยได้ตระหนักรู้และก่อให้เกิดความรู้สึกรักในชาติของตน อันจะยังให้เกิดการสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจชาตินิยมของรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อการสร้าง “อนาคต” ให้ “ชีวิตของชาติ” เกิดความเจริญรุ่งเรืองเป็นเหมือนดั่งใน “อดีต” ของชาติไทยในสมัยสุโขทัยเคยเป็นมาเมื่อ 500 ปีที่แล้วต่อไป
เอกสารอ้างอิง
กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. (2519). การเขียนประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม: พิจารณาหลวงวิจิตรวาทการ. วารสารธรรมศาสตร์, 6(1), 149-180.
ณัฐพล ใจจริง. (2561). ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร. กรุงเทพฯ: มติชน.
ประอรรัตน์ บูรณมาตร์. (2528). หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
วิจิตรวาทการ, หลวง. (2476). สยามและสุวรรณภูมิ ภาคที่ ๑ อดีต. พระนคร: ไทยใหม่.
วิจิตรวาทการ, หลวง. (2484). วัฒนธรรมสุโขทัย. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
สายชล สัตยานุรักษ์. (2557). 10 ปัญญาชนสยาม เล่ม 2. กรุงเทพฯ: โอเพ่น โซไซตี้.
ผู้เขียน
กฤชกร กอกเผือก
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ หลวงวิจิตรวาทการ ชีวิตของชาติ เศรษฐกิจ ชาตินิยม ไทย กฤชกร กอกเผือก