บ้านนกแอ่นกินรัง: สถาปัตยกรรมหลากสายพันธุ์ที่มีนกแอ่นเป็นศูนย์กลาง
Human-Wildlife conflict หรือความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า (อันหมายถึงสัตว์ที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลครอบครองของมนุษย์) ทวีความรุนแรงได้รับความสนใจการกล่าวถึงหรือปรากฎอยู่บนพื้นที่สื่อมากขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุนัขจรจัด แร็คคูนในอเมริกา จิงโจ้ในออสเตรเลีย นกพิราบในเมืองใหญ่ หรือในไทยที่ลิงแสมลพบุรีสร้างปัญหาให้กับคนมากขึ้น สัตว์บางส่วนเช่นช้างป่าก้าวข้ามเส้นพรมแดนระหว่างพื้นที่ป่าของสัตว์และพื้นที่เมืองของมนุษย์ การอาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์กับสัตว์ป่าที่มีพฤติกรรมการดำรงชีวิตต่างกันจึงเกิดเป็นความขัดแย้งและผลกระทบต่อการดำรงชีวิตทั้งกับสัตว์และคน
ท่ามกลางปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ป่า มีบางกรณีที่พบว่าคนก็ได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของสัตว์เหล่านี้ ดังเช่น ลิงแสมที่กลายมาเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยวของเขาสามมุกและเมืองลพบุรี แม้จะมีปัญหาแต่ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างผลประโยชน์มหาศาลกับคนในสังคมบางกลุ่ม สำหรับในบทความนี้ผู้เขียนขอพูดถึงกรณีของ นกแอ่นกินรัง ที่มนุษย์ได้อานิสงค์จากการขายและบริโภครังนกในฐานะสินค้าราคาแพง จนคนบางกลุ่มเริ่มสร้างบ้านให้นกแอ่นเข้ามาอยู่มากขึ้นจนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองที่กำลังทวีความรุนแรงและเริ่มขยายตัวไปทั่วประเทศในปัจจุบัน
ภาพที่ 1 คอนโดนกแอ่นในอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ภาพ: ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ (3 มิถุนายน 2567)
รังนก ทองคำขาวภายใต้ชาติพันธุ์สัมพันธ์เศรษฐกิจ-วัฒนธรรมจีน
เพื่อทำความเข้าใจที่มาของอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับรังนกแอ่น ผู้เขียนขอเริ่มต้นจากการอธิบายที่มาของราคารังนกแอ่นและความต้องการของรังนกในตลาด อันเป็นตัวแปรสำคัญของการก่อสร้างบ้านนกแอ่นที่ได้รับความนิยมและกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รังนกที่รับประทานกันอยู่ในอดีตและปัจจุบัน เป็นรังของนกแอ่น (swiftlet) ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับนกนางแอ่น (swallow) นกแอ่นที่พบเห็นได้มากสุดและเกือบทั้งหมดที่นำมาทำรังนก เป็นนกแอ่นกินรังตะโพกขาว (Germain’s Swiftlet / Aerodramus germani Oustalet) (อรรณพ หมั่นสกุล, 2563, 1) โดยนกแอ่นจะทำรังด้วยน้ำลาย ในขณะที่นกนางแอ่นทำรังด้วยดินโคลน การเก็บรังนกและรับประทานรังนกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 700 ปี และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญมาแต่โบราณ ราคาของรังนกสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการบริโภคและกลไกทางเศรษฐกิจจากประเทศจีนที่หลังไหล่เข้าสู่แหล่งรังนกอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัฒนธรรมการบริโภครังนกในภูมิภาคได้รับอิทธิพลจีนและมีลักษณะใกล้เคียงกันคือเชื่อว่ารังนกมีสรรพคุณในการรักษาอาการเจ็บป่วยและช่วยให้คนกำลังจะตายฟื้นกลับคืนมาได้ ปริมาณการรับซื้อและราคารังนกส่งผลให้ชนชั้นปกครองกำหนดให้รังนกเป็นสินค้าควบคุม มีการเก็บภาษีอากรรังนกอย่างชัดเจนมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี (เกษม จันทร์ดำ, 2550ก, 53-59) ด้วยแหล่งรังนกธรรมชาติส่วนใหญ่อยู่บนเกาะทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน อันเป็นพื้นที่ควบคุมและดูแลโดยเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ อุตสาหกรรมรังนกจึงถูกผูกขาดการเก็บเกี่ยวและเก็บผลประโยชน์ไว้โดยคนกลุ่มน้อย ราคาของรังนกที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ทำให้พื้นที่สัมปทานรังนกกลายเป็นพื้นที่แห่งความรุนแรงจากการแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการลักขโมยรังนก การตกลงผลประโยชน์ระหว่างแรงงานเก็บรังนก เจ้าของสัมปทาน ตลอดจนพ่อค้ารังนกในตลาดมืดและข้าราชการ นักการเมือง นายทุนท้องถิ่นที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากทองคำขาวนี้ ผลประโยชน์มหาศาลนี้เองที่นำมาสู่เกมการเมือง การหักหลัง หลีกเลี่ยงภาษี ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์หลายครั้งจบลงด้วยการฆาตกรรม เสมือนว่าพื้นที่/บุคคลใดมีความเกี่ยวข้องกับรังนก พื้นที่/บุคคลนั้นมักข้องเกี่ยวอย่างเข้มข้นกับอาชญากรรมและความรุนแรง (เกษม จันทร์ดำ, 2550ข, 137)
ความต้องการรังนกในกลุ่มชาติพันธุ์จีนทั้งในประเทศและในตลาดจีนและฮ่องกงไม่เคยลดน้อยลงและมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่การทำรังนกยังใช้ระบบสัมปทานซึ่งมีเพียงนายทุนกลุ่มใหญ่เพียงไม่กี่คนที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการเป็นเจ้าของสัมปทานรังนก อีกทั้งรังนกแอ่นธรรมชาติในพื้นที่สัมปทานก็ลดน้อยลงจากการเก็บรังนกไปขายอย่างเข้มข้นจนประชากรนกแอ่นลดลง ในขณะเดียวกัน พื้นที่นอกสัมปทานก็ทยอยปรากฎการปรับตัวของนกแอ่นเพื่ออาศัยอยู่ในระบบนิเวศแห่งใหม่อย่างเช่นย่านเมืองท่าริมชายฝั่งทะเลเช่นที่ปากพนัง นครศรีธรรมราช จนนำไปสู่การคิดค้นหาวิธีการหาผลประโยชน์จากรังนกนอกเขตสัมปทานอย่างการทำบ้านนกแอ่นด้วยการปรับเปลี่ยนอาคารเก่าและการสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่เพื่อนกแอ่นโดยเฉพาะที่คนท้องถิ่นปากพนังเรียกติดปากว่า “คอนโดนกแอ่น”
ภาพที่ 2 คอนโดนกแอ่นริมแม่น้ำในอำเภอปากพนัง
ภาพ: ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ (3 มิถุนายน 2567)
ธุรกิจบ้านนกแอ่น การบังคับพลัดถิ่นข้ามสายพันธุ์จากสัมปทานเกาะรังนก
ปริมาณความต้องการรังนกที่เพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีน ส่งผลต่อมูลค่ารังนกและปริมาณคอนโดนกที่เพิ่มมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามไปด้วย (ชุติมา ซุ้นเจริญ, 2018) และในขณะเดียวกันปริมาณรังนกที่ลดลงในเขตสัมปทานกลับสวนทางกับปริมาณรังนกในคอนโดนก การเพิ่มขึ้นของคอนโดนกแอ่นทั่วประเทศอาจเป็นผลจากการทำลายประชากรนกแอ่นจากวัฒนธรรมการเก็บรังนกในเขตสัมปทานที่ต้องเก็บรังนกให้ได้ตามที่บริษัทเจ้าของสัมปทานกำหนดปริมาณเป้าหมายไว้ และปัญหารังนกแอ่นในฤดูที่นกแอ่นเริ่มวางไข่และเลี้ยงดูลูกนกอันเป็นช่วงว่างเว้นจากการเก็บรังนกกลับถูกลักลอบเก็บไปขายโดยโจรรังนกที่ทำกันเป็นขบวนการ (เกษม จันทร์ดำ, 2550ข, 192) ความไม่เหมาะสมด้านสภาพแวดล้อมที่มีการทำสัมปทานรังนกอย่างเข้มข้นเป็นระยะเวลานานนี้เอง ที่อาจทำให้นกแอ่นเริ่มอพยพออกจากเกาะกลางทะเล และมองหาแหล่งทำรังใหม่ ๆ ที่มีความเหมาะสม ดังเช่น ร้านค้าตึกแถว 3 ชั้นชื่อ “อื่นจีนกวง” ในเมืองปากพนังที่มีนกนางแอ่นเข้ามาทำรังตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่ประชากรนกแอ่นจะขยับขยายพื้นที่ทำรังจนกระจายไปทั่วเมืองปากพนังในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี (เกษม จันทร์ดำ, 2550ข, 190)
ในระยะแรกการเก็บรังนกนอกเขตสัมปทานจากการปล่อยให้นกแอ่นเข้ามาทำรังในชั้นบน ของอาคารที่พักอาศัยเพียงเท่านั้น ธุรกิจคอนโดนกแอ่นและการดัดแปลงอาคารที่พักอาศัยตลอดจนการสร้างอาคารเพื่อนกแอ่นโดยเฉพาะ เพิ่งเริ่มต้นภายหลังพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 ที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายเพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นดูแลการทำสัมปทานรังนกในพื้นที่รับผิดชอบภายในแต่ละจังหวัดเพื่อนำเงินภาษีจากการธุรกิจรังนกไปใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น การเปิดให้จดทะเบียนทำธุรกิจเก็บรังนกในหมู่ผู้ประกอบการรายย่อย และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการรังนกสามารถส่งรังนกไปยังจีนที่เป็นตลาดรังนกขนาดใหญ่ที่สุด (เกษม จันทร์ดำ, 2550ข, 129) การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจในระดับประเทศ ส่งผลต่อภูมิทัศน์เมืองปากพนังที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง อาคารตึกแถวหลายแห่งถูกดัดแปลงและต่อเติมเพื่อทำเป็นรังนกแอ่น และเริ่มเก็บรังนกแอ่นกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันนับแต่ พ.ศ. 2540 มาจนถึงปัจจุบัน
ภาพที่ 3 ตึกแถวที่ถูกดัดแปลงให้เป็นคอนโดนกแอ่นในอำเภอปากพนัง
ภาพ: ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ (3 มิถุนายน 2567)
บ้านนกแอ่น สถาปัตยกรรมของการออกแบบหลากสายพันธุ์
หลังจากที่มนุษย์ค้นพบว่านกแอ่นกินรังสามารถอาศัยอยู่ในอาคารเก่าในย่านชุมชนเมือง บวกกับปัจจัยด้านแรงจูงใจทางเศรษฐกิจจากราคารังนกที่เพิ่มสูงขึ้น ภูมิปัญญาในการดัดแปลงอาคารเพื่อดึงดูดนกแอ่นให้มาทำรังจึงเริ่มเกิดขึ้นในไทย(รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย)
หากมองในมุมมองเชิงมานุษยวิทยาเมือง การดัดแปลงหรือสร้างคอนโดนกแอ่น คือการเปลี่ยนจากการออกแบบที่มีฐานคิดแบบ anthropocentric ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและเป็นเป้าหมายในการออกแบบ ไปสู่การออกแบบหลากสายพันธุ์ (multispecies design) ที่มนุษย์นำองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมที่เคยถูกออกแบบมาเพื่อมนุษย์ไปสู่การออกแบบเพื่อสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) การออกแบบคอนโดนกแอ่นจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมและกฎหมายผังเมืองที่เคยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางอย่างเดียว ข้อจำกัดด้านองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาของสายพันธุ์อื่นนอกเหนือจากมนุษย์จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญของสถาปนิกในการทำความเข้าใจปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต่อการดำรงอาศัยของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์เพื่อเปลี่ยนรูปแบบทางสถาปัตยกรรม (Grobman et al., 2021) สถาปนิกและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อสร้างคอนโกนกแอ่นจึงต้องพึ่งพาองค์ความรู้ด้านชีววิทยาของนกแอ่นโดยเฉพาะองค์ความรู้นิเวศวิทยาพื้นถิ่นที่ได้มาจากผู้ประกอบอาชีพเก็บรังนกที่มีความคุ้นเคยกับระบบนิเวศที่นกแอ่นอาศัยทำรัง และเจ้าของอาคารที่มีนกแอ่นมาอาศัยตามธรรมชาติ เกิดเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันเพื่อการออกแบบที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งนกแอ่นและมนุษย์
ในด้านภูมิทัศน์ จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่พบเห็นคอนโดนกแอ่นในราชบุรี(บริเวณอำเภอปากท่อ) ตัวเมืองนครศรีธรรมราชและปากพนัง ไปจนถึงพัทลุง สงขลา และมาเลเซีย ผู้เขียนพบว่ารูปแบบทางสถาปัตยกรรมมีจุดร่วมบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน ผู้ที่สนใจศึกษาวัฒนธรรมการทำคอนโดนกแอ่นจึงอาจต้องดูมิติชาติพันธุ์สัมพันธ์ของคนในคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะเครือข่ายชาติพันธุ์มาเล-มลายู) เพิ่มเติมนอกเหนือจากงานชาติพันธุ์สัมพันธ์ของเกษม จันทร์ดำ การศึกษาการแพร่กระจายของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนี้อาจต้องดูความสัมพันธ์ของเครือข่ายผู้ประกอบกิจการคอนโดนกแอ่นในภูมิภาคด้วย
ในด้านนิเวศวิทยาของนกแอ่นในคอนโดนก รูปแบบเชิงสถาปัตยกรรมอาจอธิบายได้ง่ายโดยดูจากการรูปแบบอาคารที่แตกต่างจากอาคารที่มีมนุษย์เป็นผู้ใช้ประโยชน์หลัก คอนโดนกแอ่นจะไม่มีหน้าต่าง ก่ออิฐฉาบปูนปิดทึบ มีเพียงท่อหรือช่องสำหรับใช้ระบายอากาศและเป็นทางเข้า-ออกของนกแอ่น ทั้งนี้มีที่มาจากพฤติกรรมการเลือกที่อยู่อาศัยของนกแอ่นที่หลีกเลี่ยงกลิ่นสารเคมี ชอบที่ชื้นอับและมืดทึบมีแสงธรรมชาติหรือแสงส่องสว่างน้อย การออกแบบจึงมีการควบคุมอาคารโดยจำลองจากถ้ำกลางทะเล ทั้งในด้านความอับชื้น ความมืด และผนังปิดทึบ ที่ซึ่งคุณลักษณะของอาคารแบบอับ-มืด-ทึบ-ชื้นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการออกแบบเพื่อมนุษย์และเพื่อสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ อีกทั้งการออกแบบยังคำนึงถึงความปลอดภัยของนกแอ่นโดยเลือกที่จะก่อสร้างรังนกแอ่นในชั้นที่สองของอาคาร/บ้านขึ้นไป เพื่อหลีกเลี่ยงศัตรูตามธรรมชาติที่จะมาทำร้ายนกแอ่นได้ ส่วนภายในอาคารก็จะมีลักษณะโปร่งโล่ง มีเพียงแผ่นไม้บากเป็นร่องที่เรียกว่าไม้ตีรังสำหรับให้นกแอ่นมาเกาะและทำรังนกยึดไว้กับโครงสร้างอาคารแบบชั่วคราวเพื่อให้ง่ายต่อการเปลี่ยนแผ่นไม้ที่มีรอบการเปลี่ยนแผ่นไม้ราว 2-3 ปีต่อครั้ง
ภาพที่ 4 การเลียนแบบระบบนิเวศแบบถ้ำด้วยการใช้วัสดุเปลือยไร้กลิ่นสารเคมี ความชื้น-ทึบ มีอากาศถ่ายเทน้อย เป็นตัวแปรสำคัญที่นกจะเลือกพื้นที่สำหรับทำรัง
ภาพ: ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ (3 มิถุนายน 2567)
อย่างไรก็ตาม แม้จะกล่าวว่าการสร้างคอนโดนกแอ่นเป็นการออกแบบหลากสายพันธุ์ แต่คอนโดนกแอ่นมีลักษณะแบบเอาสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งเป็นศูนย์กลาง คอนโดนกแอ่นออกแบบโดยมุ่งเน้นนกแอ่นเป็นศูนย์กลาง (swiftlet-centric) โดยมีมนุษย์ผู้ได้รับประโยชน์จากการเก็บรังนกเป็นผู้ได้ประโยชน์รองลงมา การออกแบบหลากสายพันธุ์กรณีของคอนโดนกแอ่น จึงเบียดขับสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่นกแอ่นและมนุษย์ให้ออกไปจากพื้นที่คอนโดนกแอ่น และสร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเมืองในภาพรวมด้วย
เป็นมิตรต่อนกนางแอ่น แต่เป็นภัยต่อคนและสัตว์ต่างสายพันธุ์
คอนโดนกแอ่นนำมาสู่ปัญหานานัปการจากการเบียดขับสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่นกแอ่นและมนุษย์ผู้ได้รับประโยชน์จากการเก็บรังนก แม้การทำคอนโดนกจะมีประโยชน์ในแง่มุมของการอนุรักษ์สายพันธุ์นกแอ่นกินรังให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมว่า ความสำเร็จจากการอนุรักษ์นกแอ่นกินรังจนประชากรนกแอ่นในเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าประชากรนกแอ่นในพื้นที่สัมปทานจะมาจากแนวคิดทุนนิยมที่มนุษย์ได้รับผลประโยชน์จากการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนประชากรดังกล่าว ที่มาตรการเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรนกแอ่นและกิจกรรมต่าง ๆ ของคอนโดนกแอ่น ที่สุดแล้วก็กลายเป็นปัญหาให้กับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นในชุมชน
คอนโดนกแอ่นส่งผลกระทบต่อสุขภาวะชุมชน ผู้อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียงกับคอนโดนกแอ่นประสบปัญหามลภาวะทางเสียง ทั้งเสียงนกแอ่นที่เข้ามาทำรังอยู่ในอาคาร และเสียงนกแอ่นที่เจ้าของคอนโดนกเปิดผ่านเครื่องเสียงเพื่อล่อให้นกแอ่นเข้ามาในคอนโด คอนโดนกแอ่นยังประสบปัญหาด้านกลิ่นจากสิ่งปฏิกูลที่นกแอ่นขับถ่ายและระบบการระบายน้ำและบำบัดกลิ่นในคอนโดนกที่ไม่มีประสิทธิภาพ เดือนเมษายน 2567 สมาชิกชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยองให้สัมภาษณ์นักข่าวเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบด้านกลิ่นและเสียงที่ตนต้องเผชิญตั้งแต่ที่ตึกแถวข้างบ้านถูกดัดแปลงเป็นคอนโดนกแอ่น ตลอดจนความกังวลเรื่องโรคระบาดที่แพร่จากสัตว์สู่คน อันมีนกแอ่นเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะปรสิตในนกอย่าง ไรนก ที่กลายมาเป็นปัญหาสุขภาพในชุมชน และปัญหาความขัดแย้งและผลกระทบนี้ก็น่าจะมีมาตั้งแต่ที่วัฒนธรรมคอนโดนกแอ่นเริ่มปรากฎขึ้นในชุมชนเมืองตั้งแต่อดีต ที่งานศึกษาของ เกษม จันทร์ดำ ตั้งแต่ราว 2 ทศวรรษก่อนเองก็ระบุถึงผลกระทบจากการทำคอนโดนกแอ่นในลักษณะเดียวกัน
ส่วนในกรณีของผลกระทบต่างสายพันธุ์นอกเหนือจากมนุษย์ กิจการคอนโดนกแอ่นที่มีนกแอ่นเป็นศูนย์กลาง (swiftlet-centrism) เบียดขับสายพันธุ์อื่นที่จะเข้ามาทำอันตรายต่อนกแอ่น อันเป็นผลให้มนุษย์เสียผลประโยชน์จากการไม่สามารถเก็บรังนกไปขายได้ ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชเองก็เคยมีการตั้งค่าหัวเป็นรางวัลนำจับสำหรับการกำจัดสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อนกแอ่น อาทิ นกเค้าแมว (เกษม จันทร์ดำ, 2550ข, 195-196) ที่ปรับตัวและอาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ในเมือง ที่ล่าสัตว์ขนาดเล็กอย่างหนู งู และนกขนาดเล็กเป็นอาหาร
ภาพที่ 5 ท่อพีวีซีและตาข่ายเหล็กที่ถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องชีวิตนกแอ่นในคอนโดและใช้เพื่อป้องกันศัตรูตามธรรมชาติของนกแอ่นอย่างเช่นงูและนกเค้าแมว
ภาพ: ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ (3 มิถุนายน 2567)
ธุรกิจคอนโดนกแอ่นที่พ่วงด้วยวาทกรรมการอนุรักษ์นกแอ่น จึงแฝงไปด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสายพันธุ์อื่นที่เต็มไปด้วยความลำเอียง มนุษย์นำวาทกรรมการอนุรักษ์และเพิ่มประชากรนกแอ่นมาใช้ในการสร้างผลประโยชน์ให้กับมนุษย์ ในขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่นที่จะมากระทบความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ร่วมระหว่างมนุษย์กับนกแอ่นกลับถูกผลักให้อยู่นอกพรมแดนการอนุรักษ์และการอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับนกแอ่นเองก็ไม่ได้มีอยู่ลักษณะเดียว มีเพียงมนุษย์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์จากธุรกิจคอนโดนก ในขณะที่อีกหลายคนต้องเผชิญปัญหาและผลกระทบจากคอนโดนก ปัญหาคอนโดนกแอ่นจึงไม่ใช่แค่ปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ แต่เป็นปัญหาระหว่างคนด้วยกันเอง
มีบ้านนก ≠ เลี้ยงนก ความสัมพันธ์ซ้อนทับและซับซ้อนของกฎหมายบ้านนกแอ่น
ในขณะที่วัฒนธรรมคอนโดนกเริ่มแพร่หลายมากขึ้น การทำธุรกิจคอนโดนกกลับประสบปัญหาทางกฎหมายหลากหลายประการ พร้อม ๆ กับความขัดแย้งและปัญหาภายในย่านชุมชนเมืองที่เริ่มมีการทำคอนโดนกแอ่นค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นขึ้นในสังคมไทย คอนโดนกแพร่ขยายและพัฒนาอย่างรวดเร็วไปไกลกว่าที่กฎหมายเกี่ยวกับการทำรังนกที่ล้าหลังและมีเพียงคนไม่กี่กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับดังกล่าวจะปรับตัวตามทันการเปลี่ยนแปลง
ความซับซ้อนของกฎหมายเกี่ยวกับนกแอ่น เริ่มต้นจากสถานะของนกแอ่นตามกฎหมายพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่แม้จะมีการปรับปรุงในปี พ.ศ. 2562 ให้สามารถเก็บและครอบครองรังนกกับผู้ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอากรรังนกอีแอ่น (ThaiPBS, 16 มีนาคม 2564) อันดูจะเป็นหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ในการบังคับใช้กฎหมาย ทว่ากลับมีผลกระทบตามมาคือกิจการคอนโดนกแอ่นคาบเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารของกรมโยธาและผังเมืองจากการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารเพื่อใช้ทำคอนโดนกแอ่นที่อาจผิดกฎหมายฉบับดังกล่าว ตลอดจนกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเมืองอย่าง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ของกรมอนามัย (เคย์ลดา เหมือนแสน, 2563, 1-2)
ปัญหาและผลกระทบอันมีที่มาจากนกแอ่น กลายเป็นปัญหาในการตีความและใช้บังคับกฎหมายในระดับท้องถิ่น การที่หน่วยงานส่วนท้องถิ่นเข้ามาข้องเกี่ยวกับธุรกิจรังนกส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงการเมือง การทุจริตและการเอื้อผลประโยชน์ธุรกิจรังนกที่มีลับลมคมในมาตั้งแต่ยุคที่สัมปทานรังนกเฟื่องฟูและคอนโดนกยังไม่ได้รับความนิยม (โปรดดูเพิ่มเติมใน เกษม จันทร์ดำ, 2550ข) ในขณะที่ผลกระทบจากคอนโดนกแอ่นยากต่อการเอาผิดเจ้าของคอนโดนก เนื่องจากรูปแบบและลักษณะของการทำคอนโดนกแอ่นที่มีความคลุมเครือในเรื่องของการเลี้ยง ที่เจ้าของคอนโดนกแอ่นไม่ได้เป็นเจ้าของหรือเพาะพันธุ์นกแอ่น เพียงแค่ออกแบบสภาพแวดล้อมของอาคารให้เหมาะสมกับนกแอ่น และนกแอ่นเป็นผู้ตัดสินใจทำรังเอง ที่เจ้าของคอนโดนกก็ประสบความสำเร็จในการล่อนกมาทำรังไม่เท่ากัน ด้วยเหตุนี้เจ้าของคอนโดนกจึงไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าของนกแอ่นตามกฎหมาย และนอกเหนือจากกฎหมายการทำคอนโดนกแอ่นในย่านชุมชนที่จะสร้างผลกระทบต่อชุมชนแล้ว นิยามของการเลี้ยงสัตว์ตามแบบเกษตรอุตสาหกรรมเองก็ดูจะมีปัญหาด้วยเช่นกัน ดังที่ Tsing ระบุถึงปัญหาการมองความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ทั้งปศุสัตว์และเกษตรกรรมต่างก็มีรูปแบบที่หลากหลายและซับซ้อนเกินกว่าจะให้คำอธิบายง่าย ๆ อย่างเช่นการปลูกหรือเพาะเลี้ยงตามความหมายกระแสหลัก ความเป็นอิสระในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต (ferality) ที่มนุษย์สังเกตเห็นและใช้ประโยชน์ผ่านการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อให้สายพันธุ์เป้าหมายสามารถดำรงชีวิตเพื่อที่มนุษย์จะใช้ประโยช์ได้อย่างมีประสิทธิภาพถือว่าเป็นการทำให้เป็นสัตว์เลี้ยง (domestication) หรือไม่ ดังที่ Tsing ยกตัวอย่างชนพื้นเมืองในเกาะบอร์เนียวที่ปรับสภาพพื้นที่ด้วยการตัดแต่งกิ่งไม้เพื่อเพิ่มแสงและเงาเพื่อให้ผึ้งมาทำรังรวมถึงเตรียมดอกไม้สำหรับให้ผึ้งใช้เป็นอาหาร (Tsing, 2018, 235-236)
จึงดูเหมือนว่า การไม่มีกฎหมายที่ระบุถึงนิยามการเลี้ยงสัตว์ที่ชัดเจนและครอบคลุมรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ที่ซับซ้อน จะกลายเป็นปัญหาระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองมากขึ้นในอนาคต ผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนไม่อาจเอาผิดเจ้าของคอนโดนกที่ดัดแปลงอาคารเพียงเพื่อให้ “นกแอ่นมาอาศัยอยู่เอง” และสถานภาพของนกแอ่นที่ยังไม่ถือว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจตามกฎหมายสัตว์คุ้มครองในปัจจุบัน มูลค่าของรังนกที่ยังมีราคาสูง ยังคงดึงดูดให้คนลงทุนสร้างและดัดแปลงคอนโดนกโดยมีเป้าหมายคือบ้านและอาคารเก่าในย่านชุมชนเมืองต่าง ๆ ปัญหาระหว่างคน-นก-อาคาร ก็ยิ่งทวีความรุนแรงและพบเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตราบใดที่คอนโดนกแอ่นยังไม่ถูกนับว่าสัตว์เลี้ยงเชิงเศรษฐกิจตามกฎหมายไปพร้อม ๆ กับการผลักดันคอนโดนกแอ่นที่กำลังพยายามทำให้ถูกกฎหมายเพื่อให้สามารถประกอบกิจการในเขตชุมชนได้ในที่สุด
อ้างอิง
Grobman, Y. J., Weisser, W., Shwartz, A., Ludwig, F., Kozlovsky, R., Ferdman, A., ... & Windorfer, L. (2023). Architectural Multispecies Building Design: Concepts, Challenges, and Design Process. Sustainability, 15(21), 15480.
ThaiPBS. (2564, 16 มีนาคม). เปิดปม : ตัดตรวนบ้านนกแอ่น. จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/302460
Tsing, A. L. (2018). Nine provocations for the study of domestication. In Swanson, H. A., Lien, M. E., & Ween, G. B. (Eds.). Domestication gone wild: politics and practices of multispecies relations. Duke University Press.
เกษม จันทร์ดำ. (2550ก). ธุรกิจรังนกในพื้นที่เศรษฐกิจไทย. ใน แพทริค โจรี และจิรวัฒน์ แสงทอง (บก.). เปิดโลกธุรกิจรังนกแสนล้าน. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งประเทศไทย (สกว.). หน้า 53 – 146.
เกษม จันทร์ดำ. (2550ข). รังนกแอ่น: อำนาจ ความขัดแย้ง และความมั่งคั่ง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
เคย์ลดา เหมือนแสน. (2563). มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการเลี้ยงนกแอ่นกินรัง (บทความจากงานศึกษาอิสระ). นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง. http://www.lawgrad.ru.ac.th/Abstracts/969.
ซุ้นเจริญ. (2018, 8 ตุลาคม). รังนกหมื่นล้าน วังวนธุรกิจสีเทา. กรุงเทพธุรกิจ, https://www.bangkokbiznews.com/social/708.
อรรณพ หมั่นสกุล. (2563). การวิเคราะห์และออกแบบระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในบ้านนกแอ่นกินรังแบบแม่นยำสูง (รายงานผลการวิจัย). คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น.
ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ บ้านนกแอ่นกินรัง สถาปัตยกรรม หลากสายพันธุ์ นกแอ่น ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์