โบราณคดี : อดีต มนุษย์ และสังคม

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 1210

โบราณคดี : อดีต มนุษย์ และสังคม

รูปที่ 1 ปกหนังสือ โบราณคดี : อดีต มนุษย์ และสังคม
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           มนุษย์มีความสนใจและอยากรู้ในเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเผ่าพันธุ์ของตัวเอง การค้นพบทางโบราณคดีจึงมักสร้างความตื่นเต้นและกระตุ้นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นของเราได้เสมอ ดังนั้น การศึกษาโบราณคดีจึงสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับมนุษย์และสังคม อีกทั้งยังสะท้อนภาพพัฒนาการของมนุษย์ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์และธรรมชาติ และภาพของสังคมที่มีทั้งความรุ่งเรืองและความล้มเหลวในที่อดีตที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

           ผู้อ่านหลายท่านคงจะคุ้นเคยกับการ์ตูนเรื่อง โดเรม่อน และของวิเศษอย่างหนึ่งของโดเรม่อนที่เรารู้จักกันดี นั่นก็คือ “ไทม์แมชชีน” ที่ใช้ย้อนเวลาไปยังยุคอดีต หรือเดินทางไปยังอนาคตได้ โดยจะเดินทางผ่านอุโมงค์กาลเวลา และถ้าหากให้เปรียบเทียบแล้ว “โบราณคดี” ก็เป็นเหมือนกับสิ่งที่สามารถพาเราย้อนเวลากลับไปในอดีตได้เหมือนกับ “ไทม์แมชชีน”

           หนังสือ “โบราณคดี : อดีต มนุษย์ และสังคม” เล่มนี้ ของ รองศาสตราจารย์ดร.พจนก กาญจนจันทร รองศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับกระบวนการทำงานของไทม์แมชชีนของมนุษย์เครื่องนี้ ที่เรียกว่า “โบราณคดี” เพื่อย้อนเวลากลับไปพบกับเรื่องราวในอดีต

           “โบราณคดี” เป็นศาสตร์ที่ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ สังคมและวัฒนธรรมในอดีตที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบัน ซึ่ง “โบราณคดี” ได้เริ่มต้นขึ้นในทวีปยุโรป โดยในวัฒนธรรมตะวันตกมีการเขียนเล่าเรื่องราวอดีตตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ แต่ไม่ได้อยู่ในรูปของการบันทึกเหตุการณ์หรือพงศาวดาร แต่อยู่ในรูปของบทกวี เช่น มหากาพย์ อีเลียด (Iliad) และ โอดิสซีย์ (Odyssey) บทกวีของกรีกโบราณ ประพันธ์โดย โฮเมอร์ (Homer) เมื่อราว 800 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ อีเลียด วีรบุรุษสงครามของกรีกโบราณที่ต่อสู้เพื่อให้ได้ครอบครองเมืองทรอย ส่วน โอดิสซีย์เป็นเรื่องราวการผจญภัยระหว่างการเดินทางของนักรบชาวกรีกนามว่า โอดิสซูส (Odysseus) ซึ่งเรื่องราวในบทกวีนี้ทำให้คนรุ่นต่อ ๆ มาพยายามค้นหาสถานที่ตามบทกวีเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เป็นต้น ทำให้ “โบราณคดี” ได้ก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ จากความสงสัย จนเกิดเป็นการเดินทางท่องเที่ยว ไปจนถึงการแสวงหาสิ่งของเก่าแก่เพื่อการสะสม ต่อมาในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของโบราณคดี เป็นช่วงที่ความสนใจเรื่องราวเก่าแก่กำลังปรับเปลี่ยนเป็นการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง มีระเบียบวิธีวิจัยอย่างเป็นแบบแผนและเป็นวิทยาศาสตร์ และตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา โบราณคดีได้เกิดความก้าวหน้าครั้งสำคัญ โดยได้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถช่วยกำหนดอายุของวัตถุได้ นับตั้งแต่นั้นมาวิทยาศาสตร์หลายแขนงก็ได้เข้ามามีบทบาทในการศึกษาวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี ส่งผลให้งานศึกษาก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว

           สำหรับประเทศไทยนั้น ความสนใจในเรื่องราวเก่าแก่และสิ่งของโบราณ ได้อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนานซึ่งการเล่าเรื่องราวในอดีตจะพบอยู่ในวรรณกรรมทางศาสนา คือ วรรณกรรมโลกศาสตร์ว่าด้วยกำเนิดโลกและมนุษย์ รวมถึงในรูปของตำนานเล่าขานที่เป็นเรื่องราวความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ บางตำนานมีการบันทึกเป็นพงศาวดาร เช่น พงศาวดารล้านช้าง ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดโลกและมนุษย์ เป็นต้น นอกจากตำนาน เรื่องเล่า และวรรณกรรมทางศาสนา ก็ยังมีวัตถุและสถานที่ที่ตกทอดมาตั้งแต่อดีตที่มักเกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น ข้อความในจารึกสมัยสุโขทัยที่สะท้อนถึงประเพณีการบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปเก่าแก่และเจดีย์ร้าง หรือประเพณีการอนุรักษ์วัตถุทางศาสนาที่สืบทอดมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่มีการนำพระพุทธรูปจากเมืองเก่ามาประดิษฐานตามวัดหลวงในพระนคร และนำซากอิฐโบราณจากกำแพงเมืองมาสร้างกำแพงเมืองใหม่ที่กรุงเทพฯ เป็นต้น จนมาถึงช่วงเวลาที่การศึกษาอดีตของสังคมไทยมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การเข้ามาของชาวตะวันตกในสมัยปลายรัชกาลที่ 3 และในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ที่เป็นยุคล่าอาณานิคม ซึ่งมีความกดดันทางการเมืองเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกทั้งสิ้น และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะรอดพ้นจากการเป็นประเทศอาณานิคม แต่ก็ได้ซึมซับเอาวัฒนธรรมการศึกษาอดีตที่เรียกว่า “โบราณคดี” ของประเทศตะวันตกเข้ามาค่อนข้างมาก

           การศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีนั้น แหล่งข้อมูลที่สำคัญก็คือ ซากวัตถุ สิ่งของเครื่องใช้ ซากสิ่งมีชีวิตที่หลงเหลืออยู่บนพื้นผิวดินหรือในชั้นใต้ดิน รวมถึงร่องรอยต่าง ๆ ที่สามารถมองเห็นได้หรือพบได้จากการขุดค้น และหลักฐานที่ดีที่สุดในทางโบราณคดี ไม่ใช่หลักฐานโบราณวัตถุที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์สวยงาม แต่คือหลักฐานวัตถุที่อยู่ในบริบทเดิมของมัน หลักฐานวัตถุและร่องรอยเหล่านี้จะแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมและการดำรงชีวิตของมนุษย์ในอดีต ซึ่งขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ได้หลักฐานวัตถุเหล่านั้นมา ก็คือการศึกษาและเก็บข้อมูลภาคสนาม โดยการสำรวจและการขุดค้น การทำงานภาคสนามของโบราณคดีเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก ใช้งบประมาณสูง และจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ค่อนข้างดี เพราะอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ อีกทั้งการขุดค้นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะได้ข้อมูลตามที่ต้องการเสมอไป ดังนั้น ก่อนทำการขุดค้นจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ

 


รูปที่ 2 ภาพการเปิดหลุมขุดค้นแบบตารางหมากรุก การขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี โครงการความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างไทย-เดนมาร์ก พ.ศ. 2503-5
หมายเหตุจาก. หนังสือ โบราณคดี : อดีต มนุษย์ และสังคม หน้า 230



รูปที่ 3 การเปิดหลุมขุดค้นแบบตารางกริด การขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรีโครงการความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างไทย-เดนมาร์ก พ.ศ. 2503-5
หมายเหตุจาก. โบราณคดี : อดีต มนุษย์ และสังคม หน้า 231

           นอกจากกระบวนการขุดค้นที่ต้องรอบคอบแล้ว นักโบราณคดียังต้องมีการบันทึกหลักฐานระหว่างการขุดค้นที่รัดกุมด้วย เพราะการบันทึกหลักฐานถือเป็นหัวใจสำคัญไม่แพ้การขุดค้น โดยวิธีการบันทึกมีทั้งการเขียนบรรยาย การวาดลายเส้น การถ่ายภาพ การบันทึกวิดีโอ และการถ่ายภาพ 3 มิติ ซึ่งบันทึกเหล่านี้จะถูกใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์ ทำความเข้าใจหลักฐานทางโบราณคดี การบันทึกหลักฐานที่ชัดเจนจะเป็นแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและมีความสำคัญกับงานศึกษาที่มีการขุดค้นใหม่ในอนาคตด้วย

 


รูปที่ 4 การขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า นักโบราณคดีกำลังทำความสะอาดพื้นผิวหลุมขุดค้นหลังจากขุดลอกชั้นดิน เพื่อทำการบันทึกบริบทที่ขุดค้นพบ
หมายเหตุจาก. โบราณคดี : อดีต มนุษย์ และสังคม หน้า 236

           หลังจากงานเก็บข้อมูลภาคสนามได้เสร็จสิ้นแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการศึกษาวิเคราะห์โบราณวัตถุที่ได้มาจากการขุดค้น ซึ่งโบราณวัตถุเหล่านั้นเป็นเบาะแสสำคัญที่นักโบราณคดีใช้ในการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ และวิธีที่เป็นที่นิยมใช้ในการศึกษาโบราณวัตถุ คือ การจำแนกประเภท เป็นการจัดหมวดหมู่ของวัตถุ โดยจำแนกเป็นกลุ่มตามประเภทของวัสดุและลักษณะทางกายภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะช่วยให้นักโบราณคดีเห็นภาพรวมเบื้องต้นของแหล่งที่ทำการศึกษา เช่น ประเภทสิ่งของเครื่องใช้ รูปแบบ จำนวน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้นักโบราณคดีอธิบายความเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับชุมชนอื่นในภูมิภาค รวมทั้งสามารถใช้เป็นข้อมูลในการเทียบเคียงอายุสมัยของแหล่งโบราณคดีได้ด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ด้านชีวภาพ เคมี ธรณีวิทยา พันธุกรรม และอื่น ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานวิเคราะห์โบราณวัตถุในเชิงลึก แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะและองค์ประกอบของวัตถุที่ตาเปล่าไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น หากเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีอายุหลักแสนปีหรือหลายล้านปีขึ้นไป มักใช้เทคนิคทางธรณีวิทยาที่วัดอายุของหินแร่จากธาตุกัมมันตรังสี (radiometric dating) เช่น เทคนิคโปแตสเซียม-อาร์กอน (potassium-argon dating, K-Ar dating) ซึ่งเป็นวิธีวัดอายุของหินแร่จากอัตราการสลายตัวของกัมมันตรังสีของไอโซโทปโปแตสเซียม ที่กลายเป็นกัมมันตรังสีของไอโซโทปของอาร์กอน เช่น ใช้ในการศึกษาการอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ตระกูลโฮโม (Homo) ที่ออกจากทวีปแอฟริกาเมื่อเกือบ 2 ล้านปีที่แล้ว เป็นต้น ดังนั้น นักโบราณคดีจึงควรศึกษาและติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้นำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์ในงานโบราณคดีต่อไป

           เมื่อนักโบราณคดีได้ข้อมูลเบื้องต้นมาจากการวิเคราะห์โบราณวัตถุแล้ว ต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาแปลความหมาย และหาคำตอบให้ได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ เพื่ออธิบายชีวิตความเป็นอยู่ จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ของผู้คนในอดีต

           นักโบราณคดีจึงเป็นเหมือนนักสำรวจคนสำคัญที่พาเรานั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในยุคอดีต และในขณะเดียวกัน นักโบราณคดีก็เป็นเหมือนคนที่เขียนประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีการบันทึก กล่าวคือ นักโบราณคดีคือคนที่สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับอดีต ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ได้มาจากการขุดค้นซากโบราณวัตถุ สิ่งของเครื่องใช้ รวมไปถึงซากสิ่งมีชีวิต นำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ออกมาเป็นเรื่องราวของผู้คนและสังคมในอดีตเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การศึกษาเรื่องราวในอดีตสามารถสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชาติ และนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกด้วย

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสืออื่นของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


ผู้เขียน
ปริยฉัตร เวทยนุกูล
นักบริการสารสนเทศ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ โบราณคดี อดีต มนุษย์และสังคม ประวัติศาสตร์ ปริยฉัตร เวทยนุกูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share