เอกสารเมืองถลาง กับการตายของทาสผู้หนึ่ง ใน พ.ศ.2333

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 1424

เอกสารเมืองถลาง กับการตายของทาสผู้หนึ่ง ใน พ.ศ.2333

           เอกสารเมืองถลาง เป็นเอกสารตัวเขียนอักษรไทยที่ถูกเก็บอยู่ใน Marsden Collection ณ ห้องสมุดแห่งวิทยาลัยบูรพาคดีและแอฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งต่อมา ขจร สุขพานิช ได้คัดลอกเอกสารเมืองถลางทั้งหมดกลับมายังประเทศไทย โดยมีนายประสาร บุญประคลอง อ่านและอธิบายความหมายของคำต่าง ๆ ที่ไม่อาจเข้าใจได้ในปัจจุบัน

           เอกสารเมืองถลางนี้ลงตีพิมพ์ในวารสาร แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสาร โบราณคดี ทั้งหมด 3 ฉบับ กล่าวคือ 1) ฉบับปีที่ 2 เล่ม 3 เดือนกันยายน พ.ศ.2511 2) ฉบับปีที่ 3 เล่ม 1 เดือนมกราคม พ.ศ.2512 และ 3) ฉบับปีที่ 3 เล่ม 2 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2512 สำหรับเนื้อหาที่ปรากฏในเอกสารเมืองถลาง E. H. S. Simmonds จัดแบ่งออกได้กว้าง ๆ ตามช่วงเวลาได้ 3 ช่วง (Simmonds 1963) ได้แก่

           1) เอกสารในช่วง พ.ศ.2316-2323 ได้ว่าทำให้เข้าใจสภาพการค้าระหว่างชาวพื้นเมืองถลางกับพระยาราชกปิตันหรือกัปตันฟรานซิส ไลต์ (Francis Light) พ่อค้าแห่งเกาะปีนังได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายข้าว ดีบุก และการทำหนังสือสัญญาเงินกู้ ดังเช่น เอกสารของขุนฤทธิ์ถึงพระยาราชกปิตัน ความว่า

วันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 14 ค่ำ ปีกุนเอกศก ข้าฯ ขุนฤทธิ์ทำหนังสือให้ไว้ต่อท่านพระยาราชกปิตัน แลข้าพเจ้ารับเอาฝิ่นของท่านไปเป็นดีบุกภาราหนึ่ง ข้าฯ สัญญาจะส่งดีบุกให้ ณ เดือน 9 ข้างสิ้นนี้ให้ครบภาราหนึ่ง ตามหนังสือสัญญามิให้ของท่านขัดสน ขีดแกงไดให้ไว้สำคัญ (ขจร สุขพานิช 2511, 129)

           2) เอกสารในช่วง พ.ศ.2328-2330 ได้ว่าทำให้เข้าใจสถานการณ์ของเมืองถลางและเมืองต่าง ๆ โดยรอบที่ถูกกองทัพพม่าโจมตี รวมถึงการขอความช่วยเหลือจากพระยาราชกปิตันหรือกัปตันฟรานซิส ไลต์ (Francis Light) ให้ช่วยนำสินค้าและข้าวมาขาย ณ เมืองตะกั่วทุ่งบางคลี ดังตอนหนึ่งในเอกสารของเจ้าพระยาสุรินทราชาถึงพระยาราชกปิตัน ความว่า

ด้วยพม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลางครั้งนี้เดชะพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปกเกล้าปกกระหม่อม แลทะแกล้วทหารชาวเมืองถลางได้รบพุ่งต้านต่อด้วยพม่า รั้งรากันอยู่ถึงประมาณเดือนหนึ่ง ฝ่ายพม่าล้มตายเจ็บป่วยลงประมาณ 300-400 คน พม่ายกเลิกแตกไป แต่ ณ วัน 2 เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะเส็งสัปตศกนั้น แต่บัดนี้ ฝ่ายชาวเมืองตะกั่วทุ่งบางคลี เป็นเมืองเชิ่งทรงบ้านเรือนเรี่ยรายกันอยู่ พม่าเผาข้าวเสียเป็นอันมาก ข้าวขัดสนเห็นไม่พอเลี้ยงบ้านเมืองไปจนจะได้ข้าวในไร่ในนา ให้พระยาราชกปิตันเห็นแก่การแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสืบไป ให้ช่วยจัดแจงนายเรือ แล (ส) ลุ๊บลูกค้าบรรทุกสินค้าแลข้าวมาจำหน่าย ณ แขวงเมืองตะกั่วทุ่งบางคลี แต่พอจะได้เจือจ่ายไปแก่ราษฎรๆ จะได้ทำไร่นาสืบไป เอาตรารูปคนปิดมาเป็นสำคัญ หนังสือมา ณ วัน 4 เดือน 5 ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะเมียอัฐศก (ขจร สุขพานิช 2512ก, 100)

           3) เอกสารในช่วง พ.ศ.2331-2337 ได้ทำให้เข้าใจถึงสภาพเมืองถลางภายหลังจากการต่อสู้ขับไล่กองทัพพม่าที่ยกมาโจมตีได้สำเร็จแล้วรัฐบาลราชสำนักที่กรุงเทพฯ มีความพยายามรื้อฟื้นการควบคุมเมืองถลางขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ ในเรื่องการค้าขายก็เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งด้วย โดยเน้นไปในทางซื้ออาวุธปืนแลกระสุนดินดำ ดังตอนหนึ่งในเอกสารของเจ้าพระยาถลางถึงพระยาราชกปิตัน ความว่า

ด้วยจะต้องการปืนคาบศิลาชาติสุตัน ฝรั่งเศสสัก 200 กระบอก ดินประสิวดำสัก 20-30 หีบ จะซื้อไว้รักษาบ้านเมือง ให้ท่านช่วยจัดแจงว่ากล่าวให้ลูกค้าผู้หนึ่งผู้ใด ช่วยบรรทุกปืนสุตัน ฝรั่งเศส ดินประสิวดำมา ณ เมืองถลาง ตูข้าจะจัดดีบุกให้ตามราคา ไม่ให้ขัดสน (ขจร สุขพานิช 2512ข, 100)

           อนึ่ง ยังมีเหตุการณ์หนึ่งที่ปรากฏในเอกสารเมืองถลาง อันแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวพื้นเมืองถลางและชาวตะวันตกผู้เข้ามาค้าขาย ณ พื้นที่การค้าแห่งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวคือ เหตุการณ์การตาย “คูลาวารามีน” ณ อ่าวญามู เมืองถลาง เมื่อ พ.ศ.2333

           เหตุการณ์การตายของคูลาวารามีน ปรากฏอยู่ในเอกสารเมืองถลาง แผ่นที่ 18 ซึ่งภายในเนื้อความได้เขียนขึ้นระบุชื่อ “หลวงท่า” คือผู้ที่ต้องการส่งสารและรายงานถึงต้นสายปลายเหตุต่าง ๆ ของเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นระหว่างพวกตนและมะลิมกัปปิตันวิศโตนกับมะลิมกัปปิตันมิราเสนไปยังพระยาราชกปิตัน อันเป็นเหตุที่นำมาสู่การมรณกรรมของคูลาวารามีน ทาสของมะลิมกัปปิตันมิราเสนในบั้นปลายของการทะเลาะวิวาทครั้งนี้ หลวงท่าเริ่มต้นเขียนว่า ในต้นเหตุของการทะเลาะวิวาทนี้ ผู้ก่อเหตุก่อนก็คือ “มะลิมมือด้วนของกัปปิตันวิศโตน” ผู้เป็นคนลักพาตัวผู้หญิงคนหนึ่งนามว่า อำแดงคงทอง ซึ่งเป็นทาสของอำแดงชีบุญ ลงไปไว้บนเรือกำปั่นของตน ในวัน 1 เดือน 7 ขึ้น 10 ค่ำ ปีจอโทศก หรือตามที่นายประสาร บุญประคอง อธิบายไว้นั้นตรงกับวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2333

           เมื่อเกิดการลักพาตัวคนขึ้น หลวงท่าจึงใช้ให้นายเทพ ผู้เป็นบุตร รวมถึงนายหลีกับนายช่วย ผู้เป็นบ่าว ไปช่วยกันนำเอาตัวอำแดงคงทองกลับมา ปรากฏว่า ทั้งสามสามารถช่วยอำแดงคงทองกลับมาได้สำเร็จ แล้วจึงพาตัวไปให้แก่หลวงยกกระบัตรเมืองถลาง แต่ทว่าเรื่องยังไม่จบลงเพียงง่าย ๆ เพราะว่าหลังจากพาตัวอำแดงคงทองกลับมาได้สองวัน ประกอบกับหลวงท่าได้เดินทางไปที่ท่าเรือ (เข้าใจว่าคือ ท่าเรืออ่าวญามู) เพื่อรับดีบุกหลวง มะลิมกัปปิตันวิศโตนกับพวกซึ่งอยู่ที่นั้นอยู่ก่อนแล้วจึงเข้ามาถามเรื่องอำแดงคงทองจากนายหลี เวลานี้เองที่เกิดการทะเลาะวิวาทกันครั้งแรก หลวงท่าเขียนเล่าความว่า

ครั้นอยู่ ณ วัน 3 เดือน 7 ขึ้น 12 ค่ำ ปีจอโทศก ข้าฯ หลวงท่าขึ้นไปท่าเรือรับดีบุกหลวง มะลิมวิศโตนคบพวกเพื่อนขึ้นมา ณ กว้านญามู ถามนายหลีบอกว่าเอาอำแดงคงทองนั้นไปเสียไหน จึงนายหลีบอกแก่มะลิมว่า อีคงทองนั้น นายพาเอาตัวขึ้นไปบ้านแล้ว จึงมะลิมฟันนายหลีเป็นสาหัส (ขจร สุขพานิช 2512ก, 140)

           ไม่นานเพียงสองวันหลังจากนายหลีถูกฟัน เหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกันก็เกิดขึ้นอีกคำรบ เมื่อนายเทพบุตรหลวงท่าประสงค์จะตรวจตราดีบุกบนเรือกำปั่นของมะลิมกัปปิตันมิราเสนอันเป็นการทำหน้าที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมาอยู่แล้ว ทว่ามะลิมกัปปิตันมิราเสนไม่ยอมให้นายเทพตรวจดีบุก พร้อมกันถีบนายเทพตกลงจากกำปั่นของตนอีก จนกระทั่งในวัน 6 เดือน 7 ขึ้น 15 ค่ำ หรือวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2333 คราวนี้ มิใช่เหตุบังเอิญที่จะเกิดการทะเลาะวิวาทระหว่างกันอีกต่อไป แต่เป็นความตั้งใจของมะลิมกัปปิตันวิศโตนและมิราเสนที่จะเดินทางมาหาหลวงท่าถึงอ่าวญามู จนกระทั่งเกิดเหตุทะเลาะวิวาทเป็นคำรบที่สาม เป็นเหตุให้คูราวารามีนทาสของกัปปิตันมิราเสนต้องกระสุนปืนถึงแก่ความตาย โดยหลวงท่าผู้เขียนเอกสารชิ้นนี้ก็เล่าความในตอนเกิดการทะเลาะวิวาทครั้งที่ 3 ไว้ว่า

ครั้งอยู่มา ณ วัน 6 เดือน 7 ขึ้น 15 ค่ำ มะลิมกัปปีตันวิศโตน มะลิมกัปปีตันมิราเสนขั้นมา ณ อ่าวญามู จึงข้าฯ ใช้ให้นายหลีออกไปถามมะลิมวิศโตนว่า ขึ้นมานี้ธุระสิ่งอันใด จึงมะลิมวิศโตนยิงก่อนแล้วยึดไล่ฟันนายหลี จึงข้าฯ ร้องห้ามไปว่าอย่าวุ่นวาย จึงมะลิมกัปปีตันมิราเสนยิงมาตรง ข้าฯ กระบอกหนึ่ง จึงข้าฯ ใช้นายเทพบุตรข้าฯ ยิงต้องคูลาวารามีนทาสกัปปีตันมาราเสนถึงตาย (ขจร สุขพานิช 2512ก, 141)

           อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์การตายของคูลาวารามีนแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีเอกสารเมืองถลางฉบับใดรายงานถึงเหตุการณ์หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร แต่การทะเลาะวิวาทถึงขนาดมีคนตาย คงไม่น่าจะจบลงง่ายนัก ด้วยผิดจากการทะเลาะวิวาทครั้งอื่นระหว่างชาวตะวันตกและชาวพื้นเมืองที่ปรากฏอยู่ในเอกสารเมืองถลางอันไม่เคยมีคนตายเกิดขึ้นมาก่อน ดังเช่น กรณีการวิวาทกันระหว่างกรมการเมืองถลางกับกปิตันวิรแสนที่มีเพียงเจ้าพระยาถลางขอความร่วมมือจากถึงพระยาราชกปิตันช่วยระงับการวิวาท (ขจร สุขพานิช 2512ข, 100-102) หรือกรณีการวิวาทกันระหว่างมะลีมฝาเรสกับขุนสรสาทก็มีเพียงขอให้มีการว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น (ขจร สุขพานิช 2512ข, 107)

           จากการยกเหตุการณ์การตายคูลาวารามีนข้างต้น หากพิจารณาในฐานะประวัติศาสตร์สังคม ตามทัศนะของเครก เจ. เรย์โนลด์ส ที่ว่า “ประวัติศาสตร์สังคมเกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคม ปฏิสัมพันธ์ของผู้คน พฤติกรรม และกิจกรรมของคนตามสภาวะทางสังคม ถ้าเราตัดสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมบางประเภท (เช่น ความเชื่อและอุดมการณ์ออกไป) สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ ประวัติศาสตร์สังคม” (2556, 62) แล้ว ก็คงทำให้เกิดการขยายความเข้าใจในมิติการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวพื้นเมืองกับชาวตะวันตก ณ เมืองถลาง อันหาใช่เพียงติดต่อกันในเรื่องการค้าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เท่านั้น แต่ทว่ายังเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความรุนแรงของผู้คนในห้วงเวลาดังกล่าวได้มากขึ้นกว่าเดิม


เอกสารอ้างอิง

ขจร สุขพานิช. (2511). เอกสารเมืองถลาง. แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี 2 (3): 121-136.

ขจร สุขพานิช. (2512ก). เอกสารเมืองถลาง [ตอนที่ 2]. แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี 3 (1): 95-141.

ขจร สุขพานิช. (2512ข). เอกสารเมืองถลาง [ตอนที่ 3]. แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี 3 (2): 79-124.

เรย์โนลด์ส, เครก เจ. 2556. ประวัติศาสตร์สังคมคืออะไร. เจ้าสัว ขุนศึก ศักดินา ปัญญาชนและคนสามัญ รวมบทความประวัติศาสตร์: แนวคิดและวิธีการศึกษาของเครก เจ. เรย์โนลด์ส (น.57-93). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

Simmonds, E. H. S. (1963). The Thalang Letters, 1773-94: Political Aspects and the Trade in Arms. Bulletin of the School of Oriental and African Studies 26 (3): 592-619.


ผู้เขียน
กฤชกร กอกเผือก
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ เอกสารเมืองถลาง การตาย ทาส กฤชกร กอกเผือก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา