พบแล้ว! “ฟูนัน” ในแผนที่ปโตเลมี

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 18890

พบแล้ว! “ฟูนัน” ในแผนที่ปโตเลมี

1. อารัมภบท

           หากกล่าวถึง “ฟูนัน” แล้ว ผู้สนใจทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีย่อมเข้าใจว่าหมายถึงอาณาจักรโบราณที่มีอำนาจปกครองบริเวณภาคพื้นทวีปเอเชียอาคเนย์ส่วน ที่สัมพันธ์กับลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างและอ่าวไทยตอนบน ข้อมูลเหล่านี้ ได้มาจากเอกสารจีนโบราณ โดยข้อมูลที่เก่าที่สุดที่กล่าวถึงทูตฟูนันไปกรุงจีนนั้น อยู่ในสมัยสามก๊ก และกรุงจีนที่ทูตฟูนันไปนั้น คือกรุงจีนของรัฐอู๋ (吳國; หรือไทยเรียก ง่อก๊ก) จึงกำหนดอายุการมีอยู่ของฟูนันได้อย่างน้อยที่สุด ต้องอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 3 (ค.ศ. 201-300 / ราว พ.ศ. 750-850) (Pelliot 1903; Harris 2023)

           เนื่องจาก ผมกำลังศึกษาตีความแผนที่ของปโตเลมี ซึ่งมีอายุข้อมูลเก่าแก่อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 2 (ค.ศ. 101-200 / ราว พ.ศ. 650-750) และเก่ากว่าข้อมูลของเอกสารจีนที่อ้างถึงฟูนันประมาณ 100 ปี ผมจึงมีคำถามขึ้นในใจว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐฟูนันมีมาก่อนศตวรรษที่ 3? นั่นคือ ฟูนันเริ่มต้นพัฒนาจากชุมชนการค้าชายฝั่งมาแล้วตั้งแต่ในศตวรรษที่ 1-2 เป็นอย่างน้อย ซึ่งร่วมสมัยกับข้อมูลเมืองท่าและชุมชนตลาดสำคัญในเอเชียอาคเนย์ของปโตเลมี ด้วยคำถามดังกล่าว ผมจึงขอตั้งเป็นสมมุติฐานว่า มีร่องรอยของฟูนันในแผนที่ปโตเลมี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องหาข้อพิสูจน์ หรือสนับสนุนให้เห็นเงื่อนงำนี้


2. ว่าด้วยชื่อ “ฟูนัน” และ “ปโตเลมี”

           ชื่อ “ฟูนัน” ที่ใช้ในงานวิชาการภาษาไทยนี้ มาจากการถอดคำอ่านในเอกสารวิชาการภาษาอังกฤษที่เขียนว่าFunan และใช้กันมาจนแพร่หลายแล้วในงานวิชาการภาษาไทย อันที่จริง ผมปรารถนาที่จะใช้ชื่อตามสำเนียงจีนกลางมากกว่า นั่นคือ “ฝูหนาน” (扶南; Fúnán) แต่ผมก็คงมิอาจต้านทานกระแสแห่งความเข้าใจชื่อได้ เหตุเพราะชื่อ “ฟูนัน” ถูกใช้กันอย่างกว้างขวางและเป็นที่เข้าใจมากกว่าชื่อ “ฝูหนาน” ทั้งในสาธารณะและวงวิชาการไทย อนึ่ง หากต้องการสำเนียงที่ใกล้เคียงกับเสียงที่ผู้สร้างคำนี้ได้ยินในช่วงศตวรรษที่ 3 แล้ว คงต้องเทียบกับสำเนียงจีนถิ่นใต้ อาทิ กวางตุ้งว่า “ฝู่หน่าม” (Fu4 nam4) หรือ แต้จิ๋วว่า “ฮู้นั้ม”

           ในทำนองเดียวกัน ชื่อ “ปโตเลมี” ก็ถูกใช้จนเป็นที่รู้จักกันทั้งในสาธารณะและวงวิชาการไทย ซึ่งก็มาจากการถอดคำอ่านในเอกสารวิชาการภาษาอังกฤษที่เขียนว่า Ptolemy และชัดเจนว่าเป็นการถ่ายถอดรูปอักษรโรมันเป็นอักษรไทย โดยการเทียบ P = ป และ T = ต งานเขียนวิชาการภาษาไทยสมัยก่อนจึงถอดชื่อนี้ออกมาเป็น “ปโตเลมี” ทำให้ภาษาไทยอ่านชื่อนี้ว่า ปะ-โต-เล-มี ตั้งแต่นั้นมา แต่อันที่จริงแล้ว ตามเสียงภาษาอังกฤษนั้นอักษร P = พ และ T = ท ถ้าเช่นนั้นชื่อนี้ต้องเขียน พโทเลมี หรือ? ก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน เพราะว่าภาษาอังกฤษอ่านชื่อนี้ว่า ทอเลมี (Ptolemy) กระนั้น ในกรณีนี้ ผมก็ยังปรารถนาใช้ชื่อ “ปโตเลมี” ที่มีผู้รู้จักกว้างขวางมากกว่าชื่อ “ทอเลมี” อนึ่ง หากจะเขียนตามคำอ่านภาษาละตินและภาษากรีกโบราณนั้นเล่า จะออกเสียงเช่นใด ทั้งสองภาษานี้ต่างกันที่เสียงลงท้าย ภาษาละตินว่า “อุส” (-us) ส่วนภาษากรีกโบราณว่า “โอส” ดังนั้น ภาษาละตินจึงว่า ปโตเลไมญุส (Ptolemaeus) และภาษากรีกโบราณว่า ปโตเลไมโญส (Πτολεμαῖος)


3. ว่าด้วยเอเชียอาคเนย์ในแผนที่โลกของปโตเลมี

           คลอเดียส ปโตเลมี (Claudius Ptolemy) (ภาพที่ 1) เป็นนักภูมิศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และนักดาราศาสตร์ที่อาศัยอยู่ในเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมัน หนังสือทั้งหมดของเขาเขียนด้วยภาษากรีกแบบ “คอยเน”2 (Koine) ซึ่งถือกันว่าเป็นภาษากลางของภูมิภาคทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันออก ที่ใช้พูดกันโดยทั่วไปตั้งแต่ 300 ปีก่อนคริสตกาล ถึง ค.ศ. 600

           ปโตเลมีรวบรวม ตรวจสอบ และเรียบเรียงข้อมูลภูมิศาสตร์โลกขึ้นเป็นหนังสือชื่อว่า “หลักแนวแห่งภูมิวรรณนา” (Geographical Guidance) หรือ ที่เรียกกันอย่างย่อว่า “ภูมิวรรณนา” (The Geography) โดยเนื้อหาแล้วกล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นมากกว่าหนังสือภูมิศาสตร์อื่น ๆ ในอารยธรรมกรีก-โรมัน เนื่องจากเป็นการบันทึกข้อมูลในรูปแบบเลขพิกัด (ภาพที่ 2) ที่แสดงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ตามโลกทัศน์กรีก-โรมัน ในขณะที่หนังสือภูมิศาสตร์อื่น ๆ เป็นงานในลักษณะพรรณนาอธิบายความเกี่ยวกับลำดับเมืองและหมุดหมายทางภูมิศาสตร์อย่างคร่าว ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ส่วนเอเชียอาคเนย์และเอเชียตะวันออกของหนังสือเหล่านั้น คลุมเครือมาก

           ตามโลกทัศน์ทางภูมิศาสตร์ของปโตเลมีแล้ว ดินแดนที่อยู่เลยโพ้นแม่น้ำสินธุออกไปทางทิศตะวันออกนั้นมีอยู่สองดินแดน แดนหนึ่งเรียกว่า “อินเดีย” (India) และถัดไปทางตะวันออกก็มีอีกแดนหนึ่งเรียกว่า “แดนจีน” (the Chinese Land) อย่างไรก็ตาม “อินเดีย” ในที่นี้ประกอบด้วยดินแดนย่อยสองส่วนคือ ส่วนตะวันตกและส่วนตะวันออก โดยมี “แม่น้ำคงคา” เป็นตัวแบ่งเขตแดนทางภูมิศาสตร์ ปโตเลมีตั้งชื่อเรียกอินเดียส่วนตะวันตกของแม่น้ำคงคาว่า “อินเดียฝั่งในแม่น้ำคงคา” (India within the Ganges) และส่วนตะวันออกของแม่น้ำคงคาว่า “อินเดียฝั่งนอกแม่น้ำคงคา” (India beyond the Ganges) โดยอินเดียทั้งสองส่วนนี้ ตรงกับภูมิศาสตร์ปัจจุบันคือ อนุทวีปอินเดีย และอนุทวีปเอเชียอาคเนย์ ตามลำดับ

ภาพที่ 1 ปโตเลมีตามจินตนาการ

ของศิลปินศตวรรษที่ 15 ที่มา: Louvre (2019)

 

ภาพที่ 2 ตัวอย่างบทแปลเนื้อหาเป็นภาษาฝรั่งเศส
ว่าด้วยภูมินามกับพิกัด  โดยเซเดส์ (Coedès (tr.) 1977: 52)


           นอกจากนี้ ปโตเลมียังถือเอาลักษณะทางภูมิศาสตร์ 2 แห่ง คือ “แม่น้ำแซโรส” (the Seros River) กับ “แนวแบ่งเขตแดนจีน” (Chinese Frontier) เป็นเส้นแบ่งระหว่าง “อินเดียฝั่งนอกแม่น้ำคงคา” กับ “แดนจีน” (Location of Sinai) (ภาพที่ 3)

 

ภาพที่ 3 โครงร่างแผนที่โลกของปโตเลมี ปรับปรุงลายเส้นโดยนัทกฤษ ยอดราช และตรงใจ หุตางกูร (Hutangkura 2016)


           ผมตั้งสมมุติฐานว่า แม่น้ำแซโรสอาจตรงกับ “แม่น้ำแดง” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เวียดนามตอนเหนือ และแนวแบ่งเขตแดนจีนนั้น ก็อาจตรงกับพื้นที่เทือกเขาสูง นั่นคือหมู่เทือกเขาอันสลับซับซ้อนของจังหวัดกว๋างนิญ (Quảng Ninh) ในประเทศเวียดนาม ซึ่งต่อเนื่องไปถึงเทือกเขาในประเทศจีนที่ชื่อว่า “สือร์หว้านต้าซานร์” (十万大山; Shíwàn dàshān แปลว่า เขาใหญ่สิบหมื่น หรือ เขาใหญ่หนึ่งแสน) ซึ่งทอดตัวอยู่ในพื้นที่นครฝางเฉิงร์กั่ง (防城港市; Fángchénggǎng Shì) ของมณฑลกวางสี ประเทศจีน โดยเทือกเขาทั้งสองนี้ ต่างก็เป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นเขตระหว่างเวียดนามกับจีนในปัจจุบัน


4. ปัญหาการตีความเชิงภูมิศาสตร์ที่ผ่านมา

           ปัญหาสำคัญของการศึกษาแผนที่ปโตเลมีคือการตีความภูมินามต่าง ๆ บนแผนที่ว่าตรงกับภูมินามหรือภูมิศาสตร์ใดตามความเข้าใจของแวดวงวิชาการปัจจุบัน ผมพบว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีผู้พยายามศึกษาตีความแผนที่ปโตเลมีส่วนที่เป็นเอเชียอาคเนย์กันมาบ้างแล้ว แต่ก็มักเป็นการเดาชื่อ หรือเดาลักษณะภูมิประเทศ มากกว่าจะเป็นนำเอาข้อมูลภูมิศาสตร์ผสมผสานกับหลักฐานโบราณคดีมาใช้เป็นหลักในการตีความ

ภาพที่ 4 แผนที่อินเดียฝั่งนอกแม่น้ำคงคา ฉบับกรุงโรม ค.ศ. 1478 (Coedès (tr.) 1977)

 

ภาพที่ 5 แผนที่อินเดียฝั่งนอกแม่น้ำคงคา

จัดทำโดยนัทกฤษ ยอดราช และตรงใจ หุตางกูร (Hutangkura 2016).

 

           หากเรา “เคารพ” ข้อมูลพื้นฐานที่ปโตเลมีให้ไว้ก็จะพบว่า ปโตเลมีให้จุดสังเกตทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญแก่เราสองประการ คือ “แหลม” (capes) และปากแม่น้ำ (river mouths) (ภาพที่ 4 และ 5) ในกรณีภูมิภาคตั้งแต่ “อินเดียฝั่งนอกแม่น้ำคงคา” ไปจนถึง “แดนจีน” นั้นมีแหลมในอินเดียฝั่งนอกแม่น้ำคงคา 5 แหลม (C1 – C5) และมีแหลมในแดนจีน 2 แหลม (C6 – C7) สำหรับปากแม่น้ำนั้น พบว่า ในเขตอินเดียฝั่งนอกแม่น้ำคงคามีปากแม่น้ำ 13 แห่ง (R1 - R13) และในเขตแดนจีนมีปากแม่น้ำ 4 แห่ง (R14 - R17) เป็นที่น่าสังเกตว่าเขตแดนปลายสุดตะวันออกของ “โลกที่รู้จัก” นั้น ปโตเลมีระบุว่าอยู่ที่เมืองชื่อ “กัตติการะ” (หมายเลข 38)

           ในการนำเสนอครั้งนี้ ผมขอเน้นเฉพาะเขตแดนที่เราจะพูดถึงกัน นั่นก็คือเขตแดนรอบแหลมหมายเลข 5 ( Cape-5 / C5) ซึ่งปโตเลมีเรียกว่า “แหลมใหญ่” (the Great Cape) ประเด็นสำคัญคือ ใกล้กับแหลมใหญ่นี้ มีเมืองสองเมืองชื่อ “ศาไบ” (Zabai; หมายเลข 22) และ “เมืองหลวงบาโลงกะ” (Balonga Metropolis; หมายเลข 24) ตามลำดับ สุดท้าย มี “อ่าวใหญ่” (the Great Gulf) กั้นระหว่างแหลมใหญ่กับแดนจีน

           รูปทรงทวีปที่บิดเบี้ยวของอินเดีย เอเชียอาคเนย์ และดินแดนจีน บนแผนที่ปโตเลมีนั้นทำให้มีนักวิชาการที่สนใจตีความตำแหน่งภูมินามบนแผนที่คือ McCrindle (1885), Blagden (1899), Gerini (1909), Berthelot (1930), Braddell (1936 & 1939), Linehan (1951), Wheatley (1955), Malleret (1962) และ Van der Meulen (1974 & 1975) บางคนได้พยายามแก้ไขข้อผิดพลาดของเลขพิกัดของปโตเลมี ด้วยการคำนวณเปรียบเทียบหาความคลาดเคลื่อนระหว่างค่าพิกัดเดิมกับค่าพิกัดใหม่ตามข้อมูลภูมิศาสตร์ปัจจุบัน ร่วมกันกับ “การคาดเดาชื่อภูมินาม” ที่ปโตเลมีให้ไว้ กับภูมินามที่รู้จักกันในปัจจุบัน โดยการเทียบ “เสียงศัพท์” ที่พอฟังเข้ากันได้ หรือแม้กระทั่งการ “การคาดเดา” เปรียบเทียบเฉพาะรูปทรงทางภูมิศาสตร์ โดยไม่สนใจข้อมูลพื้นฐานที่ปโตเลมีให้ไว้

           ก่อนอื่น ผมขอนำเสนองานตีความก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นกรณีศึกษา 4 กรณี ของ McCrindle (1885), Gerini (1909), Malleret (1962) และ van der Meulen (1975) ดังนี้ (ภาพที่ 6)

           การตีความของ McCrindle (1885): แม็กครินเดิลพิจารณาว่า เขตแดนตะวันออกหรือเมือง “กัตติการะ” (Kattigara) อาจอยู่ที่เมืองกว่างโจว (廣州; Guǎngzhōu หรือ Canton) ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน และสำหรับ “อ่าวใหญ่” นั้น มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ “แหลมใหญ่” ตรงกับแหลมก่าเมา (Cà Mau) ซึ่งไทยเรียกว่า “แหลมญวน” อยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม เขาตีความเพียงว่า “ศาไบ” (Zabai) ตรงกับเมืองของจามปา โดยเขาสันนิษฐานว่าตั้งอยู่ในเวียดนามตอนกลาง แต่เขาไม่ได้กล่าวถึง “เมืองหลวงบาโลงกะ” (Balonga Metropolis)

ภาพที่ 6 สรุปผลการตีความที่ผ่านมาเกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์และแดนจีนของปโตเลมี โดย McCrindle(1885), Gerini (1909), Malleret (1962) และ van der Meulen (1975); ซึ่งระบุขอบเขตแคบสุดเพียงอ่าวไทย และกว้างสุดถึงหางโจว ที่มา: Hutangkura (2022)


           การตีความของ Gerini (1909): เยรินีตีความว่า “กัตติการะ” อยู่ที่เมืองหางโจว (杭州; Hángzhōu) ประเทศจีน ดังนั้น “อ่าวใหญ่” จึงตรงกับอ่าวตังเกี๋ย และ “แหลมใหญ่” อยู่ที่แหลมกี่เวิน (Kỳ Vân; เยรินีเรียก Ti-wan) ซึ่งเป็นแหลมขนาดเล็กมากของประเทศเวียดนาม และตั้งอยู่เลยปากแม่น้ำโขงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เขาวางตำแหน่งเมือง “ศาไบ” (Zabai) ไว้ที่ไซ่ง่อน (เมืองโฮจิมินห์) ทางตอนใต้ของเวียดนาม ในขณะที่ “บาโลงกะ” (Balonga) นั้น ถูกวางไว้ในเวียดนามตอนกลางใกล้กับเมืองบิญดิญ (Binh Dinh)

           การตีความของ Malleret (1962): มัลเลอเรต์เป็นนักโบราณคดีที่ขุดค้นแหล่งโบราณคดี อ๊อกแอว (Óc Eo หรือ ออกแก้ว) ซึ่งเป็นเมืองท่าของอาณาจักรฟูนัน จากข้อมูลในเอกสารโบราณของจีนนั้น ทำให้เราทราบว่า ฟูนันดำรงอยู่อย่างน้อยในศตวรรษที่ 3 (ค.ศ. 201-300 / ราว พ.ศ. 750 - 850) เหตุนี้ เขาจึงพยายามใส่แหล่งโบราณคดีอ๊อกแอวลงในแผนที่ของปโตเลมี แต่ทว่า เขาพิจารณาเฉพาะรูปร่างของเส้นแนวชายฝั่งทะเลเท่านั้น จึงตีความว่า “อ่าวใหญ่” คือ “อ่าวไทย” ดังนั้น “กัตติการะ” คือ “อ๊อกแอว” โดยไม่สนใจข้อมูลพื้นฐานอื่น

           การตีความของ van der Meulen (1975): โดยส่วนตัวแล้ว ฟัน แดร์ เมอเลิน มุ่งความสนใจไปที่การศึกษาหมู่เกาะอินโดนีเซีย ดังนั้นเขาจึงเสนอการตีความที่ “แปลกประหลาดและพิสดาร” โดยพิจารณาว่าแผนที่ปโตเลมีตรงกับพื้นที่ทะเลจีนใต้ส่วนล่าง ที่ครอบคลุมเกาะสุมาตรา คาบสมุทรมลายู อ่าวไทย ทะเลจีนใต้ตอนล่าง และชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะบอร์เนียว ดังนั้น เขาจึงตีความว่า “แดนจีน” ของปโตเลมี คือพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเกาะบอร์เนียว และวางตำแหน่งเมือง “กัตติการะ” ไว้ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะบอร์เนียว ส่วน “อ่าวใหญ่” นั้น เขาวางไว้ที่อ่าวไทย และน่าแปลกใจขึ้นไปอีก ที่เขาไม่เอ่ยอ้างถึง “แหลมใหญ่” เลย แต่เมืองสองเมืองที่เกี่ยวข้องกันทางภูมิศาสตร์กับแหลมใหญ่ คือ “ศาไบ” และ “บาโลงกะ” นั้น กลับถูกนำไปวางไว้ที่เมืองจัมบีในเกาะสุมาตรา (อินโดนีเซีย) และเมืองลังกาสุกะ ในจังหวัดปัตตานี (ประเทศไทย) ตามลำดับ ความแปลกประหลาดนี้ ทำให้ดูเหมือนว่างานตีความของฟัน แดร์ เมอเลิน เป็น “งานเดาล้วน ๆ ” ได้เลยทีเดียว เพราะเขาไม่ให้ความเคารพต่อข้อมูลพื้นฐานของปโตเลมีเลยแม้แต่น้อย


5. ปัญหาทางภูมิศาสตร์ของกรณีศึกษาข้างต้นทั้งสี่

           การตีความข้างต้นได้เผยให้เห็นโลกทัศน์และความเข้าใจของทั้งสี่คนต่อภูมิศาสตร์ของ ปโตเลมี นั่นทำให้ผมรับรู้ถึงการตีความภูมินามที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะพวกเขา “ไม่เคารพข้อมูลพื้นฐาน” ที่ปโตเลมีพรรณนาไว้ โดยเฉพาะเรื่องของขนาดทางภูมิศาสตร์ในระดับที่เป็นจุดหมายตาทางทะเล (marine landmark) ที่ถูกใช้เป็นข้อมูลหลักของการเดินเรือผ่านภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

           โลกทัศน์เกี่ยวกับขอบเขตปลายสุดแดนตะวันออก ที่ผมรับรู้ได้ชัดเจนคือ ในจำนวนนี้ไม่มีใครเชื่อว่าความรู้เดินเรือและความรับเรื่องดินแดนห่างไกลในเวลานั้น จะเลยพ้นออกไปได้เกินดินแดนจีนตอนใต้ ดังที่เราเห็นว่า McCrindle (1885) วางเมืองกัตติการะไว้ที่เมืองกวางตุ้ง ในขณะที่ Gerini (1909) วางกัตติการะไว้ที่เมืองหางโจว และที่น่าตกใจและยอมรับไม่ได้อย่างยิ่งคือ ทั้ง Malleret (1962) และ van der Meulen (1975) เพิกเฉยต่อ “ข้อมูลพื้นฐานของ ปโตเลมี” กล่าวคือ ปโตเลมีพรรณนาว่า “กัตติการะ” เป็นเมืองท่าของจีน ซึ่งจากแผนที่ก็ชัดเจนว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ “แดนจีน” แต่ทั้งสองกลับวางตำแหน่งของ “กัตติการะ” ไว้ในทุกที่ที่พวกเขาเชื่อให้เป็น!

           Malleret (1962) เชื่อว่า “อ่าวใหญ่” คืออ่าวไทย เพียงเพราะเห็นว่ามีรูปทรงเดียวกัน จึงได้วางตำแหน่งของเมืองกัตติการะไว้ที่แหล่งโบราณคดีอ๊อกแอว เพื่อให้เข้ากับงานโบราณคดีของเขา และอีกคนคือ van der Meulen (1975) นั้น ก็ดูเหมือนจะ “แกล้งลืม” คำว่า “จีน” เขาจึงวางตำแหน่งของเมืองกัตติการะ ไว้ที่ส่วนตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะบอร์เนียว เพียงเพราะเห็นว่ามีรูปทรงไปทางนั้น ด้วยเขาไม่เข้าใจว่าปโตเลมี มี “ข้อผิดพลาดใหญ่ในการวัดทิศทางแนวชายฝั่ง” ในส่วนที่เป็น “แดนจีน”

           นอกจากนี้ โดยภาพรวมแล้ว ผู้ตีความที่ผ่านมามักไม่เคารพสัดส่วนของพื้นที่ที่ปโตเลมีแสดงไว้ ตัวอย่างเช่น Gerini (1909) วาง “แหลมใหญ่” ไว้ที่แหลมขนาดเล็กที่ชื่อแหลมกี่เวิน ซึ่งอยู่บริเวณปากแม่น้ำโขง แต่ปโตเลมีระบุว่า “ใหญ่มาก” (great) ก็ย่อมหมายถึง “ใหญ่มาก” และจะต้องเป็นจุดหมายตา (landmark) สำคัญของภูมิภาค ดังนั้นการตีความ “แหลมใหญ่” ให้เป็นแหลมขนาดเล็กเหมือนที่เยรินีทำนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ในทำนองเดียวกัน Malleret (1962) ตีความว่า “อ่าวใหญ่” คืออ่าวไทย ซึ่งก็ชัดเจนว่า ข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ปัจจุบันคือ ขนาดของอ่าวไทยนั้น เล็กกว่าขนาดของทะเลจีนใต้ และผิดซ้ำสองคือเขาไม่เคารพข้อมูลเรื่อง “แดนจีน” ของปโตเลมีอีกด้วย


6. การแก้ปัญหาด้วยการเชื่อมโยงภูมิศาสตร์ปโตเลมีกับภูมิศาสตร์จริง

           ด้วยเหตุแห่งความสับสนในการตีความดังกล่าว ผมจึงได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการตีความลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแผนที่ปโตเลมีว่า เราจำเป็นต้องเชื่อมโยงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของ “ภูมิศาสตร์ปโตเลมี” กับ “ภูมิศาสตร์จริง” ให้ได้เสียก่อน โดยใช้วิธีการเปรียบเทียบตำแหน่งของ “แหลม” และ “ปากแม่น้ำ” เป็นสำคัญ ผลที่ได้คือขอบเขตของปลายสุดแดนตะวันออกอันเป็นที่ตั้งของเมืองกัตติการะนั้น ควรตั้งอยู่ที่บริเวณอ่าวเกาหลี (Korea Bay) ซึ่งผมได้นำเสนอข้อสมมุติฐานและการพิสูจน์ไปแล้วในการประชุมวิชาการเมื่อ ค.ศ. 2016 / พ.ศ. 2559 (Hutangkura 2016) ทั้งนี้ผมกำลังปรับปรุงเป็นบทความวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อไป

           นอกจากนี้ ผลจากการเชื่อมโยงตำแหน่ง “แหลมของปโตเลมี” กับ “แหลมจริงตามภูมิศาสตร์” ทำให้ผมสามารถระบุตำแหน่งของ “แหลมใหญ่” ได้ว่าตรงกับ “แหลมก่าเมา” ดังนั้นจึงเกิดเป็นข้อสมมุติฐานว่า หากแหลมใหญ่คือแหลมก่าเมาแล้ว ดังนั้น เมืองที่อยู่ใกล้แหลมใหญ่ที่ชื่อ “ศาไบ” ก็ควรตรงกับแหล่งโบราณคดีอ๊อกแอว และ “นครหลวงบาโลงกะ” ก็ควรตรงกับ
กรุงฟูนัน ขั้นตอนต่อไปคือ ผมจะมีวิธีพิสูจน์ความเป็นได้นี้อย่างไร?


7. ตีความ: ตำแหน่งของฟูนันบนแผนที่ปโตเลมี

           รูปทรงอนุทวีปเอเชียอาคเนย์ของปโตเลมีที่บิดเบี้ยวไปจากรูปทรงภูมิศาสตร์จริงนั้น ทำให้สรุปได้ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางของปโตเลมีนั้น มีความคลาดเคลื่อน ผมจึงสันนิษฐานว่า ความคลาดเคลื่อนนี้เกิดจากการวัดทิศทางเพื่อมุ่งหน้าออกเรือในสมัยนั้น ที่อิงตามตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้น โดยถือว่าตำแหน่ง ณ เวลาที่วัดเป็น “ทิศตะวันออก” แต่ข้อเท็จจริงคือ ในรอบ 1 ปีนั้น แม้ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก แต่ตำแหน่งที่ขึ้นนั้นเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามแกนโลกที่เปลี่ยนไปให้เกิดฤดูกาล ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบทิศทางตามแนวชายฝั่งระหว่างแผนที่ปโตเลมีกับภูมิศาสตร์จริง ก็อาจมีองศาที่ผิดเพี้ยนตั้งแต่ 25-45 องศาได้เลยทีเดียว เหตุนี้เอง การคำนวณแก้ไขความคลาดเคลื่อนของพิกัดอย่างเช่นที่เยรินีพยายามแก้ไขนั้น จึงมิอาจทำได้ เพราะความคลาดเคลื่อนนี้ถูกบันทึกไว้เป็นช่วง ๆ ซึ่งไม่ใช่ความคลาดเคลื่อนทั้งระบบการบันทึกข้อมูล ดังนั้น การไขปริศนาภูมิศาสตร์ในแผนที่ปโตเลมี จึงต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการมอง

           เมื่อเข้าใจที่มาของรูปทรงบิดเบี้ยวแล้ว การเปรียบเทียบว่า รูปทรงของแนวชายฝั่งระหว่างภูมิศาสตร์ปโตเลมีกับภูมิศาสตร์จริงต้องเหมือนนั้น จึงไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาหาความสอดคล้องกับภูมิศาสตร์จริงคือ ความสัมพันธ์ระหว่างจุดสองจุดหรือสามจุดว่า จุดหรือสถานที่ต่าง ๆ ยังคงมีความเป็นเหตุเป็นผลกับ “จุดอ้างอิงทางภูมิศาสตร์” (topographic fixed points) ที่ผมได้เชื่อมต่อไว้หรือไม่ ซึ่งในที่นี้ จุดอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ของเราคือ “แหลมใหญ่” กับ “แหลมก่าเมา” หากพิจารณาข้อมูลตามภูมิศาสตร์จริงที่ว่า “ตำแหน่งของแหลมก่าเมา” มีความสัมพันธ์กับ “ตำแหน่งของอ๊อกแอว” และตามภูมิศาสตร์ปโตเลมีที่ว่า “ตำแหน่งของแหลมใหญ่” มีความสัมพันธ์กับ “ตำแหน่งของศาไบ” เราก็อาจอนุมานอย่างเป็นเหตุผลได้ว่า เมื่อก่าเมากับแหลมใหญ่เป็นจุดเดียวกัน ดังนั้น อ็อกแอวกับศาไบจึงควรเป็นจุดเดียวกันด้วย นั่นคือ

           เมืองศาไบ (Zabai) ของปโตเลมี คือ แหล่งโบราณคดีอ๊อกแอว (Óc Eo)

           ด้วยเหตุที่ทั้งสองแห่งนี้ มีอายุทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีร่วมสมัยกันจริง ดังนั้น แหล่งโบราณคดีอ๊อกแอว จึงควรต้องมีอยู่ในแผนที่ปโตเลมี และเมืองที่เป็นไปได้มากที่สุดนั่นก็คือ “เมืองศาไบ” นั่นเอง โดยมีแหลมใหญ่/แหลมก่าเมา เป็นจุดอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ (ภาพที่ 7)

ภาพที่ 7 การเชื่อมโยงตำแหน่งระหว่างภูมินามของปโตเลมี กับภูมิศาสตร์จริงและแหล่งโบราณคดี;

ที่มา: Hutangkura (2022)


           ประเด็นถัดมาคือ การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างแหลมใหญ่กับเมืองหลวงบาโลงกะ ว่าสอดคล้องกับความสัมพันธ์ระหว่างแหลมก่าเมากับกรุงฟูนันด้วยหรือไม่ ในเรื่องตำแหน่งทางภูมิศาสตร์นั้น ผมพิจารณาว่า “สอดคล้องกัน” เพียงแต่ต้องตีความบนฐานความเข้าใจอีกประการว่า ตำแหน่งของเมืองหลวงบาโลงกะนี้ ไม่ได้อยู่ริมทะเล แต่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ซึ่งเชื่อมต่อด้วยลำน้ำออกทะเลได้ ทั้งนี้เส้นแนวชายฝั่งทะเลบนแผนที่ปโตเลมีนั้น ไม่ใช่แนวชายฝั่งทะเลที่แท้จริง แต่เป็นการลากเส้นเชื่อมเส้นทางเดินเรือจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งเท่านั้น

           กระนั้น กุญแจสำคัญที่ “ไขความ” ว่า บาโลงกะ = ฟูนัน (Balonga = Funan) คือ “ความเป็นนครหลวง” กล่าวคือ เราทราบจากเอกสารจีนโบราณสมัยศตวรรษที่ 3 ว่า ฟูนันมีความเป็น รัฏฐาธิปัตย์ (Sovereignty) ที่โดดเด่นในทะเลจีนใต้ตอนล่าง โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีสนับสนุนการมีอยู่จริงของฟูนัน และการขยายอำนาจทางการเมืองปกครองอยู่บริเวณดินแดนตอนปลายแม่น้ำโขงและแหลมก่าเมา ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์นี้เอง ได้ถูกถ่ายทอดไปสู่งานของปโตเลมี โดยปโตเลมีเขียนชื่อเมืองหลวงหนึ่งที่อยู่ใกล้กับแหลมใหญ่ว่า Balonga Metropolis คำว่า แมโตรโปลิส (μητρόπολῐς) เป็นคำกรีกโบราณ ซึ่งปัจจุบันแปลว่า “มหานคร” นั้น มีความหมายเดิมว่า “เมืองแม่” (mother-state) ในลักษณะที่เป็นเมืองแม่ที่ปกครองเมืองลูกอื่นในบริเวณนั้น เหตุนี้เอง ผมจึงขอแปลเรียกชื่อกรีกโบราณ บาโลงกะ แมโตรโปลิส ว่า เมืองหลวงบาโลงกะ

           การที่เมืองบาโลงกะถูกเรียกว่า “เมืองแม่” ย่อมแสดงให้เห็นว่า เมืองบาโลงกะมีอำนาจปกครองเมืองอื่นโดยรอบ หรืออีกนัยคือบาโลงกะคือรัฏฐาธิปัตย์ของดินแดนบริเวณจุดอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ “แหลมใหญ่/แหลมกาเม่า” เหตุที่ทั้ง “บาโลงกะ” และ “ฟูนัน” แสดงความเป็น รัฏฐาธิปัตย์นี้เอง ทำให้ผมสันนิษฐานว่า บาโลงกะ คือ ฟูนัน ยิ่งกว่านั้น หากทั้งสองเป็นเมืองเดียวกันจริง ก็ย่อมแสดงว่ารัฏฐาธิปัตย์แห่งฟูนัน มีพัฒนาการมาแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 เป็นอย่างน้อยตามข้อมูลจากแผนที่ปโตเลมี อย่างไรก็ตาม ผมมีคำถามต่ออีกว่า แล้วเรายังมีหลักฐานอื่นใดอีกหรือไม่ ที่สนับสนุนข้อสมมุติฐานนี้


8. อภิปราย: บาโลงกะ-ฟูนัน รากคำร่วมทางสัทศาสตร์

           ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ผมค้นพบจากการพิจารณาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางสัทศาสตร์คือ มีความเป็นไปได้ในการกลายเสียงจาก “ชื่อดั้งเดิม” ไปสู่ชื่อในเอกสารภาษากรีกโบราณว่า บาโลงกะ และไปสู่เอกสารจีนโบราณว่า ฝูหนาน กล่าวคือ หากเราพิจารณาความสัมพันธ์ทางสัทศาสตร์ของพยางค์แรกคือ บ [b] ของบาโลงกะ เป็นพยัญชนะเสียงระเบิด (plosive) กับ ฟ [f] ของฝูหนาน เป็นพยัญชนะเสียงแทรกเสียด (fricative) ก็จะพบว่าเสียงทั้งสองมาจากฐานกรณ์ (แหล่งกำเนิดเสียง) เดียวคือ ฐานกรณ์โอษฐชะ (Labial) หรือ “เสียงอันเกิดแต่ริมฝีปาก” ซึ่งมี 2 กลุ่มย่อยคือ

           (1) เสียงจากริมฝีปากคู่ (bilabial) คือพยัญชนะเสียงระเบิด (plosive) ป [p] และ บ [b]

           (2) เสียงจากริมฝีปากล่าง-ฟันบน (labiodental) คือเสียงแทรกเสียด (fricative) ฟ [f] และ ว [v]

           ประเด็นต่อมาคือ การพิจารณาพยางค์หลัง -longa กับ -nan ว่ามีความสัมพันธ์กันทางสัทศาสตร์หรือไม่ อนึ่ง ก่อนเริ่มการวินิจฉัยต่อ ผมขออธิบายหลักไวยกรณ์การสร้างคำศัพท์ของภาษากรีกโบราณเสียก่อนว่า ภาษากรีกโบราณเป็นภาษาที่ต้องมีการเติมเสียงท้ายคำนาม เพื่อระบุหน้าที่ทางไวยกรณ์ว่าคำนามนั้นต้องทำหน้าที่อะไรในประโยค เช่น เป็นประธาน (nominative case) เป็นเจ้าของ (genitive case) เป็นกรรมตรง (accusative case) เป็นกรรมรอง (dative case) หรือ เป็นผู้ถูกเรียก (vocative case) ในกรณีของชื่อ Balonga ก็เช่นเดียวกัน รูปศัพท์นี้เป็นคำสำเร็จของคำนามประธาน (nominative) ที่เป็นเพศหญิง เพราะลงเสียงท้ายด้วย อะ (a) โดยทั่วไป หากต้องการทราบรากคำเดิมก็ต้องลบการลงวิภัติปัจจัยตามไวยกรณ์กรีกโบราณออก ซึ่งในกรณีนี้คือการลบเสียง อะ (a) เราก็จะได้รากคำ (= คำเดิมที่ได้ยินก่อนลงวิภัติ) คือ *Balong

           ดังนั้น พยางค์หลังที่เรากำลังจะวินิจฉัยก็คือ -long กับ -nan หรือเขียนด้วยอักษรสัทศาสตร์เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ที่ชัดขึ้นคือ [loŋ] กับ [nan] ถึงตรงนี้เราจะพบจุดที่ต้องวินิจฉัยสองจุดเกี่ยวกับการกลายเสียง (sound change) แบบที่เรียกว่า “การย้ายเสียง” (sound shift) (ดู ศรีจรุง 2543: 102-103) นั่นคือ

           (1) การย้ายเสียงพยัญชนะต้น ระหว่าง ล [l] กับ น [n]

           (2) การย้ายเสียงพยัญชนะสะกด ระหว่างแม่กง [-ŋ] กับแม่กน [-n]

           สำหรับประเด็นแรกคือ การย้ายเสียงพยัญชนะต้นระหว่าง ล [l] กับ น [n] นั้น เรามีตัวอย่างอยู่จำนวนมาก อย่างเช่นที่รู้จักกันดีในภาษาไทยคือ การกลายเสียงจาก “นคร” เป็น “ละคร” และไปสู่คำต่างชาติว่า Ligor หรือ การถอดเสียงพระนาม “เจ้านครอินทราธิราช” ที่อ่านตามสำเนียงกวางตุ้งได้ว่า “จิ๊วลุกควั่นยิ้งต๊อหล่อไตลาด” จะเห็นว่า “นคร” ถูกถ่ายเสียงเป็น “ลุกควั่น” เช่นเดียวกัน (ตรงใจ 2561: 34) หรือคำไทยที่คนจีนพูดไม่ชัด เช่น ดี-ลี เด็ก-เหล็ก หนู-หลู

           สำหรับประเด็นที่สองคือ การย้ายเสียงระหว่างพยัญชนะสะกดแม่กง [-ŋ] กับแม่กน [-n] นั้น ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไปตามหลักสัทศาสตร์ เช่น คนจีนในประเทศไทยออกเสียงคำในแม่กนเป็นแม่กงว่า เป็น-เป็ง เห็น-เห็ง หรือในกรณีภาษาจีนเองคือคำว่าประตู (門) ที่จีนกลางว่า “เหมิน” กวางตุ้งว่า “หมุ่น” แต่ แต้จิ๋วว่า “มึ้ง” เป็นต้น

           ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ *Balong กับ Funan มีรากคำร่วมกัน และเป็นผลผลิตของกระบวนการการย้ายเสียงมาจาก “ชื่อดั้งเดิม” ซึ่งก็จะนำมาสู่คำถามต่อไปว่า ชื่อดั้งเดิมนั้นคือชื่ออะไร?

           ที่ผ่านมา ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่าชื่อฟูนันตามที่จีนเรียกนี้ มีต้นคำมาจากคำเขมรโบราณว่า พนํ (bnaṃ) (Coedès 1968: 36) อย่างไรก็ตาม รูปคำที่เก่าที่สุดของ พนํ นั้น สะกดว่า วนํ (vnaṃ) ซึ่งพบได้ในจารึกสมัยก่อนเมืองพระนครช่วงศตวรรษที่ 7-8 (Jenner 2009a: 472) และถือว่าเป็นการสะกดคำพื้นเมือง ให้อยู่ในรูปคำสันสกฤต (sanskritized word) ในขณะที่การสะกดว่า พนํ (bnaṃ) พบได้ในจารึกสมัยเมืองพระนครช่วงศตวรรษที่ 11-12 (Jenner 2009b: 565) และท้ายที่สุด คำนี้ได้ตกทอดมาสู่ภาษาเขมรปัจจุบันว่า ภนํ (bhnaṃ (ភ្នំ); ภะ-น้ม) และภาษาไทยยืมมาเป็น “พนม” ซึ่งแปลว่า ภูเขา

           ดังนั้น ผมขอตั้งสมมุติฐานว่า วฺนํ (vnaṃ; วะ-นัม) เป็นต้นคำของทั้ง *Balong และ Funan โดยยังคงกระบวนการของการย้ายเสียงที่เกิดขึ้นในฐานกรณ์เดียวกันนั่นคือ

           (1) จากพยัญชนะต้น [v: vnaṃ] ไปสู่ [b: baloŋ] และ [f: funan]

           (2) จากพยัญชนะสะกด แม่กม [-m: vna] ไปสู่ แม่ก [-ng: baloŋ] และ แม่ก [-n: funan]

 

ภาพที่ 8 การเปรียบเทียบชื่อเรียกฟูนันในภาษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นการย้ายเสียงของพยัญชนะต้นและตัวสะกดที่เป็นไปตามหลักสัทศาสตร์; ที่มา: Hutangkura (2022)
 

           ดังนั้น ผมจึงขอสรุปว่า มีความเป็นไปได้ทางสัทศาสตร์ที่ วฺนํ (vnaṃ; วะ-นัม) เป็นต้นทางของชื่อ “บาโลงกะ” (Βαλόγγα) ของปโตเลมีในศตวรรษที่ 2 และ “ฟูนัน” (扶南) ของเอกสารจีนในศตวรรษที่ 3 ในการนี้ ผมได้นำสำเนียงจีนถิ่นใต้คือ ฮกเกี้ยน (Hokkien) สองสำเนียงมาเปรียบเทียบเพื่อยืนยันความเป็นไปได้ของการย้ายเสียงดังกล่าว สำเนียงฮกเกี้ยนที่ผมนำมานี้ออกเสียงว่า (1) พ้อหลั้ม (Phô͘-lâm) หรือ (2) ฮู้หลั้ม (Hû-lâm) อันเป็นตัวอย่างของความเป็นไปได้ของการย้ายเสียงไปสู่พยัญชนะ พ [ph] กับ ฮ [h] ได้ (ภาพที่ 8) นอกจากนี้ หากพิจารณา “สำเนียงสืบสร้าง” ของภาษาจีนยุคเก่า (Old Chinese) ตามแนวทางของเจิ้นร์จางร์ ฉ้างร์ฟาง (郑张尚芳; Zhèngzhāng Shàngfāng) นักวิชาการด้านการสืบสร้างสำเนียงจีนยุคเก่าแล้วจะได้สำเนียงจีนยุคเก่าว่า /*ba-nuːm/ (*บะ-นูม) (ดู Wiktionary 2024: 扶 & 南)


9. สรุปประเด็น

           สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียอาคเนย์ (Protohistory of Southeast Asia) ควรมีอายุอยู่ในศตวรรษที่ 1-5 (ค.ศ. 1- 500 / ราว พ.ศ. 550-1050) ด้วยการเริ่มต้นของรัฐฟูนัน (ภาพที่ 9) ที่ขณะนี้ เราได้ร่องรอยการเริ่มต้นของรัฐฟูนันในฐานะ “เมืองแม่” ของภูมิภาคบริเวณแหลมก่าเมา-แม่น้ำโขงตอนปลายว่า ควรเริ่มต้นขึ้นอย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ดังปรากฏหลักฐานชื่อเมืองที่เรียกว่า บาโลงกะ แมโตรโปลิส (Balonga Metropolis) อยู่บนแผนที่ปโตเลมีส่วนที่ว่าด้วย “อินเดียฝั่งนอกแม่น้ำคงคา” การปรากฏคำเรียกเมืองบาโลงกะว่า “Metropolis” ย่อมแสดงให้เห็นรัฏฐาธิปัตย์ของบาโลงกะในศตวรรษที่ 2 เป็นไปในทำนองเดียวกับการปรากฏรัฏฐาธิปัตย์ของฟูนันในเอกสารจีนสมัยสามก๊กช่วงศตวรรษที่ 3 ทั้งนี้ ประกอบกับความเป็นไปได้ในการย้ายเสียงทางสัทศาสตร์ระหว่างชื่อ “บาโลงกะ” (Βαλόγγα) กับ “ฟูนัน” (扶南) ก็แสดงนัยยะว่า มาจากชื่อเดียวกันจากภาษาเขมรยุคเก่าสมัยก่อนเมืองพระนคร (Pre-Angkorian Old Khmer) นั่นคือคำว่า “วฺนํ” (vnaṃ)

           “แหลมก่าเมา” (หรือ แหลมญวน) ตรงกับ “แหลมใหญ่” ของปโตเลมี และ “แหล่งโบราณคดีอ๊อกแอว” ที่อยู่ทางตอนใต้ของเวียดนามนั้น มีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ตรงกับ “เมืองศาไบ” ของปโตเลมี ทั้งนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่แหล่งโบราณคดีอ๊อกแอวจะตรงกับเมืองกัตติการะของ ปโตเลมี เพราะว่าหลังจากปรับแก้ “การให้ทิศทางผิด” สำหรับการไปกัตติการะของปโตเลมีแล้ว โดยผมขอเรียกความคลาดเคลื่อนนี้ว่า “ความคลาดเคลื่อน 180 องศาของปโตเลมี” (Ptolemy’s 180 degree-misdirection) เราก็จะพบว่า เมืองกัตติการะต้องอยู่บริเวณอ่าวเกาหลี และอาจอยู่บริเวณปากแม่น้ำแทดง (Taedong River) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในปกครองของประเทศเกาหลีเหนือ

ภาพที่ 9 ตำแหน่งของฟูนัน (*วะนัม; *บะนัง/*บะลัง; พ้อหลั้ม; ฝู่หน่าม; ฝูหนาน)

สังเคราะห์จากข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของปโตเลมีและเอกสารจีนโบราณ; ที่มา: Hutangkura (2022)


เอกสารอ้างอิง

ศรีจรุง บุญเจือ, 2543. นิรุกติศาสตร์. ชลบุรี: ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

Berthelot A., 1930. L'Asie ancienne centrale et sud-orientale d'après Ptolémée. Paris : Payot.

Blagden C.O., 1899. “Balonga, the Oldest Capital of Champa.” The Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland July: 665-667.

Braddell R., 1936. “An introduction to the Study of Ancient Times in the Malay Peninsula and the Straits of Malacca.” JMBRAS14 (3): 10-71.

Braddell R., 1939. “An introduction to the Study of Ancient Times in the Malay Peninsula and the Straits of Malacca. (continued)” JMBRAS 17 (1): 146-212.

Coedès G., 1968. The Indianized States of Southeast Asia. Vella W.F. (ed.), & Cowing S.B. (tr.). Honolulu: University of Hawaii Press.

Coedès G. (tr.), 1977. Textes d’auteurs grecs et latins relatifs à l’Extrême-Orient. Hildesheim · New York : Georg OlmsVerglag.

Gerini G.E., 1909. Researches on Ptolemy's Geography of Eastern Asia (Further India and Indo-Malay Archipelago). London: Asiatic Society Monographs No. 1., Royal Asiatic Society, Royal Geographical Society.

Harris P., 2023. The Empire Looks South: Chinese Perceptions of Cambodia before and during the Kingdom of Angkor. Bangkok: Silkworm Books.

Hutangkura T., (2016-11-17). Presentation: “Reconsidering Shoreline on Ptolemy’s Map of India beyond the Ganges as Maritime Route from Suvarnabhumi on the Bay of Bengal to Kattigara on the Korea Bay.” In: ASEAN Archaeologies in the 21st Century: The First International Symposium in Honor of Professor Chin You-Di. 16th-18th November 2016, held by Faculty of Archaeology, Silpakorn University, in collaboration with the Office of Designated Area 7 (U-Thong Ancient City), the Designated Areas for Sustainable Tourism Administration (Public Organization) or DASTA; Abstract: pp. 221-222 (in English); 223-224 (in Thai).

Hutangkura T., (2022-11-07: 3.30-3.50 pm). Presentation for Plenary Speaker: “Reconsidering the Ptolemy ’s Southeast Asia Map in Archaeological and Chinese Documentary Contexts: A Case of Study of Fúnán and Óc Eo.” In: The 22ndCongress of the Indo-Pacific Prehistory Association (IPPA 22): Plenary Session 2. Grand Convention Hall. 6-12 November 2022, at Le Méridien Marriott, Chiang Mai, Thailand.

Jenner P.N., 2009a. A Dictionary of Pre-Angkorian Khmer. Cooper D. (ed.). Canberra: Pacific Linguistics, Research School of Pacific and Asian Studies.

Jenner P.N., 2009b. A Dictionary of Angkorian Khmer. Cooper D. (ed.). Canberra: Pacific Linguistics, Research School of Pacific and Asian Studies.

Linehan W., 1951. “The Identifications of some of Ptolemy's Place-Names in the Golden Khersonese.” MBRAS 24 (3): 86-98.

Louvre, 2019. Collections: Ptolémée (1475/1500). Retrieved: 2024-01-24. [ https://collections.louvre.fr/en/ark:/53355/cl010064735 ]

Malleret L., 1962. L'Archéologie du Delta du Mékong, Tome Troisième : La Culture du Fou-Nan. Paris : Ecole Française Extrême Orient : 421-454.

McCrindle J.W. (tr.), 1885. Ancient India as Described by Ptolemy. Bombay: The Education Society's Press.

Pelliot P., 1903. “Le Fou-Nan.” BEFEO 3: 248-303.

Renou L. (ed. & tr.), 1925. La Géographie de Ptolémée. L'Inde (VII, 1-4). Paris : Librairie Ancienne Édouard Champion.

Schoff W.H. (tr.), 1912. The Periplus of the Erythraean Sea. New York: Longsmans, Green, and Co.

Stevenson E.L. (ed. & tr.), 1991. The Geography. Claudius Ptolemy (auteur; latin). Mineola, N.Y.: Dover.

van der Meulen W.J., 1974. “Suvarṇadvîpa and the Chrysê Chersonêsos.” Indonesia 18: 1-40.

van der Meulen W.J., 1975. “Ptolemy's Geography of Mainland Southeast Asia and Borneo” Indonesia 19: 1-32.

Wheatley P., 1955. “The Golden Chersonese.” Transactions and Papers (Institute of British Geographers) 21: 61-78.

Wiktionary 2024. The Free Dictionary: 扶 & 南. url: https://en.wiktionary.org/wiki/扶; url: https://en.wiktionary.org/wiki/南


1  สรุปจากการบรรยายจาก Hutangkura T., (2022-11-07: 3.30-3.50 pm). Plenary Speaker: “Reconsidering the Ptolemy ’s Southeast Asia Map in Archaeological and Chinese Documentary Contexts: A Case of Study of Fúnán and Óc Eo.” In: The 22nd Congress of the Indo-Pacific Prehistory Association (IPPA 22): Plenary Session 2. Grand Convention Hall. 6-12 November 2022, at Le Méridien Marriott, Chiang Mai, Thailand.

2  ตามสำเนียงอังกฤษ ภาษากรีกโบราณว่า “คอนแน” จาก ἡ κοινὴ διάλεκτος (อ่าน แฮ คอยแน เดียเลกโตส).


ผู้เขียน
ดร.ตรงใจ หุตางกูร
นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ฟูนัน แผนที่ ปโตเลมี ดร.ตรงใจ หุตางกูร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share