พิพิธภัณฑ์ในภาวะสงคราม
ช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม (cultural heritage site) ที่เก่าแก่ของโลก ถูกคุกคามจากการทำลายล้างอันเนื่องมาจากไฟสงคราม ความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ อาทิ อิรัก ซีเรีย อัฟกานิสถาน บอสเนีย ฯลฯ ล่าสุดคือเหตุการณ์บุกโจมตีของประเทศรัสเซียในยูเครนในรุ่งเช้าของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ทำให้พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน และแหล่งมรดกวัฒนธรรมของยูเครนหลายแห่งได้รับความเสียหาย หนึ่งในสถานที่ที่ได้รับความเสียหายคือ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อิวานคีฟ (Ivankiv Historical and Local History Museum) ซึ่งโบราณวัตถุและงานศิลปะอันล้ำค่าที่เก็บไว้ถูกทำลาย หนึ่งในนั้นคือผลงานของ Maria Prymachenkoศิลปินพื้นบ้านผู้ได้รับรางวัลสูงสุดด้านศิลปะจากรัฐบาลยูเครนและเป็นที่รู้จักระดับโลก และขีปนาวุธยังได้ทำลายบริเวณอนุสรณ์สถาน Babyn Yar Holocaust Memorial ที่สร้างเพื่อรำลึกถึงชาวยิวกว่า 33,000 คน ที่ถูกคร่าชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ในยูเครนกำลังเผชิญกับปัญหาที่บีบคั้นต่อการตัดสินใจ เมื่อหน้าที่สำคัญหนึ่งคือปกป้องสมบัติของประเทศ แต่การรักษามรดกวัฒนธรรมดังกล่าวอาจทำให้เพื่อนร่วมงานตกอยู่ในอันตราย และในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในยูเครนยังคงตกอยู่ในอันตราย ด้วยที่พวกเขาจำเป็นต้องขนย้ายคอลเล็กชั่นไปซ่อนในที่ปลอดภัย และช่วยกันขึงรั้วลวดหนามป้องกันโดยรอบอาคารพิพิธภัณฑ์ ขณะที่พิพิธภัณฑ์บางแห่งสละพื้นที่ทำเป็นสถานที่หลบภัยสำหรับผู้ประสบภัยชาวยูเครนไปแล้ว
“ระบบอพยพของพิพิธภัณฑ์ในประเทศเราส่วนใหญ่เป็นแนวทางที่ล้าสมัยและเป็นข้อเขียนที่เป็นนามธรรม ส่วนใหญ่เขียนขึ้นในยุคสหภาพโซเวียต และในความเป็นจริงก็ไม่เคยผ่านการทดสอบในทางปฏิบัติเลย...เท่าที่ผมรู้ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งไม่มีแม้กระทั่งวัสดุบรรจุภัณฑ์ด้วยซ้ำไป”
คำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์คนหนึ่งต่อสำนักข่าวต่างประเทศ สะท้อนภาวะอันยากลำบากที่พิพิธภัณฑ์ของยูเครนกำลังเผชิญ
อย่างไรก็ดีการใช้ขีปนาวุธและการทิ้งระเบิดทางอากาศในพื้นที่พลเรือนของรัสเซีย เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน พิพิธภัณฑ์และสถาบันทางวัฒนธรรมอื่นๆ ตกอยู่ในความเสี่ยงไม่ว่าจะตกเป็นเป้าหมายหรือไม่ แม้ในทางการเมืองระหว่างประเทศจะมีกฎหมายที่ประชาคมโลกร่วมกันรับรองและให้สัตยาบัน เพื่อคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมก็ตาม แต่การละเมิดหลักนิติธรรมดังกล่าวมักปรากฏให้เห็นมาโดยตลอด
พิพิธภัณฑ์ Holodomor ประเทศยูเครน สถานที่เตือนใจการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของรัสเซียต่อยูเครน ในปี 1932-1933
(ภาพจาก https://www.facebook.com/HolodomorMuseum)
กฎหมายระหว่างประเทศในการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรม
มีกฎหมายระหว่างประเทศอย่างน้อยสองกฎหมาย ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการปกป้องทรัพย์สินทางวัฒนธรรมคือ 1) อนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1954 ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในกรณีความขัดแย้งทางอาวุธ และพิธีสารสองฉบับในปี ค.ศ. 1954 และ ค.ศ. 1999 (Convention on the Protection of Cultural Property in the Event of Armed Conflict) ซึ่งเกิดขึ้นหลังการทำลายล้างสถานที่ทางวัฒนธรรมหลายแห่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ดีแม้กว่า 133 ประเทศ รวมทั้งรัสเซียได้ให้สัตยาบัน (ratified) ในอนุสัญญากรุงเฮก 1974 แต่ในทางปฏิบัติก็มีการละเมิดอนุสัญญาดังกล่าว เห็นชัดเจนล่าสุดกรณีรัสเซียใช้กำลังทหารบุกยูเครน และที่ผ่านมาในสงครามอ่าวเปอร์เซียในอิรัก แม้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจะลงนาม (signed) ในอนุสัญญา แต่มีการทิ้งระเบิดซึ่งส่งผลกระทบและความเสียหายต่อแหล่งมรดกวัฒนธรรมของอิรัก และเกิดการปล้นสะดมภ์ทรัพย์สินมีค่าในพิพิธภัณฑ์โดยคนในท้องถิ่น รวมถึงการลักลอบซื้อขายวัตถุวัฒนธรรมในตลาดมืดอย่างมโหฬารในเวลาต่อมา
2) อนุสัญญาว่าด้วยวิธีการห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมอย่างผิดกฎหมาย ค.ศ. 1970 โดยยูเนสโก (UNESCO Convention on the Means of Prohibiting and Preventing the Illicit Import, Export and Transfer of Ownership of Cultural Property of 1970) อนุสัญญาดังกล่าวมี 141 ประเทศให้สัตยาบัน โดยเรียกร้องให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการห้ามและป้องกันการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมาย เป็นกรอบการทำงานร่วมกันสำหรับรัฐภาคีเกี่ยวกับมาตรการที่จะห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และโอนถ่ายทรัพย์สินทางวัฒนธรรม
อย่างไรก็ดี Patty Gerstenblith ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศด้านมรดกวัฒนธรรม ให้ความเห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าว รวมถึงกฎหมายในประเทศที่เกี่ยวข้องมีสองแนวทางอย่างชัดเจน ทางแรกคือการมุ่งเน้นไปที่การปกป้องมรดกวัฒนธรรมในภาวะสงครามและมีจุดหมายในการยับยั้งเป้าหมายการโจมตีสถานที่ทางวัฒนธรรมของปฏิบัติการทางทหาร แนวทางที่สองคือการมุ่งเน้นไปที่ปฏิบัติการของตลาดการค้าศิลปะระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายและซื้อขายวัตถุทางวัฒนธรรมจากบริบทดั้งเดิมอันขัดกับกฎหมายของประเทศต้นทาง อย่างไรก็ดีการแยกส่วนของกฎหมายระหว่างประเทศสองฉบับดังกล่าวที่ยังคงมีจุดอ่อน เช่น อนุสัญญากรุงเฮกยังมีแนวคิดที่ล้าสมัยเกี่ยวกับสงครามรูปแบบใหม่ในปัจจุบัน รวมถึงประเด็นแนวทางการจัดการมรดกวัฒนธรรมขณะที่มีการยึดครอง และความล้มเหลวของสหรัฐอเมริกาในการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญายังคงเป็นอุปสรรค ส่งผลในทางปฏิบัติในการคุ้มครองแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่ขาดประสิทธิผล เห็นได้ชัดเจนกับความหายนะที่เกิดขึ้นในอิรัก (Gerstenblith, 2008)
การขับเคลื่อนของประชาคมพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศต่อกรณียูเครน
#BoycottRussia #StopRussia #StandWithUkraine ตัวอย่างแฮชแทกดังกล่าว เป็นพลังแสดงจุดยืนและการขับเคลื่อนของคนในวงการพิพิธภัณฑ์ทั้งในยูเครนและทั่วโลก เพื่อร่วมกันประณาม คว่ำบาตรและระงับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมกับรัสเซีย องค์กรระหว่างประเทศชั้นนำทั่วโลกต่างวิตกอย่างมากต่อการสูญเสีย ความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิตของผู้คนและคนปฏิบัติงานด้านพิพิธภัณฑ์ และมรดกวัฒนธรรมในยูเครน มีแถลงการณ์และประณามความรุนแรงที่รัสเซียกระทำต่อยูเครน อาทิ สภาพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศ (ICOM) สมาคมพิพิธภัณฑ์ (Museums Association) องค์กรบลูชีล (Blue Shield International) กลไกระหว่างประเทศในการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรม ต่างเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศซึ่งลงนามในอนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1954 และพิธีการฉบับแรก โดยต้องปฏิบัติตามภาระผูกพันทางกฎหมายดังกล่าว
ตัวอย่างแฮชแทกการเรียกร้องให้ทั่วโลกคว่ำบาตรรัสเซีย
พิพิธภัณฑ์อย่างน้อยสองแห่งในยูเครนได้แก่ พิพิธภัณฑ์ไมดาน (Maidan Museum) และพิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ Mystetskyi Arsenal (Mystetskyi Arsenal National Cultural and Art and Museum Complex) ต่างเรียกร้องให้ทั่วโลกคว่ำบาตรรัสเซีย โดยเสนอแนวทางที่เป็นไปได้หลายประการ อาทิ ระงับการมีส่วนร่วมของรัสเซียในกิจกรรมทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ เช่น ศาลาของรัสเซียที่งานเวนิสเบียนนาเล่ (Venice Biennale) ยกลิกความร่วมมือกับศิลปินรัสเซียไม่ว่าจะยิ่งใหญ่หรือโด่งดังเพียงใด ตราบใดที่พวกเขาสนับสนุนระบอบการปกครองของปูตินอย่างเปิดเผย คว่ำบาตรกิจกรรมที่จัดโดยสถาบันของรัสเซียหรือองค์การระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงหรือได้รับทุนจากรัสเซีย เป็นต้น
การโอบรับผู้ลี้ภัยและช่วยเหลือการขนย้ายวัตถุพิพิธภัณฑ์ไปยังที่ปลอดภัย แสดงถึงมนุษยธรรมของผู้คนที่ยังดำเนินไปพร้อมๆ กัน ปฏิบัติการของประเทศเพื่อนบ้านอย่างโปแลนด์ ระดมให้ความช่วยเหลือแก่พิพิธภัณฑ์ในยูเครนอย่างต่อเนื่อง โดยสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศ (ICOM) สำนักงานโปแลนด์ ได้ร้องขอให้กระทรวงวัฒนธรรมโปแลนด์ ประสานแผนการอพยพเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จากยูเครน และจัดประชุมฉุกเฉินเกี่ยวกับแผนการขนย้ายวัตถุในพิพิธภัณฑ์
ขณะที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติวอร์ซอว์ ประเทศโปแลนด์ พยายามประสานเพื่อรับเอาครอบครัวเจ้าหน้าที่ของหอศิลป์แห่งชาติเมือง Lviv ซึ่งมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติวอร์ซอว์ และยังส่งรถตู้จากพิพิธภัณฑ์เพื่อลำเลียงอาหาร ยา และสิ่งของจำเป็นไปให้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในยูเครน พร้อมกับก่อตั้งโครงการเพื่อรับเจ้าหน้าที่และครอบครัวเข้ามาลี้ภัยในโปแลนด์ด้วย ขณะที่พิพิธภัณฑ์โปลิน (POLIN Museum of the History of Polish Jews) ส่งอาหารและสิ่งของจำเป็นไปให้ชาวยูเครน โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินผ่านกาชาดโปแลนด์
การสร้างความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมยูเครน
“การโต้ตอบที่ดีที่สุดต่อการรุกรานของรัสเซียในด้านวัฒนธรรมคือ การให้ความสนใจมากขึ้นในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของยูเครนในทั่วโลก”
ข้อเรียกร้องด้านวัฒนธรรมดังกล่าวมาจากพิพิธภัณฑ์ไมดานของยูเครน ที่เรียกร้องให้บุคคลสำคัญ สื่อ หรือผู้มีบทบาทด้านวัฒนธรรม ช่วยกันขยายความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์และมรดกวัฒนธรรมของยูเครน ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก อย่างน้อยควรสร้างความเข้าใจให้กับชาวโลกว่าชาวยูเครนไม่ใช่ชาวรัสเซีย ยูเครนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าพันปี เคียฟ เมืองหลวงของยูเครนเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมมาช้านาน ยูเครนเป็นที่ตั้งของมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโกถึง 7 แห่ง ในทางตรงกันข้าม ความเชื่อของผู้นำรัสเซียคือยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ปฏิเสธการมีตัวตนของยูเครน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมยูเครน อาจนำไปสู่การบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และลบล้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของยูเครน ซึ่งจะส่งผลอันเลวร้ายต่อชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนยูเครนในอนาคต
นอกเหนือจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของยูเครนที่เผยแพร่โดยตรงผ่านพิพิธภัณฑ์ภายในประเทศยูเครนเองทั้งทางออนไซต์และออนไลน์ พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศที่จัดแสดงและเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมยูเครนมีอยู่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ พิพิธภัณฑ์ยูเครนแห่งแคนาดา (Ukrainian Museum of Canada, Ontario Branch) ที่ประกาศจุดยืนอยู่เคียงข้างประเทศยูเครน และระดมทุนจากนานาชาติเพื่อช่วยเหลือชาวยูเครน พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวผลิตนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง นำเสนอความรุ่มรวยในมรดกวัฒนธรรมของยูเครน นิทรรศการที่กำลังจะเปิดตัวในวันสตรีสากลปีนี้คือ “ตำนานและมรดกแห่งเมืองบอร์ชชีฟ” (Legends & Legacies of Borshchiv) นำเสนองานคราฟท์ ที่เป็นการปักเสื้อด้วยลวดลายวิจิตรด้วยขนแกะสีดำ ประดับด้วยดิ้นเงิน เลื่อม และลูกปัด ฝีมือผู้หญิงยูเครนแห่งเมืองบอร์ชชีฟ
ความงดงามของเสื้อปัก sorochky ของผู้หญิงเมืองบอร์ชชีฟ ประเทศยูเครน
(ภาพจากFB: Ukrainian Museum of Canada, Ontario Branch)
พิพิธภัณฑ์ยูเครนแห่งแคนาดา มีวัตถุวัฒนธรรมยูเครนกว่า 6,000 ชิ้น ทั้งสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เซรามิก ไม้แกะสลัก วัตถุในพิธีกรรม ฯลฯ เหตุที่ว่าแคนาดาเป็นประเทศลำดับสองรองจากรัสเซีย ที่คนเชื้อสายยูเครนอพยพเข้ามาตั้งรกรากมากที่สุด อันเนื่องมาจากหนีภัยสงครามช่วงสงครามโลก และมีความหวังที่จะแสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า ในดินแดนที่เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นคน และยอมรับในสิทธิวัฒนธรรมของพวกเขา
บาดแผลของสงครามนอกจากสร้างเสียหายทางมรดกวัฒนธรรมแล้ว ยังทำให้พิพิธภัณฑ์เผชิญความท้าทายทางอาชีพ ทั้งต้องรักษามรดกวัฒนธรรมอันประเมินค่าไม่ได้ พร้อมกับความกล้าหาญที่ต้องรับมือกับความเสี่ยงและหายนะของชีวิตของผู้คนที่ไม่อาจประเมินค่าได้เช่นกัน
อ้างอิง
Patty Gerstenblith, 2008. “Change in the Legal Regime Protecting Cultural Heritage in the Aftermath of the War in Iraq.” In The Destruction of Cultural Heritage in Iraq. Woodbridge: The Boydell Press.
https://artarsenal.in.ua/en/ [เข้าถึง 4 มีนาคม 2565]
https://artarsenal.in.ua/en/povidomlennya/28675/ [เข้าถึง 4 มีนาคม 2565]
https://en.unesco.org/protecting-heritage/convention-and-protocols/states-parties [เข้าถึง 4 มีนาคม 2565]
https://museum-portal.com/en/museum/national-museum-of-history-of-ukraine [เข้าถึง 4 มีนาคม 2565]
https://news.artnet.com/art-world/maria-prymachenko-ukraine-russia-2078634 [เข้าถึง 4 มีนาคม 2565]
https://theblueshield.org/statement-by-the-blue-shield-on-the-situation-in-ukraine/ [เข้าถึง 4 มีนาคม 2565]
https://www.kuow.org/stories/curators-in-ukraine-face-deadly-obstacles-as-they-protect-their-country-s-treasures [เข้าถึง 4 มีนาคม 2565]
https://www.museumsassociation.org/museums-journal/news/2022/03/museum-community-mobilises-to-help-colleagues-in-ukraine/?fbclid=IwAR091rkZJiKpc1OCvtME56Qml4RcY3yAcEXgbAxqAcntAuYDC_5djHDqOAg [เข้าถึง 4 มีนาคม 2565]
https://www.theglobeandmail.com/arts/art-and-architecture/article-museums-in-ukraine-scrambling-to-protect-historical-artifacts-amid/?fbclid=IwAR1P7L7N—dqxm4ndhJpd3XiCOTJt5qgLd3QNNIhM7FALhkXOxH3loqyV6Y [เข้าถึง 4 มีนาคม 2565]
https://www.umcontario.com/ [เข้าถึง 4 มีนาคม 2565]
ผู้เขียน
ปณิตา สระวาสี
นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ พิพิธภัณฑ์เมือง ภาวะสงคราม ปณิตา สระวาสี