สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยสมัยใหม่
เป็นเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่ พ.ศ.2512 ที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยผู้ล่วงลับเขียนบทความเรื่อง “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับ อาร์โนล์ด ทอยน์บี” ลงพิมพ์ในวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เพื่อพยายามทำความเข้าใจต่อบุคคลซึ่งได้รับสมญานามว่า “บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย [ผู้ซึ่ง]เป็นบุคคลที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์ [กล่าวคือ] เราอาจจะรู้จักพระองค์เป็นอย่างดีพอสมควร ในฐานะของนักปฏิรูป นักการปกครอง นักการเมือง พ่อและครูตามแบบฉบับอุดมคติของสยามใหม่ แต่เราไม่รู้จักพระองค์ในฐานะนักประวัติศาสตร์” เอาเสียเลย (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2512, น. 17) ทั้งนี้ ตลอดความยาวสิบแปดหน้ากระดาษของบทความ นิธิปรารถนาจะทำความเข้าใจต่อ “แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำราราชานุภาพเป็นผู้นำมากกว่า” จะทำความเข้าใจต่อพระองค์ในฐานะปัจเจกบุคคลเท่านั้น (น. 24)
อย่างไรก็ดี การยกเรื่องราวอันเกิดขึ้นเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ใช่ว่าเพื่อเป็นการโรยเกลืออันจะนำไปสู่การถกเถียงต่อความเข้าใจของนิธิ เอียวศรีวงศ์เกี่ยวกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ และแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ซึ่งมีพระองค์เป็นผู้นำ หากจะขอกล่าวถึงบทความเรื่อง “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับอาร์โนล์ด ทอยน์บี” นี้ว่าเป็นเสมือนดั่งหนึ่งประกายไฟแห่งการตื่นตัวและหันกลับไปพินิจพิเคราะห์วิธีวิทยาในการเขียนประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ของบรรดานักวิชาการประวัติศาสตร์อย่างคึกคักในช่วงทศวรรษ 2510-25201 ด้วยเหตุนี้ จึงปฏิเสธได้ค่อนข้างยากว่าบทความชิ้นนี้ของนิธิมีอิทธิพลทางความคิดในทางใดทางหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยที่ขยายตัวมากขึ้นในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ เข้าใจว่าอิทธิพลทางความคิดเรื่องหนึ่งของนิธิที่ถ่ายทอดและนำไปพิจารณาต่อโดยนักวิชาการประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา คือ การเสนอความคิดว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ มีแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเด่นข้อหนึ่งอยู่ที่การให้ความสำคัญและความเคารพต่อความเที่ยงแท้แห่งข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ โดยจะทรงแก้ไขข้อความในงานเขียนของพระองค์อยู่เสมอเมื่อทรงพบข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นและน่าเชื่อถือกว่าเดิม (2512, น. 24) โดยนิธิใช้งานเขียนเรื่อง “พระนิพนธ์คำนำ” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา2 ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ มาใช้เป็นข้อสนับสนุนการเสนอความคิดข้างต้น
ใช่มีแต่นิธิ เอียวศรีวงศ์เท่านั้นที่ใช้งานเขียนเรื่อง “พระนิพนธ์คำนำ” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ในการพิจารณาประเด็นทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์อย่างกอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร ผู้สนใจในประเด็นเดียวกันกับนิธิ ก็หันกลับไปพิจารณาแนวการเขียนประวัติศาสตร์ซึ่งมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เป็นผู้นำ ดังปรากฏบทความ ใน พ.ศ.2517 เรื่อง “การศึกษาประวัติศาสตร์ของสกุลดำรงราชานุภาพ” ซึ่งพิจารณา “พระนิพนธ์คำนำ” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ไว้ว่าเป็นงานเขียนชิ้นเดียวที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ จากทั้งเอกสารภาษาไทยและต่างประเทศของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ โดยมีความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า “จาก ‘พระนิพนธ์คำนำ’ นี้พอจะถือเป็นแนวสังเกตได้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงรับเอา ‘วิธีการแบบวิทยาศาสตร์’ ของฟุสเตล เดอ กูลองซ์มาใช้ในการศึกษาพิจารณาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์เพื่อความถูกต้อง.. และทรงมีพระประสงค์ที่จะนำเสนออรรถาธิบายถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่บังเกิดแล้วให้เหมือนจริงดังในอดีตมากที่สุด” (2517, น. 31-32) นอกจากนี้ ยังมีชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เขียนบทความ “ปรัญชาประวัติศาสตร์ไทย” เมื่อ พ.ศ.2518 พิจารณาสรุปไว้ว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเป็นนักประวัติศาสตร์ไทยบุคคลแรกที่บุกเบิกวิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ โดยมีงานเขียนบุกเบิกชิ้นสำคัญและค้นคว้าอย่างจริงจังที่สุด คือ “พระนิพนธ์คำนำ” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (2527, น. 210) เหล่านี้จึงเห็นได้ว่าการให้ความสนใจต่อประเด็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกล่าวถึงบทบาทและงานเขียนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ก็จะต้องนำงานเขียน “พระนิพนธ์คำนำ” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มาพิจารณาด้วยเสมอ
อนึ่ง งานเขียนเรื่อง “พระนิพนธ์คำนำ” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ นี้ เขียนขึ้นภายใต้บริบทประวัติศาสตร์และเนื้อหาของงานเขียนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร? ทั้งสองเรื่องนี้พอสังเขปได้ต่อไปนี้
หากกล่าวถึง “พระนิพนธ์คำนำ” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา แล้วมิพักต้องกล่าวถึงบริบทประวัติศาสตร์ไทยในช่วงทศวรรษ 2420 เมื่อชนชั้นนำสยามในเวลานั้นต้องเผชิญหน้ากับสภาวะสมัยใหม่ ซึ่งมาพร้อมกับชาติจักรวรรดินิยมยุโรป ที่สำคัญก็คือ มาพร้อมเรือกลไฟและกระบอกปืนนั้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นสยามจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับสภาวะสมัยใหม่ ปฏิบัติการอันหนึ่งจากการปรับตัวนี้คือ การรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดของตน อันนำมาสู่การสร้างหอพระสมุดวชิรญาณใน พ.ศ.2426 ก่อนจะตั้งเป็นหอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ใน พ.ศ.2448 (Jory, 2000; ธนพงศ์ จิตสง่า, 2552, ดูบทที่ 2) กล่าวให้ชัดลงไปเกี่ยวกับการรวบรวมองค์ความรู้คือ การรวบรวมหนังสือและตำราต่าง ๆ ทั้งเรื่องราวทางโลกย์และทางธรรม โดยปฏิบัติการนี้เป็นความพยายามสร้างความเป็นอารยะทางภูมิปัญญาให้ทัดเทียมกับชาติจักรวรรดินิยมยุโรป (ธงชัย วินิจจะกูล, 2546; ทวีศักดิ์ เผือกสม, 2561, ดูบทที่ 6) อนึ่ง พระราชพงศาวดารน่าจะถือเป็นหนึ่งในองค์ความรู้ทางโลกย์ ด้วยเรื่องราวภายในพระราชพงศาวดารคือเรื่องราวในที่ช่วยสะท้อนความเก่าแก่และความชอบธรรมของประเทศสยามเหนือดินแดนประเทศราชได้ พระราชพงศาวดารจึงได้รับการเข้าใจใส่เป็นพิเศษ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ชนชั้นนำสยามแสดงและสร้างความเป็นอารยะให้แก่อดีตของตนได้เป็นอย่างดี (ธงชัย วินิจจะกูล, 2559; 2562)
ปฏิบัติการในการสร้างความเป็นอารยะให้แก่อดีตนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญแห่งยุคสมัย ใน พ.ศ.2455 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชมีความประสงค์จะพิมพ์ พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งยังคงอยู่ในรูปเล่มสมุดไทย จึงขอให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ รับเป็นธุระในการตรวจต้นฉบับและจัดพิมพ์ ครั้งนั้นด้วยเวลาอันจำกัดจึงเป็นเหตุให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ สามารถเขียนได้เพียงหัวข้อ “ว่าด้วยตำนานหนังสือพระราชพงษาวดาร” (2455) จนต่อมาใน พ.ศ.2457 ได้จัดพิมพ์ พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ขึ้นใหม่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงเห็นโอกาสเหมาะ ประจวบกับมีเวลาในการเตรียมการมากกว่าคราวก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถเขียนและเพิ่มเติมหัวข้อใน “พระนิพนธ์คำนำ” ได้ครบตามที่ตั้งใจไว้ โดยพอจะเรียกชื่อหัวข้อที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่โดยรวมได้ว่า “อธิบายเหตุการณ์เมื่อก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา” (2457, น. 34) กล่าวได้ว่า การเขียนหัวข้อเพิ่มเติมนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงมุ่งบรรลุความปรารถนาของความ “สามารถที่จะแต่ง ‘พงษาวดารสยาม’ ขึ้นใหม่ ให้มีหนังสือพงษาวดารไทยที่ดี เทียบเทียมกับพงษาวดารอย่างดีของประเทศอื่นได้” (2457, คำนำ, น. 3)
สำหรับสังเขปเนื้อหาสำคัญของ “พระนิพนธ์คำนำ” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา นั้นมีทั้งหมด 11 หัวข้อ มีหัวข้อ “ตำนานหนังสือพระราชพงษาวดาร” ถือเป็นส่วนที่หนึ่ง และเริ่มต้นส่วนที่สองในหัวข้อ “อธิบายเหตุการณ์เมื่อก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา” และจบด้วยหัวข้อ “เหตุที่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธทยา” กล่าวคือ ส่วนที่หนึ่งเป็นการบรรยายเกี่ยวกับการประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานลายลักษณ์ที่สามารถนำมาใช้ประกอบการเขียน “พระนิพนธ์คำนำ” และคำอธิบายพระราชพงษาวดาร ซึ่งจะแทรกอยู่ระหว่างการผลัดเปลี่ยนรัชกาลของพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา และส่วนที่สองเป็นการบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น ประวัติขอม ประวัติไทย ประวัติพม่า หรือประวัติของราชอาณาจักรศุโขทัย3 เป็นต้น ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงสังเขปเนื้อหาในส่วนของเหตุการณ์ก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยา เน้นเฉพาะส่วนประวัติไทย เพราะจะเป็นส่วนที่สัมพันธ์ต่อการอภิปรายในประเด็นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ กับการแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยข้างหน้า
ในหัวข้อ “ประวัติไทย” กล่าวถึงถิ่นกำเนิดของ “พวกไทย” ว่ามีภูมิลำเนาอยู่ประเทศจีนข้างฝ่ายใต้ “พวกไทย” ถือเป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่ง ประเทศจีนข้างฝ่ายใต้นั้นคือ มณฑลฮุนหนำ กุยจิ๋ว กวางตุ้ง และกวางไส ซึ่ง “แต่เดิมเปนอาณาเขตรที่ไทยตั้งบ้านเมือง อยู่เปนอิศรแก่กันหลายเมือง เมื่อผู้คนคบคั่งกันเข้า จึงมีไทยอพยพลงมาทางทิศตวันตกเฉียงใต้ แลทิศใต้ ตั้งแต่เมื่อราว พ.ศ.๔๐๐ เปนปฐม ต่อมาเมื่อจีนมีอำนาจมากขึ้น จีนขยายอาณาเขตรออกมาทางแดนไทย พวกไทยถูกจีนเบียดเบียนอยู่เมืองเดิมไม่ศุข ทั้งได้รู้จากพวกไทยที่ได้อพยพมาแต่ก่อน ว่าแผ่นดินทางทิศตวันตกเฉียงใต้ แลทิศใต้ ทำมาหากินได้สดวกดีกว่าเมืองเดิม พวกไทยจึงอพยพลงมามากขึ้นทุกที” (ดำรงราชานุภาพ, 2457, น.57) การอพยพลงใต้ของ “พวกไทย” แยกกันมา 2 ทาง พวกหนึ่งลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งบ้านเรือนบริเวณแม่น้ำสาละวิน ตั้ง ราชธานีที่เมืองพง อีกพวกหนึ่งลงมาทางทิศใต้ ตั้งบ้านเรือนบริเวณแม่น้ำโขง บริเวณที่เรียกว่าสิบสองจุไท แต่แรกตั้งเมืองเล็ก ๆ เป็นอิสระต่อกัน ต่อมามีเจ้าไทยชื่อ ขุนบรม สามารถรวบรวมเมืองต่าง ๆ และตั้งอาณาจักรขึ้นมา มีราชธานีอยู่ที่เมืองแถง กรมพระยาดำรงราชนุภาพสันนิษฐานว่า ด้วยการตั้งถิ่นฐานแยกกันเป็นสองกลุ่มนี้ จึงทำให้เกิดการเรียก กลุ่มไทยบริเวณแม่น้ำสาละวินว่า ไทยใหญ่ และกลุ่มไทยบริเวณแม่นน้ำโขงว่า ไทยน้อย (2457, น. 58)
ส่วน “พวกไทย” ที่ยังคงอยู่บริเวณประเทศจีนข้างฝ่ายใต้นั้น เมื่อถูกจีนเบียดเบียนเรื่อยมา จนนับตั้งแต่ พ.ศ.1192 เรื่อยมาก็มีเจ้าไทยนาม สีนุโล รวบรวมกลุ่มไทยและตั้งเป็นอาณาจักรปกครองสืบต่อกันมามากกว่า 250 ปี มีราชธานีอยู่ที่เมืองตาลีฟู โดยจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า “น่างเจี่ยว” (น่านเจ้า) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายต่อว่า “ต่อนั้นมา ราชวงษ์อื่น ๆ ซึ่งเจือเปนจีน ได้ครองราชสมบัติเมืองไทยเดิมมาอิก ๓๕๐ ปี ขนบธรรมเนียมบ้านเมืองแปรเปนจีนไปทุกที ด้วยเหตุว่ามีจีนมาเปนไพร่บ้านพลเมืองมากขึ้นโดยลำดับ... มาจนถึงเมื่อ พ.ศ.๑๗๙๗ พวกมองโคล คือ พระเจ้ากรุงจีนราชวงษ์หยวน ตีได้เมืองจีนไว้ในอำนาจ รบพุ่งแผ่อาณาจักรออกมาทางตวันตกเฉียงใต้ ตีได้เมืองไทยเดิมในคราวเดียวกับเมื่อตีได้เมื่อพม่า ประเทศน่างเจี่ยว คือ เมืองไทยเดิม จึงสิ้นอิศร กลายเปนเมืองขึ้นของจีนมาแต่ครั้งนั้น” (2457, น. 67-68)
เมื่อบรรยายถึง “พวกไทย” ในประเทศจีนข้างฝ่ายใต้จบ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงบรรยายถึง “ประวัติพม่า” ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับการตั้งสยามประเทศว่า ในช่วง พ.ศ.1600 ถือเป็นช่วงเวลาที่ขอมเริ่มเสื่อมอำนาจในการปกครองอาณาเขตบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พระเจ้าอนุรุธแห่งพม่าจึงขยายอำนาจเข้ามายังบริเวณลุ่มแม่น้ำดังกล่าวและสามารถปราบปรามขอมที่มีอำนาจปกครองบริเวณนี้อยู่แต่เดิมได้ แต่อำนาจของพระเจ้าอนุรุธดำรงอยู่ในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงชั่วคราวเท่านั้น (2457, น. 73-74)
ทั้งนี้ สำหรับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกับที่ขอมเรืองอำนาจเหนือดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา “พวกไทย” ที่อพยพลงจากประเทศจีนข้างฝ่ายใต้มาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง (กลุ่มไทยน้อย) เมื่อเริ่มก่อตั้งอาณาจักรและราชธานีที่เมืองแถงราว พ.ศ.800 เป็นต้นมานั้น “พวกไทย” ก็ยังคงอพยพลงใต้อยู่เรื่อยมา โดยแตกแขนงออกไป 3 สาย ได้แก่ สายที่หนึ่ง อยู่ดินแดนฝั่งตะวันออกหรือแคว้นหัวพันห้าทั้งหก สายที่สอง อยู่ดินแดนฝั่งตะวันตกหรือสิบสองพันนา และสายที่สาม อยู่ดินแดนทางใต้หรือบริเวณเมืองหลวงพระบาง จนกระทั่งราว พ.ศ.1400 ได้เกิดกษัตริย์นามว่า พระเจ้าพรหม ผู้เป็นต้นราชวงษ์ของพระเจ้าอู่ทองผู้ก่อตั้ง กรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.1893 ได้ขยายอำนาจการปกครองลงมาทางดินแดนใต้ถึงเมืองเชลียง ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นดินแดนใต้อาณัติของขอมอยู่ การขยายอำนาจของพระเจ้าพรหมครั้งนี้ทรงสร้างเมืองฝางขึ้นบนดินแดนทางตอนใต้ของแม่น้ำโขง อันนับได้ว่าเป็นย่างก้าวแรกของการเข้ามาปกครองดินแดนทางตอนใต้ของแม่น้ำโขงของ “พวกไทย” (ดำรงราชานุภาพ, 2457, น. 74) หลังจากนั้นใน พ.ศ.1400 ถึง พ.ศ.1600 เป็นช่วงเวลาที่ “พวกไทย” อพยพลงมาทางตอนใต้ของแม่น้ำโขงเรื่อยมา และเลยลงใต้มาตั้งถิ่นฐานทั่วบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ยิ่งไปกว่านั้น “พวกไทย” สามารถสร้างบ้านแปลงเมืองครอบคลุมไปถึงดินแดนบนแหลมมลายู ดังเห็นปรากฏการตั้งเมืองใหญ่ทั้งหมด 9 เมือง ได้แก่ เมืองข้างตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เมืองสวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร และเมืองข้างตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เมืองอู่ทอง นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ไชยา และนครศรีธรรมราช (2457, น. 74-75)
อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ.1600 ถือเป็นช่วงเวลาที่ขอมก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง กอปรกับพระเจ้าอนุรุธแห่งพม่าแผ่ขยายอำนาจและปราบปรามขอมที่มีอำนาจเหนือดินแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้ “พวกไทย” ที่ตั้งบ้านเมืองอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงสามารถรวมตัวเข้ากันเป็นอาณาจักรได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พวกไทย” ที่เมืองอู่ทอง ซึ่งเป็นฐานกำลังในการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาโดยตรงในเวลาต่อมา และมี “สยามประเทศ หรือ ประเทศศุโขไทย” กับ “ประเทศลานนาไทย หรือ อาณาจักรหริภุญไชย” ซึ่งถือว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรุงศรีอยุธยาอย่างมาก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เห็นว่า “ด้วยประเทศไทยทั้งสองนั้น มีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับกรุงศรีอยุทธยามาก เมื่อรู้ประวัติของประเทศทั้งสองแล้ว ก็จะเข้าใจเรื่องในพระราชพงษาวดารกรุงศรีอยุทยาแจ่มแจ้งดีขึ้น” (2457, น. 83)
กล่าวคือ การเขียนในหัวข้อ “ประวัติของราชอาณาจักรศุโขไทย” นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้บรรยายให้เห็นภาพการตั้งราชอาณาจักร ระบบการปกครอง และลำดับการครองราชย์ของกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย จำนวน 5 พระองค์ ตั้งแต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จนถึงพระมหาธรรมราชาลิไทย4 โดยบรรยายแบบไล่ไปตามลำดับเหตุการณ์นับตั้งแต่ พ.ศ.1781 ซึ่งเป็น “ราชธานี [ณ เมืองสุโขทัย] มีอิศรภาพ” จนกระทั่งกลายเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ตรงกันข้ามกับการเขียนหัวข้อ “ประวัติอาณาจักรลานนาไทย” ซึ่งมีเรื่องราวน้อยกว่ามาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของลำดับกษัตริย์แห่งอาณาจักรลานนา โดยบรรยายไล่ไปตามเหตุการณ์เช่นเดียวกัน โดยสาระสำคัญในการเขียนเรื่อง “ประวัติอาณาจักรลานนไทย” ดูเหมือนจะอยู่ที่การแสดงความเห็นว่า กษัตริย์และกลุ่มคนของอาณาจักรลานนาไทยเป็น “ไทย” มากกว่าที่จะเป็น “ลาว” ด้วยการให้เหตุผลในเรื่องภูมิศาสตร์ของการตั้งอาณาจักรว่าเป็นไปได้ยากมากที่ “ลาว” จะสามารถตั้งบ้านเมืองอยู่ตรงกลาง โดยมีอาณาจักรของคนไทยฝ่ายเหนือ (บริเวณสิบสองจุไทย) กับอาณาจักรของคนไทยฝ่ายใต้ (บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) โดยมีบ้านเมืองของ “ไทย” อยู่ทางเหนือและทางใต้ได้ (ดำรงราชานุภาพ, 2457, น. 103-104)
เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ บรรยายถึงประวัติของ “อาณาจักรศุโขไทย” และ “อาณาจักรลานนนาไทย” แล้ว ก็บรรยายต่อด้วยเรื่องเหตุผลที่ทำให้พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้น ใน พ.ศ.1893 คือ นอกจากคุณสมบัติส่วนบุคคลได้แก่การเป็นผู้มีสติปัญญาความสามารถที่เข้มแข็งของพระเจ้าอู่ทองแล้ว สถานการณ์ของกลุ่มอำนาจทางการเมืองบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในขณะนั้นยังเอื้อให้พระเจ้าอู่ทองคิดกระทำการตั้งอาณาจักรของ “พวกไทย” ขึ้นใหม่ด้วย กล่าวคือ “อาณาจักรศุโขไทย” เสื่อมอำนาจการปกครองเหนือดินแดนต่าง ๆ ของตนลง ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าอู่ทองจึงเห็นควรเตรียมตัวป้องกันดนแดนของตนจากการเข้ามาของอาณาจักรใกล้เคียงอย่างเช่น อาณาจักรของพวกรามัญและพวกเชียงใหม่ กอปรกับสถานการณ์ของเมืองอู่ทองก็เกิดโรคระบาดมิเหมาะสมต่อการอยู่อาศัย การย้ายมาตั้งราชธานีใหม่ ณ กรุงศรีอยุธยา อันเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องดำเนินการ สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ที่กล่าวมาล้วนเป็นเหตุปัจจัยให้พระเจ้าอู่ทอง “เห็นถึงเวลาควรจะประกาศเปนอิศรภาพเปิดเผยได้แล้ว จึงสร้างพระนครศรีอยุทธยา แลทำพิธีราชาภิเศก โดยประกาศเปนอิศรภาพ เมื่อปีขาล... โทศก จุลศักราช ๗๑๒ พ.ศ.๑๘๙๓” (2457, น. 111)
พอจะกล่าวได้ว่า สังเขปเนื้อหาสำคัญของ “พระนิพนธ์คำนำ” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ข้างต้นนี้น่าจะทำให้ผู้อ่านจินตนาการสถานการณ์และความเป็นมาของ “พวกไทย” ตั้งแต่ครั้งตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ ณ ประเทศจีนข้างฝ่ายใต้ เมื่อถูกจีนเบียดเบียนมากเข้าจนอพยพลงใต้เพื่อหาถิ่นฐานทำกินใหม่ กระทั่งลงใต้มาจนถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งขอมมีอำนาจปกครองอยู่ “พวกไทย” จึงยอมอยู่ใต้การปกครองของขอมในช่วงแรก ณ ดินแดนนี้ “พวกไทย” อยู่อาศัยกันเรื่อยมา จนสามารถสร้างบ้านเมืองของตนเองตลอดฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของลุ่มแม่น้ำ ทั้งนี้ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจเหนือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาลงก็สามารถรวบรวมบ้านเมืองสร้างเป็นอาณาจักรใหญ่ได้ นับตั้งแต่ “อาณาจักรศุโขไทย” “อาณาจักรลานนาไทย” สุดท้ายคือ การสร้างกรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ.1893 ซึ่งสามารถเป็นอาณาจักรสำคัญของ “พวกไทย” ต่อมาอีก 417 ปี
อนึ่ง งานเขียนเรื่อง “พระนิพนธ์คำนำ” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ นี้ คงเป็นเอกสารประวัติศาสตร์เพียงไม่กี่ชิ้นซึ่งนักวิชาการประวัติศาสตร์น้อยคนนักจะให้ค่าความสำคัญน้อย จึงทำให้นอกจากการอ่านและตีความเอกสารชิ้นนี้เพื่อทำความเข้าใจแนวการศึกษาประวัติศาสตร์ อันมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เป็นผู้นำแล้ว ยังมีนักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยจำนวนหนึ่งอ่านและตีความเอกสารนี้เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ โดยเฉพาะการพยายามทำความเข้าใจต่อประเด็นสำคัญเรื่องสำนึกประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่ก่อตัวขึ้นในสังคมไทย ซึ่งสัมพันธ์ต่อประเด็นสำคัญเรื่องประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่และการแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์อย่างแนบแน่น
ฉะนี้ ในความเรียงตอนต่อไปจึงขอว่าด้วยเรื่องการสำรวจข้อเสนอทางวิชาการในสามประเด็น คือ สำนักประวัติศาสตร์แบบใหม่ ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบใหม่ และการแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์ ของนักวิชาการประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นการกลับไปย้อนพินิจและลองพิเคราะห์เพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ของการเสนอคำอธิบายทางวิชาการแบบอื่นในสามประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ดี ขอบันทึกท้ายความเรียงนี้ไว้ว่า แม้จะมากกว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตามที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนบทความเพื่อทำความเข้าใจแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ความเข้าใจแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ดังกล่าวหาใช่จุดสิ้นสุดแห่งความรู้ เพราะหากว่าความรู้สิ้นสุดได้จริงแล้ว การแสวงหาความความรู้ต่อเรื่องใด ๆ ก็เป็นเรื่องไร้คุณค่าที่จะกระทำและความหวังแห่งการดำรงอยู่ในโลกนี้ก็คงเป็นเรื่องไร้ซึ่งความหมายโดยสิ้นเชิง
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
บรรณานุกรม
กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. (2517). การศึกษาประวัติศาสตร์ของสกุลดำรงราชานุภาพ. อักษรศาสตร์พิจารณ์, 2(6), 28-44.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2527). ปรัชญาประวัติศาสตร์ไทย. ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และสุชาติ สวัสดิ์ศรี (บก.), ปรัชญาประวัติศาสตร์ (น. 205-215). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. 2455. “พระนิพนธ์คำนำ.” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑. ม.ป.ท.:ม.ป.พ.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. 2457. “พระนิพนธ์คำนำ.” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑. ม.ป.ท.:ม.ป.พ.
ทวีศักดิ์ เผือกสม. (2561). หยดเลือด จารึก และแท่นพิมพ์: ว่าด้วยความรู้/ความจริงของชนชั้นนำสยาม พ.ศ.2325-2411. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์.
ธงชัย วินิจจะกูล. (2546). ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าศิวิไลซ์ เมื่อชนชั้นนำประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5 แสวงหาสถานะของตนเองผ่านการเดินทางและพิพิธภัณฑ์ทั้งในและนอกประเทศ. รัฐศาสตร์สาร, 24(2), 1-66.
ธงชัย วินิจจะกูล. (2559). สภาวะอาณานิคมของสยามและกำเนิดประวัติศาสตร์ชาติไทย. ใน โฉมหน้าราชาชาตินิยม: ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทย (น. 21-53). นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.
ธงชัย วินิจจะกูล. (2562). ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: กรณีประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมของประเทศไทย. ใน เมื่อสยามพลิกผัน: ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่ (น. 77-94). นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.
ธนพงศ์ จิตสง่า. (2552). “วชิรญาณ” กับการแสวงหาความรู้ของชนชั้นนำของสยาม พ.ศ. 2427-2448. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2512). สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับอาร์โนล์ด ทอยน์บี. สังคมศาสตร์ปริทัศน์, 7(1), 17-34.
พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑. 2455. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑. 2457. ม.ป.ท.: โรงพิมพ์ไทย
Jory, Patrick. (2000). Books and the Nation: The Making of Thailand's National Library. Journal of Southeast Asian Studies, 31(2), 351-373.
เชิงอรรถ
1 ในระหว่าง พ.ศ.2518-2519 ชาญวิทย์ เกษตรศิริและสุชาติ สวัสดิ์ศรี ร่วมกันเป็นบรรณาธิการรวบรวมบทความที่ศึกษาวิธีวิทยาในการเขียนประวัติศาสตร์และแนวทางการเขียนประวัติศาสตร์แบบอื่น ๆ ของนักวิชาการประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นซึ่งตีพิมพ์กระจายอยู่ในวารสารหัวต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ในหนังสือรวมบทความเรื่อง ปรัชญาประวัติศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์พิฆเณศ เมื่อ พ.ศ.2518 พิมพ์ครั้งที่สองโดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมื่อ พ.ศ.2519 และพิมพ์ครั้งที่สามโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2527 และหนังสือรวมบทความเรื่อง ประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ไทย พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมื่อ พ.ศ. 2519
2 การเขียนคำว่า “พระราชพงษาวดาร” แบบนี้เป็นการเขียนตามการพิมพ์หนังสือ พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เมื่อ พ.ศ.2455 และ พ.ศ.2457
3 หัวข้อการเขียนของ “พระนิพนธ์คำนำ” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พ.ศ.2457 มีทั้งสิ้น 11 หัวข้อ ดังนี้ 1) ตำนานหนังสือพระราชพงษาวดาร 2) อธิบายเหตุการณ์ก่อนสร้างกรุงศรีอยุทธยา 3) พงษาวดารสยาม เมื่อก่อนพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุทธยา 4) ประวัติขอม 5) ประวัติไทย 6) ประวัติพม่า 7) เรื่องไทยตั้งประเทศสยาม 8) พงษาวดารของพระเจ้าอู่ทอง 9) ประวัติของราชอาณาจักรศุโขทัย 10) ประวัติของอาณาจักรลานนาไทย และ 11) เหตุที่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธทยา
4 ข้อเสนอเรื่องจำนวนกษัตริย์แห่ง “อาณาจักรศุโขทัย” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ใน “พระนิพนธ์คำนำ” ใน พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พ.ศ.2457 นี้ มีทั้งสิ้น 5 พระองค์ ได้แก่ 1) ขุนศรีอินทราทิตย์ 2) ขุนบาลเมือง 3) พระเจ้าขุนรามคำแหง 4) พระเจ้าฤทัยชัยเชษฐ หรือพญาเลือไทย และ 5) พระมหาธรรมราชาลิไทย หรือพระเจ้าศรีสุริยพงศรามมหาธรรมิกราชาราช
ผู้เขียน
กฤชกร กอกเผือก
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย สังคมสมัยใหม่ กฤชกร กอกเผือก