“ชาวบ้านอีสานกับรัฐไทย จาก อีสานท้องถิ่นภูมิภาคนิยม สู่ การตามหาเสียงที่หายไป”
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เป็นเวทีที่สามของวงเสวนาออนไลน์อาจารย์คายส์ เดอะซีรี่ย์ครั้งที่ 3 ในความระลึกถึง Prof. Charles F.Keyes “ชาวบ้านอีสานกับรัฐไทย จาก อีสานท้องถิ่นภูมิภาคนิยม สู่ การตามหาเสียงที่หายไป” ร่วมเสวนาโดย รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ.ดร.รัตนา โตสกุล Adjunct senior lecture Tokyo Metropolitan University และ ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ในวงเสวนาออนไลน์อาจารย์คายส์ เดอะซีรี่ย์ ครั้งที่ 3 ได้กล่าวถึงผลงานหนังสือของอาจารย์คายส์ 2 เล่ม ที่จะถูกเล่าในฐานะของลูกศิษย์ และเพื่อนร่วมงานของอาจารย์คายส์ เพื่อนำเสนอให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) รัฐไทยและสังคมโลก คือ หนังสือ Isan : Regionalism in Northeastern Thailand หรือหนังสือแนวคิดท้องถิ่นภาคอีสานนิยมในประเทศไทย แปลเป็นภาษาไทยโดย อ.ดร.รัตนา โตสกุล และ หนังสือ Finding their voice : Northeastern villagers and the Thai state
รูปที่ 1 ปกหนังสือ แนวคิดท้องถิ่นภาคอีสานนิยมในประเทศไทย
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสรินธร (องค์การมหาชน)
รูปที่ 2 ปกหนังสือ Finding their voice : Northeastern villagers and the Thai state
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสรินธร (องค์การมหาชน)
ประเด็นสนทนาโดยอาจารย์รัตนา โตสกุล
หากพูดถึงชื่อลูกศิษย์ของอาจารย์คายส์เชื่อได้ว่า อาจารย์รัตนา โตสกุล จะเป็นรายชื่อลูกศิษย์ในลำดับแรก ๆ ที่ถูกกล่าวถึง เนื่องจากอาจารย์รัตนาถือเป็นลูกศิษย์คนสำคัญของอาจารย์คายส์ ทั้งสองท่านรู้จักกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ระยะเวลากว่า 32 ปี อาจารย์รัตนา เป็นทั้งลูกศิษย์ เพื่อนร่วมงาน ผู้ให้ความเห็นต่อผลงานเขียนของอาจารย์คายส์ เนื่องจากวิสัยของอาจารย์คายส์ที่ลูกศิษย์ทุกคนต้องพบ คือ อาจารย์คายส์มักจะให้ลูกศิษย์ช่วยอ่านงานเสมอ นอกจากนี้ อาจารย์รัตนายังเป็นผู้แปลผลงานเขียนของอาจารย์คายส์ให้เป็นภาษาไทย เพื่อให้ทั้งลูกศิษย์ นักวิจัย ตลอดจนผู้ที่สนใจศึกษางานเขียนของอาจารย์คายส์ได้ก้าวข้ามอุปสรรคทางด้านภาษามากยิ่งขึ้น
อาจารย์รัตนาได้เริ่มต้นด้วยการหยิบยกหนังสือ Finding their voice : Northeastern villagers and the Thai state ขึ้นมาสนทนาเป็นเล่มแรก เพราะหนังสือเล่มนี้ถือเป็นผลงานในช่วงบั้นปลายชีวิตของอาจารย์คายส์ และมีความแหลมคมในแง่ของการสะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างคนอีสานและสังคมโลก
Finding their voice กล่าวถึง “การลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ และความยุติธรรม” ของคนอีสาน เพราะสิทธิของเขาได้ถูกลิดรอนจากผู้มีอำนาจ และไม่ได้รับการยอมรับ เช่น กรณีการเลือกตั้งที่คนอีสานมองว่าการออกไปใช้สิทธิและเสียงในการเลือกตั้งถือเป็นการเลือกผู้นำที่มาเป็นผู้ปกป้องและดูแลสิทธิให้กับคนอีสาน แต่ผลการเลือกตั้งกลับถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐ
รูปที่ 3 The Monument of the Poor at the Pak Mun Dam
หมายเหตุจาก. หนังสือ Finding their voice : Northeastern villagers and
the Thai state หน้า 163
รูปที่ 4 Monks at a Red Shirt protest
หมายเหตุจาก. หนังสือ Finding their voice : Northeastern villagers and
the Thai state หน้า 187
ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นช่วงที่อาจารย์คายส์อยู่ระหว่างการเข้าร่วมประชุมเชิงวิชาการที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) อาจารย์คายส์ได้พบกับปรากฏการณ์ชุมชนใหญ่ในประเทศไทย โดยมีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมกลางกรุงจากการปะทะกันของทหารรัฐบาลและประชาชน อาจารย์คายส์พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะฐานของกลุ่มคนเสื้อแดงโดยส่วนมาก คือ คนอีสาน และคนเหนือ การลุกขึ้นมาต่อสู้ของคนอีสานในครั้งนี้จึงทำให้อาจารย์คายส์เห็นคนอีสานในมิติที่แตกต่างออกไปจากตอนที่อาจารย์คายส์เคยเข้ามาลงภาคสนามเพื่อศึกษาตนอีสานในบ้านหนองตื่น จังหวัดมหาสารคาม และนำมาซึ่งการทบทวนการเขียนหนังสือ Isan: regionalism in northeastern Thailand อีกครั้ง (Charles F.Keyes , 2014, p. xi)
ลำดับต่อมาอาจารย์รัตนาได้กล่าวถึง เนื้อหาในภายหนังสือแนวคิดท้องถิ่นภาคอีสานนิยมในประเทศไทย ซึ่งอาจารย์รัตนาได้แปลมาจากหนังสือ Isan : Regionalism in Northeastern Thailand ของอาจารย์คายส์ มีเนื้อหาทั้งหมด 7 บท อาจารย์รัตนาได้นำมาขยายเป็น 8 บท แต่ยังคงรักษาสาระสำคัญของหนังสือและได้สรุปไว้ ดังนี้
บทที่ 1 : กล่าวถึง การศึกษาศาสนา สังคม วัฒนธรรม และที่ตั้งของภาคอีสานที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของพหุวัฒนธรรมระหว่างภาคอีสานของประเทศไทย และประเทศลาว
บทที่ 2 : กล่าวถึง ประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ของคนอีสาน และคนลาว ในบทนี้อาจารย์คายส์ได้นำเสนอให้เห็นถึง ความสำคัญของการศึกษางานภาคสนามที่ต้องศึกษาไปให้ถึง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น”
บทที่ 3 : กล่าวถึง หลักการเลือกผู้นำของคนอีสานที่ยึดตามหลักของพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ผู้นำในทัศนคติของคนอีสานต้องเป็นบุคคลที่มีความยุติธรรม สามารถแก้ไขปัญญาได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดสัญลักษณ์ผีบุญ และในบทนี้ยังมีความน่าสนใจในแง่ของการนำเสนอให้เห็นถึง ความพยายามในการเข้ามาควบคุมคนอีสาน เพื่อเป็นการเสริมอำนาจให้กับรัฐบาล
บทที่ 4 : กล่าวถึง การสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองของคนอีสาน เพื่อต่อรองกับความอยุติธรรม เนื่องจากคนอีสานถูกมองด้วยอคติจากสังคมอื่น ทั้งในเรื่องของภาษาและอาหารการกิน
บทที่ 5 : กล่าวถึง การสร้างความมั่นคงให้รัฐบาลไทยที่มุ่งหวังจะหลอมรวมคนอีสานให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย โดยการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นสัญลักษณ์ในการยึดเหนี่ยวคนอีสาน เพื่อไม่ให้หันไปรับเอาสำนึกร่วมกับประเทศลาว ในบทนี้จึงเป็นการนำเสนอให้เห็นว่าปัญหาของคนอีสานมีความสลับซับซ้อน และเป็นช่วงที่เกิดลัทธิคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน
บทที่ 6 : กล่าวถึง ปัญหาของคนอีสานและความล้มเหลวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน อาจารย์คายส์ได้วิเคราะห์ไว้ว่า คนอีสานให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธ แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิมาร์กซ์ และลัทธิเลนิน ซึ่งเต็มไปด้วยอุดมการณ์การเคลื่อนไหว และการกระทำที่สุดโต่งไม่สอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
บทที่ 7 : กล่าวถึง เหตุผลว่าทำไมคนอีสานถึงถูกตีตราว่าเป็นภูมิภาคที่มัวเมานักประท้วงและขายแรงงาน อาจารย์คายส์มองว่า เป็นเพราะรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องให้คนอีสานได้ และยังถูกซ้ำเติมจากเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นของรัฐบาล
บทที่ 8 : กล่าวถึง คนอีสานกับการเข้าถึงระบบการเมืองสมัยใหม่ อาจารย์คายส์ได้นำเสนอให้เห็นว่าคนอีสานจะเลือกผู้นำที่สามารถเข้าไปเป็นปากเป็นเสียง รักษาสิทธิ เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนอีสานจะมีชีวิตที่ดีขึ้น
ในช่วงสุดท้ายอาจารย์รัตนาได้สรุปให้เห็นว่า อาจารย์คายส์มักจะเน้นเรื่องของปัญหาของคนอีสานที่ถูกกดทับจนแยกไม่ออก อาจารย์คายส์จึงพยายามศึกษาค้นคว้าปัญญาที่พบว่าเกิดจากอะไร? และพยายามนำเสนอให้เห็นถึงมิติด้านอื่น ๆ เช่น การเมือง วัฒนธรรม ศาสนา และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งการจะเข้าใจความสัมพันธ์เหล่านี้ ต้องอาศัยระยะเวลาในการรับฟัง และการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อศึกษาให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ทั้งหนังสือ Isan : Regionalism in Northeastern Thailand และ หนังสือ Finding their voice : Northeastern villagers and the Thai state ที่ช่วยให้เห็นประวัติศาสตร์ของคนอีสานแล้ว อาจารย์รัตนายังมองว่า ผลงานวิชาการทั้งสองเล่มของอาจารย์คายส์ ยังช่วยให้เห็นพัฒนาการการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาที่ไม่ได้ฝังตัวเพื่อศึกษาชุมชน และสังคมนั้น ๆ เพียงอย่างเดียว
ประเด็นสนทนาโดยอาจารย์สุรสม กฤษณะจูฑะ
อาจารย์สุรสมได้เริ่มต้นสนทนาโดยการเล่าถึงความพยายามในการทำความเข้าใจถึงอิทธิพลที่มีส่วนหล่อหลอมให้เห็นถึงส่วนผสมของวัตถุดิบในการนำมาปรุงขึ้นเป็นผลงานเขียนของอาจารย์คายส์ เนื่องจากอาจารย์คายส์ไม่ได้มาลงภาคสนามในภาคอีสานเพียงอย่างเดียว การอ่านงานเขียนทั้ง 2 เล่มของอาจารย์คายส์ทั้งหนังสือ Finding their voice : Northeastern villagers and the Thai state และหนังสือแนวคิดท้องถิ่นภาคอีสานนิยมในประเทศไทยทำให้อาจารย์สุรสมได้พบว่าทั้ง 2 เล่มมีประเด็นที่น่าสนใจ และอาจารย์สุรสม ได้สรุปออกเป็น 2 มิติ ดังนี้
มิติที่หนึ่ง : แง่มุมที่มองเห็นเหมือนอาจารย์คายส์
- พัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างคนอีสานกับรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่อาจารย์คายส์ได้นำเสนอไว้ว่าหากจะทำความเข้าใจคนอีสานต้องทำความเข้าใจมุมมองนี้ซึ่งเป็นข้อความนี้ปรากฏในหน้าที่ 6 ของหนังสือ Finding their voice : Northeastern villagers and the Thai state
“EVOLUTION OF RURAL NORTHEASTERNERS’ RELATIONS WITH THE THAI STATE”
ประเด็นนี้ได้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคม และความอยุติธรรมที่คนอีสานได้รับจากรัฐบาลจนเป็นสาเหตุที่ทำให้คนอีสานเริ่มแสวงหาสำนึกท้องถิ่นของตนเอง
- ปัญหาในภาคอีสานที่มีผลมาจากการเมืองและการปกครองที่รัฐบาลพยายามเข้าไปสร้างสัญลักษณ์ให้คนอีสานเป็นชาวนา ส่งผลให้คนภายนอกมองคนอีสานว่าเป็นพื้นที่แร้นแค้นต้องประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว
มิติที่สอง : แง่มุมที่มองไม่เห็นในผลงานเขียนของอาจารย์คายส์
- ความเชื่อมโยงระหว่างสัมพันธ์ของสยามกับบริบทภายนอก กล่าวคือ ในหนังสือทั้ง 2 เล่ม ของอาจารย์คายส์ไม่ได้กล่าวถึงบริบทภายนอก เนื่องจากอาจารย์สุรสมมองว่า ภาคอีสานไม่ได้มีแค่เรื่องความเป็นชนบท แม้ว่าในงานเขียนของอาจารย์คายส์ จะมีประเด็นการเมืองอยู่บ้างแต่ไม่ได้ลงลึกมากนัก ซึ่งเป็นเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่มีความน่าสนใจและสามารถช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของภาคอีสานได้ เช่น การยกเลิกการละเล่น “แอ่วลาว” หรือ “ลาวแคน” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เนื่องจากในสมัยนั้นการละเล่นแอ่วลาวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีใช้แคนเป่าเพื่อประกอบการขับร้อง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเชลยศึกชาวลาวที่เข้ามาอยู่ในสยาม รัชกาลที่ 4 มองว่า สยามมีการละเล่นปี่พาทย์ มโหรี และเสภาครึ่งท่อนอยู่แล้ว ไม่อยากให้การละเล่นของลาวมาแทนที่การละเล่นของสยาม จึงมีประกาศห้ามไม่ให้เล่นแอ่วลาว เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ปีฉลู สัปตศก 1227 หรือ พ.ศ. 2408 (จักรมนตรี ชนะพันธ์, 2565) จะเห็นได้ว่า ความเป็นอีสานได้ถูกสร้างขึ้นภายใต้อำนาจทางการเมือง มิติทางการเมืองจึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจ ที่สามารถช่วยการสะท้อน และเติมเต็มเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงภาคอีสานได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้อาจารย์สุรสมยังได้นำเสนอให้เห็นว่า ภาคอีสานนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอันมีผลพวงมาจากอำนาจทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย ที่พยายามตีกรอบให้คนอีสานมีสำนึกความเป็นไทยโดยคนอื่น จึงเป็นสาเหตุให้คนอีสานต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ผ่านการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น ตำนานพื้นบ้าน, พุทธทำนาย, ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในอีสาน และหมอลำ เพื่อสร้างสำนึกความเป็นคนอีสานด้วยตนเอง
ประเด็นสนทนาโดยอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ยุกติได้กล่าวถึงวิธีวิทยาในงานเขียนของอาจารย์คายส์ ในช่วงสุดท้ายของวงเสวนาออนไลน์อาจารย์คายส์ เดอะซีรี่ย์ครั้งที่ 3 โดยได้กล่าวถึงหนังสือ Isan : Regionalism in Northeastern Thailand หรือหนังสือแนวคิดท้องถิ่นภาคอีสานนิยมในประเทศไทย และกล่าวว่า “ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ งานทางด้านประวัติศาสตร์ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมการวิจัยประวัติศาสตร์ในช่วง ค.ศ. 1967” เนื้อหาของหนังสือจึงถือได้ว่ามีความทันสมัย เนื่องจากในช่วงเวลานั้นยังไม่มีนักมานุษยวิทยาท่านไหนศึกษาเรื่องนี้ อาจารย์ยุกติได้เพิ่มเติมประเด็นที่น่าสนใจเพื่อเสริมให้เห็นถึงการทำงานของอาจารย์คายส์ จากที่อาจารย์รัตนา และอาจารย์สุรสมได้กล่าวไป โดยเริ่มจาก การเล่าถึงวิธีวิทยาของอาจารย์คายส์ว่า อาจารย์คายส์จะเน้นอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) เพื่อทำความเข้าใจพลวัตของพื้นที่ทั้งหมด ไม่ตีกรอบอยู่ที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง การศึกษาประเทศไทยจึงต้องอาศัยการศึกษาประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เห็นความลื่นไหลของสังคมและวัฒนธรรม
นอกจากนี้ ประเด็นที่อาจารย์ยุกติได้กล่าวเสริมถึงเหตุการณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่อาจารย์รัตนาได้กล่าวไปในช่วงต้น สะท้อนให้เห็นได้ว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาเรื่องปากท้อง อาจารย์ยุกติจึงได้วิเคราะห์และพยายามตั้งคำถามต่อว่า พื้นที่ของการแสดงออกทางการเมือง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ใช้พื้นที่ของ Social Media ในการแสดงออกทางการเมือง เพื่อเรียกร้องปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจผ่าน Social Media ในขณะที่ voice ของหนังสือFinding their voice : Northeastern villagers and the Thai state หรือ voice ของคนอีสานในอดีต แสดงให้เห็นว่า คนอีสานต้องดิ้นรนเดินทางจากต่างจังหวัดมา เพื่อเรียกร้องปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจถึงในกรุงเทพมหานคร
จากเนื้อหาของการสรุปประเด็นสนทนาของวงเสวนาออนไลน์อาจารย์คายส์ เดอะซีรี่ย์ครั้งที่ 3 ในความระลึกถึง Prof. Charles F.Keyes “ชาวบ้านอีสานกับรัฐไทย จาก อีสานท้องถิ่นภูมิภาคนิยม สู่ การตามหาเสียงที่หายไป” ที่ได้พาผู้อ่านไปสำรวจความคิดของหนังสือ Isan : Regionalism in Northeastern Thailand หรือหนังสือแนวคิดท้องถิ่นภาคอีสานนิยมในประเทศไทย และหนังสือ Finding their voice : Northeastern villagers and the Thai state จะทําให้ผู้อ่านเห็นถึง ลักษณะการทํางานของอาจารย์คายส์ ที่จะให้ความสําคัญกับการวิจัยทางประวัติศาสตร์ในภาคอีสาน พยายามค้นคว้า และนําเสนอให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับมิติด้านอื่น ๆ ในระดับมหภาค ไม่ว่าจะเป็นการเมือง, เศรษฐกิจและประวัติศาสตร์ เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาที่สลับซับซ้อนของคนอีสาน
ผู้สนใจสามารถสืบค้นชุดเอกสารจดหมายเหตุของอาจารย์คายส์ ได้ที่ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา (ภายใต้การแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา) และสามารถเยี่ยมชมนิทรรศการจดหมายเหตุมานุษยวิทยา ณ ชั้น 1 อาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่จัดแสดงผลงานรูปถ่ายการทำงานภาคสนามของอาจารย์คายส์ และจัดแสดงผลงานทางวิชาการของอาจารย์คายส์ที่มีพร้อมให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร–SAC Library และ Line: @sac-library
Bibliography
Charles F.Keyes. (2014). Finding their voice : Northeastern villagers and the Thai state. Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books.
จักรมนตรี ชนะพันธ์. (2565). เหตุใด? รัชกาลที่ 4 ทรงประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_6320
ชื่อผู้เขียน
จรรยา ยุทธพลนาวี, วิภาวดี โก๊ะเค้า, วรินกานต์ ศรีชมภู
นักบริการสารสนเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ชาวบ้านอีสานกับรัฐไทย อีสานท้องถิ่น Charles F.Keyes อาจารย์คายส์ จรรยา ยุทธพลนาวี วิภาวดี โก๊ะเค้า วรินกานต์ ศรีชมภู