พลังของข่าวลือ

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 1988

พลังของข่าวลือ

           ข่าวลือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์มาช้านาน พลังของข่าวลือมีอิทธิพลต่อการรับรู้ พฤติกรรม การกระทำ หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงวิถีของประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าข่าวลือจะถูกมองว่าเป็นเพียงเรื่องซุบซิบหรือเรื่องราวที่ไม่เป็นจริง แต่พลังของข่าวลือกลับแผ่ขยายไปไกลเกินกว่าเนื้อหาที่ดูผิวเผิน บทความนี้จะสำรวจธรรมชาติหลากหลายแง่มุมของข่าวลือ ตั้งแต่บทบาทของข่าวลือในฐะนะเครื่องมือของความสามัคคีและความขัดแย้งไปจนถึงการสร้างความเป็นจริงทางสังคมขึ้นมาบางประการ

           ในทางสังคมศาสตร์ ข่าวลือ (rumor) ถูกนิยามไว้หลากหลาย ในทางหนึ่ง ข่าวลือถือเป็นความเชื่อที่ปราศจากหลักฐานแน่ชัดมาสนับสนุน (Shibutani 1996) ขณะที่ในอีกทางหนึ่ง

           ข่าวลืออาจเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน (unsecured information) ในขณะหนึ่ง ๆ (Fine 2017) ก็ได้ บางคนอาจนิยามว่าข่าวลือเป็นเนื้อหาในกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นพลวัตจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาสาระของข่าวยังไม่คงตัว (Brouksy 2014) นิยามที่ยืดหยุ่นเช่นนี้ของข่าวลือทำให้อาจกล่าวได้ว่าข่าวลือวางอยู่บนชายขอบของข้อเท็จจริงบางประการที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทความรับรู้และวัฒนธรรมของสังคมที่ข่าวลือแพร่กระจายได้ พลังและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากข่าวลือแสดงให้เห็นความสำคัญในสังคมของข่าวลือ ตั้งแต่ในระดับชีวิตประจำวันของผู้คน ไปจนถึงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ


บทบาทของข่าวลือ: เครื่องมือของความสามัคคีและความขัดแย้ง

           เนื้อหาสาระของข่าวลือฝังอยู่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและส่งผ่านข้อมูลเหล่านั้นจากบุคคลไปสู่บุคคล และจากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง การแพร่ขยายของข่าวลือต่อ ๆ กันนำมาซึ่งการเสริมแต่ง ดัดแปลง ตลอดจนทำให้เรื่องราวในข่าวลือซับซ้อนหรือใหญ่โตไปกว่าจุดแรกเริ่มได้ โอมาร์ โบรกซี (Omar Brouksy) (2014) สังเกตว่าผู้คนมักกระจายข่าวลือโดยสอดแทรกอัตตา การตีความ และความคิดเห็นส่วนตัวเพื่อหล่อเลี้ยงอีโก้ (ego) ของตนเองหรือกลุ่ม ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนหรือวิกฤตในสังคมหนึ่ง ๆ ข่าวลือสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสามัคคีทางสังคม ผ่านการให้เรื่องเล่าที่ช่วยหลอมรวมให้บุคคลต่าง ๆ กลายเป็นกลุ่มก้อนในสถานการณ์ที่วุ่นวายหรือคลุมเครือได้ ตัวอย่างข่าวลือที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมกำลังอ่อนไหว เกิดขึ้นในกรณีการกลับมาของสุลต่านโมฮัมเม็ดที่ 5 แห่งโมร็อคโก (Mohammed V of Morocco) หลังจากถูกเนรเทศโดยรัฐบาลฝรั่งเศสวีชี ซึ่งให้ความร่วมมือกับรัฐบาลนาซีเยอรมัน เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1955 ชาวโมร็อคโกลือกันว่าพวกเขาจะสามารถสังเกตเห็นใบหน้าของอดีตสุลต่านได้เมื่อมองไปที่ดวงจันทร์ยามราตรี โบรกซีชี้ว่าการแพร่หลายของข่าวลือนี้สร้างจินตนาการร่วมให้กับชาวโมร็อคโกในฐานะเครื่องมือสร้างความสามัคคีในชาติท่ามกลางกระแสต่อต้านลัทธิอาณานิคมตะวันตก

           ในทางกลับกัน เจมส์ ซี สก็อต (James C. Scott) (1985) ชี้ให้เห็นว่าข่าวลือทำหน้าที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการประท้วงหรือต่อต้านผู้มีอำนาจอย่างแยบยล กรณีกลุ่มคนชายขอบที่ถูกละเลยของเขา แสดงให้เห็นว่าข่าวลือถูกใช้เพื่อต่อต้านผ่านการท้าทายอำนาจหรือแสดงความเห็นต่างได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ชยาสีลัน ราช (Jayaseelan Raj) (2019) ให้ตัวอย่างอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากข่าวลือเพื่อคงสภาพสถานการณ์ความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างอ่อนแรง เขาเริ่มต้นจากการอภิปรายให้เห็นว่าข่าวลือเป็นคนละอย่างกับการนินทา การศึกษากิจการไร่ชาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในอินเดียในช่วง 1990 ของราช แสดงให้เห็นภาวะเปราะบางของทั้งลูกจ้างเก็บใบชาและผู้ประกอบการ ในขณะที่ลูกจ้างใช้การนินทาในลักษณะของการต่อต้านผู้ประกอบการ ซึ่งแสดงให้เห็นความตระหนักรู้เกี่ยวกับการขูดรีดแรงงานในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการใช้การปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับบริษัทใหม่ที่กำลังจะเข้ามาซื้อกิจการซึ่งมีแนวโน้มให้ผลประโยชน์แก่ลูกจ้างที่ดีกว่าในอนาคต เพื่อประคับประคองไม่ให้ลูกจ้างทยอยลาออกจนขาดแคลนแรงงาน ราชตั้งข้อสังเกตว่าการที่ลูกจ้างเก็บใบชาไม่ออกมาประท้วงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ อีกทั้งยังอดทนต่อสภาพความเป็นอยู่และความไม่พึงพอใจต่อผู้ประกอบการได้ น่าจะเป็นผลมาจากการที่ข่าวลือของผู้ประกอบการได้ช่วยสร้างและหล่อเลี้ยงความหวังต่ออนาคตที่ดีกว่า เพื่อควบคุมสถานการณ์ภายในของกิจการ และค่อย ๆ ผัดผ่อนสถานการณ์ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจออกไป ในบริบทนี้ ข่าวลือทำหน้าที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางสังคม โดยบงการความคาดหวังและระงับการต่อต้านของคนงานเก็บใบชา ข่าวลือในฐานะเครื่องมือของทั้งความสามัคคีและความขัดแย้งนี้เน้นย้ำถึงความซับซ้อนและความสำคัญของข่าวลือในพลวัตทางสังคม


การขยายตัวของข่าวลือผ่านเทคโนโลยี

           กล่าวได้ว่าข่าวลือเป็นรูปแบบของสื่อที่เก่าแก่ที่สุดรูปแบบหนึ่งซึ่งดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ของมนุษย์ ในทุกสังคมและทุกห้วงเวลา ประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ดำเนินไปพร้อมกับการเกิดขึ้นและแตกดับของข่าวลือ สื่อและปฏิกิริยาของสังคมสามารถขยายเรื่องราวเล็กน้อยให้กลายเป็นวิกฤตขนานใหญ่ได้ (Cohen 2011) เดิมที การแพร่ขยายของข่าวลือเกิดขึ้นแบบปากต่อปาก โดยเฉพาะผ่านวงนินทาของคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ในช่วงหลัง ๆ เมื่อเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารพัฒนาขึ้นหลายรูปแบบ ช่องทางการแพร่กระจายของข่าวลือทบทวีและกว้างไกลมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่สื่อมวลชนเท่านั้น เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์มีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้ข่าวลือแพร่หลาย (Brouksy 2014; Fine 2017) ในยุคดิจิทัล การแพร่กระจายและผลกระทบของข่าวลือถูกขยายอย่างทวีคูณโดยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ข่าวลือแพร่กระจายเร็วขึ้นเท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตการเข้าถึง และยากต่อการควบคุมและหักล้างอีกด้วย

           ตัวอย่างที่น่าสะเทือนใจคือ ในปี 2016 ข่าวลือที่เรียกว่าพิซซ่าเกต (Pizzagate) ซึ่งเป็นส่วนผสมของทฤษฎีสมคบคิดและข่าวปลอมจากกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา ถูกปล่อยและแพร่หลายในสังคมออนไลน์ เนื้อหาของข่าวลือคือการอธิบายว่าฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นอยู่เบื้องหลังการใช้แรงงาน การทารุณกรรม และการใคร่เด็ก โดยมีร้านพิซซ่าแห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ ฮิวจ์ กุสเตอร์สัน (Hugh Gusterson) (2017) อธิบายว่าข่าวลือดังกล่าวถูกปล่อยเพื่อหวังผลทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของการที่ข่าวลือเหล่านี้ถูกเชื่อและส่งผลกระทบ ไม่ได้อยู่ที่ความถูกต้องหรือไม่ของข้อมูล แต่อยู่ที่การสะท้อนความเชื่อและมุมมองที่สังคมมีต่อเนื้อหาสาระของข่าวลือ นั่นคือ แม้เนื้อหาสาระในข่าวลือจะผิดไปจากข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง แต่การที่ข่าวลือนั้นถูกเชื่อแสดงให้เห็นความรับรู้เบื้องลึกของความจริงบางอย่าง กุสเตอร์สันวิเคราะห์ว่า คลินตันอาจไม่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็กอย่างสิ้นเชิง แต่พรรคการเมืองของเธออาจมีส่วนในนโยบายรื้อถอนอุตสาหกรรม (deindustrialization) ซึ่งจะบ่อนทำลายการจ้างงานของเด็กในอนาคต ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าข่าวลือนี้จะถูกหักล้างแล้ว แต่ประเด็นดังกล่าวนี้ก็ยังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทางออนไลน์ ส่งผลให้เกิดผลที่ตามมาในโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงการโจมตีร้านพิซซ่าอย่างรุนแรง กรณีดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถทำให้เส้นแบ่งระหว่างเรื่องแต่งกับความจริงเลือนราง สร้างและธำรงสภาพเนื้อหาของข่าวลือได้อย่างไร


ข่าวลือกับความเป็นจริง: การประกอบสร้างทางสังคมและความทรงจำร่วม

           เนื้อหาสาระของข่าวลือสามารถมีได้หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องราวธรรมดาเกี่ยวกับผู้คนไปจนถึงเรื่องราวเหนือธรรมชาติ คำถามสำคัญคือ อะไรทำให้เรื่องราวของข่าวลือบางแบบที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ได้รับความเชื่อถือหรือดูเหมือนจะเป็นไปได้ในสายตาของคนบางกลุ่ม หลุยส์ ไวท์ (Luise White) (2017) อธิบายว่าความน่าเชื่อถือและผลกระทบของข่าวลือเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับการประกอบสร้างทางสังคมของความเป็นจริงและความทรงจำส่วนรวม สิ่งที่ทำให้ข่าวลือน่าเชื่อถือในสังคมหนึ่งอาจไม่น่าเชื่อเลยในอีกสังคมหนึ่งก็ได้ ความแตกต่างนี้มีรากฐานมาจากบริบททางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมโดยเฉพาะเจาะจง ที่จะกำหนดความเข้าใจของชุมชนเกี่ยวกับความเป็นจริง เธอบอกว่ารากฐานทางความคิดที่สนับสนุนความเป็นไปได้ของข่าวลือในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน เรื่องราวที่ดูผิดที่ผิดทาง เหนือจริง ไร้เหตุผล ไม่น่าเป็นไปได้ในสังคมหนึ่ง ๆ อาจพลิกกลับเป็นตรงข้ามในสังคมอื่น กรณีศึกษาที่ไวท์นำเสนอ คือ ข่าวลือเกี่ยวกับแวมไพร์และการขโมยเลือดในแอฟริกาตะวันออก แสดงให้เห็นว่าการตีความเรื่องราว เหตุการณ์ และบริบทของข่าวลือมีนัยสำคัญต่อความเข้าใจของผู้คน หลักฐานที่กำหนดความจริงของข่าวลือไม่ได้เกิดขึ้นและมีอยู่เองอย่างเป็นวัตถุวิสัย แต่เกิดขึ้นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความทรงจำร่วม (collective memory) เกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างของข่าวลือเป็นพลังขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง

           พาเมลา เฟลด์แมน-ซาเวล์สเบิร์ก และคณะ (Pamela Feldman-Savelsberg et al.) (2017) บอกว่าความทรงจำร่วมสัมพันธ์กับข่าวลือในสองลักษณะ ลักษณะแรกคือการที่ความทรงจำร่วมสร้างฐานความรับรู้ภายใต้โครงสร้างของความทรงจำบางอย่าง ส่งผลให้เรื่องราวบางเรื่องของข่าวลือกลายเป็นความจริงที่สมเหตุสมผลเมื่อเชื่อมโยงกับความเชื่อและทัศนคติเกี่ยวกับธรรมชาติของระเบียบทางสังคม (nature of the social order) ในขณะที่ลักษณะที่สองคือความทรงจำร่วมเกี่ยวกับข่าวลือในอดีตมีส่วนในการสนับสนุนการเกิดขึ้นของข่าวลือใหม่ ๆ ส่งผลให้ในบางครั้ง การพูดคุยเกี่ยวกับข่าวลือใหม่ ๆ จึงมีลักษณะของการอ้างถึงหรือนำสิ่งที่เคยเชื่อว่าเกิดขึ้นมาก่อนมาเทียบเคียงหรือเล่าใหม่ เฟล์ดแมน-ซาเวล์สเบิร์ก และคณะ ให้ตัวอย่างข่าวลือของชาวบามิเลก (Bamileke) ในประเทศคาเมอรูน (Cameroon) ที่หวาดกลัวการแพทย์แบบตะวันตกโดยเฉพาะการฉีดวัคซีนว่าจะทำให้เป็นหมันและอาจติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ว่าเป็นผลมาจากข่าวลือในอดีตสมัยอาณานิคม ที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกพยายามบ่อนทำลายภาวะเจริญพันธุ์ของพวกเขา กรณีนักเรียนหญิงกระโดดหน้าต่างหนีการฉีดวัคซีนกันบาดทะยักในช่วงต้นปี 1990 ซึ่งเกิดจากความกลัวว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะเป็นหมัน ได้รับการถ่ายทอดความคิดมาจากคนรุ่นพ่อแม่ซึ่งประสบปัญหาข่าวลือมาจากยุคสงครามเย็น ดังนี้เอง จะเห็นได้ว่าทั้งข่าวลือและความทรงจำในอดีตได้ก่อรูปความรู้บางอย่างขึ้นมาเพื่อรองรับการนิยามสถานการณ์และประกอบสร้างความเป็นจริง


ชวนดูผู้เคราะห์ร้าย: อิทธิพลของข่าวลือและอำนาจลี้ลับในโลกสมัยใหม่ของแอฟริกา

           ผลลัพธ์ของการแพร่หลายของข่าวลือบางอย่างนำไปสู่การตื่นตระหนกและการถือสาหาความต่อความระแวดระวังสงสัยเกินสมควร ในทางหนึ่ง อันตรายของข่าวลืออาจนำมาซึ่งเคราะห์ร้ายในนามของความไม่รู้ได้ ลองพิจารณาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากข่าวลือดังต่อไปนี้ (as cited in Bonhomme 2012)

           1. ในเดือนมิถุนายน ปี 2010 ณ เมืองปอร์-ฌ็องตี (Port-Gentil) ประเทศกาบอง (Gabon) เอลี (Elie) ช่างก่อสร้างวัย 30 ปีกำลังมองหาคนงานผู้ช่วย เขาเดินเข้าไปหาเด็กชายคนหนึ่ง จับมือทักทายและเสนองานให้ เด็กชายปฏิเสธ แต่เสนอให้น้องชายของเขาไปช่วยงานช่างก่อสร้างแทน ในขณะที่เอลีกำลังเดินจากไป เขาถูกคว้าและพาตัวไปยังบ้านหลังใกล้ ๆ เด็กชายกล่าวหาว่าเอลีขโมยองคชาตของเขา เด็กชายบอกว่าหลังจากที่ได้ที่จับมือทักทายกับเอลี เขารู้สึกเหมือนถูกไฟฟ้าช็อตบริเวณหว่างขาและองคชาตของเขาหดสั้นลง การโต้เถียงเกิดขึ้นอย่างเผ็ดร้อน ผู้คนเข้ามามุงดูการโต้เถียง ท้ายที่สุดช่างก่อสร้างถูกจับเปลื้องผ้า มัดไว้กับเสาไฟฟ้าและถูกทารุณกรรม เมื่ออดีตภรรยาของขาผ่านมาโดยบังเอิญ เธอโทรศัพท์เรียกตำรวจเข้ามาช่วยเหลือ ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น เด็กชายถูกปรับและรอลงอาญา 3 เดือน

           2. บริเวณชานเมืองของเมืองดาการ์ (Dakar) ประเทศเซเนกัล (Senegal) เดือนมกราคม ปี 2010 มุสตาฟา (Mustafa) นักปฐพีวิทยาเกษียณอายุ เดินทางไปตลาดใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟเพื่อมอบเนื้อแพะเป็นการทำทานให้กับคนยากจน เขาทักทายผู้หญิงสองคนบริเวณแผงลอยและเสนอเนื้อแพะห่อด้วยถุงพลาสติกสีดำให้ ผู้หญิงสองคนปฏิเสธแม้จะรู้สึกถูกกดดันให้รับไว้หลังจากนั้น ภายใต้ความผิดหวัง มุสตาฟาเดินไปยังแผงตรงข้ามเพื่อซื้อผลไม้ก่อนกลับบ้าน แต่เพียงชั่วอึดใจ เขาตระหนักได้ว่าผู้คนเข้ามามุงที่ตัวเขา ผู้หญิงสองคนร้องบอกว่าการที่มุสตาฟาเสนอเนื้อแพะให้เพราะเจตนาอยากจะฆ่าพวกเธอ มุสตาฟาร้องเรียกตำรวจและถูกพาตัวออกไปยังสถานีตำรวจ แต่ผู้คนกว่าสองร้อยคนพากันติดตามและขว้างปาก้อนหินใส่มุสตาฟา เขาไม่สามารถกลับบ้านได้จนกระทั่งตะวันตกดินซึ่งฝูงชนเริ่มสลายตัว แม้จะหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาตัดสินใจที่จะไม่แจ้งความ

           3. เดือนกรกฎาคม ปี 2004 ที่เมืองคาลาบาร์ (Calabar) ประเทศไนจีเรีย (Nigeria) วินเซนต์ (Vincent) เด็กชายอายุ 16 ปีได้ยินเสียงโทรศัพท์ของพี่สาว เรเชล (Rachel) ในขณะที่เรเชลกำลังยุ่ง เธอขอให้น้องชายช่วยรับโทรศัพท์แทน เมื่อมองไปที่หน้าจอโทรศัพท์ วินเซนต์เห็นแต่หมายเลขและไม่แสดงชื่อผู้ติดต่อ หลังจากรับโทรศัพท์และกล่าวทักทาย เสียงจากปลายสายมีเพียงเสียงไอของชายแก่ ทันใดนั้นเขาก็หมดสติไป เมื่อเรเชลได้ยินเสียงน้องชายล้มลง เธอเข้ามาดูอาการและคุยโทรศัพท์ แต่แล้วเธอก็สลบไป ทั้งสองฟื้นขึ้นมาอีกครั้งท่ามกลางการรายล้อมของญาติ ๆ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา นักข่าวเดินทางมาตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาโทรศัพท์กลับไปยังหมายเลขที่ถูกบันทึกไว้ เสียงปลายสายเป็นหญิงสาวที่รับโทรศัพท์ด้วยความงุนงง ปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง และอย่าโทรมาก่อกวน เมื่อนักข่าวซักไซ้เธอก็วางสายไปพร้อมอาการหัวเสีย

           จูเลี่ยน บอนฮอมม์ (Julien Bonhomme) (2012) อธิบายว่าเคราะห์ร้ายที่เกิดขึ้นในสามกรณีข้างต้น ของเอลี มุสตาฟา และหญิงสาวปลายสายโทรศัพท์ แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เป็นอิสระต่อกัน แต่ก็เป็นผลมาจากข่าวลือที่กำลังแพร่หลายอยู่ในสังคมแอฟริกาในขณะนั้น นั่นคือข่าวลือเรื่องการฉกชิงองคชาต (penis snatcher) ของขวัญมฤตยู (deadly alms) และเบอร์โทรศัพท์มรณะ (killer mobile phone number) บอนฮอมม์บอกว่าอิทธิพลของข่าวลือที่นำไปสู่เคราะห์ร้ายในสามกรณีนี้เป็นตัวแทนของความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถาในโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะในยุคของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ช่วยแพร่กระจายข่าวลือออกไปได้อย่างกว้างขวาง ความลี้ลับของเนื้อหาในข่าวลือเหล่านี้ไม่เพียงถือเป็นมรดกความเชื่อในสังคมแอฟริกาเพียงอย่างเดียว แต่ยังถือเป็นปรากฏการณ์ที่ความเลื่อนไหลของโลกว่าด้วยภาพและสัญญะ ดังที่อรชุน อัปปาดูไร (Arjun Appadurai) (1996) เรียกว่าภูมิทัศน์สื่อ (mediascape) เข้ามามีบทบาทด้วย


สรุป

           ข่าวลือไม่เพียงเป็นมากกว่าความเท็จหรือการซุบซิบนินทาเท่านั้น แต่ยังเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการสื่อสารของมนุษย์ที่สะท้อนและกำหนดความเป็นจริงทางสังคม พลังของข่าวลือมีทั้งที่ถูกใช้งานอย่างตรงไปตรงมาและแอบแฝง และทั้งสะท้อนให้เห็นเบื้องลึกของความรับรู้ความจริงบางอย่างที่เคยมีอยู่หรือถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นฐานความเข้าใจร่วมกันของสังคม ไม่ว่าข่าวลือจะถูกใช้เพื่อรวบรวมหรือแบ่งแยกผู้คน เพื่อควบคุมหรือต่อต้านอำนาจก็ตาม ข่าวลือก็นับเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในโครงสร้างทางสังคม อีกทั้งยังสร้างความได้เปรียบเชนเดียวกับผู้เคราะห์ร้ายได้ในขณะเดียวกัน การทำความเข้าใจพลวัตของข่าวลือถือเป็นสิ่งสำคัญในโลกยุคปัจจุบันที่ข้อมูลเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและมีการโต้แย้งมากขึ้น ในขณะที่สังคมยังคงเผชิญกับความท้าทายของข้อมูลที่ผิดพลาดและการสูญเสียความไว้วางใจในแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารแบบดั้งเดิม การหันมาครุ่นคิดและพิจารณาเกี่ยวกับข่าวลือจะให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีคุณค่าเกี่ยวกับวิธีที่ผู้คนใช้ทำความเข้าใจโลกรอบ ๆ ตัว การรับรู้ถึงพลังและอันตรายของข่าวลือจะทำให้เราสามารถรับมือกับความซับซ้อนของภูมิทัศน์ข้อมูลสมัยใหม่ได้ดีขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้คนมีความรู้และครุ่นคิดต่อข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมากขึ้น


รายการอ้างอิง

Appadurai, A. 1996. Modernity at Large: Cultural Dimensions of Gloaization. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Bonhomme, J. 2012. The Danger of Anonymity: Witchcraft, Rumor, and Modernity in Africa. Hau: Journal of Ethnographic Theory. 2(2): 205-233.

Brouksy, O. 2014. The Anthropology of Rumour.
https://lb.boell.org/en/2014/11/06/anthropology-rumour

Cohen, S. 2011. Folk Devils and Moral Panics. London: Routledge.

Feldman-Savelsberg, P et al. 2017. How Rumor Begets Rumor: Collective Memory, Ethnic Conflict, and Reproductive Rumors in Cameroon. In Rumor Mills: The Social Impact of Rumor and Legend. New York: Routledge

Fine, G. A. 2017. Rumor Matters: An Introductory Essay. In Rumor Mills: The Social Impact of Rumor and Legend. New York: Routledge.

Gusterson, H. 2017. How Rumors Tap and Fuel Anxieties in the Internet Age. https://www.sapiens.org/culture/power-of-rumors/

Raj, J. 2019. Rumour and Gossip in a Time of Crisis: Resistance and Accommodation in a South Indian Plantation Frontier. Critique of Anthropology. 39(1): 52-73.

Scott, J. C. 1985. Weapons of the Weak: Everyday Forms of Peasant Resistance. New Haven: Yale University Press.

Shibutani, T. 1996. Improvised News: A Sociological Study of Rumor. Indiana: Bobbs-Merrill.

White, L. 2017. Social Construction and Social Consequences. In Rumor Mills: The Social Impact of Rumor and Legend. New York: Routledge


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ข่าวลือ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา