มานุษยวิทยาแมว (Anthropology of Cat)
การศึกษาสิ่งมีชีวิตที่มิใช่มนุษย์ในฐานะเป็น “บุคคล” หรือเป็นผู้ที่มีการกระทำของตัวเอง ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (Birke et al., 2004; Law & Mol, 2008; Philo & Wilbert, 2000) ประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาคือ สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นมิได้เป็นเพียงผู้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ แต่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นล้วนมีปฏิบัติการตอบโต้กับมนุษย์และมีผลทำให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง (Soderberg, 2004) ตลอดจนส่งผลให้มนุษย์สร้างสังคมและวัฒนธรรมจากการกระทำของสัตว์ด้วย (Poole, 2014) ดังนั้น การศึกษาปฏิสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่งระหว่างมนุษย์กับสัตว์จึงเปิดพรมแดนความเข้าใจใหม่ว่าสัตว์คือผู้กระทำการในระดับเดียวกับมนุษย์ (Barad, 2003; O’Connor, 2007) ในการศึกษาแมวของนักโบราณคดีเพื่อทำความเข้าใจสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแมว ทำให้เห็นว่าสัตว์รับรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่และมันสามารถตอบโต้กับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมเหล่านั้น สัตว์รู้ว่าสิ่งมีชีวิตอื่นกำลังเป็นภัยหรือเป็นมิตรกับมัน สัตว์จึงมีสำนึกของตัวตนว่ามันกำลังรู้สึกอย่างไรต่อสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว และรู้ว่ามันจะปฏิบัตตัวอย่างไรให้อยู่รอดในสถานการณ์ต่าง ๆ (Irvine, 2007) ท่ามกลางเหตุการณ์ สิ่งมีชีวิตล้วนมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมซึ่งทำให้เกิดการกระทำที่สร้างความเป็นตัวตน (agential intra-actions) (Barad, 2003) หรือการกำหนดความเป็นผู้กระทำการ (actor-enacted) ที่ผุดขึ้นมาในสถานการณ์ที่สิ่งมีชีวิตตอบโต้กับสิ่งต่าง ๆ (Law & Mol, 2008)
นักสัตววิทยาได้แยกประเภทแมวบ้านออกจากแมวป่า (Kitchener & O’Connor, 2010) แต่ในความสัมพันธ์ที่มีกับมนุษย์ แมวที่คุ้นเคยและสามารถปรับตัวเข้ากับการอาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์จะถูกพิจารณาให้เป็นแมวบ้าน (Crowell-Davis et al., 2004) แต่ทั้งแมวป่าและแมวบ้านล้วนมีพฤติกรรมทางสังคมที่ยืดหยุ่นและหลากหลายขึ้นอยู่กับเพศของแมว สภาพแวดล้อมของถิ่นที่อยู่อาศัย ลักษณะและชนิดของอาหาร รวมถึงวิธีการล่าเหยื่อและการหาอาหาร (Liberg & Sandell, 1988) แมวป่าที่สามารถปรับตัวให้คุ้นเคยกับการอยู่อาศัยในพื้นที่ของมนุษย์จะกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่ถูกนำมาพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสม (Crowell-Davis et al., 2004) จะเห็นว่าแมวที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันทั้งแมวในป่าและแมวในบ้านเรือนของมนุษย์ คือความหลากหลายของแมว แมวแต่ละชนิดจึงมีพฤติกรรม นิสัย อารมณ์และปฏิกริยาตอบโต้กับมนุษย์ไม่เหมือนกัน (Bradshaw, 2013) นักพัฒนาสายพันธุ์แมวจึงพยายามทดลองผสมสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดแมวที่มีลักษณะนิสัยสงบเรียบร้อย และเป็นมิตรกับมนุษย์ (Mendl & Harcourt, 2000) ในสมัยวิคตอเรีย Charles Darwin เคยอธิบายว่าเนื่องจากแมวเป็นสัตว์ซุกซนในเวลากลางคืน มันจึงยากที่จะจับมาผสมพันธุ์เพื่อผลิตลูกสายพันธุ์ใหม่
Karsh and Turner (1998) กล่าวว่าช่วงที่แมวอายุระหว่าง 2-7 สัปดาห์ เป็นช่วงที่แมวเรียนรู้ที่จะอยู่กับมนุษย์ แมวจะมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ง่ายในช่วงอายุดังกล่าว ในช่วง 1 ปีแรกที่แมวเติบโตขึ้น มันจะเรียนรู้การแสดงพฤติกรรมที่คลุกคลีกับมนุษย์ (Bradshaw, 2013) แต่สิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมของแมวได้คือประสาทสัมผัสทางสายตาและหู เพราะแมวสามารถมองเห็นได้ดีในที่มืดและได้ยินเสียงที่มนุษย์ไม่ได้ยิน สิ่งที่มนุษย์เข้าใจได้เป็นเพียงปฏิสัมพันธ์บางอย่างที่แมวตอบโต้ในทางกายภาพ จะเห็นว่ามนุษย์มีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของแมว ดังนั้นแมวเป็นสัตว์ที่มีความสามารถพิเศษ ประสาทสัมผัสของแมวสามารถสร้างการรับรู้ที่ไม่เหมือนกับประสาทสัมผัสของมนุษย์ หมายถึง สิ่งที่แมวสัมผัสและรับรู้อาจเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้
ประวัติศาสตร์ของแมว
นักโบราณคดีในประเทศอังกฤษ ค้นพบหลักฐานการเลี้ยงแมวของมนุษย์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 (Hetherington et al., 2006) จากสภาพแวดล้อมของอังกฤษที่มีแมวป่าชุกชุมแต่สายพันธุ์แมวบ้านที่ถูกเลี้ยงมิได้พัฒนามาจากแมวป่า แต่เป็นแมวจากที่อื่นซึ่งมนุษย์ในยุคหินรู้จักเลี้ยงแมวไว้กับครัวเรือน นักโบราณคดีคาดว่าแมวบ้านที่แมวป่าในอังกฤษได้ผสมพันธุ์และพัฒนากลายเป็นแมวสายพันธุ์ใหม่ (Kitchener & O’Connor, 2010) ความแตกต่างทางสายพันธุ์ของแมวป่ากับแมวบ้านอาจพิจารณาได้จากขนาดรูปร่าง เพราะแมวป่าจะมีรูปร่างที่ใหญ่กว่าแมวบ้าน แต่ถ้าเทียบระหว่างแมวป่าตัวเมียกับแมวบ้านตัวผู้ ขนาดจะมีความใกล้เคียงกันซึ่งอาจทำให้แมวสองสายพันธุ์ผสมพันธุ์กันได้ นักวิชาการอธิบายว่าคำว่า Cat ในภาษาอังกฤษมีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า cattus ส่วนคำดั้งเดิมของชาวอังกฤษจะใช้คำว่า Catt หรือ catte ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า catching หมายถึงการจับ เนื่องจากแมวที่มนุษย์เลี้ยงมักจะทำหน้าที่จับหนู (Barney et al., 2006) จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับแมวอาจนิยามจากการกระทำที่แมวแสดงออกในพื้นที่ทางสังคมของมนุษย์ (Poole, 2013)
อย่างไรก็ตาม ปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับแมวมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับบทบาทและฐานะทางสังคม เพศสภาพ ความเชื่อทางศาสนา และแบบแผนการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ความรู้สึกส่วนตัวอาจทำให้คนบางคนมีความใกล้ชิดและผูกพันกับสัตว์บางชนิด นักโบราณคดีอังกฤษพบว่ายุคสมัยแซ็คซอน (ค.ศ.450-1066) ในเขตเมืองเก่าจะพบซากกระดูกของแมวมากกว่าเขตที่อยู่อาศัยในชนบท เหตุผลประการหนึ่งคือในพื้นที่เมืองมีเศษอาหารของมนุษย์และหนูที่เป็นอาหารของแมว ทำให้แมวสามารถอยู่อาศัยในเขตเมือง (Engels, 2001) พื้นที่เมืองจึงมีประชากรแมวอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น นอกจากนั้น นักโบราณคดียังพบว่าในช่วงสมัยแซ็คซอน มนุษย์นิยมนำขนแมวมาเป็นเครื่องนุ่งห่มเพราะสีสันและลวดลายของขนแมวสามารถทำให้เกิดเสื้อผ้าที่งดงาม (Poole, 2015) แต่กลุ่มคนที่ใช้เสื้อผ้าจากขนแมว สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นกลุ่มคนชนชั้นล่างของสังคม (Veale, 2003)
Bradshaw (2013) อธิบายว่าแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่ค่อนข้างใช้ชีวิตอิสระและไม่ค่อยแยแสกับการอยู่กับมนุษย์ เมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขแล้ว แมวค่อนข้างมีชีวิตของตัวเองเห็นได้จากการชอบท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ ตามลำพัง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแมวกับมนุษย์มีระยะห่าง (Griffiths et al., 2000) ทักษะการล่าและการจับหนูเป็นสิ่งที่แมวแสดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในยุคกลางของยุโรป มนุษย์มักจะเลี้ยงแมวไว้เพื่อจับหนูโดยจะให้แมวรู้สึกหิวเพื่อที่จะไล่จับหนูเป็นอาหาร (Thomas, 1996) เมื่อเปรียบเทียบแมวที่ถูกมนุษย์เลี้ยงดูอย่างดีโดยให้กินอาหรที่อุดมสมบูรณ์ กับแมวที่ถูกเลี้ยงโดยให้อาหารปริมาณน้อย พบว่าแมวที่กินดีอยู่ดีจะจับหนูได้น้อยกว่าแมวที่หิวโหย (Engels, 2001) จากกรณีนี้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แมวและหนู ซึ่งวางอยู่บนการบริโภคอาหาร เมื่อเศษอาหารของมนุษย์คือสิ่งที่หนูบริโภค หนูก็เป็นเหยื่อให้กับแมวที่หิวโหยที่ถูกมนุษย์เลี้ยงโดยให้กินอาหารแบบอดอยาก ในยุคกลางของอังกฤษ แมวที่จับหนูได้มากจะถูกให้คุณค่ามากกว่าแมวที่ไม่เก่งในการจับหนู ซึ่งคุณค่านี้ต่างไปจากแมวในยุคปัจจุบันที่มนุษย์มักจะเลี้ยงไว้เพื่อความชอบส่วนบุคคล
Serpell and Paul (1994) ตั้งข้อสังเกตว่าความหมายของสัตว์เลี้ยงในปัจจุบัน ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า pet หมายถึงสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลินและสนองตอบความรู้สึกของผู้เลี้ยง ในขณะนี้แมวในอดีตอาจถูกเลี้ยงไว้เพื่อทำหน้าที่บางอย่าง เช่น จับหนูหรือเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไว้ตัดขน ในขณะที่สังคมยุคกลางในยุโรปอาจรู้สึกแปลกแยกเมื่อมนุษย์ต้องนำสัตว์มาใกล้ชิดกับคนในบ้าน แต่ปัจจุบันความรู้สึกผูกพันกับสัตว์เลี้ยงกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามสร้างขึ้นมาใหม่ Poole (2015) ตั้งข้อสังเกตว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแมวแยกไม่ออกจากการที่แมวทำหน้าที่บางอย่างสำหรับมนุษย์ กล่าวคือการพึ่งพาอาศัยแมวทำให้มนุษย์รู้สึกใกล้ชิดและผูกพันกับแมว ตัวอย่างการตั้งชื่อให้แมว อาจสะท้อนว่ามนุษย์กำลังทำให้แมวกลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในชีวิต เพราะการตั้งชื่อบ่งบอกว่าแมวคือสิ่งที่ต้องจดจำ (Hearne, 2007) และยังช่วยจำแนกแมวแต่ละตัวออกจากกันทำให้มันกลายเป็นบุคคลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Kelly, 1997) ขณะเดียวกันมันก็เป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะทำให้แมวมีสถานะเป็นดังบุคคล
แมวกับสังคมและความเชื่อ
แมวในฐานะเพื่อนของมนุษย์วางอยู่บนความสัมพันธ์ต่างตอบแทน โดยมนุษย์และแมวล้วนตอบโต้ไปมาเพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในกิจกรรมทางสังคม สิ่งที่แมวได้รับคืออาหารและที่พักอาศัย สิ่งที่มนุษย์ได้รับคือความเพลิดเพลินและความพึงพอใจ (human-pleasing meows) (Nicastro, 2004; Poole, 2015) เมื่อแมวได้รับการสัมผัสทางร่างกายจากมนุษย์ แมวสามารถแสดงความพึงพอใจด้วยการส่งเสียงร้องเหมียว เช่น การเกาคางหรือการลูบหัว การกระทำเหล่านี้ทำให้แมวรู้สึกถึงความใกล้ชิดกับมนุษย์ และมนุษย์รู้สึกว่าแมวกำลังมีความสุขจากการอยู่กับมนุษย์(Serpell, 1986) ในการศึกษาของ McComb et al. (2009) ชี้ว่าพฤติกรรมของสัตว์ประเภทแมว การส่งเสียงร้องคือการแสดงความต้องการและการพึ่งพาอาศัย เช่น ลูกแมวส่งเสียงร้องเมื่อหิวนม เสียงร้องของแมวจึงเป็นวิธีแสดงออกถึงความใกล้ชิดและผูกพัน และยังบ่งบอกว่าแมวเป็นสัตว์ที่กระตือรือร้อและตอบโต้กับสิ่งรอบข้าง
ในการศึกษา Anthrozoology ซึ่งสนใจความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์กับสัตว์ ชี้ให้เห็นวิธีการให้คุณค่าและความหมายของแมวในสังคม เช่น ภาพแกะสลัก Adam and Eve ฝีมือของศิลปิน Albrecht Durer จะพบแมวอ้วนนอนอยู่ที่ปลายเท้าของอีฟ ซึ่งมีนัยยะถึงตัณหาทางเพศ สิ่งล่อใจ และความสมบูรณ์ของสตรี ในภาพเขียนของ Henrik Golthius ชื่อ The Fall of Man มีภาพแมวนอนอยู่ข้างมนุษย์ชายหญิงที่เปลือยกาย บ่งบอกถึงสัญชาตญาณ ความปรารถนา การควบคุมไม่อยู่ และการผิดศีลธรรม ในภาพเขียนของ Domenico Ghirlandaio (1480) ชื่อภาพ Last Supper จะมีแมวนั่งอยู่ข้าง ๆ พระเยซู มีนัยยะว่าแมวเป็นตัวแทนความชั่วร้าย ปีศาจ บาป และการทรยศหักหลัง ตัวอย่างภาพเขียนทั้งสามนี้สะท้อนว่าศาสนาคริสต์มักจะให้ความหมายแมวในเชิงลบ ในการศึกษาของ Rutkowska(2016) พบว่าวรรณกรรมของชาวอเมริกันจำนวนมากมักจะกล่าวถึงแมวในชีวิตของมนุษย์ Konecki (2005) กล่าวว่าผู้หญิงมักจะถ่ายภาพกับแมวและปฏิบัติราวกับเป็นเด็กตัวน้อยที่น่ารัก
การศึกษาของ Patricia Dale-Green (1963) พบว่ามนุษย์มักจะมีทัศนะคติต่อแมวเป็นสองด้าน คือ (1) มองแมวเป็นสัตว์ที่น่ารัก น่าทะนุถนอม (2) มองแมวเป็นสัตว์ที่น่าหวาดระแวงและเป็นอันตราย ความคิดสองขั้วนี้คือการแยกคู่ตรงข้ามระหว่างความดีกับความชั่ว แต่ในสังคมปัจจุบัน สื่อจำนวนมากมักจะเอนเอียงในการนำเสนอภาพลักษณ์แมวในฐานะเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่าหลงใหล (Wypych, 2018) การศึกษาของ Laurence Bobis (2008) อธิบายว่าในสังคมยุโรปยุคกลาง มักจะเชื่อว่าแมวเป็นสัญลักษณ์ของปีศาจและสิ่งลี้ลับ การให้ความหมายต่อแมวในเชิงบวกและลบอาจเกิดขึ้นจากคุณลักษณะและพฤติกรรมของแมวที่มีทั้งความว่องไว การรักอิสระ เป็นนักล่า และความสามารถในการหลบหลีก แมวจึงมีความคลุมเครือในการระบุว่านิสัยที่แท้จริงของมันเป็นอย่างไร ทำให้ในสังคมยุโรปยุคกลางซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับพลังชั่วร้ายและเวทมนต์ของแม่มด แมวมักถูกเปรียบเทียบเป็นความชั่วร้ายหรือเป็นตัวแทนของปีศาจ (Michalski, 2011) นอกจากนั้นในยุคกลาง แมวยังถูกนำมาจับเผาทั้งเป็น ถูกแขวนคอและถูกฟาดกับพื้นดินอย่างแรง ในขณะที่ Wypych (2018) กล่าวว่าธรรมชาติของแมวมักถูกเปรียบเทียบกับลักษณะของผู้หญิง ดังนั้นในสังคมที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าเพศอื่น แมวจึงเป็นสัตว์ที่น่าหวาดระแวงในสายตาของผู้ชาย
Lawrence (2003) กล่าวว่าในสังคมอียิปต์โบราณ แมวเสมือนกับอำนาจของเทพเจ้า ชาวอียิปต์สังเกตพฤติกรรมของแมว โดยเชื่อว่าถ้าแมวแสดงความดุร้ายจะบ่งบอกให้รู้ว่ากำลังจะมีภัยธรรมชาติหรือมีคนตาย รวมทั้งมองว่าแมวคือสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางเวลาความเป็นกับความตาย และมันยังสามารถเป็นที่สิงสถิตย์ของอำนาจเหนือธรรมชาติ ในภาพยนตร์ซีรีย์ทางโทรทัศน์เรื่อง My Cat From Hell ออกฉายในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 2011–2017 พบว่าแมวถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของความไม่ซื่อและน่าสงสัย แมวจึงเป็นสัตว์ที่ฝึกฝนให้ทำสิ่งต่าง ๆ ตามความต้องการของมนุษย์ได้ยากกว่าสุนัข Bradshaw (2013) กล่าวว่าปัจจุบัน แมวยังคงมีคุณลักษณะของความเป็นสัตว์ป่าซึ่งมีความดื้อและไร้ระเบียบ พัฒนาการของการเป็นสัตว์เลี้ยงที่เชื่อฟังและเข้าใจคำสอนของมนุษย์ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายในการฝึกแมวให้เหมือนสุนัข Shan (2004) อธิบายว่าการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับแมวค่อนข้างยาก สิ่งที่มนุษย์กระทำไม่ว่าจะพูดคุยหรือแสดงท่าทางต่าง ๆ กับแมว แมวอาจสัมผัสได้แต่มันจะไม่เข้าใจสิ่งที่มนุษย์ต้องการ สิ่งที่มนุษย์ใช้สื่อสารกับแมวจึงมักจะเป็นการส่งเสียงเรียก “เหมียว เหมียว” หรือทำท่าทางต่าง ๆ
White (2013) ตั้งข้อสังเกตว่าความพยายามจะเข้าใจสัตว์อย่างแมว จำเป็นต้องรู้จักผัสสะและความรู้สึกของแมว เนื่องจากการมีตัวตนของแมว (cat subjectivities) วางอยู่กับคุณลักษณะทางร่างกาย การเคลื่อนไหวและการแสดงพฤติกรรม การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับแมวไม่ควรจะตัดสินโดยโลกทัศน์ของมนุษย์ แต่ควรทำความเข้าใจว่าแมวมีผัสสะและวิธีการรับรู้ที่ต่างจากมนุษย์อย่างไร จากประสบการณ์ทำงานในสถานสงเคราะห์แมวไร้บ้าน ทำให้ White พบเห็นพฤติกรรมของแมวแต่ละตัวที่มีปฏิสัมพันธ์กัน และสังเกตเห็นว่าสิ่งที่แมวกระทำต่อกันต่างไปจากสิ่งที่แมวกระทำกับมนุษย์ นอกจากนั้น สภาพแวดล้อมที่แมวดำรงอยู่ยังมีผลต่อการแสดงพฤติกรรมของแมว ประสบการณ์อยู่กับแมวของ White ทำให้เห็นว่าการเรียนรู้ตัวตนของแมวไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการสังเกตและการเฝ้ามองสิ่งที่แมวทำอย่างเดียว หากแต่ควรมาจากการใช้ผัสสะที่หลากหลายทั้งกลิ่น เสียง อุณหภูมิ และรสชาติที่มนุษย์ใกล้ชิดกับแมว รวมทั้งตระหนักว่าผัสสะของแมวแต่ละตัวย่อมต่างกันขึ้นอยู่กับอายุและเพศของแมวด้วย
บรรณานุกรม
Barad, K. (2003). Posthumanist performativity: Toward an understanding of how matter comes to matter. Signs, 28(3), 801–831.
Barney, S. A., Lewis, W. J., Beach, J. A., & Berghof, O. (2006). The Etymologies of Isidore of Seville. Cambridge: Cambridge University Press.
Bobis, L. (2008). The Cat: Stories and Legends. Kraków: AVALON.
Birke, L., Bryld, M., & Lykke, N. (2004). Animal performances. An exploration of intersections between feminist science studies and studies of human/animal relationships. Feminist Theory, 5(2), 167–183.
Bradshaw, J. (2013). Cat sense. The feline enigma revealed. London: Allen Lane.
Crowell-Davis, S. L., Curtis, T. M., & Knowles, R. J. (2004). Social organization in the cat: A modern understanding. Journal of Feline Medicine and Surgery, 6, 19–28.
Dale-Green, P. (1963). Cult of the Cat. New York: Weathervane Books.
Engels, D. (2001). Classical cats. London: Routledge.
Griffiths, H., Poulter, I., & Sibley, D. (2000). Feral cats in the city. In C. Philo & C. Wilbert (Eds.), Animal spaces, beastly places. New geographies of human–animal relations (pp. 56–70). London: Routledge.
Hearne, V. (2007). Adam’s task. Calling animals by name. New York: Skyhorse publishing.
Hetherington, D. A., Lord, T. C., & Jacobi, R. M. (2006). New evidence for the occurrence of Eurasian lynx (Lynx lynx) in medieval Britain. Journal of Quaternary Science, 21, 3–8.
Irvine, L. (2007). The question of animal selves: Implications for sociological knowledge and practice. Qualitative Sociological Review, 3, 5–22.
Karsh, E. B., & Turner, D. C. (1998). The human–cat relationship. In D. C. Turner & P. Bateson (Eds.), The domestic cat: The biology of its behaviour (pp. 67–81). Cambridge: Cambridge University Press.
Kelly, F. (1997). Early Irish farming. Dublin: Dublin Institute for Advanced Studies.
Kitchener, A. C., & O’Connor, T. (2010). Wildcat, Felis silvestris, domestic and feral cat, F. cattus. In T. P. O’Connor & N. J. Sykes (Eds.), Extinctions and invasions: The social history of British fauna (pp. 83–94). Oxford: Oxbow.
Konecki, Krzysztof, T. (2005). People and Their Animals: A Symbolic Interactionist Analysis of the Social World of Pet Owners. Warszawa: Wydawnictwo Naukowe SCHOLAR
Law, J., & Mol, A. (2008). The actor-enacted: Cumbrian sheep in 2001. In C. Knappett & L. Malafouris (Eds.), Material agency: Towards a non-anthropocentric approach (pp. 57–77). Dusseldorf: Springer.
Lawrence, E. (2003). A Feline Fortunes: Contrasting Views on Cats in Popular Culture. Journal of Popular Culture, March 27, 623–634.
Liberg, O., & Sandell, M. (1988). Spatial organisation and reproductive tactics in the domestic Cat and other felids. In D. C. Turner & P. Bateson (Eds.), The domestic cat: The biology of its behaviour (pp. 67–81). Cambridge: Cambridge University Press.
Michalski, Ł. (2011).The spirit of perverseness, czyli rzeź kotów. In Zwierzęta i ludzie Ed. Jacek Kurek, Krzysztof Maliszewski, 109–122. Chorzów: Miejski Dom Kultury Batory w Chorzowie.
McComb, K., Taylor, A. M., Wilson, C., & Charlton, B. D. (2009). The cry embedded within the purr. Current Biology, 19(13), 507–508.
Mendl, M., & Harcourt, R. (2000). Individuality in the domestic cat: Origins, development and stability. In D. C. Turner & P. Bateson (Eds.), The domestic cat: The biology of its behaviour (2nd ed., pp. 179–190). Cambridge: Cambridge University Press.
Nicastro, N. (2004). Perceptual and acoustic evidence for species-level differences in meow vocalisations by domestic cats (Felis catus) and African wild cats (Felis silvestris lybica). Journal of Comparative Psychology, 118, 287–296.
O’Connor, T. P. (2007). Thinking about beastly bodies. In A. Pluskowski (Ed.), Breaking and shaping beastly bodies. Animals as material culture in the Middle Ages (pp. 1–10). Oxford: Oxbow.
Philo, C., & Wilbert, C. (2000). Animal spaces, beastly places. An introduction. In C. Philo & C. Wilbert (Eds.), Animal spaces, beastly places: New geographies of human–animal relations (pp. 1–34). London: Routledge.
Poole, K. (2013). Engendering debate: Animals and identity in Anglo-Saxon England. Medieval Archaeology, 57, 61–82.
Poole, K. (2014). The Contextual Cat: Human–Animal Relations and Social Meaning in Anglo-Saxon England. Journal of Archaeological Method and Theory, 22, 857–882.
Rutkowska, M. (2016). Dogs, Cats, and Humans: Companion Animals in American Literature. Lublin: Wydawnictwo Uniwersytetu Marii Curie-Skłodowskiej.
Serpell, J. (1986). In the company of animals. A study of human–animal relationships. Oxford: Blackwell.
Serpell, J., & Paul, E. (1994). Pets and the development of positive attitudes to animals. In A. Manning & J. Serpell (Eds.), Animals and human society: Changing perspectives (pp. 127–144). London: Routledge.
Shan, Kwong, K. (2004). The Philosopher Cat. London: William Heinemann.
Soderberg, J. (2004). Wild cattle: Red deer in the religious texts, iconography, and archaeology of early medieval Ireland. International Journal of Historical Archaeology, 8(3), 167–183.
Thomas, K. (1996). Man and the natural world. Changing attitudes in England 1500–1800. Oxford: Oxford University Press.
Veale, E. M. (2003). The English fur trade in the Later Middle Ages. Loughborough: London Record Society.
White, K. (2013). And Say the Cat Responded? Getting Closer to the Feline Gaze. Society & Animals, 21 (2013), 93-104.
Wypych, K.L. (2018). (Un) cultural Cats: Multi-dimensional Transition of Felines in Human Society. Culture & Media, 3, 163-178.
ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ มานุษยวิทยา แมว Anthropology CAT นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ