รากฐาน-มาตรฐาน-การมีส่วนร่วม: พัฒนาการคลังข้อมูลดิจิทัล ศมส. ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

 |  พิพิธภัณฑ์ จดหมายเหตุ
ผู้เข้าชม : 2876

รากฐาน-มาตรฐาน-การมีส่วนร่วม: พัฒนาการคลังข้อมูลดิจิทัล ศมส. ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

           ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่บนโลกนี้ยังไม่รู้จักว่าอะไร คือ World Wide Web (WWW) มีอะไรบ้างบน WWW หรือแม้แต่วิธีที่จะใช้เข้าถึง WWW จนเมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษทิโมธี เบอร์เนอร์ ลี (Timothy Berners-Lee) ได้ประดิษฐ์ระบบ WWW และได้เขียนโปรแกรมสำหรับแสดงเว็บเพจ (web browser) ขึ้นในปี2533 (1990)1 และเผยแพร่สู่สาธารณชนเมื่อเดือนสิงหาคม 2534 (ภาพประกอบ 1) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา WWW ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชากรเกินครึ่งหนึ่งของโลก (4 พันล้านคน) โดยมีเว็บไซต์ออนไลน์อยู่บนระบบอินเทอร์เน็ตมากกว่า 1.98 พันล้านเว็บไซต์2 (Djuraskovic, 2022)

 

ภาพประกอบ 1 หน้าแสดงผลเว็บไซต์แรกของโลกที่เผยแพร่ผ่านระบบ WWW เมื่อปี 2534 (1990)

ที่มา: http://info.cern.ch/hypertext/WWW/TheProject.html

           ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 เมื่อนับถึงปัจจุบัน (2565) ก็มีอายุเกิน 30 ปีแล้วเช่นกัน องค์กรแห่งนี้ถูกจัดตั้งโดยมีพันธกิจสำคัญข้อแรก คือ “การสั่งสมความรู้” ทั้งในรูปแบบของการสร้างองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยา ผ่านการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพ และในรูปแบบการพัฒนาฐานข้อมูลด้านมานุษยวิทยา เพื่อเป็นฐานความรู้ที่ใช้ในการพัฒนาประเทศบนความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม (วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม อำนาจหน้าที่, ม.ป.ป.) ด้วยเหตุนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ศมส.จึงได้แสวงหา รวบรวม และพัฒนาฐานข้อมูลทางด้านสังคมศาสตร์-มนุษย์ศาสตร์ เพื่อให้บริการแก่นักวิจัย นักศึกษา และสาธารณชน จนในปัจจุบัน ศมส.มีฐานข้อมูลวิชาการที่พร้อมให้บริการมากถึง 30 ฐาน และมีทรัพยากรอื่น ๆ ที่พร้อมให้บริการมากกว่า 1 แสนรายการ (ภาพประกอบ 2)

 

ภาพประกอบ 2 หน้าแสดงผลเว็บไซต์ ศมส.เวอร์ชั่นล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่อย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นปี 2565 โดยมีส่วนให้บริการฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นอยู่ 30 ฐาน แบ่งออกเป็น 5 หมวด คือ 1) ชาติพันธุ์ 2) พิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ 3) มรดกวัฒนธรรม 4)โบราณคดีและประวัติศาสตร์ 5) แวดวงมานุษยวิทยา

 

           อย่างไรก็ดี กว่าจะมาถึงวันนี้ ศมส.ต้องผ่านการ “ลองผิดลองถูก” มาหลายครั้ง เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ผู้รับผิดชอบในการออกแบบและพัฒนาฐานข้อมูล นำเข้าและให้รายละเอียดข้อมูล รวมถึงการดูแลและคอยให้ความช่วยเหลือผู้ใช้บริการจะเป็น “นักวิชาการ” แม้กลุ่มคนเหล่านี้จะมีความเชี่ยวชาญทางด้านสังคมศาสตร์-มนุษย์ศาสตร์ แต่ยังขาดประสบการณ์ในการพัฒนาและบริหารจัดการฐานข้อมูล จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายเมื่อพวกเขาต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค (โปรแกรมเมอร์และเว็บดีไซน์เนอร์) เพื่อออกแบบ บริหารจัดการ และพัฒนาเนื้อหาข้อมูลควบคู่กันไป บทความนี้ จึงเป็นการถอดบทเรียนประสบการณ์การทำงานที่ผ่านของผู้เขียน ในฐานะนักวิชาการที่รับหน้าที่พัฒนาและบริหารจัดการฐานข้อมูลของ ศมส. โดยนำเสนอให้เห็นถึงพัฒนาการของคลังข้อมูลดิจิทัล ศมส.ตั้งแต่แรกเริ่ม-ปัจจุบันว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดใน 3 ช่วงเวลา คือ 1) ช่วงเวลาของการวางรากฐาน (2533-2555/1990-2012) 2) ช่วงเวลาของการทำให้เป็นมาตรฐาน (2556-2562/2013-2019) 3) ช่วงเวลาของการมีส่วนร่วม (2563-ปัจจุบัน/2020-ปัจจุบัน)


ช่วงเวลาของการวางรากฐาน (2533-2555/1990-2012)

           หากนับช่วงเวลาที่ระบบ WWW ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2533 (1990) จนถึงปัจจุบัน ระบบดังกล่าวนับว่ามีอายุได้เกิน 3 ทศวรรษแล้ว โดยในช่วงทศวรรษที่ 1 หรือที่ผู้คนทั่วไปรู้จักในชื่อ Web 1.0 (2533-2553/1990-2010) ถือเป็นช่วงเวลาของการวางรากฐาน คุณลักษณะที่สำคัญของเว็บไซต์ในช่วงนี้จะเป็นการ “อ่านอย่างเดียว” (Read-Only) ผู้ใช้บริการไม่สามารถแสดงความเห็นโต้ตอบกับเนื้อหาบนเว็บไซต์ได้ เนื้อหาทุกอย่างบนเว็บไซต์ถูกกำหนดและนำเข้าโดยผู้ดูแลระบบ เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้ว ผู้ใช้บริการมักไม่กลับเข้ามาใช้งานเป็นครั้งที่สอง เพราะข้อมูลไม่มีการอัพเดท3 อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่ช่วงทศวรรษที่ 2 หรือที่ผู้คนทั่วไปรู้จักในชื่อ Web 2.0: Social Web (2543-2553/2000-2010) ผู้คนเริ่มตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ บนระบบ WWW มากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเว็บไซต์ข่ายสังคมออนไลน์ (social media website)4 ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ต่อระบบอินเทอร์เน็ต คุณลักษณะที่สำคัญของเว็บไซต์ในช่วงเวลานี้ คือ “ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบและมีส่วนร่วมในการสร้าง นำเข้า หรือแก้ไขเนื้อหาและรูปแบบในระบบได้”

           เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาการดำเนินงานด้านคลังข้อมูลดิจิทัลของ ศมส. ในช่วงเวลาเดียวกัน (2533-2553) ถือเป็น “ช่วงเวลาของการวางรากฐาน” ขององค์กรแห่งนี้เช่นกัน เพราะภายหลังการจัดตั้งเมื่อปี 2534 องค์กรแห่งนี้ต้องใช้เวลาอีกเกือบ 10 ปี (2543) จึงได้เริ่มให้บริการฐานข้อมูลออนไลน์จากสารสนเทศทางมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยศิลปากร (ภาพประกอบ 2) โดยมีฐานข้อมูลแรกเริ่มที่ปรากฎบนเว็บไซต์ 2 ฐานข้อมูล คือ 1) พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทย 2) กลุ่มชาติพันธุ์

 

ภาพประกอบ 2 หน้าแสดงผลเว็บไซต์หลักของ ศมส. ที่ได้รับการจัดเก็บอยู่บน Internet Archive เมื่อปี 2543 (2000) ที่มา: https://web.archive.org/web/20220000000000*/sac.or.th

 

           อย่างไรก็ดี อีกเพียง 3 ปีถัดมา (2546) ศมส.มีฐานข้อมูลที่ให้บริการสืบค้นแก่ผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 19 ฐานข้อมูล เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เว็บไซต์ ศมส.มีการเผยแพร่ฐานข้อมูลใน 2 ลักษณะ คือ 1) ฐานข้อมูลที่เปิดให้บริการสืบค้นแบบออนไลน์ผ่านระบบ WWW ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 10 ฐานข้อมูล 2) ฐานข้อมูลที่เปิดให้บริการสืบค้นเฉพาะที่ห้องสมุดเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 9 ฐานข้อมูล (ภาพประกอบ 3-5) มีรายละเอียด ดังนี้

 

ภาพประกอบ 3 หน้าแสดงผลเว็บไซต์ของ ศมส.ที่ได้รับการจัดเก็บอยู่บน Internet Archive เมื่อปี 2546 (2003) แสดงรายชื่อฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ ซึ่งมีทั้งแบบให้บริการสืบค้นออนไลน์ และให้บริการสืบค้นเฉพาะที่ห้องสมุดเท่านั้น

 

ภาพประกอบ 4 หน้าแสดงผลฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์และศูนย์วัฒนธรรมในประเทศไทย ซึ่งได้รับการจัดเก็บอยู่บน Internet Archive เมื่อปี 2546 (2003) เป็นที่น่าสังเกตว่าข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ที่เผยแพร่อยู่บนฐานข้อมูลนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และพิพิภัณฑ์ทั่วไป อีกทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับ “ศูนย์วัฒนธรรมในประเทศไทย” ยังถูกจัดรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลนี้ด้วย

 

ภาพประกอบ 5 หน้าแสดงผลฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการจัดเก็บอยู่บน Internet Archive เมื่อปี 2546 (2003)

           เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์ในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว อาจกล่าวได้ว่าฐานข้อมูลทั้งหมดของ ศมส.ในช่วงเวลานี้ “มีลักษณะของการสื่อสารทางเดียว” (Web 1.0) โดยมีนักวิชาการที่รับผิดชอบเป็นผู้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่มีการสื่อสาร หรือเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาบนเว็บไซต์ นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงเวลาของการวางรากฐาน ได้ปรากฎรายชื่อฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจซึ่งสามารถแบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มฐานข้อมูลที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ศิลปะโดยใช้ “สไลด์” เป็นแหล่งข้อมูล เช่น ฐานข้อมูลสไลด์ศิลปะล้านนา ฐานข้อมูลสไลด์ศิลปะสุโขทัย ฐานข้อมูลสไลด์ศิลปะอยุธยา5 2) กลุ่มฐานข้อมูลที่มีเนื้อหาเจาะจงไปที่กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ฐานข้อมูลชนชาติมอญ ฐานข้อมูลชนชาติจ้วง6 3) กลุ่มฐานข้อมูลที่ปัจจุบันเลิกให้บริการไปแล้ว เช่น ฐานข้อมูลชนชาติมอญ ฐานข้อมูลศิลปินแห่งชาติ ฐานข้อมูลดนตรีไทย 4) กลุ่มฐานข้อมูลที่ยังให้บริการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยอาจมีการปรับเปลี่ยน หรือควบรวมเนื้อหา เช่น ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ฐานข้อมูลรายชื่อวรรณกรรมท้องถิ่นภาคตะวันตก7 ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทย8 ฐานข้อมูลของเล่นพื้นบ้านไทยในอดีตและฐานข้อมูลเครื่องจักสาน9 ฐานข้อมูลทำเนียบนักวิชาการสาขาสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์10 ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้เริ่มมีการวางวิสัยทัศน์ขององค์กร (2543-2547) ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยมุ่งที่จะ “เป็นศูนย์กลางการพัฒนาการศึกษาค้นคว้าทางมานุษยวิทยาของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และมีพันธกิจข้อหนึ่ง คือ “พัฒนาข้อมูลและเครือข่ายข้อมูลทางมานุษยวิทยา” (ภาพประกอบ 6)

 

ภาพประกอบ 6 หน้าแสดงผลเว็บไซต์หลัก ศมส.ที่ได้รับการจัดเก็บอยู่บน Internet Archive เมื่อปี 2548 (2005) ได้ปรากฎให้เห็นความคลี่คลายบางประการของฐานข้อมูลที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ ศมส. โดยฐานข้อมูล “พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทย” เปลี่ยนชื่อเป็น “ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์” หรือฐานข้อมูลที่เคยจำแนกตามกลุ่มชาติพันธุ์ก็ได้รับการควบรวมเป็น “ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์” เพียงฐานข้อมูลเดียว นอกจากนี้ ยังได้ปรากฎ “จารึกในประเทศไทย” ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานข้อมูลสำคัญของ ศมส.ที่ยังดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน


ช่วงเวลาของการทำให้เป็นมาตรฐาน (2556-2562/2013-2019)

           ในขณะที่โลก WWW กำลังเข้าสู่ช่วงทศวรรษที่ 3 หรือที่ผู้คนทั่วไปรู้จักในชื่อ Web 3.0: Semantic Web (2553-2563/2010-2020) ถือเป็นช่วงเวลาของการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้ใช้งานจากยุค Social Web อีกทั้งพัฒนาการของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้เข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบ WWW กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนเกินครึ่งหนึ่งของโลก คุณลักษณะที่สำคัญของเว็บไซต์ในช่วงนี้ คือ เนื้อหาที่สร้างขึ้นได้รับการแบ่งปันและเชื่อมต่อเพื่อการวิเคราะห์ ผ่านทาง “ความหมายของคำ” (meaning words) มิใช่การใช้คำค้นตามตัวสะกด (keywords) เหมือนแต่ก่อน เครื่องจักรสามารถเข้าใจและแยกแยะสารสนเทศได้เหมือนมนุษย์ โดยสามารถประมวลผลลัพธ์ได้รวดเร็ว ครอบคลุมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานในการค้นหาข้อมูลมากขึ้น สามารถเข้าใจและเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งได้ (relative terms) รวมถึงจดจำได้ว่าผู้ใช้บริการกำลังสนใจอะไร ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาสิ่งที่สนใจได้ง่ายขึ้น เช่น ผู้คน สถานที่ เหตุการณ์ ชื่อสินค้า ภาพยนตร์ ฯลฯ นอกจากนี้ ข้อมูลและประสบการณ์ของผู้ใช้งานจะถูกเชื่อมต่อถึงกัน เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงการให้บริการตามความต้องการของผู้ใช้ เนื้อหาสามารถเข้าถึงได้หลากหลายผ่านทางอุปกรณ์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต สมาร์ตทีวี มิได้จำกัดการใช้งานผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์แต่เพียงอย่างเดียว

           ในส่วนของ ศมส. ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็น “ช่วงเวลาของการทำให้เป็นมาตรฐาน” (2556-2562/2013-2019) สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ช่วงเวลาดังกล่าว เกิดขึ้นจากบรรดานักวิชาการของ ศมส.เริ่มตระหนักแล้วว่า “การเข้าใจแค่เพียงเนื้อหาวิชาการอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการฐานข้อมูล จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการจัดการข้อมูลด้วย” ด้วยเหตุนี้ ศมส.จึงได้จัดตั้ง “โครงการจัดการเนื้อหาคลังข้อมูลดิจิทัล ศมส.” (2556/2013) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ 1) สำรวจและทบทวนองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคลังข้อมูลดิจิทัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2) จัดกิจกรรมฝึกอบรมและการบรรยายต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้ในการจัดการข้อมูลให้กับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง (นักวิชาการ ผู้ช่วยนักวิจัย และเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์) รวมถึงเครือข่ายที่สนใจ 3) จัดทำร่างนโยบายการจัดการเนื้อหาข้อมูลดิจิทัลสำหรับองค์กร และจัดทำคู่มือปฏิบัติงานประจำแต่ละฐานข้อมูล

           ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดต่อพัฒนาการด้านคลังข้อมูลดิจิทัล ศมส. และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ ได้มีการประยุกต์เอาขั้นตอนการจัดการข้อมูลดิจิทัลที่เป็นมาตรฐานสากล มาปรับใช้กับขั้นตอนการดำเนินงานด้านคลังข้อมูลดิจิทัลของ ศมส. จนนำไปสู่การจัดทำแนวปฏิบัติการจัดการคลังข้อมูลดิจิทัล (2557/2014) (ภาพประกอบ 7) รวมถึงการนำเอาเมทาดาทา (metadata) ต่าง ๆ ที่เป็นมาตรฐานสากลมาปรับใช้กับการออกแบบและพัฒนาฐานข้อมูล จนก่อให้เกิดฐานข้อมูลกลุ่มใหม่ที่สามารถแลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลของหน่วยงานภายนอกได้ ตัวอย่างของฐานข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เช่น

  • ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยาที่ได้ประยุกต์เอา International Standard Archival Description หรือ ISAD(G) (ภาพประกอบ 8) ซึ่งเป็นชุดเมทาดาทามาตรฐานที่ใช้สำหรับจัดการและให้คำอธิบายเอกสารจดหมายเหตุ มาปรับใช้กับการจัดการเอกสารงานวิจัยภาคสนามทางมานุษยวิทยา (ภาพประกอบ 9)
  • ฐานข้อมูลภาชนะดินเผาในประเทศไทยที่ได้ประยุกต์เอา Categories for the Description of Works of Art (CDWA) ซึ่งเป็นชุดเมทาดาทามาตรฐานที่ใช้สำหรับอธิบายวัตถุจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ มาปรับใช้กับการอธิบายข้อมูลภาชนะดินเผาที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย (ภาพประกอบ 10)
  • รวมถึงฐานข้อมูลต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย เอกสารโบราณในภูมิภาคตะวันตก แหล่งโบราณคดีในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ของเล่นพื้นบ้านในประเทศไทย เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านในประเทศไทย ประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย งานวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ฯลฯ ที่ได้ประยุกต์เอา Dublin Core Metadata Element Set มาปรับใช้กับการอธิบายทรัพยากรดิจิทัล (ระเบียนข้อมูล) ที่เผยแพร่อยู่บนฐานข้อมูล (ภาพประกอบ 11-13)

 

ภาพประกอบ 7 “MAKE IT DIGITAL” เป็นแนวปฏิบัติการสร้างองค์ประกอบข้อมูลดิจิทัลของประเทศนิวซีแลนด์ที่ผู้ปฏิบัติงานของ ศมส.ในขณะนั้น (2557) เลือกนำมาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาแนวปฏิบัติการจัดการคลังข้อมูลดิจิทัล ศมส. อย่างไรก็ดี แนวปฏิบัติสำหรับการจัดการคลังข้อมูลดิทัล ศมส.ก็ได้มีการปรับปรุง และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเวอร์ชั่นล่าสุด คือ “Data Lifecycle Management” หรือ DLM (2565) ซึ่งถูกออกแบบขึ้นเพื่อจัดการทรัพยากรดิจิทัลขององค์กรทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ เอกสาร (documents) ภาพนิ่ง (still images) ภาพเคลื่อนไหว (moving images) และไฟล์เสียง (audio) ตามวงจรชีวิตที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้น คือ 1) วางแผน (Plan) 2) ได้มา (Get) 3) จัดการ (Manage) 4) อธิบาย (Describe) 5) ตรวจสอบและบันทึก (Check & Save) 6) แบ่งปัน (Share) 7) แปรรูป (Transform)

ที่มา: http://www.digitalnz.org/make-it-digital/getting-started-with-digitisation

 

ภาพประกอบ 8 หน้าแสดงผลฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยาที่ได้รับการจัดเก็บอยู่บน Internet Archive เมื่อปี 2557 (2014) หน้าแสดงผลดังกล่าว ถือเป็นเวอร์ชั่นที่ 2 ของฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา ภายหลังการปรับปรุงการนำเสนอข้อมูลให้เป็นไปตามระบบ ISAD(G)

 

ภาพประกอบ 9 หน้าแสดงผลฐานข้อมูลภาชนะดินเผาในประเทศไทยที่ได้ประยุกต์เอา CDWA ซึ่งเป็นชุดเมทาดาทามาตรฐานที่ใช้สำหรับอธิบายวัตถุจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ มาปรับใช้กับการอธิบายข้อมูลภาชนะดินเผาที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย

 

ภาพประกอบ 11 หน้าแสดงผลฐานข้อมูลเอกสารโบราณในภูมิภาคตะวันตกที่ได้ประยุกต์เอา Dublin Core Metadata Element Set มาปรับใช้กับการอธิบายเอกสารโบราณ

 

ภาพประกอบ 12 หน้าแสดงผลฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทยที่ได้ประยุกต์เอา Dublin Core Metadata Element Set มาปรับใช้กับการอธิบายประเพณีท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทย

 

ภาพประกอบ 13 หน้าแสดงผลฐานข้อมูลงานศึกษาวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่ได้ประยุกต์เอา Dublin Core Metadata Element Set มาปรับใช้กับการอธิบายรายงานวิจัยต่าง ๆ ของ ศมส.

 

ช่วงเวลาของการมีส่วนร่วม (2563-ปัจจุบัน/2020-ปัจจุบัน)

           ขณะนี้ เรากำลังอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 4 หรือที่ผู้คนทั่วไปรู้จักในชื่อ Web 4.0: Symbiotic Web (2563-2573/2020-2030) ถือเป็นยุคที่ AI (Artificial Intelligence) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในการตอบสนองพฤติกรรมการเข้าถึงและใช้งานของผู้คนบนระบบ WWW คุณลักษณะที่สำคัญของเว็บไซต์ในช่วงนี้ คือ เว็บไซต์ที่สามารถคิดได้ สามารถอ่านเนื้อหา รูปภาพ และตอบสนองด้วยการคำนวณ หรือสามารถตัดสินใจได้ว่าจะดึงข้อมูลใดมานำเสนอให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน รูปแบบการประมวลผลข้อมูลได้ก้าวข้ามจากการวิเคราะห์ “ข้อมูล” ไปเป็นการวิเคราะห์ “กิจกรรม” แทน เพราะข้อมูลทุกอย่างถูกเชื่อมโยงและแบ่งปันกันได้อย่างเสรี สิ่งที่สนใจจึงเป็นเรื่องของ “กิจกรรม” ที่ผู้ใช้งานกำลังดำเนินการอยู่

           ศมส.ตระหนักดีว่าตนเองกำลังไล่ตามความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในช่วงทศวรรษที่ 4 ซึ่งพร้อมที่จะทอดทิ้งผู้คนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันเอาไว้เบื้องหลัง อย่างไรก็ดี สิ่งที่องค์กรแห่งนี้ให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาข้อมูลให้มีคุณภาพ และนำเสนอภายใต้เทคโนโลยีที่ทันสมัย คือ “การทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล” โดยการส่งเสริมให้เจ้าของข้อมูล หรือชุมชนเจ้าของข้อมูลทางวัฒนธรรมที่ ศมส.ร่วมงานด้วย ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดเก็บ จัดการ และนำเข้าข้อมูลสู่ระบบด้วยตนเอง มิใช่เป็นแค่ผู้ให้ข้อมูลแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หลักการดังกล่าวสอดคล้องกับความตั้งใจของ ศมส. ซึ่งต้องการส่งเสริมให้ชุมชนได้มีสิทธิทางวัฒนธรรมในการบอกเล่าประวัติความเป็นมา ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของพวกเขาด้วยตนเอง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลชุมชนเหล่านี้ ในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ นอกจากนี้ ศมส. ยังพยายามส่งเสริมให้เกิดการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้บนคลังข้อมูลดิจิทัล ศมส. โดยมุ่งหวังให้ผู้ใช้บริการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ แบ่งปัน และพัฒนาต่อยอดความรู้ร่วมกัน ผ่านการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะถูกนำเสนอผ่านการประมวลผลจากกิจกรรมและพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้บริการ

           ด้วยเหตุนี้ ฐานข้อมูลต่าง ๆ ของ ศมส.ที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ จึงมีความคาบเกี่ยวกันระหว่างการเป็น Web 2.0-Web 4.0 กล่าวคือ เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน (ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ให้สามารถนำเข้าและอธิบายข้อมูลได้ด้วยตนเอง พร้อมกับนำข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้ใช้งานมาวิเคราะห์ ออกแบบ และนำเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น ตัวอย่างของฐานข้อมูล/ระบบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เช่น

  • “คลังข้อมูลชุมชน” ถือเป็นฐานข้อมูลแรกของ ศมส.ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เป็นผู้จัดเก็บ จัดการ และนำข้อมูลเข้าในระบบด้วยตนเอง โดยมีผู้ปฏิบัติงานจาก ศมส.รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงฝึกอบรมให้ความรู้ในการเก็บและจัดการข้อมูลชุมชนที่ได้มา ก่อนที่จะนำเข้าสู่ระบบ (ภาพประกอบ 14)
  • “SAC One Search” (เริ่มให้บริการปี 2566) เป็นระบบสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลทั้งหมดของ ศมส. ผู้ใช้บริการสามารถกรองผลการสืบค้นข้อมูลจากประเภทของข้อมูล พื้นที่ (จังหวัด) และรายชื่อฐานข้อมูลเดิมได้ นอกจากนี้ SAC One Search ยังมีระบบแนะนำข้อมูลสำหรับสืบค้นเพิ่มเติม จากคำค้นของผู้ใช้บริการอีกด้วย (ภาพประกอบ 15)
  • “7Tools” (เริ่มให้บริการปี 2566) ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อให้นักวิจัย หรือชุมชนที่สนใจจัดเก็บและจัดการข้อมูลใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบริหารโครงการวิจัย และใช้เป็นเครื่องมือสำหรับจัดเก็บทรัพยากร (ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียงสัมภาษณ์ เอกสาร) ที่ได้จากการลงพื้นที่ภาคสนาม โดยจะเป็นการทำงานเชื่อมกันในรูปแบบแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน และเครื่องคอมพิวเตอร์ (ภาพประกอบ 16-17)
  • “วิกิชุมชน” (เริ่มให้บริการปี 2566) ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถนำเข้าข้อมูลชุมชนของตนได้ ตามหัวข้อข้อมูลชุมชนที่ ศมส.ได้ออกแบบไว้ทั้ง 11 หัวข้อ เช่น ความเป็นมา: ประวัติศาสตร์ชุมชน แผนที่และสภาพแวดล้อมในชุมชน ประชากรและระบบเครือญาติ วิถีชีวิต: ปฏิทินชุมชนและชีวิตประจำวัน ฯลฯ นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังเชื่อมต่อกับ 7Tools ซึ่งผู้ใช้งานสามารถส่งออกข้อมูลจากระบบดังกล่าวมายังวิกิชุมชน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะได้โดยอัตโนมัติ (ภาพประกอบ 18)
  • “Culturio” (เริ่มให้บริการปี 2566) ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ สร้างสรรค์ และแบ่งปันข้อมูล องค์ความรู้ หรือกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นใหม่จากผู้ใช้งาน (Learning package, Entry, Collection) ให้กับผู้ใช้งานอื่น ๆ บนแพลตฟอร์ม โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากสืบค้นทรัพยากรของ ศมส. (SAC One Search และระบบห้องสมุด) และทรัพยากรจากผู้ใช้งาน นอกจากนี้ Culturio ยังมีครอส์ออนไลน์ต่าง ๆ ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาลงทะเบียนเรียนและรับใบประกาศนียบัตรได้ด้วย (ภาพประกอบ 19)

 

ภาพประกอบ 13 หน้าแสดงผลข้อมูลชุมชนบนเว็บไซต์คลังข้อมูลชุมชน

ที่มา: https://communityarchive.sac.or.th/

 

ภาพประกอบ 14 หน้าแสดงผลการสืบค้นบนระบบ SAC One Search

 

ภาพประกอบ 15 ระบบ 7Tools ที่ติดตั้งบนสมาร์ตโฟนจะสามารถสร้างและจัดเก็บทรัพยากร (ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียงสัมภาษณ์ เอกสาร) ที่เกิดขึ้นจากการลงพื้นที่ภาคสนามตามหมวดหมู่ของเครื่องมือ 7 ชิ้นที่ผู้ใช้งานเลือกใช้ได้

 

ภาพประกอบ 16 ตัวอย่างหน้าแสดงผลเว็บไซต์ 7Tools ที่ทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยจะทำหน้าที่เป็นส่วนบริหารจัดการโครงการ และข้อมูลต่าง ๆ ที่อัพโหลดมาจากสมาร์ตโฟนของสมาชิกในโครงการ ผู้ใช้งาน 1 บัญชีสามารถสร้างโครงการได้มากกว่า 1 โครงการ และใน 1 โครงการสามารถสร้างข้อมูลชุมชนได้หลายแห่งเช่นกัน

 

ภาพประกอบ 17 ตัวอย่างหน้าแสดงผลเว็บไซต์วิกิชุมชน ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลชุมชนทั่วประเทศไทยในอนาคต ระบบดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถนำเข้าข้อมูลชุมชนได้ด้วยตนเอง และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานอื่น สามารถขอแก้ไข หรือเพิ่มข้อมูลได้

 

ภาพประกอบ 18 ตัวอย่างหน้าแสดงผลเว็บไซต์ Culturio ซึ่งจะกลายพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ สร้างสรรค์ และแบ่งปันข้อมูล องค์ความรู้ หรือกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ของ ศมส.ในอนาคต

 

           บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนได้พยายามนำเสนอให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นบ้างกับคลังข้อมูลดิจิทัล ศมส.ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาของการวางรากฐานที่วิธีการดำเนินงาน และเนื้อหาของข้อมูลถูกกำหนดโดย ศมส.แต่เพียงฝ่ายเดียว จนถึงช่วงเวลาของการพยายามปรับปรุงให้การดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้แสวงหาความรู้ในการจัดการข้อมูล และนำมาปรับใช้กับการบริหารจัดการฐานข้อมูลที่ตนเองรับผิดชอบ จนถึงช่วงเวลาปัจจุบันที่พยายามส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ชุมชนเจ้าของข้อมูล และผู้ใช้บริการ) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดเก็บ จัดการ นำเข้า สร้างใหม่ และแบ่งปันความรู้ร่วมกับ ศมส. และประชากรบนโลกอินเทอร์เน็ต

           สุดท้ายแล้ว แม้การดำเนินงานด้านเทคโนโลยีของคลังข้อมูลดิจิทัล ศมส. อาจจะยังมีความทันสมัยน้อยกว่าเว็บไซต์อื่น ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตอยู่บ้าง แต่หัวใจสำคัญที่ทำให้คลังข้อมูลดิจิทัล ศมส.ยังคงดำเนินการสืบเนื่องมาได้จนถึงปัจจุบัน คือ ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานที่เข้าใจในเนื้อหาข้อมูล และตระหนักดีว่าข้อมูลที่ตนเองกำลังบริหารจัดการอยู่เป็นมากกว่าข้อมูล แต่เป็นประสบการณ์ชีวิตของผู้คน เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นปัญหาและความท้าทายที่ผู้คนในชุมชนกำลังเผชิญอยู่ จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างรอบคอบและเหมาะสม เพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ใช้บริการเองก็มีความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เผยแพร่อยู่บนคลังข้อมูลดิจิทัล ศมส. เพราะเป็นข้อมูลที่ได้รับการจัดการและตรวจสอบแล้วจากผู้เชี่ยวชาญ ถือได้ว่าเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ในการอ้างอิงได้

 

เอกสารอ้างอิง

Djuraskovic, O. (2022, September 28). How Many Websites Are There?-The Growth of The Web (1990-2022). Retrieved from Fires Site Guide: https://firstsiteguide.com/how-many-websites/#:~:text=question%20people%20ask%3A-,How%20many%20websites%20are%20there%3F,over%201.98%20billion%20websites%20online.

https://www.sac.or.th. (20 November 2022). เข้าถึงได้จาก Internet Archive: https://web.archive.org/web/20220000000000*/https://www.sac.or.th

Walsh, S. (2022, May 30). The Top 10 Social Media Sites & Platforms 2022. Retrieved from SEJ: https://www.searchenginejournal.com/social-media/biggest-social-media-sites/#close

วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม อำนาจหน้าที่. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน): https://www.sac.or.th/portal/th/contents/detail/204/22

 

1 บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนเลือกที่จะใช้ปีพุทธศักราช (พ.ศ.) เพื่อบอกเล่าลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ศมส. แต่เมื่อมีการอ้างถึงพัฒนาการของโลกอินเทอร์เน็ต ผู้เขียนจะระบุปีคริสตศักราช (ค.ศ.) ไว้ในวงเล็บ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมความเปลี่ยนแปลง ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระดับบริบทโลก

2 มีเพียง 200 ล้านเว็บไซต์ (ประมาณ 20%) เท่านั้นที่ยังเข้าถึงได้ ส่วนที่เหลือไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว

3 เนื้อหาบนเว็บไซต์ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสถิติ หรือเว็บไซต์ส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลของหน่วยงาน Blog ส่วนบุคคล ฯลฯ

4 ในปี 2565 เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ 1) Facebook – มีผู้ใช้งาน 2.9 พันล้านคน 2) YouTube – มีผู้ใช้งาน 2.2 พันล้านคน 3) WhatsApp – มีผู้ใช้งาน 2 พันล้านคน (Walsh, 2022)

5 ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ข้อมูลดังกล่าวอาจมีที่มาจากสไลด์ที่ใช้ในการเรียนการสอนของคณาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เนื่องจาก ศมส.ในระยะก่อตั้ง มีสถานภาพเป็นหน่วยงานราชการในสังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากร (มีสถานะเทียบเท่าคณะ) ภายหลังได้แยกออกมา และจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนในกำกับของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อปี 2543 ต่อมา เมื่อมีการปฏิรูประบบบริหารราชการในปี 2545 จึงได้โอนมาอยู่ในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

6 ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ข้อมูลดังกล่าวอาจมีที่มาจากข้อมูลภาคสนามของคณาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเช่นกัน เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว คณาจารย์จากภาควิชามานุษยวิทยาได้ดำเนินโครงการวิจัยเปรียบเทียบวัฒนธรรมประเพณีไทย-จ้วง (2539) https://lib.sac.or.th/catalog/BibItem.aspx?BibID=b00022558

7 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตก”

8 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย”

9 ปัจจุบันมีการควบรวมเนื้อหาและเปลี่ยนชื่อเป็น “ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน”

10 ปัจจุบันมีการควบรวมเนื้อหาและเปลี่ยนชื่อเป็น “ฐานข้อมูลนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาไทย”


ผู้เขียน

สิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี

นักวิชาการคลังข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ คลังข้อมูลดิจิทัล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา