ขั้นตอนการถือศีลอดใน ‘สมุดไทยขาว’ ของชาวมุสลิมแห่งคลองบางกอกน้อย
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِنْ قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ
“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้า เช่นกับเดียวที่ได้กำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัล-กุรอาน 2:183)
วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้เข้าสู่วันที่ 1 เดือนเราะมะฎอน ฮิจเราะฮ์ศักราช 1446 ตามประกาศอย่างเป็นทางการของสำนักจุฬาราชมนตรี โดยอ้างอิงผลการมองเห็นจันทร์เสี้ยว (ฮิลาล) หลังอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดังนั้นในช่วงตลอดเดือนมีนาคมนี้ จึงเป็นบรรยากาศของ เทศกาลถือศีลอด ของชาวไทยมุสลิมและชาวมุสลิมในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยอย่างที่ทราบกันดีว่า การถือศีลอดหรือที่ในภาษาอาหรับเรียกว่า อัศ-ศิยาม(الصيام : aṣ-Ṣiyām) หรือ อัศ-เศาวม์ (الصوم : aṣ-Ṣawm) หรืออย่างที่ชาวไทยมุสลิมคุ้นปากเรียกว่า ถือบวช นั้น เป็น 1 ใน 5 เสาหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ซึ่งถูกบัญญัติขึ้นสำหรับชาวมุสลิมทั้งชายและหญิงที่มีวัยบรรลุศาสนภาวะ โดยจะงดเว้นการกินและดื่มในช่วงก่อนอาทิตย์ขึ้นจนถึงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ตลอดจนสำรวมตนทั้งกาย วาจา ใจ และมุ่งเน้นการปฏิบัติศาสนกิจเข้มข้นเป็นพิเศษตลอดระยะเวลา 29-30 วันของเดือนเราะมะฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ (เดือนลำดับที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม) ชาวมุสลิมเชื่อว่าเป้าหมายของการถือศีลอด คือการยำเกรงต่อคำสั่งใช้ของพระผู้เป็นเจ้า การขัดเกลาจิตวิญญาณ การรู้จักสำรวมตนและยับยั้งชั่งใจ และการตระหนักถึงเพื่อนมนุษย์ตกทุกข์ได้ยาก
ในบทความนี้ จึงขอนำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับการถือศีลอด ผ่านมุมมองจากเอกสารโบราณของชาวมุสลิมในประเทศไทย ซึ่งอาจยังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้มากนัก เพราะนอกจากพระมหาคัมภีร์ อัลกุรอานโบราณที่เขียนด้วยลายมือ หรือ ตำราศาสนาอิสลามที่เขียนด้วยภาษามลายู ที่เรียกว่า กีตาบยาวี หรือ กีตาบกูนิง ซึ่งเป็นตำราฉบับตีพิมพ์ที่แพร่หลายในภาคศึกษาศาสนาอิสลามในอดีตแล้ว เรากลับไม่ค่อยทราบเกี่ยวกับการจดบันทึกหรือตำราสมัยก่อนการพิมพ์ของ “ชาวมุสลิมที่พูดภาษาไทย” หรือ แม้กระทั่งองค์ความรู้และภาษาที่ใช้จดบันทึกว่ามีลักษณะเช่นใด
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเอกสารโบราณของชาวมุสลิมหายากประเภท สมุดไทยขาว ซึ่งคณะทำงานฐานข้อมูลเอกสารโบราณ ของ ศมส. ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าของ คือ คุณมนัสวี ฮะกีมี เลขานุการอัล-อิศลาห์สมาคม บางกอกน้อย ให้จัดทำสำเนาดิจิทัลเพื่อการศึกษาและเผยแพร่ความรู้แก่สาธารชนต่อไป (ทะเบียน BKK-002-001) สมุดไทยเล่มนี้ ยังคงสภาพดี มีจำนวน 88 หน้า ตัวหนังสือเขียนด้วยหมึกดำเป็นอักษรอาหรับและภาษาไทย [ซึ่งเวลาอ่านภาษาอาหรับจะต้องอ่านจากขวาไปซ้าย ตรงกันข้ามกับภาษาไทยที่จะอ่านจากซ้ายไปขวา] สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุสมัยเก่าไปถึงช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คุณมนัสวีบอกเล่ากับคณะทำงานว่า สมุดไทยเล่มนี้ได้นำมาจากบ้านหลังเก่าของบรรพบุรุษในคลองบางกอกน้อย ซึ่งรอดพ้นจากการถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามหาเอเชียบูรพาในช่วง พ.ศ. 2485-2487 (กุสุมา รักษมณี, 2558: 100-101; สำราญ ผลดี, 2560: 101-108)
ภาพที่ 1 คุณมนัสวี ฮะกีมี กับ คณะทำงานเอกสารโบราณ ศมส.
แม้ว่าจะมีบางส่วนของสมุดขาดหายไป แต่ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ยังสามารถทำให้ทราบถึงเนื้อหาหลัก ซึ่งประกอบด้วยกฎเกณฑ์และขั้นตอนของการประกอบศาสนกิจต่าง ๆ หรือที่ในปัจจุบันชาวมุสลิมเรียกว่า ฟิกฮ์ อัล-อิบาดะฮ์ (นิติศาสตร์ของการสักการะ) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะประกอบด้วย การหลักความสะอาดและการชำระล้าง [อาทิ ประเภทของน้ำที่ใช้ในการชำระล้าง การอาบน้ำละหมาด การอาบน้ำหลังมีประจำเดือนหรือเพศสัมพันธ์ การชำระหลังขับถ่าย ฯลฯ] การขั้นตอนการละหมาด [การละหมาดฟัรฎู (ภาคบังคับ) การละหมาดซุนนะฮ์ (ภาคส่งเสริม) ละหมาดวันอีด ฯลฯ] การถือศีลอด การบริจาคทานซะกาต และ การประกอบพิธีฮัจญ์ รวมถึงข้อปฏิบัติปลีกย่อยอื่น ๆ เป็นต้น (al-Aytah, 1999)
ภาพที่ 2 สมุดไทยขาว “ตำราศาสนาอิสลาม” BKK-002-001
ในบทความนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับ ขั้นตอนและกฎเกณฑ์การถือศีลอด ดังต่อไปนี้
1. ว่าด้วยการตั้งเจตนา หรือ การเหนียต [มาจากคำอาหรับ นียะฮ์ (نية : nīyah)] เมื่อชาวมุสลิมจะประกอบศาสนกิจใด ๆ จะต้องตั้งเจตนาเสียก่อน โดยจะกล่าวหลังจากรับประทานอาหารสะฮูร (มื้อแรก) เสร็จ ก่อนเข้าเวลาละหมาดซุบฮิ (ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น) ซึ่งหากไม่ได้ตั้งเจตนาในช่วงเวลาที่กำหนดแล้ว จะทำให้การถือศีลอดในวันนั้นเป็นโมฆะ ในสมุดไทยขาวฉบับนี้ มีประโยคที่ใช้สำหรับกล่าวตั้งเจตนาในการถือศีลอดเขียนระบุว่า “ตํนนีเนียดบวด” เป็นอักษรอาหรับ 1 บรรทัด พร้อมคำแปลความหมายภาษาไทย ดังนี้:-
ภาพที่ 3 เนื้อหาเกี่ยวกับการเหนียตบวช
* หมายเหตุ ในต้นฉบับจริง คำแปลความหมายภาษาไทยด้านล่าง จะกำกับประโยคภาษาอาหรับที่อ่านเรียงจากขวาไปซ้าย
คำอธิบาย
ประโยคภาษาอาหรับข้างต้นนี้ ถอดคำอ่านเป็นเสียงภาษาไทยว่า “นะวัยตุ เศามะเฆาะเด็น อันอะดาอิ ฟัรฎุชะฮ์ริเราะมะฎอนะ ฮาษิฮิซซะนะตะ ฟัรฎ็อนอะลัยยะ ลิลาฮิตะอาลา” ซึ่งชาวมุสลิมทั่วโลกในปัจจุบันก็ยังคงใช้ประโยคนี้ในการตั้งเจตนาถือศีลอดอยู่ ส่วนคำแปลความหมายภาษาไทยนั้นเป็นอักขรวิธีแบบโบราณ หากแปลด้วยสำนวนแบบชาวมุสลิมปัจจุบันได้ว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจถือศีลอดเป็นฟัรฎู ในเดือนเราะมะฎอนปีนี้ เป็นฟัรฎูเหนือตัวข้าพเจ้า เพื่ออัลลอฮ์ตะอาลา” ทั้งนี้ พบว่ามีการเลือกใช้คำภาษาไทย ได้แก่ บวด = บวช แทนคำว่า ถือศีลอด และการเขียนทับศัพท์ภาษาอาหรับด้วยอักรวิธีถอดเสียงแบบโบราณ ได้แก่ คำว่า ฟรัดลู = ฟัรฎู (ภาคบังคับ) / รามาลาน = เราะมะฎอน / อันลาตาอาลา = อัลลอฮ์ตะอาลา (อัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งยิ่ง) ที่น่าสนใจ คือ การใช้คำภาษามลายูร่วมด้วย ได้แก่ การานา = เพื่อ [มาจากคำมลายู เกอรานา (kerana : کران) มีรากเดิมจากสันสกฤต กรณ แปลว่า ด้วยเพราะ, เนื่องจาก] ซึ่งสะท้อนถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวมุสลิมไทยที่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายู และภาษามลายูเป็นภาษาในการศึกษาศาสนาอิสลามเป็นพื้นฐานมาแต่เดิม
2. ว่าด้วยเงื่อนไขหน้าที่ของผู้ที่ต้องถือศีลอด ในสมุดไทยเล่มนี้ระบุว่า “แลชารัดวายีบไห ทือบวดน้น ๔ ปรากาน” ซึ่งเขียนทับศัพท์ภาษาอาหรับ คำว่า ชารัด มาจาก ชัรฏ์ (شرط) แปลว่า กฎเกณฑ์, เงื่อนไข และ วายีบ มาจาก วาญิบ (واجب) แปลว่า จำเป็น, หน้าที่ โดยมีเนื้อหาดังนี้ :-
ภาพที่ 4 เนื้อหาเกี่ยวกับเงื่อนไขหน้าที่และข้อบังคับในการถือศีลอด
คำอธิบาย คือ บุคคลที่เข้าเงื่อนไขหน้าที่ที่จะต้องถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน มีด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่
1) บุคคลที่มีวัยบรรลุศาสนภาวะ ในสมุดไทยใช้ อาเก้ลบาเลก [ทับศัพท์คำอาหรับว่า อากิล (عقل) = สติปัญญา + บาลิฆ (بالغ) = ผู้ไปถึง, ผู้บรรลุ] หมายถึง บุคคลทั้งชายและหญิงที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ ตามหลักศาสนาอิสลามถือว่ามีร่างกายสมบูรณ์ มีสติสัมปชัญญะ รู้จักผิดชอบชั่วดี เปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยเจริญพันธุ์ ผู้ชายหลั่งอสุจิ ผู้หญิงมีประจำเดือน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเริ่มปฏิบัติศาสนกิจและรู้จักระเบียบแบบแผนการดำเนินชีวิตตามครรลองศาสนา
2) บุคคลที่นับถือศาสนาอิสลาม ในสมุดไทยใช้ อีศะลาม
3) บุคคลที่มีความคิด หมายถึง มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ไม่ได้มึนเมา เสียสติ
4) บุคคลที่มีเรี่ยวแรง หมายถึง มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย ไม่ทุพพลภาพ
3. ว่าด้วยข้อบังคับในการถือศีลอด ในสมุดไทยเล่มนี้ระบุว่า “แลฟรัดลูทือบวดน้น ๔ ปรากาน” ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ส่งผลให้การถือศีลอดนั้น สำเร็จครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้:-
คำอธิบาย
1) ให้ตั้งเจตนาด้วยใจ
2) ตั้งเจตนาให้แน่วแน่สมบูรณ์ ในสมุดไทยใช้คำว่า สำปร้ดนา = สมบูรณ์ มาจากคำมลายูว่า เซิมปุรนา(sempurna) แปลว่า สมบูรณ์, เต็มเปี่ยม] และ นียัด แทน เนียด (เหนียต = ตั้งเจตนา)
3) ให้อดอาหารทุกประเภท ในที่นี้รวมถึงการงดดื่มน้ำด้วย
4) ชายและหญิงให้ละเว้นการเพศสัมพันธ์ในระหว่างการถือศีลอด (แต่สามารถมีได้ในช่วงเวลากลางคืน)
4. ว่าด้วยสิ่งที่ทำให้เสียการถือศีลอด หรือ เสียบวช หมายถึง การกระทำใดที่ส่งผลให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ และทำให้ไม่ได้รับผลบุญจากการถือศีลอดในวันนั้น ๆ และมีเงื่อนไขที่จะต้องถือศีลอดชดใช้ในภายหลัง สมุดไทยเล่มนี้ระบุว่า “แลเสียบวดน้น ๑๐ ปรากาน” แจงไว้ 10 ประการ ได้แก่
ภาพที่ 5 เนื้อหาเกี่ยวกับการเสียบวช
1) การแกล้งหรือจงใจกลืนสิ่งใดเข้าในคอ
2) การแกล้งหรือจงใจสูดสิ่งใดเข้าทางจมูก (*เช่น การนัตถ์ยา สูบบุหรี่)
3) การทำให้สิ่งหนึ่งเข้าในทวารหนักและทวารเบา
4) การอาเจียน สำรอก
5) การมีเพศสัมพันธ์
6) การทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน
7) การมีประจำเดือน
8) การคลอดบุตร
9) เป็นบ้า เสียสติสัมปชัญญะ (รวมถึงเป็นลม)
10) ตกจากศาสนาอิสลาม ในสมุดไทยใช้ โม้ะราตัศ [มาจากคำอาหรับว่า มุรตัด (مرتد) = ผู้ที่หันกลับ, ผู้ที่ย้อนไปสู่สภาพเดิม] หมายถึง บุคคลที่หลุดออกจากการเป็นมุสลิม ออกจากศาสนาอิสลาม
5. การบริจาคซะกาตฟิฏร์ [ภาษาอาหรับ ซะกาตุลฟิฏเราะฮ์ (زكاة الفطرة : zakāt al-Fiṭrah)] คือ การบริจาคทานภาคบังคับสำหรับชาวมุสลิมทุกคนที่ถือศีลอด มีวัตถุประสงค์จุนเจือแก่ผู้ยากไร้และขัดสน อีกทั้งการบริจาคนี้จะการช่วยการถือศีลอดสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเป็นการแสดงถึงการขอบคุณต่ออัลลอฮ์ที่ทรงประทานความโปรดปรานแก่มนุษย์ที่ถือศีลอดและการปฏิบัติศาสนกิจพิเศษในยามค่ำคืนตลอดเดือนเราะมะฎอน ทั้งนี้ กฎของการบริจาคซะกาตฟิฏร์ ตามสำนักนิติศาสตร์ (มัษฮับ) ชาฟิอีย์ ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จะต้องจ่ายเป็นพืชพันธุ์ที่อาหารหลักของคนในถิ่นนั้น ๆ จำนวน 1 ศออ์ (อะลี ญุมอะฮฺฯ, 2556: 106) กรณีของชาวไทยมุสลิมคือ ข้าวสาร
ภาพที่ 6 เนื้อหาเกี่ยวกับการบริจาข้าวซะกาตฟิฏร์
คำอธิบาย
ในสมุดไทยเล่มนี้ระบุประโยคสำหรับกล่าวตั้งเจตนาบริจาคข้าวซะกาตฟิฏร์ว่า “แลตนนี้เนียตตวงเขาเฟตะระของต้วเอง” โดยประโยคภาษาอาหรับต้นนี้ ถอดคำอ่านเป็นเสียงภาษาไทยว่า “อัลลอฮุมมา อัน ฮาษา ซากาติ อัลฟิฏเราะฮ์ อัลละตี ก็อด วาญะบะ อัลลอฮ์ตะอาลา อะลัยยะ ฟี กุลลิ อัซซะนะเต็น ศออัน” มีคำแปลว่า “ซืงเทียงแท้ นีแล ษะกาด ฟิดตะระ ของข้าฯ วายีบ ซืงอันลาตาอาลา เนือตัวข้าฯ แตทุก ๆ ปี นึงกันตัง”
หากแปลด้วยสำนวนแบบชาวมุสลิมปัจจุบันได้ว่า “โอ้ อัลลอฮ์ แท้จริง นี่คือซะกาตฟิฏร์ ซึ่งอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งยิ่ง ได้กำหนดเหนือตัวข้าพเจ้า ทุก ๆ ปี จำนวน 1 ศออ์”
ในส่วนนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเทียบมาตราตวง ศออ์ (الصاع : aṣ-ṣā’a) หน่วยของชาวอาหรับในเมืองมะดีนะฮ์ โดยอัตรา 1 ศออ์ จะเท่ากับ 2.04 กิโลกรัม อย่างไรก็ดี ศออ์อาจมีอัตราที่แตกต่างกันบ้างในแต่ละประเทศ (อะลี ญุมอะฮฺฯ, 2556: 53-54) สำหรับชาวไทยมุสลิมในปัจจุบัน อัตราซะกาตฟิฏร์ที่กำหนดโดยสำนักจุฬาราชมนตรี 1 ศออ์ จะเท่ากับ 2.7 กิโลกรัม (สำนักจุฬาราชมนตรี, 2557) อย่างไรก็ดี การถอดคำแปล “ศออ์” ของสมุดไทยเล่มนี้กลับใช้คำว่า กันตัง ซึ่งมาจากคำมลายูเรียกว่า กันตาง (ݢنتاڠ : Gantang) อันเป็นชื่อมาตราตวงผลผลิตทางการเกษตร ที่มาจากภาชนะทองเหลืองรูปทรงคล้ายขัน หรือ ถ้วยขนาดใหญ่ ซึ่งชาวมุสลิมในประเทศไทยในสมัยก่อนนิยมใช้ในการตวงข้าวซะกาตฟิฏร์ (ดูภาพที่ 7)
ภาพที่ 7 กันตัง (Gantang)
ที่มาภาพ: https://iamm.org.my/education/learning-resources/malay-world-gallery-gantang
ยิ่งไปกว่านั้น ในส่วนถัดไปของสมุดไทยยังระบุคำตั้งเจตนาในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้บริจาคข้าวซะกาตฟิฏร์แทน คำตั้งเจตนาของผู้รับบริจาคด้วย รวมถึงบทละหมาดตะรอวีห์ ซึ่งเป็นการละหมาดพิเศษในยามค่ำคืนที่มีเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนอีกด้วย
สรุป
สมุดไทยเล่มนี้เป็นตำรา “ฟิกฮ์ อัล-อิบาดะฮ์” หรือ “นิติศาสตร์ของการสักการะ” โดยเป็นการอธิบายขั้นตอนการปฏิบัติศาสนกิจพื้นฐานของศาสนาอิสลามและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิมอย่างยิ่ง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น คู่มือมุสลิมเบื้องต้น ก็ว่าได้ หากเมื่อพิจารณาเนื้อหาโดยรวม พบว่ามีความใกล้เคียงกับตำราประเภทเดียวกันของชาวมุสลิมในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ผู้เขียนพบประเด็นน่าสนใจคือ 1) รูปแบบการบันทึกตำราศาสนาอิสลามลงในสมุดไทยที่นับว่าหายาก 2) การจดบันทึกด้วยภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและอิสลามศึกษา และการถ่ายถอดเสียงและการใช้ความหมายเป็นภาษาไทยในแบบอักรวิธีโบราณ รวมถึงการใช้คำศัพท์ภาษามลายูปะปนอยู่ด้วย ที่สะท้อนรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของชุมชนมุสลิมบางกอกน้อยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษ “แขกแพ” ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ตลอดจน อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันผสมผสานจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของชาวมุสลิมแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
สมุดไทยเล่มนี้จึงถือเป็นหนึ่งในหลักฐานในการทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมและจารีตการจดบันทึกของชาวมุสลิมในประเทศไทยและเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะอีกด้วย
ขอขอบพระคุณ
คุณมนัสวี ฮะกีมี เลขานุการอัล-อิศลาห์สมาคม บางกอกน้อย, คุณนิสา เชยกลิ่น นักวิชาการฐานข้อมูล ฝ่ายคลังข้อมูลวิชาการ หัวหน้าโครงการเอกสารโบราณฯ ศมส. และ คุณศุภกรานต์ พุ่มพฤกษ์ นักผลิตสื่อ ฝ่ายเทคโนโลยีดิจิทัล ศมส.
เอกสารอ้างอิง
กุสุมา รักษมณี. (2558). ราชการุญ จากวันนั้นถึงวันนี้. กรุงเทพฯ: สหพัฒนการพิมพ์ จำกัด.
สำนักจุฬาราชมนตรี. (2557). ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง การเทียบมาตราตวง ๑ ศออ์ ในซะกาตฟิฏร์. https://www.skthai.org/th/news/30941-การเทียบมาตราตวง-1-ศออ์-ในซะกาตฟิฏร์
สำราญ ผลดี. (2560). มุสลิมบางกอกน้อย พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ภูมิปัญญา และวิถึวัฒนธรรมอิสลามในเมืองหลวง. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.
อะลี ญุมอะฮฺ มุฮัมมัด อับดุลวะฮฺฮาบ. (2566). มาตราชั่ง วัด ตวง ในกฎหมายอิสลาม. กรุงเทพฯ: สนพ. เพื่อการค้นคว้าวิจัยด้านนิติศาสตร์อิสลาม.
al-Aytah, Hajjah Durriah. (1999). Fiqh al-Ibadat (Jurisprudence of Worship) According to the Shafi’i School of Thought. (Lama al-Jabban, trans.). Online Accessed on 7/3/2025. https://archive.org/details/FiqhAlIbadatHajjahDurriahAlAytah
ผู้เขียน
สุนิติ จุฑามาศ
นักวิจัย ฝ่ายคลังข้อมูลวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ขั้นตอน การถือศีลอด สมุดไทยขาว ชาวมุสลิม คลองบางกอกน้อย สุนิติ จุฑามาศ