Community Archives, Community Spaces : Heritage, Memory and Identity

 |  พิพิธภัณฑ์ จดหมายเหตุ
ผู้เข้าชม : 1772

Community Archives, Community Spaces : Heritage, Memory and Identity

รูปที่ 1 ปกหนังสือ Community Archives, Community Spaces : Heritage, Memory
and Identity หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
 

           ปัจจุบัน หลายชุมชนมีความตระหนักเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และมรดกภูมิปัญญาของชุมชน ช่วยกันสร้างหอจดหมายเหตุเพื่อรวบรวมข้อมูลที่สำคัญทั้งเอกสารข้อมูลชั้นต้นเกี่ยวกับประวัติการก่อตั้ง วัฒนธรรม การแต่งกาย สภาพสังคมและความเป็นอยู่ของผู้คน มีการเก็บรักษา และจัดการเอกสารจดหมายเหตุในหลากหลายรูปแบบ เช่น เอกสารลายลักษณ์ สมุดบันทึก หนังสือ ใบบอก สารตรา รูปวาด ภาพถ่าย โปสเตอร์ บัตรอวยพร แผนที่ แผนผัง และวัตถุทางวัฒนธรรมที่ผู้คนในชุมชนเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมา ขณะเดียวกันหอจดหมายเหตุชุมชนก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในชุมชนเป็นผู้ช่วยถ่ายทอด บอกเล่าประวัติบุคคลสำคัญ เผยแพร่ประวัติชุมชนในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เรื่องเล่าผ่านวัตถุวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์ ห้องจัดแสดงภาพถ่ายความเป็นมาของชุมชน และบันทึกประวัติศาสตร์บอกเล่าจากปากของปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้นำชุมชน เป็นต้น การเก็บความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ อัตลักษณ์ของชุมชน เป็นสิ่งสะท้อนภาพการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงของชุมชนปัจจุบันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอดีตแทบทั้งสิ้น

           Jeannette A. Bastian ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประจำคณะบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ที่ Simmons University เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Andrew Flinn ผู้นำด้านจดหมายเหตุศึกษา และประวัติศาสตร์บอกเล่า ที่ University College London ประเทศอังกฤษ ทั้งสองท่านเป็นบรรณาธิการเนื้อหา ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยประเด็นจดหมายเหตุชุมชนอีกหลายท่าน นำเสนอบทความเกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฎี และกรณีศึกษาในหลายประเทศ ผ่านหนังสือรวมบทความ “Community Archives, Community Spaces : Heritage, Memory and Identity” จัดพิมพ์โดย Facet Publishing ประเทศอังกฤษ นำเสนอบทความทั้งสิ้น 10 บทความ แบ่งเป็นบทความเชิงวิเคราะห์ 3 บทความ และกรณีศึกษาทั้งในไทยและต่างประเทศรวม 7 บทความ

           ส่วนแรกของหนังสือประกอบด้วยบทความเชิงวิเคราะห์ 3 บทความ เป็นการสำรวจวรรณกรรมเพื่อกำหนดแนวคิด ทฤษฎี และนิยามขอบเขตการศึกษาจดหมายเหตุชุมชน การวางแผน การเก็บ การจัดการข้อมูล และการใช้ประโยชน์จดหมายเหตุชุมชน รายละเอียด บทความทั้งหมดประกอบด้วย

           บทที่ 1. Archival optimism, or, how to sustain a community archives โดย Rebecka Taves Sheffield นักวิชาการ และนักวิจัยด้านจดหมายเหตุที่ Archives of Ontario ประเทศแคนาดา นำเสนอประเด็นอุดมการณ์จดหมายเหตุ และวิธีสร้างความยั่งยืนให้กับหอจดหมายเหตุชุมชน ว่าการที่คน หรือ กลุ่มคนในชุมชนหันมาให้ความสำคัญ และริเริ่มรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุไว้เป็นเรื่องดี แม้ว่า ณ จุดเริ่มต้นจะได้เอกสารเพียงบางส่วนไม่ครบถ้วน แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ชุมชนได้ริเริ่มรวบรวมมรดกวัฒนธรรมที่สะท้อนความเป็นมาของผู้คนและชุมชนไว้ เมื่อเริ่มจัดตั้งหอจดหมายเหตุ คนทำงาน หรือกลุ่มคนที่รับผิดชอบจะรู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจเมื่อหอจดหมายเหตุชุมชนก่อเกิดเป็นรูปร่าง แต่เมื่อดำเนินงานไปสักระยะ จะพบปัญหาว่า งานจดหมายเหตุเป็นงานที่ต้องลงทุน ลงแรงอย่างมาก ทั้งแรงงานคน เวลา และเงินทุนในการดำเนินการ บางชุมชนจำต้องหยุดดำเนินการ เนื่องจากขาดคนที่ดูแลรับผิดชอบต่อเนื่อง ขาดคนที่มีใจรักและต้องการมีส่วนร่วมในการรักษาประวัติชุมชนและทุ่มเททำงานให้ชุมชนอย่างจริงจัง

           การแสวงหา การจัดหมวดหมู่ การทำดัชนี และการวิเคราะห์เอกสารจดหมายเหตุชุมชน การศึกษาความเปลี่ยนแปลงในชุมชนจากอดีตถึงปัจจุบันที่ส่งผลต่ออนาคตของลูกหลาน เพื่อต้องการทราบว่า เราคือใคร ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามว่า อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ความยั่งยืนของหอจดหมายเหตุชุมชน Rebecka Taves Sheffield อ้างอิงทฤษฎีการมองโลกในแง่ดี (Optimism) ของ Lauren Berlant ในการทำความเข้าใจเหตุผลที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับหอจดหมายเหตุชุมชน โดยไม่หวังผลตอบแทน ช่วยแสวงหา เสียสละพื้นที่ เงินทุนในการดำเนินงาน จากนั้นนำเสนอแนวทางการทำงานกับชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างความเชี่ยวชาญ สร้างผู้สืบทอดมารับช่วงต่อ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานเมื่อพบกับปัญหาและอุปสรรค ณ ช่วงเวลาต่าง ๆ

           บทที่ 2. Affective bonds: what community archives can teach mainstream institutions โดย Michelle Caswell ศาสตราจารย์ด้านจดหมายเหตุ ประจำภาควิชาสารสนเทศศึกษาที่ University of California รัฐลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา นำเสนอการศึกษาวรรณกรรมเกี่ยวกับหอจดหมายเหตุชุมชนและผลกระทบ โดยยกตัวอย่างทฤษฎีของ Anne J. Gilliland เรื่อง การตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องแรงบันดาลใจในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุชุมชน และทฤษฎีของ Marika Cifor เรื่อง ทฤษฎีผลกระทบ ขณะเดียวกันก็นำเสนอเรื่องคุณค่าของหอจดหมายเหตุชุมชน ที่วัดได้จากผลกระทบของข้อมูลต่อชุมชนที่พวกเขาดูแลรับผิดชอบ ให้บริการและนำเสนอเพื่อสื่อสารสังคม

           การศึกษาด้านจดหมายเหตุในทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มหันมาสนใจในเรื่องอัตลักษณ์ของชุมชน ผ่านพื้นที่ (ทั้งทางกายภาพ และทางดิจิทัล) ซึ่งผู้คนในชุมชนถูกกดขี่และถูกเอาเปรียบจากชนชั้นปกครองผิวขาว ระบบทุนนิยม ระบบการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อคติต่อคนพิการทั้งเรื่องกีดกันทางสังคมและหน้าที่การงาน รวมทั้งการบันทึกอัตลักษณ์ของชุมชน ขณะที่งานวิจัยที่ผ่านมาของ Caswell พบว่า อัตลักษณ์ที่มีรากจากเอกสารจดหมายเหตุชุมชน ไม่ให้ความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ต่อคนชายขอบ และมีผลกระทบทางจิตใจอย่างมาก เนื่องจากจดหมายเหตุกระแสหลักส่วนใหญ่เน้นไปที่การบันทึกประวัติศาสตร์ของชนชั้นสูง ไม่ให้ความสำคัญกับ คนผิวสี คนพิการและกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เท่าที่ควร ขณะเดียวกันนักจดหมายเหตุกระแสหลัก ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันผิวขาว รู้สึกล้มเหลวในการดึงมวลชนคนชายขอบมาใช้ประโยชน์หอจดหมายเหตุ เนื่องจากจดหมายเหตุกระแสหลักเป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มคนชั้นสูงเท่านั้น Caswell เชื่อว่าหอจดหมายเหตุกระแสหลักควรต้องเรียนรู้จากปฏิบัติการและตำราคลังจดหมายเหตุชุมชนอีกมาก กล่าวคือ อาจต้องการเปลี่ยนแปลงกลุ่มเป้าหมายผู้ได้ประโยชน์จากคนระดับสูงมาเป็นคนชายขอบ และต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบทางจิตใจ และแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในการเผยแพร่เอกสารจดหมายเหตุต่อชุมชนชายขอบไปพร้อม ๆกันด้วย

           Caswell ใช้โครงการ Where We Belong : Artists in the Archive (SAADA, 2017a) ของ the South Asian American Digital Archive (SAADA) (www.saada.org) เป็นหลักในการสอบทานว่า คุณค่าของหอจดหมายเหตุชุมชน และการเผยแพร่เพื่อสื่อสารสังคม ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนชายขอบอย่างไร ? โครงการนี้สร้างทฤษฎีจากการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมในการศึกษาชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียใต้ รัฐฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา เป็นโครงการที่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินอเมริกันเชื้อสายเอเชียใต้ สร้างงานศิลปะและเอกสารจดหมายเหตุเพื่อต่อต้านการลบล้างสัญลักษณ์ของชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นผู้อพยพ และใช้ประสบการณ์ในการทำงานกับ SAADA เสนอมุมมองผ่านการพัฒนาทฤษฎีผลกระทบ และเสนอแนะนักจดหมายเหตุกระแสหลัก ให้หันมาเรียนรู้ และให้ความสำคัญกับผลกระทบทางจิตใจต่อการนำเสนองานจดหมายเหตุในชุมชนคนชายขอบ โดยต้องให้ความสำคัญกับการประเมินคุณค่า การคัดแยกเอกสาร รวมทั้งการเผยแพร่เอกสารจดหมายเหตุที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ใช้ประโยชน์ที่เป็นคนชายขอบให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อทลายกำแพงการกีดกันในยุคอาณานิคม และทำลายแนวคิดที่คับแคบของผู้ใช้คลังข้อมูลจดหมายเหตุที่ให้ความสำคัญกับนักวิชาการมากกว่าสมาชิกในชุมชน Caswell สรุปว่า ทั้งหอจดหมายเหตุชุมชน และหอจดหมายเหตุกระแสหลักมีบทบาทสำคัญสำหรับการยุติการนำเสนอภาพแทนการกดขี่ การเอาเปรียบต่อชุมชนชายขอบในหอจดหมายเหตุ

           บทที่ 3. Community archives and the records continuum โดย Michael Piggott นักวิจัยและที่ปรึกษาด้านจดหมายเหตุ เมืองแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย ทำการสอบทานหอจดหมายเหตุชุมชนควบคู่ไปกับ ทฤษฎีการจัดการเอกสารอย่างต่อเนื่อง (Records Continuum) เพื่อทดลองนำทฤษฎี Records Continuum มาประยุกต์ใช้กับการจัดการเอกสาร และจดหมายเหตุชุมชน เพื่อพิจารณาว่าผลการดำเนินงานทั้ง 2 อย่าง มีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันหรือไม่ และมีอะไรที่สามารถหนุนเสริมซึ่งกันและกันได้

           การจัดการเอกสารและจดหมายเหตุแบบ Records Continuum คือ เอกสารและจดหมายเหตุถูกจัดการไปพร้อม ๆ กัน ในเวลาเดียวกัน และนิยามจดหมายเหตุแบบ Records Continuum ครอบคลุมถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่มีแหล่งที่มาชัดเจน สามารถนำมาจัดทำเป็นสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรมที่เชื่อถือได้ การจัดการเอกสารและจดหมายเหตุ ไม่แบ่งเป็นขั้นตอน และกระทำการทีละขั้นตอนเหมือนแบบวงจรชีวิตเอกสาร แต่จะจัดการใน 4 ทิศทางไปพร้อม ๆ กันคือ (1) การสร้างเอกสาร (Creation Documents) ให้เป็นเอกสาร (Records) (2) การคัดแยกเอกสาร (Capture Records) มาจัดเก็บเพื่อใช้งานในองค์กร (3) การจัดการ (Organize) เอกสารที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว (Non-current records) และ (4) การรวบรวม (Pluralize) มรดกทางวัฒนธรรมที่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน มาจัดเก็บเป็นจดหมายเหตุ และสุดท้าย การจัดการจะดำเนินการโดยมุ่งหวังให้เอกสารและจดหมายเหตุพัฒนาตัวเองไปสู่การแสดงถึงคุณลักษณะและความสำคัญของเอกสารและจดหมายเหตุใน 4 มุมมองคือ (1) แสดงความเป็นหลักฐาน (2) การแสดงความมุ่งหวังในการดำเนินธุรกรรม (3) การแสดงวิวัฒนาการของลักษณะเอกสารและจดหมายเหตุ และ (4) การแสดงอัตลักษณ์

           เดือนธันวาคม 2010 ที่ University of Dundee ผู้บรรยาย Terry Cook นำเสนอการสำรวจแนวคิดหลัก ๆ 4 ชุด ซึ่งครอบคลุมวาทกรรมจดหมายเหตุในศตวรรษที่ 20 โดย 3 แนวคิดแรกเป็นเรื่องของการแสดงลักษณะ (1) เป็นหลักฐาน (2) เป็นความทรงจำ และ (3) แสดงอัตลักษณ์ และสุดท้ายเป็นแนวคิดเรื่อง (4) ชุมชน Cook กล่าวว่า ชุมชนกังวลเรื่องการจัดการจดหมายเหตุแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเรื่องการจัดการหอจดหมายเหตุที่เหมาะสมกับจรรยาบรรณสังคม รูปแบบการสื่อสาร และความต้องการของชุมชนในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นยุคที่นักจดหมายเหตุจะเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักฐานและความทรงจำ ณ จุดสำคัญ ๆ ซึ่งถือว่าเป็นกรอบแนวคิด และแนวทางปฏิบัติหลัก

           จดหมายเหตุของชุมชนและทฤษฎี Records Continuum "ชุมชนปฏิบัติการ" ส่วนใหญ่แยกขาดจากกัน แนวคิดทั้ง 2 อาจถูกมองว่าเป็นชุมชนจดหมายเหตุที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กลุ่มจดหมายเหตุและมรดกชุมชนในอังกฤษและไอร์แลนด์ และกลุ่มวิจัยทฤษฎี Records Continuum ในออสเตรเลีย การนำแบบจำลองนี้ไปใช้กับเอกสารสำคัญของชุมชนแสดงให้เห็นประโยชน์ที่เป็นไปได้ และเกิดเป็นประโยชน์กับชุมชน

           ทั้งกลุ่มหอจดหมายเหตุของชุมชน และกลุ่มที่ยึดทฤษฎี Records Continuum เริ่มตระหนักว่าในปัจจุบัน สัญญาณการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์เริ่มชัดเจนขึ้น ส่งผลให้งานจดหมายเหตุเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แนวคิดต่าง ๆ เช่น ชุมชนเสมือนจริง การเคลื่อนไหวของ iPhone และ Big Data เป็นข้อสรุปว่า เป็นผลกระทบที่กว้างขวางของ “เทคโนโลยีขนาดใหญ่” และการยอมรับที่เพิ่มขึ้นของผู้คน ดังนั้นแนวคิดเรื่องจดหมายเหตุชุมชนและทฤษฎี Records Continuum จำเป็นต้องทำงานไปควบคู่กัน เพื่อให้หนุนเสริมซึ่งกันและกัน

           ส่วนที่สองนำเสนอกรณีศึกษา 7 กรณีศึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบในวงกว้างของจดหมายเหตุชุมชนทั้งด้านภูมิศาสตร์และเนื้อหา พร้อมกับนำเสนอคำอธิบายที่หลากหลายของจดหมายเหตุชุมชนโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชนเอง เริ่มจาก

           บทที่ 4 บทความ “Tuku mana taonga, tuku mana tāngata – Archiving for indigenous language and cultural revitalisation: cross sectoral case studies from Aotearoa, New Zealand โดย Claire Hall เป็นชาว Tauiwi (ไม่ใช่ชนเผ่าพื้นเมือง Māori) รุ่นแรกที่เป็นชาวนิวซีแลนด์เชื้อสายสกอตแลนด์ และไอริส เป็นนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และเป็นผู้จัดการที่ The Te Reo O Taranaki archive และ Honiana Love นักจดหมายเหตุที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง Māori ที่ Archives New Zealand และที่ Te Reo O Taranaki ประเทศนิวซีแลนด์ นำเสนอจดหมายเหตุเพื่อการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง Māori โดยให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ดั้งเดิม วิธีที่สมบัติล้ำค่าเหล่านี้ถูกนำเสนอ และทำให้เป็นตัวแทนในการเปรียบเทียบแนวปฏิบัติสำหรับหอจดหมายเหตุร่วมสมัยในเมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์

           ก่อนยุคอาณานิคม ชนเผ่าพื้นเมือง Māori ในประเทศนิวซีแลนด์ ใช้วิธีการจัดเก็บและเผยแพร่ความรู้ผ่านการรวบรวมข้อมูลสำคัญของชุมชน อาทิคำกล่าวสุนทรพจน์ เพลงการแสดง และงานฝีมือ ศิลปะแห่งการจดจำและการถ่ายทอดความรู้แบบดั้งเดิมมีคุณค่าอย่างสูง ความรู้ของชาว Māori มุ่งเน้นไปที่การเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับสถานที่ เรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทาง บรรพบุรุษ สิ่งปลูกสร้างและเทพเจ้า การจัดการข้อมูลเกิดขึ้นตามลำดับชั้นของเอกสารที่ถูกสร้างขึ้นอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ผู้รับได้รับทั้งเนื้อหาและบริบทของสิ่งที่ถูกนำเสนอไปพร้อม ๆ กัน ความรู้ดั้งเดิมแต่ละส่วน ทั้งเรื่องเล่า เพลง และงานเขียน จะถูกแบ่งชั้นเอกสารพร้อมที่มาและรหัสที่นำไปสู่การให้บริการและการใช้งานที่ถูกต้อง ต่อเมื่อชนเผ่าพื้นเมือง Māori ตกเป็นรัฐอาณานิคม ถูกบริหาร และสร้าง Collection จดหมายเหตุชนพื้นเมือง Māori บันทึกส่วนใหญ่ถูกรวบรวม จัดการโดยประเทศเจ้าอาณานิคม รวบรวมผ่านการทำสงคราม การโจรกรรม และการยึดครองที่ดิน ภาษา และวัฒนธรรม

           ผลกระทบของการล่าอาณานิคมสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง Māori คือ จำนวน Taonga Māori โบราณ (สมบัติของบรรพบุรุษ ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้) ที่นักสะสม และนักล่าสมบัติชาว Tauiwi (ไม่ใช่ชนเผ่าพื้นเมือง Māori) ต้องการรวบรวมให้กับองค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ ทั้งระดับชาติ และนานาชาติ ผ่านการบริจาคหรือนำไปมอบให้ โดยเจ้าของเดิม หอจดหมายเหตุในองค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ ชนพื้นเมือง Māori ซึ่งเป็นลูกหลานผู้สืบทอด ไม่ได้มีสิทธิ์พิเศษในการเข้าถึงข้อมูล พวกเขาได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงคลังข้อมูลเช่นเดียวกับนักวิจัย tau iwi (ไม่ใช่ชนเผ่าพื้นเมือง Māori) ที่ Walk in เข้ามาขอใช้คลังข้อมูล ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลเหล่านี้ ชนเผ่าพื้นเมือง Māori ถือว่าเป็นสมบัติล้ำค่าและเปรียบเหมือนบรรพบุรุษของพวกเขาก็ว่าได้

           ปัจจุบันวัตถุทางวัฒนธรรมถูกย้ายไปที่ Taranaki ซึ่งเป็นภูมิภาคชายฝั่งตะวันตกของหมู่เกาะด้านเหนือของประเทศนิวซีแลนด์ มันถูกตั้งชื่อตามภูเขา tupuna (บรรพบุรุษ) ซึ่งเป็นภูเขาของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ในภูมิภาค ในปี 2008 ได้สร้างหอจดหมายเหตุชุมชนของชนเผ่า Taranaki mātauranga (ความรู้ดั้งเดิม) เพื่อการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรม

           บทที่ 5. Self - documentation of Thai communities : reflective thoughts on the Western concept of community archives โดย ดร.กนกพร นาสมตรึก ซิมิโอนิกะ อาจารย์ประจำสาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย นำเสนองานวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาเอกที่ได้สำรวจหอจดหมายเหตุชุมชนในสังคมไทย โดยให้ความสำคัญกับการรักษามรดกวัฒนธรรมของชุมชนโดยเฉพาะมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ หรือ การอุทิศตนเพื่อรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนในทุกกระบวนการ ผ่านกรณีศึกษาชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 5 ชุมชน ดังนี้

           คุ้มวัฒนธรรมเมืองมัญจาคีรี บ้านหัน ตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการโดยนักสะสมพื้นถิ่น อาจารย์สุรศักดิ์ ธาดา ได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีชีวิตท้องถิ่นและภูมิปัญญาของชาวอำเภอมัญจาคีรี ทั้งภาพถ่าย ผ้าไหม และของใช้ในท้องถิ่นที่ได้รับบริจาคจากชาวบ้าน รวมทั้งคัมภีร์ใบลานจากวัดต่าง ๆ

           ชุมชนบ้านท่าม่วง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นชุมชนที่มีพลวัต ตั้งแต่หมู่บ้านถูกจัดการตามวิถีปฏิบัติแบบดั้งเดิม ขณะที่พยายามสร้างขนบธรรมเนียมประเพณีขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างความร่วมมือในชุมชน ดังนั้น ชุมชนท่าม่วงจึงกลายเป็นต้นแบบหอจดหมายเหตุในอุดมคติที่พยายามตรวจสอบ และทบทวนยุทธศาสตร์ของชุมชนในการรักษามรดกวัฒนธรรมชุมชน

           ชุมชนด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นตัวอย่างที่ดี ในการนำเสนอภาพแทนชุมชนไทยทั่ว ๆ ไป ที่มีทั้งเรื่องการจัดการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ การจัดการมรดกวัฒนธรรมถูกรวมเข้ากับประเพณีดั้งเดิมของชุมชน มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ จะเน้นไปที่การสะสมหน้ากากผีตาโขน และจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน วัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นวัดหลักในการจัดงานเทศกาลผีตาโขน ของชุมชนด่านซ้าย (ผีตาโขนถือเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนด่านซ้าย) ถูกนำเสนอในรูปหุ่นที่ออกแบบเป็นหน้ากากที่มีสีสันสวยงาม สวมใส่โดยคนเชิดหุ่นผีตาโขน และเต้นรำไปพร้อมกับขบวนแห่ในงานพิธีบุญหลวง

           มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เป็นกิจกรรมทางจิตวิญญาณที่ได้รับการยอมรับจากชุมชนมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะพิธีบุญหลวง และงานเทศกาลผีตาโขน ซึ่งถูกจัดเป็นงานเทศกาลใหญ่ประจำปีมามากกว่า 450 ปี เป็นสัญลักษณ์และเป็นการจัดงานเทศกาลเพื่อการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของอำเภอด่านซ้าย พิธีส่วนใหญ่จะผูกโยงกับพุทธศาสนาและความเชื่อเรื่องวิญญาณ พิธีจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ของงานบุญผะเหวด ซึ่งเป็นวันเทศน์มหาชาติ และยังมีพิธีอื่นที่เกิดขึ้นหลังขบวนแห่คือ ประเพณีบุญบั้งไฟ หรือเทศกาลบ้องไฟ ซึ่งเป็นประเพณีขอฝนก่อนฤดูทำนา ที่ผูกโยงกับความเชื่อเรื่องเทพเจ้าพื้นเมือง คือพญาแถน ที่มีอำนาจสามารถบันดาลให้ฝนตก หรือฝนแล้งได้

           ห้องภาพเมืองสุรินทร์ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสาน และสภาเมืองสุรินทร์ จัดตั้งโดย สมาชิกสมาคมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ต้องการสืบสานประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ ผู้ก่อตั้งได้รวบรวมภาพจากชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์เขมร ที่มีความสนใจประวัติศาสตร์ของชุมชนตัวเอง เช่น งานหัตถกรรมท้องถิ่น ผ้าไหมและเครื่องเงิน รวบรวมประวัติศาสตร์บอกเล่า เรื่องเล่าจากภาพถ่ายเก่าที่ได้รับมอบมา ซึ่งเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะของคนในภาพ จากนั้นเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและตีพิมพ์งานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กิจกรรมของชุมชนด้วยการจัดแสดงภาพถ่ายตามโรงเรียน และวัดต่าง ๆ และใช้เป็นพื้นที่ฝึกฝนนักวิจัยท้องถิ่นรุ่นใหม่ สำหรับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

           ห้องภาพเมืองสุรินทร์ เป็นรูปแบบหอจดหมายเหตุชุมชนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับหอจดหมายเหตุชุมชนที่ถูกอภิปรายในงานศึกษาของชาวตะวันตก โดยเฉพาะรูปแบบที่ขับเคลื่อนโดยคนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ห้องภาพ ต้องการสะท้อนความคิดเห็นของผู้คนผ่านการตีพิมพ์งานประวัติศาสตร์บอกเล่า ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ห้องภาพ จะไม่ได้มาจากชุมชนที่เป็นตัวแทนเรื่องเล่าก็ตาม

           บทที่ 6 Popular music, community archives and public history online: cultural justice and the DIY approach to heritage โดย Paul Long ศาสตราจารย์ประจำศูนย์วิจัยสื่อและวัฒนธรรมศึกษาที่ Nottingham City University ประเทศอังกฤษ, Sarah Baker ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาวัฒนธรรม, Zelmarie Cantillon นักวิจัยหลังปริญญาเอก สาขาภาษาศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ที่ Griffith University ประเทศออสเตรเลีย, Jez Collins ผู้อำนวยการ Birmingham Music Archive และ Raphaël Nowak นักสังคมวิทยาวัฒนธรรม ประจำ The Griffith Centre for Social and Cultural Research ( GCSCR ) ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกันสำรวจการขยายตัวของกิจกรรมจดหมายเหตุชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประสบการณ์ และความทรงจำเกี่ยวกับดนตรีป็อป ซึ่งเกิดจากรูปแบบที่แตกต่างจากเพลงแนวแจ๊ส ร็อก โซล หรือ เพลงคันทรี่ เป็นการกำหนดแนวทางการทำความเข้าใจความหมายและความสำคัญของดนตรีป็อป คณะผู้เขียนได้สำรวจวิธีนำระบบดิจิทัลช่วยเรื่องการขยายตัวของกิจกรรม และเกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับการสร้างงานประวัติศาสตร์และงานจดหมายเหตุมีความเสมอภาค มีความเท่าเทียมมากขึ้น ทุกคนในโลกล้วนมีสิทธิในการสร้างงานประวัติศาสตร์และงานจดหมายเหตุบนพื้นที่ดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกัน

           ลักษณะของจดหมายเหตุชุมชนออนไลน์ของดนตรีป็อป สามารถอธิบายได้โดยอ้างอิงถึงดนตรีเฮฟวีเมทัล ซึ่งเป็นแนวเพลงที่มีผู้ฟังมากที่สุดในบริการ Streaming Spotify ความนิยมนี้ สัมผัสได้จากกิจกรรมที่คนหลายแสนคน มีส่วนร่วมในชุมชนออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Metal Wiki (https://metal.wikia.com) หรือ Metal Travel Guide (https://www. metaltravelguide.com) เว็บไซต์ Encyclopaedia Metallum : The Metal Archives (https://www.metal-archives.com) และส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวเพลงเมทัลบน Facebook สามารถพบได้ใน MetalMusicArchives หรือ Old School Metal รวมทั้งเสื้อยืดและของที่ระลึก ในขณะที่บน Twitter ผู้ใช้ชื่อ Black Antiquarium นำเสนอ รูปภาพของ Black Metal จากเพลงยุค 80, ยุค 90 ถึงปัจจุบัน โครงการที่ท้าทายมากที่สุดในการเชื่อมโยงชุมชนเพลงเมทัล คือ โครงการ Home of Metal ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองเพลงกลุ่มนี้ การรวบรวมคลังจดหมายเหตุดิจิทัล ของที่ระลึก และความทรงจำ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความความมุ่งมั่นของแฟนคลับ เป็นการพัฒนาคลังข้อมูล เป็นพื้นที่รวมตัวในลักษณะคลับ/สโมสรของเพลงร็อก เพลงเมทัล และเพลงอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มข้อมูลและวิจารณ์ได้โดยคนทั่วไป

           บทที่ 7 Maison d‘Haïti's collaborative archives project: archiving a community of records โดย Désirée Rochat นักการศึกษาชุมชน Kristen Young นักจดหมายเหตุชุมชน ของเมืองมอนทรีออล Marjorie Villefrancheกรรมการบริหาร La Maison d'Haïti และ Aziz Choudry ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการบูรณาการด้านการศึกษาที่ McGill University ประเทศแคนาดา นำเสนอโครงการบันทึกเอกสารจดหมายเหตุ เป็นการทำงานร่วมกับ Maison d’Haiti ซึ่งเป็นองค์กรทางชุมชนและวัฒนธรรมของชาวเฮติ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา องค์กร Maison d’Haiti ได้อุทิศตนเพื่อการศึกษาและทำงานร่วมกับชุมชนและครอบครัวผู้อพยพ ผ่านภารกิจในการส่งเสริม บูรณาการ และปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ และปกป้องสิทธิผู้อพยพชาวเฮติที่อาศัยอยู่ในเมืองควิเบก

           โครงการนี้ริเริ่มโดยผู้อำนวยการสถาบัน โดยได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครและสมาชิกในชุมชน ทำการสำรวจและบันทึกข้อมูลชุมชนตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ขณะที่แคนาดาตกเป็นประเทศอาณานิคมของผู้อพยพ และลูกหลานชาวอังกฤษและฝรั่งเศสที่มาตั้งถิ่นฐานในแคนาดา โดยการขับไล่ รุกรานและการยึดครองดินแดนของชนเผ่าพื้นเมือง การขยายตัวทางประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจทุนนิยมร่วมสมัยของแคนาดา คือการพึ่งพาระบบแสวงหาผลประโยชน์ผ่านเชื้อชาติ สถานการณ์ย้ายถิ่นฐาน และรูปแบบ “แรงงานที่ไม่เสรี” ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ชุมชนที่ถูกกำหนดและแบ่งแยกโดยเชื้อชาติยังคงต่อสู้และเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของพวกเขาทั่วรัฐควิเบกและประเทศแคนาดา ในโครงการพวกเขาทำบันทึกเรื่องเล่าถึงกระบวนการที่ชุมชนถูกต่อรอง ถูกสร้าง และสร้างใหม่ตามช่วงเวลาต่าง ๆ การบันทึกและจัดสร้างหอจดหมายเหตุชุมชน เพื่อรักษาและจัดระเบียบวัตถุวัฒนธรรม จัดเก็บด้วยบันทึก และกระบวนการที่หลากหลาย ขณะเดียวกันหอจดหมายเหตุชุมชนก็พยายามการสร้างพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของชุมชนในอนาคตด้วย

           บทที่ 8. Indigenous archiving and wellbeing: surviving, thriving, reconciling โดย Joanne Evans ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ , Shannon Faulkhead, Kirsten Thorpe, Narissa Timberyนักศึกษาปริญญาเอก คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ, Lauren Booker นักวิจัยและนักจดหมายเหตุ ประจำโครงการ PARADISEC และ Karen Adams ผู้อำนวยการหน่วยชนเผ่าพื้นเมือง คณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และสาธารณสุขศาสตร์ Monash Univerisy ประเทศออสเตรเลีย คณะผู้เขียนตระหนักถึงความหลากหลายของชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงชาวเกาะที่อาศัยอยู่ช่องแคบทอร์เรส และชุมชนต่าง ๆ ในประเทศออสเตรเลีย พวกเขาใช้คำว่า “ชาวเผ่าพื้นเมืองออสเตรเลีย” เพื่ออ้างถึงคนกลุ่มแรก ๆ ของออสเตรเลียที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่น่าสยดสยองซึ่งฝั่งอยู่ในความทรงจำอย่างยาวนาน และเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นชนเผ่าพื้นเมืองออสเตรเลียปัจจุบันจะไม่มีความเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งส่วนบุคคลและประสบการณ์ร่วม จากการถูกรุกรานและล่าอาณานิคม บาดแผลทางวัฒนธรรมและความบอบช้ำทางจิตใจในหลายรูปแบบยังคงส่งผลกระทบต่อผู้คน ครอบครัว และชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองชาวออสเตรเลียจำนวนมาก

           การเก็บรักษาบันทึก และการทำงานจดหมายเหตุ มีบทบาทสำคัญในการบันทึกพัฒนาการของระบอบอาณานิคมและระบบกดขี่ บ่อยครั้งที่วาทกรรมกระแสหลักของออสเตรเลียถูกเขียนและพัฒนาขึ้นเพื่อรับรองและยกย่องเรื่องเล่าเหตุการณ์ในอดีตที่แฝงไปด้วยความรุนแรง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของกระบวนการล่าอาณานิคมที่กระทำการโหดร้ายต่อชนเผ่าพื้นเมืองออสเตรเลีย รัฐและสถาบันจัดการจดหมายเหตุของออสเตรเลีย จัดการกับมรดกชุดนี้โดยการพิสูจน์ให้เห็นถึงการล่าอาณานิคม ไม่ใช่เพียงแค่เก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการประเมิน การให้คำอธิบาย จัดการ และการทำให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้โดยง่ายด้วย

           ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ชนเผ่าพื้นเมืองออสเตรเลีย พยายามเข้าถึงข้อมูลและบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพวกเขาในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พวกเขาต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทั้งจากเอกสารบันทึก ภาพอาคารและอุปกรณ์รอบ ๆ ตัวพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อชนเผ่าพื้นเมืองมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุจดหมายเหตุที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของนักล่าอาณานิคม ความเจ็บปวดไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบทั้งต่อผู้คนและประเทศชาติด้วย การที่ชนเผ่าพื้นเมืองเจ้าของวัฒนธรรมต้องเผชิญกับเรื่องราวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของประเทศผู้ล่าอาณานิคม พวกเขาต้องใช้ความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นจากเรื่องเล่าดั้งเดิม ที่เล่าสืบต่อกันมา รวมทั้งแนวปฏิบัติอื่น ๆ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ

           บทที่ 9 Community engaged scholarship in archival studies : documenting housing displacement and gentrification in a Latino community โดย Janet Ceja Alcalá ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจดหมายเหตุ คณะบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ที่ Simmons University ประเทศสหรัฐอเมริกา นำเสนอโครงการประวัติศาสตร์บอกเล่าและจดหมายเหตุชุมชนเพื่อบันทึกการพลัดถิ่นที่อยู่อาศัยและการแบ่งพื้นที่ในชุมชนชาวลาติน ในเมืองบอสตันตะวันออก รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

           เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2015 เลขที่ 173 - 175 ถนน Maverick Street ในเมืองบอสตันตะวันออก รัฐแมสซาชูเซตส์ มีประชาชน จำนวน 10 ครอบครัว ถูกขับออกจากอาคารที่พักอาศัยของพวกเขา เมื่อผนังด้านหลังอาคารที่ใช้ร่วมกันกับผนังอาคารอพาร์ตเมนต์พังทลายลงมา (WBZ 4 CBS Boston, 2015) อาคารนี้มีการละเมิดกฎทางโครงสร้างและขาดการบำรุงรักษา ซึ่งตามข้อมูลของ Boston's Inspectional Services Department ชี้ว่าน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผนังพังลง (Lynds, 2015) ก่อนหน้านี้ เจ้าของอาคารได้จ้างคนงานก่อสร้างมาบำรุงรักษาทรัพย์สินโดยไม่ได้ขอใบอนุญาตต่อเติมจากเมืองบอสตันให้ถูกต้อง ต่อมาเจ้าของอาคารแจ้งว่า จะยกเลิกสัญญาเช่า และไม่จ่ายค่าที่อยู่อาศัยชั่วคราวของผู้เช่าอีกต่อไป ส่งผลกระทบต่อครอบครัวลาตินที่ต้องพลัดถิ่นที่อยู่อาศัย ทำให้พวกเขาต้องการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

           Janet Ceja Alcalá ใช้โครงการประวัติศาสตร์บอกเล่า ภายใต้ชื่อ “Eastorias” เพื่อชี้ให้เห็นว่า จดหมายเหตุ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำงาน ช่วยสนับสนุนทุนสำหรับชุมชนในการเรียนรู้การจัดทำข้อมูลและให้แนวปฏิบัติด้านจดหมายเหตุเพื่อความยุติธรรมทางสังคม การร่วมมือนี้เป็นตัวอย่างให้จดหมายเหตุที่สนใจในการผสมผสานเรื่องหอจดหมายเหตุชุมชนเข้ากับหลักความยุติธรรมทางสังคม สามารถบูรณาการเข้ากับงานวิจัยและการสอนได้

           บทที่ 10 Post – x : Community-Based Archiving in Croatia โดย Anne J. Gilliland รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยฝ่ายสารสนเทศศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และสารสนเทศศึกษาที่ University of California ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Tamara Štefanac ผู้อำนวยการ The Croatian Railway Museum ประเทศโครเอเชีย เสนอมุมมองเกี่ยวกับบทบาทที่หลากหลายของหอจดหมายเหตุชุมชน โดยเฉพาะบทบาทนักจดหมายเหตุที่ต้องปรับตัวเข้ากับโครงสร้างทางสังคมของประเทศโครเอเชีย โดยพิจารณากรอบการจัดตั้งหอจดหมายเหตุชุมชนภายใต้เงื่อนไขทางสังคมและการเมืองยุคหลังยูโกสลาเวีย และหลังเกิดความขัดแย้งในโครเอเชียซึ่งถูกเรียกว่า "ยุคหลัง x" โดยที่ “ข้อมูลและข้อเท็จจริง”ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และความทรงจำเป็นชุดข้อมูลเดียวกัน การสร้างหอจดหมายเหตุความทรงจำ หรือหอจดหมายเหตุชุมชนในโครเอเชียส่วนใหญ่จัดตั้งโดยสถาบันที่มีภารกิจเกี่ยวกับชาติพันธุ์ และชาตินิยม ดำเนินการโดยชุมชน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร ขณะที่แนวคิดด้านจดหมายเหตุและทฤษฎีเชิงวิพากษ์ “ยุค Post ต่าง ๆ ” ถูกสร้างขึ้นทั่วโลก มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับโครเอเชียแล้ว ยังคงยึดกรอบและแนวปฏิบัติแบบเดิม ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง

           สาธารณรัฐโครเอเชีย ประกาศเอกราชจากสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (SFRY) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1991 ต่อมาถูกนำเข้าสู่สงคราม เมื่อประชากรชาวเซิร์บในโครเอเชียก่อกบฏ กองทัพแห่งชาติยูโกสลาเวีย และกลุ่มทหารชาวเซิร์บ โจมตีตามแนวพรมแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ชาวโครเอเชียตะวันออกพบกับการต่อสู้ที่รุนแรงที่สุดตลอดระยะเวลา 87 แรกวันที่โดนปิดล้อม ชาวโครเอเชียทั่วประเทศต่างเผ้าติดตามการรายงานข่าว จากรายการวิทยุของซินีซา กลาวาเซวิช์ (Siniša Glavašević) ในเมืองชายแดนวูโควาร์ ซึ่งเป็นเมืองแรกในยุโรปที่ถูกทำลายทั้งหมดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะติดตามรายการ พวกเขาได้รับความเจ็บปวดทางจิตใจ และร่วมกันภาวนาด้วยความหวังจนกระทั่งเสียงวิทยุเงียบลง ทหารและพลเรือนหลายร้อยคนรวมทั้ง Glavašević ถูกกองกำลังชาวเซิร์บประหารชีวิตโดยการยิงเป้า หลังจากเมืองถูกยึดครอง ศพของพวกเขาถูกขุดขึ้นมาจากหลุมฝังศพหมู่ ในฟาร์มแห่งหนึ่งที่ Ovčara นอกเมือง Vukovar ในปี 1997

           ประสบการณ์การทำงานหอจดหมายเหตุชุมชนของโครเอเชีย เป็นการนำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเอกสารสำคัญของชุมชน ซึ่งริเริ่มโดยชุมชน และนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ได้ข้อมูลชาติพันธุ์วิทยาจากงานภาคสนามและจากการสัมภาษณ์ งานภาคสนามนี้ให้ความสำคัญกับเงื่อนไขและบริบทที่กระตุ้นให้เกิดการบันทึกเอกสาร ความทรงจำและประเด็นมรดกวัฒนธรรมอื่น ๆ รวมทั้งวิธีการนำเสนอที่เคารพความทรงจำและมุมมองที่แตกต่างของชุมชน ภายใต้บริบทชาติ เป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับเอกราช และเกี่ยวข้องกับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ ความทรงจำ และภาคประชาสังคม

บทสรุป

           ในหอจดหมายเหตุทั้งระดับสถาบันและชุมชน หากไม่เห็นความสำคัญ ไม่เก็บรักษาและทิ้งหรือทำลายเอกสารต้นฉบับ มันก็จะสูญหายไปตามกาลเวลา กรณีประวัติศาสตร์บอกเล่า รูปธรรมสำคัญ คือ คนส่วนใหญ่มองว่า ความรู้ ประสบการณ์ ประวัติบุคคล และชุมชนเป็นเรื่องปกติวิสัย เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่ควรให้ความสำคัญ เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นคนไร้บ้าน มีฐานะทางสังคมต่ำ คนในครอบครัวไม่เคยถามเธอเลยว่า อะไรคือสิ่งสำคัญสุดในชีวิตของเธอ ทำไมถึงจดจำเรื่องนี้ว่าสำคัญ บางครั้งอาจเป็นคำถามที่ยาก แต่ก็รู้ว่าเธอมีอะไรหลายอย่างที่จะแบ่งปันเรื่องราวที่อยากเล่า โดยเล่าเรื่องผ่านสิ่งของ และเหตุการณ์สำคัญแต่ไม่เคยมีใครสอบถามเธอ แต่เมื่อลูกหลานในชุมชนเริ่มรู้จักให้ความสำคัญ ช่วยกันเก็บรักษามันอย่างเป็นระบบ สุดท้ายจะเป็นเรื่องราวที่สุดวิเศษที่ชุมชนสัมผัสและรับรู้ได้ ลูกหลานจะเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญกับเรื่องราวของบรรพบุรุษ นั้นคือสิ่งที่ถูกถ่ายทอด แพร่กระจายและถูกเผยแพร่อยู่ในชุมชน หากว่าในหนึ่งปี มีคนที่สนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องหอจดหมายเหตุชุมชนสัก 10-20 คน และคนเหล่านี้ออกไปสอบถามข้อมูลเรื่องราวของผู้คนในชุมชนและนำเรื่องเล่า ประสบการณ์การจัดการหอจดหมายเหตุชุมชน มาถ่ายทอดให้ชุมชนอื่นได้รับรู้ และตระหนักว่า เรื่องราวเหล่านั้นควรค่าแก่การจัดเก็บ แบ่งปัน ถ่ายทอด และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

           หนังสือ “Community archives, community spaces : heritage, memory and identity / edited by Jeannette A. Bastian and Andrew Flinn” เล่มนี้ เปิดมุมมอง และโลกทัศน์ของผู้อ่านที่มีต่องานจดหมายเหตุ ตั้งแต่ระดับชุมชน ถึงระดับสถาบัน และระดับชาติ ผ่านการสำรวจวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนากรอบทฤษฎีใหม่เพิ่มเติม โดยเฉพาะหอจดหมายเหตุชุมชน ซึ่งมีความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พร้อมกับยกตัวอย่างวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับ และนำเสนอกรณีศึกษาหอจดหมายเหตุชุมชน ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งเรื่องจดหมายเหตุแห่งชาติ ของชนชั้นนำและหอจดหมายเหตุชุมชน ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนชายขอบ หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับนักเรียนนักศึกษา นักวิจัย และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ประเด็น หอจดหมายเหตุ คลังข้อมูลชุมชน แนวคิด ทฤษฎี การบริหารจัดการหอจดหมายเหตุ ที่ต้องการแสวงหาความร่วมมือจากคนในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการตั้งแต่การเก็บรวบรวมการจัดการ ตลอดจนการใช้ประโยชน์สืบไป

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสืออื่นของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library
 

บรรณานุกรม

Flinn, Andrew, . (2020). Community archives, community spaces : heritage, memory and identity . London: Facet.

Munday, Owen, .(2020).Community archives, community spaces : heritage, memory and identity. Archives and Records vol. 41, no. 3, p.322-323

Rayna Andrews, .(2022). Community Archives, Community Spaces: Heritage, Memory and Identity. Archival Issues. vol. 41, no. 2, p.64-66

วราภรณ์ พูลสถิติวัฒน์, .(2022). EP 3 Records Continuum. https://www.youtube.com
/watch?v=AbO12cGbpIw

วิศปัตย์ ชัยช่วย, .(2021). Records Continuum Theory: ทฤษฎีการจัดการเอกสารอย่างต่อเนื่อง. Records Continuum Theory: ทฤษฎีการจัดการเอกสารอย่างต่อเนื่อง


ผู้เขียน
อนันต์ สมมูล
นักบริการสารสนเทศ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ จดหมายเหตุชุมชน คลังข้อมูลชุมชน จดหมายเหตุแห่งชาติ แนวคิดและทฤษฎี อนันต์ สมมูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share