"ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ ครูและมิตรที่ดีของชาวไทย" จาก Nebraska สู่บ้านหนองตื่น

 |  พิพิธภัณฑ์ จดหมายเหตุ
ผู้เข้าชม : 4122

"ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ ครูและมิตรที่ดีของชาวไทย" จาก Nebraska สู่บ้านหนองตื่น

           Charles F. Keyes หรือศาสตราจารย์ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ (อาจารย์คายส์) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่เคยเข้ามาลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อศึกษาสังคมของชนบทไทยในภาคอีสานและสังคมชนบทไทยในภาคเหนือ ช่วงปี พ.ศ. 2506-2511 อาจารย์คายส์ได้กลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ด้วยวัย 84 ปี เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565 ณ เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา

           ผลงานทางด้านวิชาการของอาจารย์คายส์ถือว่ามีคุณูปการต่อวงวิชาการด้านไทยศึกษา และอีสานศึกษาเป็นอย่างมาก นอกจากจะช่วยสร้างความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชนบทไทยแล้ว อาจารย์คายส์ยังถูกยกย่องในฐานะครู และมิตรที่ดีของชาวไทย กิจกรรมเวทีวิชาการ “อาจารย์คายส์ เดอะซีรี่ย์” ถูกจัดขึ้นจากความรัก ความเคารพ และความระลึกถึงอาจารย์คายส์ผ่านการจัดเสวนาออนไลน์โดยเครือข่ายคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กิจกรรมนี้จะจัดขึ้นทั้งหมด 7 ครั้ง และจะจัดในวันเสาร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือนต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี พ.ศ. 2565 โดยนำเสนอประเด็นตามผลงานสำคัญของอาจารย์คายส์ ที่ได้วางรากฐานการศึกษาวิจัยทางมานุษยวิทยาในอุษาคเนย์ไม่ว่าจะเป็นผลงานการลงพื้นที่ภาคสนาม หนังสือ และบทความ

           เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 เป็นเวทีแรกที่วงเสวนาออนไลน์อาจารย์คายส์ เดอะซีรี่ส์ ได้เผยแพร่ผ่านทางFacebook Fanpage ของสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-SAC และผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน Google Meet ในหัวข้อ “อาจารย์คายส์ เดอะซีรี่ย์” ตอนที่ 1 ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์: ครูและมิตรที่ดีของชาวไทย ร่วมเสวนาโดย Jane Keyes, รัตนา โตสกุล, ชยันต์ วรรธนะภูติ, ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์, ประสิทธิ์ ลีปรีชา และ อุดม ทัพสุริย์ ดำเนินรายการโดย ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ และทม เกตุวงศา

 

จากอเมริกาสู่สยามประเทศ และเอเชียอาคเนย์: สังเขปชีวิตของ อาจารย์คายส์ โดย รัตนา โตสกุล

           ในช่วงต้นของวงเสวนาอาจารย์คายส์ เดอะซีรี่ส์ ตอนที่ 1 ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์: ครูและมิตรที่ดีของชาวไทย เปิดวงเสวนาโดย อาจารย์ ดร.รัตนา โตสกุล (อาจารย์แดง) หนึ่งในลูกศิษย์คนสำคัญของอาจารย์คายส์ที่มักจะออกมาทบทวนผลงานของอาจารย์คายส์ผ่านการแปลให้เป็นภาษาไทย เพื่อให้ลูกศิษย์และผู้ที่สนใจศึกษางานด้านมานุษยวิทยาได้เข้าถึงประวัติ และผลงานของอาจารย์คายส์มากยิ่งขึ้น

           อาจารย์แดงได้เล่าถึงประวัติของอาจารย์คายส์ว่า อาจารย์คายส์เป็นชาวอเมริกัน เกิดที่เนแบรสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นรัฐชนบทประกอบอาชีพเกษตรกรรม ด้วยพื้นเพชีวิตของอาจารย์จึงทำให้อาจารย์คายส์มีความสนใจในพื้นที่ทางการเกษตรเป็นพิเศษ และในช่วงการเข้าเรียนปริญญาตรีใน University of Nebraska อาจารย์คายส์เต็มไปด้วยด้วยความฝันที่อยากจะเป็นนักฟิสิกส์ สนใจเรื่องของนิวเคลียร์ พลังงาน และชื่นชอบคณิตศาสตร์ เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้อาจารย์คายส์ได้พบกับคำว่ามานุษยวิทยา คือ อาจารย์คายส์ได้ลงวิชาเลือกที่ทำให้มีโอกาสพบกับอาจารย์สายมานุษวิทยาหลายท่านโดยเฉพาะ Karl Shapiro (อาจารย์คาร์ล ชาพิโร่) คือคนที่ช่วยจุดประกาย
ให้อาจารย์คายส์ได้เห็นถึงความหลากหลายและสีสันของชีวิต และค้นพบว่าตนเองไม่ได้สนใจทางด้านฟิสิกส์

           ภายหลังจากการเรียนจบปริญญาตรีอาจารย์คายส์ได้สมัครเรียนต่อที่ Cornell University ซึ่งเป็นการติดตามอาจารย์คาร์ล ชาพิโร่ ที่ย้ายมาสอนที่นี่ ในตอนนั้นอาจารย์คาร์ล ชาพิโร่ และอาจารย์คายส์ มีความสนใจที่แตกต่างกัน อาจารย์คาร์ล ชาพิโร่ สนใจการศึกษาสิ่งที่อยู่ในอเมริกา แต่อาจารย์คายส์สนใจศึกษาสิ่งที่อยู่นอกอเมริกา อาจารย์คาร์ล ชาพิโร่ จึงได้แนะนำ Lauriston Sharp (อาจารย์ลอริสตัน ชาร์ป) ที่เคยเข้ามาศึกษาภาคกลางของประเทศไทยและเคยเขียนหนังสือหมู่บ้านบางชัน นอกจากนั้นอาจารย์ลอริสตัน ชาร์ป ยังเป็นผู้อำนวยการ Cornell Southeast Asia Program หรือโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นโครงการสหวิทยาการของมหาวิทยาลัยคอร์เนลที่มุ่งเน้นให้วิจัย และศึกษาเอเชียอาคเนย์

           อาจารย์คายส์เห็นว่าอาจารย์ลอริสตัน ชาร์ป ได้เคยศึกษาพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยไปแล้ว จึงเลือกศึกษาพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทยแทน เพื่อต้องการพื้นที่ที่จะสามารถศึกษาและเปรียบเทียบข้อมูลโดยเฉพาะความน่าสนใจของภาคอีสาน เนื่องจากรายได้ของประชากรต่อหัวของภาคอีสานถือว่ามีรายได้น้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และมีความเป็นไปได้ที่น่าจะเป็นจุดหล่อหลอมทางวัฒนธรรมจากการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยตอนบน และประเทศไทยตอนล่าง

           บ้านหนองตื่น ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม กลายเป็นชัยภูมิที่อาจารย์คายส์ใช้เป็นพื้นที่การศึกษาสังคมชนบทในครั้งนี้จากคำแนะนำของทางอำเภอ และยังถือว่าบ้านหนองตื่นอยู่ในเขตเมืองที่สามารถเดินทางไป-มา ได้สะดวก ซึ่งในช่วงเวลาเดียวยังมี William J. Klausner (อาจารย์วิลเลียมส์ เจ.คลอสเนอร์) ที่เข้ามาศึกษาสังคมชนบทที่บ้านหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และ Thomas Kirsh (อาจารย์ธอมัส เคิร์ช) ที่เข้ามาศึกษาชาวภูไทอำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันพื้นที่ศึกษาดังกล่าว คือ จังหวัดมุกดาหาร) การเขียนจดหมายติดต่อกันระหว่างอาจารย์คายส์และอาจารย์ธอมัส เคิร์ช ในฐานะคนที่มาจากประเทศเดียวกัน ทำให้มีการพูดคุยและเข้าไปดูพื้นที่ศึกษาวิจัยของกันและกัน อาจารย์คายส์จึงได้รับอิทธิพลความคิดทางด้านการศึกษาศาสนา และการศึกษาวิถีชีวิตของชุมชน

           ผลงานของอาจารย์คายส์ถือได้ว่ามีคุณูปการต่อเอชียอาคเนย์ศึกษา และไทยศึกษาเป็นอย่างมาก มีบทความทั้งหมดประมาน 90 ชิ้น และหนังสืออีก 15 เล่ม โดย 3 เล่มเป็นหนังสือที่อาจารย์คายส์เขียนขึ้น และอีก 12 เล่ม เป็นหนังสือที่อาจารย์คายส์เขียนร่วมกับลูกศิษย์ โดยผลงานของอาจารย์คายส์แบ่งออกเป็น 3 หมวดดังนี้

           1. Buddhism in the everyday life of people/Moral community, religion and modernity หรือพุทธศาสนาในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน การศึกษาพุทธศาสนาของอาจารย์คายส์ให้ความสนใจกับการศึกษาถึงการนำพระพุทธศาสนาไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านในหลากหลายมิติ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง เศรษฐกิจการเมือง การเป็นผู้นำ และการทำความเข้าใจโลก

           2. Ethnicity interface with the State หรือชาติพันธุ์ศึกษากับรัฐ อาจารย์คายส์ให้ความสนใจกับการศึกษาอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์แทนการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ที่เฉพาะเจาะจง เน้นศึกษาถึงความเชื่อมโยงระหว่างอัตลักษณ์และการก่อตัวเป็นรัฐชาติ นอกจากนั้นการศึกษาพื้นที่ในภาคอีสานทำให้อาจารย์คายส์เข้าใจถึงคำว่าอีสานภูมิภาคนิยมใหม่ เนื่องจากการศึกษาเรื่องนี้สามารถตอบปัญหาการเมืองของยุคปัจจุบันได้

           3. Rural agricultural transformations (Peasants and the Thai nation) การพัฒนาชนบทไปสู่ความทันสมัย ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งที่อาจารย์คายส์ให้ความสนใจในเรื่องของการพัฒนาชนบท

 

Recollections of ban nong tuen by Jane Keyes (ความทรงจำเกี่ยวกับบ้านหนองตื่น) สรุปความเป็นภาษาไทยโดย รัตนา โตสกุล

           Jane Keyes หรือ คุณเจน ภรรยาของอาจารย์คายส์ที่กล่าวได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของอาจารย์คายส์ ซึ่งในวงเสวนานี้คุณเจนได้เขียนเอกสารเพื่อเล่าถึงความทรงจำในอดีตที่เคยเข้ามาลงภาคสนามกับอาจารย์คายส์ โดยเลือกใช้ภาษาง่าย ๆ เพื่อสื่อสารให้ทุกคนได้เข้าใจ และสรุปความเป็นภาษาไทยโดยอาจารย์รัตนา โตสกุล คุณเจนได้แต่งงานกับคุณ Biff (ชื่อเล่นของอาจารย์คายส์) อาจารย์คายส์ได้ถามคุณเจนก่อนที่จะเข้ามาศึกษาสังคมชนบทไทยว่า คุณเจนจะสามารถใช้ชีวิตในประเทศไทยกับอาจารย์คายส์ได้หรือไม่? ในตอนนั้นคุณเจนตอบกลับด้วยความยินดี และมองว่าการมาประเทศไทยเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น

           เมื่อเดินทางมาถึงบ้านหนองตื่น คุณเจนเล่าว่าถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เนื่องจากชาวบ้านไม่เข้าใจว่าอาจารย์คายส์ และคุณเจน ต้องการมาทำอะไรที่บ้านหนองตื่น ซึ่งในช่วงแรกของการลงพื้นที่นั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะชาวบ้านบ้านหนองตื่นปิดกั้นไม่ยอมรับอาจารย์คายส์และคุณเจน ตอนนั้นถือเป็นความโชคดีที่พ่อเหง้า และแม่นวล เจ้าของร้านค้าและโรงสีข้าวได้เปิดประตูบ้านต้อนรับอาจารย์คายส์และคุณเจนให้เข้ามาพักอาศัยอยู่ด้วยกัน จึงทำให้ชาวบ้านหนองตื่นคนอื่น ๆ เริ่มเปิดใจทำความรู้จักอาจารย์คายส์และคุณเจนมากยิ่งขึ้น การสัญจรหลักที่ชาวบ้านหนองตื่นใช้ คือ การนั่งเกวียน อาจารย์คายส์จึงถือว่าเป็นคนแรกที่นำมอเตอร์ไซค์เข้ามาใช้ในบ้านหนองตื่น พ่อเหง้าจึงถือว่าเป็นกัลยาณมิตรที่ดีนอกจากจะให้ที่พักอาศัยแล้วยังช่วยทำงานกับอาจารย์คายส์
เป็นอย่างดีเนื่องจากพ่อเหง้าเคยทำงานในกรุงเทพฯ มาก่อน และสามารถสื่อสารภาษาไทยภาคกลางได้ ในทุก ๆ วัน อาจารย์คายส์จะเขียนบันทึกที่ออกไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเพื่อบันทึกข้อมูลการทำงานเอาไว้ โดยมีคุณเจนเป็นผู้ช่วยสำคัญในการถ่ายรูปการทำงาน

           ร้านค้า และโรงสีข้าว กลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้อาจารย์คายส์ และคุณเจนเริ่มรู้จักชาวบ้านมากยิ่งขึ้นทั้งสองคนพยายามทำตัวให้กลมกลืนกับชาวบ้านจนเริ่มสนิทกันทำให้คุณเจนสามารถขอถ่ายรูปส่วนตัวได้ รูปในอดีตของบ้านหนองตื่นในยุคที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึงสะท้อนให้เห็นว่าเป็นชุมชนที่พึ่งพาอาศัยตนเองเป็นหลัก เรียบง่ายในการใช้ชีวิต สามารถนำของจากธรรมชาติมาผลิตเป็นสิ่งต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต คุณเจนยังกล่าวอีกว่าการมาอาศัยที่บ้านหนองตื่นที่ทำให้คุณเจนสร้างตัวตนใหม่ที่สามารถกลายมาเป็นนักมานุษยวิทยาได้ สำหรับคุณเจนแล้วในช่วงเวลานั้นทำให้คุณเจนรู้สึกสันติสุข เงียบสงบ และทำให้ได้เรียนรู้ถึงชีวิตของคนอื่น ซึ่งมักจะมีคนถามคุณเจน
อยู่บ่อยครั้งว่า “คุณเจนลำบากไหม ที่ต้องไปใช้ชีวิตที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก” และคุณเจนมักตอบกลับไปว่า “ไม่ลำบาก เพราะการได้เห็นโลกประเพณีนิยมอยู่ตรงหน้านับว่าเป็นการได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น” และอาจารย์คายส์ก็คงคิดเช่นเดียวกันทั้งสองท่านจึงอยากขอบคุณชาวบ้านบ้านหนองตื่นถึงความมีน้ำใจ ความเมตตากรุณา และเหนือสิ่งอื่นใด คือ มิตรภาพที่ยาวนานที่มีให้ทั้งคู่เสมอมา

 

ภาพบ้านเรือนของชาวบ้านมีเกวียนเทียมวัวและครกกระเดื่องตำข้าวโบราณอยู่หน้าบ้าน

บ้านหนองตื่น อ. เมือง จ. มหาสารคาม พ.ศ. 2506 หรือ 2507

จาก https://digital.lib.washington.edu/researchworks/handle/1773/1730

 

ภาพร้านขายของประจำหมู่บ้าน บ้านหนองตื่น อ. เมือง จ. มหาสารคาม พ.ศ. 2506 หรือ 2507

จาก https://digital.lib.washington.edu/researchworks/handle/1773/17393

 

ภาพ Jane Keyes ดำนา บ้านหนองตื่น อ. เมือง จ. มหาสารคาม พ.ศ. 2506 หรือ 2507

จาก https://digital.lib.washington.edu/researchworks/handle/1773/17514

 

ภาพถนนสายหลักของหมู้บ้าน บ้านหนองตื่น อ. เมือง จ. มหาสารคาม พ.ศ. 2506 หรือ 2507

จาก https://digital.lib.washington.edu/researchworks/handle/1773/17505

 

ภาพวงดนตรีแบบดั้งเดิมที่งาน บ้านหนองตื่น อ. เมือง จ. มหาสารคาม พ.ศ. 2506 หรือ 2507

จาก https://digital.lib.washington.edu/researchworks/handle/1773/17670


พนักงานเดินทางขายยาโฆษณาขายของให้ผู้หญิงในหมู่บ้านฟัง บ้านหนองตื่น อ. เมือง จ. มหาสารคาม  พ.ศ. 2506 หรือ 2507

จาก https://digital.lib.washington.edu/researchworks/handle/1773/17328

 

ความทรงจำของพ่อใหญ่บ้านหนองตื่น​:​ พ่ออุดม​ ทัพสุริย์

           พ่ออุดม ทัพสุรีย์ เป็นชาวบ้านบ้านหนองตื่นที่อยู่ในหมู่บ้านนี้มาอย่างยาวนาน ในช่วงเวลาที่อาจารย์คายส์ และคุณเจนเข้ามาที่บ้านหนองตื่น พ่ออุดมมีอายุเพียง 13-14 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่มีความตื่นเต้น เมื่อเห็นชาวต่างชาติเข้ามาในหมู่บ้านพ่ออุดมเล่าว่าในตอนนั้นตนเองมีความกลัวไม่กล้าเข้าใกล้อาจารย์คายส์ และคุณเจน แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ว่าในหมู่บ้านจะมีกิจกรรมอะไรทั้งสองท่านจะให้ความร่วมมือตลอด อาจารย์คายส์ลองทานอาหารการกินอย่างชาวบ้านหนองตื่นได้ทุกอย่าง เมื่อครั้งที่อาจารย์คายส์ได้นำมอเตอร์ไซค์เข้ามาที่บ้านหนองตื่นชาวบ้านจึงพากันเข้าไปมุงดูซึ่งถือว่าเป็นภาพที่น่าประทับใจ และยังคงอยู่ในความทรงจำ
ของชาวบ้านบ้านหนองตื่น

           อาจารย์คายส์แม้จะทำงานภาคสนามเสร็จแล้วแต่ท่านก็มักจะส่งข่าวกลับมา และเมื่อมีโอกาสก็แวะเวียนมาที่บ้านหนองตื่น ชาวบ้านจึงจัดทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่อาจารย์คายส์และคุณเจน เพราะทั้งสองท่านเป็นคนที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือท่านคอยให้โอกาสชาวบ้านหนองตื่นให้ได้มีโอกาสได้รับการศึกษา ในสมัยนั้นอาจารย์คายส์ได้มอบมีทุนการศึกษาจำนวน 3,000 บาทต่อปีเพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าถึงการศึกษา จึงมีนักเรียนหลายคนที่ได้รับทุนการศึกษาแล้วกลับมาพัฒนาหมู่บ้าน เช่น กลับมาเป็นครูสอนหนังสือ

           ปัจจุบันมีการทำอัฐิของอาจารย์คายส์ พ่อเหง้า และแม่นวลให้อยู่ด้วยกันเพราะตลอดเวลาที่อยู่ที่บ้านหนองตื่นท่านก็ช่วยเหลือกัน สำหรับพ่ออุดมแล้วจึงมีความประทับใจที่อาจารย์คายส์ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักบ้านหนองตื่น จังหวัดมหาสารคาม

 

จากใจลูกศิษย์และมิตรสหาย

           ในช่วงสุดท้ายของ “อาจารย์คายส์ เดอะซีรี่ย์” ตอนที่ 1 ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์: ครูและมิตรที่ดีของชาวไทย ถูกอบอวลไปด้วยความรู้สึกของลูกศิษย์ และมิตรสหายที่มีต่ออาจารย์คายส์

           ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ เล่าว่า ได้รู้จักอาจารย์คายส์ครั้งแรกผ่านหนังสือของอาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์ และได้เจอกับอาจารย์คายส์ที่ปาฐกถางานคนล่าฝัน ตำนานมานุษยวิทยาอีสาน อาจารย์คายส์มักจะพานักศึกษาไปออกภาคสนามที่บ้านหนองตื่น นอกจากนี้อาจารย์ยังเป็นคนละเอียดมาก

“มีนักศึกษาใส่รองเท้าผ้าใบไป แต่อาจารย์แนะนำว่าให้ใส่รองเท้าง่าย ๆ เพื่อที่จะได้ทำงานสะดวก หรือถ้าอาจารย์ป่วย เมื่อตื่นมาก็จะมาสอนทันที”

 

           และนอกจากนี้อาจารย์ยังช่วยเหลือนักศึกษาให้มีโอกาสโดยการใช้พื้นที่ของอาจารย์ติดต่อเพื่อนของอาจารย์เพื่อขอทุนให้ทำวิจัย อาจารย์คายส์จึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในงานต่าง ๆ

           อาจารย์ ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ เล่าว่า มีคำหนึ่งที่อาจารย์ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ ใช้และตรงกับความรู้สึกของตนเอง คือ คำว่า

“วาสนา บุญวาสนาที่ได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ เพราะอันที่จริงแล้วตนเองมาจากสายภาษาวรรณกรรมและวรรณคดีไทย แต่เพราะบุญวาสนาที่ตอนเข้าปีหนึ่งได้เรียนพื้นฐานกับอาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์ จึงเกิดความประทับใจทำให้มาเรียนทางด้านสังคมวิทยา และมานุษยวิทยากลายมาเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ จึงทำให้รู้จักกับอาจารย์คายส์”

 

           รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ เล่าว่า “แม้ไม่ได้เรียนกับอาจารย์คายส์โดยตรง แต่ได้เรียนผ่านการอ่านหนังสือของอาจารย์คายส์และได้ทำความรู้จักผ่านการแนะนำของอาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์” อาจารย์กนกวรรณยังได้แสดงความคิดเห็นภายหลังจากที่ฟังเรื่องเล่าของอาจารย์คายส์จากอาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ และอาจารย์ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ ว่าอาจารย์คายส์นั้นยิ่งใหญ่มากทั้งทางด้านวิชาการและในเชิงของกัลยาณมิตร งานของอาจารย์นั้นมีความคิดที่ทันสมัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย

           ผศ.ดร.กันยารัตน์ เควียเซ่น เล่าว่า ตนเองมีความตั้งใจที่จะเรียนกับจารย์คายส์แต่ท่านไม่ได้รับลูกศิษย์เพิ่มแล้ว อาจารย์คายส์ยังคงช่วยหาอาจารย์ที่จะสามารถสอนด้านเอเชียศึกษา จึงทำให้เรียนกับอาจารย์ออสก้าที่อัมสเตอร์ดัม สิ่งที่ประทับใจมาก ๆ คือ

“ตนเองได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมียฝรั่ง และมีรุ่นน้องที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันทำวิจัยเรื่องเดียวกันทำให้ตนเองเกิดความกังวล แต่อาจารย์คายส์กลับบอกว่าให้ทำไปเลยเพราะไม่มีทางที่งานวิจัยจะออกมาเหมือนกันแน่นอนเนื่องจากคนเขียนเป็นคนละคนกัน และแนะนำตนเองว่าให้ทำงานตัวเองให้ดีก็พอ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างกำลังใจในการทำวิจัยเป็นอย่างมาก”

 

           สุดารัตน์ ภูบุญอบ เล่าว่า

“ตนเองเป็นนิสิตปริญญาตรีได้รู้จักอาจารย์คายส์ผ่านผลงานเขียนด้านภูมิปัญญา ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนา และการทำงานเกี่ยวกับการสะท้อนมุมมองของชาวบ้านที่มีอยู่อย่างหลากหลายมิติ”

 

           “อาจารย์คายส์ เดอะซีรี่ย์” ตอนที่ 1 ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์: ครูและมิตรที่ดีของชาวไทย อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นวงเสวนาวิชาการที่ทำให้เห็นว่าอาจารย์คายส์รัก และทุ่มเทกับงานมานุษยวิทยาพร้อมที่จะเสียสละตัวเองอยู่เสมอ ตลอดการสนทนาที่ได้รับฟังในวันนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงพลังของ “แรงบันดาลใจ” ที่ถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ ดังเช่น อาจารย์คายส์ที่เคยได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์คาร์ล ชาพิโร่ อาจารย์คายส์เองก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ลูกศิษย์ และมิตรสหายท่านอื่น ๆ เช่นกัน

 

ภาพนิทรรศการจดหมายเหตุมานุษยวิทยา จัดแสดงที่ชั้น 1 อาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

           ผู้สนใจสามารถสืบค้นชุดเอกสารจดหมายเหตุของอาจารย์คายส์ ได้ที่ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมานุษยวิทยา (ภายใต้การแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา) และสามารถเยี่ยมชมนิทรรศการจดหมายเหตุมานุษยวิทยา ณ ชั้น 1 อาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่จัดแสดงผลงานรูปถ่ายการทำงานภาคสนามของอาจารย์คายส์ และจัดแสดงผลงานทางวิชาการของอาจารย์คายส์พร้อมให้บริการที่ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


ผู้เขียน

วิภาวดี โก๊ะเค้า และ วรินกานต์ ศรีชมภู

นักบริการสารสนเทศ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ อาจารย์คายส์ "ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ Nebraska บ้านหนองตื่น วิภาวดี โก๊ะเค้า วรินกานต์ ศรีชมภู

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา