"The Golden Peninsula: ยลอุษาคเนย์จากมุมมองทางมานุษยวิทยา”

 |  พิพิธภัณฑ์ จดหมายเหตุ
ผู้เข้าชม : 2238

"The Golden Peninsula: ยลอุษาคเนย์จากมุมมองทางมานุษยวิทยา”

           เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เป็นเวทีที่สองของวงเสวนาออนไลน์อาจารย์คายส์ เดอะซีย์ครั้งที่ 2 "The Golden Peninsula: ยลอุษาคเนย์จากมุมมองทางมานุษยวิทยา” ร่วมเสวนาโดย ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

           วงเสวนานี้ได้กล่าวถึงงานเขียนชิ้นสำคัญของ Charles F. Keyes ในผลงานที่มีชื่อว่า “The Golden Peninsular: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia” ซึ่งอาจารย์ยศได้กล่าวไว้ในวงเสวนาว่า อาจารย์คายส์ได้ยกหนังสือเล่มนี้ให้เป็นหนังสือที่ท่านรักมากที่สุด ในบทความนี้จึงแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ภาคดังนี้ ภาคที่หนึ่ง: สรุปความจากวงเสวนาออนไลน์อาจารย์คายส์ เดอะซีรีย์ครั้งที่ 2 "The Golden Peninsula: ยลอุษาคเนย์จากมุมมองทางมานุษยวิทยา” และภาคที่สองหนังสือ The Golden Peninsular: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia ซึ่งเนื้อหาสรุปจากทั้งสองภาคจะช่วยทำให้ผู้อ่านเห็นว่าทำไมหนังสือเล่มนี้จึงเป็นผลงานที่อาจารย์คายส์รัก และภาคภูมิใจมากที่สุด

ภาคที่หนึ่ง: สรุปความจากวงเสวนาออนไลน์อาจารย์คายส์ เดอะซีรีย์ครั้งที่ 2 "The Golden Peninsula: ยลอุษาคเนย์จากมุมมองทางมานุษยวิทยา”

           วงเสวนาออนไลน์อาจารย์คายส์ เดอะซีย์ครั้งที่ 2 "The Golden Peninsula: ยลอุษาคเนย์จากมุมมองทางมานุษยวิทยา” ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากลูกศิษย์จากทั้ง 3 สถาบันหลักในภาคอีสาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีจุดประสงค์เพื่อบอกเล่าถึงผลงานชิ้นสำคัญของอาจารย์คายส์ที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้เป็นมรดกทางด้านวิชาการที่ช่วยบุกเบิกการศึกษาเกี่ยวกับไทยศึกษา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

ภูมิหลัง และความน่าสนใจของ The Golden Peninsular: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia โดย ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ

           อาจารย์ยศได้เริ่มเกริ่นถึงความทรงจำ และความรู้สึกเมื่อครั้งที่มีโอกาสได้ไปร่วมทานข้าวกับอาจารย์คายส์ และ Jane Keyes (เจน คายส์) ภรรยาของท่านพร้อมทั้งลูกศิษย์ท่านอื่น ๆ บรรยากาศในระหว่างที่ทานข้าวเป็นไปด้วยความเป็นกันเอง บทสนทนาในวันนั้นเป็นความรู้สึกที่อาจารย์ยศจำได้อย่างแม่นยำเพราะคำตอบที่ได้จากอาจารย์คายส์นั้นแทบไม่ใช้เวลาในการครุ่นคิดถึง และคุณเจน คายส์ ก็ยิ้มขึ้นมาทันทีเหมือนกับรู้คำตอบของอาจารย์คายส์อยู่แล้ว

อาจารย์ยศจึงได้ถามอาจารย์คายส์ว่า "ในบรรดางานทั้งหมดที่ทำมา งานชิ้นไหนที่อาจารย์รักมากที่สุด"

อาจารย์คายส์ตอบว่า "หนังสือเล่มนี้ The Golden Peninsula"

           นอกจากนี้อาจารย์ยศยังได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมระดับโลก และเล่าถึงเรื่องราวของอาจารย์คายส์ไปพร้อม ๆ กันเพื่อแสดงให้เห็นว่าหนังสือ The Golden Peninsular: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asiaได้รับอิทธิพลมาจาก 2 ประเด็น ดังนี้

           1. อิทธิพลจาก Lauriston Sharp (อาจารย์ลอริสตัน ชาร์ป) ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาจารยส์คายส์ และเป็นนักมานุษยวิทยาคนสำคัญผู้บุกเบิกภาควิชามานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ในปี 1936 และเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยศึกษาให้กับมหาวิทยาลัยคอร์เนล จากการเข้ามาทำโครงการวิจัยคอร์แนล-ไทยแลนด์ (Cornell-Thailand Project) ที่เป็นการศึกษาวิจัยชาวนาหมู่บ้านบางชันในแถบมีนบุรี กรุงเทพมหานคร กับการพัฒนาประเทศไทย ในปี 1947 ซึ่งอาจารย์ลอริสตัน ชาร์ป เป็นผู้แนะนำให้อาจารย์คายส์ทำวิจัยเกี่ยวกับชาวนาในภาคอีสานเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบข้อมูลกันได้

           2. อิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมระดับโลก เนื่องจากอาจารย์คายส์เริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ภายหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง (World War II) และสงครามเวียดนาม (Vietnam War) ห้วงเวลาดังกล่าวส่งผลต่อการทำงานของนักวิชาการสายมานุษยวิทยาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดกระแสต่อต้านอเมริกา นักวิชาการที่ทำงานกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (United States Department of State) โดยเฉพาะจากสำนัก Cornell อย่างอาจารย์ลอริสตัน ชาร์ป ที่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Cornell Mafia จึงทำให้อาจารย์คายส์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย

           อาจารย์ยศจึงได้นำเสนอว่าหนังสือ The Golden Peninsular: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia ของอาจารย์คายส์จึงเป็นการเติบโตภายใต้การรับอิทธิพลมาจากอาจารย์ลอริสตัน ชาร์ป เพราะอาจารย์ลอริสตัน ชาร์ป ให้ความสนใจกับการศึกษา “Adapation หรือการปรับตัว” และหนังสือเล่มนี้ยังถือเป็นผลผลิตที่ช่วยให้อาจารย์คายส์เข้าใจเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามากยิ่งขึ้น

           อีกประเด็นที่น่าสนใจที่อาจารย์ยศมองว่าอาจารย์คายส์มีความกล้าหาญ คือ Chapter 3 Rural Life in Theravada Buddhist Societies หรือบทที่ 3 ของหนังสือ อาจารย์คายส์ได้สร้างข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงว่ามีความสำคัญในฐานะของการเป็นผู้นำครอบครัว ในการขับเคลื่อนวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน และเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ชายมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับศาสนาซึ่งงานเขียนในลักษณะของมุมมองมองต่อบทบาททางเพศในช่วงปี 1970 ถือเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก

           สำหรับอาจารย์ยศเองนั้นหนังสือเล่มนี้ได้สร้างความประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่าน เพราะรู้สึกว่าอาจารย์คายส์ให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) หรือแหลมทอง The Golden Peninsula ในบริเวณไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ที่ช่วยสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของอาณาบริเวณศึกษา หรือกล่าวได้ว่าหัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้คือ “วัฒนธรรมเป็นภาพสะท้อนของการปรับตัวของมนุษย์ต่อเงื่อนไขการดำรงอยู่ และในขณะเดียวกันวัฒนธรรมเองกลายมาเป็นเงื่อนไขอีกชุดหนึ่งที่มนุษย์ต้องปรับตัวเข้าหา”

กรอบแนวคิดของ The Golden Peninsular: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia โดย รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

           อาจารย์ปิ่นแก้วได้วิเคราะห์ต่อจากอาจารย์ยศและนำเสนอถึงกรอบแนวคิดของหนังสือ The Golden Peninsular: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia ว่าผลงานเขียนของอาจารย์คายส์ถือเป็น weberianเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากงานของ Max Weber และใช้แนวคิดการศึกษาวัฒนธรรมของ Clifford Jame Geertz โดยนำเสนอว่าอาจารย์คายส์ไม่ได้ศึกษาวัฒนธรรมในแง่ของวัตถุ แต่ศึกษาจากการกระทำหรือการแสดงออกของมนุษย์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวต่อเงื่อนไขเพื่อดำรงชีวิตซึ่งแนวคิดนี้เรียกว่าการศึกษาระบบความหมาย

           ในมุมมองของอาจารย์ปิ่นแก้ว จากการศึกษางานเขียนทางด้านอุษาคเนย์ศึกษาของอาจารย์คายส์ทำให้พบว่าพลวัตวัฒนธรรมประกอบไปด้วย 2 มุมมอง ดังนี้ 1) การให้ความสำคัญกับการตีความจากประสบการณ์ของผู้คนมากกว่าการพุ่งเป้าไปที่วัฒนธรรมที่มีความตายตัว และ 2) การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งทั้ง 2 มุมมองนี้สะท้อนให้เห็นว่าอาจารย์คายส์ให้ความสำคัญกับการศึกษาเกี่ยวกับการปรับตัวระหว่างมนุษย์ และบริบทแวดล้อม

           ข้อจำกัดในการศึกษาครั้งนี้ที่อาจารย์ปิ่นแก้วได้วิเคราะห์ไว้เสริมจากอาจารย์ยศที่ได้กล่าวถึงบทบาทของผู้ชาย และบทบาทของผู้หญิงในบทที่ 3 คือ หนังสือเล่มนี้แม้จะมีกล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงไว้แต่ถูกกลืนไว้ด้วยการถูกวางโครงสร้างทางสังคมที่ไม่ได้มีการวิเคราะห์ชนชั้นทางสังคม เช่น หนังสือมีการกล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงในแง่ของศาสนาแต่เป็นบทบาทที่ปรากฎซ้อนทับในบทบาทผู้ชาย ในมุมมองของอาจารย์ปิ่นแก้วหนังสือเล่มนี้จึงสามารถตั้งคำถามต่อได้ว่าศาสนาของผู้หญิงมีความแตกต่างจากศาสนาของผู้ชายหรือไม่?
หรือแท้จริงแล้วมีมีความขัดกันจากปัจจัยของพื้นที่ศึกษา

The Golden Peninsular: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia ในมิติทางด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรรม โดย รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี

           ในช่วงสุดท้ายของวงเสวนาอาจารย์จักรกริชได้รีวิวหนังสือในฐานะคนรุ่นใหม่ที่รู้จักอาจารย์คายส์ผ่านการอ่านหนังสือด้วยการยกตัวย่าง Chapter 5 Cities in Changing Societies in Mainland Southeast Asia ของ The Golden Peninsular: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia ขึ้นมาอธิบายถึงการศึกษาเมืองเพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

           อาจารย์จักรกริชได้สนับสนุนสิ่งที่อาจารย์ยศได้กล่าวถึงในเรื่องของ “วัฒนธรรมเป็นภาพสะท้อนของการปรับตัวของมนุษย์ต่อเงื่อนไขการดำรงอยู่ และในขณะเดียวกันวัฒนธรรมเองกลายมาเป็นเงื่อนไขอีกชุดหนึ่งที่มนุษย์ต้องปรับตัวเข้าหา” (ในปัจจุบันเรียกแนวคิดนี้ว่ามานุษยวิทยาที่มีมากกว่ามนุษย์ (more-than-human anthropology) โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, (2564)) อาจารย์จักรกริชจึงได้ยกตัวอย่างในบทที่ 5 ของหนังสือซึ่งอาจารย์คายส์ได้อธิบายถึงความทันสมัยของเมือง ณ ยุคนั้นผ่านการนำเสนอในระดับของอุษาคเนย์จากการศึกษาเมืองในฐานะศูนย์รวมของความสัมพันธ์ที่อยู่ท่ามกลางพลวัตทางสังคม และวัฒนธรรมในมิติต่าง ๆ

           ตัวอย่างเช่น ในอดีตหรือยุคก่อนอาณานิคมการเกิดขึ้นของเมืองถูกตั้งอยู่บนฐานคิดของความเชื่อทางศาสนาจักรวาลวิทยาที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ศึกษา ผลิตออกมาเป็นวัตถุทางวัฒนธรรม เช่น สิ่งปลูกสร้างอาคาร กำแพงเมือง และสถานที่ประกอบพิธีกรรมที่ถูกกำหนดขึ้นโดยผู้นำ หรือผู้ปกครองเมือง งานเขียนของอาจารย์คายส์จึงได้สะท้อนให้เห็นว่าเมืองได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่อาณานิคมเข้ามาซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีเทคโนโลยีการเดินเรือเข้ามาส่งผลให้มีการติดต่อการค้าขายทางไกลโดยพ่อค้า ทูต และเจ้าเมืองต่าง ๆ การเจริญเติบโตขึ้นของเมืองจึงได้ถูกแทนที่ด้วยการค้า และระบบเศรษฐกิจ อาจารย์จักรกริชจึงพยายามชี้ให้เห็นว่าหากย้อนกลับไปที่ ปี 1977 ที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นครั้งที่ 2 แนวคิดในการเขียนงาน และการเล่าเรื่องของอาจารย์คายส์ถือว่าเป็นแนวคิดที่เหนือกาลเวลา

ภาคที่สอง: เนื้อหาสำคัญของหนังสือ The Golden Peninsular: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia

 

รูปที่ 1 ปกหนังสือ The golden peninsula : Culture and adaptation in mainland Southeast Asia จาก https://archive.org/details/goldenpeninsulac00keye

 

รูปที่ 2 ปกหนังสือ The golden peninsula : Culture and adaptation in mainland Southeast Asia จาก https://uhpress.hawaii.edu/title/the-golden-peninsula-culture-and-adaptation-in-mainland-southeast-asia/

 

           หนังสือเรื่อง The Golden Peninsular: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia ของอาจารย์คายส์เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจในการทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ในอุษาคเนย์ ซึ่งมีความหลากหลายในด้านประวัติศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค ทั้งนี้อาจารย์คายส์ได้เข้าไปศึกษาชีวิตของคนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่ของประเทศไทย, พม่า, ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม พร้อมทั้งวิเคราะห์ความหลากหลายเหล่านั้นทั้งในด้านวิถีชีวิต ประเพณี และศาสนาอาจารย์คายส์เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องพื้นฐานอันได้แก่ ประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนพื้นที่ที่ตั้งรกรากและอาศัยอยู่บนภาคพื้นทวีปของดินแดนอุษาคเนย์ตั้งแต่ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนกล่าวถึงระบบและโครงสร้างของกลุ่มคนพื้นถิ่นและชนเผ่าประกอบด้วยการทำมาหากิน และสร้างผลผลิตทั้งการทำประมงของชาวเล การทำไร่หมุนเวียนของชาวเขา การเพาะปลูกข้าวของชาวไทดำ เป็นต้น สังคมการเมืองและการปกครอง ความเชื่อ รวมถึงภาษา

           ในส่วนท้ายของเนื้อหาบทที่ 1 นั้นอาจารย์คายส์ได้กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม พร้อมทั้งให้รายละเอียดวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว ได้แก่ ชาวเซมัง ในอ่าวมาเลย์ ชาวฉิ่น ทางตอนเหนือของพม่า และชาวกะเหรี่ยง ในพม่าและไทย

           บทวิเคราะห์ถัดไปอาจารย์คายส์กล่าวถึงพัฒนาการของศาสนาพุทธเถรวาทในภาคพื้นทวีปของดินแดนอุษาคเนย์ โดยเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงรากฐานของศาสนาพุทธเถรวาทที่พัฒนามาจากศาสนาพุทธแบบอินเดีย ซึ่งเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ในด้านการค้า ศาสนาพุทธในพื้นที่อุษาคเนย์นี้ระยะแรกนั้นได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ ดังมีการกล่าวถึงตำนานของการสร้างเมืองฟูนันและจามปา ด้วยเรื่องที่พระเจ้าเกาฑิณยะ พราหมณ์ชาวอินเดียเดินทางมายังดินแดนแห่งนี้และอภิเษกกับพระนางโสมา พระธิดาของพญานาคที่ปกครองดินแดนแถบนี้รวมถึงการวิเคราะห์อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกในยุคอาณานิคมที่ส่งผลให้สังคมพุทธเถรวาทมีการเปลี่ยนแปลงไป

           ในบทที่ 3 อาจารย์ Charles F. Keyes เปรียบเทียบวิถีชีวิตในสังคมพุทธเถรวาทของผู้คนในพื้นที่พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา ภายใต้บริบทของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไปโดยให้ความสนใจที่ประเพณี พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตซึ่งสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนา ความสัมพันธ์และบทบาทของเพศชายและหญิง โดยกล่าวถึงว่าฝ่ายหญิงจะมีบทบาทเป็นผู้นำครอบครัวในแง่ของการดำรงชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจ ส่วนฝ่ายชายจะเป็นผู้นำในทางศาสนาและสังคมด้านอื่น

           การกล่าวถึงธรรมเนียมดั้งเดิมและการเปลี่ยนแปลงในเวียดนาม ค่อนข้างจะมีข้อแตกต่างจากพื้นที่อื่นในดินแดนนี้ เนื่องจากได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากวัฒนธรรมจีน เอเชียตะวันออก และวัฒนธรรมของฝรั่งเศสในช่วงยุคอาณานิคม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับวัฒนธรรมของเวียดนามจึงไม่ได้มุ่งสู่ประเด็นความสัมพันธ์ของศาสนาพุทธเถรวาทเหมือนดั่งวัฒนธรรมในดินแดนใกล้เคียง แต่เป็นการวิเคราะห์สังคมวัฒนธรรมที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครอง ผลของสงครามที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมถึงแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่ส่งผลต่อวัฒนธรรม

           ขณะที่บทสุดท้าย Charles F. Keyes พาไปสำรวจความเป็นเมืองในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในดินแดนภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์ ตั้งแต่ในยุคที่ผู้คนยังมีความเชื่อในเรื่องทางศาสนาจักรวาลวิทยาที่ถูกนำเสนอผ่านวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันและวัตถุวัฒนธรรม ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ถูกปรับเปลี่ยนไปเมื่อถึงยุคอาณานิคม มีการนำเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามามากยิ่งขึ้นและเป็นยุคที่เมืองมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมาจากช่วงอาณานิคมนั้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และความคิดความเชื่องของผู้คนในดินแดนนี้อีกด้วย

           จากเนื้อหาสรุปความจากวงเสวนาออนไลน์อาจารย์คายส์ เดอะซีรีย์ครั้งที่ 2 "The Golden Peninsula: ยลอุษาคเนย์จากมุมมองทางมานุษยวิทยา” และเนื้อหาสำคัญของหนังสือ The Golden Peninsular: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia จะช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นถึงการก่อร่างสร้างตัวของหนังสือเล่มนี้ภายใต้อิทธิพลต่าง ๆ ที่ทำให้เห็นว่าอาจารย์คายส์ได้พยายามอย่างหนักเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจอุษาคเนย์ศึกษาที่แม้ว่าจะผ่านมากว่า 27 ปีแล้วหลังจากที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก แนวคิดที่ใช้ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ถือเป็นแนวคิดที่มองไปข้างหน้า สามารถนำมาทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบันได้

           ผู้สนใจสามารถสืบค้นชุดเอกสารจดหมายเหตุของอาจารย์คายส์ ได้ที่ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา (ภายใต้การแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา) และสามารถเยี่ยมชมนิทรรศการจดหมายเหตุมานุษยวิทยา ณ ชั้น 1 อาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่จัดแสดงผลงานรูปถ่ายการทำงานภาคสนามของอาจารย์คายส์ และจัดแสดงผลงานทางวิชาการของอาจารย์คายส์ที่มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร–SAC Library และ Line: @sac-library

 

บรรณานุกรม

Charles F. Keyes. (1994). https://uhpress.hawaii.edu/title/the-golden-peninsula-culture-and-adaptation-in-mainland-southeast-asia/

Charles F. Keyes. (1995). https://archive.org/details/goldenpeninsulac00keye

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. (2564). ยาปฏิชีวนะในสวนส้ม :โรคกรีนนิ่งและมานุษยวิทยาที่มีมากกว่ามนุษย์. ในโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (บ.ก.), เชื้อดื้อยา : มานุษยวิทยาของยาต้านจุลชีพ (หน้า 112-141). กรุงเทพ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).


ผู้เขียน

จรรยา ยุทธพลนาวี, วิภาวดี โก๊ะเค้า, วรินกานต์ ศรีชมภู

นักบริการสารสนเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ The Golden Peninsula ยลอุษาคเนย์ มุมมองทางมานุษยวิทยา Charles F. Keyes อาจารย์คายส์ จรรยา ยุทธพลนาวี วิภาวดี โก๊ะเค้า วรินกานต์ ศรีชมภู

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา