สมเด็จพระเจ้าเสือสวรรคตปีใด พ.ศ. 2251 หรือ 2252 ?: เอกสารญี่ปุ่น “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน” (Tōsen fūsetsu-gaki) จะให้คำตอบ
เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าเสือนั้น ปรากฏอยู่ในเอกสารกลุ่มพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับมีเนื้อหาเหมือนกันบ้างต่างกันบ้าง โดยเฉพาะเรื่องปีครองราชย์และปีสิ้นสุดรัชกาลนั้น แต่ละฉบับให้ข้อมูลไว้แตกต่างกัน ก่อให้เกิดปัญหาว่ารัชกาลของสมเด็จพระเจ้าเสืออยู่ในช่วงเวลาใดกันแน่ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของปีปฏิทินสากล
โดยทั่วไป เรามักรู้จักและจดจำวีรกรรมความเป็น “นักมวย” ของสมเด็จพระเจ้าเสือ และความเป็น “คนใจกว้าง” ได้จากนิทานเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” ที่ถูกเขียนแทรกเพิ่มเข้ามาในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับที่ถูกชำระในสมัยรัตนโกสินทร์คือ “ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์” และ “ฉบับบริติชมิวเซียม” กระทั่งความเป็น “ราชาผู้โหดร้าย” จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา “ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” สำนวนที่ 1 แต่อันที่จริงแล้ว สมเด็จพระเจ้าเสือทรงมีพระราชกรณียกิจอื่น ๆ และเหตุการณ์ต่างในรัชกาลอีก ซึ่งบางเรื่องก็ให้ข้อมูลสับสนกันเอง
ผมสำรวจข้อมูลพบว่า มีเอกสารฝ่ายไทยประเภทพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอยู่ 4 กลุ่ม ที่ให้เรื่องราวช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ ได้แก่ (1) “ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” (2) “ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)” (3) “ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์” และ “ฉบับบริติชมิวเซียม” ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกัน และ (4) “คำให้การชาวกรุงเก่า” ทั้งนี้ ผมตัด “ฉบับพระราชหัตถเลขา” ออก เพราะเนื้อหาของฉบับนี้โดยหลักแล้ว ชำระมาจาก “ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์”
อนึ่ง หากพิจารณาโครงสร้างเนื้อหาของพระราชพงศาวดารแต่ละฉบับที่เกี่ยวข้องแล้วจะพบว่า ฉบับที่เรียกได้ว่า “ความพิสดาร” นั่นคือ มีรายละเอียดมาก ซึ่งเขียนในลักษณะทั้ง “พรรณนาเหตุการณ์โดยบุคคลที่สาม” และ “เล่าแบบบทพูดของตัวละคร” ได้แก่ “ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์” และ “ฉบับบริติชมิวเซียม” ส่วนเนื้อหาของ “ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” กับ “ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)” นั่น เรียบเรียงขึ้นในลักษณะย่นย่อกว่า แต่ในบางประเด็นก็กล่าวโดยละเอียด เช่น “ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” ระบุรายละเอียดขบวนเสด็จของสมเด็จพระเจ้าเสือเมื่อครั้งไปนมัสการรอยพระพุทธบาท สระบุรี หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระเพทราชา สำหรับ “คำให้การชาวกรุงเก่า” นั้น เรียกพระองค์ว่า “พระสุริเยนทราธิบดี” ซึ่งต่างไปจากเอกสารอื่น ที่เรียกพระองค์เพียง “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และมีบางข้อมูลในแต่ละเอกสารที่เป็นเรื่องราวเดียวกัน แต่กลับมีความสับสนเรื่องลำดับเวลา เช่นเรื่อง “สำเร็จโทษพระขวัญ” กับ “ปราบกบฏอ้ายธรรมเถียร” ซึ่ง “คำให้การชาวกรุงเก่า” ระบุว่าเกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ แต่ “ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์” ระบุว่าเกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา เป็นต้น รวมไปถึงมีข้อมูลที่ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่นด้วย เช่น “เรื่องศรีปราชญ์” ใน “คำให้การชาวกรุงเก่า” กระนั้น ตอนหนึ่งของเรื่องศรีปราชญ์ดำเนินเรื่องในเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งถือได้ว่าเป็น “อนุภาค” (motif) ที่ใช้พื้นที่ตรงกันกับ “เรื่องปราบกบฏหม่อมเดโชเจ้าเมืองนคร” ใน “ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)” ด้วยเหตุนี้ การสังเคราะห์ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือจึงต้องกระทำอย่างระมัดระวัง เพราะแหล่งข้อมูลแต่ละแหล่งให้ข้อมูลแตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำข้อมูลแต่ละแหล่งมาเล่าเป็นเรื่องเดียวกันได้โดยสนิท เว้นเสียแต่ว่า การเล่าข้อมูลนั้น ๆ ต้องบอกแหล่งข้อมูลว่า เอกสารใดว่าอย่างไร
ผมขอกลับมาที่ประเด็นหลักของบทความนี้ และถือเป็นการนำเสนอข้อมูลพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ของรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ นั่นคือประเด็นที่ว่า รัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือเริ่มต้นในปีใด และสิ้นสุดในปีใด เหตุที่ผมต้องนำเสนอเรื่องนี้เพราะหากดูข้อมูลเอกสารฝ่ายไทยแล้ว จะพบว่า ข้อมูลแต่ละแหล่งให้ไว้ไม่ตรงกัน แต่กระนั้น ก็มีนัยยะบางประการที่สอดคล้องกัน ดังนั้น เพื่อให้เห็นช่วงเวลาที่แตกต่างกันของเอกสารแต่ละเรื่อง ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลปีขึ้นครองราชย์ และปีสิ้นสุดรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าเสือดังนี้
1. “ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” (กรมศิลปากร 2507: 416, 441 & 445) ในเอกสารนี้มี 2 สำนวน1
ปีครองราชย์ (สำนวนที่ 1): จุลศักราช 1059 ปีฉลูนพศก (พ.ศ. 2240/2241)[2]
ปีสวรรคต (สำนวนที่ 1): ไม่มี
ปีครองราชย์ (สำนวนที่ 2): จุลศักราช 1062 ปีมะเมียโทศก (พ.ศ.2243/2244)
ปีสวรรคต (สำนวนที่ 2): จุลศักราช 1067 ปีชวดสัปตศก (พ.ศ. 2248/2249)
เสวยราชสมบัติ: ไม่ระบุ (หากนับตามจุลศักราชได้ 6 ปี แต่หากนับตามนักษัตรได้ 7 ปี)
2. “ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)” (กรมศิลปากร 2507: 939 & 941)
ปีครองราชย์: จุลศักราช 1065 ปีมะแมเบญจศก (พ.ศ. 2246/2247)
ปีสวรรคต: จุลศักราช 1077 ปีมะแมสัปตศก (พ.ศ. 2258/2259)
เสวยราชสมบัติ: 7 ปี (แม้เอกสารระบุว่า 7 ปี แต่เมื่อดู จ.ศ. กลับไม่ตรงเพราะนับได้ 13 ปี นั่นคือ จ.ศ. 1065-1077; หากนับ 7 ปี จะตรงกับ จ.ศ. 1071)
3. “ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์” และ “ฉบับบริติชมิวเซียม” (ศานติ ภักดีคำ (บก.) 2558: 276-277 & 291; กรมศิลปากร 2537: 290 & 306)
ปีครองราชย์: เดือนสี่ จุลศักราช 1059 ปีฉลูนพศก (พ.ศ. 2241; เนื่องจากเลยเดือนมกราคมมาแล้ว จึงบวก 1 นั่นคือ 1059+1181+1 = 2241)
ปีสวรรคต: เดือนหก จุลศักราช 1068 ปีจออัฐศก (พ.ศ. 2249)
เสวยราชสมบัติ: 9 ปีเศษ (นับ จ.ศ. 1059 เป็นปีที่ 1 และปี 1068 เป็นเศษ)
4. “คำให้การชาวกรุงเก่า” (กรมศิลปากร 2515: 129 & 136)
ปีครองราชย์: วันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนหก จุลศักราช 1063 (พ.ศ. 2244)
ปีสวรรคต: จุลศักราช 1069 (พ.ศ. 2250/2251)
เสวยราชสมบัติ: 7 ปี
จากข้อมูลข้างต้นนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า การกำหนดอายุรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือนั้น มีความสับสนมากทั้งเรื่องปีเริ่มต้น ปีสิ้นสุด และจำนวนปีที่ครองราชย์ ในประเด็นที่ว่าจะใช้เกณฑ์ของเอกสารใด แต่กระนั้น คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ได้วินิจฉัยว่า สมเด็จพระเจ้าเสือทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2246 – 2251 รวม 6 ปี (กรมศิลปากร 2542: 375) ซึ่งเป็นการจัดทำข้อมูลแบบสรุป จึงไม่มีคำอธิบายว่าช่วงรัชกาลนี้ ได้มาจากการวิเคราะห์อย่างไร3 อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า ปีเริ่มรัชกาลคือ “พ.ศ. 2246” ตรงกับข้อมูลของ “ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)” ส่วนปีสิ้นสุดรัชกาลนั้น ไม่ตรงกับเอกสารใดเลย แต่ใกล้เคียงที่สุดคือ “พ.ศ. 2250/2251” ใน “คำให้การชาวกรุงเก่า”
อนึ่ง ผมได้อ่านหนังสือ “เปิดกรุหลักฐานอยุธยา: หลากหลาย ลุ่มลึกและท้าทาย” ของ วรพร ภู่พงศ์พันธุ์ (2565) ซึ่งผู้เขียนได้ชี้ให้ผมเห็นข้อมูลสำคัญว่า เอกสารญี่ปุ่นชื่อ “โทเซ็ง ฟูเซ็ตซึกะกิ” (Tōsen fūsetsu-gaki) หรือที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า “คำให้การลูกเรือสำเภาจีน” นั้น (แต่ผมจะขอแปลตามชื่อภาษาญี่ปุ่นเป็น “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน”) ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อแวดวง “อยุธยาคดี” ไว้หลายประเด็นทั้งในเรื่องของการรายงานสถานการณ์บ้านเมืองสำคัญ ๆ คือ (1) เหตุการณ์ปฏิวัติในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2231 / ค.ศ. 1688) (2) รายงานการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าเสือ และสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และ (3) ความวุ่นวายภายในเขมร ปัตตานี และนครศรีธรรมราช (ดู วรพร 2565: 115-122) นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับข้อมูลทางการค้าและสภาพสังคมอยุธยาอีกด้วย (ดู วรพร 2565: 122-140) สำหรับประเด็นเกี่ยวกับปีครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าเสือนั้น “โทเซ็ง ฟูเซ็ตซึกะกิ” ให้ข้อมูลว่า ทรงครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1703 – 1709 ตรงกับ พ.ศ. 2246 (มะแม) – 2252 (ฉลู) ซึ่งสังเกตได้ว่า ปีสิ้นสุดรัชกาลนั้น ต่างจากที่คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยอยู่ 1 ปี ที่ว่าสวรรคตในปี “ชวด”
เพื่อให้การสืบสวนปีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าเสือเป็นไปอย่างมีระบบ ผมจึงขอเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจชื่อเอกสาร “โทเซ็ง ฟูเซ็ตซึกะกิ” และคุณลักษณะของเอกสารนี้เสียก่อน จากนั้น ผมจะนำเสนอบทแปลที่เกี่ยวข้องกับปีขึ้นครองราชย์และปีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าเสือ
เอกสารชิ้นนี้เป็นเอกสารของญี่ปุ่นที่เขียนด้วยตัวคันจิว่า 唐船風説書 ซึ่งตรงกับตัวโรมันจิ Tōsen fūsetsu-gakiอ่าน “โทเซ็ง ฟูเซ็ตซึกะกิ” ทั้งนี้
唐船 (Tōsen) หมายถึง สำเภาจีน; ความหมายตามอักษร: “เรือ(วงศ์)ถัง” “เรือ(ชาว)ถัง”
風説 (fūsetsu) หมายถึง คำเล่าลือ ข่าวลือ เรื่องราวที่ได้ยินมา; ความหมายตามอักษร “คำเล่าลอยลม”
書 (gaki) หมายถึง การเขียน บันทึก; ความหมายตามอักษร “หนังสือ”
หากแปลตามศัพท์คือ “บันทึก-ข่าวลือ-สำเภาจีน” แต่เพื่อให้เป็นชื่อเหมาะสมกับความหมายภาษาไทย ผมจึงขอแปลชื่อเอกสารนี้โดยเสริมคำว่า “จาก” ให้เป็นชื่อหนังสือว่า
“บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน”
ที่มาของเอกสารชุดนี้ เกิดจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของโชกุนตระกูลโทกุกะวะ มีนโยบายปิดประเทศ ทำให้เรือต่างชาติที่เข้ามาค้าขายถูกจำกัดให้เทียบท่าเฉพาะที่เมืองนางาซากิ และเรือทุกลำต้องให้ข้อมูลว่า เดินทางมาจากที่ใด ใครเป็นนายเรือ (ไต้ก๋ง) แวะที่ใดมาบ้าง ระหว่างทางประสบปัญหาอะไร รู้เรื่องเรือลำอื่นที่จะเข้ามานางาซากิบ้างหรือไม่ และที่สำคัญคือต้องให้ข้อมูลว่า สถานการณ์บ้านเมืองของเมืองที่เรือลำนั้นจากมาเป็นเช่นใด ข้อมูลเหล่านี้ครอบคลุมช่วงเวลากว่า 50 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1674 – 1724 (พ.ศ. 2217 – 2267) (ดู วรพร 2565: 108; Ishii (ed.) 1998: 6)
ด้วยเหตุนี้ ร่องรอยสถานการณ์บ้านเมืองของสยาม จึงปรากฏอยู่ในเอกสารประเภท “บันทึกคำเล่าลือ” ดังกล่าว ทั้งนี้ หากเป็น “เรือจีน” หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “โทเซ็ง” ก็จะถูกบันทึกไว้เป็นเอกสารเรียกว่า “โทเซ็ง ฟูเซ็ตซึกะกิ” (唐船風説書) หรือ “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน” อันมีเรื่องราวของสยาม นครศรีธรรมราช และปัตตานี ปะปนอยู่ แต่ถ้าเป็นเรือฮอลันดา กัปตันเรือชาวดัทช์ก็ต้องให้ข้อมูลทำนองเดียว แต่จะถูกบันทึกไว้เป็นเอกสารอีกชุดเรียกว่า “โอะรังดะ ฟูเซ็ตซึกะกิ” (阿蘭陀風説書)4 หรือ “บันทึกคำเล่าลือจากฮอลันดา”
เนื้อหาที่อ้างถึงสยามใน “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน” นั้น มีทั้งหมด 66 ฉบับ เริ่มจากเรือที่เข้าเทียบท่าที่เมืองนางาซากิเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1679 (พ.ศ. 2222) ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงฉบับสุดท้ายลงวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1728 (พ.ศ. 2271) ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (วรพร 2565: 111) ที่ผ่านมามีการแปลเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสยามเป็นภาษาไทยและตีพิมพ์เผยแพร่แล้วในชื่อเรื่อง “การค้าสำเภาจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งรวมอยู่ใน “ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 14” (กรมศิลปากร 2560)
สำหรับข้อมูลสำคัญอันเกี่ยวข้องกับปีขึ้นครองราชย์และปีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าเสือนี้5 ผมคัดเลือกแปลเป็นภาษาไทยจากบทแปลภาษาอังกฤษของ อิชี โยะเนะโอะ (Ishii Yoneo) ซึ่งเป็น “คำเล่าลือ” จากเรือลำที่ 69 ลงวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1703 (Ishii (ed.) 1998: 82-83) และจากเรือลำที่ 37 ลงวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1710 (Ishii (ed.) 1998: 89-90) ดังนี้
(1) บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน
1-49 เรือลำที่ 69
20 สิงหาคม ค.ศ. 1703 (พ.ศ. 2246)
เรือเราได้รับราชภารกิจมาจากราชาแห่งสยาม6. เราออกจากสยามวันที่ 19 เดือนห้า [= 2 กรกฎาคม] ปีนี้ พร้อมคนบนเรือ 77 คน เป็นชาวจีน 74 คน ชาวสยาม 3 คน. ก่อนหน้าเรา, มีเรือสองลำรับภารกิจมาจากราชาแห่งสยามให้เข้ามาเทียบท่าที่เมืองนางาซากิ. ที่นี่มีคนบอกเราว่า เรือทั้งสองลำนั้นยังมาไม่ถึง. พวกเขาอาจล้าช้าเพราะลมพายุใหญ่. เรือสินค้าประมาณสิบลำจากหลายมณฑลแห่ง[แผ่นดิน]ชิงหลวง เข้ามาค้าขายในสยาม แลจากนั้นก็กลับบ้านเมืองตน. เรือบางลำในกลุ่มนั้น อาจกำลังมาที่นี่. เราไม่มีข่าวคราวเกี่ยวกับเรือสินค้าที่มาจากประเทศราชของสยาม. มีเมืองท่าสองสามเมือง[ในหมู่ประเทศราชของสยาม] แลเรือบางลำก็อาจจะกำลังแล่นมาที่นี่ โดยที่พวกเรามิล่วงรู้มาก่อน. ระหว่างการเดินทางของเรา ลมมิเป็นใจนัก ทำให้เราเสียเวลาหลายวันอยู่ในท้องทะเล. วันที่ 22 เดือนหก, เราติดอยู่ในพายุแลลำบากยิ่งนัก. เราจำต้องโยนสินค้า[ที่อยู่]ส่วนบนทิ้งลงทะเล แลปล่อยเรือให้ล่องลอยไป ด้วยยังเชื่อในโชค[ของเรา]. ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์, เราจบการเดินทางนี้โดยสวัสดิภาพ. เรามิได้หยุดแวะที่อื่นใดในญี่ปุ่น แลมุ่งตรงเข้ามาที่นี่. การเดินทางนี้ เป็นการเดินทางเข้ามาญี่ปุ่นครั้งแรกของทั้งนายเรือ กัว หลงกวน และเรือของเรา.
ในฤดูใบไม้ผลิของปีนี้, ราชาองค์ใหม่ขึ้นครองราชบัลลังก์สยาม แลแผ่นดินก็สงบสุขอย่างที่เป็นมา. ความสงบยังบังเกิดในหมู่ประเทศราชอีกด้วย. เราได้ยินมาว่า มีจลาจลอยู่บ้างในกว่างหนาน และในเมืองนคร เมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา. ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้สงบลงแล้วอย่างรวดเร็ว แต่เราก็ไม่มีรายละเอียด[เกี่ยวกับเรื่องนี้]. เรือฮอลันดา 2 ลำ จากเมืองกาหลาป๋า เข้าไปในสยาม. หลังจากบรรทุกสินค้าแล้ว พวกเขามุ่งหวังจะมาที่นี่. ในเมืองกาหลาป๋าไม่มีความผิดปกติใด. เราไม่มีข่าวสารเกี่ยวกับ[แผ่นดิน]ชิงหลวง ซึ่งอยู่ห่างไกล[เรา]. เรามิมีสิ่งอื่นใดอีกแล้ว ที่จะรายงานท่าน.
วันที่ 8 เดือนเจ็ด, มะแมศก. [แปลโดย ตรงใจ หุตางกูร 2566, จาก Ishii (ed.) 1998: 82-83]
อธิบาย:
ราชาแห่งสยาม, ในที่นี่คือ สมเด็จพระเจ้าเสือ.
ชาวจีน, ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้ทับศัพท์ว่า tôjin ซึ่งตรงกับคันจิว่า 唐人 (โทจิน) ทั้งนี้เพราะภาษาญี่ปุ่นโบราณใช้ชื่อราชวงศ์ “ถัง” (唐) ให้หมายถึง “ชาวจีน” ได้อีกความหมายหนึ่ง และในบางบริบทก็ใช้เรียกชาวต่างชาติอีกด้วย (Wiktionary 2023b: 唐)
สยาม, หมายถึง อยุธยา คันจิใช้ตามภาษาจีนคือ 暹羅 (จีนกลาง: เซียนหลัว; กวางตุ้ง: ชิมหล่อ; แต้จิ๋ว: เซี้ยมล้อ) แต่ออกเสียงแบบญี่ปุ่นว่า “เซ็งระ”.
กัว หลงกวน, ฉบับภาษาอังกฤษใช้ Guo Longguan ซึ่งถอดเสียงจากอักษรจีน 郭隆官 (Holroyd 2018: 216) ตรงกับพินอิน Guō Lóngguān.
ฤดูใบไม้ผลิ, ตามปฏิทินจีนตรงกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน.
ราชาองค์ใหม่, หมายถึง สมเด็จพระเจ้าเสือ ดังนั้น ข้อมูลนี้ยืนยันว่า พระองค์ครองราชย์ เมื่อ ค.ศ. 1703 ตรงกับ พ.ศ. 2246 (ไทยสากล)
กว่างหนาน, ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้ Guangnan ตรงกับอักษรจีน 廣南(Guǎngnán) ปัจจุบันตรงกับจังหวัดกว๋างนาม (Quảng Nam) ของประเทศเวียดนาม ซึ่งมีท่าค้าขายสำคัญคือเมืองฮอยอัน.
เมืองนคร, คือ นครศรีธรรมราช ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้ Ligor ซึ่งโดยทั่วไปตรงกับอักษรจีน 洛坤 [จีนกลาง: หลั้วคุน; กวางตุ้ง: ลกควั้น; แต้จิ๋ว: ลกคุง]
เมืองกาหลาป๋า, ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้ Kelapa หมายถึง เมืองบาตาเวีย (Batavia) ของฮอลันดา ซึ่งปัจจุบันตรงกับเมืองจาการ์ตา ของประเทศอินโดนีเซีย; คำว่า Kelapa ตามภาษามลายูนั้นแปลว่า “มะพร้าว”.
ชิงหลวง, ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้ “the Great Qing” หมายถึง ราชวงศ์ชิงอันยิ่งใหญ่ เข้าใจว่าตัวคันจิใช้ตามอักษรจีนคือ 大清 (จีนกลาง: ต้าชิง) แปลตามศัพท์คือ ชิงใหญ่ ชิงอันยิ่งใหญ่ ดังนั้น ผมจึงขอแปลว่า “ชิงหลวง” (หลวง แปลว่า ใหญ่) อย่างไรก็ตาม ความหมายโดยนัยยะตามบริบทนี้คือ จักรวรรดิจีนสมัยราชวงศ์ชิงปกครอง ดังนั้น จึงขอแปลโดยเสริมคำ “แผ่นดิน” จึงได้คำแปลว่า แผ่นดินชิงหลวง.
(2) บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน
1-58 เรือลำที่ 37
วันที่ 10 สิงหาคม 1710 (พ.ศ. 2253)
เรือของเราได้รับภารกิจมาจากราชาแห่งสยาม. เมื่อวันที่ 2 เดือนหก [28 มิถุนายน] ปีนี้ เราออกจากสยามพร้อมคนบนเรือ 70 คน เป็นชาวจีน 67 คน ชาวสยาม 3 คน. ขณะที่เรากำลังจะออกจากท่าเรือนั้น เราเห็นเรืออีกลำมีสินค้าบนเรือ แลกำลังจะออกเรือตามเรามาจากสยาม. เมื่อเรือลำนั้นบรรจุสินค้าเสร็จ ก็คงออกมาโดยทันที. มีเรือหลายลำมาจาก[แผ่นดิน]ชิงหลวงเข้ามาค้าขายในสยาม. กระนั้น[เมื่อค้าขายเสร็จ] พวกเขาย่อมแล่นกลับบ้านเมืองตน. มีเรือฮอลันดาลำหนึ่ง [แล่น]มาจากเมืองกาหลาป๋า แลมาถึงเมืองสยามก่อนหน้าเราออกเดินทาง 2 วัน. เราคิดว่า เรือลำนั้นคงออกจากที่นั่นในกลางเดือนหก[เพื่อแล่นต่อมาที่ญี่ปุ่น]. ในการเดินทางครั้งล่าสุดของเรานั้น มิมีสิ่งใด[ที่ผิดปกติ]เกิดขึ้นในทะเล, แลโดยมิได้หยุดพัก ณ ที่ใดในญี่ปุ่น วันนี้ เราจึงแล่นตรงเข้ามาถึงที่นี่. สิว เสียกวน [ผู้เป็น]นายเรือของเรา เคยมาที่นี่แล้วเมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่ง[ตอนนั้นเขา]เป็นเจ้าหน้าที่การเงินบนเรือลำที่ 52. เรือเราเดินทางมาญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นครั้งแรก.
ราชาแห่งสยามสิ้นพระชนม์ปีที่แล้ว [ค.ศ. 1709]. ตอนนี้เรามีราชาองค์ใหม่ ทรงปกครองได้อย่างดีเลิศ แลทรงเมตตากรุณาต่อราษฎรของพระองค์. ไม่เพียงแต่สยามเท่านั้น แต่เหล่าประเทศราช[ของสยาม]ต่างก็สงบสุขด้วยเช่นกัน. ก่อนหน้านี้ เราได้ยินมาว่า มีเรือลำหนึ่ง กำลังจะออกมาจากกัมพูชา. บัดนี้ มีผู้บอกเราว่า เรือลำนั้นได้มาถึงเรียบร้อยแล้ว. เราไม่ได้ยินข่าวใดเกี่ยวกับเรือที่มาจากบรรดาประเทศ “ตอนใน”. เรามิมีเรื่องอื่นใดที่จะรายงานท่านอีกแล้ว.
วันที่ 16 เดือนเจ็ด, ปีขาล. [แปลโดย ตรงใจ หุตางกูร 2566, จาก Ishii (ed.) 1998: 89-90]
อธิบาย:
สิว เสียกวน, ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้ Xu Xiaguan ถอดเสียงจากอักษรจีน 徐轄官 (Holroyd 2018: 217) ตรงกับพินอิน Xú Xiáguān.
ราชาองค์ใหม่, หมายถึง สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระเจ้าเสือ ข้อมูลนี้จึงยืนยันว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระปกครองอยุธยาแล้วใน ค.ศ. 1710 (พ.ศ. 2253) โดยเสวยราชย์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งก็ควรหมายถึงภายใน ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252).
ภาพสำเภาจีน
อภิปรายปีครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าเสือ
ข้อเท็จจริงของปีขึ้นครองราชย์ใน “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน” คือ สมเด็จพระเจ้าเสือเสวยราชย์ในฤดูใบไม้ผลิปีมะแม(ตามปฏิทินจีน) ของ ค.ศ. 1703 (พ.ศ. 2246 / ปลาย จ.ศ. 1064 หรือ ต้น จ.ศ. 1065) ดังนั้น จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อดังนี้
(1) ความสอดคล้องกับวันเดือนปีของเอกสารฝ่ายไทย
(1.1) “ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” สำนวนที่ 1 ว่าครองราชย์ จ.ศ. 1059 ฉลูนพศก (พ.ศ. 2240/2241)
ผลลัพธ์: ไม่สอดคล้อง เพราะ “ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” คลาดเคลื่อนเกิดก่อนเหตุการณ์จริง 6 ปี และนักษัตรไม่ตรง ดังนั้น ข้อมูลนี้จึง “ไม่น่าเชื่อถือ”
(1.2) “ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” สำนวนที่ 2 ว่าครองราชย์ จ.ศ. 1062 มะเมียโทศก (พ.ศ.2243/2244)
ผลลัพธ์: ไม่สอดคล้อง เพราะจุลศักราชกับนักษัตรของเอกสารนี้ไม่ตรงกัน กล่าวคือ จ.ศ. 1062 ต้องเป็นนักษัตร “มะโรง” หากเป็นนักษัตร “มะเมีย” จะตรงกับ จ.ศ. 1064 ซึ่งอาจพิจารณาว่าเป็นปลาย จ.ศ. 1064 ได้ คือ ตรงกับช่วงต้น พ.ศ. 2246 อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลคลาดเคลื่อนตั้งแต่ความถูกต้องระหว่างจุลศักราชกับนักษัตร ดังนั้น ข้อมูลนี้จึง “ไม่น่าเชื่อถือ”
(1.3) “ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)” ว่าครองราชย์ จ.ศ. 1065 มะแมเบญจศก (พ.ศ. 2246/2247)
ผลลัพธ์: สอดคล้อง เพราะปีนักษัตรตรงกันคือปีมะแม ทำให้จุลศักราชตรงกันคือ จ.ศ. 1065 จึงเป็นไปได้ว่าหมายถึงช่วง “ต้น จ.ศ. 1065” ดังนั้น วันเดือนปีของข้อมูลนี้จึง “น่าเชื่อถือ” และช่วยให้จำกัดช่วงเดือนมาได้ด้วยว่า วันขึ้นครองราชย์ต้องเป็นช่วงทับซ้อนกันระหว่างข้อมูล 2 ชุด คือ (1) ช่วงเวลาฤดูใบไม้ผลิตามปฏิทินจีน กับ (2) ช่วงเวลาตั้งแต่วันเถลิงศก จ.ศ. 1065 ถึงวันสิ้นสุดฤดูใบไม้ผลิตามปฏิทินจีน
(1.4) “ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์” และ “ฉบับบริติชมิวเซียม” ว่าครองราชย์ เดือนสี่ จุลศักราช 1059 ปีฉลูนพศก ตรงกับ พ.ศ. 2241 เพราะเนื่องจากเลยเดือนมกราคมมาแล้ว จึงต้องเป็น 2240 + 1
ผลลัพธ์: ไม่สอดคล้อง เพราะว่า แม้เดือนสี่ (ราวเดือนมีนาคม) จะยังอยู่ในฤดูใบไม้ผลิ (ราวเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน) แต่ปีนักษัตรไม่ตรง และจุลศักราชคลาดเคลื่อนเกิดก่อน 6 ปี ข้อมูลนี้จึง “ไม่น่าเชื่อถือ”
(1.5) “คำให้การชาวกรุงเก่า” ว่าครองราชย์ วันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนหก จุลศักราช 1063 (พ.ศ. 2244)
ผลลัพธ์: ไม่สอดคล้อง เพราะว่า จุลศักราชคลาดเคลื่อนเกิดก่อน 2 ปี และเกิดขึ้นในเดือนหก (ราวเดือนพฤษภาคม) ซึ่งเลยฤดูใบไม้ผลิมาแล้ว ข้อมูลนี้จึง “ไม่น่าเชื่อถือ”
สรุปผล: เอกสารฝ่ายไทยที่ให้ปีเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าเสือตรงกับ “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน” คือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา “ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)”
(2) ช่วงเวลาที่เป็นไปได้ในการขึ้นครองราชย์
(2.1) ระยะเวลาของฤดูใบไม้ผลิตามปฏิทินจีน: โลกทัศน์จีนเกี่ยวกับฤดูกาลของโลกนั้น ชาวจีนมองว่า องศาที่เปลี่ยนไปของดวงอาทิตย์ที่กระทำต่อโลกในรอบ 1 ปี ก่อให้เกิดภูมิอากาศที่แตกต่างกัน 24 แบบ ดังนั้น ชาวจีนจึงแบ่งลักษณะภูมิอากาศออกเป็น 24 ส่วน ซึ่งเรียกตามภาษาจีนว่า 二十四節氣 (èrshísì jiéqì - เอ้อสือสื้อ เจี๋ยฉี้) แปลตามศัพท์ได้ว่า “ฤดูอากาศ 24 ส่วน” หรือภาษาอังกฤษใช้ว่า “24 solar terms” โดยมีฤดูกาลหลัก 4 ฤดู คือ ใบไม้ผลิ ร้อน ใบไม้ร่วง และ หนาว และแต่ละฤดูหลักประกอบด้วยฤดูย่อย 6 ส่วน ดังนั้น ในรอบ 1 ปี โลกจึงมีฤดูกาลรวมกัน 24 ฤดูย่อย สำหรับช่วงเวลาฤดูใบไม้ผลินั้น โดยทั่วไปเริ่มต้นวันที่ 4 หรือ 5 กุมภาพันธ์ และสิ้นสุดวันที่ 4 หรือ 5 พฤษภาคม (ดู Wikipedia 2023b: Solar Term) หรือกล่าวอย่างง่ายว่า อยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนก็ย่อมได้ ดังนั้น จากข้อเท็จจริงที่ว่า สมเด็จพระเจ้าเสือเสวยราชย์ในฤดูใบไม้ผลิ ก็ทำให้เราทราบได้ว่า พระองค์ต้องเสวยราชย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ค.ศ. 1703 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2246 ซึ่งคาบเกี่ยวช่วงเปลี่ยนจุลศักราชตั้งแต่ “จ.ศ. 1064 มะเมียจัตวาศก” ถึง “จ.ศ. 1065 มะแมเบญจศก”
(2.2) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา “ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)” ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็น “จุลศักราช 1065 มะแมเบญจศก” ดังนั้น หากใช้เกณฑ์ตามนี้ เราสามารถตัดช่วงเวลาก่อนวันเถลิงศกจุลศักราช 1065 ออกไปได้ จากตำราปฏิทินจันทรคติของ ทองเจือ อ่างแก้ว (2516: 146) กำหนดให้วันเถลิงศกจุลศักราช 1065 ตรงกับ วันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือนห้า และตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1703 (พ.ศ. 2246) ตามปฏิทินจูเลียน และเมื่อปรับเทียบให้เป็นตามปฏิทินเกรกอเรียนแล้ว (คือปฏิทินปัจจุบัน) ได้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1703 (พ.ศ. 2246) (Walker 2015)
สรุปผล: เมื่อนำข้อมูลนี้มาประกอบกับข้อมูลที่ทราบว่าฤดูใบไม้ผลิตามปฏิทินจีนสิ้นสุดราววันที่ 4 หรือ 5 พฤษภาคมแล้ว ย่อมกล่าวได้ว่า ช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าเสือเสวยราชย์ควรอยู่ช่วงระหว่าง วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน – 4/5 พฤษภาคม ค.ศ. 1703 (พ.ศ. 2246) หรือกล่าวอย่างกว้างได้ว่า สมเด็จพระเจ้าเสือทรงขึ้นครองราชย์ในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายน พ.ศ. 2246
อภิปรายปีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าเสือ
ข้อเท็จจริงของปีสวรรคตใน “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน” คือ สมเด็จพระเจ้าเสือสวรรคตใน ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252) โดยมีจุดอ้างอิงจากบันทึกคำบอกเล่าลงวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1710 (พ.ศ. 2253) ปีขาล ที่ว่า พระองค์สวรรคตเมื่อ “ปีที่แล้ว” ซึ่งเป็นช่วงเวลากว้างมาก เพราะเป็นไปได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มฤดูใบไม้ผลิคือในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1709 ถึงสิ้นสุดฤดูหนาวคือในเดือนมกราคม ค.ศ. 1710 เทียบได้กับช่วงปลายจุลศักราช 1070 ปีชวด ถึงจุลศักราช 1071 ปีฉลู ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลกับเอกสารฝ่ายไทย จึงมีประเด็นที่ต้องพึงพิจารณาดังต่อไปนี้
(1) ความสอดคล้องกับวันเดือนปีของเอกสารฝ่ายไทย
(1.1) “ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” สำนวนที่ 2 ว่าสวรรคต จ.ศ. 1067 ชวดสัปตศก (พ.ศ. 2248/2249)
ผลลัพธ์: ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน เพราะจุลศักราชกับนักษัตรของเอกสารนี้ไม่ตรงกันเอง กล่าวคือ จ.ศ. 1067 ตรงกับนักษัตร “ระกา” แต่หากเป็นปีชวด ก็จะตรงกับจุลศักราช 1070 ซึ่งหากเป็นปีชวด 1070 ก็น่าสนใจเพราะอยู่ในช่วงเวลาที่เป็นไปได้คือระหว่าง จ.ศ. 1070 ปีชวด – 1071 ปีฉลู อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว ข้อมูลของเอกสารนี้ “ยังไม่น่าเชื่อถือ” อนึ่ง น่าสนใจว่า หากพิจารณาเฉพาะช่วงปีครองราชย์แล้ว แม้ “ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” สำนวนที่ 2 ไม่ได้ให้เลขไว้ แต่ก็นับจำนวนปีจุลศักราชได้ 6 ปี แต่ถ้านับจำนวนนักษัตรคือจาก “มะเมีย” ถึง “ชวด” ได้ 7 ปี ตรงตามข้อเท็จจริง
(1.2) “ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)” ว่าสวรรคต จ.ศ. 1077 มะแมสัปตศก (พ.ศ. 2258/2259)
ผลลัพธ์: ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน เพราะทั้งจุลศักราชและนักษัตรไม่ตรงกัน ข้อมูลนี้จึง “ไม่น่าเชื่อถือ” แม้ว่าปีขึ้นครองราชย์ของเอกสารนี้ตรงกับข้อเท็จจริงคือ ค.ศ. 1703 (พ.ศ. 2246) แต่เมื่อนำมาคำนวณหาจำนวนปีครองราชย์แล้วพบว่า ปีสวรรคตของเอกสารนี้ต้องมีความผิดพลาด เพราะหากพระองค์สวรรคต ค.ศ. 1715 (พ.ศ. 2258) แล้ว พระองค์จะครองราชย์ยาวนานถึง 13 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงจาก “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน” ที่นับได้เพียง 7 ปีเท่านั้น แต่ทว่า เมื่อดูข้อมูลจำนวนปีครองราชย์แล้ว พบว่า เอกสารนี้กลับเขียนระบุไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าเสือเสวยราชย์ “7 ปี” ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงที่ได้จาก “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน” นั่นคือระหว่าง ค.ศ. 1703 – 1709 (พ.ศ. 2246 – 2252) โดยนับปีแรกเป็นปีที่ 1 ในรัชกาล ก็จะได้ 7 ปี ตรงกัน ดังนั้น “ข้อมูลที่เชื่อถือได้” ของเอกสารนี้คือ จำนวนปีครองราชย์
(1.3) “ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์”/ “ฉบับบริติชมิวเซียม” ว่าสวรรคต เดือนหก จ.ศ. 1068 จออัฐศก (พ.ศ. 2249)
ผลลัพธ์: ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือ ข้อมูลชุดนี้ ให้นักษัตรและจุลศักราชคลาดเคลื่อนก่อนเกิดเหตุการณ์ 3 ปี อีกทั้งจำนวนปีเสวยราชสมบัติก็ไม่ตรง กล่าวคือ ข้อมูลชุดนี้ให้ไว้ “9 ปีเศษ” ในขณะที่ข้อเท็จจริงคือ 7 ปี ดังนั้น ข้อมูลชุดนี้จึง “ไม่น่าเชื่อถือ” อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาว่า ข้อมูลชุดนี้ “ให้ปีผิด” แต่เดือนถูกต้องตามเหตุการณ์ นั่นคือ เหตุการณ์ก่อนสิ้นพระชนม์นั้น เริ่มตั้งแต่เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทในเดือนมาฆะ คือ “เดือนสาม” จากนั้นเสด็จประพาสล้อมช้างและทรงประชวร จึงเสด็จกลับพระนคร อาการประชวรกำเริบถึงแก่ชีวิต และสวรรคตใน “เดือนหก” (ดู ศานติ ภักดีคำ (บก.) 2558: 276-277 & 289-291) เพราะฉะนั้น หากพิจารณาว่า “เดือนถูก แต่ปีผิด” ก็อาจสังเคราะห์ปีสวรรคตได้เป็น “เดือนหก จ.ศ. 1071 ปีฉลูเอกศก” ตรงกับช่วงเวลาระหว่าง 11 เมษายน - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2252 (คำนวณจากวันเถลิงศก จ.ศ. 1071 ของ ทองเจือ 2516: 146) แต่ช่วงเวลานี้ ก็ไม่สอดคล้องกับข้อมูลอีกชุดใน “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน” ซึ่งจะนำเสนอต่อไป
(1.4) “คำให้การชาวกรุงเก่า” ว่าสวรรคต จ.ศ. 1069 (พ.ศ. 2250/2251)
ผลลัพธ์: ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือ เอกสารนี้ให้ปีหย่อนไป 2 ปี และไม่ระบุนักษัตร แต่กระนั้น “คำให้การชาวกรุงเก่า” กลับให้จำนวนปีครองราชย์ตรงกับข้อเท็จจริงคือ 7 ปี ดังนั้น ข้อมูลชุดนี้จึงมีส่วนที่ “ไม่น่าเชื่อถือ” คือ จุลศักราช แต่มี “ข้อมูลที่เชื่อถือได้” คือ จำนวนปีครองราชย์
สรุปผล: ไม่มีเอกสารฝ่ายไทยชิ้นใดที่ให้ข้อมูลตรงตามข้อเท็จจริง แต่มีข้อมูลบางประเด็นเท่านั้น ที่ตรงตามข้อเท็จจริง กล่าวคือ จำนวนปีครองราชย์ที่ “ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) กับ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ให้ไว้ตรงกันและตรงกับข้อเท็จจริงใน “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน” นั่นคือ “7 ปี”
(2) วันเดือนปีสุดท้ายก่อนสิ้นพระชนม์
หากย้อนข้อมูลของ “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน” กลับไปก่อนหน้าเรือที่มีข้อมูลสวรรคต เราจะพบข้อมูลของเรือลำที่ 53 ลงวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252) ปีฉลู ซึ่งถูกระบุว่า เป็นเรือที่ได้รับภารกิจจากราชาแห่งสยาม และออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมในปีเดียวกัน สถานการณ์บ้านเมืองสยามนั้น สงบสุข (Ishii (ed.) 1998: 88-89) ข้อมูลนี้สำคัญมากเพราะจะช่วยให้เราตัดเดือนที่เป็นไปไม่ได้ออกได้อีกหลายเดือน นั่นก็เพราะเอกสารนี้ รายงานว่า เรือออกจากอยุธยาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252) และกรุงศรีอยุธยาอยู่ในความสงบ นั่นย่อมแสดงว่า สมเด็จพระเจ้าเสือยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่เรือออกนั่นคือ ต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252) จนถึงราวเดือนมกราคม ค.ศ. 1710 (พ.ศ. 2253)
สรุปผล: จากข้อมูลข้างต้นอาจสรุปเป็นกรอบความคิดกว้างๆ ได้ว่า สมเด็จพระเจ้าเสือสิ้นพระชนม์ในช่วงครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2252 นั่นคือมีความเป็นไปได้ว่า สมเด็จพระเจ้าเสืออาจสวรรคต ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252) (เทียบราว เดือนแปด - เดือนยี่ จ.ศ. 1071 ฉลูเอกศก)
สรุประยะรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ
ข้อมูลจากเอกสารร่วมสมัยคือ “บันทึกคำเล่าลือจากสำเภาจีน” ยืนยันข้อเท็จจริงร่วมสมัยกับรัชกาลได้ว่า สมเด็จพระเจ้าเสือทรงครองราชย์อยู่ระหว่างช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2246 ถึงเวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม พ.ศ. 2252 ซึ่งสามารถสรุปเป็นเฉพาะตัวเลขรายศักราชได้ดังนี้
ดังนั้น ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์คือ
สมเด็จพระเจ้าเสือ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2246 – 2252 (ไทยสากล)
ถ้ามีข้อมูลปีครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าเสือที่ใดผิดจากนี้ ก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะข้อมูลวันเดือนปีของฝ่ายไทยที่ผมนำเสนอข้างต้นนั้น ล้วนพิสูจน์ด้วยตัวข้อมูลเองแล้วว่า เป็นกลุ่มข้อมูลวันเดือนปีที่ลักลั่นและเลอะเลือนมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ชำระพงศาวดารถือเอาจำนวนปีครองราชย์เป็นหลัก จึงนับไล่เฉพาะจำนวนปีครองราชย์ก่อน แล้วจึงแก้ไขระบุจุลศักราชกับนักษัตรใหม่ จึงทำให้เอกสารแต่ละชิ้นให้เลขจุลศักราชและปีนักษัตรแตกต่างกัน เพราะนับปีเคลื่อนไล่กันตั้งแต่ต้นราชวงศ์ เหตุนี้เอง จึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข้อมูลร่วมสมัย มาช่วยแก้ไขและชี้จุดผิด อันเป็นวิถีที่นักประวัติศาสตร์พึงกระทำเพื่อหาข้อเท็จจริงของกาลเวลาที่ยึดโยงกับปีปฏิทินปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร, 2507. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับ พระจักรพรรดิพงศ์ (จาด). พระนคร: สำนักพิมพ์คลังวิทยา.
กรมศิลปากร, 2515. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร: สำนักพิมพ์คลังวิทยา.
กรมศิลปากร, 2537. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82 เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
กรมศิลปากร, 2542. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
กรมศิลปากร, 2560. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 14. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
ทองเจือ อ่างแก้ว, 2516. เถลิงศก 5285 ปี ตั้งแต่กลียุคศักราช 0 ถึง 5285 ก่อนพุทธศักราช 2558 ถึง พ.ศ. 2727 คำนวณตามสูตร์ คัมภีร์ สุริยยาตร์. สระบุรี: ชวนะการพิมพ์.
ศานติ ภักดีคำ (บรรณาธิการ), 2558. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ดิสสานุกโร ป. ธ. 4) ณ เมรุ หลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558.
Holroyd R., 2018. The Rebirth of China's Intra-Asian Maritime Trade, 1670-1740. Thesis (PhD.): College of the Liberal Arts, The Graduate School, The Pennsylvania State University.
Ishii Y. (ed.), 1998. The Junk Trade from Southeast Asia: translations from the Tôsen Fûsetsu-gaki, 1674-1723. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.
Romajidesu, 2023. Definition of 館. Retrieved: 2023-12-06. [ https://www.romajidesu.com/dictionary/meaning-of-館.html ]
Walker J., 2015. Calendar Converter. Retrieved: 2023-12-06. [ https://www.fourmilab.ch/documents/calendar]
Wikipedia, 2023a. “オランダ風説書.” In: Wikipedia, The Free Encyclopedia. Retrieved: 2023-12-06. [ https://ja.wikipedia.org/wiki/オランダ風説書 ]
Wikipedia, 2023b. “Solar Term.” In: Wikipedia, The Free Encyclopedia. Retrieved: 2023-12-06. [ https://en.wikipedia.org/wiki/Solar_term ]
Wiktionary, 2023a. “館.” In: Wiktionary, the free dictionary. Retrieved: 2023-12-06. [ https://en.wiktionary.org/wiki/館 ]
Wiktionary, 2023b. “唐.” In: Wiktionary, the free dictionary. Retrieved: 2023-12-06. [ https://en.wiktionary.org/wiki/唐 ]
1 สำนวนแรกอยู่ในเนื้อหาเดียวกับเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยาที่เริ่มตั้งแต่การสถาปนา และมาสิ้นสุดเรื่องในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ จากนั้น มีข้อความอธิบายว่า เรื่องราวต่อไปจากนี้ เป็นเรื่องราวชำระเพิ่ม เริ่มตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไปสิ้นสุดที่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ดังนั้น สำนวนที่ 2 จึงปรากฏอยู่ในส่วนชำระเพิ่มนี้ ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างกัน
2 2240/2241 เป็นช่วงคาบเกี่ยวตามจุลศักราช นั่นคือ ราว เม.ษ. 2240 - มี.ค. 2241
3 เอกสาร “พระนามพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย” ของ ธนิต อยู่โพธิ์ แก้ไขตามผลงานของราชบัณฑิตยสถาน และคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เริ่มรัชกาล พ.ศ. 2246 สิ้นสุดรัชกาล พ.ศ. 2251 รวมรัชกาล 6 ปี (กรมศิลปากร 2542: 375) อย่างไรก็ตาม ในเอกสาร “อธิบายรัชกาลครั้งกรุงเก่า” พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตามฉบับตีพิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 5 พ.ศ. 2460 ทรงกำหนดระยะรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2246 (มะแม) – 2251 (ชวด) หรือ ค.ศ. 1703 – 1708 (นับได้ 6 ปี) และทรงอธิบายว่าปีสวรรคตลงกันไว้หลายแบบ แต่ที่ใกล้กันคือ 7 ปี จึงทรงกำหนดระยะครองราชย์ไว้ 7 ปี แต่ผมพบว่าข้อมูลนี้ คลาดเคลื่อนกัน 1 ปี เพราะถ้านับ 7 ปีต้องเป็นช่วง พ.ศ. 2246 (มะแม) - พ.ศ. 2252 (ฉลู) (กรมศิลปากร 2542: 364-365) อนึ่ง ขจร สุขพานิช ตีความว่า สมเด็จพระเจ้าเสือครองราชย์ 6 ปี (กรมศิลปะากร 2542: 370: เชิงอรรถที่ 5) โดยนับตามเลขจุลศักราชที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทำไว้ และเป็นที่มาของตัวเลขที่คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยใช้ น่าสังเกตว่า ปีสวรรคตที่ใช้นักษัตร “ชวด” นั้น เป็นข้อมูลของ “ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” สำนวนที่ 2 และน่าจะเป็นที่มาที่ทำให้นับระยะเวลาที่สมเด็จพระเจ้าเสือครองราชย์ได้ 6 ปี คือจากนักษัตร “มะแม” (ข้อมูลจาก “ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)”) ถึง “ชวด” (ข้อมูลจาก “ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)”) แต่อันที่จริงมีหลายฉบับที่นับแล้วได้ 7 ปี (ดูในบทความ)
4 อิชี เรียกเอกสารชุดนี้ว่า Oranda-sen Fusetsu-gaki (Ishii (ed.) 1998: 6) แต่ผมสืบค้นไม่พบชื่อนี้ พบแต่เอกสารใช้ชื่อ Oranda Fusetsu-gaki (คำที่หายไปถึง sen แปลว่า เรือ) ซึ่งปัจจุบันภาษาญี่ปุ่นใช้ตัวคะตะคะนะสะกดชื่อฮอลันดา จึงเขียนชื่อเอกสารเป็น オランダ風説書 (โอะรังดะ ฟูเซ็ตซึกะกิ) (Wikipedia 2023a: オランダ風説書)
5 หากต้องการอ่านสำนวนแปลของกรมศิลปากร สามารถหาอ่านได้จาก “การค้าสำเภาจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ใน “ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 14” (กรมศิลปากร 2560: 115-116 และ 120).
6 ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้ “our ship was royally commissioned by the King of Siam” (Ishii (ed.) 1998: 82) อนึ่ง เนื้อหาตอนต้นซึ่งเป็นบันทึกลงวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1679 (พ.ศ. 2222) นั้น มีบทแปลว่า “a ship commissioned by the King of Siam” ซึ่ง อิชี ทำเชิงอรรถว่า แปลมาจากภาษาญี่ปุ่น “Senra no yakata no fune” แปลตามศัพท์ว่า “เรือของราชาแห่งสยาม” (the ship of the King of Siam) (Ishii (ed.) 1998: 21) ดังนั้น คำแปลภาษาอังกฤษว่า “commissioned by” จึงเป็นการแปลเสริมความให้ผู้อ่านเข้าใจว่ารับภารกิจว่าจ้างมาจากราชาแห่งสยาม; เนื่องจาก อิชี ไม่ได้อ้างตัวอักษรญี่ปุ่น แต่ก็น่าจะตรงกับข้อความว่า 暹羅の館の船 (เซ็งระ-โนะ ยะกะตะ-โนะ ฟุเนะ) ซึ่งน่าสนใจว่า คำว่า “ยะกะตะ” ที่ต้นฉบับใช้นั้น โดยทั่วไปเป็นคำเรียกยกย่องผู้มีบรรดาศักดิ์ (romajidesu 2023; wiktionary 2023a) ไม่ได้แปลว่าราชาโดยตรง ดังนั้น หากแปลตามข้อความเดิมก็อาจแปลว่าได้ว่า “เรือของท่าน(ผู้เป็นใหญ่)แห่งสยาม” หรือ นาวาแห่งสยามาธิบดี.
ป้ายกำกับ สมเด็จพระเจ้าเสือ สวรรคต เอกสารญี่ปุ่น สำเภาจีน ดร.ตรงใจ หุตางกูร