อาลัย ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ (Charles F. Keyes)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ขอร่วมแสดงความอาลัยต่อการจากไปของศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันผู้บุกเบิกและมีส่วนในการวางทิศทางการศึกษามานุษยวิทยาวัฒนธรรมในไทยและเอเชียอาคเนย์ (3 ตุลาคม 2480 - 3 มกราคม 2565)
ศาสตราจารย์ ชาร์ล เอฟ คายส์ ภาพจากฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ (Charles F. Keyes) ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เป็นนักเรียนมานุษยวิทยาและจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Cornell สหรัฐอเมริกา ทั้งเป็นนักมานุษยวิทยาที่เข้ามาทำการศึกษาหมู่บ้านภาคอีสานในช่วงปี ค.ศ. 1962 โดยได้รับคำแนะนำจาก Lauriston Sharp ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวิจัยหมู่บ้านชนบทไทยและหมู่บ้านชนบทในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ให้มาพบนักมานุษยวิทยา 3 ท่าน เพื่อช่วยเหลือเรื่องการเลือกสนาม ได้แก่ 1. Shedon Turner ซึ่งทำงานพัฒนาชุมชนให้กับ USOM และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย 2. William Klausner ซึ่งทำงานอยู่กับ Asia Foundation 3. Toshio Yatsushito ลูกศิษย์ของ Sharp ที่ทำงานภายใต้สัญญากับ SEATO และ ARPA1 ซึ่งในที่สุด อ.คายส์ ได้เลือกสนามในการเก็บข้อมูลเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ ณ หมู่บ้านหนองตื่น จังหวัดมหาสารคาม อ.คายส์ และ เจน คายส์ (Jane Keyes) ภรรยา ได้เก็บข้อมูลในหมู่บ้านหนองตื่น 15 เดือน และเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “Peasant and Nation: A Thai-Lao Village in a Thai State”2
รหัสภาพต้นฉบับของ UW 6311.2 Charles Keyes นุ่งผ้าโสร่งใส่ยืนอยู่หน้าบ้าน จังหวัดมหาสารคาม ประเทศไทย ตุลาคม พ.ศ. 2506 | พ.ศ. 2506 | บ. หนองตื่น ต. เขวา อ. เมือง จ.มหาสารคาม ประเทศไทย,east=103.41014; north=16.12766 | ภาพถ่าย
ที่มาของภาพ https://digital.lib.washington.edu/researchworks/handle/1773/17958
รหัสภาพต้นฉบับของ UW 6326.04 ครอบครัวของ Charles Keyes และชาวบ้าน อยู่หน้าบ้านพักของ Charles และ Jane Keyes จ. มหาสารคาม ประเทศไทย ธันวาคม พ.ศ. 2506 | พ.ศ. 2506 | บ.หนองตื่น ต.เขวา อ. เมือง จ.มหาสารคาม ประเทศไทย,east=103.41014; north=16.12766 | ภาพถ่าย
อ.คายส์ เริ่มงานวิจัยในประเทศไทย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 ประเด็นการวิจัยเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและความทันสมัย ชาติพันธุ์สัมพันธ์และวัฒนธรรมชาติ และวัฒนธรรมกับ “การพัฒนา” อ.คายส์ ทำหน้าที่อาจารย์ให้กับมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ตั้งแต่ ค.ศ. 1965 ต่อมาเป็นประธานภาควิชามานุษยวิทยา (1985-1990 และ 2007) และหัวหน้าศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (1986-1997) นอกจากนี้ รับตำแหน่งศาสตราจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประเทศไทย มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในเมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาติพันธุ์วิทยา ในเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ผลงานของ อ.คายส์ มีงานเขียน เป็นบรรณาธิการหรือบรรณาธิการร่วมหนังสืออีกกว่า 14 เล่ม และงานชาติพันธุ์วรรณนาหรือวารสารฉบับพิเศษและตีพิมพ์บทความอีกกว่า 80 เรื่อง3
อ.คายส์ ได้ให้เกียรติศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) แสดงปาฐกาเรื่อง “The Anthropology of Thailand and the Study of Social Conflict” ในการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 4 “วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 ซึ่งได้มีแปลสรุปและจัดพิมพ์บทปาฐกถาไว้ในบทความชื่อ “บทแปลสรุปมานุษยวิทยาว่าด้วยเรื่องเมืองไทยและการศึกษาความขัดแย้งในสังคมไทย” ที่แปลสรุปโดย ดร. รัตนา บุญมัธยะ ในหนังสือ วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง เล่ม 1 (ผู้สนใจสามารถชมบันทึกวิดีโอการประชุมได้ที่ https://channel.sac.or.th/th/website/video/detail_news/2509 )
ภาพการแสดงปาฐกาเรื่อง “The Anthropology of Thailand and the Study of Social Conflict” ในการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 4 “วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
นอกจากนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้โครงการ Digital Archive Research on Thailand เมื่อปี พ.ศ. 2553 ซึ่งทางมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้แลกเปลี่ยนลิงก์ภาพถ่ายจากภาคสนามของ อ.คายส์ กับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากสนามของ อ.คายส์ ระหว่างปี พ.ศ. 2506-2507 ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จ.มหาสารคาม จ.นครราชสีมา จ.ร้อยเอ็ด จ.ขอนแก่น จ.มุกดาหาร จ.กาฬสินธุ์ และ จ.นครพนม โดยเน้นประเด็นเรื่องศาสนา พิธีทางศาสนา พิธีกรรม กลุ่มชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมภาพถ่ายดังกล่าวที่เผยแพร่ในฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ที่ https://www.sac.or.th/databases/anthroarchive/collection_detail.php?collection_name=CK&level_name=collection.php
รหัสภาพต้นฉบับของ UW 63/BNT/Ri-14 Charles Keyes ดำนา บ้านหนองตื่น อ. เมือง จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. 2506 หรือ 2507 | พ.ศ. 2506 - พ.ศ. 2507 | บ. หนองตื่น ต. เขวา อ. เมือง จังหวัดมหาสารคาม ประเทศไทย,east=103.41014; north=16.12766 | สไลด์
ที่มาของภาพ https://digital.lib.washington.edu/researchworks/handle/1773/17451
รหัสภาพต้นฉบับของ UW 6720.23 นิคและนงเยาว์เล่นรถเข็นไม้, เงาและบุญสุขเล่นกับนิค นงเยาว์ และบัวบานในรถเข็น, ชาวบ้านอยู่ห้อมล้อมเงา บุญสุข นิค, เด็กเล่นในรถเข็น จังหวัดมหาสารคาม ประเทศไทย พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 | พ.ศ. 2510 | บ. หนองตื่น ต. เขวา อ. เมือง จังหวัดมหาสารคาม ประเทศไทย,east=103.41014; north=16.12766 | ภาพถ่าย
ที่มาของภาพ https://digital.lib.washington.edu/researchworks/handle/1773/18298
1 Charles F. Keyes, “Fieldwork as History: Letters between Two Researchers in Northeastern Thailand in 1963,” และ Charles F. Keyes, “Field Notes, Thailand August 9, 1962-November 12, 1962” (unpublished) อ้างถึงใน เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. เขียนชนบทให้เป็นชาติ กำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น. กรุงเทพฯ : 2562, หน้า 84-86.
2 เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. เขียนชนบทให้เป็นชาติ กำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น. กรุงเทพฯ : 2562, หน้า 84-86.
3 ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) https://www.sac.or.th/databases/anthroarchive/collection_detail.php?collection_name=CK&level_name=collection.php
เรียบเรียงโดย
รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์
นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ฐานข้อมูล จดหมายเหตุมานุษยวิทยา ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ Charles F. Keyes รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์