รอง ศยามานนท์ กับการเผยแพร่องค์ความรู้ประวัติศาสตร์แก่ประชาชน

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 752

รอง ศยามานนท์ กับการเผยแพร่องค์ความรู้ประวัติศาสตร์แก่ประชาชน

           รอง ศยามานนท์ (พ.ศ.2454-2528) ถือเป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญในช่วงเวลาหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 จนถึงปลายทศวรรษ 2520 เพราะนอกจากการดำรงตำแหน่งอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผลงานเขียนหนังสือ เช่น A History of Thailand (1971) และหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ (2520) แล้ว รองยังรับราชการพิเศษของรัฐบาลไทย ได้แก่ ราชบัณฑิตในสาขาวิชาประวัติศาสตร์แห่งราชบัณฑิตยสถาน และประธานคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ด้วยเหตุเหล่านี้ รองจึงได้รับการยกย่องให้เป็น “ดวงประทีปทางประวัติศาสตร์” และ “ราชบัณฑิตปูชนียบุคคล” ของไทย (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์, 2528; สุวิมล รุ่งเจริญ, 2555, น. 21)

           ด้วยความสำคัญข้างต้น คงส่งผลให้เกิดงานศึกษาเกี่ยวกับบทบาทในการทำงานด้านประวัติศาสตร์ของรอง ศยามานนท์อยู่จำนวนหนึ่ง โดยมักจะพิจารณาจากการรับราชการพิเศษในคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย งานศึกษาเหล่านั้นมองว่า รองเป็นนักประวัติศาสตร์ชนชั้นนำในกระแสการเขียนประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพ หรือไม่ก็ในกระแสประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบราชาชาตินิยม ทั้งสองกระแสดังกล่าวนั้นให้ความสำคัญต่อบทบาทและความสามารถของสถาบันกษัตริย์ในฐานะผู้นำแห่งชาติไทย (กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร, 2519; วรพิน ชัยรัชนีกร, 2524; ยุพา ชุมจันทร์, 2530; สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 2555)

           อย่างไรก็ดี ความเรียงนี้ต้องการพิจารณาการทำงานด้านประวัติศาสตร์ในตำแหน่งราชบัณฑิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์แห่งราชบัณฑิตยสถาน อันเป็นการแสดงให้เห็นในอีกแง่มุมหนึ่งของการรับราชการพิเศษกับรัฐบาลไทยของรอง ศยามานนท์


ชีวิตและผลงาน

           รอง ศยามานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2454 ในครอบครัวข้าราชการครู เป็นบุตรของพระยาราชนกูล (รื่น ศยามานนท์) และคุณหญิงเลื่อน ศยามานนท์ เมื่อเจริญวัยได้ 9 ปี ได้เริ่มต้นการศึกษา ณ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม จากนั้นจึงเข้ารับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ณ โรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวรารามและโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ ใน พ.ศ.2463 และ พ.ศ.2467 ตามลำดับ ต่อมาเมื่อสอบไล่ผ่านระดับมัธยมศึกษาปีที่ 8 แล้ว ใน พ.ศ.2470 รอง ศยามานนท์ก็สามารถสอบชิงทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) เพื่อไปศึกษาต่อในสาขาวิชาอักษรศาสตร์และวิชาครู ณ ประเทศอังกฤษ เช่นเดียวกับบิดาของเขา

           ด้วยการโดยสารเรือสัญชาติเดนมาร์กนามว่า พิโอเนีย รอง ศยามานนท์จึงไปถึงประเทศอังกฤษใน พ.ศ.2471 ที่นั่น รองได้เข้ารับการศึกษา ณ Imperial Service College เพื่อศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ ละติน และประเพณีของประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะสอบเข้าศึกษา ณ วิทยาลัยแพมโบรค มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ใน พ.ศ.2472 รองเลือกเรียนในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ จึงจบการศึกษาและได้รับวุฒิปริญญาตรี B.A. Hons (Second Class) จากนั้นก็ศึกษาวิชาครูอีก 1 ปี และได้รับประกาศนียบัตรวิชาครุศาสตร์ชั้นสูง (Diploma in Education) อันเทียบเท่าวุฒิระดับปริญญาโท ใน พ.ศ.2477 ก่อนที่จะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในเดือนเมษายน พ.ศ.2478 รองยังสามารถสอบและได้รับ Certificat d’ Etudes Francaises (ภาษาฝรั่งเศส) จากมหาวิทยาลัยเกรยโนบล์ (Grenoble) และต่อมาภายหลัง ใน พ.ศ.2480 รองได้รับวุฒิปริญญาโท M.A. สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อีกหนึ่งวุฒิด้วย

           เมื่อกลับถึงประเทศไทยแล้ว รอง ศยามานนท์เข้ารายงานตัวเพื่อรับราชการในตำแหน่งอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ แทนตำแหน่งของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กอปรกับมีการจัดตั้งแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ขึ้น ณ คระอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ด้วยสืบเนื่องการจัดระบบการศึกษาระดับปริญญตรีใหม่ของจุฬาลงณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ.2478 รองจึงถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคนแรกแห่งแผนกวิชาฯ และทำการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ใน พ.ศ.2495 รองเกษียณอายุราชการใน พ.ศ.2515 และยังคงสอนต่อจนถึง พ.ศ.2522 จึงขอลาออกจากตำแหน่งอาจารย์พิเศษ ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ

           อนึ่ง ผลงานเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ของรอง ศยามานนท์ นอกจาก A History of Thailand (1971) และ ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัฐธรรมนูญ (2520) แล้ว ยังมีหนังสือที่เขียนร่วมกับผู้เขียนท่านอื่น ซึ่งล้วนทำงานด้านประวัติศาสตร์ร่วมกันมาตั้งแต่ พ.ศ.2495 ในฐานะคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เขียนร่วมกับหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล และหม่อมราชวงศ์แสงโสม เกษมศรี (2502) หรือหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา: แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ถึงแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เขียนร่วมกับพลตรีดำเนิร เลขะกุล และวิลาสวงศ์ นพรัตน์ (2515) เป็นต้น


ราชบัณฑิตในสาขาวิชาประวัติศาสตร์

           ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 กล่าวได้ว่า คณะรัฐบาลภายใต้การนำของคณะราษฎรก็ดำเนินนโยบายตามหลักเจตนารมณ์ดังปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ใน “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ 6 ความว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” นั้น ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งราชบัณฑิตยสถานในฐานะสถาบันผลิตความรู้ขึ้น ใน พ.ศ.2477 โดยมีเป้าประสงค์หลักของการจัดตั้งและรวบรวมผู้มีวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ เข้ามาร่วม “กระทำการค้นคว้าในสรรพวิชาแล้วนำออกเผยแพร่ให้เป็นคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและประชาชน” (ราชกิจจานุเบกษา 51, 2477, น. 130)

           ต่อมาหลังการจัดตั้งราชบัณฑิตยสถานไม่นานนัก จึงมีการคัดเลือกภาคีสมาชิกจำนวน 30 ท่าน และจัดประชุมภาคีสมาชิกขึ้นเป็นครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2477 ณ ศาลาสหทัยสมาคม โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นกล่าวเปิดการประชุมซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดและเป้าหมายในการจัดตั้งสถาบันผลิตความรู้แห่งนี้เป็นอย่างดี ดังความสำคัญตอนหนึ่งว่า

ราชบัณฑิตยสถานของเรามิใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้ตั้ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตั้ง ราชบัณฑิตยสถานของเรา... เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติของชาติและระบอบรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะมีนามอันหนึ่งอยู่คู่ขนานไปกับราชบัณฑิตยสถาน นามอันนั้นจะไม่ใช่นามของบุคคล แต่จะเป็นนามของสภาผู้แทนราษฎร นามของรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คนในชั้นหลังจะต้องระลึกคู่กันไปกับราชบัณฑิตยสถาน สิ่งนั้นก็คือ รัฐธรรมนูญ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2527, น. 31-32)

           ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ยังปรากฏมติแต่งตั้งให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณหรือพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ในเวลาต่อมา เป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน พระเรี่ยมวิรัชชพากษ์ เป็นอุปนายก และหลวงวิจิตรวาทการ เป็นเลขานุการ รวมถึงมีมติตกลงให้แบ่งกิจการราชบัณฑิตยสถานออกเป็น 3 สำนัก ได้แก่ 1) สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง 2) สำนักวิทยาศาสตร์ และ 3) สำนักศิลปกรรม (ราชบัณฑิตยสถาน, 2527, น. 32)

           นับตั้งแต่การจัดตั้งราชบัณฑิตยสถานเป็นเวลากว่า 8 ปี ใน พ.ศ.2485 จึงมีประกาศการแต่งตั้งราชบัณฑิตชุดแรก จำนวน 52 ท่าน แทนภาคีสมาชิกชุดแรก จำนวน 30 ท่านซึ่งแต่งตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2477 โดยราชบัณฑิต 1 ใน 52 ท่านนี้ปรากฏชื่อของรอง ศยามานนท์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ดังนี้ จึงกล่าวได้ว่าการได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งราชบัณฑิตนี้คือจุดเริ่มต้นในการรับราชการพิเศษของรอง ศยามานนท์ ณ ราชบัณฑิตยสถาน ในการ “กระทำการค้นคว้าในสรรพวิชาแล้วนำออกเผยแพร่ให้เป็นคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและประชาชน” ต่อไป


การเผยแพร่องค์ความรู้ประวัติศาสตร์แก่ประชาชน

           เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ใน พ.ศ.2485 แล้ว ปีถัดมารอง ศยามานนท์ก็เริ่มต้นเขียนบทความเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ประวัติศาสตร์ลงในสิ่งพิมพ์ของราชบัณฑิตยสถานทันที ในบทความเรื่อง “ความสัมพันธ์ของประวัติสาตรสากลและไทย” ลงใน สมุดที่ระลึกวันราชบันดิตสถาน 31 มีนาคม 2486 (2486) นั้นได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการทำงานด้านประวัติศาสตร์ของรองในการ “ค้นคว้าในสรรพวิชา” เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเข้าใจต่อเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยจำเป็นต้องเข้าใจต่อเรื่องราวในประวัติศาสตร์สากลด้วย รองมีความเห็นว่า “ประวัติสาตรสากลและประวัติสาตรไทยเกี่ยวเนื่องกันหย่างแทบจะแยกไม่ออก ถ้าขาดวิชาประวัติสาตรสากล จะเปนการยากมากที่จะเข้าไจประวัติสาตรบางตอนได้” (2486, น. 45)

           ด้วยแนวคิดในการทำงานด้านประวัติศาสตร์ดังกล่าว รอง ศยามานนท์จึงเริ่มต้นสร้างความเข้าใจในเรื่องราวของประวัติศาสตร์สากล หรือเรื่องราวของประเทศในทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกา ดังเห็นได้จากบทความเรื่อง “สารานุกรมประวัติสาตร” ใน ราชบัณฑิตสาร สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง (2487) อันบรรจุเรื่องราว บุคคลและเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์สากล เช่น “ปาชา มหะหมัด อาลี” (Pasha Mehemet Aali, 1815-1871) รัฐบุรุษแห่งตุรกี “อับเบวิล” (Abbeville) เมืองสำคัญทางภาคเหนือของฝรั่งเศส หรือ “อานุภาพ เอ.บี.ซี” (A.B.C. Power) ชื่อเรียกการรวมตัวของกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ คือ อาร์เจนตินา บราซิล และชีลี

           กระนั้น กว่าแนวคิดในการทำงานด้านประวัติศาสตร์ของรอง ศยามานนท์ข้างต้นจะได้นำมาใช้เพื่อเผยแพร่เป็นความรู้แก่ประชาชน อันเป็นเป้าประสงค์หลักของราชบัณฑิตยสถานนั้น ก็ต้องรอจนถึง พ.ศ.2497 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้นเสนอให้ราชบัณฑิตยสถานจัดทำโครงการทำสารานุกรมไทยเพื่อเป็นตำราความรู้ “สำหรับย่นเวลาในการศึกษาเล่าเรียน... จะเปิดดูได้ทีเดียวไม่ต้องเสียเวลาค้นหาในหนังสือต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้นานาอารยประเทศ จึงได้ทำหนังสือสารานุกรมซึ่งบรรจุความรู้แทบทุกสาขาวิชาไว้ เพื่อให้พลเมืองของเขาศึกษาค้นคว้าได้ง่ายไม่เสียเวลา”(ราชบัณฑิตยสถาน, 2498, น. ก-ข) ทั้งนี้ ยังต้องเป็นความรู้ซึ่ง “อธิบายอย่างย่อ ๆ และเข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้อ่านซึ่งแม้จะไม่มีความรู้พิเศษเกี่ยวด้วยเรื่องนั้น ๆ ก็สามารถเข้าใจได้ทันที” (ราชบัณฑิตยสถาน, 2498, น. ง)

           ในการสารานุกรมไทยนี้ รอง ศยามานนท์ในฐานะราชบัณฑิตในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะบรรณาธิการจัดทำสารานุกรมไทย ร่วมกับพระยาอนุมานราชธน พระราชธรรมนิเทศ พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ และนายเจริญ อินทรเกษตร (ราชบัณฑิตยสถาน, 2498, น. ค) โดยรองได้รับหน้าที่เขียนอธิบายเรื่องราวหรือสิ่งต่าง ๆ อันเป็นเรื่องเฉพาะในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ เช่น คำว่า “ก๊กมินตั๋ง” เป็นต้น

           จากที่กล่าวถึงการทำงานด้านประวัติศาสตร์ของรอง ศยามานนท์มาในข้างต้น คงได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การรับราชการพิเศษในตำแหน่งราชบัณฑิตแห่งราชบัณฑิตยสถานนั้นตั้งอยู่บนเป้าประสงค์ของการเผยแพร่ความรู้ต่อประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น ความรู้ที่ผลิตขึ้นมาจึงถูกเรียกร้องให้มีการอธิบายอย่างย่อและเข้าใจง่าย เพื่อ “ผู้อ่านซึ่งแม้จะไม่มีความรู้พิเศษเกี่ยวด้วยเรื่องนั้น ๆ ก็สามารถเข้าใจได้ทันที”

           เหล่านี้คือ อีกแง่มุมหนึ่งของนักประวัติศาสตร์ นามว่า รอง ศยามานนท์


เอกสารอ้างอิง

กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. (2517). การศึกษาประวัติศาสตร์ของสกุลดำรงราชานุภาพ. อักษรศาสตร์พิจารณ์ 2(6), 28-44.

“พระราชบัญญัติว่าด้วยราชบัณฑิตสถาน พุทธศักราช ๒๔๗๖.” (2477). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 51, หน้า 128-146.

ยุพา ชุมจันทร์. (2530). ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย พ.ศ.2575-พ.ศ.2516 [วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์]. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

รอง สยามานนท์. (2486). ความสัมพันธ์ของประวัติสาตรสากลและไทย. ใน สมุดที่ระลึกวันราชบันดิตสถาน 31 มีนาคม 2486 (น. 44-49). พระนคร: โรงพิมพ์พระจันท.

รอง สยามานนท์. (2487). สารานุกรมประวัติสาตร. ราชบัณฑิตสาร สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง 1(2), 70-85.

รอง ศยามานนท์ พลตรีดำเนิร เลขะกุล และวิลาสวงศ์ นพรัตน์. (2515). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา: แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ถึงแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช. นครหลวง: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

รอง ศยามานนท์, ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล และ ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี. (2502). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น. พระนคร: กรมศิลปากร.

ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมไทย. (2498). พระนคร: ราชบัณฑิตยสถาน.

ราชบัณฑิตยสถาน. 2527. 50 ปี ราชบัณฑิตยสถาน 31 มีนาคม 2527. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.

วรพิน ชัยรัชนีกร. (2524). วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์. วารสารธรรมศาสตร์ 10(2), 74-91.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2555). ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์. ใน สุวิมล รุ่งเจริญ (บ.ก.), ร้อยปีสี่ศาสตราจารย์(น. 213-246). กรุงเทพฯ: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุวิมล รุ่งเจริญ (บ.ก.). (2555). ร้อยปีสี่ศาสตราจารย์. กรุงเทพฯ: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุวัดธาตุทอง วันอาทิตย์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๘. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


ผู้เขียน
กฤชกร กอกเผือก
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ รอง ศยามานนท์ องค์ความรู้ประวัติศาสตร์ ประชาชน กฤชกร กอกเผือก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share