“ประวัติศาสตร์นิพนธ์ปริทัศน์” ทบทวนภูมิทัศน์การศึกษาประวัติศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 3716

“ประวัติศาสตร์นิพนธ์ปริทัศน์” ทบทวนภูมิทัศน์การศึกษาประวัติศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง

           บทความนี้พยายามทบทวนสถานภาพองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์นิพนธ์ภาคเหนือตอนล่าง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “ภาคกลางตอนบน” ซึ่งในอดีตเรียกว่า “เมืองเหนือ” “หัวเมืองฝ่ายเหนือ” หรือ “หัวเมืองเหนือ” ซึ่งชื่อเหล่านี้เป็นชื่อเรียกของรัฐส่วนกลางหรือสยาม ผู้เขียนได้จัดกลุ่มงานศึกษาผ่านสามประเด็นคือ 1) การศึกษาการเปลี่ยนผ่านในสังคมไทย 2) การศึกษาด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และ 3) การศึกษากระบวนการ “สร้าง” ประวัติศาสตร์ พร้อมกันนั้นผู้เขียนมีข้อสังเกตต่อทั้งสามประเด็นในการทบทวนการศึกษาประวัติศาสตร์ในอาณาบริเวณต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม บทความชิ้นนี้อธิบายภายใต้กรอบของการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์2ในสังคมไทยเพียงเท่านั้น มิได้อธิบายภายใต้กรอบประวัติศาสตร์กระแสหลัก เพื่อทำการวิเคราะห์ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ภาคเหนือตอนล่างนั้นมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหนของการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์ในสังคมไทย


การศึกษาการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย

           ความเปลี่ยนแปลงของการศึกษาประวัติศาสตร์ในสังคมไทย ได้เปลี่ยนแปลงจากการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับราชวงศ์มาสู่การศึกษาประวัติศาสตร์ในมิติของประวัติศาสตร์สังคมมากขึ้น (ธงชัย, 2561) ช่วงแรกเริ่มของการเปลี่ยนผ่านนี้ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนผ่านสังคมไทยที่เริ่มมีข้อถกเถียงมากขึ้นในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ หลังเหตุการณ์ดังกล่าวมีการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมมากขึ้น การศึกษาประวัติศาสตร์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนี้มุ่งเน้นการศึกษาการเปลี่ยนผ่านในสังคมไทย สามารถแบ่งได้ออกเป็นสองประเด็นที่สำคัญคือ

           ประเด็นแรก การศึกษาโครงสร้างของการปกครอง งานที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของหัวเมืองฝ่ายเหนือที่มาจากผลของการปฏิรูปมณฑลในช่วงรัชกาลที่ 5 งานของนฤมล วัฒนพานิช (2526) ได้ศึกษาระบบเทศาภิบาลกับผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจเมืองพิษณุโลก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพทางเศรษฐกิจระยะก่อนและระยะมีต่อการปกครองระบบเทศาภิบาลเป็นสำคัญ นอกจากนี้เศรษฐกิจช่วงการปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาลมิได้ส่งผลต่อผู้คนในพิษณุโลกมากนัก นอกเสียจากการเก็บภาษีของรัฐส่วนกลางที่เพิ่มมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานที่ศึกษานโยบายการปกครองและการปรับปรุงในมณฑลพิษณุโลกในสมัยรัชกาลที่ 5 คืองานของ ศิริวรรณ นุ้ยเมือง (2521) ที่เน้นในแง่ของการบริหาร การปกครองและเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของเมืองพิษณุโลก

           ประเด็นที่สอง งานศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ งานศึกษาประเด็นนี้มักไม่เห็นด้วยกับความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นี้ที่ผ่านการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 เพียงเท่านั้น เห็นได้จากข้อเสนอในวิทยานิพนธ์ของ ขวัญเมือง จันทโรจนี (2534) ที่มีข้อถกเถียงหลักสองประการที่มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกันคือ ประการแรก ความเปลี่ยนแปลงของหัวเมืองฝ่ายเหนือมิได้เปลี่ยนแปลงใหญ่ในการปฏิรูปมณฑลสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้น แต่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการค้าค่อนข้างคึกคักตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ประการที่สอง ปัจจัยภายในหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในรัตนโกสินทร์ตอนต้น ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กันกับรัฐส่วนกลางและหัวเมืองรายรอบ ข้อเสนอที่คล้ายกันเห็นได้จากงานของ ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว (2561) ที่เสนอว่าการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มิได้สร้างขึ้นและสามารถสถาปนารัฐสมัยใหม่ได้โดยศูนย์กลางที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ความเคลื่อนไหวในพื้นที่อื่น ๆ นอกศูนย์กลางอย่างเช่น หัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งการปฏิสัมพันธ์ทางการค้า ก็ส่งผลไม่น้อยต่อการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยาม

           นอกจากการศึกษาการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว ช่วงเวลาหลังจากนั้นก็มีงานศึกษาสองชิ้นที่ศึกษาช่วงเวลาหลังจากนั้น คือ สุภาพรรณ ขอผล (2534) ที่เสนอว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าของหัวเมืองฝ่ายเหนือจากเดิมที่เป็นไปค่อนข้างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นระหว่างล้านนากับกรุงเทพฯ มีการติดต่อซื้อขายกับพม่า ล้านนา ยูนนาน หลวงพระบาง และกรุงเทพฯ แต่หลังจากรถไฟเข้ามาทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่น ๆ ก็ลดบทบาทลงไปตามลำดับ และ เพียงใจ เจริญโสพล (2537) ที่เสริมเรื่องของบทบาทของชาวจีนในการผลิตและการค้าข้าวหลังจากทางรถไฟสร้างเสร็จ ที่เป็นการอธิบายเรื่องเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มชาวจีน

           นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเป็นงานศึกษาของ จิราภรณ์ สถาปณวรรธนะ (2546) เป็นงานที่ชี้ให้เห็นพัฒนาการและการปรับตัวของชุมชนภาคเหนือตอนล่างในต้นศตวรรษที่ 20 ที่มีลักษณะการผลิตแบบดำรงชีพ และการผลิตแบบหมุนเวียนสินของภายในชุมชน และแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านที่เปลี่ยนจากการผลิตแบบดำรงชีพมาสู่การผลิตเพื่อขาย

           กลุ่มการศึกษาการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย เป็นการเปลี่ยนผ่านทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองนั้น เป็นการใช้เอกสารอย่างเข้มข้นและมีดัชนีท้ายเล่มเป็นข้อมูลไว้ให้คนรุ่นหลังได้ทำการศึกษาต่อไป (ดู ขวัญเมือง, 2534, สุภาพรรณ, 2534, เพียงใจ, 2537, เป็นต้น) จะเห็นได้ว่าการศึกษาการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงของรัฐส่วนกลาง รัฐส่วนกลางส่งผลต่ออาณาบริเวณนี้อย่างไร และมีนโยบายต่อแบบไหน จึงก่อให้เกิดการไม่เห็นพลวัตเป็นของตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม งานเขียนในห้วงเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมาจึงเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เน้นความสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น แม้จะอธิบายประวัติศาสตร์ภาคเหนือตอนล่างในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบันก็ตาม


การศึกษาด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

           ในขณะเดียวกันวิธีวิทยาการศึกษาประวัติศาสตร์ที่แพร่หลายอีกแบบหนึ่งคือวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบคำบอกเล่า (oral history) ซึ่งเน้นการสัมภาษณ์เป็นหลัก ผู้ที่ผลักดันการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือตอนล่างคือ จิราภรณ์ สถาปณวรรธนะ ซึ่งเห็นได้จากงานศึกษาสองชิ้นคือ (1) หนังสือเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนทุ่งสาน (2550) ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชนทุ่งสาน จากทุ่งน้ำสู่ทุ่งนาที่มิได้เปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แต่ได้รับผลกระทบจากอำนาจของทุนและรัฐที่เข้ามาจัดการการสร้างเขื่อน นำไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐของผู้คนในชุมชน งานชิ้นนี้จึงมุ้งเน้นหาการก่อตัวของสำนึกอิสระที่ปราศจากความคิดครอบงำของรัฐ เพื่อพิทักษ์ความเป็นชุมชน (2) หนังสือเรื่องความสัมพันธ์ชาวเมืองเหนือตอนล่างกับทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ.2484-2488 (2550) ได้อธิบายความทรงจำร่วมระหว่างชาวเมืองเหนือตอนล่างกับชาวญี่ปุ่น เนื่องจากชาวบ้านร่วมมือกับราชการส่วนกลาง การติดต่อราชการจึงเป็นไปในทางที่สะดวก ดังนั้นการต่อต้านทหารญี่ปุ่นจึงไม่เห็นในบริเวณนี้ เพราะพื้นที่นี้ล้วนสัมพันธ์กับรัฐบาลส่วนกลางมานาน อาทิ การจัดเก็บภาษี การเกณฑ์แรงงาน และการปราบปรามความไม่สงบภายใน การอยู่ร่วมกันของชาวเมืองกับชาวญี่ปุ่นจึงกลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล กลายเป็นเรื่องเล่าและความทรงจำของผู้คนในบริเวณนี้อย่างมากมาย

           ช่วงเวลาถัดมามีงานเขียนที่ได้ใช้วิธีการแบบการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือหนังสือเรื่อง พลวัตชุมชนภาคเหนือตอนล่าง (2552) ที่ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนและหมู่บ้านในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ในหลายภาคส่วนทั้งการเขียนในรูปของประสบการณ์ภาคสนามและชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในระดับภาพใหญ่ โดยเลือกใช้หมู่บ้านในเขตภาคเหนือตอนล่าง อาทิ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ฯลฯ เป็นพื้นที่ในการศึกษา

           ทั้งกลุ่มที่ศึกษาการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยและกลุ่มการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ได้ศึกษาการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นี้ที่ใช้วิธีวิทยาต่างกัน ซึ่งกลุ่มที่ศึกษาการเปลี่ยนผ่านของสังคมสยามเก่าสู่สยามใหม่ใช้วิธีการจากเอกสาร แต่กลุ่มที่ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เน้นความทรงจำของผู้คน ผู้เขียนเห็นว่าวิธีวิทยาแบบการสัมภาษณ์นี้มีประโยชน์ต่อการศึกษาความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากความทรงจำของคนในพื้นที่นี้ไม่สามารถหาได้จากหลักฐานแบบเอกสาร ทั้งสองวิธีวิทยานี้จึงช่วยส่งเสริมมิติของการศึกษาประวัติศาสตร์ในระดับที่กว้างขึ้น

           หากพิจารณาในเชิงกระบวนการผลิตความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นิฌามิล หะยีซะ (2566) อธิบายว่า ความรู้ท้องถิ่นในบริบทสังคมไทยได้ปรับเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจจากตะวันตกไปสู่ศูนย์กลางของชาติที่สถาปนาในท้องถิ่น ดังนั้น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะถูกนับว่าเป็นความรู้ที่น่าเชื่อถือได้นั้นต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องไปกับความรู้หรือเรื่องเล่ากระแสหลักของชาติ อันหมายถึงเรื่องเล่าของส่วนกลางไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ประหนึ่งว่าเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติที่ได้ข้อมูลใหม่จากท้องที่อื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น


การศึกษากระบวนการ “สร้าง” ประวัติศาสตร์

           งานกลุ่มนี้เป็นการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ของอาณาบริเวณนี้ ทั้งด้านรูปแบบของการเขียนประวัติศาสตร์และการสร้างอุดมคติต่อรัฐไทยในการแสวงหาตัวตนของความเป็นชาติ ได้เสนอในหนังสือของ วริศรา ตั้งการค้าวานิช (2557) ได้เสนอเรื่องการ “สร้าง” เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่องกันในประวัติศาสตร์ไทย รวมไปถึงการรับรู้ของชนชั้นนำในแต่ละยุคและตำนานท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมเขาเสนอว่า ประวัติศาสตร์สุโขทัยจึงเป็นยุคสมัยแห่งความเป็นอุดมคติ คำที่แสดงความเป็นอุดมคติของจังหวัดสุโขทัยและประวัติศาสตร์สุโขทัยได้อย่างชัดเจนคือคำว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข”

           ปิยวัฒน์ สีแตงสุก (2566) ได้เสนอการวิเคราะห์ในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้โดยใช้วิธีการเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ และอธิบายถึงเรื่องเล่าของพระนเรศวรที่ถูกประกอบสร้างและแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา การชี้ให้เห็นถึงความเหมือนและต่างกันของเรื่องเล่าของหนังสือได้นำไปสู่การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์เรื่องแต่งที่ถูกสร้างขึ้นของพระนเรศวรอย่างมีพลวัติ

           ชาตรี ประกิจนนทการ (2551) วิเคราะห์คำอธิบายและความเปลี่ยนแปลงของความหมายในพระพุทธชินราชย์ พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา ที่มีหลากหลายสำนวนการเขียนถึง หนังสือเล่มนี้พยายามชี้ให้เห็นว่าในแต่ละช่วงเวลาการรับรู้และความหมายเกี่ยวกับพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ก็มิได้เหมือนกันเสียทีเดียว ผู้เขียนเห็นด้วยกับงานกลุ่มการศึกษากระบวนการสร้างประวัติศาสตร์นี้ เนื่องจากมิได้เอารัฐส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางในการอธิบายและชี้ให้เห็นถึงความรู้เบื้องหลังของการสร้างประวติศาสตร์แต่ละชุด

“...การที่นักประวัติศาสตร์เลือกบันทึกเหตุการณ์หนึ่งและไม่เลือกเหตุการณ์หนึ่ง ก็เพราะเหตุการณ์แรกมี “ความหมาย”ต่อเขา ความหมายทั้งหลายมิได้ดำรงอยู่แบบอิสระ แต่ตั้งอยู่บนมาตรฐานอันใดอันหนึ่งอยู่เสมอ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การตัดสินใจ “เลือก”ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มาเสนอนั้นผูกพันอยู่กับมาตรฐาน (ทางการเมือง ศีลธรรม ความดีงาม ปรัชญา ฯลฯ) ของนักประวัติศาสตร์เอง...” (เน้นโดยผู้เขียน) (นิธิ, พิมพ์ครั้งที่4, 2548, น 368)

           งานกลุ่มที่ศึกษากระบวนการสร้างประวัติศาสตร์นี้จึงเน้นไปที่การวิเคราะห์ความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่นี้ อาทิ การสร้างประวัติศาสตร์สุโขทัย ถอดความหมายขององค์พระพุทธชินราช และการสร้างความเป็นวีรบุรุษที่ต้องสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลัก (ราชาชาตินิยม) แต่อย่างไรก็ตาม งานของกลุ่มที่ศึกษากระบวนการสร้างประวัติศาสตร์นี้ได้มุ้งเน้นไปที่การถอดรื้อตัวเอกสารของรัฐมากกว่าจะวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนที่อยู่ที่เขียนขึ้นโดยนักวิชาการที่เขียนเกี่ยวกับท้องถิ่น


ส่งท้าย

           จากที่ได้ทบทวนงานศึกษาพื้นที่นี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตสองประการสำหรับผู้เขียนคือ ประการแรก การศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้ที่ผู้เขียนนำมาจัดเป็นกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ มิได้เกิดขึ้นบนอากาศธาตุ แต่เป็นการเกิดขึ้นภายใต้วิวาทะบางอย่างอยู่เสมอ โดยกลุ่มแรกเน้นบทบาทไปที่การเปลี่ยนแปลงของรัฐสยามจากยุคสยามเก่าถึงยุคสยามใหม่ผ่านประเด็นด้านเศรษฐกิจและการเมืองในพื้นที่นี้ เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของพื้นที่นี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสยาม กลุ่มที่สองเน้นไปที่บทบาทด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ความทรงจำของผู้คนในพื้นที่นี้ และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มที่ชี้ให้เห็นเบื้องหลังของการเขียนประวัติศาสตร์ในชุดต่าง ๆ

           ประการที่สอง คือการนิยามชื่อเรียกของพื้นที่ตรงนี้ซึ่งเห็นได้จากกลุ่มที่ศึกษาการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย ที่ศึกษาประเด็นต่างกัน หรือช่วงเวลาต่างกันคำนิยามของพื้นที่นี้ก็ไม่เหมือนกัน ในขณะเดียวกันการศึกษาในช่วงเวลาเดียวกันเองก็นิยามพื้นที่นี้ไม่เหมือนกัน (ดู ขวัญเมือง, 2534, สุภาพรรณ, 2534, ณัฏฐพงษ์, 2562, จิราภรณ์, 2546) ซึ่งบางคนนิยามพื้นที่นี้ในเชิงกลุ่มวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง (ขวัญเมือง, 2534) นิยามพื้นที่นี้ในทางเศรษฐกิจการค้า (สุภาพรรณ, 2534) แต่อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายของการนิยามพื้นที่ตรงนี้มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือ การนิยามความหมายในเชิงที่เกี่ยวข้องกับรัฐส่วนกลางเพียงแบบเดียว จึงไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงภายในที่เป็นของตนเอง

           ทั้งสองประการ ผู้เขียนกล่าวโดยสรุปว่ากลุ่มการศึกษาที่ผู้เขียนสนใจคือกลุ่มการศึกษากระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ซึ่งยังไม่มีงานศึกษาภาพรวมของพื้นที่ตรงนี้ อาจมีปัญหาจากการนิยามพื้นที่ตรงนี้ซึ่งเป็นข้อสังเกตของผู้เขียนในประการที่สอง จึงไม่สามารถมองความเปลี่ยนแปลงของการสร้างประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตรงนี้อย่างเป็นภาพรวม


บรรณานุกรม

ขวัญเมือง จันทโรจนี. (2534) ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของหัวเมืองฝ่ายเหนือในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น.วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ขวัญเมือง จันทโรจนี. บรรณาธิการ (2539) เอกสารสัมมนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือตอนล่าง. ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ. (2546) เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านภาคเหนือตอนล่าง. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์. 2546.

จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ. (2550) ความสัมพันธ์ชาวเมืองเหนือตอนล่างกับทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ.2484-2488.พิษณุโลก: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ. (2550) ประวัติศาสตร์ชุมชนทุ่งสาน. พิษณุโลก: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

ชาตรี ประกิจนนทการ. (2551) พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ .กรุงเทพฯ: มติชน.

ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว. (2561) สามัญชนในหัวเมืองฝ่ายเหนือกับการก่อตัวของรัฐสมัยใหม่สยาม พ.ศ.2400-2450.วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ธงชัย วินิจจะกูล. (2562). ภูมิทัศน์อดีตที่เปลี่ยนไป: ประวัติศาสตร์ชุดใหม่ในประเทศไทยหลัง 14 ตุลา. ใน ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

นฤมล วัฒนพานิช. (2526) ระบบเทศาภิบาลกับผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจเมืองพิษณุโลก. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.

นิฌามิล หะยีซะ. (2566) รื้อถอน “อาณานิคม”ทางความรู้: สังคมวิทยาความรู้กับกรณีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/520. เข้าถึงเมื่อ 19/02/2567.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2548). ปากไก่และใบเรือ: ความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์และประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่4. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2562). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพ: มติชน.

ปิยวัฒน์ สีแตงสุก. (2566) นเรศวรนิพนธ์: การเมือง อนุสาวรีย์ และประวัติศาสตร์เรื่องแต่ง. กรุงเทพฯ: มติชน.

เพียงใจ เจริญโสพล. (2537) บทบาทชาวจีนทางการผลิตและการค้าข้าวในบริเวณภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยหลังการสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือ พ.ศ.2448-2488. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

วริศรา ตั้งการค้าวานิช. (2557) ประวัติศาสตร์สุโขทัยที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: มติชน.

วศิน ปัญญาวุธตระกูล และสุพรรณี เกลื่อนกลาด บรรณาธิการ. (2552) พลวัตชุมชนภาคเหนือตอนล่าง. พิษณุโลก: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

ศิริวรรณ นุ้ยเมือง. (2521) เรื่องการปกครองพิษณุโลกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. วิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.

สุภรณ์ โอเจริญ. บรรณาธิการ (2528) นครสวรรค์: รัฐกึ่งกลาง. รายงานสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์. นครสวรรค์: วิทยาลัยครูนครสวรรค์.

สุภาพรรณ ขอผล.(2534) การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนล่างในช่วงปี พ.ศ.2448-2484. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.


1  บทความนี้ต่อยอดมาจาก วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีของผู้เขียนในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง ก่อ ร่าง สร้าง เขียน: ผู้คนและประวัติศาสตร์หัวเมืองฝ่ายเหนือ (2566)

2  ความแตกต่างระหว่างประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์คือ ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ส่วน ประวัติศาสตร์นิพนธ์คือการ “เขียน” ประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2565) ยังอธิบายด้วยว่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์ในอีกลักษณะหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับอำนาจ หากเขียนให้กับรัฐ อำนาจก็ขึ้นอยู่กับรัฐ หากเขียนให้ประชาชน อำนาจก็จะไหลไปสู่ประชาชน


ผู้เขียน
ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ


 

ป้ายกำกับ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ปริทัศน์ ภูมิทัศน์ การศึกษาประวัติศาสตร์ ภาคเหนือตอนล่าง ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา