จากควายทามสู่จุดชมวิวหนองสมอ: ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์คน-ทามในภูผาม่าน
ภาพที่ 1 เงาของภูเขาและท้องฟ้าที่สะท้อนเหนือผิวน้ำบริเวณจุดชมวิวหนองสมอ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น
ที่มา: ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ ถ่ายเมื่อ: 14 ธันวาคม 2566
ที่ตำบลโนนคอม อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น มีแหล่งน้ำแห่งหนึ่งที่คนปัจจุบันเรียกกันว่าหนองสมอ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและจุดถ่ายรูปเช็คอินที่สำคัญของอำเภอภูผาม่าน จากภูมิทัศน์ที่สวยงามที่บึงน้ำนิ่งเรียบสะท้อนเงาของท้องฟ้าและภูเขาหินปูนเป็นฉากหลัง ปัจจุบันหนองสมอกำลังกลายเป็นอ่างเก็บน้ำไว้รองรับการทำนาและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามอดีตก่อนที่หนองสมอจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นทาม ระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนหลายชุมชนที่อาศัยอยู่รอบหนองสมอมาก่อน แต่การเปลี่ยนแปลงของหนองสมอเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน (Land transformation) และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนในอำเภอภูผาม่าน บทความนี้จึงจะชวนผู้อ่านย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของหนองสมอกับวิถีชีวิตชาวไทภู ตั้งแต่ยุคสมัยแห่งป่าทาม จนถึงยุคแห่งการท่องเที่ยวในปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับทามหนองสมอเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชุมชนรอบหนองสมอในแต่ละช่วงเวลา
ภาพเก่าหนองสมอ ยุคแห่งทามและความมั่นคงทางอาหารสาธารณะ
วิถีชีวิตของชาวอีสานผูกพันกับระบบนิเวศแบบลุ่มน้ำที่เรียกว่าป่าบุ่งป่าทาม ความแตกต่างระหว่างบุ่งกับทามขึ้นอยู่กับการท่วมขังของน้ำ น้ำท่วมขังตลอดทั้งปีเรียกบุ่งน้ำท่วมขังเฉพาะฤดูกาลเรียกทาม ที่ภูผาม่านมีหนองสมอเป็นทามแอ่งกระทะที่รับน้ำท่วมหลากในช่วงฤดูฝนจากทิวเขาโดยรอบ ทางทิศใต้จากอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ทิศตะวันตกจากป่าน้ำหนาว ผ่านทางแม่น้ำเซิน (ราชการเรียกแม่น้ำเชิญ) หรือที่คนพื้นที่เรียกว่าลำน้ำเซิน ที่มีต้นน้ำจากป่าน้ำหนาวและน้ำผุดน้ำซับ ที่พบเห็นได้มากใน 2 อำเภอนี้ คำว่าเซินยังสัมพันธ์กับปริมาณน้ำในแม่น้ำ ซึ่งเป็นภาษาถิ่นในแถบภูผาม่าน-คอนสาร มีความหมายว่า ไหลแรง ตามกระแสน้ำในแม่น้ำเซินในอดีต นอกจากลำน้ำเซินแล้ว หนองสมอยังรับน้ำจากทางทิศเหนือที่ไหลมาจากทิวเขาที่แบ่งพื้นที่จังหวัดขอนแก่นกับจังหวัดเลย ทำให้ในช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลลงสู่ที่นาและหนองสมอจนมีสภาพเป็นทามก่อนที่ระดับน้ำจะลดลงในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน
พื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 400 ไร่ของหนองสมอเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้านหลายชุมชน ในสมัยก่อนคนแถบนี้ทำนาและเลี้ยงควายเป็นอาชีพหลัก ช่วงเช้ามืดชาวบ้านจะจูงควายออกมาหากินในบริเวณทามหนองสมอ จนเป็นที่มาของคำว่า “ควายทาม” ที่คนปัจจุบันยังคงเรียกติดปากแทนคำว่าหนองสมอที่เกิดขึ้นใหม่ ความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพในหนองสมอในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้หนองสมอกลายเป็นแหล่งทำประมงยอดนิยมที่คนในและต่างพื้นที่เข้ามาทำประมงในหนองสมอ
หนองสมอในอดีตจึงมีความสำคัญกับการใช้ชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่รายรอบหนองสมอ เป็นแหล่งอาหารปศุสัตว์ แหล่งอาหารครัวเรือน แหล่งรายได้ แหล่งเก็บน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรกรรม หากแต่ระบบนิเวศของหนองสมอเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อวิถีชีวิตและสภาพสังคมของชุมชนรอบหนองสมอเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยการเปลี่ยนแปลงแรกเริ่มจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกษตรที่ส่งผลต่อทรัพยากรน้ำในพื้นที่อำเภอภูผาม่าน อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของทุนนิยมทางการเกษตรที่เข้ามาพร้อมกับการสร้างถนนสายเอเชียและถนนสมัยใหม่อื่น ๆ จำนวนมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ถนนสายเอเชีย จุดเปลี่ยนสำคัญของเกษตรกรรมรอบหนองสมอ
การเกิดขึ้นของถนนสายเอเชีย AH12 ที่เชื่อมระหว่างภาคเหนือ(เพชรบูรณ์) และภาคอีสาน (ขอนแก่น) ถนนสายเอเชียช่วงหล่มสักถึงชุมแพสร้างเสร็จเมื่อปี 2513 จากการสนับสนุนของรัฐบาลออสเตรเลีย (กิตตินันท์ นาคทอง, 2559: ออนไลน์) ภายใต้นโยบายการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ และการพัฒนายุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่การพัฒนาประเทศเกิดขึ้นพร้อมกับเม็ดเงินมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าประเทศจากพันธมิตรประชาธิปไตย (ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์, 2566: 51) ที่อเมริกาต้องการแสวงหาพันธมิตรเพื่อต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองในเอเชีย และกลุ่มทุนเอกชนประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการเจาะตลาดประเทศไทยเช่นญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์
การขยายตัวของถนนสมัยใหม่ในพื้นที่ชนบทส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ที่ถนนสมัยใหม่ได้ตัดผ่านเข้าไปในพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ห่างไกล แม้เดิมพื้นที่จังหวัดขอนแก่นจะมีรถไฟเข้ามาตั้งแต่ 2476 แล้ว แต่การทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมหรือการเกษตรเพื่อเน้นจำหน่ายยังไม่มีผลนอกเขตทางรถไฟมากนัก เนื่องจากปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายและความลำบากในการเดินทางขนสินค้ามาขายให้กับพ่อค้าชาวจีนที่ตั้งชุมชนตลาดละแวกสถานีรถไฟ กระแสการค้าในภูมิภาคจึงไม่ได้เกิดจากรถไฟโดยตรง แต่เกิดขึ้นจากสินค้านอกอีสานที่พ่อค้าชาวจีนนำขึ้นรถไฟมาจากกรุงเทพฯ อาทิ เครื่องมือเหล็ก น้ำมันก๊าด ผลไม้ น้ำตาลทราย ปลาเค็ม เป็นต้น ความต้องการซื้อสินค้าเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวบ้านเริ่มหันมาสนใจทำเกษตรเพื่อขายผลผลิตส่วนเกินมากขึ้น หากแต่ช่วงก่อนมีถนนยังติดปัญหาด้านการขนส่งและเดินทางที่ไม่สะดวกสบาย (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2546: 129)
การสร้างถนนยังเป็นคำที่ถูกนำมาใช้ควบคู่กับ “การเข้าถึง” และ “เศรษฐกิจ” อยู่บ่อยครั้ง โครงการสร้างถนนจึงไปได้ดีเมื่อถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการพัฒนานอกศูนย์กลาง การพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐยังเป็นความต้องการในการเชื่อมต่อเศรษฐกิจภายในประเทศจากศูนย์กลางไปสู่ภูมิภาคให้แนบแน่นรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การสร้างถนนของรัฐไทยจึงแฝงแนวคิดอาณานิคมที่แผ่ขยายอำนาจจากศูนย์กลางเข้าไปทั่วภูมิภาคอีสาน ชอนใชเข้าไปถึงหมู่บ้านที่เคยห่างไกล ดึงเอาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นเปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเดียวกับกรุงเทพ โดยภาคเกษตรกรรมได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการพัฒนาระบบการขนส่งเพื่อป้อนผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่ตลาดภายในประเทศไปจนถึงการส่งออก (DiMoia, 2018: 14-19)
ถนนจึงเข้ามาแก้ข้อจำกัดในการขยายตัวของเกษตรอุตสาหกรรมที่ในอดีตจำกัดอยู่แค่ริมทางรถไฟ นโยบายรัฐที่สนับสนุนการปลูกพืชเพื่อจำหน่ายตามความต้องการของตลาดโลกตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคอีสาน การก่อตัวของกลุ่มนายทุนที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นพร้อม ๆ กับการสนับสนุนการพัฒนาระบบการขนส่งในภูมิภาคให้เพิ่มมากขึ้น แรงจูงใจทางเศรษฐกิจนำไปสู่การบุกเบิกที่ดินเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของเครือข่ายถนน การเพิ่มขึ้นของพื้นที่เกษตรเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจตามที่ตลาดต้องการ นำมาสู่การให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการทำเกษตรกรรมในภาคอีสาน กลุ่มทุนที่ได้รับผลประโยชน์จากการอุตสาหกรรมเกษตรจึงสนับสนุนโครงการของรัฐบาลในการทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ เช่น การทำคลองส่งน้ำ การขุดอ่างเก็บน้ำ และการสร้างเขื่อน เพื่อให้ระบบการเกษตรสามารถขยายตัวและดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และมีผลผลิตป้อนเข้ามายังโรงงานแปรรูปผลผลิตการเกษตรที่ตนเองเป็นเจ้าของกิจการ
ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ภูผาม่านและคอนสารซึ่งอยู่ริมสองฝั่งถนนสายเอเชียเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจขายจนนำมาสู่ความต้องการน้ำ เรื่องตลกร้ายคือ การขยายพื้นที่การเกษตรและจับจองที่ดินได้รุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่ที่เคยเป็นตาน้ำผุดน้ำซับหลายแห่งซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดน้ำสำคัญ แม้ปัจจุบันพื้นที่คอนสารและภูผาม่านจะยังคงมีแหล่งน้ำผุดน้ำซับอยู่เป็นจำนวนมาก แต่จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนฝั่งคอนสาร ระบุว่าในอดีตแหล่งน้ำผุดน้ำซับนั้นมีมากกว่านี้ แต่ถูกไถกลบตาน้ำเพื่อนำที่ดินไปปลูกอ้อยป้อนโรงงานน้ำตาล และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภัยแล้ง และความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ลดลงจากการบุกเบิกที่ดิน น้ำในแม่น้ำเซินจึงลดลงสวนทางกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น
ความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นและการเข้ามาของสินค้านอกพื้นที่จากการพัฒนาการขนส่ง ทำให้หนองสมอในวันที่ชีวิตผู้คนหันไปพึ่งพาระบบตลาดและการเกษตรเพื่อขาย ถูกเปลี่ยนจากป่าทามเป็นอ่างเก็บน้ำโดยการขุดและถมดินของกรมชลประทานเพื่อเปลี่ยนหนองสมอให้เป็นอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ทำเกษตร การกลายเป็นอ่างเก็บน้ำของหนองสมอทำให้พื้นที่อาหารของควายลดลง การเลี้ยงควายทามที่มีต้นทุนค่าอาหารมากขึ้นจึงเสื่อมความนิยมลง และสูญหายไปในที่สุด หนองสมอจึงค่อย ๆ เปลี่ยนจากการเป็นแหล่งอาหารสาธารณะของคนและควาย กลายเป็นเพียงอ่างเก็บน้ำสำหรับไว้ใช้ในภาคเกษตรกรรม ก่อนที่กระแสการท่องเที่ยวเชิงภูมิทัศน์จะเข้ามาในชุมชน
จุดเช็คอินหนองสมอ: อ่างเก็บน้ำเพื่อการท่องเที่ยวชุมชน
พื้นที่หนองสมอได้รับอิทธิพลจากการพัฒนาชุมชนผ่านการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชน ช่วงปี 2563 หนองสมอถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของภูผาม่าน การท่องเที่ยวกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของอำเภอภูผาม่านควบคู่กับอัตลักษณ์ไทภูที่ถูกผลิตสร้างอัตลักษณ์ขึ้นใหม่หลังจากภูผาม่านถูกยกระดับจากกิ่งอำเภอเป็นอำเภอภูผาม่านตั้งแต่ปี 2537 (จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์, 2567) ทิวเขาที่เป็นฉากหลังที่เป็นแหล่งดูค้างคาวบินออกจากถ้ำช่วงก่อนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้ากลายเป็นจุดสนใจและทุนทางธรรมชาติที่คนในพื้นที่และเทศบาลมีเป้าหมายส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับเป้าหมายเดิมอย่างการใช้ประโยชน์ในทางเกษตรกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากเดิม
ในด้านการท่องเที่ยว พื้นที่หนองสมอถูกใช้เป็นจุดชมวิวภูเขาที่วางตัวเป็นฉากหลังของจุดชมวิวหนองสมอ สิ่งที่ถูกนำมาเป็นจุดขายแก่นักท่องเที่ยว คือภาพเงาสะท้อนของภูเขาเหนือผิวน้ำของหนองสมอ การจัดการของเทศบาลจึงเป็นการกำจัดพืชที่ลอยอยู่ผิวน้ำและไม้พุ่มที่สร้างปัญหาบดบังวิวทิวทัศน์ที่เป็นปัญหาต่อการสร้างภาพสะท้อนภูเขาเหนือน้ำ พื้นที่หนองสมอยังถูกขุดแบ่งเป็นตารางเพื่อแบ่งรูปแบบการใช้ประโยชน์ อาทิ บึงสำหรับทำประมงและเก็บน้ำ บึงปลูกบัวเพื่อการท่องเที่ยว ตามนโยบายการจัดการของเทศบาล
ส่วนในด้านเกษตรกรรม การขุดลอกหนองสมอให้ลึกเพื่อกักเก็บน้ำไว้ทำประมงและใช้ทำนาช่วงหน้าแล้ง การขุดเอาตะกอนดินที่มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ที่เคยอยู่ใต้ผืนน้ำขึ้นมาไว้ริมหนองสมอของเทศบาล ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพประมงหนองสมอบางส่วนเริ่มปลูกผักแปลงเล็ก ๆ ไว้ริมหนองสมอเนื่องจากดินมีความอุดมสมบูรณ์ ภาพแปลงเกษตรริมหนองสมอถูกนำมาใช้ในการสื่อสารภาพวิถีชีวิตอันสวยงามสอดคล้องไปกับการท่องเที่ยวหนองสมอ
ภาพที่ 2 แปลงปลูกผักริมหนองสมอของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพพทำประมงยกยอในหนองสมอ
อย่างไรก็ตามการปรับภูมิทัศน์ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของไมยราบยักษ์ซึ่งเป็นวัชพืชต่างถิ่นที่แพร่ระบาดในพื้นที่ริมน้ำหลังจากที่มีโครงการขุดลอกหนองสมอเพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำ โดยนอกจากหนองสมอยังพบไมยราบยักษ์ระบาดในพื้นที่ริมน้ำทั่วประเทศ การหายไปของพืชพื้นถิ่นจากกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่ที่เปลี่ยนสภาพพื้นที่ให้มีสภาพเตียนโล่งเปิดโอกาสให้ไมยราบยักษ์เข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานอย่างอ่างเก็บน้ำและคลองส่งน้ำทั่วประเทศ กิจกรรมปรับแต่งภูมิทัศน์จำเป็นจะต้องมีการขนย้ายดินจากแหล่งภายนอก อันเป็นต้นตอสาเหตุการแพร่ระบาดของไมยราบยักษ์ที่เมล็ดพันธุ์ติดมากับดินที่ใช้ในการก่อสร้างตลิ่งหรือในพื้นที่ริมน้ำ
พื้นที่หนองสมอประสบปัญหาไมยราบยักษ์ระบาดจำนวนมากเช่นเดียวกับการขยายตัวของโครงการจัดการทรัพยากรน้ำทั่วภาคอีสานและทั่วประเทศ ไมยราบยักษ์สร้างผลกระทบต่อภูมิทัศน์ในการท่องเที่ยวหนองสมอและกลายเป็นตัวเร่งเปลี่ยนให้หนองสมอกลายเป็นอ่างเก็บน้ำมากขึ้น จากลักษณะทางกายภาพของไมยราบยักษ์ที่ตั้งแต่ลำต้นไปจนถึงโคนใบเต็มไปด้วยหนามแหลม จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบอาชีพประมงพบว่า ไมยราบยักษ์ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่หนองสมอ เนื่องจากการเติบโตเป็นพุ่มขนาดใหญ่บดบังภูมิทัศน์ และลำต้นที่มีหนามแหลมคมทำให้การเข้าไปใช้ประโยชน์ในบริเวณที่ไมยราบยักษ์ระบาดนั้นไม่คุ้มกับความเจ็บปวดที่จะได้รับ ไมยราบยักษ์ในอีกแง่หนึ่งจึงเปรียบเสมือนรั้วลวดหนามธรรมชาติ ที่ขวางกิจกรรมระหว่างมนุษย์กับหนองสมอ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของแรงจูงใจในการทำให้หนองสมอโล่งด้วยการกำจัดภูมิทัศน์และกำจัดวัชพืชที่ขัดขวางการใช้ประโยชน์ของมนุษย์
ภาพที่ 3 ไมยราบยักษ์ที่แพร่ระบาดในหนองสมอ
กล่าวโดยสรุป ประวัติศาสตร์การกลายเป็นอ่างเก็บน้ำของหนองสมอสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อหนองสมอทั้งทางตรงและทางอ้อม พลวัตของหนองสมอแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจทั้งในและนอกพื้นที่ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบนิเวศในพื้นที่หนองสมอ หรือมีกรอบคิดเชิงพื้นที่ที่จำกัดอยู่แต่ในหนองสมอเท่านั้น ประวัติศาสตร์ภูมิทัศน์จึงแสดงให้เห็นถึงผู้กระทำการทุกประเภทที่มีความหลากหลายทางอำนาจในการกระทำ ทั้งคนในและคนนอก มนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (Tsing, 2018:17) สาเหตุการเปลี่ยนแปลงจึงไม่ได้เกิดขึ้นแค่จากในละแวกพื้นที่รอบหนองสมอ แต่ยังเชื่อมโยงข้ามพรมแดนพื้นที่ไปถึงกลุ่มทุนท้องถิ่นภายนอก คนในหน่วยงานรัฐบาลระดับท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ นักท่องเที่ยวที่ผลิตการท่องเที่ยวเชิงภูมิทัศน์ ที่ส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในทางใดทางหนึ่ง ตลอดจนถนนสายเอเชีย น้ำ อ้อย ข้าว หรือแม้แต่ไมยราบยักษ์ที่แม้จะถูกมองว่าเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์เองก็มีพลังในฐานะผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงหนองสมอในตัวเองอยู่ด้วยเช่นกัน และในอนาคต เราอาจได้เห็นตัวละครใหม่ ๆ ที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในหนองสมออีกระลอกหนึ่ง อนาคตของหนองสมอที่อาจย้อนกลับไปเป็นทามจากกระแสหวนกลับสู่อดีตและกระแสการอนุรักษ์, ถูกแปรสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำสมบูรณ์หากภัยแล้งหรือปัญหาไมยราบยักษ์ระบาดทวีความรุนแรงขึ้น หรือแม้แต่การสิ้นสภาพทามและอ่างเก็บน้ำจากการถูกถมที่ดินเพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นในกรณีที่ชุมชน-หน่วยงานท้องถิ่นมีความจำเป็นจะต้องใช้ที่ดินเพื่อไปทำประโยชน์อย่างอื่นมากขึ้น
อ้างอิง
DiMoia, J. P. (2018). Security Roads, Civil Engineering, and Transport Infrastructure: the Thai National Highway System and the Role of Regional Contractors, 1947-1963. Retrieved April 21, 2024, from https://www.academia.edu/24490287/.
Tsing, A. (2017). The buck, the bull, and the dream of the stag: Some unexpected weeds of the Anthropocene. Suomen Antropologi: Journal of the Finnish Anthropological Society, 42(1), 3-21.
กิตตินันท์ นาคทอง. (2559, 13 มีนาคม). ทางหลวงหมายเลข 12 : ยุทธศาสตร์ต้านคอมมิวนิสต์ สู่เส้นทางเชื่อมโยงอาเซียน. ผู้จัดการออนไลน์. จาก https://mgronline.com/columnist/detail/9590000026440.
จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์. (2567, 1 พฤษภาคม). “ไทภู” อัตลักษณ์ของชาวบ้านเซินเหนือสู่การเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม. จาก https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/600
สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย. (2023, 17 กุมภาพันธ์). ไมยราบยักษ์ (Giant Mimosa). [Facebook]. จาก https://www.facebook.com/WSST1977/posts/ไมยราบยักษ์-giant-mimosaชื่อวิทยาศาสตร์-mimosa-pigra-ชื่อวงศ์-mimosaceaeการขยายพ/3359159727675700.
สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2546). เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสาน : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอีสานหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงปัจจุบัน (2488-2544) (รายงานการวิจัย)
ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ควายทาม หนองสมอ ประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ คน ทาม ภูผาม่าน ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์