ว่าด้วยหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย ฉบับมาตรฐาน

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 2478

ว่าด้วยหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย ฉบับมาตรฐาน

           “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” (National History) ถือเป็นอุปกรณ์แห่งการธำรงและป้องกันไว้ซึ่งมายาภาพแห่งประชาชาติ (Nation) ที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นมา มายาภาพนั้นคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของความเป็นมา เรื่องราว และเป้าหมายของประชาชาติที่มีความสืบเนื่องเป็นดั่งสายโซ่คล้องกันและร้อยรัดผ่านกาละ โดยการใช้แม่แบบเชิงอันตวิทยาแบบเส้นตรงของประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุครุ่งเรืองทางปัญญา (the linear, teleological model of Enlightenment History) ในการสร้างความเป็นรูปธรรม/ตัวตนให้แก่ตนเอง (Duara, 1995, p. 4)

           กระนั้น การธำรงและป้องกันไว้ซึ่งมายาภาพแห่งประชาชาติด้วยประวัติศาสตร์นิพนธ์คงไร้ความหมายหากไร้ซึ่งรัฐประชาชาติ (Nation-State) ด้วยเป็นเทศะอันยังให้เกิดความเป็นรูปธรรม/ตัวตนแห่งมายาภาพดังกล่าว ในแง่หนึ่ง ประวัติศาสตร์แห่งชาติจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยบ่งชี้ความมีตัวตนและเครื่องมือที่ช่วยยืนยันความเก่าแก่ให้แก่รัฐประชาชาติ ด้วยเหตุนี้ สัมพันธภาพระหว่างประวัติศาสตร์แห่งชาติและรัฐประชาชาติจึงอยู่ในลักษณะพึ่งพาอาศัยกันและกัน ดังที่สมเกียรติ วันทะนะได้แถลงไว้อย่างหนักแน่นว่า

รัฐประชาชาติที่ขาดประวัติศาสตร์แห่งชาติก็เปรียบเสมือนคนที่ไม่มีหัวนอนปลายตีน เหมือน “ผู้ดีใหม่” และเพราะเหตุนั้นก็จะไม่ได้รับการนับหน้าถือตาจากสมาคมของรัฐประชาชาติทั้งหลาย ประวัติศาสตร์แห่งชาติที่ขาดรัฐประชาชาติสนับสนุนเป็นพื้นฐานก็เปรียบเสมือนความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ของผู้ลี้ภัยหรือชนกลุ่มน้อยที่ต้องอาศัยแผ่นดินเขาอยู่ และเพราะเหตุนี้ก็ย่อมไม่อาจก่อกระแสเป็นสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่ทรงพลังแก่คนจำนวนมากได้เพราะไม่มีช่องทางแสดงออก (สมเกียรติ วันทะนะ, 2530, น. 74)

           ในบริบทของสังคมไทย ประวัติศาสตร์แห่งชาติได้รับการให้ความสำคัญอยู่เสมอ ดังปรากฏมีหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติอยู่หลากหลายฉบับ ทั้งจากกลุ่มนักวิชาการประวัติศาสตร์ภายในมหาวิทยาลัย เช่น หนังสือ A History of Thailand โดยรอง ศยามานนท์ (1971) ประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยวุฒิชัย มูลศิลป์ (2547) หรือ ประวัติศาสตร์แห่งชาติ “ซ่อม” ฉบับเก่า “สร้าง” ฉบับใหม่ โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ (2551) และจากกลุ่มนักประวัติศาสตร์ภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น หนังสือ ประวัติศาสตร์ชาติไทย เล่มที่ 1 โดยใช้ เรืองศิลป์ (2478) ประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยพระบริหารเทพธานี (2512) หรือ ประวัติศาสตร์ไทย โดยพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (2547) แต่ละฉบับก็ล้วนเป็นงานเขียนก็มีนัยยะแห่งการธำรงและป้องกันไว้ซึ่งมายาภาพแห่งประชาชาติไทยในทางใดก็ทางหนึ่ง

           อย่างไรก็ดี หาได้หมายความว่า การที่สังคมไทยมีหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยอยู่หลายฉบับ ซึ่งเท่ากับการดำรงอยู่ของมายาภาพแห่งประชาชาติไทยอยู่หลายภาพเช่นเดียวกันนั้น จะได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทยในฐานะคณะบุคคลผู้เป็นตัวแทนการใช้อำนาจการปกครองแห่งรัฐให้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติแห่งรัฐไทยได้ทุกฉบับ ด้วยประวัติศาสตร์แห่งชาติและมายาภาพแห่งประชาชาติเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะสามารถได้รับอนุญาตให้ดำรงอยู่ในเทศะแห่งรัฐประชาชาติไทย ในที่นี้ ขอเรียกหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยฉบับซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐประชาชาติไทยว่า “ประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย ฉบับมาตรฐาน”

           ในการสถาปนารัฐประชาชาติไทย ภายหลังการอภิวัฒน์สยามของคณะราษฏร ใน พ.ศ.2475 เป็นต้นมานั้นอาจพิจารณาได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการดำเนินการจัดทำประวัติศาสตร์แห่งชาติฉบับมาตรฐานของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ.2475-2495 กล่าวคือ เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยดำเนินการวางรากฐานทางความคิดและการเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย ฉบับมาตรฐาน ผ่านการทำงานของกรมศิลปากร โดยมีบุคลากรจากหลายส่วนราชการดำเนินการร่วมด้วย เช่น หลวงวิจิตรวาทการ พระยาอนุมานราชธน นายรอง ศยามานนท์ และนายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นต้น

           หลวงวิจิตรวาทการถือเป็นบุคคลผู้ให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยอย่างมาก ดังเห็นจากการเขียนหนังสือ ประวัติศาสตร์สากล อันมีถึงสิบสองเล่ม ใน พ.ศ.2472 หรือการเขียนหนังสือ สยามและสุวรรณภูมิ ใน พ.ศ.2476 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเล่มหลังนี้ถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยเล่มสำคัญมากเล่มหนึ่งซึ่งเขียนขึ้นภายหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 ได้ไม่นานนัก (ดูเพิ่ม กฤชกร กอกเผือก, 2564, น. 98-100) ดังนั้น เมื่อหลวงวิจิตรฯ ได้เข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรระหว่าง พ.ศ.2477-2485 และใน พ.ศ.2479 หลวงวิจิตรฯ ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยว่า “จนบัดนี้ยังไม่มีประวัติศาสตร์สยามฉะบับที่ทางราชการรับรอง [ฉบับมาตรฐาน-ผู้เขียน] ให้ถือเป็นแบบฉะบับที่แท้จริงได้เลย” (สจช.ศธ.0701.9.1/4) ก็ยิ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นหลวงวิจิตรฯ ให้จัดทำโครงการ “ประมวลเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม” และเสนอของบประมาณดำเนินการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (กรมศิลปากร, 2557, น. 16-19)

           ต่อมาเกิดความพยายามจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย ฉบับมารตรฐานขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ.2485 เมื่อสภาการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นส่งหนังสือแสดงความประสงค์มายังรัฐบาลไทย ในการขอ “ข้อความหลายเรื่องเกี่ยวกับประเทสไทย” เช่น ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม การคลัง การขนส่ง ฯ รวม 22 เรื่อง โดยหนึ่งใน 22 เรื่องนั้น คือ ประวัติศาสตร์ไทย ในการนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยพระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากรระหว่าง พ.ศ.2485-2491 ขอความร่วมมือไปยังราชบัณฑิตยสถานเพื่อเรียนเชิญราชบัณฑิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์ จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ นายรอง ศยามานนท์ และนายสุจิต หิรัญพฤกษ์ และผู้มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ได้แก่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร  นายสง่า กาญจนาคพันธ์ และนายธนิต อยู่โพธิ์ มาร่วมกันจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยขึ้น “การประชุมวางโครงการทำประวัติสาสตรของชาติไทย” จึงเกิดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2485 ณ ห้องอธิบดีกรมศิลปากร อย่างไรก็ดี ในการประชุมครั้งนี้ นายสุจิต หิรัญพฤกษ์มิได้เข้าร่วมประชุมด้วย ปรากฏว่า เมื่อ “การประชุมวางโครงการทำประวัติสาสตรของชาติไทย” พ.ศ.2485 กว่าหนึ่งชั่วโมงเสร็จสิ้นลงนี้ ผลสรุปที่ได้มี 2 เรื่อง ได้แก่

           1) แนวทางการเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย โดยจะจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยบนหลักการเขียนประวัติศาสตร์การเมือง (Political History) เป็นขั้นแรกและมีความง่ายกว่า ซึ่งจะใช้วิธีเก็บความจากพระราชพงศาวดาร เอกสาร หรือจดหมายเหตุ และหากต้องการให้การจัดทำครั้งนี้เสร็จเร็วขึ้น ก็ควรนำเอาเค้าโครงและการแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์ของหนังสือ History of Siam ของ W.A.R. Wood หรือหนังสือ แสดงบรรยายพงศาวดารสยาม ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาพิจารณาประกอบด้วย จากนั้นเมื่อเขียนประวัติศาสตร์การเมืองสำเร็จแล้ว ขั้นต่อไปจึงค่อยเข้าสู่การเขียน “ประวัติศาสตร์เชิงซ้อน (Complex History)” ซึ่งเขียนยากกว่า ด้วยต้องรวมเอาเรื่องราวทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของไท ซึ่ง “เปนเรื่องที่ต้องไช้ความละเอียดและพินิจพิเคราะห์มาก ควนได้มีเวลาพอสมควน” (สจช.(2)สร.0201.41/21)

           2) การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย ที่ประชุมได้มีมติให้ประวัติศาสตร์การเมือง แบ่งเป็น 1) ยุคก่อนสุโขทัย 2) ยุคกรุงสุโขทัย 3) ยุคกรุงศรีอยุธยา 4) ยุคกรุงธนบุรี 5) ยุคกรุงรัตนโกสินท์ ส่วนประวัติศาสตร์เชิงซ้อน ที่ประชุมเห็นควรให้นำเอายุคกรุงธนบุรีมารวมกับยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากว่า “ไนทางสังคม เสถกิจและวัธนธัม [ทั้งสองยุค]ไม่มีลักสนะเเตกต่างหรือพิเสสออกไปหย่างไร” (สจช.(2)สร.0201.41/21)

           อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทั้งโครงการ “ประมวลเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม” ของหลวงวิจิตรวาทการ ใน พ.ศ.2479 และ “การประชุมวางโครงการทำประวัติสาสตรของชาติไทย” ใน พ.ศ.2485 จะสามารถดำเนินงานได้น้อยกว่าที่ทั้งสองโครงการตั้งเป้าไว้ การดำเนินงานเพื่อเขียนประวัติศาสตร์แห่งไทย ฉบับมาตรฐานจะหยุดชะงักลง จนกระทั่งใน พ.ศ.2493 จึงเกิดความพยายามเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพันโท หลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากรระหว่าง พ.ศ.2493-2498 เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยขึ้น ด้วยเหตุผล 2 ประการ ได้แก่

           ประการแรก อันเป็นความเห็นของอธิบดีกรมฯ ว่า “หนังสือประวัติศาสตร์ไทยเท่าที่มีอยู่ขณะนี้ ยังไม่สมบูรณ์นัก หลักฐานบางตอนคลุมเครือ บางตอนก็มีข้อความขาดตกบกพร่อง... เป็นการลำบากแก่ผู้สนใจค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างยิ่ง” และประการต่อมา คือ ก่อนหน้าการเสนอความเห็นเรื่องนี้ไม่นานนัก นายชาร์ลส์ บี. ฟาส (Charles B. Fahs) ผู้อำนวยการฝ่ายมนุษยศาสตร์แห่งมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ได้ขอเข้ามาหารือเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินต่อการค้นคว้าวัฒนธรรมไทย โดย “ให้ทางเราเสนอโครงการพร้อมทั้งรายนามกรรมการจัดทำประวัติศาสตร์ไทยให้เขาทราบเป็นที่พอใจแล้ว เขาจะสนับสนุนขอทุนจากมูลนิธิรอกกี้เฟลเลอร์ให้ใช้เป็นทุนในการจัดทำประวัติศาสตร์ไทยขึ้น” (สจช.ศธ.0701.9.10.2/1)

           ในการนี้ เมื่อความเห็นของพันโท หลวงรณสิทธิพิชัยดังกล่าวรายงานถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแล้ว จึงได้มีความเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำ “หนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกต้องแน่นอนสักฉบับหนึ่ง" (สจช.ศธ.0701.9.10.2/1) ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495 ในชื่อว่า คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย มีรายพระนามและนามคณะกรรมการฯ ชุดแรก ดังนี้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เป็นกรรมการที่ปรึกษา, พระยาอนุมานราชธน เป็นประธานกรรมการ, หม่อมเจ้าหญิงสิบพันพารเสนอ โสณกุล, พระยาโกษากรวิจารณ์, หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล, นายรอง ศยามานนท์, หลวงบริบาทบุรีภัณฑ์, พันโท หลวงรณสิทธิพิชัย และนายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นกรรมการ, หม่อมราชวงศ์แสงโสม เกษมศรี, นางสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา เป็นผู้ช่วยจัดทำประวัติศาสตร์ และนายตรี อมาตยกุล เป็นกรรมการและเลขานุการ

           จากการแต่งตั้งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยใน พ.ศ.2495 ได้ปรากฏให้เห็นว่า มีการวางหลักการเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยสองขั้นตอนเช่นเดียวกับ “การประชุมวางโครงการทำประวัติสาสตรของชาติไทย” ใน พ.ศ.2485 โดยในขั้นตอนแรกของหลักการเขียนประวัติศาสตร์ใช้ชื่อเรียกต่างกัน คือ การจัดทำประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย พ.ศ.2485 นั้นใช้ชื่อว่า “ประวัติศาสตร์การเมือง” ส่วนคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ.2495 ใช้ชื่อว่า “ประวัติศาสตร์อย่างง่าย” แต่ขั้นตอนที่สองของหลักการเขียนประวัติศาสตร์ใช้ชื่อเรียกเหมือนกันว่า “ประวัติศาสตร์เชิงซ้อน” (ตรี อมาตยกุล, 2502, น. (7)) นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างละเอียด ทั้งหมด 8 ยุคสมัย ได้แก่

           1) สมัยก่อนไทยเข้ามาในแหลมอินโดจีน

           2) สมัยไทยเข้ามาในแหลมอินโดจีน ช่วงก่อนสมัยสุโขทัย

           3) สมัยสุโขทัย

           4) สมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

           5) สมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ถึงพระเจ้าปราสาททอง

           6) สมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงสมเด็จพระนารายณ์ ถึงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

           7) สมัยจลาจลและกรุงธนบุรี

           8) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ยุคแรก

           อย่างไรก็ดี แม้มีบางช่วงเวลาที่การทำงานของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยจะหยุดชะงักอยู่บ้าง คือ ในช่วง พ.ศ.2500 ถึง พ.ศ.2510 แต่หลังจากนั้นจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการฯ ผลิตงานเขียนทางประวัติศาสตร์ออกมาผ่านสิ่งพิมพ์ของคณะกรรมการฯ ชื่อว่า แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารและโบราณคดี (พิมพ์ระหว่าง พ.ศ.2510-2533) อยู่เสมอ มีการพิมพ์บทความประวัติศาสตร์ เอกสารชั้นต้น เอกสารแปลภาษาต่างประเทศ และจารึกที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทย รวมถึงรายงานทางโบราณคดี ตัวอย่างเช่น บทความเรื่อง “สภาพการณ์ภาคเอเชียอาคเนย์ ก่อน พ.ศ.1800” โดยหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล “พิษณุโลกกับอาณาจักรสุโขทัย” โดยประเสริฐ ณ นคร “ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศชาวอเมริกันในประเทศไทย” โดยแถมสุข นุ่มนนท์ หรือเอกสารชั้นต้นเรื่อง “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” “เอกสารเมืองถลาง” “คัทธนกุมมาน” “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” “จารึกภาษาขอมจากจังหวัดสุโขทัย” หรือเอกสารแปลภาษาต่างประเทศเรื่อง “พระราชราชกปิตัน” โดยรอง ศยามานนท์ หรือรายงานทางโบราณคดีเรื่อง “ทวารวดีอยู่ไหน” โดยมานิต วัลลิโภดม “สำรวจเมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย” โดยตรี อมาตยกุล เป็นต้น

           ที่สำคัญที่สุด นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้มีภารกิจในการจัดทำ “หนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกต้องแน่นอนสักฉบับหนึ่ง” ใน พ.ศ.2495 นับเป็นห้วงระยะเวลา 30 ปี คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยจึงบรรลุภารกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย ฉบับมาตรฐาน ใน พ.ศ.2525 (สจช.(4)ศธ.2.4.6.1.3.1/1) ด้วยได้รับมอบหมายให้จัดพิมพ์หนังสือชุด ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1-3 (2525): เล่ม 1 รัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 3 พ.ศ.2325-พ.ศ.2394, เล่ม 2 รัชกาลที่ 4-พ.ศ.2475, เล่ม 3 พ.ศ.2475-ปัจจุบัน จำนวน 20,000 ชุด เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พุทธศักราช 2525

           ในปัจจุบัน คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยเป็นผู้รับมอบหมายภารกิจจากคณะรัฐบาล “ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาประวัติศาสตร์ไทย” (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2562, 23 กันยายน) ให้แก่คณะรัฐบาล ส่วนราชการ สถาบันการศึกษา และสาธารณชนทั่วไป

           ดังนี้ จึงสามารถกล่าวได้ว่า คณะกรรการชำระประวัติศาสตร์ไทยเป็นหนึ่งในผู้ดำรงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งชาติฉบับมาตรฐาน มายาภาพแห่งประชาชาติ และรัฐประชาชาติไทย


เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. (2557). ประวัติสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์.

กฤชกร กอกเผือก. (2564). การสร้างประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยฉบับมาตรฐานของประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2450-2520 [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, มหาวิทยาลัยนเรศวร].

คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. (2525). ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1 รัชกาลที่ 1-3 พ.ศ.2325-พ.ศ.2394. กรุงเทพฯ: กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร.

________. (2525). ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 2 รัชกาลที่ 4-พ.ศ.2475. กรุงเทพฯ: กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร.

________. (2525). ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 3 พ.ศ.2475-ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร.

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง. (2534). กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี.

ใช้ เรืองศิลป์. (2478). ประวัติศาสตร์ชาติไทย เล่มที่ 1: แต่ก่อนพุทธกาลถึง พ.ศ.2112. พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์.

ตรี อมาตยกุล. (2502). เรื่องการชำระประวัติศาสตร์ไทย. ใน รอง ศยามานนท์, ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล และ ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (น. (1)-(8)). พระนคร: กรมศิลปากร.

แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารและโบราณคดี. (2510-2533)

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2551). ประวัติศาสตร์แห่งชาติ “ซ่อม” ฉบับเก่า “สร้าง” ฉบับใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

บริหารเทพธานี, พระ. (2512). ประวัติศาสตร์ชาติไทย: ความเป็นมาของชาติไทยตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์. พระนคร: โรงพิมพ์ประจักษ์วิทยา.

พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. (2547). ประวัติศาสตร์ไทย: ฉบับเสริมการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.

วุฒิชัย มูลศิลป์, บรรณาธิการ. (2547). รายงานการประชุมเสนาบดีสภารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 1เรื่องสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.

วุฒิชัย มูลศิลป์. (2547). ประวัติศาสตร์ชาติไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิกตเวทินในพระบรมราชูปถัมภ์.

สมเกียรติ วันทะนะ. (2530). เมืองไทยยุคใหม่: สัมพันธภาพระหว่างรัฐกับประวัติศาสตร์สำนึก. ใน สมบัติ จันทรวงศ์ และชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บ.ก.), อยู่เมืองไทย: รวมบทความทางสังคมการเมืองเพื่อเป็นเกียรติแด่ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ในโอกาสอายุครบ 60 ปี (น. 69-123). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (23 กันยายน 2562). มติคณะรัฐมนตรี ที่ วธ 0204.4/4149 เรื่อง คณะกรรมการต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี.

สจช. (2) สร. 0201.41/21 เรื่อง สภาการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นขอให้เปลี่ยนข้อความเกี่ยวกับประเทศไทยและพิจารณาการวางโครงประวัติศาสตร์ไทยใหม่ (29 ส.ค.-17 ธ.ค. 2485).

สจช. (4) เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ 2.4.6.1.3.1/1 เรื่อง รายงานการประชุมคณะอนุกรรมการประมวลเอกสารครั้งที่ 1/2523 (13 พฤศจิกายน 2523).

สจช. ศธ. 0701.9.1/4 เรื่อง โครงการกรมศิลปากร หลวงวิจิตรวาทการ (2479).

สจช. ศธ. 0701.9.10.2/1 เรื่อง กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ.2493-2496).

Duara, P. (1995). Rescuing History from the Nation: Questioning Narratives of Modern China. Chicago: The University of Chicago Press.

Rong Syamananda. (1971). A History of Thailand. Bangkok: Chulalongkorn University Press.


ผู้เขียน
กฤชกร กอกเผือก
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย ฉบับมาตรฐาน กฤชกร กอกเผือก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share