เมื่อสยามพลิกผัน : ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 1320

เมื่อสยามพลิกผัน : ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่

รูปที่ 1 ปกหนังสือ Community Archives, Community Spaces : Heritage, Memory
and Identity หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           ในความทรงจำของนักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ จะจดจำเรื่องเล่า ตำนานการสร้างบ้านแปงเมือง การปกป้องบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภัยสงคราม ของวีรกษัตริย์ทุกยุค ทุกสมัย ตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหง (สมัยกรุงสุโขทัย) สมเด็จพระนเรศวร (สมัยกรุงศรีอยุธยา) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สมัยกรุงธนบุรี) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ซึ่งเกิดจากการเขียนประวัติศาสตร์ภายใต้อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” ที่ถือเอาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นแก่นแกนในการอธิบายประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ครอบงำการรับรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย และคงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน หนังสือที่จะชวนอ่านคือ “เมื่อสยามพลิกผัน : ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่” โดย ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ได้นำเสนอมุมมองเชิงวิพากษ์ เปิดมุมมองใหม่สำหรับผู้อ่านต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย

           ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคต้นสมัยใหม่และสมัยใหม่ (คริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20) เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโส ณ Institute of Developing Economics (IDE-JETRO) ประเทศญี่ปุ่น ผลงานหนังสือที่สร้างชื่อคือ “Siam mapped : a history of the geo-body of a nation” ได้รับรางวัล Harry J. Benda Prize in Southeast Asian Studies จาก Association for Asian Studies (AAS) ปี 1995 และรางวัล Grand Prize of Asia Pacific Book Award ของสภาวิจัยเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 2005

           “เมื่อสยามพลิกผัน : ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่” เป็นหนังสือรวมบทความ ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล นำเสนอภาพรวมกระแสความเคลื่อนไหวการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยที่พยายามออกนอกขนบเดิม (อุดมการณ์ราชาชาตินิยม) เสนอทฤษฎีวิพากษ์ ทั้งแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Post -Modern) และประวัติศาสตร์หลังอาณานิคม (Post-colonial history) เน้นมุมมองเชิงพื้นที่ และเวลา ในประเด็นการปะทะกันทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยกับอารยธรรมตะวันตก ประวัติศาสตร์ความคิดและการเมือง ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของสยาม/ไทย วิเคราะห์ วิพากษ์ประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาตินิยม และประวัติศาสตร์ความทรงจำ ช่วงทศวรรษ 1880 ถึง 1930 (พ.ศ. 2423-2472) ซึ่งเป็นช่วงที่อาจารย์ธงชัยเรียกว่า “เมื่อสยามพลิกผัน” สู่สมัยใหม่ ภายใต้ภาวะกึ่ง อาณานิคม เป็นช่วงที่สยามเกิดการปะทะ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน พร้อมกับหยิบยกเอาเรื่องเล่าต่าง ๆ มาพลิกมุมอธิบายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ความศิวิไลซ์ของไทย” ที่มีอารยธรรมเก่าแก่มาแต่สมัยสุโขทัย เรื่อง “ตัวตนคนไทย” ที่เกิดจาก “การสร้างความเป็นคนอื่นในผืนดิน (ตน) ไทย” เรื่อง “พุทธศาสนา” ที่เหนือกว่าศาสนาอื่นใดในโลก ความรู้สึกทั้งรักทั้งชาวตะวันตก เรื่อง “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในประชาธิปไตยแบบไทย ๆ เรื่อง “การปะทะกันของขนบ” ประวัติศาสตร์สองแบบ ไปจนถึงเรื่อง “ความคับแคบของวงวิชาการไทยและนิติรัฐแบบไทย ๆ”

           บทความที่ 1 นำเสนอ “กรอบมโนทัศน์พื้นฐาน (Foundational Mentality)” ของสยามยุคใหม่ภายใต้ภาวะกึ่งอาณานิคมที่ยังคงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน เสนอชุดความคิด กระบวนทัศน์ หรืออุดมการณ์ในลักษณะหนึ่งที่เป็นพื้นฐานให้เกิดการผลิตความรู้ วาทกรรม และทัศนะต่าง ๆ ของนักวิชาการ/ปัญญาชนไทย ทั้งในวงวิชาการ และเวทีสาธารณะ โดยเค้าโครงความคิดที่นำเสนอผ่านบทความทั้งหมด ครอบคลุมความสนใจตลอดชีวิตทางวิชาการของอาจารย์ ธงชัย วินิจจะกูล

           กรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคใหม่ แบ่งเป็น 7 ด้านดังนี้

           1) ภูมิกายา อันได้แก่ กรอบมโนทัศน์พื้นฐานด้านภูมิศาสตร์ยุคสมัยใหม่ ที่เกี่ยวพันกับเขตแดน อธิปไตยเหนือดินแดน เอกราชของชาติ และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเสียดินแดนของสยามในอดีต

           2) ประวัติศาสตร์อย่างใหม่ และราชาชาตินิยม ได้แก่ การศึกษากรอบมโนทัศน์พื้นฐาน ความหมาย คุณลักษณะ และประวัติความเป็นมาของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม (บทความที่4) และการสร้างประวัติศาสตร์ชนิดสมัยใหม่ คือ การขจัด เบียดขับประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกการควบคุมของชนชั้นนำสยาม และที่ไม่ได้มาตรฐานตามแบบสมัยใหม่ในทัศนะของชนชั้นนำสยาม (บทความที่ 5 เรื่อง ก.ศ.ร.กุหลาบ) ใช้อำนาจเบียดเบียนประวัติศาสตร์ชนิดอื่น เพื่อให้ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำมีอำนาจครอบงำ

           3) พุทธใหม่-ไสย-วิทย์ แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ การสร้างความเข้าใจพุทธสมัยใหม่ในสยาม ต้องทำความเข้าใจนิยาม และความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง พุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์

           a. การปรับ/ปฏิรูปพุทธศาสนาในสยามให้ “เป็นเหตุเป็นผล” ตามหลัก วิทยาศาสตร์ ปรับเป็น “Modern Buddhism” เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ และป้องกันการรุกคืบของศาสนาคริสต์

           b. ทำความเข้าใจ “ความเป็นเหตุเป็นผล”ของพุทธศาสนา ผ่านการสร้าง “ความเป็นอื่น (Otherness) โดยธรรมยุติกนิกายประกาศต่อสู้กับ “ลัทธิพราหมณ์” หรือ “ไสยศาสตร์” ที่แฝง (แปดเปื้อน) ในพุทธเถรวาท อันเป็นเหตุให้พุทธศาสนาเสื่อม โดยสร้าง “คู่ตรงข้าม” กับพุทธสมัยใหม่

           c. มองว่า พุทธสมัยใหม่ เป็นเพียงศาสนาหนึ่งท่ามกลางศาสนาต่าง ๆ แต่สำหรับคนไทยมองว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สูงส่ง เป็นเลิศกว่าศาสนาอื่น (บทความที่ 6 การแก้ต่างให้ศาสนา)

           4) คนไทย/คนอื่น การแบ่งเรา แบ่งเขา ระหว่างคนไทยกับความเป็นไทย กับคนอื่น และความเป็นคนอื่น การแบ่งตำแหน่งแห่งที่ความเจริญระหว่างเมืองหลวง หัวเมือง ชนบท บ้านนอกคอกนา หรือบ้านป่าเมืองเถื่อน เป็นต้น

           5) สังคมและระเบียบสังคม มี 3 ประเด็นเกี่ยวพันกับเรื่องนี้คือ

                      a. วาทกรรม “หน้าที่พลเมือง” อันหมายถึง หน้าที่ของบุคคลที่พึงมีต่อประเทศชาติและรัฐ (ในยุคสมัยใหม่) กับ หน้าที่ของบุคคลที่พึงมีต่อคนในชาติด้วยกัน แต่ “หน้าที่พลเมือง” ไม่สะท้อนความเป็นปัจเจกชน (Individuality) ของพลเมือง สังคมไทยไม่เคยให้ความสำคัญต่อ “ปัจเจกบุคคล” เท่า ”ความเป็นชาติ” และเดิมทีความหมายของ “พลเมือง” หมายถึงพละกำลังของเมือง ซึ่งหมายถึงไพร่ฟ้าที่เป็นกำลังแรงงาน ไม่รวมชนชั้นปกครอง ดังนั้น หน้าที่พลเมือง จึงสะท้อนบทบาทหน้าพลเมือง (Functional) เป็นเฟืองย่อย ๆ เป็นองคาพยพขององค์รวมที่เรียกว่า “ประเทศชาติ”

                      b. สังคมชีวภาพ และ ระเบียบสังคม กรอบมโนทัศน์พื้นฐานที่เชื่อว่า “บ้านเมือง” เปรียบเสมือนครอบครัว เหมือนร่างกายของมนุษย์ มีลักษณะเป็นสิ่งมีชีวิต ประกอบด้วย อวัยวะต่าง ๆ ที่ต้องทำงานสอดประสานกัน บ้านเมืองคือครอบครัวขนาดใหญ่ ที่สมาชิกในครอบครัวต้องรู้จักและปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทของแต่ละคน ขณะเดียวกัน หน้าที่ของแต่ละคน มีบทบาท มีความสำคัญและฐานะสูง-ต่ำ ไม่เท่ากัน บางคนเป็นมือตีน เป็นหัว เป็นสมอง ซึ่งเป็นผลจากฐานคิดเรื่อง บุญ บารมี บาป กรรมแต่ชาติปางก่อน โดยเชื่อว่า กษัตริย์มีบุญบารมีสูง ไพร่ทาสมีบุญบารมีน้อย เป็นต้น

                      c. ระบอบกฎหมายและหลักนิติธรรม เน้นปรับปรุงประมวลกฎหมายแบบสมัยใหม่ในสยามให้ใกล้เคียง ทัดเทียมกับมาตรฐานตะวันตก เพื่อรักษาเอกราชของชาติ

           6) เพศสภาวะ “สังคมชีวภาพ” ของไทย ถือว่า ความเป็นชาย หญิง กะเทย และอื่น ๆ มีความหมายขึ้นต่อความเป็นพ่อ แม่ ลูกสาว ลูกชาย ปู่ทวด ย่าทวดของสายตระกูลตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนติดตัวมาแต่กำเนิด

           7) สยามในโลกสากล เมื่อโลกตะวันตกแผ่อำนาจมาทั่วภูมิภาค สยามกลายเป็นประเทศชายขอบ หรือ “บ้านนอก” ชนชั้นนำจึงพยายามทำตัวให้มีความศิวิไลซ์ทัดเทียมประเทศตะวันตก เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า สยามก็มีความศิวิไลซ์ ขณะเดียวกันก็พยายามเป็น “เจ้าจักรวรรดิ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศรอบข้าง อย่างลาว กัมพูชา และพม่า

           บทความเรื่อง “ปรับตัวปรับใจเพื่ออยู่กับโลกตะวันตก : ยุทธศาสตร์ทางภูมิปัญญาที่แบ่งโลกเป็นสองส่วน และแนวคิดหลังตะวันตกนิยมในสยาม = Coming to Terms with the West: Intellectual Strategies of Bifurcation and Post-Westernism in Siam” แปลโดย ธันวา วงศ์เสงี่ยม นำเสนอภาวะการพยายามปรับตัว ปรับใจอยู่กับชาวตะวันตก และพยายามปรับเปลี่ยนสยาม ไปสู่ความเป็นสยามใหม่ ภายใต้การรุกคืบของอารยธรรมตะวันตก การเผชิญหน้าทางวัฒนธรรมระหว่างสยามกับตะวันตก ทั้งเรื่องศาสนา วัฒนธรรม และเทคโนโลยี คนไทยมักมอง “ฝรั่ง หรือชาวตะวันตก” เป็น “คนอื่น” ที่น่าสนใจ เย้ายวน แต่น่ากลัว อิทธิพลของตะวันตกในประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองที่หลากหลาย ทั้งการเอาแบบอย่างจนกลายเป็นตะวันตก ถึงการยืนกรานรักษาวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ไทย การรับมือกับอิทธิพลตะวันตกสามารถทำความเข้าใจผ่านกรอบความคิดทางญาณวิทยาสำหรับการคัดเลือกรับ และปฏิเสธความรู้และอิทธิพลของตะวันตกโดยการจำแนกความรู้ออกเป็น 2 แขนง 2 ประเภท อันได้แก่ 1. ความรู้เกี่ยวกับโลกวัตถุและตัวตนภายนอก อันหมายถึงเครื่องมือและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และวิทยาการใหม่ๆ กับ ความรู้เกี่ยวกับจิตวิญญาณหรือตัวตนภายใน อันหมายถึงจิตวิญญาณ ความรู้ศาสนา ปรัชญา วรรณคดีและศีลธรรมอันดีของไทย และ 2. กรอบญาณวิทยาเรื่อง “หลังตะวันตกนิยม" (post-westernism) ที่ให้ความสำคัญกับการพยายามยุติการครอบงำทางความคิดของตะวันตก พร้อมกับยกตัวอย่างงานของ ธีรยุทธ บุญมี ชุด “หลังตะวันตกนิยม”

           บทความเรื่อง “มนุษยศาสตร์ในสังคมไทยกับความจริงสองระดับของประวัติศาสตร์ไทย” แบ่งการนำเสนอความเห็นต่อมนุษยศาสตร์ในสังคมไทย เป็น 4 ประเด็นได้แก่

           ประการแรก มนุษยศาสตร์ (ปรัชญา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ฯลฯ) ในอดีต ผูกพันกับจักรวาลวิทยาทางศาสนา งานนิพนธ์เกี่ยวกับอดีต เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐ หรือ พระ และความทรงจำร่วมของสังคมที่ปรากฏในรูป “นิทานปรัมปราคดี” ความรู้เกี่ยวกับอดีตเหล่านี้ ยังไม่เป็น “ประวัติศาสตร์” มิใช่ “ความจริง” ที่แยกขาดจาก “เรื่องแต่ง” หรือวรรณคดี

           ประการที่สอง สังคมไทยรับการถ่ายทอด การส่งผ่านทางวัฒนธรรมจากอารยธรรมอื่น ๆ มาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งแต่รับพุทธศาสนาจากอินเดีย ผ่านประเทศศรีลังกา พม่า มอญ และรับอารยธรรมอินเดียผ่านทางเขมร รับอารยธรรมจีน อาหรับ เปอร์เซีย ยุโรป ผ่านการค้าทางทะเล ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า “ภูมิปัญญาไทย” คือความรู้ที่เติบโตในสังคมไทย เป็นการปะทะประสานกับหลายอารยธรรมมายาวนาน รวมทั้งการปะทะประสานกับกระแสภูมิปัญญาตะวันตกในศตวรรษที่ 19

           ประการที่สาม กระแสภูมิปัญญาตะวันตกก่อให้เกิดการเปลี่ยนในทุกแขนงวิชาความรู้ในสังคมไทย การแบ่งแขนงวิชาเป็นอิทธิพลของ Anglo-American มนุษยศาสตร์ในสังคมไทย จะโน้มเอียงไปทางภูมิปัญญาที่รับมรดกทางภูมิปัญญาจารีตในสังคมไทย อาทิ วิชาปรัชญาอยู่ภายใต้กรอบพุทธปรัชญา วิชาประวัติศาสตร์เรียนจากพงศาวดาร ส่วนสังคมศาสตร์สาขาที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ที่เข้มแข็งจะเปิดรับความรู้จากตะวันตก แขนงที่มีราก หรือฐานความรู้ที่แข็งแกร่ง จะเลือกรับ ดัดแปลง หรือปฏิเสธความรู้จากตะวันตก

           ประการที่สี่ มนุษยศาสตร์ในสังคมไทย ถูกแบ่งแยกออกจากวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเทคโนโลยี นักวิชาการทั้งฝั่งมนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่างไม่เข้าใจวิธีวิทยาของแขนงอื่น นักวิทยาศาสตร์พยายามใช้วิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ มาเป็นเกณฑ์ในการทำวิจัยทางมนุษยศาสตร์ ขณะที่นักมนุษยศาสตร์พยายามอ้างว่า มนุษยศาสตร์ทำคนให้เป็นคน แต่ก็ไม่สามารถอธิบายที่มาที่ไปได้ องค์ความรู้มนุษยศาสตร์ในสังคมไทย ถูกแยกขาดจากวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้มุมมองต่อสังคมไทย ไม่สัมพันธ์กันดังเช่นมุมมองแบบตะวันตก

           บทความเรื่อง “ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : กรณีประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมของประเทศไทย = Modern Historiography in Southeast Asia : The Case of Thailand's Royal-Nationalist History” แปลโดย ธันวา วงศ์เสงี่ยม นำเสนองานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากตำนาน นิทานปรัมปราและคติพื้นบ้าน เรื่องเล่าถึงอดีตอันไกลโพ้นอย่างเช่น ตำนานกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง ตำนานบรรพบุรุษท้าวฮุ่งท้าวเจือง ตำนานเหล่านี้ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับที่มา ที่ไปของมนุษย์ก่อนมีอารยธรรมทางศาสนา ต่อมาเมื่อศาสนาต่าง ๆ เริ่มเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีงานนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์อิงศาสนาจำพวก พงศาวดาร ตำนานการเกิดอาณาจักร ที่เกิดจากองค์อวตารของพระวิษณุ ตำนานกำเนิดอาณาจักรจากพุทธทำนาย ตำนานของพระธาตุ ตำนานวีรบุรุษ ที่กล่าวมาล้วนเป็นจารีต “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ที่มีอยู่ก่อนการเกิดขึ้นของประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่

           ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 สยามพยายามเขียนประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่ถอยห่างออกจากพงศาวดาร ปัญญาชนสยามเริ่มตระหนักถึงความแตกต่างอย่างมากระหว่างเวลาปัจจุบันกับอดีตที่เขียนถึง พยายามตรวจสอบ วิพากษ์ และ “ชำระ” พงศาวดาร ให้คำอธิบายใหม่เพื่อปรับปรุงรูปแบบและเนื้อหาให้ดูทันสมัย และเกี่ยวโยงกับความเป็นชาติมากขึ้น จนนำไปสู่การเขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกษัตริย์ อาณาจักร และไพร่ฟ้าของกษัตริย์ เรื่องเล่าเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชของประเทศชาติ เริ่มจากประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับ อาณาจักรสุโขทัย ผ่านศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง สงครามระหว่างอาณาจักรสยามกับพม่าตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์

           ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่เริ่มขึ้นจากประสบการณ์พ่ายแพ้ต่ออาณานิคมตะวันตก (ฝรั่งเศส) ในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ชนชั้นนำและปัญญาชนยุคนั้น พยายามสร้างคำอธิบายประวัติศาสตร์เหตุการณ์ผ่านเรื่องเล่าที่สยามสู้รบกับพม่า สร้างพม่าเป็นมหาอำนาจอาณานิคมแทนลัทธิอาณานิคมตะวันตก สร้างประวัติศาสตร์ “ราชาชาตินิยม” แบบต่อต้านอาณานิคมที่บรรพกษัตริย์และชนชั้นปกครองผู้จงรักภักดีเป็นวีรบุรุษของชาติ

           บทความเรื่อง “กุ ลอบ ลอก แต่งแบบไพร่ๆ ความผิดของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ตัดสินโดยนักประวัติศาสตร์อำมาตย์”นำเสนอเรื่องราวของ ก.ศ.ร. กุหลาบ หรือ กุหลาบ ตฤษณานนท์ เกี่ยวกับประวัติ และผลงาน โดยเฉพาะความผิดของ ก.ศ.ร. กุหลาบเกี่ยวกับการเขียนหนังสือ การผลิตความรู้ ใน 2 ประเด็นหลักคือ เขียนหนังสือบิดเบือนประวัติศาสตร์ และลักลอบ คัดลอก หนังสือจากหอหลวงออกมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต จนถูกหาว่าเป็นคนบ้า สติฟั่นเฟือน และส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลบ้า ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าความผิดของ ก.ศ.ร. กุหลาบสะท้อน ช่วงระยะที่ ความรู้และวัฒนธรรมการศึกษาประวัติศาสตร์กำลังเปลี่ยนไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ เกิดการปะทะ ขัดแย้งกันระหว่างการผลิตความรู้แบบเดิม กับการผลิตความรู้แบบสมัยใหม่ และตั้งข้อสังเกตว่า หรือเพราะ ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นปัญญาชนไพร่ ที่ผลิตงานวิพากษ์สังคม เสียดสีชนชั้นสูง จนทำให้เจ้านายหลายพระองค์ไม่พอใจ เป็นเหตุให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคน กุ ลอบ ลอกงาน จนถูกเบียดขับออกจากแวดวงปัญญาชนแบบอำมาตย์

           ก.ศ.ร.กุหลาบ สนใจศึกษาหาความรู้ และเขียนหนังสือ เขาออกหนังสือ “สยามประเภท” มีการถามตอบปัญหาต่าง ๆ กับผู้อ่าน เขียนสารคดีที่เป็นความรู้ใหม่ ๆ รวมทั้งเขียนบทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี เกร็ดชีวประวัติบุคคล และนำเรื่องในหนังสือหอหลวงมาตีพิมพ์ มีการแต่งแทรกบ้าง แก้ไขบ้าง และแต่งเองบ้าง จนเป็นมูลเหตุถูกสอบสวนเมื่อแต่งเรื่อง "คำให้การขุนหลวงหาวัด" ต่อมาใน พ.ศ. 2443 ตีพิมพ์ข้อเขียนอธิบายระเบียบการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรูณหิศ และแต่งพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สา) อีก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเป็นประธานสอบสวน และยังมีกรณีอื่น ๆ อีกหลายกรณี

           บทความเรื่อง “การแก้ต่างให้พุทธศาสนากับความเป็นมาของศาสนาเปรียบเทียบในสยาม = Buddhist Apologetics and a Genealogy of Comparative Religion in Siam” แปลโดย ธันวา วงศ์เสงี่ยม นำเสนอกรอบความคิดศาสนาเปรียบเทียบอันเป็นผลของการปฏิรูปศาสนาในสมัย รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เป็นจุดเริ่มประเพณีการปกป้องพุทธศาสนาจากการรุกคืบของศาสนาคริสต์ วิทยาศาสตร์ และการล่าอาณานิคม แสดงออกผ่านการถกเถียง เขียนหนังสือ บทความ และพื้นที่อื่น ๆ ว่า ศาสนาพุทธ ดีกว่าศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ ในแง่หนึ่งพุทธศาสนาสอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่มีคำสอนสัจธรรมที่สูงส่งกว่า ขณะเดียวกัน มีมิติความเป็นการเมืองคือ การตีความพุทธศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจรัฐ (ชนชั้นปกครอง) และเน้นสถานะความเป็นศาสนาของคนไทย หรือของชาติไทย อาจารย์ธงชัยยกตัวอย่างชนชั้นนำอย่างเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อยมาถึงท่าน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) จำนงค์ ทองประเสริฐ ปิ่น มุทุกันต์ และเสฐียรพงศ์ วรรณปก ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทโต้แย้งศาสนาอื่น ๆ บนกรอบความคิดศาสนาเปรียบเทียบว่าพุทธเป็นศาสนา “ของเรา” หรือของรัฐ และเป็นศาสนาที่ดีกว่า สูงส่งกว่าศาสนาอื่น ๆ ที่เป็นศาสนา “ของเขา” ขณะเดียวกันได้เสนอ “กรอบของศาสนาเปรียบเทียบ” ว่ามีลักษณะเฉพาะที่เป็นปัญหาสำคัญสามประการดังนี้

           ประการแรก ศาสนาเปรียบเทียบแยกไม่ออกจากการถกเถียงและวิวาทะว่า ความเชื่อในศาสนาถูกและผิด ดีและแย่ เหนือกว่าและด้อยกว่า ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา

           ประการที่สอง เนื่องจากพุทธศาสนาเถรวาท เป็นองค์ประกอบสำคัญของอัตลักษณ์ไทย จึงไม่ถือว่าเป็นศาสนาหนึ่งท่ามกลางศาสนาทั้งหลาย แต่ถือเป็นศาสนาของไทย หรือ “ของเรา” ที่เหนือกว่าศาสนาอื่น ๆ

           ประการที่สาม วาทกรรมศาสนาเปรียบเทียบของไทยตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมทางความคิดที่กว้างกว่าสังคมไทย ซึ่งถือว่าทุกศาสนารวมถึงศาสนา “ของเขา” ด้วย ล้วนมีความดีงามและน่าเคารพนับถือพอ ๆ กัน ดังนั้น วาทกรรมที่เป็นทางการย่อมถือว่า ทุกศาสนาควรได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีอคติ ทั้งศรัทธาของเพื่อนของเรา และศาสนาของเราเอง

           บทความสุดท้ายเป็น “บททดลอง” เสนอประเด็นอภิสิทธิ์ความปลอดความผิด (Impunity) และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในนิติรัฐแบบไทย ๆ อาจารย์ธงชัย เสนอกรอบความเข้าใจ “อภิสิทธิ์ปลอดความผิด” ว่าเกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน ภายใต้นิติธรรม นิติรัฐที่บกพร่อง นิติรัฐของไทยไม่ได้สถาปนาบนฐานปัจเจกบุคคล ไม่อยู่บนพื้นฐานที่ว่าประชาชนทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่เป็นนิติรัฐที่รองรับความเหลื่อมล้ำ เป็นช่วงชั้นตามฐานะอำนาจ กลุ่มคนที่มีสถานะทางสังคมสูง มีอำนาจมาก ยิ่งมีอภิสิทธิ์มาก “รัฐ” มีสิทธิมากกว่า “ปัจเจก” เสมอ โดยเฉพาะผู้ครองอำนาจรัฐ ดำเนินการในนามรัฐ มักได้รับอภิสิทธิ์ปลอดความผิดอย่างสมบูรณ์ เอาผิดรัฐลำบาก และ/หรือเอาผิดรัฐไม่ได้

           หลังเหตุการณ์ ร.ศ. 112- ร.ศ. 128 มีการปฏิรูปกฎหมายครั้งใหญ่ ออกประมวลกฎหมายอาญาชุดใหม่หลายชุด และปรับปรุงแก้ไขวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายใหม่ ซึ่งมีผลต่อ “นิติรัฐ” คือระบบที่กฎหมายเป็นใหญ่ แต่ไม่ใช่ “นิติรัฐแบบตะวันตก” เป็นลูกผสมระหว่าง “นิติรัฐของไทย กับนิติรัฐแบบตะวันตก” ความเข้าใจ “ความเป็นปัจเจกของไทย” ต่างกับชาวตะวันตก สังคมไทยมีความคิดเรื่อง “ปัจเจก” และ “กลุ่มบุคคล หรือ สังคมโดยรวม” และให้ความสำคัญกับสังคมโดยรวม มากกว่า ปัจเจกอันเป็นผลจากปรัชญาการเมืองของฮินดู-พุทธในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสังคมไทยที่เชื่อว่า “คนจะมีอำนาจ ต้องมีบุญและบารมีหนุนนำ ขณะที่สังคมตะวันตกถือหลัก Rule of Law คือบุคคลเสมอภาคกัน เสมอภาคในระดับแนวราบ และให้ความสำคัญกับปัจเจกมากกว่า

           รัฐบาลไทยหลายยุคสมัย ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่รัฐกลับบอกว่า “ไม่ได้ละเมิด” มักอ้างว่า “เป็นสถานการณ์พิเศษ” หรืออธิบายว่า “ประเทศไทยมีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนชาติตะวันตก” และอธิบายว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของฝรั่งตะวันตก” ไม่สามารถประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ แต่แปลกที่ทั้งรัฐ และหลายคนในสังคมไทย “รับได้ ยอมรับได้” เช่น รัฐไทยให้เหตุผลตอบโต้การตำหนิของต่างชาติ เรื่อง “การละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย” ว่า “คนไทยส่วนใหญ่ไม่เดือดร้อนกับการใช้อำนาจปราบปราม จับกุม หรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มที่ต่อต้าน” และ หลายอย่างไม่เป็นไปตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น คำสั่งผู้ปกครองคือกฎหมายอันชอบธรรม ศาลถือว่าคำสั่งคณะรัฐประหารทุกครั้ง ถือว่าเป็นกฎหมายที่ชอบธรรม และ มาตรา 112 ถือเป็นตัวอย่างของการละเมิดจากรัฐ เพราะได้รวบรวมเอาจารีตธรรมเนียมปฏิบัติในกฎหมายโบราณไว้จำนวนมาก ตั้งแต่สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาผิด ไม่ให้ประกัน จนถึงวิธีคิดให้ผู้ต้องหารับสารภาพ เพื่อให้มีการลดโทษ เป็นต้น

           หนังสือ “เมื่อสยามพลิกผัน : ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่” เล่มนี้ เปิดมุมมอง และโลกทัศน์ของผู้อ่านที่มีต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย นำเสนอมุมมองผ่านเรื่องเล่า และเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ช่วยสร้างความเข้าใจที่ก้าวพ้นไปจากการผลิตซ้ำความคิดกระแสหลักและนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ ที่จะนำผู้อ่านให้เข้าใจความซับซ้อนของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับนักศึกษา นักวิจัย และประชาชนทั่วไป ที่เปิดใจ และยินดีรับมุมมองต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยทั้งที่เห็นด้วย เห็นต่าง และเห็นแย้ง

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสืออื่นของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


บรรณานุกรม

ชัยพงษ์ สำเนียง. (2563). ราชาชาตินิยมกับการเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทย และประวัติศาสตร์กระแสอื่นในฐานะเชิงอรรถ. ประชาไท : https://prachatai.com/journal/2020/02/86456

ชัยพงษ์ สำเนียง. (2564).ถอดรื้อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นราชาชาตินิยม : บาดแผล และความทรงจำ.คณะก้าวหน้า : https://progressivemovement.in.th/article/5476/

ธงชัย วินิจจะกูล. (2562). เมื่อสยามพลิกผัน : ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่ . นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.


ผู้เขียน
อนันต์ สมมูล
นักบริการสารสนเทศ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ เมื่อสยามพลิกผัน ประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์หลังอาณานิคม ไทยและนิติรัฐ อนันต์ สมมูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share